TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’

TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’

TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’

กุ๊ยปลายแถวที่ถูกรัฐจ้างมาสร้างเรื่องในงานชุมนุมเพื่อซ้อนแผนการลอบสังหารของจริง คนที่คอยเก็บรักษาเศษซากของอดีตที่กำลังสูญหาย นับร่างกายของตัวเองเป็นชิ้นส่วนหนึ่งในหอจดหมายเหตุของตน แท็กซี่ที่พูดจีนกลางไม่ได้เลยในโลกที่ภาษากวางตุ้งประจำถิ่นของเขาเป็นภาษาต้องห้ามไปแล้ว ยายถือร่มที่เผาตัวตายประท้วงรัฐบาล ร้านขายไข่พื้นเมืองที่โดนนีโอยุวชนเรดการ์ดถล่มเพราะคำว่าพื้นเมืองมีนัยกระด้างกระเดื่อง ลูกชายที่ต้องทำร้ายพ่อค้นพบกลุ่มนักเคลื่อนไหวใต้ดินข้างหลังร้านหนังสือ นี่คือหนังห้าเรื่องชุดแรกจากฮ่องกง ที่พูดถึงอนาคตของฮ่องกงในอีกสิบปีข้างหน้า เมื่อต้องคืนสู่จีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวัฒนธรรม ชีวิต ภาษา การค้า การปกครองจะถูกริบคืน ขจัดออก ลบทำลายไป นี่คือต้นทางของโปรเจกต์ Ten Years ที่หลังจากฮ่องกง ก็ขยับขยายไปสู่ชาติอื่นๆ ในเอเชีย ไทยเป็นชุดที่สองตามด้วยญี่ปุ่น และไต้หวัน การวาดจินตนาการถึงสิบปีข้างหน้าของแต่ละประเทศที่มีปัญหา ความกลัว ความกังวลแตกต่างกันออกไป คาดเดาไม่ยากจากหนังสองชุดแรก ไม่มีใครจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่า ‘ความกังวล’ เกี่ยวกับอนาคตน่าจะเป็นคำที่เหมาะเจาะในการอธิบายภาพรวมของชุดหนังทศวรรษจากฮ่องกง ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน อนาคตที่คุ้นเคยจบสิ้นลง และต้องเตรียมตัวรับมือกับโลกที่มีจีนเป็นผู้ปกครอง โลกที่มีแก่นแกนของสังคมแตกต่างจากโลกเมื่อครั้งอังกฤษยังเป็นเจ้าอาณานิคม หากอนาคตของฮ่องกงคือความกังวล อนาคตของประเทศไทยกลับคือความสิ้นหวัง ในหนังชุดที่สองนี้ ไม่มีใครฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าอีกแล้ว ในทางตรงข้ามไม่มีใครพูดถึงอนาคตที่เลวร้ายลงอีกด้วย เพราะดูเหมือนอนาคตของประเทศไทยในหนังทั้งสี่เรื่อง คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ และจะเกิดขึ้นไปในอนาคต TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’   Sunset โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ สร้างจากเหตุการณ์จริงเมื่อทหารและตำรวจบุกตรวจแกลเลอรี่และสั่งปลดภาพถ่ายบางชิ้นที่พวกเขารู้สึกว่ามันกระทบความรู้สึกและเป็นปัญหาต่อความมั่นคง เหตุการณ์ถูกนำมาเล่าซ้ำสมมติว่ามันยังคงอุบัติซ้ำไปซ้ำมาแม้เวลาจะล่วงเลยไปเป็นสิบปี หนังเล่าผ่านสายตาของทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นพลขับขับรถตู้พานายมาตรวจค้น และสาวแม่บ้านประจำแกลเลอรี่ที่เขากำลังจีบอยู่ เรื่องรักหนุ่มสาวชนชั้นล่างจึงถูกเล่าคลอไปกับปฏิบัติการทางการเมืองของทหารจากบ่ายจรดเย็นของวันหนึ่ง Catopia โดย วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง เล่าเรื่องโลกที่แมวกลายเป็นชนชั้นกลาง พวกแมวไล่ล่ามนุษย์ ลงทัณฑ์ด้วยการรุมปาหิน มนุษย์ต้องคอยหลบหนีแมวด้วยการปลอมตัว แมวไม่ได้ล่าผ่านตาแต่ผ่านกลิ่น มนุษย์คนหนึ่งปะปนอยู่กับพวกแมวอาศัยกลิ่นพรางตัว วันหนึ่งเขารู้ข่าวว่าพวกนั้นจับมนุษย์ได้ เขาถูกเพื่อนแมวลากไปช่วยรุมประชาทัณฑ์ แต่เขาอยากจะช่วยเธอมากกว่า Planeterium ภาพฉายของค่ายลูกเสือสีนีออนที่มีอาจารย์หญิงใหญ่สายปิระมิดคอยควบคุมกำกับให้ชาวลูกเสือสอดส่องกำกับชาวบ้านชาวช่องต่อไป หากพบใครผิดสังเกต เช่นไม่ยืนในเวลาที่ควรยืนนิ่งทีมลูกเสือก็จะออกปฏิบัติการพาไปปรับทัศนคติด้วยการส่งออกนอกโลกไป เมื่อจบค่ายเหล่าลูกเสือจะได้รับผ้าพันคอและได้รับน้ำมนต์อย่างสุขสม Song of The City เล่าเรื่องรอบๆ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กำลังปรับปรุงพื้นที่ เพื่อนเก่ากลับมาพบกันอีกครั้ง เซลล์แมนหมอลำเร่ขายเครื่องนอนหลับ สวมหน้ากากเป็นท่อต่อประกอบการหลับไหล หุ่นปูนปั้นไดโนเสาร์นิ่งงัน คนงานทำงานปรับปรุงพื้นที่ ผู้คนคืบเคลื่อนชีวิตเศร้าสร้อยไป TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’ ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’ ข้อความของ George Orwell จากนิยาย 1984 ถูกใส่เข้ามาเพื่อเปิดเรื่อง ราวกับสื่อความตั้งแต่ต้นว่า ไม่มีอนาคตที่แท้จริง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ เพราะกุญแจหลักของข้อความนี้ไม่ใช่เวลา (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) หากแต่คือการ ‘ควบคุม’ ในโลกของการควบคุมเบ็ดเสร็จ อนาคตจึงเป็นเพียงการผลิตซ้ำ วนรอบใหม่ของอดีต ของปัจจุบัน ในโลกของการ ‘ควบคุมเบ็ดเสร็จ’ เวลาไม่ได้เดินไปข้างหน้าแต่มันเดินวนเป็นวงกลม ซึ่งไม่ใช่วงจรแห่งวัฏสงสาร แต่เป็นเขาวงกตชั่วนิรันดร์เพื่อแช่แข็งให้สรรพสิ่งอยู่กับที่ หนังทั้งสี่เรื่องจึงเป็นเรื่องของปัจจุบันมากกว่าอนาคต มวลอารมณ์ที่เคลือบคลุมหนังมีทั้งความขบขัน ความขื่นขม ความเศร้าสร้อย และความสิ้นหวัง ซึ่งก็น่าสนใจดีว่าทั้งสี่เรื่องไม่ได้มีอารมณ์ของความโกรธแค้นอันเป็นความรู้สึกเบื้องต้นของการต่อต้านเผด็จการ ราวกับว่าหนังทั้งสี่เป็นมุมมองที่มีระยะมากกว่าชิดใกล้มีมุมมองแบบ passive มากกว่า active Catopia ดูจะเป็นนิทานสาธก แบบจำลองการล่าแม่มดในสังคมร่วมสมัย ท่าทีแบบหนังสยองขวัญที่สิ้นหวังของหนังเล่าความรู้สึกของคนที่ถูกล่าอย่างตรงไปตรงมาจนเกือบจะทื่อ หนังอาศัยลูกเล่นเงื่อนไขของโลกที่แมวเป็นใหญ่มาล้อกับเหตุการณ์ทางสังคมให้ภาพผู้คนที่มีสองหน้าแบบแมวใจดีขี้เล่นแต่พร้อมจะแสดงสัญชาตญาณสัตว์ป่าออกมาได้ทันที คนหัวแมวจึงเป็นภาพแทนที่น่าสนใจของคนดิบคนดีที่ในทางหนึ่งเป็นคนดีมีมารยาททำตัวน่ารักอยู่ในศีลในธรรมเชื่อมั่นในความดีงาม แต่ก็เป็นคนเหล่านี้เองที่พร้อมจะชี้หน้ากล่าวโทษ ทำร้ายทำลายคนอื่นที่เชื่อคนละอย่างกับความเชื่อของพวกเขา Planaterium อาจจะเป็นงานที่ก้ำกึ่งระหว่างวิดีโออาร์ตกับภาพยนตร์ภาพฉายมวลรวมที่ไม่มีเส้นเรื่องหรือตัวละครชัดเจน งานที่เป็นเหมือนการฉายภาพแบบ MV ถึงกระบวนการขัดเกลาทางสังคมให้เด็กธรรมดากลายเป็นลูกเสือไซเบอร์ การที่หนังเปิดด้วยสัดส่วนแบบ 4:3 และอารมณ์ขันแบบหน้าตายทำให้ช่วยไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าหนังยั่วล้อ Mary Is Happy Mary Is Happy หนังไม่การเมืองที่มีความเป็นการเมืองมากของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ หากแมรี่คือโรงเรียนที่สอนให้เด็กหนุ่มสาวกลายเป็นคนหัวอ่อน เป็นผู้ยอมจำนนต่อการกดขี่ ค่ายลูกเสือของจุฬญาณนนท์ก็เป็นขั้นกว่าเพราะมันคือการฝึกผู้ยอมจำนนให้กลายเป็นแขนขาของรัฐ จากเด็กสาวสะสวยกลายเป็นเด็กวัยรุ่นชายสวมแว่นผมขาวสามด้าน หนังเปิดด้วยการควบคุม คุกคามที่เป็นรูปธรรมที่สุดนั้นคือการกล้อนผมเด็กนักเรียนของคุณครูที่หน้าอกกลัดป้ายสลักปักชื่อของครู 2476 ปีถัดมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปีแห่งการตอบโต้กลับของอำนาจเก่าซึ่งยังคงลงหลักปักฐานอยู่จนถึงปัจจุบัน จากสติกเกอร์สวัสดีวันจันทร์ ไปจนถึงการสอนศาสนาพระพรมน้ำมนต์ ทุกอย่างจึงเป็นภาพแทนของการควบคุมเบ็ดเสร็จโดยแขนขาของรัฐ ตั้งแต่โซเชียลมีเดีย ศาสนา ไปจนถึงการศึกษา เราจึงมีเด็กเกรียนขาวสามด้านพร้อมโควท เยี่ยมจริง (ที่ทำให้นึกถึงโควท แมรี่มีความสุข แมรี่มีความสุข แมรี่มีความสุข) แต่หนังยังคงมุ่งหน้าไปด้วยการฉายภาพให้เห็นการจัดการคนคิดต่างที่หนักหนากว่าแค่ขับไสหรือทำร้ายแบบใน Catopia หากเป็นการไล่ออกนอกโลก (แค่นอกประเทศมันไม่พอ) แล้วเปลี่ยนคนเหล่านี้ให้เป็นเศษธุลีของการยอมจำนน Planaterium จึงเป็นภาพเหมือนเซอร์เรียสลิสม์ของสังคมไทยที่มีผิวเปลือกเป็นเซตติ้งที่อนาคตมากๆ แต่ที่จริงแล้วคือปัจจุบันมากๆ TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’ Song of the City อาจจะเป็นงานที่นามธรรมที่สุด ด้วยการฉายภาพชีวิตรอบๆ อนุสาวรีย์จอมพลคนสำคัญของไทย คนที่ทั้งชักนำอเมริกาและระบอบเก่ากลับเข้ามาในสังคมไทยอย่างเป็นทางการ จอมเผด็จการที่บันดาลน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวกให้กับผู้คน อาศัยการต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นเครื่องมือในการบริหารอำนาจของตน หนังฉายภาพอนุสาวรีย์ที่กำลงถูกปรับปรุงพื้นที่ (แน่นอนด้วยงบประมาณรัฐ) อนุสาวรีย์เป็นเครื่องยืนยันอดีต อดีตที่จะควบคุมอนาคต และปัจจุบันกลับไปควบคุมอดีต ไม่ได้ควบคุมผ่านทางการวิเคราะห์อดีต แต่คือการทำนุบำรุงรักษาอดีตที่ถูกเลือก อดีตจึงจะยังคงมีชีวิตแม้ในอนาคตอดีตที่ถูกคัดสรรแล้ว ควบคุมแล้ว สร้างใหม่แล้วจะไม่ถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม จะไม่ถูกไต่สวน หรือท้าทาย มีแต่จะรุ่งโรจน์สืบไป แม้ว่าร่วงโรยก็จะทำนุบำรุงมันขึ้นมาใหม่ เรื่องเล่าที่เป็นเหมือนเสียงนกเสียงกา ของเพื่อนเก่า คนรักเก่าที่กลับมาพบกันใหม่ ในโลกที่แต่ละคนกระจัดกระจายพลัดหายไปจากกัน คนหนึ่งเป็นคนงานก่อสร้าง อีกคนไปทำสวนที่ประจวบ เช่นเดียวกับเซลล์แมนขายเครื่องนอนหลับให้กับคุณหมอ (?) คนหนึ่ง (อันที่จริงอดคิดไม่ได้ว่านี่คือการรวมมิตรตัวละครเก่าของอภิชาติพงศ์ เก่งกับโต้งจากสัตว์ประหลาด คุณหมอจากแสงศตวรรษ ไปจนถึงการมีฉากการกำกับนักแสดงหลุดออกมาเหมือนการหลุดในแสงศตวรรษ ไปจนถึงการนอนหลับเพราะถูกอำนาจลึกลับดูดเอาพลังไปใช้หมดใน รักที่ขอนแก่น) บรรดาคนตัวเล็กตัวน้อยรอบอนุสาวรีย์ดูจะเป็นเหล่าคนไร้แรงกำลังที่ดิ้นรนเงียบเชียบโดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องเล่าหลัก อันคืออนุสาวรีย์ที่ตั้งตระหง่านค้ำอยู่เหนือหัวทุกคน แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเสียงดนตรีที่คลออยู่ตลอดเรื่อง ‘เพลงของเมือง’ ตามชื่อเรื่อง คือเพลงมาร์ชของวงโยธวาทิต ซึ่งกึกก้องอยู่เหนือเสียงของผู้คนอีกทอดหนึ่ง เพลงปลุกใจเคลื่อนคล้อยไปสู่เพลงชาติ ประดุจดั่งเพลงที่เราไม่ได้ยินใน Planaterium มาปรากฏตัวเป็นเสียงเพลงของเมือง เพลงอันมลังเมลืองของลัทธิชาตินิยมที่แผ่ไพศาลและไม่อาจทำลายล้างได้มีแต่ทำนุบำรุงให้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ทั้งหมดจึงคุกรุ่นบรรยากาศของเมืองที่เห่อเหิมไปด้วยความรุ่งเรืองของอดีตที่คัดสรร ปัจจุบันที่อ่อนระโหยโรยแรง อนาคตคือการวนกลับมาใหม่ของสิ่งเหล่านี้ มันจึงเจ็บปวดและเศร้าสร้อยมากที่เสียงของเมืองกดทับลงบนเสียงของผู้คน เสียงบทสนทนา เสียงเพลงหมอลำ ยิ่งเมื่อหนังฉายภาพลงไปยังภาพนูนต่ำที่รายรอบอนุสาวรีย์ เรื่องเล่าของจอมพลที่มอบทุนการศึกษาให้มหาวิทยาลัย ช่วยเหลือคนยากจนที่นั่งยองๆ กับพื้นยกมือประนมไหว้ เสียงของเมืองคือเสียงของเรื่องเล่าหลักที่โหมประโคมกรอกหูผู้คน กดทับเรื่องเล่าเล็กๆ ให้ฉีกขาดและไม่ปะติดปะต่อ) หนังทำให้นึกถึง Landscape Theory ที่พูดในทำนองว่า ทุกทัศนียภาพที่ปรากฏแก่สายตาเราล้วนสะท้อนอำนาจของรัฐทั้งสิ้น มีอำนาจของรัฐอยู่ในสวน อาคาร สถานีรถไฟ ป่าเขา แม่น้ำ รูปปั้น (ทฤษฎีนี้ที่ถูกสร้างขึ้นในแวดวงหนังใต้ดินของญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่1970’s หนึ่งในหนังที่ใช้ทฤษฎีนี้ในการสร้างคือ A.K.A. Serial Killer ของ Masao Adachi ซึ่งว่าด้วยการตามไปถ่ายสถานที่ต่างๆ ที่ฆาตกรโรคจิตรายหนึ่งเคยอาศัย และเดินทางไปฆ่าคน) ในแง่นี้ ทัศนียภาพใน Song of The City โดยตัวมันเองก็แผ่ไพศาลอำนาจรัฐให้ตระหง่านอยู่เหนือชีวิตแล้ว หากเรื่องเล่าที่กินใจที่สุดกลับเป็นเรื่องเล่าง่ายๆ ตรงไปตรงมาอย่าง Sunset ข้างในเรื่องเล่าแบบปัจจุบันกาลที่บันทึกโมงยามกระอักกระอ่วนของการพยายามเข้าควบคุมศิลปะ ซึ่งเป็นภาพถ่ายผู้คนตามท้องถนนอย่างตรงไปตรงมาที่สุด หนังซ้อนทับภาพอ่อนหวานของเรื่องรักหนุ่มจีบสาวของนายทหารชั้นผู้น้อยกับแม่บ้านคนทำความสะอาด ซึ่งอยู่ชายขอบของเหตุการณ์ของรัฐ กับ ศิลปิน น่าสนใจว่าตำแหน่งของคนสองคน เป็นระดับผู้ปฏิบัติการที่ถูกนับเพื่อแย่งชิงกันเป็นตัวแทน ศิลปินอ้างความเป็นตัวแทนผ่านการถ่ายภาพของผู้คนธรรมดา ซึ่งมีทั้งภาพเด็กนักเรียน นายตำรวจ ทหาร คว้าจับและสร้างเรื่องเล่าแทน เรื่องเล่าของพวกเขาเอง ในขณะที่ตำรวจทหารก็อ้างความชอบธรรมในการคิดแทนว่า ‘ชาวบ้าน’ นั้นไม่เข้าใจและไม่สบายใจกับเรื่องเล่าเหล่านี้ ในฉากนี้กล้องตัดภาพมายังทหารหนุ่ม แม่บ้านที่เขาตามจีบ และป้าแม่บ้าน พวกคนที่ถูกพูดแทนผ่านภาพถ่ายและข้ออ้างในการขัดขวางการแสดงภาพถ่าย ฉากนี้ทำให้คิดถึงฉากสำคัญในทองปาน ฉากห้องเสวนาที่นักวิชาการและนักการเมืองลุกขึ้นพูดแทนชาวบ้าน ที่พูดไม่ได้เพราะไม่รู้จะพูดอะไร พูดอย่างไร ไม่อยู่ในภาษาที่จะถูกยอมรับให้มีเสียง แม้ประเด็นที่ทุกคนพูดคือความเป็นความตายของพวกเขาเมื่อเขื่อนนั้นจะสร้างลงบนหมู่บ้านของเขา การถ่ายรูปในฉากจบของเรื่องจึงเป็นการพูดเสียงของตัวเอง เรื่องรักอ่อนหวานเศร้าสร้อย เป็นงานศิลปะของการถ่ายภาพแบบเดียวกับภาพถ่ายในแกลเลอรี่ การถ่ายภาพคนรักไว้ในโทรศัพท์มือถือ การพูดของเจ้าของเสียงเอง TEN YEARS THAILAND: ‘ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต’ ท่ามกลางความกังวล ความกลัว ของผู้คนใน Ten Years ฉบับฮ่องกงนั้นหนังเลือกปิดตัวเองด้วยความหวัง เมื่อในหนังเรื่องสุดท้าย ตัวละครค้นพบกับกลุ่มต่อต้านหลังร้านหนังสือ หนังจบลงด้วยความหวังในขณะที่ความหวังเดียวที่มีใน Ten Years Thailand อยู่ในหนังเรื่องแรก ฉากที่งดงามที่สุดในหนังคือฉากที่หลังจากทุกคนกลับไป นายทหารหนุ่ม ซึ่งถูกมองในฐานะของอำนาจรัฐแม้ว่าเขาจะไม่มีอำนาจอะไร เพิ่งปะทะเข้ากับอำนาจของศิลปะโดยตรงเป็นครั้งแรก เขาเดินดูรูปในแกลเลอรี่ในฐานะของคนมาดูงาน (โดยไม่ได้ตั้งใจ) สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงกับรูปของทหารหนุ่มน้ำตาซึมอยู่ริมทาง ในขณะที่รัฐกดดันปิดกั้นว่าคนอย่างเขาไม่มีวันเข้าใจงานศิลปะ อาจจะตีความผิด และถูกชักจูงไปในทางที่ผิด พวกคนอย่างเขาจึงไม่สมควรดูงานศิลปะนี้ เช่นเดียวกันในขณะนั้นเองศิลปินก็มาเก็บภาพออกไปต่อหน้า มองเขาในฐานะของรัฐที่ขัดขวางศิลปะ นี่คือฉากที่งดงามและอาจจะมีความหวังที่สุดฉากเดียวในหนังสั้นทั้งสี่เรื่องนี้ ฉากของการยืนยันว่าทุกคนเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้ตามวิธีของตน การกีดกันของรัฐ (ที่เราเองล้วนมีส่วนร่วมเป็นแขนขา) การควบคุมโดยรัฐต่างหากที่ทำให้คนเป็นสัตว์เชื่องโง่งมไม่ใช่การถูกชักจูงไปผิดๆ และความจริงข้อนี้ไม่ได้แค่รัฐที่ต้องตระหนักแต่ยังรวมถึงศิลปินเองด้วย นี่คืองานรวมความคิดที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอนที่อาจจะไม่ใช่ภาพแทนทั้งหมดและน่าเสียดายที่งานชิ้นที่ห้าของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในนี้ด้วยเหตุผลทางเทคนิค (อย่างไรก็ตามหนังเรื่องที่ห้าของเขาจะถูกขยายเป็นหนังยาวในอนาคต) แต่นี่คืองานที่น่าจดจำ ทั้งการดิ้นรนให้มันเกิดขึ้น (Crowdfund จากเงินของผู้สนับสนุน) การสร้างมันออกมา สิ่งที่มันบอกเล่า ความตรงไปตรงมาและความคลุมเครือในเชิงศิลปะภาพยนตร์ และความพยายามในการพาหนังไปหาผู้ชม (หนังจัดฉายทั้งในและนอกโรงภาพยนตร์ในหลากหลายพื้นที่ทั่วไทย) และเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ควรค่าแก่การแลกเปลี่ยนพูดคุยหลังดูจบมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปีนี้   เรื่อง: Filmsick