หรือเรากำลัง Amused to Death? เมื่อดราม่าเป็นทั้ง ‘มูลค่า’ และ ‘พิษภัย’

หรือเรากำลัง Amused to Death? เมื่อดราม่าเป็นทั้ง ‘มูลค่า’ และ ‘พิษภัย’

หรือเรากำลัง Amused to Death? สำรวจภาวะ ‘FOMO’ ในโลกที่ตลาดข้อมูลล้นทะลักและเมื่อกระแสดราม่าเป็นทั้ง ‘มูลค่า’ และ ‘พิษภัย’ มองเรื่องนี้ผ่านบทเพลงของ Roger Waters และหนังสือของ Neil Postman

KEY

POINTS

  • ในโลกที่เต็มไปด้วยกองพะเนินของข้อมูลให้ผู้คนได้บริโภค ก็ส่งผลให้ผู้คนเกิดภาวะ FOMO ซึ่งเป็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากความกลัวที่จะตกขบวนข่าวสาร ไปจนถึงการเสพเนื้อหาจนส่งผลถึงความเครียดหรือชีวิต แนวโน้มพฤติกรรมนี้ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงอัลบั้มของ โรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) อย่าง Amused to Death (1992) ที่กล่าวถึงในประเด็นที่คล้ายคลึงกันเมื่อสามทศวรรษก่อนหน้า
  • การเข้ามาของโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล เฉกเช่นเดียวกับภูมิทัศน์ของสื่อและตลาดของข้อมูลที่จะไม่ได้ผูกขาดต่อสำนักข่าวหรือหนังสือพิมพ์อีกต่อไป เพราะในทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็สามารถเป็นผู้ผลิตข้อมูลในตลาดได้ การเปลี่ยนแปลงในมิตินี้ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันสูง (Competitive) ภายในตลาดข้อมูลข่าวสาร
  • เมื่อโลกเปลี่ยน พฤติกรรมคนก็เปลี่ยน ข่าวสารและคอนเทนต์มากมายจ่อรอคิวที่จะให้ผู้คนบริโภค เพราะทุกเสี้ยววินาทีของความสนใจของผู้คนนั้นมาพร้อมกับมูลค่ามหาศาล แต่ด้วยความสามารถในการรับข้อมูลที่จำกัดของผู้คนกับข้อมูลนับอนันต์บนโลกอินเตอร์เน็ต พร้อมกับเทรนด์อย่าง FOMO มนุษย์จะขยับหน้าไปในทิศทางไหนในแง่ของการบริโภคข้อมูล เพราะเมื่อโลกหมุนเร็ว ข้อมูลก็เป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง แต่ ณ จุดไหนคือคำว่าพอดี?
  • หนึ่งในเพลงจากอัลบั้มอย่าง The Bravery of Being Out of Range ว่าด้วยบทบาทของผู้ชมในการมีส่วนร่วมกับข่าวสาร ปัญหา และความขัดแย้ง ที่ในแง่หนึ่งถูกห่อหุ้มด้วยความบันเทิงจนกลายเป็นความเริงรมย์ในการบริโภคเสมือนภาพยนตร์สักเรื่อง ในอีกแง่หนึ่งก็คือการเสพดราม่าเพื่อหลบเร้นความทุกข์ในชีวิตประจำวันของตนเอง ทว่าการหลบนี้ความทุกข์ด้วยความบันเทิงชั่วครู่นี้จะส่งผลระยะยาวต่อชีวิตของเราอย่างไรบ้าง?

 

สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ได้แสวงหาความเพลิดเพลิน

จนตัวเองถึงคราวดับสลาย

— โรเจอร์ วอเทอร์ส ใน Amused to Death (1992)

 

ในแทบทุก ๆ เช้า หนึ่งในกิจวัตรสำคัญของตัวผมเองคือการลืมตาตื่นมาพร้อมคว้าโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวของโลกใบนี้ที่สถิตอยู่บนหน้าจอเล็ก ๆ ห่างออกไปแค่ปลายนิ้วสัมผัส ไม่จำเป็นต้องคุ้ยหาจากบรรดาตัวอักษรที่อัดแน่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ข่าวเช้าตามตารางเวลาและการนำเสนอของรายการอีกต่อไป เพียงแค่จิ้มนิดจิ้มหน่อย เลือกสรรสิ่งที่สนใจและดื่มด่ำกับการได้รู้ข่าวนั้น ๆ ก็สร้างความรู้สึกร่วมที่มีต่อสังคมได้อย่างง่ายดาย

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ไม่เพียงแค่ปฏิวัติวงการพิมพ์ แต่ยังพ่วงมาด้วยวิธีที่สังคมมนุษย์ส่งต่อข้อมูล เฉกเช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์มในยุคปัจจุบัน ที่ไม่เพียงเป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อมนุษย์เข้าด้วยกัน แต่ยังปฏิวัติธรรมชาติของการส่งต่อข้อมูลและการเสพความบันเทิงของมนุษย์เราไปตลอดกาล

ข่าวสำคัญและความบันเทิงเฝ้ารออยู่แค่ปลายนิ้ว เพียงแค่เราเลือกที่จะดูและจ่ายเวลาให้มัน ข้อมูลเหล่านั้นก็ปรากฎให้เราได้บริโภคอย่างง่ายดาย และแน่นอนว่าเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจหรือการกระทำที่ควรได้รับการชื่นชมยกย่องก็สามารถแผ่กระจายเป็นวงกว้างได้อย่างง่ายดาย แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องราวเชิงลบ ไม่ว่าจะจากสตอรี่รายวัน โพสต์ หรือวิดีโอของใครสักคน ก็สามารถแผ่ขยายไปได้โดยไม่ต้องอาศัยการประโคมข่าวจากสำนักข่าวเลยแม้แต่น้อย

ความสะดวกสบายในการส่งต่อข้อมูลได้มอบพลังวิเศษให้กับมนุษย์อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารสำคัญที่อาศัยความเร่งด่วนอย่างอันตรายจากภัยพิบัติหรือการก่อร้าย ไปจนถึงความเคลื่อนไหวจากรัฐบาลหรือแม้แต่เหตุการณ์สำคัญอีกฟากโลก เราก็สามารถรับรู้มันในชั่วพริบตา แต่ในขณะเดียวกัน การก้าวหน้านี้เองก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลให้ใครหลายคนได้อดหลับอดนอนกันเมื่อใดที่ ‘ประเด็นร้อน’ มาเยือนความสนใจของสังคม

บางคนที่เข้านอนเร็วก็อาจพลาดประเด็นร้อนที่เพิ่งปะทุขึ้นในช่วงหัวค่ำ บางคนที่ไปตื่นเอาบ่ายโมงก็อาจพลาดมหากาพย์ของบางเรื่องราวจนต้องมาไล่ตามเก็บข้อมูลรั้งท้ายขบวน และด้วยขบวนรถไฟของข้อมูลที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วแบบนี้ ไม่แปลกที่อาจทำให้คนที่ตามไม่ทันรู้สึก ‘ตกกระแส’ หรือที่เราอาจได้ยินกันคุ้นหูในชื่อภาวะ ‘FOMO’ หรือ ‘Fear of Missing Out’ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ความกลัวที่จะตกขบวน

ด้วยเหตุนั้นเอง ไม่ว่าจะภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เข้าใหม่ ซิงเกิลฮิตที่เพิ่งปล่อย หรือโดยเฉพาะกับดราม่าที่เพิ่งปะทุจนพาให้คนทั้งซุบซิบและถกเถียงกันอย่างได้อรรถรสเป็นสิ่งสำคัญที่ถ้าใครอยาก ‘เป็นส่วนหนึ่ง’ จะต้องตามให้ทัน ทว่าในโลกที่ข้อมูลนับอนันต์หลั่งไหลเข้าสู่ระบบกับความสามารถในการรับรู้ข้อมูลที่มีจำกัดของมนุษย์ ผลพวงที่ตามมาจากพฤติกรรมและกลไกสังคมที่เปลี่ยนไปจะมีอะไรบ้าง?

เมื่อได้ลงมาสัมผัสกับประเด็นนี้ก็พลันทำให้หวนนึกถึงอัลบั้มโพรเกรสซิฟร็อกจากปี 1992 นามว่า ‘Amused to Death’ ที่ออกมาจากมุมมองของ ‘โรเจอร์ วอเทอร์ส’ (Roger Waters) ตำนานอดีตมือเบสจากวง Pink Floyd ผู้วิพากษ์สังคมและการเมืองผ่านเสียงดนตรีตลอดมา โดยในอัลบั้มเดี่ยวลำดับที่สามนี้ วอเทอร์สได้ชวนผู้ฟังดำดิ่งไปในภัยชั่วร้ายของวัฒนธรรมการเสพสื่อที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะการมาถึงของ ‘โทรทัศน์’ ด้วยเหตุนั้นเอง เราจึงได้ยินเสียงการสลับช่องของคลื่นโทรทัศน์ในช่วงรอยต่อของบางเพลง

 

หรือเรากำลัง Amused to Death? เมื่อดราม่าเป็นทั้ง ‘มูลค่า’ และ ‘พิษภัย’

Amused to Death (1992) - ปกดั้งเดิม

 

หนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของ โรเจอร์ วอเทอร์ส ในการก่อร่างสร้างอัลบั้มนี้ขึ้นมาคือหนังสือ Amusing Ourselves to Death (1985) ผลงานของนักเขียนอเมริกันนามว่า นีล พอสต์แมน (Neil Postman) ที่จรดปากกาเตือนผู้อ่านว่าประเด็นที่มีความสำคัญต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศาสนา สังคม หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อถูกนำเสนอผ่านโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งในรูปแบบที่ถูกห่อหุ้มคล้ายกับ ‘สื่อบันเทิง’ อาจส่งผลกระทบไปถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์หรือแม้แต่ความรู้สึกเห็นใจอย่างแท้จริงต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แม้ทั้งสองอย่างได้มีอายุราวสามถึงสี่ทศวรรษมาแล้ว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าเราจะไม่ได้นิยมนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์พร้อมรีโมตแล้วก็ตาม แต่การเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่ได้ส่งผลกระทบต่อการรับข่าวสารข้อมูลของผู้คนในสังคม ก็ดันทำให้สารที่ถูกส่งผ่านอัลบั้มอย่าง Amused to Death มีความร่วมสมัยมากกว่าเดิมเสียอย่างนั้น

ใน The Hidden Dilemma สัปดาห์นี้ ผู้เขียนอยากจะชวนมองความก้าวหน้าของเครือข่ายข้อมูลที่ได้ส่งผลต่อตลาดข้อมูลทั้งในแง่ของผู้สร้างและผู้เสพอย่างมีนัยสำคัญ จนนำไปสู่การอุบัติขึ้นเป็นวงกว้างของภาวะ FOMO ทว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ก็อาจไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกเพียงเท่านั้น เพราะสิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อปัจเจกก็คือโครงสร้างในภาพรวมและธรรมชาติของการไหลเวียนข้อมูลในสังคม

แต่เดิมนั้น ผู้ที่แทบจะผูกขาดในการสื่อสารข้อมูลกระแสหลักหรือแหล่งข้อมูลที่ผู้คนหมู่มากจะสนใจ ย่อมหนีไม่พ้นหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าว แต่ในทุกวันนี้ การมาถึงของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, X, YouTube หรือโดยเฉพาะกับ Tiktok ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำบทบาทในการส่งต่อข้อมูล ‘กระจายศูนย์’ Decentralized) จากสำนักข่าวมาจนถึงประชาชนคนธรรมดามากขึ้น

ปรากฎการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดข้อมูล (Information Market) กำลังขยับจากจุดที่มีการผูกขาดของบรรดาสำนักข่าวหรือผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ กระจายเข้าสู่มือของคนธรรมดามากขึ้น หมายความว่าคนธรรมดาสามารถเข้าถึงบทบาทการกระจายข้อมูลได้ง่ายกว่าเก่า ทั้งสร้างเพจสื่อสารข้อมูลด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ใช้ตัวเองในฐานะตัวกลางส่งต่อที่ทั้งมีความรวดเร็ว เท่าทัน และน่าเชื่อถือ

ณ จุดนี้เราจะเห็นได้ว่าตลาดข้อมูลได้ขยับเข้าสู่จุดที่มี ‘การแข่งขันสูง’ (Competitive) ที่ผู้เล่นแต่ละรายต้องกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันอย่างเต็มที่เพื่อจับจอง ‘ความสนใจ’ (Attention) ของผู้คน ที่มีค่าไม่ต่างไปจากทอง จึงเป็นผลให้เกิดสงครามการช่วงชิงแสงและความสนใจจากผู้เล่นมากมาย ไม่จะเป็นการนำเสนอเรื่องราวด้วยความรวดเร็ว ด้วยแง่มุมที่แหลมคม หรือแม้แต่ดึงดูดความสนใจด้วย ‘ความล่อแหลม’ หรือแม้แต่ ‘ข่าวเชิงลบ’ (Bad News) ที่มีแนวโน้มจะดึงดูดความสนใจของผู้คน ไม่ว่าผลลัพธ์ในระยะยาวจะตามมาด้วยอะไรก็ตาม

คำถามต่อมาก็คือ ในวันที่ภูมิทัศน์ของตลาดข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบนี้ จะส่งผลต่อความเป็นอยู่และพฤติกรรมการบริโภคสื่อของผู้คนในทิศทางไหนบ้าง?

 

ปัญหาไม่ใช่ว่าโทรทัศน์นำเสนอสิ่งที่ให้ความบันเทิง แต่คือมันได้ทำให้ ‘ความบันเทิง’ กลายเป็นรูปแบบพื้นฐานในการถ่ายทอดทุกสิ่ง […] ปัญหาไม่ใช่แค่เนื้อหานั้นน่าสนุก แต่คือทุกเนื้อหาถูกทำให้ ‘น่าสนุก’ ไปเสียหมด
— นีล พอสต์แมน ใน Amusing Ourselves to Death (1985) 

 

ก่อนที่จะไปถึงพฤติกรรมในระดับปัจเจก เราอาจจะต้องไปดูกันก่อนว่าเมื่อตลาดของผู้ส่งต่อข้อมูลเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ มันได้ส่งผลถึง ‘ค่านิยม’ ในสังคมที่มีต่อการบริโภคข้อมูลไปอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อ ‘กฎกติกา’ (Rules of the Game) เปลี่ยน ‘พฤติกรรม’ ของผู้เล่นก็เปลี่ยนตามไปโดยธรรมชาติ

ในมุมมองของผู้ผลิตข้อมูลนั้น ‘ความสนใจ’ และ ‘การมีส่วนร่วม’ (Engagement) ของผู้คนคือมูลค่าที่สำคัญยิ่ง ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้บริโภคข้อมูลการได้รับรู้หรือครอบครองข้อมูลก็กลายเป็นมูลค่าที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะในวันที่เรื่องราวต่าง ๆ ได้รับความสนใจจากผู้คนอย่างแพร่หลาย การได้รับรู้ข้อมูลเหล่านั้นจึงทำหน้าที่คล้ายกับ ‘ทุนทางสังคม’ (Social Capital) ไปในตัว เพราะทำให้คนที่ได้ครอบครองข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นรู้สึก ‘เป็นหนึ่งเดียว’ กับความสนใจของสังคม ณ ขณะนั้น

เพราะในบางครั้ง เมื่อใครสักคนเกิดคลาดบางข้อมูลข่าวสารหรือซีรีส์ดังบนแพลตฟอร์มสตรีมิ่งก็อาจเกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นหนึ่งเดียวกับกระแสสังคมและไม่สามารถพูดคุยในสิ่งที่คนส่วนใหญ่สนใจไม่ได้ อีกทั้งอาจจะทำให้รู้สึกเหมือนตัวเอง ‘ช้า’ หรือ ‘พลาด’ ความสนุกที่ขบวนรถไฟของผู้คนส่วนใหญ่ได้แล่นไป 

ทั้งความรู้สึกที่อยากจะบริโภคข้อมูลข่าวสารเพื่อเป็นหนึ่งเดียวกับคนหมู่มากและความรู้สึกเกรงกลัวต่อความสูญเสีย (Loss Aversion) จากการตามไม่ทันกระแสสังคม ก็ได้หล่อหลอมให้ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะบริโภคข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบ้างก็อาจเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และบ้างก็ไม่ 

ในแง่นี้จึงอาจทำให้เราเห็นความย้อนแย้งของการบริโภคข้อมูลขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราขยับมาสู่ยุคที่ปัจเจกสามารถเลือกบริโภคข้อมูลอย่างมีอิสรภาพ ทว่าค่านิยมหรือกระแสสังคมก็ดันสร้างความกดดันให้พวกเขาเหล่านั้นต้องบริโภคข้อมูลอยู่เรื่อยไป ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเขาเหล่านั้นมากขนาดนั้น กลายเป็นว่าในวันที่ใครสักคนสามารถเลือกได้อย่างเสรี ก็ใช่ว่าสิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวเขาจะถูกเลือก เพราะเราต้องคำนึงถึงกรอบแวดล้อมทางสังคมด้วย

จากจุดนี้จึงอาจทำให้เราเห็นภาพว่าไฉนใครสักคนถึงต้องสละเวลาในการพักผ่อนส่วนตัว เพื่อไล่ติดตามดราม่า ไม่ต่างจากซีรีส์สืบสวนสอบสวนเรื่องหนึ่งบน Netflix ทั้ง ๆ ที่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากกระแสดราม่าเหล่านี้ นอกจากได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแล้ว ก็อาจเป็น ‘ความรู้สึกร่วม’ เช่นความโกรธหรือความเศร้า กระเด็นกระดอนมาด้วย 

แต่ก็ใช่ว่าความต้องการเป็นส่วนหนึ่งคือปัจจัยเดียวที่จูงใจให้ผู้คนทุกวันนี้เลือกที่จะบริโภคสื่อแม้ว่าจะต้องจ่ายด้วยเวลาหรือแม้แต่สุขภาพของตนเองก็ตาม เพราะในหลาย ๆ ครั้ง คลื่นข่าวเหล่านี้ โดยเฉพาะกับเนื้อหาที่มีองค์ประกอบชวนถกเถียงหรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘ดราม่า’ กลับกลายเป็น ‘สื่อบันเทิง’ ที่ชวนให้ขบเคี้ยวอย่างได้อรรถรส จุดนี้ชวนให้นึกถึงเนื้อหาบางส่วนจากบทเพลงของ โรเจอร์ วอเทอร์ส เสียอย่างนั้น

 

You play the game with

the bravery of being out of range.

 

บทเพลง The Bravery of Being Out of Range คือแทร็คลำดับที่ห้าจากอัลบั้ม Amused to Death ที่ โรเจอร์ วอเทอร์ส เขียนขึ้นเพื่อเสียดสี-ประชดประชันพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนในยุคสมัยนี้ ที่ดูข่าวสงคราม ความขัดแย้ง หรือปัญหาต่าง ๆ นา ๆ มากมายด้วยความบันเทิงเริงรมย์และไร้ซึ่งความเห็นใจ เพราะเนื้อหาเหล่านั้นได้ถูกห่อด้วยภายนอกไม่ต่างจากข่าวบันเทิงหรือซีรีส์ระทึก ๆ สักเรื่องให้ผู้ชมได้ติดตาม

 

 

ด้วยเหตุนั้น ทั้งวิธีคิดและการมองเรื่องราวเหล่านั้นจึงไม่ได้ถูกบริโภคและรู้สึกด้วยกรอบและฐานของความเห็นอกเห็นใจแบบเพื่อนมนุษย์ แต่มองในฐานะสื่อบันเทิงที่ผู้ที่นั่งชมอยู่นั้น ไม่ได้มีส่วนได้รับผลกระทบด้วย จึงเป็นถ้อยคำที่วอเทอร์สจิกกัดว่า “คุณกล้าหาญนัก...ก็ในเมื่อคุณไม่ต้องเสี่ยงอะไรเลย

โดยเนื้อแล้ว เพลงนี้กำลังพูดถึงพฤติกรรมของผู้คนเวลาเสพข่าวสงคราม การเมือง หรือความขัดแย้ง ในฐานะ ‘ผู้ชม’ (Spectator) ที่จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ก็ตามจากสิ่งที่เกิดขึ้น จึงทำให้เขาสามารถกล่าววิจารณ์หรือแสดงความเห็นอะไรก็ได้ เพราะกระสุนเหล่านั้นจะปลิวไปเฉียดเก้าอี้โซฟาของเขาอย่างแน่นอน ตรงตามชื่อเพลงว่า ‘ความกล้าหาญของคนที่อยู่ในระยะปลอดภัย’ ซึ่งในอีกนัยหนึ่ง วอเทอร์ส ก็กำลังเสียดสีบทบาทของประเทศมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็นที่มีความกล้าหาญอย่างมาก เมื่อตนเองไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการปะทะกันของสงคราม แต่ข่มกันไปมากันคนละซีกโลก

แม้ โรเจอร์ วอเทอร์ส จงใจที่จะพูดถึงผู้คนที่รับชมข่าวสารในช่วงเวลานั้นและวิจารณ์การกระทำต่าง ๆ ‘ด้วยความกล้าหาญบนโซฟา’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว สิ่งที่บทเพลงนี้กำลังพูดถึงก็ยังปรากฎให้เราได้เห็นกันในทุกวันนี้ แต่อาจจะไม่ใช่ในแง่ของความกล้าหาญที่จะวิจารณ์อย่างเดียว แต่รวมไปถึง ‘ความบันเทิง’ ด้วย

คุณเคยรู้สึกเครียดอะไรสักอย่างกับปัญหาชีวิตและหาทางบรรเทาด้วยการผ่อนคลายกับภาพยนตร์สักเรื่องไหมครับ? ความรู้สึกที่ทำให้เราได้ไปจดจ่อในปมปัญหาของ ‘ตัวเอก’ หรือ ‘คนอื่น’ จนความตึงเครียดในชีวิตของเราเองถูกกลบหายไปสักประมาณ 2-3 ชั่วโมง

ในหลาย ๆ ครั้ง สำหรับบางคน การบริโภคเรื่องราวดราม่าก็ทำหน้าที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพราะในหลาย ๆ ครั้งที่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือตึงเครียดกับชีวิตปัจจุบัน การได้เอาตัวไปอยู่ในเรื่องราวของคนอื่น ที่ตัวเราเองได้มีสิทธิ์กระโดดลงไปในเรื่องเหล่านั้นและมีความรู้สึกร่วมไปพร้อม ๆ กันในบทบาทของ ‘ผู้ชม’ ก็อาจเป็นการบรรเทาความเครียดระยะสั้นได้ไม่น้อย (แม้ว่าเราอาจจะต้องโมโห เครียด หรือเศร้าหมองไปตามเรื่องราวที่เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม)

ในหนังสือ Stolen Focus โดย โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari) ที่กล่าวถึงการที่สมาธิของพวกเราในยุคปัจจุบันที่มีแนวโน้มที่จะหดหายไปเมื่อเทียบกับสมัยก่อนเพราะการมาถึงของเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดียที่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตประจำวันของเราอย่างแยกไม่ออก หนึ่งในเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงการที่สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอความรุนแรงหรือเนื้อหาล่อแหล่มเพื่อดึงดูดให้ผู้คนตึดหนึบกับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นการเสพดราม่าหรือดูวิดีโอที่มีความรุนแรง ซึ่งผลที่ตามมาคือผู้คนที่บริโภคเนื้อหาประเภทนี้บ่อยครั้งเข้าจะมีแนวโน้มที่มีสมาธิถดถอยลง ไม่สามารถอ่านหรือจดจ่ออะไรได้นาน แถมยังหงุดหงิดง่ายเพราะได้เก็บเกี่ยวพลังลบมาจากเนื้อหาที่บริโภคเข้าไป

ในวันที่ข้อมูลต่าง ๆ หลั่งไหลไปทั่วถึงได้อย่างง่ายดาย เรื่องของคนอื่นจึงเป็นสื่อบันเทิงอย่างหนึ่งที่สังคมสามารถลิ้มรสมันได้อย่างไม่หยุดหย่อนผ่านขบวนกระแสที่จะรุดหน้าไปเรื่อย ๆ ด้วยความเร็วที่มากขึ้นทุกวัน ความสนใจของเรากลายเป็นขุมทรัพย์ที่บรรดาผู้สร้างสรรค์ข่าวสารและเรื่องราวยื้อยุดฉุดกระชากด้วยสารพันวิธีเพื่อชิงเอาความสนใจระยะสั้นมาครอง 

แน่นอนว่าความสนใจของผู้คนในยุคสมัยนี้มีค่าเป็นอย่างมากบนโซเชียลมีเดีย แต่ในขณะเดียวกันก็ตามมาพร้อมกับข้อจำกัดของมนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวที่เย้ายวนให้สนใจไม่เว้นวัน ในขณะที่สมองและความจุในสิ่งที่คนธรรมดาสามารถสนใจได้ก็มีจำกัด 

ในวันที่เรามุ่งมั่นจดจ่อกับสายธารของกระแสข่าวสารที่อุบัติใหม่ขึ้นแทบจะทุกวินาที เราต้องแลกมากับอะไรบ้าง เวลา ความทรงจำ สุขภาพ หรือแม้แต่สัดส่วนของชีวิตในภาพรวม ที่เราเลือกที่จะจ่ายให้กับเรื่องราวดราม่าที่กินทั้งเรี่ยวแรงและพื้นที่ในสมองไม่น้อย ด้วยเศษส่วนของชีวิตที่มีจำกัดของเราทุกคน

 

No tears to cry
No feelings left
This species has amused itself to death


มาถึงจุดนี้เมื่อฟังอัลบั้มของ โรเจอร์ วอเทอร์ส ไปจนถึงแทร็กสุดท้ายนามว่า ‘Amused to Death’ ก็ยิ่งชวนให้เราตั้งคำถามกับพฤติกรรมและเส้นทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไปอย่างลึกซึ้งกว่าเดิม ว่าสารพันความบันเทิงที่เรากำลังบริโภคอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันได้มอบอะไรกลับคืนสู่สังคมหรือแม้แต่ตัวเราบ้าง 

อีกคำเตือนหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้มนี้คือการที่สื่อต่าง ๆ ที่ห่อตัวเองด้วยความบันเทิงและพยายามสูบเอาความรู้สึกต่าง ๆ ของเรามาใช้สอย อาจจะส่งผลต่อมุมมองของเราในอนาคตเวลามองสิ่งต่าง ๆ ที่อาจจะชินชาไปเสียหมด เพราะมีสิ่งไหนในชีวิตจริงที่ดูมีสีสันและจัดจ้านดังที่ถูกเติมแต่งเหมือนในจอโทรทัศน์ — หรือในยุคนี้ก็คือโทรศัพท์มือถือ

ในวันที่ดราม่าทั้งหลายมุมหนึ่งอาจถูกมองเป็น ‘มูลค่า’ ในขณะเดียวกันมันก็กลายเป็น ‘พิษภัย’ และด้วยสมองและความสนใจของมนุษย์ที่มีอยู่จำกัด จุดสมดุลและความกึ่งกลางของเรื่องนี้จะอยู่ตรงไหน แล้วผลลัพธ์ที่ตามมาจะทีหน้าตาเป็นแบบใด จะทำให้หวนย้อนกลับมาฟัง Amused to Death ของ โรเจอร์ วอเทอร์ส อีกครั้งไหม?

ในวันที่โลกหมุนไวขึ้นกว่าก่อนมากนัก การขยับให้เท่าทันโลกเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะหากละเลยทุกข่าวสารและความเคลื่อนไหว ก็อาจตามมาด้วยค่าเสียโอกาสจากความไม่รู้ก็เป็นไปได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ณ จุดไหนคือคำว่าสมดุล และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งไหนนั้นที่จำเป็นกับเราจริง ๆ หรือเป็นเพียงขนมขบเคี้ยวในรูปแบบข่าวสารที่มาเพื่อคว้าเอาชีวิตของเราไปแล้วแลกด้วยความอภิรมย์ชั่วคราว?ฃ

นี่อาจเป็นทางแพร่งที่พวกเราต้องเฟ้นหาคำตอบกันต่อไป