logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

เรื่องราวของ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้ก่อตั้ง ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ ความสำเร็จที่เริ่มจากการซ่อมเบาะให้ Yamaha

เรื่องราวของ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้ก่อตั้ง ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ ความสำเร็จที่เริ่มจากการซ่อมเบาะให้ Yamaha

‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ คนจีนที่ช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่เด็ก กลายเป็นผู้วางรากฐาน ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ อาณาจักรรถยนต์ที่เกิดจากความบังเอิญช่วยซ่อมเบาะให้ ‘เจ้าหน้าที่ Yamaha’

หากเอ่ยชื่อตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ หลายคนก็น่าจะรู้อยู่แล้วทั้งคนในสายการเมืองและสายธุรกิจ ธุรกิจของตระกูลนี้ก็คือ ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ (Thai Summit Group) หนึ่งในผู้นำธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยและเอเชีย ที่ถือว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และหลายคนมองว่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ สร้างแรงบันดาลใจได้

พัฒนา (ชื่อจีนก็คือ ‘ฮั้งฮ้อ แซ่จึง’) เป็นพ่อแท้ ๆ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ลูกชายคนโตของตระกูลนี้ โดยมีน้องอีก 4 คน เขา(พัฒนา)เป็นคนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองจีนตั้งแต่เกิด เป็นลูกชายของพ่อ ‘โหลยช้วง แซ่จึง’ กับแม่ ‘บ่วยเชียง แซ่โป่ว’ พ่อแม่ของเขาทำอาชีพค้าขายตั้งแต่อยู่ที่เมืองจีน แต่ได้ตัดสินใจอพยพมาที่ประเทศไทย และเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวขึ้น

 

ฝึกสกิลขายของตั้งแต่เด็ก

ด้วยความที่ พัฒนา หรือ ฮั้งฮ้อ เป็นลูกชายของตระกูลจึงเดินทางมาเมืองไทยกับป๊าม้า และมีพี่ชายอีกคนติดสอยห้อยตามมาด้วยกันชื่อว่า ‘สรรเสริญ จุฬางกูร’ เขาลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป.4 เพราะที่บ้านยากจนมาก พ่อแม่ต้องการย้ายมาเมืองไทยและขายของทุกอย่างที่ทำได้ในตอนนั้น

ในวันหนึ่งพ่อแม่ของพัฒนาได้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวขึ้นเพราะเห็นโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวที่ไทยได้มากกว่าเมืองจีน โดยพัฒนาได้ช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่อายุ 8 - 9 ขวบ

จนเขาได้พบรักกับลูกสาวร้านขายกระเพาะปลาที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันที่ย่านบางรัก ก็คือ ‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เขาทั้งสองพบรักกันตอนเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพพิทยา ใช้เวลาคบหาดูใจกันตั้งแต่อายุได้ 10 ปี และใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน

เลือดของนักสู้ชีวิตถูกส่งต่อไปถึงพี่น้องทุกคนของพัฒนา ซึ่งพี่ชายของพัฒนาก็คือ ‘สรรเสริญ’ ได้ร่วมลงทุนกับเพื่อนเปิดร้านซ่อมเบาะชื่อร้านว่า ‘สามอิ้ว’ ตอนนั้นถือว่าในไทยยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่คนไทยยังใช้การปั่นจักรยานมากกว่า แต่ร้านของสรรเสริญนั้นรับซ่อมเบาะเกือบทุกชนิดก็ว่าได้ ทั้งรถจักรยาน, รถจักรยานยนต์ ที่ซอยทรัพย์ สี่พระยา

แต่แล้วกิจการร้านซ่อมเบาะในช่วงแรก ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง คนไม่นิยมและยังไม่เข้าใจเรื่องการซ่อมแซมเบาะ ทำให้เพื่อนของสรรเสริญขอถอนตัวออกจากการลงทุนร้าน จึงทำให้เหลือแค่ 2 พี่น้อง พัฒนาและสรรเสริญ ที่ต้องช่วยกันประคองธุรกิจนี้ให้อยู่รอดต่อไป

จุดเปลี่ยนชีวิตพัฒนา

ข้อมูลจาก The States Times พูดถึงบทสัมภาษณ์จากผู้เป็นภรรยาของพัฒนา เกี่ยวกับอุปนิสัยส่วนตัวของเขาว่าเป็นคนที่ค่อนข้างขยันมาก ตื่นเช้ามาก็จะไปเฝ้าร้านซ่อมเบาะทุกวัน จนมาวันหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของพัฒนาและร้านนี้เลยก็ว่าได้

มีเจ้าหน้าที่จาก Yamaha เข้ามาสอบถามที่ร้านของพัฒนาและพี่ชาย โดยถือเบาะรถจักรยานยนต์มาด้วย และถามพัฒนาว่า “คุณทำแบบนี้ได้ไหม?” พัฒนาจึงรีบตอบว่า “ทำได้” ทันทีที่ลูกค้าถาม หลังจากนั้นเขาก็พยายามไปตามหาอะไหล่เพื่อซ่อมเบาะ แล้วมาทำซ่อมแซมเองก่อนที่ลูกค้าคนนั้นจะมารับ

ผลปรากฏว่า วิธีการซ่อมเบาะของพัฒนาเป็นที่ถูกอกถูกใจของเจ้าหน้าที่รายนั้น นำมาซึ่งรายได้ที่เกินจะคาดเดาได้ เพราะหลังจากนั้นไม่นานทาง Yamaha ก็ส่งต่องานเบาะมาที่ร้านของสรรเสริญและพัฒนาเรื่อย ๆ เพราะความเชื่อใจ ซึ่งชื่อเสียงของร้านก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น จนมีบริษัทใหญ่ของต่างประเทศรายอื่น เช่น HONDA, Suzuki, และ Kawasaki เข้ามาติดต่อที่ร้านและใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ

เมื่องานมาเงินดีขึ้น เขาทั้งคู่ก็ได้คิดเรื่องการขยับขยายร้านและทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยขยายร้านไปที่แถวสาธุประดิษฐ์ มีการสร้างโรงงานและใช้ชื่อร้านว่า ‘ซัมมิท ออโต อินดัสตรี จำกัด’ ซึ่งธุรกิจก็ขยายไลน์สินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่รับซ่อมแซมอย่างเดิม แต่เริ่มขายชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์และรถยนต์มากขึ้น

ตอนนั้นพัฒนาคิดว่า “ถ้าเราทำแต่เบาะ เกิดไม่มีงานหรือมีคู่แข่งมากขึ้นกิจการก็คงแย่ เขาเลยของานทำชิ้นส่วนรถจากญี่ปุ่นไปด้วย ซึ่งทำไปทำมากลายเป็นว่าธุรกิจที่เป็นงานผลิตชิ้นส่วนรถโตเร็วมาก” หนึ่งในประโยคที่สมพรให้สัมภาษณ์กับสื่อ

ในปี 2520 พัฒนาตัดสินใจแยกตัวออกจากธุรกิจของพี่ชาย และได้ซื้อที่ดินเปล่าแถว ๆ บางนา-ตราด แน่นอนว่าเขากำลังคิดทำธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นมาจากตัวเขาเอง ซึ่งเขาเอาความถนัดและประสบการณ์จากร้านของสรรเสริญมาเปิดร้านขายอะไหล่ต่าง ๆ เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ และใช้ชื่อร้านว่า ‘ไทยซัมมิท’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งพัฒนาและสมพรได้สร้างธุรกิจนี้มาด้วยกัน ช่วยกันตามหน้าที่ที่ถนัด โดยตอนนั้นพัฒนานั่งเป็นประธานบริษัท และสมพรก็เป็นเลขาฯ เพราะเธอเข้าใจในวิธีการจัดการทุก ๆ เรื่องของบริษัท ทั้งนี้ทั้งสองมีลูกด้วยกันทั้งหมด 5 คน ก็คือ ธนาธร, ชนาพรรณ, รุจิรพรรณ, สกุลธร และบดินทร์ธร

ทั้งนี้ พัฒนาและสมพรต่างก็พร่ำสอนให้ลูก ๆ เรียนรู้ที่จะลำบากมาก่อน เข้าใจและรู้ว่าพ่อกับแม่ผ่านอะไรมาด้วยกันบ้าง อย่าง ‘ธนาธร’ ในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโต ช่วง ป.3 ก็เคยเข้าไปช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ตอนนั้น โดยทุก ๆ ปิดเทอมพ่อจะให้ทำงานนับเหล็ก และให้ค่าแรงวันละ 30 บาท หรือแม้แต่ตอนที่เขาต้องไปใช้ชีวิต ล้างถ้วยล้างชามอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตอนช่วงวัยรุ่นแถมยังต้องเรียนให้ดีด้วย

ในปี 2545 พัฒนาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งใจความในหนังสือที่ระลึกในพิธีพระราชทานดินบรรจุศพ พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ สมพรได้ให้พันธสัญญาไว้หนักแน่นว่า “จิตใจอันแน่วแน่ของฉันได้พูดกับเขาว่า ป่าป๊าไม่ต้องเป็นห่วงอะไร สิ่งต่าง ๆ ที่ป่าป๊าสร้างไว้และอุดมการณ์ของพ่อ ม้าจะสานต่อและรักษาไว้ให้ได้”

นอกจากนี้ สมพรยังให้สัมภาษณ์นานมาแล้วว่า สูตรการทำธุรกิจของพัฒนาแม้ว่าไม่มีสูตรที่ตายตัว แต่เขาก็ยึดถือเรื่องสำคัญอยู่ 3 อย่างก็คือ ‘ระบบดี - คนดี - สังคมดี’ และใช้วิธีการบริหารธุรกิจแบบครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้างเก็บตัว โฟกัสที่การทำงานและออกงานสังคมน้อย

ปัจจุบัน สมพรยังนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารของไทยซัมมิทกรุ๊ป แต่ก็มีลูก ๆ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวไปด้วย ชีวิตของพัฒนาในฐานะผู้ริเริ่มความคิดการทำให้ธุรกิจซ่อมเบาะให้เป็นมากกว่านั้น

จนวันนี้เติบโตกลายเป็นอาณาจักรไทยซัมมิทที่มีธุรกิจในเครือเกือบ 50 บริษัท จากจุดเล็ก ๆ ที่กอบโกยสร้างด้วยสองมือเล็ก ๆ จนวันนี้พัฒนาได้วางรากฐานธุรกิจให้เป็นผู้นำในระดับเอเชียได้ ถือเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจน่าประทับใจทีเดียว

 

ภาพ : Dr.Chatkaew H. / YouTube

อ้างอิง :

Thaisummit

Forbes

Thestatestimes

Longtunman

Facebook

Youtube