วิเคราะห์ ‘ก้าวไกล’ กวาดคะแนนจากเขตทหาร และผลลัพธ์เมื่อ ‘ดอกส้ม’ บานใน ‘กองทัพ’

วิเคราะห์ ‘ก้าวไกล’ กวาดคะแนนจากเขตทหาร และผลลัพธ์เมื่อ ‘ดอกส้ม’ บานใน ‘กองทัพ’

พรรค ‘ก้าวไกล’ ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายในกรุงเทพมหานคร แม้แต่ในพื้นที่เขตทหาร ซึ่งถือเป็นองค์กรที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างหลายด้าน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนอะไรบ้าง และจะส่งผลอย่างไร

  • เขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ที่มีทหารบกมาใช้สิทธิจำนวนมาก ผลเลือกตั้งออกมายังเป็นชัยชนะของพรรคก้าวไกล ทั้งที่พรรคมีนโยบายเรื่องปฏิรูปกองทัพ
  • ปรากฏการณ์ ‘ดอกส้ม’ บานใน ‘กองทัพ’ มีภูมิหลัง เชื่อมโยงกับบริบทต่าง ๆ และยังมีผลบางอย่างที่ตามมาด้วย

สถานการณ์การเมืองเรียกว่า ‘พลิกกระดานอำนาจ’ ภายหลังเกิดปรากฏการณ์ ‘ก้าวไกลฟีเวอร์’ ขึ้นมา แม้แต่ในพื้นที่ ‘กองทัพ’ ก็พบว่า ‘พรรคก้าวไกล’ สามารถเจาะพื้นที่เข้าไปได้ ทั้งที่พรรคก้าวไกลมีนโยบาย ‘ปฏิรูปกองทัพ’ และเป็นพรรคการเมือง ‘เชิงอุดมการณ์’ ที่ต่อสู้ในเรื่องโครงสร้างทางอำนาจ หนีไม่พ้นที่ ‘กองทัพ’ จะตกเป็นเป้าในการเอา ‘กองทัพ’ ออกจากการเมือง

ซึ่งที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพอย่างเข้มข้น โดยการปฏิรูปกองทัพอีกแง่หนึ่งก็คือการ ‘ทุบหม้อข้าวทหาร’ ด้วย

ดังนั้นปรากฏการณ์ ‘พรรคก้าวไกล’ จึงน่าสนใจว่า เกิดอะไรขึ้นในกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก ที่เป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุด และเป็น ‘ขุมกำลังหลัก’ ในการทำรัฐประหาร

หน่วยทหารย่านเกียกกายที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ย่านทหารบก’ ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ใหญ่ที่สุด โดยบริเวณศูนย์บริการสาธารณสุข 38 บำเพ็ญ เกียกกาย ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่มีทหารบกเดินทางมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่มีทั้งหมด 8 หน่วยเลือกตั้ง มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมทั้งหมด 6,506 คน กว่า 80% เป็นทหารและครอบครัว จากหน่วยต่าง ๆ ประกอบด้วย ม.พัน.4, พล.1 รอ., ม.1 พัน.3, กองพล ปตอ. และกองพันทหารสื่อสาร กรมสรรพาวุธ

ขณะที่ 20% เป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งผลการนับคะแนน เขตเลือกตั้งที่ 7 แขวงนครชัยศรี เขตดุสิต (เขตทหาร) มี 8 หน่วย ซึ่งผลการเลือกตั้งพรรคก้าวไกล ชนะขาดทั้ง 8 หน่วยเลือกตั้ง โดยชนะทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้น หน่วยเลือกตั้งดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญว่า ‘ทหาร’ มีความคิดทางการเมืองอย่างไร รวมทั้ง ‘ครอบครัวทหาร’ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ‘ทหารชั้นประทวน’ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความเป็นธรรม’ ต่าง ๆ

แต่ที่สนใจคือปรากฏการณ์ที่ ร.ร.นายร้อย จปร. จังหวัดนครนายก ที่มีการจัดหน่วยเลือกตั้งบริเวณนอกโรงเรียนฯ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 หน่วยเลือกตั้ง แต่มีหน่วยเลือกตั้งหน่วยหนึ่ง พบว่าคะแนนของ ‘พรรคก้าวไกล’ มาอันดับที่ 1 รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย ตามมาด้วยพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่เมื่อผลเลือกตั้งทั้ง จ.นครนายก ออกมา พบว่าเป็นผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย ที่ได้รับการเลือกตั้งทั้ง 2 เขต

แต่ปรากฏการณ์ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ไปประชิดประตู ร.ร.นายร้อย จปร. ถูกมองในหลายมิติในทางการเมือง เพราะคะแนนดังกล่าวต้องจำแนกอีกว่ามีทั้งที่มาจากนร.นายร้อยฯ ที่มาจากกำลังพลประจำโรงเรียน ครอบครัวกำลังพล และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบ

กระแสความคิดแบบ ‘อนาคตใหม่’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้ ‘แทรกซึมในกองทัพ’ แล้ว โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาทหารที่เป็นพื้นที่ของ ‘คนรุ่นใหม่-นิวเจน’ ในกองทัพ ดังนั้น กระบวนการคัดเลือก นร.นายร้อย จปร. จึงมีความเข้มข้นมากขึ้น ในการ ‘คัดกรองทัศนคติการเมือง’ ก่อนเข้าไป อีกทั้งการกำกับการ ‘แสดงออก’ ต่าง ๆ ในเรื่องการเมืองด้วย แต่การเลือกตั้งทำโดย ‘วิธีลับ’ ก็เป็นเรื่องที่ นร.นายร้อย จปร. สามารถแสดงออกได้เช่นกัน

ในยุค พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ก็วางตัวมีระยะห่างจากรัฐบาล ไม่ออกตัวแรงปกป้องเท่าใดนัก ยกเว้นเรื่องที่มากระทบสถาบัน พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะมีแอคชั่นแรงพอสมควร เช่น การบอยคอตต์บริษัทค้าของออนไลน์ เมื่อปีที่แล้ว เป็นต้น

ช่วงก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวถึงกรณีที่ ‘ทหาร’ ตกเป็นเป้าในการหาเสียง ผ่านการเสนอนโยบายต่าง ๆ เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหารว่า

“ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ใครจะเข้ามา เขาก็มีสิทธิที่จะทำตามนโยบายของเขา ในส่วนของเราที่เป็นทหาร ก็มีสิทธิทำข้อมูลชี้แจงถึงความจำเป็นในการมีทหาร หรือจำเป็นในการเกณฑ์ทหาร เป็นเรื่องที่นายทหารจะต้องพูดคุยกัน ซึ่งมีทั้งเรื่องที่คนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยคือเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิที่ทุกคนจะมีแนวคิดหรือมุมมองด้านใดก็ได้”

ในฝ่ายความมั่นคงเองก็มีการประเมินสถานการณ์เช่นกัน ในกรณีที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ได้เป็นรัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งก็เชื่อว่ากระบวนการทางรัฐสภาฯ จะกำกับการทำงานของพรรคก้าวไกลได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องฝ่าด่านพรรคอื่น ๆ ในสภาฯด้วย แต่สถานกรณ์พลิก กลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลมาเป็นที่ 1 สะท้อนถึง ‘กระแสนิยม’ ที่หยุดไม่อยู่ ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงจะต้องมาประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง

อาจเรียกได้ว่า ทบ. อยู่ในสภาวะปล่อย ‘ฟรีโหวต’ และในยุคนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะไป ‘ล็อคโหวต’ โดยเฉพาะกับกำลังพล ‘ชั้นประทวน’ ที่เป็นกำลังหลักของ ทบ. เพราะช่วงที่ผ่านมามีการ ‘ลงดาบ’ กำลังพลด้วย เริ่มจากที่ ผบ.ทบ. ทำการโยกเข้ากรุ ไม่ได้ขุมกำลังรบ ในโผโยกย้าย ‘ผู้บังคับการกรม’ หลังฟ้าผ่าไปที่ ‘กองพลสไตรเกอร์’ พล.ร.11 ที่ปรากฏภาพไปทานข้าวกับนักการเมือง จ.ฉะเชิงเทรา

ล่าสุด กองทัพภาคที่ 4 ได้ลงโทษทหารช่าง หลังแชทในกรุ๊ปไลน์กองร้อยกองบังคับการ กองพันทหารช่างที่ 401 มีลักษณะโน้มน้าวให้เลือกบางพรรค โดยหน่วยได้ตั้งกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเจ้าตัวสารภาพเพราะชอบส่วนตัว ต้องการโน้มน้าวให้คล้อยตาม จึงผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง สั่งจำขัง 30 วัน งดบำเหน็จประจำปี ปรับย้ายออกจากตำแหน่งเดิม

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้ง สื่อได้ถาม พล.อ.ณรงค์พันธ์ หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็สงวนท่าที ตอบเพียงว่า “เป็นเรื่องของสถานการณ์ในอนาคต ไม่มีใครตอบได้ จนกว่าจะถึงวันที่ 14 พ.ค. อะไรก็ว่ากันไป ซึ่งถือเป็นเรื่องของนักการเมืองที่จะไปจับขั้วกันเองว่า จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร ทหารเป็นเพียงข้าราชการประจำ ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง”

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์สถานการณ์หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะเกิด ‘รัฐประหาร’ ขึ้นหรือไม่

ตลอดเวลา 2 ปีครึ่งที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เป็น ผบ.ทบ. ยังคงยืนยันตลอดว่าการปฏิวัติ-รัฐประหาร ยังคงเป็นศูนย์และติดลบ มักตำหนิสื่อที่ถามเรื่องนี้

ล่าสุด ขอให้สื่อลบออกไปจากพจนานุกรมของสื่อ แต่เมื่อสื่อย้อนถามว่าต้องลบออกจากพจนานุกรมกองทัพหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวทิ้งนัยว่า “ลบแน่นอนสำหรับผม” ซึ่งเป็นคำพูดของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่กำลังจะเกษียณฯอีก 5 เดือนเท่านั้น

ในวันที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปก็มีคำพูดทำนองว่า การทำรัฐประหารจะไม่มีอีกแล้ว แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ ในวันที่สถานการณ์เปลี่ยนไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ก็ต้องจับตาว่าการทำ ‘รัฐประหาร’ จะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใด ผ่านกลไกอำนาจใดแทน โดยที่ไม่ต้องให้ ‘ทหาร-รถถัง’ ออกมาอีก

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ‘ดอกส้ม’ ได้บานขึ้นแล้วใน ‘กองทัพ’ ผ่านวิธีคิดแบบ ‘อนาคตใหม่’

 

เรื่อง: กุหลาบ ลายพราง

ภาพ: แฟ้มภาพกลุ่มทหารมาเลือกตั้งที่หน่วยในอดีต ประกอบเนื้อหา จาก NATION PHOTO