Snap (2015): สำนึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบ snapshot

Snap (2015): สำนึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบ snapshot

Snap (2015): สำนึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบ snapshot

หากยึดตามสำนวนฝรั่งที่ว่า The seven-year itch มันคือความเชื่อหนึ่งที่พยายามอธิบายว่า วงจรความรัก วงจรความสัมพันธ์ มันหมุนเปลี่ยนทุก 7 ปี เคยรักมาก ความรักที่มีก็อาจจะน้อยลงเรื่อย ๆ บางคู่อาจจะข้ามกำแพง 7 ปี แล้วยังรักกันต่อเพื่อพิสูจน์ว่าเวลาไม่มีผลใด ๆ กับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ แต่กลับบางคน นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการแยกทางกัน แต่หากเวลาผ่านไปถึง 8 ปี หากรู้สึกไม่รักกัน ก็คงจะอยู่ด้วยกันไปแบบเฉยชา แบบยอมรับสภาพกันแล้วว่า ยังไงก็คงจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้มาก วิธีคิดแบบนี้ หากลองขยายไปไกลกว่านั้น นอกจากจะพูดถึงความสัมพันธ์ในชีวิตคู่แล้ว มันขยายความไปสู่ความรู้สึกที่มีต่อสังคมการเมืองได้หรือไม่? หากนึกถึงไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากปี พ.ศ.2549 ถึงปี พ.ศ.2557 นั่นก็ผ่านไป 8 ปีพอดี ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์รัฐประหารติดต่อกันถึง 2 ครั้ง นั่นคือในวันที่ 19 กันยายน 2549 และวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งถึงวันนี้เราไม่สามารถที่จะตอบได้เลยว่า การปรับเปลี่ยนบ้านเมืองผ่านกองทัพ จะนำพาไปสังคมไทยไปสู่คำตอบที่ต้องการได้ และในเชิงปัจเจก ความสับสนนี้ อาจจะนำไปสู่ความชินชา การจำนน และความไร้เดียงสาต่อความเป็นไปของสังคมไม่ต่างอะไรกับตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง Snap ที่ฉายเมื่อปี 2558 ผลงานกำกับถาพยนตร์ของคงเดช จาตุรันต์รัศมี นั่นเป็นบริบทในภาพยนตร์เมื่อ 6-7 ปีก่อนตามที่เล่าในเรื่อง แต่ในปัจจุบันนี้ (ปี 2564) จากความเฉยชาทางการเมือง เริ่มเปลี่ยนแปรไป หลายคนเริ่มรู้สึกโกรธแค้นและออกมาตั้งคำถามกับการบริหารจัดการบ้านเมืองของรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นลายเซ็นของคงเดชไปแล้วที่หนังของเขาจะต้องมีฟุตโน้ตเหตุการณ์การเมืองไทยที่สำคัญกำกับไว้อยู่ หลายครั้งก็ปรากฏเป็นฉากหลังแบบ “ระหว่างบรรทัด” อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง “สยิว” ที่พูดถึงเรื่องราวสังคมในยุคนิตยสารปลุกใจเสือป่ากำลังรุ่งโรจน์ภายใต้ฉากหลังเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 หรืออย่าง “เฉิ่ม” ที่พูดถึงชีวิตหนุ่มแท็กซี่กับสาวหมอนวด ที่มีเหตุการณ์วิกฤติการณ์การเงินในเอเชีย หรือวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 แฝงอยู่สักเล็กน้อย จนมาถึงภาพยนตร์อย่าง “ตั้งวง” คราวนี้คงเดช ไม่เพียงแต่เรื่องการเมืองมาพูดเป็นฉากหลัง แต่สื่อสารมันออกมาตรง ๆ เลย กับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อปี 2553 ผ่านเรื่องราวชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแฟลตแถวนั้น หนังมันเต็มไปด้วยการตั้งคำถามและวิพากษ์ตั้งแต่เรื่องความเชื่อทางการเมือง ไปจนถึงความเป็น “ไทย” ได้อย่างแหลมคม พอมาถึง Snap คงเดชได้วางโครงเรื่องไว้ที่คอนเซ็ปต์ “ความโรแมนติกภายใต้กฎอัยการศึก” กับเรื่องราวของผึ้ง (วรันธร เปานิล) ลูกสาวนายพลที่กำลังจะแต่งงานกับนายทหารหนุ่ม และ บอย (โทนี่ รากแก่น) หนุ่มฮิปสเตอร์ช่างภาพ ซึ่งทั้งสองคนและเพื่อนในรุ่นมีโอกาสได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในเวลา 8 ปีต่อมาในงานแต่งงานเพื่อนคนหนึ่ง ตัวหนังได้เชื่อมโยงความเกี่ยวข้องด้านไทม์ไลน์เวลาของเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2549 และปี 2557 ว่าเกี่ยวพันกับชีวิตของทั้งตัวละครหลักทั้งสองผ่าน 2 เหตุการณ์สำคัญก็คือ เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ทำให้ผึ้งต้องออกจากโรงเรียนมัธยมฯ ตามคุณพ่อซึ่งเป็นนายทหารเข้ามาที่กรุงเทพฯ จนมาถึงปี 2557 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของการเกิดกฎอัยการศึกอันเนื่องมาจากการประท้วงอย่างรุนแรงในหลายกรรม หลายวาระของกลุ่ม กปปส. และในค่ำคืนที่เกิดการรัฐประหารในปีนั้นเอง เธอได้กลับมาที่ต่างจังหวัดเพื่อมาเจอกับเพื่อนฝูงสมัยมัธยมฯ อีกครั้งในงานแต่งของเพื่อน ซึ่งในช่วงเวลาที่กลับมาที่โรงเรียนที่เคยเรียน เธอได้พบกับ บอย ซึ่งหนังพยายามอธิบายว่า ทั้งสองคนนี้เคยมีอะไรที่ลึกซึ้งต่อกัน แต่ตอนนี้มันก็เป็นได้เพียงแค่นั้น เพราะผึ้งกำลังจะแต่งงานกับนายทหารหนุ่ม ในขณะที่บทสนทนาของหนังวนเวียนอยู่กับคีย์เวิร์ดที่ว่า “8 ปีผ่านไป...” ตัวละครแต่ละครรู้สึกอย่างไรบ้าง? แม้ว่าผึ้งกำลังจะแต่งงาน แต่เธอกลับดูมีความสุขมากกว่าเมื่อได้กลับมาหาเพื่อน ๆ อีกครั้ง แล้วมาพูดคุยความหลัง พูดคุยถึงเพลงเพราะ ๆ ที่เธอเคยเปิดตอนเป็นดีเจที่โรงเรียน โดยเฉพาะกับ บอย ดูจะมีเรื่องราวร่วมกันมากมายหลายสิ่ง อย่างเช่น โต๊ะเรียนที่เคยนั่งคุยกัน ปลาหน้าตาประหลาดที่ตอนนี้ไม่ได้มีอยู่ที่โรงเรียนแล้ว และที่เป็น “ปม” ที่อยู่ในใจของทั้งบอยและผึ้งก็คือ ภาพถ่ายของผึ้งและบอยไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือรุ่น (ซึ่งบอยเป็นช่างภาพประจำหนังสือเล่มนี้) เพราะผึ้งเข้ามาที่กรุงเทพฯ กับพ่อก่อน ผึ้งจึงอยากถ่ายรูปตัวเองลงหนังสือ โดยหนังจะค่อย ๆ คลายปมในแง่โรแมนติกว่าทำไมทั้งสองคนถึงไม่มีรูปถ่ายในหนังสือรุ่นเล่มนี้ บอยและเพื่อน ๆ สำหรับผึ้ง จึงเสมือนตัวแทนของภาพ “อดีต” อันดีงามและไปไกลจนถึง "ความไร้เดียงสา" ที่ถูกบันทึกลงในเสียงเพลงและภาพถ่าย ซึ่งผิดกับนายทหารหนุ่ม ว่าที่เจ้าบ่าวของผึ้ง ที่ดูจะมีมีความสนใจและรสนิยมที่ขัดแย้งกับผึ้งไปเสียหมด ซึ่งอาจจะตีความได้ว่า นายทหารหนุ่ม คือภาพตัวแทนของ “ปัจจุบัน” (ในบริบทของปี 2557) ที่ดูเหมือนผึ้งจะเฉยและชินชากับมัน แต่สุดท้าย ผึ้งกลับเลือกทิ้งอดีตที่ตนรัก แล้วมาแต่งงานกับ “ทหาร” เราไม่อาจจะสรุปได้ว่า ในสัญญะและสำนึกของตัวละครตัวนี้นั้นโปรฯ การรัฐประหารเสียทีเดียว แต่สามารถมองได้ว่า ในบริบทรอบข้างของผึ้ง สิ่งที่เธอคิดในการตัดสินใจ การแต่งงานอาจจะเป็นทางเลือกที่เธอเลือกปลดล็อคอดีตที่เคย “หน่วง” เธอเอาไว้ โดยที่ชีวิตในเวลาต่อมาเธอก็ไม่รู้ว่าจะพบเจอกับอะไร เพราะชีวิตมันไม่เหมือนนิยายที่ลิขิตไว้ว่าตอนจบต้อง happy ending โดยตัดทอนรายละเอียดหลังจากนั้นที่เขาต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เลือกอีกหลายปี เวลา 8 ปี, อดีต, ปัจจุบัน และ ทหาร จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่มันเชื่อมโยงความรู้สึกระดับปัจเจกชน ไปสู่ระดับโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั่นคือ สังคมการเมือง เอาเข้าจริงแล้ว สำหรับชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มตัวละครหลักของเรื่อง แม้จะมีบางกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตย หรือบางกลุ่มสนับสนุนทหารและชนชั้นนำ (หรือพูดอีกอย่างคือกลุ่มที่สนับสนุน “การเลือกตั้งก่อนปฏิรูป” กับกลุ่มสนุบสนุน “การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง”) อาจจะถูกสะท้อนผ่านตัวละครเล็ก ๆ บางคู่ในเรื่องที่ขัดแย้งกันในเฟซบุ๊กในเรื่องของความคิดทางการเมืองจนมีฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปงานแต่งงานเพื่อน แต่ในภาพรวม ตัวละครหลัก ๆ กลับรู้สึกว่าภาวะหาคำตอบไม่ได้ทางการเมือง กลายเป็นเรื่องที่พวกเขาชินชา, ไม่ได้เป็นจุดที่น่าสนใจของชีวิตเท่ากับเรื่องอื่น และไม่ได้มีทางเลือกอื่นอะไรที่มากมายขนาดนั้น (คล้าย ๆ กับทางเลือกในการแต่งงานของผึ้ง) ทางออกที่มีอย่างมากก็แค่การเอาตัวเองไปวนเวียนอยู่ใน “วันคืนชื่นสุข” กับการหวนระลึกถึงความหลังแบบ nostalgia สำนึกทางการเมืองของตัวละครใน Snap จึงอาจจะเป็นการนำเสนออีกภาพหนึ่งของท่าทีของตัวละครที่มีต่อการเมืองร่วมสมัยของไทยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่มีการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง (ปี 2549 ถึง 2557) ที่เต็มไปด้วยความชินชาและไร้เดียงสาไม่ต่างอะไรกับภาพถ่ายเร็ว ๆ ลวก ๆ แบบ Snapshot (อันล้อกับชื่อเรื่อง) ในยุคที่การถ่ายภาพเป็นอะไรที่เร็วกว่าการรออาหารฟาสต์ฟู้ด คือรูปถ่ายเหล่านี้ ถ่ายได้ง่าย รวดเร็ว และบางครั้งอาจจะดูผิวเผิน ฉายฉวย ไม่นานก็ถูกลืม ไม่ต่างอะไรกับ 8 ปีที่สูญเสียไป (อาจจะบวกกับโลกความจริงที่ผ่านมาจนถึงปี 2564 อีก 6 ปี) ที่ตัวละครหลายตัวในเรื่องแทบไม่มีบทเรียนอะไรผ่านภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น