‘Monkey Man’ มังกี้ โสเภณี กะเทย หนังแอ็กชันสะท้อนสังคม ผลงานกำกับเรื่องแรกของ ‘เดฟ พาเทล’

‘Monkey Man’ มังกี้ โสเภณี กะเทย หนังแอ็กชันสะท้อนสังคม ผลงานกำกับเรื่องแรกของ ‘เดฟ พาเทล’

‘Monkey Man’ มังกี้ โสเภณี กะเทย หนังแอ็กชันสะท้อนสังคม ผลงานกำกับเรื่องแรกของ ‘เดฟ พาเทล’

KEY

POINTS

  • เดฟ พาเทล ทุ่มสุดตัวปั้นหนัง Monkey Man ขึ้นมากับมือ ทำทุกอย่างตั้งแต่กำกับ เขียนบท โปรดิวซ์ และแสดงนำ
  • ‘Monkey Man’ ได้รับฉายาว่า ‘John Wick’ ฉบับใส่เครื่องเทศอินเดีย
  • Monkey Man หยิบประเด็นปัญหาทางสังคมของอินเดียในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องชนชั้น การแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งทางศาสนา อาชญากรในโลกใต้ดิน การค้าประเวณี ยาเสพติด ไปถึงกลุ่มคนเพศทางเลือก
     

ชื่อของ ‘เดฟ พาเทล’ (Dev Patel) นักแสดงชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย วัย 34 ปี กลับมาเป็นที่พูดถึงอย่างมากในระยะหลังนี้ เมื่อภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับอย่าง ‘Monkey Man’ ได้ออกฉายในเทศกาล ‘South by Southwest 2024’ และออกฉายทั่วอเมริกา แม้ว่าหนังจะมีทุนสร้างเพียง 10 ล้านดอลลาร์ แต่กลับได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม ทำรายได้ดีและได้ถูกนำไปฉายในหลายประเทศทั่วโลก 

ความสำเร็จระดับเกินคาดคิดนี้ แม้แต่เจ้าตัวยังไม่อยากจะเชื่อ และได้หลั่งน้ำตาด้วยความตื้นตันใจจากการตอบรับอันแสนอบอุ่นนี้จากผู้ชม

เมื่อ 16 ปีก่อน ‘Slumdog Millionaire’ (2008) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ได้ส่งผลให้เดฟ พาเทล โด่งดังมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน เขาได้รับข้อเสนอดี ๆ มากมาย ได้แสดงหนังฟอร์มยักษ์ไปจนถึงหนังน้ำดีที่ทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จาก ‘Lion’ (2016) แต่เมื่อเวลาผ่านไปนักแสดงคลื่นลูกใหม่ก็เปลี่ยนหน้ากันเข้ามาสร้างสีสันใหม่ให้วงการจนคนรุ่นปัจจุบันไม่รู้จักเขาไปแล้ว

‘Monkey Man’ มังกี้ โสเภณี กะเทย หนังแอ็กชันสะท้อนสังคม ผลงานกำกับเรื่องแรกของ ‘เดฟ พาเทล’

แต่เดฟ พาเทล ยังมีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่ต้องการทำหนังแอ็กชันชั้นดีที่มีทั้งความตื่นตาแต่ไม่ละทิ้งเนื้อหาสะท้อนสังคม เขาจึงทุ่มสุดตัวปั้นหนัง Monkey Man ขึ้นมากับมือ ทำทุกอย่างตั้งแต่กำกับ เขียนบท โปรดิวซ์ และแสดงนำ และหวังว่าหนังที่เขาต่อสู้มาไม่น้อยเรื่องนี้จะสามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้บ้างเทียบเคียงกับหนังแอ็กชันในตำนานที่ให้แรงบันดาลใจดี ๆ แก่เขามาทั้งชีวิต

John Wick ฉบับใส่เครื่องเทศอินเดีย 

“ตั้งแต่ผมยังเด็ก ผมหลงใหลในภาพยนตร์แอ็กชันอย่างมาก ผมเคยแอบย่องลงไปชั้นล่างของบ้านในตอนเที่ยงคืน และนั่งดู ‘บรูซ ลี’ (Bruce Lee) กระโดดออกมาจากจอ และเข้าไปอยู่ในจินตนาการของผม ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Enter the Dragon’ จนถึงการได้ดู ‘ศาห์รุข ข่าน’ (Shah Rukh Khan) ต่อสู้กับผู้ร้ายเป็นร้อย ๆ คนเพื่อช่วยคนที่เขารัก จากนั้นผมก็ได้รู้จักกับภาพยนตร์เกาหลี ซึ่งช่วยยกระดับเรื่องราวแนวแก้แค้นขึ้นใหม่ในความคิดของผม ผมรู้ว่าสักวัน ผมจะหลอมรวมความรักที่ผมมีต่อวัฒนธรรม, สไตล์ และการเล่าเรื่องเหล่านี้ เพื่อสร้างผลงานสำหรับคนที่เหมือนผม ผมอยากจะสร้างบทเพลงสดุดีให้กับพวกที่ตกเป็นเบี้ยล่าง วีรบุรุษที่ไม่ได้มีเครื่องมือพร้อม และไม่ได้มีคำคมที่สมบูรณ์แบบในทุกจังหวะ แต่เป็นชายที่พยายามและล้มเหลว และกลับมาพยายามอีก เพียงเพื่อจะล้มเหลวอีกครั้ง”

เดฟ พาเทล แถลงไว้ใน ‘Director’s Note’ ของหนังเพื่อแนะนำที่มาที่ไปของการสร้าง Monkey Man ซึ่งเขาใช้เวลาถึง 8 ปีในการขัดเกลาจนได้บทที่สมบูรณ์ 

หากใครที่ได้ชมหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่ามีกลิ่นอายคล้ายหนังแอ็กชันหลาย ๆ เรื่องทั้ง Man from Nowhere, Oldboy, หนังอินโดนีเซียเรื่อง The Raid และที่คล้ายที่สุดคือเรื่อง John Wick แต่เพิ่มเครื่องปรุงรสจากอินเดียเข้าไป เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของพาเทลตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ที่อยากรวมสิ่งที่เขาชื่นชอบจากหนังเรื่องต่าง ๆ มานำเสนอประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอ และทีมโปรดิวเซอร์ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ก็เป็นทีมเดียวกับ John Wick นั่นเอง

แต่สิ่งที่ทำให้ Monkey Man มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและพิเศษไม่เหมือนใคร ก็คือการหยิบประเด็นปัญหาทางสังคมของอินเดียในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องชนชั้น การแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งทางศาสนา อาชญากรในโลกใต้ดิน การค้าประเวณี ยาเสพติด ไปถึงกลุ่มคนเพศทางเลือกในอินเดียที่ยังไม่ได้รับการยอมรับให้มีฐานะเท่าเทียมกับมนุษย์ ท้ั้งหมดนี้ถูกนำมาเล่าโดยผ่านสายตาของ ‘คิด’ (เดฟ พาเทล)  ชายคนหนึ่งที่ทำงานในสังเวียนต่อสู้ใต้ดิน ในเมืองสมมติของอินเดียที่ชื่อ ‘ยาตะนะ’ (ซึ่งหมายถึง “การดิ้นรนต่อสู้หรือความมุมานะ” และมีอีกความหมายว่า “การแก้แค้น” อีกด้วย)

คิดมีจุดเด่นตรงที่เขาจะสวมหน้ากากลิง ขึ้นต่อสู้โดยปล่อยให้ตัวเองเป็นกระสอบทราย ซ้อมจนเลือดนองเพื่อแลกกับเงินประทังชีวิต จนอยู่มาวันหนึ่งคิดได้มีโอกาสที่จะเข้าใกล้ ‘รานา’ (ซิกันดาร์ เคอร์) หัวหน้าตำรวจฉ้อโกงที่เคยสร้างบาดแผลในใจให้เขาด้วยการเผาหมู่บ้านจนวอดวาย และทำให้แม่ของเขาตายอย่างทรมาน เขาได้ทำแผนแทรกซึมเข้าไปในองค์กรคลับหรู ‘คิงส์’ ที่พัวพันโยงใยไปยังเหล่านักการเมืองระดับสูง โดยมีผู้นำทางศาสนา ‘บาบาชัคติ’ (รับบทโดย มาการานด์ เดศปานเด) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง คิดไม่ขอเก็บความคับแค้นใจนี้ไว้คนเดียวอีกต่อไป เขาพยายามสู้สุดชีวิต โดยปลอมเป็นพนักงานชื่อว่า ‘บ๊อบบี้’ เพื่อจะล้างระบบอันโสมมให้ราบเป็นหน้ากลอง 

หนุมาน ตำนานลิงฮีโร่แห่งอินเดีย 

เดฟ พาเทล รู้จักหนุมานครั้งแรกจากการที่เห็นพ่อและลุงของเขาใส่สร้อยรูปหนุมาน จึงไปสอบถามว่าทำไมลิงตนนี้ถึงได้เป็นที่เคารพนับถือมาก และคนที่มาไขปริศนานี้ก็คือปู่ของเขานั่นเองซึ่งเล่าให้ฟังว่า ตำนานของหนุมานนั้นเป็นความเชื่อของอินเดียมานานหลายพันปี หนุมานเป็นเทพฮินดูผู้เป็นสัญลักษณ์ของภูมิปัญญา ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความจงรักภักดี และการมีวินัยในตนเอง เขาปรากฎตัวครั้งแรกในเพลงสวดสรรเสริญในฤคเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเพลงสวดโบราณ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสี่คัมภีร์ฮินดูศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับ

จากนั้นเขาปรากฎตัวในมหากาพย์สันสกฤตอย่าง ‘มหาภารตะ’ และ ‘รามายณะ’ หนุมานคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ ด้วยร่างกายที่อยู่ยงคงกระพัน แต่มีความเป็นมนุษย์อยู่ลึก ๆ ซึ่งตามตำนานว่าไว้ ตอนที่หนุมานยังเป็นวานรน้อย เขาต้องตกจากสวรรค์เพราะโดนทวยเทพรังเกียจเนื่องจากพยายามกลืนกินดวงอาทิตย์เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นมะม่วงลูกยักษ์ เขาจึงต้องพยายามอย่างหนักที่จะกลับตัวอีกครั้งด้วยการทำคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษย์จนได้รับการเคารพนับถือ 

ด้วยเหตุนี้ เดฟ พาเทลจึงสร้างตัวละคร ‘คิด’ ชายหนุ่มในหน้ากากลิงเพื่อเป็นตัวแทนของหนุมาน คิดเป็นคนด้อยโอกาสที่ถูกระบบกดทับให้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างต้องคอยรับใช้ผู้มีอำนาจที่เปรียบเสมือนเทพที่ทำตามอำเภอใจตัวเอง แม้ว่าสิ่งที่เทพทำนั้นจะเป็นสิ่งเลวร้าย คิดยอมแลกชีวิตของตัวเองเพื่อต่อสู้และเป็นตัวแทนของเหล่าคนชั้นล่างที่จะไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจมืดอีกต่อไป 

นอกจากตัวเดฟ พาเทล จะมีความเชื่อมโยงกับตำนานหนุมานแล้วแล้ว ซิกันดาร์ เคอร์ นักแสดงผู้รับบทรานา ตำรวจวายร้ายของเรื่อง (ผู้ทุ่มเทกับการออดิชันบทนี้มาก ๆ ถึงขั้นเช่าชุดตำรวจอินเดียมาใส่) ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนุมานอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเขานับถือหนุมานมาก่อน และทุกเช้าเขาจะท่องบทสวดสรรเสริญ ‘หนุมาน จาลิสา’ (Hanuman Chalisa) การที่เขาได้รับบทนี้จึงเหมือนเป็นโชคชะตาที่เทพหนุมานกำหนดมาให้ 

โสเภณีถูกกฎหมาย ภัยเงียบที่ผู้หญิงทำร้ายกันเอง 

“โดยหัวใจแล้ว Monkey Man ก็คือจดหมายรักถึงครอบครัวของผมครับ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผสมรวมตำนานเล่าขานที่พ่อและปู่ของผมเล่าให้ผมฟัง และยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการยกย่องพลังของผู้หญิงเก่งทุกคนในชีวิตของผม คนสำคัญที่สุดก็คือแม่ของผมครับ และเรื่องที่ว่าคน ๆ หนึ่งจะยอมทำได้แค่ไหนเพื่อแก้แค้นในสิ่งผิดที่สร้างความทุกข์ให้กับคนที่คุณรักครับ” 

ในหนังแอ็กชันส่วนใหญ่แล้วบทนำจะเน้นไปที่ตัวละครเพศชาย และแสดงโลกผ่านสายตาของผู้ชาย ซึ่งใน Monkey Man ก็เล่าเรื่องด้วยมุมมองนี้แต่ เดฟ พาเทล ได้ใช้โอกาสของเขานำเสนอปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับเพศหญิงและเพศทางเลือกในอินเดีย ในหนังเรื่องนี้ตัวละครคิด ได้เข้าไปทำงานที่คิงส์คลับ ซึ่งเป็นซ่องไฮโซทำกิจการร้านอาหารบังหน้าการค้าประเวณี มีการจัดหาผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติมาให้บริการเหล่าลูกค้ามีเงิน ตัวคิดเองนอกจากจะตั้งใจทำภารกิจของตัวเองให้ลุล่วงแล้ว การที่เขาได้เห็นความเป็นอยู่อันย่ำแย่ของ ‘สีดา’ (โซภิตา ดูลิปาลา) ซึ่งเป็นหญิงค้าบริการที่ต้องติดอยู่ในวังวนมืดมิดนี้ก็ทำให้เขาขยายขอบเขตของการล้างแค้นส่วนตัวไปเป็นสิ่งที่มีเป้าหมายเพื่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

ที่ประเทศอินเดียปัจจุบันการค้าประเวณีโดยสมัครใจ การค้าบริการทางเพศเพื่อแลกกับเงินเพื่อดำรงชีวิตนั้นไม่นับว่าเป็นเรื่องผิดกฏหมาย โดยศาลฎีกาอินเดียนิยามว่าการค้าประเวณี (prostitution) ถือเป็นอาชีพ (profession) ที่จะต้องได้รับรองการคุ้มครองสุขภาพและคุ้มครองแรงงาน ทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการค้าประเวณีเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่าอินเดียมีโสเภณีมากกว่า 3 ล้านคนและมีมูลค่าทางธุรกิจหลายพันล้านดอลลาร์ มีโสเภณีต่างชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากทั้ง รัสเซีย อุซเบกิสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา และจากประเทศอาหรับ ซึ่งใน Monkey Man มีการเก็บรายละเอียดเรื่องนี้มานำเสนอด้วย จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นปัญหาทางสังคมไปพร้อม ๆ กัน  

อีกทั้งสิ่งที่น่าสนใจ คือเดฟ พาเทล ตั้งใจนำเสนอความรุนแรงจากผู้หญิงที่มีต่อผู้หญิงด้วยกันเอง ผ่านตัวละคร ‘ควีนนี่’ (อัชวินี คาลเซการ์)  ซึ่งเป็นแม่เล้าของคิงส์คลับ แสดงให้เห็นว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ชายที่ทำร้ายผู้หญิง แต่ผู้หญิงด้วยกันเองที่อาจจะเคยมีชะตากรรมที่เลวร้ายไม่แพ้กันกลับเลือกที่จะส่งต่อวงจรอุบาทว์นี้ให้ผู้หญิงอีกคนต่อไปอย่างไม่รู้จบ ซึ่งเรื่องนี้นำเสนอไปตามความจริงและน่ากลัวอย่างมาก 

ฮิจรา - กะเทย กับการแสดงภาพยนตร์ 

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความพิเศษของ Monkey Man ที่หาไม่ได้จากหนังแอ็กชันเรื่องอื่น คือเรื่องนี้นำเสนอกลุ่มคนผู้เป็น ‘กะเทย’ ไม่ใช่ผู้ชายและไม่ใช่ผู้หญิงซึ่งในอินเดียเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘ฮิจรา’ (Hijra) ซึ่งเป็นภาษาอูรดู ภาษาถิ่นของทางอินเดียเหนือ โดยภาษาฮินดีได้ยืมคำนี้มาใช้เรียกคนข้ามเพศหรือบุคคลเพศชายที่แสดงลักษณะและพฤติกรรมท่าทางใกล้เคียงกับลักษณะของเพศหญิง

ใน Monkey Man มีตัวละครฮิจราชื่อว่า ‘อัลฟ่า’ (วิพิน ชาร์มา) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือคิด เมื่อเขาบาดเจ็บหนักเธอให้ที่พักพิงกับเขา ทำให้เขาได้พักเยียวยาตัวเอง เธอยังสอนคิด ให้ค้นหาพลังและความมุ่งมั่นที่เขากลัวว่าจะหายไป ในทางกลับกัน คิด กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มฮิจรามาร่วมมือกับเขาในการโค่นล้มพวกผู้ชายและระบบที่กดขี่เขาและพวกเธออยู่

ฮิจราเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ในเชิงจิตวิญญาณมาอย่างยาวนานในวัฒนธรรมฮินดู โดยมีตำนานอยู่ในรามายณะฉบับอินเดียใต้ ในเรื่องตอนนี้ที่พระรามถูกเนรเทศออกจากอโยธยา มีกลุ่มคนออกไปส่งพระราม ซึ่งพระรามได้สั่งให้ชายและหญิงกลับเข้าเมืองไปเสียไม่ต้องอยู่รอ แต่ผ่านไป 14 ปี พระรามกลับมาแล้วพบว่า มีกลุ่มฮิจรา-บุคคลที่ไม่ใช่ทั้งชายและหญิงเฝ้ารอพระองค์อยู่ด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดี พระรามจึงอวยพรให้พวกเธอมีสิทธิให้พรใครก็ได้ และมีสิทธิ์สาปใครก็ได้ โดยคำสาปนั้นจะเป็นจริงเสมอ

จากตำนานความเชื่อเรื่องนี้ทำให้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 ฮิจรามีอำนาจทางศาสนา เพราะเชื่อกันว่าพวกเธอมีวาจาสิทธิ์ที่จะให้พรใครก็ได้ ทำให้พวกเธอถูกเชิญไปทำพิธีทางศาสนา ในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น พิธีต้อนรับเด็กเกิดใหม่ ซึ่งจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์สู่เด็กและครอบครัว 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากอินเดียถูกปกครองโดยอังกฤษ ตามกฏหมายอังกฤษแล้วบุคลที่มีเพศขัดจากธรรมชาติให้นับว่าเป็นอาชญากรมีความผิดทางกฏหมาย กลุ่มฮิจราจึงถูกผู้คนรังเกียจถึงปัจจุบัน ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย และพวกเธอไม่สามารถไปทำงานหรือมีการศึกษาได้จึงได้ทำอาชีพเป็นขอทาน 

เดฟ พาเทล  เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องแสดงให้เห็นภาพของกลุ่มฮิจราในเรื่อง  Monkey Man โดยเขานำเสนอพวกเธอให้ผู้ชมรู้จักตามความเป็นจริง ในหนัง Monkey Man นำเสนอว่าเหล่าฮิจรานับถือ ‘พระอรรธนารีศวร’ (Ardhanarishvara) เป็นรูปรวมเพศ (androgynous) ของเทพเจ้าฮินดูสององค์คือ ‘พระศิวะ’ และ ‘พระปารวตี’ ลักษณะกายแบ่งครึ่งตรงกลางตามแนวตั้งเป็นสองส่วน ครึ่งทางขวามือเป็นเพศบุรุษ คือพระศิวะ ส่วนฝั่งซ้ายเป็นสตรี คือ พระแม่ปารวตี ซึ่งเป็นการแสดงออกถึง ไม่ใช่เพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นทั้งสองเพศ และนำเสนอความโหดร้ายที่กลุ่มฮิจราถูกทำร้ายร่างกายจนถึงโดนฆ่าเพราะความเกลียดชังจนพวกเธอต้องหนีไปหลบซ่อนและดูแลกันในชุมชนของตัวเอง 

เดฟ พาเทล ยังใช้โอกาสทำหนังเรื่องนี้ให้เกิดการจ้างงานฮิจราด้วย เพราะมีนักแสดงที่เป็นฮิจราตัวจริงอยู่ 3 คนได้แก่ เพฮาน อับดุล, ดายังกู รยานา และเรวา มาร์เชลลิน ซึ่งมารับบทแสดงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ซึ่งเพฮาน อับดุล ผู้รับบทเป็น ‘ลักษมี’ ได้เผยความรู้สึกที่ได้แสดงหนังเรื่องนี้ไว้ว่า

“เราตั้งความหวังจะเป็นต้นแบบให้กับคนที่เป็นคนข้ามเพศในอนาคต ว่าจงอย่าหยุดฝันในสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ หรืออยากจะเป็น ฉันหวังว่าสิ่งที่เรื่องนี้พยายามสื่อสารจะถูกส่งไปถึงคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ฉันหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขา รวมถึงวิธีและพฤติกรรมที่พวกเขามีต่อเรา เราไม่ได้คาดหวังจะได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ เราแค่อยากได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง อย่าพยายามเปรียบเทียบเพศของพวกเรา แค่ปฏิบัติกับเราในฐานะคน ๆ หนึ่งที่มีเลือดสีแดงเหมือนกันค่ะ”

Monkey Man ยังมีความน่าสนใจอีกมากมายหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะโปรดักชันดีไซเนอร์ชาวไทย ‘พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ’ ผู้เนรมิตรเมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย ให้กลายเป็นอินเดียได้อย่างน่าทึ่ง และยังได้ทีมสตันท์แมนเป็นคนไทย ซึ่งเดฟ พาเทล ได้กล่าวในรายการสัมภาษณ์ต่าง ๆ เสมอว่า เป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้หนังมีฉากแอ็กชันที่เข้มข้นดุเดือดแบบหาจากที่ไหนไม่ได้ และให้เกียรติพวกเขาด้วยการเอ่ยถึงทุกครั้งที่มีโอกาส 

(คลิปที่เดฟ พาเทล ให้สัมภาษณ์ถึงสตันท์แมนชาวไทย วุฒิ กูลวัฒน์’)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์ครั้งแรกของเดฟ พาเทล ในเรื่องนี้ เรียกได้ว่าเกินคำว่า “ทำถึง” ไปมาก เพราะนอกเหนือจากการเป็นหนังแอ็กชันที่ให้ความบันเทิงแล้ว เขายังพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวทางสังคมและประวัติศาสตร์ได้อย่างเพลิดเพลิน ควรค่าแก่การเสียเงินไปชมในโรงภาพยนตร์เพื่อรับประสบการณ์ในการชมที่สมบูรณ์ที่สุด

 

เรื่อง : เพจผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้ 
อ้างอิง : Production Note : Monkey Man