เติ้น - ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์ : ว่าที่นักขับโฮมเรซ โฮมโกรว์น F1 ในไทย

เติ้น - ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์ : ว่าที่นักขับโฮมเรซ โฮมโกรว์น F1 ในไทย

บทสัมภาษณ์ ‘เติ้น - ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์’ คนไทยคนแรก คว้าแชมป์ ‘FIA Formula 3 Championship British Round Sprint Race 2025’

KEY

POINTS

 

ผมฝันว่าจะได้แข่ง F1 ในบ้านเกิดเมืองไทยร่วมกับพี่อเล็กซ์” 

 

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์จารึก บันทึกชื่อของ ‘ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์’ ลงปูม คนไทยคนแรก คว้าแชมป์ ‘FIA Formula 3 Championship British Round Sprint Race 2025’ ที่สนามซิลเวอร์สโตน เซอร์กิต ประเทศอังกฤษ อย่างน่ายินดีและภาคภูมิใจแทน ในฐานะนักขับไทยที่เกิดและเติบโตในเมืองไทยตั้งแต่เด็ก (กรณี อเล็กซ์ อัลบอน อังศุสิงห์ นับขับ F1 ซึ่งเติบโตมาในอังกฤษ แต่ถือสัญชาติไทย) นี่คือหนึ่งเดียวผู้ติดธงไทยแข่งขันรายการนี้ และทำให้เพลงชาติไทยไปกึกก้องบนโพเดียมกีฬามอเตอร์สปอร์ตเวทีระดับโลกสำเร็จ เป็นประวัติศาสตร์คนไทยในรายการนี้ ตั้งแต่ที่ทางสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ยกระดับเป็นซัพพอร์ทเรซใน FIA F1

ผลงานจากการบ่มเพาะ สร้างประสบการณ์มาเรื่อยๆ ของเติ้น ทัศนพล จนหยิบแชมป์สปรินท์ เรซ เป็นปรากฏการณ์ที่ยากที่จะเคยเกิดขึ้น เพราะการจะประสบความสำเร็จในโลกมอเตอร์สปอร์ต ยิ่งรถล้อเปิด ทางเรียบ และยิ่งใกล้เวทีสูงสุดอย่าง ฟอร์มูล่าวัน ในฐานะที่รายการ FIA F3 เป็นรายการซัพพอร์ทเรซของ F1 ใช้สนามและช่วงเวลาเรซวีคสุดสัปดาห์เดียวกัน เรียกว่าหลายคนฝัน แต่ไม่ง่ายที่จะทำได้จริง เพราะตัวเลือกในเอฟวันเพียงแค่ 20 คนจากคนทั้งโลก 7-8 พันล้านคน มองเป็นสัดส่วนเป็นเศษส่วนที่ตีกลม ๆ คือหนึ่งในพันล้าน แต่วันนี้ต้องประกาศว่า อีกไม่นานเกินรอ เรากำลังจะมีคนไทยไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งโอกาสดีที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ‘เติ้น’ หนุ่มน้อยวัย 19 ปี ที่วันนี้พร้อมแล้วสำหรับเวทีความเร็วหมายเลข 1 ของโลก

แน่นอนครับผมมีฝันสูงสุดคือได้โอกาสไปขับรถ F1 วันนี้เราอยู่บนเส้นทางที่ ผมคงไม่เร่ง หรือกดดันตัวเองมากเกินไป แต่เราวางเส้นทางไว้ ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คิดนั้น คงบอกชัดเจนไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ปีนี้ ผมเชื่อมั่นมากขึ้น ก็หลังจากเห็นผลงานเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ได้ไปร่วมทีมแข่งขัน F1 ทั้ง (Ollie) Bearman และ (Kimi) Antonelli แถมทั้งคู่ยังทำผลงานได้ดีมีแต้ม มีลุ้นทุกสนาม แสดงให้เห็นว่า นอกจากโอกาสจะเปิดกว้างขึ้น ระหว่างทีมเล็ก ทีมใหญ่ ช่องว่างใกล้เคียงกันแล้ว คือฝีมือ คนวัยทีนเอจด้วยกัน หากได้รับโอกาส ก็สามารถสร้างปรากฎการณ์ได้ครับ สำหรับผมมีหน้าที่ทำตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสนั้นเสมอครับ” 

และแน่นอนว่า โอกาสที่มาจากชัยชนะประวัติศาสตร์ ในสังเวียน FIA F3 ล่าสุด เป็นโมเมนท์ที่จุดประกายคนไทยได้มีความหวังเป็นรูปธรรมมากขึ้น สำหรับการจะมีนักขับไทยในเวทีเอฟวันถึง 2 คนในสนาม ซึ่งจะเป็นชาติในเอเชียที่มีนักขับเอฟวันมากกว่า 1 คน ชาติแรก 

โค้งสุดท้าย ทิ้งห่างเกิน 1 วินาที
คือโมเมนท์ที่มั่นใจว่าแชมป์!

ย้อนกลับไปกับผลงานที่ดีที่สุดของเติ้น ในฤดูกาลนี้ แชมป์ในสนาม FIA F3 Championship British Round Sprint Race 2025 มาจากการต่อยอดจากผลงานรอบจับเวลาดีที่สุด เป็นที่ 1 ทำให้ออกสตาร์ทจากกริดอันดับ 1 (โพล โพซิชัน) แม้ว่าการเป็นหัวแถวในสนามเก่าแก่ และมีมนต์ขลัง ของซิลเวอร์สโตน เลย์เอาท์แทร็กที่กว้าง ไม่ได้การันตีแชมป์แบบแบเบอร์ แถมยังต้องต่อกรกับคู่แข่งอีก 29 คัน ที่ฝีไม้ลายมือฉกาจ ช่วงรอบแรกๆ การแข่ง เติ้นใช้กลยุทธ์อดทนประคองยางรถไม่ให้สึกมากเกินไป 

ผมกดดันพอควรในการสตาร์ทกริดหนึ่ง แต่พยายามไม่คิดอะไร เราได้เซ็ตติ้งรถที่ลงตัว เราเลือกยางถูก และทำได้ตามแผน แน่นอนว่าสนามซิลเวอร์สโตน เป็นสนามคลาสสิกของนักแข่งทั้งโลก เป็นสนามที่ไม่ได้ถึงกับเข้าทางผม แต่เป็นสนามที่ผมแข่งบ่อย จนมีประสบการณ์มากพอ มีช่วงที่ผมเสียตำแหน่งผู้นำ แต่ก็แซงกลับได้ ตอน 5 รอบสุดท้าย จากทั้งหมด 18 รอบ เราเก็บยางให้อยู่ในสภาพดี และรักษาระยะห่างจากคันหน้า เพื่อให้เข้าระยะใช้ DRS ได้ แล้วมาอัดช่วงหลัง
 
เชื่อหรือไม่ว่ามีช่วงทางตรงยาว ที่ผมได้เหลือบไปเห็นจอถ่ายทอดขนาดใหญ่ ได้เห็นตัวเองในทีวีที่ถ่ายทอดสดขับนำ และแม้คนที่ไล่จะเร็วมาก เวลามองกระจกหลัง เราเห็นเขาจี้มาตลอด แต่ตอนช่วงโค้งท้าย ๆ ของเรซ เราได้ยินวิทยุแจ้งว่านำอยู่เกิน 1 วินาที ซึ่งถึงตรงนั้น ไม่มีทางตรงให้คู่แข่งใช้ DRS แล้ว เป็นอีกโมเมนท์ที่ผมมั่นใจว่า เราทำได้ แต่สุดท้ายก็กว่าจนผ่านธงหมากรุกคันแรก ถึงได้ซึมซับโมเมนท์สำคัญในชีวิต ผมถึงได้ตะโกนใส่ทีมทางวิทยุ ‘Yeah Let’s Go!!! และขอบคุณทีมงาน’ ได้ปลดปล่อยหลังหยิบแชมป์แรกในระดับ F3 ที่แม้เป็นสปรินท์ ไม่ใช่เมนเรซ แต่ผมคงจดจำไปอีกนาน รวมทั้งตอนได้มายินดีกับทีมงานช่วง Park Ferme และการได้ขึ้นโพเดียม ร้องเพลงชาติไทย รับถ้วยแชมป์ และได้เปิดแชมเปญฉลองตามธรรมเนียมกับเพื่อนร่วมทีม.(มารี โบย่า) เข้ามาอันดับที่ 3 ได้ร่วมโพเดียม กับหัวหน้าทีม ที่มารับถ้วย ฐานะพาทีมแคมโพส เรซซิ่ง (Campo Racing) คว้าที่ 1 ประเภททีมสนามนี้ด้วย

 

“ผมใส่หมดแล้ว ปล่อยผมขับ
ไม่ต้องยุ่งตอนนี้” 

เป็นบทสนทนาทางวิทยุระหว่างเติ้น กับทีมงาน ทีมแคมโปส เรซซิ่ง ขณะวิ่งรอบสุดท้าย เป็นผู้นำ โดยมีที่ 2 ไล่จี้มา ทีมงานแจ้งให้เติ้นทราบว่า P2 ตามติดมาราว 1 วินาที พร้อมบอกให้เติ้น ใส่ให้สุด มีอะไรปล่อยออกมาให้หมด

ฮ่าๆๆ ครับ ผมได้มาเห็นภายหลังว่ามีบันทึกบทสนทนาถ่ายทอดออกไป ขณะถ่ายทอดสด โมเมนท์นั้น ผมไม่ขอคิดอะไรแล้ว เลยตอบไปอย่างนั้นว่า อย่าเพิ่งยุ่ง เพื่อขอโฟกัสตรงหน้าครับ อันที่จริงทีมไม่ต้องบอกว่าให้ผมใส่ให้สุด เพราะผมใส่เต็มมาตลอดช่วง 5 รอบสุดท้ายแล้ว ฉนั้นผมมีอะไร ก็งัดมาทุกวิชาแล้วครับ

เติ้นเล่าถึงไฮไลท์ Team Radio ที่ทาง FIA มักจะเลือกหยิบบทสนทนานักขับสื่อสารกับทีมให้ผู้ชมการถ่ายทอดสดได้เข้าถึงปฏิกริยา และบรรยากาศ ความรู้สึก จนถึงแผนของแต่ละทีมแบบเรียลไทม์ สร้างอารมณ์ร่วมผู้ชมขณะแข่งขัน

 

แชมป์สปรินท์ แต่ไม่ติดโพเดียม
รอบแข่งจริง เพราะทีมเลือกยางพลาด

แชมป์จากรอบสปรินท์เรซวันเสาร์ ไม่ได้การันตีผลงานว่าจะแปรผันตามในรอบฟีเจอร์รซวันอาทิตย์ ปัจจัยการเตรียมตัว การเซตอัพของรถและทีม การเลือกแผนการขับ ไปจนถึงสภาพอากาศ ปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ก็ล้วนมีผลในกีฬาความเร็ว 

ผมและทีมเอ็นจิเนียร์ ตัดสินใจก่อนสตาร์ท เลือกยาง Full Wet (ยางสำหรับสนามเปียก) เพราะ F3 ไม่มีเปลี่ยนยางระหว่างแข่งขัน เราต้องวัดดวงก่อนแข่ง ที่สนามวันนั้นก่อนแข่งมีฝนตกลงมาไม่มาก แทร็กเปียกบางช่วง ทางทีมดูเรดาร์ฝน คำนวนแล้วว่าจะมีฝนตกหนักช่วงท้ายเรซ ทีมเอ็นจิเนียร์ตัดสินใจเลือกยางเปียก และใช้ลมยางสูง ก่อนสตาร์ท แต่พอแข่งขันจริง ฝนกลับไม่ได้ตก แถมแทร็กเริ่มแห้ง ทำให้เสียเปรียบเพราะบางคันเลือกใส่ยางสลิ๊ก ที่สามารถทำเวลาได้ดีกว่า แต่ผมไม่โทษใคร ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจร่วมกันครับ และย้อนไปก่อนหน้า เราทำเวลาได้ไม่ดีนัก ช่วงควอลิฟายด์ ในควอลิฟายด์ที่ 1 และ 2 ยังทำได้ดีอยู่ แต่ควอลิฟายด์ที่ 3 เรามาพลาดในช่วงออกจากพิทเพื่อทำเวลาจัดอันดับ รถไปติดคันหน้า เป็นจังหวะไม่ดี ทำให้เวลาช่วง Flying Lab ไม่ได้ตามเป้า ส่งผลให้จบอันดับ 14 แต่โดยรวมแล้วเป็นสัปดาห์ที่ดี เป็นประสบการณ์ให้เราเรียนรู้

 

วินัยสร้างความสำเร็จ
ความพยายามมากกว่าคนอื่นเท่าตัว 

ไม่มีทางลัดในกีฬามอเตอร์สปอร์ต ยิ่งเวทีระดับโลก เติ้น อาจจะดูพร้อมสรรพด้วยปัจจัย และต้นทุนที่มีระดับหนึ่งจากครอบครัว แต่การบริหารเวลาทั้งซ้อม เดินทาง แข่งขัน และยังต้องไม่ทิ้งการเรียน ยิ่งเพิ่มดีกรีความมีวินัย การแบ่งเวลามากกว่าคนอื่นเท่าตัว 

ผมคือคนเดียวในบรรดานักแข่งทั้งหมด 30 คนที่ยังต้องไปเรียน คนอื่นไม่มีใครเรียนเลยครับ การบริหารเวลาซ้อมและเรียนในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในบทบาทของผมตอนนี้ เราจึงเหมือนทุ่มเทมากกว่าคนอื่นเท่าตัว เพื่อทั้ง 2 หน้าที่ เวลานอกสนามยิ่งไม่มี ยิ่งมาอยู่ประเทศที่ไม่ใช่บ้านเรา ต้องรับผิดชอบตัวเอง กลายเป็นแก่นที่หลอมให้เรามีความเป็นใหญ่ไปในตัว

ปัจจุบัน เติ้นกำลังศึกษา ขึ้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัย City St. George University of London สาขาวิศกรรมเครื่องกล ซึ่งนับว่าสิ่งที่ศึกษาตรงกับสิ่งที่ทำและสนใจ ทำให้เข้าใจพื้นฐานเครื่องจักร รวมทั้งอาจมีโชคดีอยู่บ้างที่สถานศึกษาเข้าใจในบทบาทนักกีฬาอาชีพควบคู่ จึงอนุโลมเรื่องเวลาในห้องเรียนและการสอบที่อาจล่าช้า หรือมีชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเพื่อนในชั้น

วินัย คือจุดแข็งที่ผมได้มาจากการเป็นนักแข่งรถครับ ผมต้องสร้างวินัย สร้างระบบ เพื่อเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ยังมีทีมงาน มีผู้ใหญ่ มีผู้สนับสนุน ถ้าผมขาดวินัย มันส่งผลตามไปหมด ทุกวันนี้จึงมีตารางเวลาแน่นอน เช้าต้องเข้ายิมเป็นอัตโนมัติ แม้ตอนนี้เบรกสั้นๆ มาไทย ผมก็ต้องเข้าฟิตเนส คาร์ดิโอร่างกาย ต้องรักษาน้ำหนักทั้งฤดูกาลเท่ากันทั้งปี ผมต้องศึกษาสิ่งที่เราขาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันในทุกวัน และกับนอกสนาม ใช้ได้กับทุกสิ่งได้ด้วย ถ้าถามว่าผมได้อะไรจากการเป็นนักแข่งรถมาตลอด 10 ปี ก็คือได้วินัยติดตัว เราได้รับโอกาสที่พิเศษแล้วจากทุกคน เราก็ต้องพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นความรับผิดชอบตัวเราเอง”  

เส้นทางของเติ้น ผู้มีพี่น้อง 2 คน เป็นทายาทเจเนอเรชันที่ 3 ของ AAS Auto Service ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ปอร์เช่เจ้าแรกของไทยอย่างเป็นทางการ เป็นทายาทที่ผลผลิตหล่นใต้ต้นของคุณเต๊อะ วุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ นักแข่งรถ GT ดีกรีแชมป์ประเทศไทยและระดับเอเชีย ซึ่งสัปดาห์เดียวกันที่ลูกชายแข่งที่อังกฤษ ผู้พ่อก็แข่งขันเมืองไทย เป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกับโลกความเร็ว แม้ว่าเติ้นจะเผยว่าคุณพ่อไม่เคยผลักดันเขาเลยก็ตาม

จุดเริ่มต้นคือการลองขับรถโกคาร์ทตั้งแต่วัย 7 ขวบครับ จากขับสนุกๆ ในวัยเด็ก ก็เริ่มมาแข่งแบบเป็นเรื่องเป็นราว แน่นอนว่าพ่อพาไปขับก็จริง แต่ไม่เคยพูดชัดๆ ว่า ผมจะต้องตามรอยคุณพ่อ แต่การได้ติดตามไปเห็นคุณพ่อแข่งในสนาม อาจเป็นแรงบันดาลใจมากกว่า สำหรับโกคาร์ท ผมแข่งมาตลอด จนเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานที่ดีมาก สำหรับการไปให้ถึง F1 เพราะเป็นรถล้อเปิด นักขับ F1 ทุกคนล้วนผ่านสังเวียนโกคาร์ท ทำให้เราเรียนรู้ คุ้นเคยกับรถลักษณะนี้ ที่ฐานรถและตัวคนขับเตี้ยเกือบแตะพื้นแทร็ก การรับแรง G ( G-Force แรงโน้มถ่วงที่เกิดจากความเร่ง)

เติ้นเก็บประสบการณ์ในเวทีโกคาร์ทนานกว่า 10 ปี จนถึงระดับเอเชีย เคยคว้ารองแชมป์ Asian Kart Open Championship ปี 2017 และ IAME Asian Series ปี 2018 จนปี 2021 ที่ก้าวเช้าสู่วงการรถล้อเปิดระดับ Formula 4 (F4) โดยเข้าร่วมการแข่งขัน F4 UAE Championship และ F4 British Championship ซึ่งทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าโพเดียมได้หลายครั้ง รวมถึงการชนะใน Reverse-grid Race ใน F4 British Championship ผลงานไปเช้าตาและปูทางสู่การได้เข้าร่วมการแข่งขัน FIA Formula 3 Championship ในปี 2024 กับทีม AIX Racing และมาสู่ทีม Campos Racing ปีนี้ ซึ่งเป็นทีมเก่าของเติ้นสมัยร่วมงานกันในรายการ Eurocup-3 ปี 2023 

 

เงินทุน ปัจจัยหลัก
ไม่ได้ซื้อความสำเร็จได้เสมอไป

40 ล้านบาท คือตัวเลขกลมๆ ที่เติ้นเผยกับเราว่าจะต้องใช้เฉพาะกับการอยู่ในระดับ FIA F3 เท่าที่ทราบ นักขับแต่ละทีม แต่ละคนต้องมีค่าใช้จ่ายราวๆ นี้ โดยอาจแปรผันขึ้นอยู่กับขนาดของทีม ทีมใหญ่อาจสูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายหลักคร่าวๆ มาจากค่า Seat Fee ที่ต้องจ่ายให้กับทีมแข่ง ซึ่งรวมค่าเช่ารถแข่ง ค่าบำรุงรักษา ค่าตัวทีมงาน วิศวกร ช่างเทคนิค ค่าจ้างโคช เทรนเนอร์ นักจิตวิทยา และค่าใบอนุญาต ค่าลงทะเบียน ค่าทดสอบรถ ค่าเช่าสนามสำหรับการฝึกซ้อม ยาง ค่าอะไหล่ ชิ้นส่วน หากเกิดการชน เสียหาย ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น นอกเหนือจากนั้น ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก และสรตะ ยังมีค่าใช้จ่ายอีกมากที่มองไม่เห็น

ซึ่งจะเห็นได้ว่า การลงทุนแต่ละนักแข่ง ต้องใช้เม็ดเงินทุ่มลงไปมหาศาล กว่าจะก้าวไปถึงจุดสูงสุด เงินทุนอาจจะเป็นปัจจัยหลักเกือบ 50% ของการเป็นนักกีฬาความเร็ว ยิ่งเมื่ออยู่บนเวทีระดับโลก และยิ่งจะไปถึงยอดของโพเดียม แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด หากแต่ฝีมือ ประสบการณ์ ความอดทน การฝึกฝน ไปจนถึงแม้แต่โชคชะตา วันไหนอาจจะขับนำอยู่ดีๆ มีอุบัติเหตุกับรถคันอื่น มีฝนฟ้าตก ทุกอย่างเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ ก็พลิกชะตาได้ ชั่วพริบตา 

ผมอาจจะโชคดีที่มีทางบ้านช่วยสนับสนุนการเงิน ผมทำหน้าที่ส่วนผม และตั้งเป้าพัฒนาตามเส้นทาง การคาดหวัง ว่าเราอยู่ในสปอตไลท์คนมองว่าเรามีพื้นฐานทางบ้านที่พร้อมซัพพอร์ททั้งหลายนี้ ไม่ได้ทำให้ผมกดดัน ผมมองว่าการที่เราจะทำอาชีพนี้ แน่นอนต้องมีไดรฟ์ผลักดัน การทำให้สม่ำเสมอ อย่างการแข่งขันของผม มี 10 กว่ารอบ ก็ต้องทำให้ดี ให้ไม่พลาดทั้ง 10 กว่ารอบนั้น เมื่อเรามีเป้าหมายชัด ปีนี้เราต้องแชมป์ระดับนี้ ปีหน้าขยับขึ้นดิวิชั่น ปีถัดๆ ไป เพื่อ F1 ทำให้ผมโฟกัสปลายทาง และแต่ละเรซ แบบที่ไม่ต้องพะวงเรื่องอื่น ผลงานจะเป็นเครื่องชี้ว่าเราทำอะไร ระหว่างทางเราคิดแค่ว่าจะเสริมตัวเรา เพื่อเข้าใกล้จุดนั้นพอแล้วหรือยัง

 

การแข่งขันกับอีก 30 คน - ในทีมเอง - และกับตัวเอง

ทีม Campos Racing ทีมสัญชาติสเปนที่เติ้นสังกัด ใน FIA F3 มีคะแนนสะสมอันดับ 2 ประเภททีม เป็นทีมชั้นนำในยุโรป ที่เติ้นเคยสังกัดสมัยขับ Eurocup-3 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น FIA F3 ทำให้มีความคุ้นเคย และรู้มือ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญในการเซตรถให้เข้ากับแคแรกเตอร์การขับนักแข่ง ขณะเดียวกันมีนักขับในทีมอีกสองคน ที่เป็น Team Mate แน่นอนว่าเวทีความเร็วสเตจนี้ไม่มี Team Order ทุกสนามมีที่นั่งสำหรับแชมป์เพียงหนึ่งเดียว และเป้าหมายทุกคนล้วนเป็นสิ่งเดียวกันคือการคว้าแชมป์และขึ้นไปเวที F1 ความเป็นเพื่อนร่วมทีม อาจจะต้องสงวนไว้เมื่ออยู่ในแต่ละเรซ ที่ทุกคนไล่ล่าธงหมากรุกเป็นคันแรก 

ผมดีใจที่กลับมาอยู่ในทีม Campos Racing อีกครั้ง ทีมเอ็นจิเนียร์คนเดิมที่เคยร่วมงาน คุ้นเคย รู้ใจ และทีมมีผลงานโดดเด่น ที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองของผม ส่วนเรื่องทีมเมทอีก 2 คน เป็นนักขับมีฝีมือมาก แต่ผมไม่มองทั้งคู่เป็นคู่แข่งเสมอไปครับ ผมเลือกเรียนรู้จากเขา เป็นโอกาสดีสำหรับเราเสียอีก เมื่อทีมเมทมีประสบการณ์มากกว่า ทำเวลาดีต้นๆ นั่นทำให้เอ็นจิเนียร์รถผมต้องทำได้ดีด้วย ที่เหลืออยู่ที่เราจะเก็บเกี่ยว ทำได้เท่าเขาหรือไม่ ยิ่งพอเราเป็นซัพพอร์ทเรซ F1 ทำให้ต้องปรับตัว เรามีเวลาซ้อมแค่ 30 นาทีแล้วแข่งช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่าย เป็นเรซของ F2 - F1 แล้ว สำหรับตอนนี้ที่เหลืออีก 3 รายการ ผมยังมองการพัฒนาได้อีก ต้องปรับไปเรื่อยๆ แต่ที่แน่ๆ เรามั่นใจขึ้น ปรับตัวได้ดีขึ้น ข้อผิดพลาดทั้งผมเอง ทั้งทีม ลดลง เชื่อมั่นว่ารักษาเวลารถ (Pace) ให้ติด Top 5 ของทั้งหมดได้ ก็อยู่บนตำแหน่งที่ดีครับฤดูกาลนี้

 

ขอลุ้นโพเดียมต่อสนามสัปดาห์หน้า

สำหรับ (สนาม) สปา (Spa-Francorchamps ที่เบลเยี่ยม) ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ คงขอตั้งเป้าจะขึ้นโพเดียมอีกรอบครับ ตอนนี้สภาพรถ Pace (ความเร็ว) แต่ละสนามมาแล้ว เวลาอยู่ท็อป 3 คันแรกตลอด เท่ากับโอกาสโพเดียมไม่ไกล อยู่ที่วันแข่ง ตอนนี้ผมได้บินไปเก็บตัว เตรียมความพร้อมที่โรงงานทีมที่สเปน ศึกษาสนาม ปรับตัวเข้ากับรถ ดูข้อมูล ซ้อม ฟิตเนส ฝึกเรื่องปฏิกิริยา การตอบสนอง ไปจนถึงฝึกด้านสภาพจิตใจ (Mental) โดย 3 สนามที่เหลือก่อนจบฤดูกาล เป็นสนามยุโรปที่เราพอคุ้นเคยในการแข่ง ที่เหลือฝั่งของทีม เรามีบทเรียนจากปัญหาเครื่องยนต์ ผมได้เรียนรู้ พร้อมๆ การเติบโตไปกับทีม ซึ่งเราต้องเชื่อมั่นกันและกันครับ และเมื่อจบซีซั่นนี้ เราจะได้รู้ว่าก้าวเข้าใกล้สังเวียนใหญ่แค่ไหน ตอนนี้เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เก็บแต้มเพื่อได้ Super License Points สำหรับแข่ง F1 ไปในตัว ผมยังมองว่าเรื่องความแน่นอนของผลงานสำคัญกว่าการได้แชมป์ด้วยซ้ำ ถ้าดูจากแชมป์ซีซั่นปีที่ผ่านมาไม่เคยเป็นแชมป์เลยสักสนาม โพเดียมก็น้อยมาก แต่เขามีคะแนนแทบทุกสนาม ความ Consistency (แน่นอน) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

ทัศนพล = ทัศนคติบวก

ในการแข่งขันความเร็ว ปัจจัย ข้อผิดพลาด = อุบัติเหตุ เกิดขึ้นได้เสมอ เติ้นเผยว่าเขาอาจเป็นคนที่โชคดีที่ตลอด 10 กว่าปีในสนาม ไม่เคยได้รับอุบัติเหตุหนักๆ ไม่เคยมีอวัยวะ กระดูกแตกหักกระทบกระเทือนเลย ซึ่งในความโชคดีย่อมมีพื้นฐานจากการเตรียมตัวที่ดี วินัย ทีมงานที่ดีด้วย ทั้งนี้ปัจจัยหลายๆ อย่างก็นอกเหนือการควบคุม อาทิ สภาพอากาศ หรืออุบัติเหตุที่มาจากความผิดพลาดผู้อื่น ซึ่งไม่ได้ส่งผลแค่ผลงาน ไม่จบการแข่งขัน หากแต่อาจส่งไปถึงร่างกาย อนาคตในอาชีพนักแข่งที่สามารถจบลงในพริบตา แม้เราจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหนก็ตาม

นั่นอาจเป็นที่มาหนึ่งที่เมื่อเราโยนคำถามว่าเคยมีวันที่เบื่อ หรืออยากหันหลังให้โลกความเร็วบ้างหรือไม่ คำตอบที่ได้แสดงถึงทัศนคติคิดบวก ไม่โทษคนอื่นหรือตัวเอง แต่เป็นบทเรียนจากข้อผิดพลาดที่ทำให้พัฒนาขึ้นวันข้างหน้า

ผมไม่เคยได้รับอุบัติเหตุเลยในการแข่ง ผมเชื่อว่าผมมีทีมงานที่ดี ผมเตรียมตัวมาดี มีวินัยที่สร้างตัวเราเพื่อปลายทางเป้าหมายสูงสุด F1 มันมีวันที่แย่ครับ วันที่ควอลิฟายด์ดี แต่แข่งจริงรถมีปัญหา วันที่ขับนำมาตลอด ทิ้งห่าง 5-6 วินาทีแต่เครื่องยนต์พังต้องออกจากการแข่งขันอย่างน่าเสียดาย มีวันที่ตัดสินใจพลาดทั้งผมเองหรือทีมงาน เหตุการณ์ทั้งหมดสอนผมและทีมให้เติบโตขึ้น และเรียนรู้ที่จะปล่อยวางและเดินหน้าต่อไป ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง เราอยู่กับปัจจุบันและสิ่งที่ควบคุมได้ ความมุ่งมั่นต้องไม่ทำให้เราท้อครับ เรื่องผลการแข่งขันก็เรื่องหนึ่ง”    

 

อุบทีมใหญ่

F1 เห็นแวว ทาบทามแล้ว

เมื่อการแข่งขัน FIA F3 มาอยู่ภายใต้ Support Race ของ FIA F1 ย่อมเท่ากับโอกาสที่ทีมใน F1 ได้เห็นฝีมือ ได้เห็นแวว เติ้นแย้มถึงโอกาสตรงนี้พร้อมกับเผยว่าล่าสุดได้เล่าว่ามีโอกาสพูดคุยเรซเอ็นจิเนียร์ทีมใหญ่ใน F1 ที่ดูแลนักขับระดับจูเนียร์แล้ว 1 ทีมเป็นอย่างน้อย แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป ขอทำหน้าที่ตรงนี้ไปตามสเต็ปนั่นคือการทำคะแนนสะสมให้ติดท็อป 10 หรือท็อป 5  ให้ได้ ปัจจุบันเติ้นมีคะแนนสะสม รั้งอันดับ 14 ซึ่งการจะขยับไปลีกสูงขึ้น ต้องติด 10 อันดับแรกเป็นอย่างน้อย ส่วนใน FIA F2  ก็ต้องนำคะแนนมาเป็น Super License Point ให้ได้ตามเกณฑ์ของ F1 หรือวิธีที่จะการันตีได้โอกาสสูงสุดคือการเป็น Top 3 ของ FIA F2 เมื่อจบฤดูกาล จะทำให้ทีมใน F1 มาทาบทามไปเป็นนักขับสำรองเป็นอย่างน้อย เมื่อถามถึงการเป็น Support Race ที่ได้แข่งวีคเดียวกัน สนามเดียวกันกับ F1 ย่อมทำให้มีโอกาสได้เจอนักแข่งระดับโลก โดยเฉพาะ 2 นักแข่งไอดอลของเติ้น Lewis Hamilton และ Alex Albon Ansusinha

ได้เจอกันตลอดครับกับนักขับ F1 แต่อาจเป็นการเจอสวนกัน ผ่านกัน ในแพดด็อค ผมชื่นชอบสไตล์การขับของ (ลิวอิส) แฮมิลตัน มานาน เติบโตมากับยุคทองของ Mercedes ที่มีนักขับอังกฤษ ผมว่าผมมีสไตล์แบบเขา คือชอบโค้ง High-Speed Turn (โค้งความเร็วสูง) ชอบ Late Break (การเบรคล่าช้าช่วงก่อนเข้าโค้งเพื่อให้รถทำความเร็วได้ไวช่วงเข้า-ออกโค้ง) ทำให้กะระยะได้เหมาะสมกับการทำความเร็ว ส่วนพี่อเล็กซ์ (อัลบอน) แน่นอนว่าเป็นเชื้อสายไทย ที่เราเชียร์อยู่แล้ว ผมเจอตั้งแต่พี่เขาแข่ง GP3 GP2 อยู่แล้ว อาจจะไม่ได้คุยกันมาก เพราะพี่เขายุ่งในสัปดาห์แข่งที่เจอ ไหนจะต้องมีอีเวนท์ ไหนจะต้องโฟกัสการแข่งขัน แต่เจอทุกครั้งจะทักทาย จับมือทุกครั้ง เป็นคนทัศนคติดี เฟรนด์ลีเสมอ วันที่ผมได้แชมป์ที่ซิลเวอร์สโตน พี่เขาก็โพสต์แสดงความยินดี ผมปลาบปลื้มมาก และอยากเป็นแบบอย่างในอนาคตครับ

ทีมที่ติดต่อมา ผมคงพูดรายละเอียดอะไรมากไม่ได้ครับ ต้องโฟกัสกับต้นสังกัดและเวทีปัจจุบัน แต่ถามว่าเส้นทางจาก F3 สู่ F1 เราวางเส้นทางไว้ เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับรถที่ใหญ่กว่าของซีรีส์ที่สูงขึ้น รถที่มีแอโร่ไดนามิกที่เยอะกว่า ทำให้ขับยาก และแซงได้ยากขึ้น มีระบบที่มากขึ้น รวมถึงมีการเข้าพิท ถ้าถามว่าถ้าเลือกได้อยากเข้าทีมไหน คงไม่เลือกล่ะครับ ทีมไหนก็ได้ครับ ขอให้ได้ขับ ถือว่าทำความฝันสำเร็จแล้ว” 

 

เทียบให้เห็นภาพ

เติ้นเข้าใกล้สังเวียนเอฟวันแค่ไหน

เมื่อดูในบรรดารายชื่อนักแข่ง F1 ปีนี้ ได้เห็นชื่อนักขับรุกกี้หน้าใหม่ ขึ้นมาเวทีใหญ่ หลายคนทำได้ดี มีถึงโพเดียมด้วยซ้ำ กระตุ้นให้เราสนใจเจาะมุมมองของเติ้น หากเปรียบเทียบตัวเองกับระดับ F1 เราก้าวไปใกล้แค่ไหน อย่างไร 

คงพูดยากครับหากให้เปรียบเทียบว่าฝีมือเรากับนักขับ F1 ต่างกันแค่ไหน หากมองในอดีตนักขับรุ่นพี่อย่าง ลิวอิส แฮมิลตัน และเฟร์นันโด อลองโซ ก็อาจจะพูดยาก เติ้นเคยดูเขามาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ขับโกคาร์ท หากจะเปรียบเทียบคงตอบได้ยาก และคงขึ้นกับรถ และแต่ละวัน แต่ละสนามด้วย แต่หากจะเปรียบเทียบใกล้ขึ้น คงเลือกยกนักแข่งรุ่นราวคราวเดียวกันที่พูดถึงอย่าง Kimi Antonelli ทีมเมอร์เซเดส เราจะเห็นจากผลงานเลยว่า ในทีมเดียวกัน George Russell นักขับรุ่นพี่มีความเร็วมากกว่า อันโทเนลลี ที่ฝีมือไล่ๆ กับเรา ยังเอาชนะไม่ได้ แสดงถึงระดับฝีมือเราได้ระดับหนึ่ง หากจะมองเปรียบเทียบแบบคร่าวๆ แต่อีกด้านหนึ่ง ทำให้เห็นว่านักแข่งเหล่านี้ ต้องสั่งสมประสบการณ์ เช่นเดียวกับเติ้น แสดงให้เห็นว่าอีก 1-2 ปีเขาขึ้นไปแถวหน้าได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกันครับ แต่วันนี้เราทำทีละก้าว แต่ละสนามให้ดีที่สุด 2 ปีนี้คงมีโอกาส ซึ่งหากยังไม่ได้ ก็เท่ากับขยับโอกาสมากขึ้นกว่าวันนี้แน่ครับ

 

ฝันสูงสุด Home Race

ติดธงไทยแข่ง F1 ในบ้านเกิด

ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติความคืบหน้าเจรจาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน FIA Formula 1 Grand Prix Bangkok ในปี 2028 อีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดมีความเป็นได้ระดับสูงที่สัญญา 5 ปีมูลค่า 4 หมื่นกว่าล้านบาทจะเกิดขึ้นจริงบนใจกลางกรุงเทพฯ ในรูปแบบของ Street Circuit (สนามแข่งบนถนในเมือง) ที่ยิ่งกระตุ้นบรรยากาศและผู้คนวงกว้างได้ดีกว่าแข่งในแทร็ก ที่อาจอยู่นอกเมือง หรือจังหวัดอื่น 

เติ้นในฐานะคนไทยที่เกิดและเติบโตในไทยแท้ๆ และเป็นคนไทยที่มีโอกาสมากที่สุดที่จะได้เป็นนักขับประวัติศาสตร์คนแรกคู่กับอเล็กซ์ อัลบอน หากเกิดขึ้นจริง นี่คือความฝันสูงสุดที่เติ้นตื่นเต้น และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำผลงานให้ดีในทุกเรซเพื่อปลายทางนี้

เป็นฝันที่ไม่กล้าฝันมาก่อน จนกระทั่งได้ทราบข่าวความชัดเจนล่าสุดไม่นานนี้เลยครับ เมื่อก่อนที่แข่งมาตั้งแต่ Eurocup-3 มา F4 F3 แข่งในยุโรปหมด ทุกคนมีโฮมเรซของตัวเอง ได้เห็นบรรยากาศแฟนๆ เชียร์คนของชาติตัวเอง เราเป็นคนเดียวเลยที่ไม่มี ก็เสียดายนิดนึง ถ้าเรามีคงดี ซึ่งผมว่าที่วางแผนจะจัดย่านจตุจักร เชื่อว่าทำได้ครับ อาจต้องทำพื้นถนนใหม่ขึ้น แต่คงง่ายกว่าการสร้างสนามใหม่ในกรุงเทพฯ ในแง่งบประมาณ และเรื่องโลจิสติก การเดินทางของนักแข่ง ของทีมต่างๆ คงเป็นสนามที่มีเอกลักษณ์และถ่ายทอดความเป็นไทยมากๆ ถ้าวันนั้นมาถึง มันคือฝันที่สูงสุดจริงๆ ครับ มากกว่าฝันนั้น ก็คงเป็นโพเดียมในบ้านเกิดแหละครับ
 
โสดสนิท โฟกัสแข่งรถและเรียน

วินัยทั้งในและนอกสนาม ทั้งกีฬา การออกกำลังกาย การเรียน และรูทีนชีวิตประจำวัน ที่ทำมาหลายปี ตั้งแต่ตั้งเป้ายึดอาชีพนักแข่งรถ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบของเติ้น ทำให้เจ้าตัวยอมรับว่าหาเวลาว่างยากมาก แม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง F1 ที่ได้รับคำชม และคำกล่าวถึงมากมาย จนถึงตอนนี้เจ้าตัวก็ยังไม่มีโอกาสได้ไปชม 

เวลาส่วนตัวเป็นสิ่งที่ต้องแลกมากับโอกาสและเป้าหมาย ระหว่างฤดูกาลแข่งขัน หากมีช่วงเบรก ก็จะกลับมาไทย 2-3 สัปดาห์ ก็ได้อยู่กับครอบครัว เจอเพื่อนในไทยบ้าง แต่ก็ไม่เคยเพียงพอ เพราะยังต้องดูแลร่างกาย และการเรียนที่เริ่มเข้มข้นขึ้น ทำให้วัยหนุ่มที่แม้จะจ่อบรรลุนิติภาวะแล้ว แถมหน้ามน สูง สปอร์ต หุ่นดี มีทั้งทรัพย์และโฉม ครบในตัวแบบนี้ แต่เรื่องคนรู้ใจเป็นสิ่งที่ยังไม่คิดในตอนนี้ เพื่อโฟกัสกับหน้าที่หลัก และยอมรับว่าระยะทางเป็นเรื่องยากของความสัมพันธ์ ยิ่งมีโปรแกรมแข่งขันที่ต้องเดินทาง ต้องหายใจเข้าหายใจออกเป็นความเร็วแล้ว ทำให้เรื่องหัวใจ ต้องใช้เวลา และความเข้าใจสูง จึงยังไม่รีบ กับเรื่องใดๆ นอกสนาม 

นี่เอง อาจจะเป็นไอเดียคล้ายกับกรณี ลิวอิส แฮมิลตัน ยอดนักขับเมืองผู้ดี ที่แม้จะวัย 40 ปีแล้ว และเพียบพร้อมด้วยสินทรัพย์รายได้ระดับนักกีฬาที่ทำเงินต่อปีมากที่สุดคนหนึ่งของโลก แต่ยังไม่ตกร่องปล่องชิ้นกับใคร เพราะเหตุผลที่ต้องการคนที่จะอุทิศให้กับเขาแบบ 100% ต้องซัพพอร์ท เดินทาง และเข้าใจธรรมชาติของเขาและกีฬาชนิดนี้ จึงจะถูกเลือกให้เป็นคู่ครองได้ 

 

แรงบันดาลใจแห่งความเร็ว

เติ้น ทัศนพล อินทรภูวศักดิ์ สอนให้เราได้ตกผลึกถึงเป้าหมาย ความคิดของเด็กอายุยังไม่ 20 ดี พื้นฐานที่อบอุ่นจากครอบครัว การไม่เร่งรัด การสร้างแรงบันดาลใจ การผลักดัน ทั้งหมดค่อยๆ ก่อตัวหลอมหล่อบนเบ้าผ่านความมีวินัย ที่เป็นส่วนประกอบความสำเร็จของนักกีฬาระดับโลก เติ้นไม่เพียงเป็นนักแข่งผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทย แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความมุ่งมั่น และการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง การเดินทางของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬา และเยาวชน แสดงให้เห็นว่าด้วยความทุ่มเทและการสนับสนุน คนไทยก็สามารถไปถึงจุดสูงสุดบนเวทีระดับโลกได้ 

ร่วมติดตามและให้กำลังใจเติ้น ทัศนพล ในเส้นทางความเร็วของเขาได้ที่ Facebook Fanpage : AAS Autosport และ Instagram: @tasanapol