เมแกน ราปิโน: เสียงเงียบอันทรงพลังของนักฟุตบอลหญิงผู้ไม่ร้องเพลงชาติอเมริกา

เมแกน ราปิโน: เสียงเงียบอันทรงพลังของนักฟุตบอลหญิงผู้ไม่ร้องเพลงชาติอเมริกา

เมแกน ราปิโน: เสียงเงียบอันทรงพลังของนักฟุตบอลหญิงผู้ไม่ร้องเพลงชาติอเมริกา

ในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2019 ขณะที่หลายคนกำลังโฟกัสไปยังสกอร์ 13-0 ซึ่งแข้งสาวสหรัฐอเมริกาปูพรมถล่มน่องนิ่มไทยจนขาดลอย เป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการบอลหญิงโลก แต่ช่วงไม่กี่นาทีที่เสียงเพลงชาติสหรัฐฯ The Star-Spangled Banner ดังขึ้นก่อนเกม ถ้าตั้งใจสังเกตจะเห็น เมแกน ราปิโน (Megan Rapinoe) กัปตันทีมหญิงมะกัน ทำในสิ่งที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่น เพื่อนทั้ง 10 ขยับปากร้องเพลงชาติตามไปด้วยอย่างภาคภูมิใจในความเป็นอเมริกัน รวมทั้งเอามือขวาทาบกับอกซ้าย อันเป็นภาษากายบ่งบอกว่ารักชาติ แต่ ราปิโน กลับเพิกเฉยยืนนิ่งอย่างนั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอมีพฤติกรรมแสดงออกเช่นนี้ แต่มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งบางครั้งไม่ใช่แค่ยืนเฉย ๆ ตอนเพลงชาติดังขึ้น แต่คุกเข่าข้างเดียวก็มี เหมือนกับ โคลิน เคเปอร์นิก ควอเตอร์แบ็กผิวสีของ ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ ในเอ็นเอฟแอล เคยทำมาก่อน ราปิโน ทำลงไปเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะไม่รักชาติบ้านเกิด แต่เพื่อเป็นการประท้วงนโยบายเหยียดคนข้ามเพศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสุดโต่งต่างหาก ทรัมป์ แอนตี้พวกข้ามเพศมาตลอด เคยมีนโยบายด้วยว่าจะไม่ให้พวกคนเหล่านี้เข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ เด็ดขาด จนกลายเป็นเรื่องราวบานปลายขึ้นม แน่นอนแค่ดูรูปลักษณ์ภายนอก เราก็น่าจะพอรู้ว่าแล้วว่า ราปิโน เป็นเลสเบียน อีกทั้งเธอทำงานให้กับ (GLSEN) หรือ Gay, Lesbian & Straight Education Network ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุน LGBT เพื่อให้ได้รับการยอมรับในสังคม ตั้งแต่วัยเด็ก ราปิโน ถูกพ่อจับเล่นฟุตบอลหรือที่อเมริกันชนเรียกว่า "ซอคเกอร์" จนผูกพันถึงขั้นต้องหวดลูกหนังทุกวัน สอดคล้องกับบุคลิกสาวแกร่ง ซึ่งนั่นทำให้โดดเด่นในเส้นทางสายนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เธอเป็นแข้งหลักของสถาบันศึกษาตั้งแต่ไฮสกูล จนเข้ารั้วมหาวิทยาลัยที่พอร์ตแลนด์ กระทั่งเบนเข็มสู่การเป็นนักเตะอาชีพอย่างเต็มตัวในปี 2009 โดยที่ติดธงรับใช้ชาติมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุกที่เล่นได้ทั้งตัวในและริมเส้น ผลงานของ ราปิโน เปรี้ยงปร้างอย่างมาก ไม่ใช่แค่ความเร็ว คล่องตัวปราดเปรียวเท่านั้น แต่ยังมีการจ่ายบอลตามช่องและไอเดียสร้างสรรค์ที่โดดเด่นอีกด้วย ราปิโน เริ่มต้นบ้านเกิดตัวเองกับ ชิคาโก เร้ด สตาร์ , ฟิลาเดลเฟีย อินดิเพนเดนซ์ และ แมจิก แจ็ค ตามลำดับ ก่อนจะย้ายไป โอลิมปิก ลียง มหาอำนาจระดับยุโรป เซ็นสัญญา 6 เดือนสั้น ๆ ด้วยค่าจ้าง 11,000 ยูโรต่อเดือนในปี 2013 ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับแข้งอาชีพหญิง แล้วจึงกลับมาเล่นให้กับ ซีแอตเติล เรนจ์ ตั้งแต่ปี 2013 จนกลายเป็นตำนานขึ้นหิ้งของสโมสร แน่นอนว่าเธอประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจในอาชีพนักเตะ ไม่ว่าจะในระดับสโมสรหรือการรับใช้ชาติ ที่ผ่านเวทีใหญ่มาอย่างครบครันทั้งในเวิลด์ คัพ และโอลิมปิก โดยเฉพาะการนำสหรัฐฯ คว้าเหรียญทองมาคล้องคอที่ลอนดอน เกมส์ 2012 ซึ่ง ราปิโน ตะบันไป 8 ประตูกับอีก 12 แอสซิสต์ จนบีบีซีเลือกเป็นนักเตะยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์ นอกจากได้รับเลือกให้สวมปลอกแขนกัปตันทีมมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว ราปิโน ยังรับใช้ชาติมาเกือบ 160 นัด ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ๆ แม้จะประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายนักเตะอาชีพ แต่ถนนแห่งความรักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาไม่น้อย เพื่อให้สังคมยอมรับในความเป็นตัวตนของเธอ ปี 2012 ราปิโน ให้สัมภาษณ์กับ Out นิตยสารเกี่ยวกับ LGBT ยอมรับว่าเป็นเลสเบียนและคบหากับ ซารา วอลช์ แข้งสาวชาวออสเตรเลียมาตั้งแต่ปี 2009 แต่ต้นรักเติบโตเบ่งบานได้แค่ 5 ปีก็เหี่ยวเฉา ประกาศหย่าขาดกันในปี 2013 ก่อน ราปิโน จะไปสานสัมพันธ์กับ เซรา คาฮูน นักร้องสาวป๊อปสตาร์ชื่อดัง จนลึกซึ้งถึงขั้นบอกให้โลกรู้ว่าหมั้นหมายกันเมื่อต้นปี 2015 อย่างไรก็ตามงานแต่งกลับไม่เกิดขึ้น แผนทุกอย่างพังครืนในเดือนกรกฎาคมปี 2017 เพราะช่วงเวลาไม่ตรงกัน ทั้งสองแทบไม่ได้เจอกันตามประสาคู่รัก ระหองระแหงจนเตียงหัก ฉะนั้นความรักครั้งที่สามของ ราปิโน จำต้องเหมาะสมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนั่นทำให้เธอเลือกที่จะคบกับ ซู เบิร์ด ซึ่งเป็นนักเตะอาชีพเหมือนกัน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างและรอยร้าวอีก เธอพยายามต่อสู้และรณรงค์เพื่อให้สังคมยอมรับในความเป็นบุคคลข้ามเพศ ให้มองเห็นถึงความเป็นคนที่ไม่แตกต่างกัน สนับสนุนสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ อีกทั้ง ราปิโน ยังร่วมมือกับ อเล็กซ์ มอร์แกน เพื่อนสาวซูเปอร์สตาร์ในทีมชาติสหรัฐฯ ซึ่งเข้าร่วมโครงการ "Common Goal" ของ ฆวน มาตา ดาวเตะ แมนฯยูไนเต็ด ที่จะบริจาครายได้ 1% ให้กับองค์กรการกุศลอีกด้วย ราปิโน ยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างภาพเลย แต่เป็นการให้ด้วยใจบริสุทธิ์ เพราะเธอเชื่อมั่นในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ซึ่งไม่ได้วัดกันที่สถานะทางสังคมหรืออย่างอื่น "ฉันรู้ว่าตัวเองเกิดมาแตกต่างจากคนอื่น แต่ความแตกต่างนี่เองที่ทำให้ฉันแข็งแกร่งขึ้น แล้วฉันไม่เคยหวังอะไรจากคนอื่นเลย คิดแต่เพียงว่าต้องต่อสู้ด้วยตัวเองเท่านั้น" เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้เช่นนี้ ซึ่งสะท้อนตัวตนอย่างชัดเจน เหมือนกับแสดงออกเพื่อต่อต้าน ทรัมป์ ที่มองคนไม่เท่ากัน เหยียดเพศเหยียดผิว การไม่ร้องเพลงชาติ ไม่ได้หมายความว่าไม่รักชาติ เพราะทุกครั้งที่เธอทำประตูได้จะดีใจและฉลองสุดขีด เหมือนกับนัดที่เจอกับสาวไทยนั่นเลย แต่เธอทำลงไปเพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ไม่ว่าจะเกิดมา ถูกเลี้ยงดูมา หรือมีรสนิยมในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างไร คนเราต้องเท่าเทียมกันในสิทธิ ในการเลือก ราปิโน จึงหยัดยืนและลุกขึ้นมาสู้ในวิถีของตัวเองและหวังว่าเสียงเงียบไม่ร้องเพลงชาติของเธอ จะทำให้ใครบางคนได้ยินและยอมรับบ้าง เรื่อง: ชิมแพนซี