‘Know Your Worth’ คาบาเรต์ที่กระตุกคนดูตั้งคำถามว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร?

‘Know Your Worth’ คาบาเรต์ที่กระตุกคนดูตั้งคำถามว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร?

Know Your Worth: คาบาเรต์ที่ทำให้ฉุกคิดว่า เราทุ่มเวลาทั้งชีวิตเพื่ออะไร? และแท้จริงแล้วมัน ‘คุ้มค่า’ มากพอหรือไม่?

  • Know Your Worth เป็นการแสดงคาบาเรต์ที่ประกอบด้วยนักแสดง 4 คน และนักเปียโน 1 คน ใช้เวลาในการแสดงเพียง 15 นาที แต่สามารถกระตุกคนดูให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร? 
  • ตัวละครใน Know Your Worth ก็ไม่ต่างจากพวกเราสักเท่าไร แม้จะเป็นถึงผู้บริหาร แต่พวกเขาก็ไม่มีเวลาส่วนตัวเหมือนกันเพราะต้องง่วนอยู่กับการทำงาน ถึงขนาดต้องปฏิเสธนัดของเพื่อน ๆ ทั้งที่ใจก็อยากไป

พอได้รับคำชวนให้ไปร่วมชม ‘คาบาเรต์’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ สารภาพตามตรงว่าจินตนาการไม่ออกว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน? และไม่แน่ใจเลยว่าจะเก็บอะไรมาเขียนได้หรือเปล่า?

แต่กลายเป็นว่าเมื่อชมโชว์จบลง ในหัวกลับมีอะไรมากมายที่อยากพรั่งพรูออกมา

ทันทีที่ก้าวเข้าไปนั่งในสถานที่จัดแสดง ซึ่งเป็นห้องขนาดเล็ก รองรับผู้ชมได้ราว 50 คน เหล่านักแสดงที่มีทั้งหมด 5 คน (รวมนักเปียโน) ได้นั่งประจำที่รออยู่ก่อนแล้ว และได้ทักทายเหล่าผู้ชมด้วยความเป็นกันเอง ชวนให้เรานึกสงสัยว่าเมื่อถึงเวลาโชว์จริง พวกเขาจะสามารถสลัดตัวตนที่สดใส ฉาบไปด้วยรอยยิ้ม เพื่อพาเราเข้าถึงแนวคิดลึกซึ้งเกี่ยวกับ ‘สังคมทุนนิยม’ ตามที่โปรโมตไว้ ได้หรือไม่?

ด้วยความเป็นโชว์ร้อยเรียงเพลงที่ใช้เวลาน้อยมาก (แค่ 15 นาที) ทันทีที่เปิดฉากการแสดง ผู้ชมก็ถูกตีแสกหน้าด้วยคำถามที่มาโดยไม่ทันตั้งตัวว่า “อะไรคือสิ่งที่มีค่าในชีวิต?” 

ในขณะที่ในหัวของเรารีบขบคิดหาคำตอบ เพลงเปิดตัวนักแสดงทั้งสี่ที่ชื่อว่า ‘Sorry, I Can’t’ ก็ได้เฉลยคำตอบที่เรามิอาจเถียงได้เลยนั่นคือ ‘เวลา’ 

ถามว่าทำไมเวลาจึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด? ถ้าคุณอยู่ในวัยทำงานที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอันแสนวุ่นวาย (เช่น กรุงเทพฯ) คุณจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของเวลาดี เช่นตอนที่คุณต้องสั่งข้าวมากินหน้าจอคอมฯเพื่อเร่งปั่นงานให้ทันเวลาทั้งที่หิวไส้จะขาด หรือตอนที่ฝนตกจนถนนกลายเป็นอัมพาตไปทั้งเมือง ในขณะที่คุณต้องรีบมาประชุมให้ทัน และตอนที่คุณยอมทำงานหามรุ่งหามค่ำจนสุขภาพย่ำแย่เพื่อให้งานเสร็จ ฯลฯ 

ตัวละครใน Know Your Worth ก็ไม่ต่างจากพวกเราสักเท่าไร แม้จะเป็นถึงผู้บริหาร แต่พวกเขาก็ไม่มีเวลาส่วนตัวเหมือนกันเพราะต้องง่วนอยู่กับการทำงาน ถึงขนาดต้องปฏิเสธนัดของเพื่อน ๆ ทั้งที่ใจก็อยากไป

นั่นเพราะทั้งตัวละครและพวกเราต่างเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจว่า ต้องทุ่มสรรพเวลาทั้งหมดที่มีไปกับการทำงานเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ซึ่งจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า เรานั้นทรง ‘คุณค่า’ มากแค่ไหน

ทุกวันนี้เวลาหันไปทางไหน เราจึงเห็นแต่คนรอบตัวที่เผาเวลาไปกับการทุ่มเททำงาน จนแทบไม่มีเวลาหยุดคิดสักนิดว่า แท้จริงแล้วทุกคนต่างก็ต้องการจังหวะเพื่อหยุดพักหายใจหายคอ ออกตามหาแรงบันดาลใจ เติมเชื้อไฟความสร้างสรรค์ และอยู่ท่ามกลางคนที่รัก

ในขณะที่กำลังนั่งจุกกับสิ่งที่ตกผลึกได้จากเพลงแรก ทีมนักแสดงก็พาเราเดินทางต่อไปกับเพลง ‘Customer Disservice’ ที่เล่าเรื่องราวคอลเซ็นเตอร์สายการบินกับลูกค้า ที่ถึงแม้จะพูดภาษาเดียวกัน แต่ก็ดูเหมือนจะยุ่งยากและเป็นพิธีรีตอง จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้สักที 

‘Know Your Worth’ คาบาเรต์ที่กระตุกคนดูตั้งคำถามว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร?

เราชอบช่วงนี้ที่สุด เพราะนอกจากจะเรียกเสียงหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็ง ยังถือเป็นการหยิบเอาประสบการณ์ร่วมของคนดูมาเล่าได้อย่างตลก(ร้าย) 

เราเองก็เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากคอลเซ็นเตอร์ธนาคาร (แห่งหนึ่ง) ที่ได้มอบ ‘ความไม่จริงใจ’ ในการแก้ปัญหา และ ‘ไม่เต็มใจ’ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า มาให้เหมือนกัน ทั้งที่ธนาคารนำเงินของพวกเราไปโกยผลประโยชน์เข้าตัวเองมากมาย

ซึ่งนี่แหละคือ ‘ทุนนิยม’ ที่มีแต่ตักตวงและดูดพลังจากเรา ไม่ว่าเราจะสวมหมวก ‘พนักงาน’ หรือ ‘ลูกค้า’ ก็ตาม

ระหว่างที่กำลังรู้สึก ‘เวทนา’ ตัวเองอยู่ ทีมนักแสดงก็ปลุกเร้าผู้ชมต่อด้วยเพลง ‘We Did This For You’ ซึ่งนักแสดงทั้งสี่สวมบทเป็นนักการตลาดที่เชื้อเชิญให้เหล่าลูกค้า (คนดู) เข้าร่วมโปรโมชั่น ที่จัดขึ้นแทบจะทุกเทศกาล ทั้งวันวาเลนไทน์ ปีใหม่ ตรุษจีน หรือแม้กระทั่ง ‘วันพฤหัสบดี’ 

สะท้อนถึง ‘ความหิวกระหาย’ ของทุนนิยม ที่อยากจะดึงเงินในกระเป๋าลูกค้าออกมาด้วยวิธีการแสนแยบยล  

‘Know Your Worth’ คาบาเรต์ที่กระตุกคนดูตั้งคำถามว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร?

ถึงจุดหนึ่งเราคิดว่า ทีมนักแสดงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งที่ทำให้เรารู้สึก ‘อึดอัด’ กับวิธีการขายของนักการตลาด (หรืออีกนัยก็คือทุนนิยม) จนเราแอบโล่งใจที่ช่วงหนึ่ง ทีมนักแสดงหันไปบิลด์อารมณ์กับนักเปียโนแทน (อารมณ์คล้ายตอนเดินในห้างแล้วเจอพนักงานขายตื๊อให้กรอกข้อมูลแลกโปรโมชั่น แล้วพนักงานขายเจอเป้าหมายใหม่ เลยยอมปล่อยมือจากเราไป) 

เพลงต่อมามีชื่อว่า ‘Great’ เราแอบคิดว่าเพลงนี้จะช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายขึ้นบ้าง เพราะเป็นเพลงช้าที่มาเบรกอารมณ์จากเพลงแรก ๆ ที่ไต่ระดับความตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ฟังเพลงนี้จบกลายเป็นว่าเรารู้สึก ‘เหนื่อยล้า’ เข้าไปอีก เพราะเป็นเพลงที่เล่าถึงชีวิตชิลด์ ๆ ในอดีตของคนทำงาน ที่เคยมีเวลานอนพักผ่อนใต้ต้นไม้ ชมแสงหิ่งห้อยในตอนกลางคืน กระทั่งต้องเข้าเมืองมาทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนรู้สึกโหยหาช่วงเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและความเรียบง่าย

เพลงนี้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่จากบ้านมาเพื่อไล่ล่าความสำเร็จจนลืมแม้กระทั่ง ‘ตัวตน’ และ ‘จิตวิญญาณ’ ของตัวเอง ได้อย่างดีเยี่ยมจนขนลุก

แต่ถึงพวกเราจะโหยหาความรู้สึกเบาสบายดั่งในอดีตมากเพียงใดก็ตาม สุดท้ายเราก็จำต้องละทิ้งความรู้สึกเหล่านั้น แล้วทำงาน ทำงาน และทำงาน เพื่อให้ทุนนิยมได้สุขสมกับ ‘ตัวเลข’ ที่สูงขึ้นทุกปี 

‘Know Your Worth’ คาบาเรต์ที่กระตุกคนดูตั้งคำถามว่ากำลังทุ่ม ‘เวลา’ ทั้งชีวิตเพื่ออะไร?

จึงไม่แปลกที่เราจะไม่มีเวลามานั่งถามตัวเองว่า ‘ความสำเร็จ’ ที่เราใฝ่ฝันถึงนั้น แท้จริงแล้วเป็นความสำเร็จของ ‘ทุนนิยม’ หรือความสำเร็จของ ‘ตัวเรา’ เอง กันแน่ และมันมี ‘คุณค่า’ มากพอที่จะสละเวลาทั้งชีวิตให้หรือเปล่า?

เหมือนที่เพลงสุดท้าย ‘Know Your Worth’ ได้กระตุกให้เราฉุกคิดถึงสิ่งนี้

 

*หมายเหตุ : การแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลละครกรุงเทพ 2023 (Bangkok Theatre Festival 2023) ซึ่งปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว