07 ส.ค. 2567 | 16:30 น.
“เป็นเรื่องยากมากที่เราต้องจดจ่ออยู่กับการแข่งขัน ในหัวของฉันคิดถึงแต่ครอบครัวที่ยูเครน”
ยาโรสลาวา มาฮูชิก (Yaroslava Mahuchikh) นักกรีฑากระโดดสูงหญิงชาวยูเครนในวัย 22 ปี เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ปารีส 2024 ให้สัมภาษณ์ก่อนการแข่งขันเริ่มขึ้น
แม้หลายคนจะรู้จักเธอในฐานะนักกีฬาสุดชิล ที่กระโดดเสร็จก็เดินกลับไปนอนในถุงนอนที่พกติดตัวอยู่เสมอ แต่การนอนไม่ได้ช่วยให้เธอสงบลงได้เลย เพราะในหัวของเธอคิดวนเวียนถึงแต่ครอบครัว และชาวยูเครนที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยสงคราม บ้านเกิดที่เธอแทบไม่ได้กลับไปอีกเลย นับตั้งแต่สงครามเปิดฉากขึ้น
“ฉันแค่หลับตา” ยาโรสลาวาเฉลยถึงที่มาของความชิล ว่าจริง ๆ แล้วเธอเองก็ประหม่าไม่ต่างกัน การต้องกระโดดท่ามกลางสายตาฝูงชนกว่า 80,000 คน ทำให้สติของเธอกระเจิง
“ฉันมักพบถุงนอนติดตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาว ก็มีมันอยู่กับตัว มันดีมากจริง ๆ นะ การมีอุปกรณ์การนอนนุ่ม ๆ ช่วยให้ฉันผ่อนคลายก่อนกระโดดจริง ฉันพยายามคิดแต่เรื่องการกระโดด เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่าน”
กว่าจะเป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2024 ยาโรสลาวาต้องเสียสละชีวิตแทบทุกด้าน ทิ้งทุกอย่างที่ยูเครนไปอย่างเลี่ยงได้ หลังกระสุนนัดแรกถูกยิงข้ามพรมแดน เลือดของทหารชาวยูเครนหลั่งลงผืนดิน มาจนถึงเสียงกรีดร้องของประชาชนจากความเจ็บปวดที่เห็นคนรักจากไป เมื่อสถานการณ์เริ่มเข้าขั้นวิกฤติ ‘ทาเทียน่า สเตปาโนวา’ (Tetyana Stepanova) โค้ชของเธอไม่รอช้า บอกให้เด็กสาวรีบเก็บกระเป๋าออกเดินทางโดยด่วน เพราะไม่มีใครรู้ว่ารัสเซียจะเปิดฉากโจมตีบ้านเกิดของเธอ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองดนิโปร (ตะวันออกของยูเครน) ตอนไหน ความปลอดภัยของนักกีฬาเป็นสิ่งที่สหพันธ์กรีฑาของยูเครนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
การเดินทางครั้งนั้น ยาโรสลาวาพาแม่และน้องสาวติดตามไปด้วย แต่พ่อของเธอยืนกรานจะอยู่ที่ยูเครนต่อไป
“พ่อบอกฉันว่า น่าเสียดายที่สงครามคือชีวิตของอีกหลาย ๆ คนต่อจากนี้ เราคงต้องใช้ชีวิตแบบนี้ และพวกเขาจะใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไป บางครั้งพ่อก็บอกว่า ‘ลูกรู้มั้ย ถ้าจรวดมาถึง พ่อไม่เป็นไรหรอก ชีวิตของพ่อมันก็เท่านี้ บางทีพระเจ้าอาจจะบอกว่าถึงเวลาที่พ่อควรไปเสียที’ และฉันก็มักจะตอบกลับพ่อไปเสมอว่า ‘พ่อคะ ได้โปรดเถอะค่ะ พ่อต้องหลบที่ห้องใต้ดินนะ’”
ในเดือนสิงหาคม 2023 กรมอาชญากรรมสงครามของยูเครนในสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า พลเรือนประมาณ 10,749 คนเสียชีวิตระหว่างสงคราม และ 15,599 คนได้รับบาดเจ็บ
เพื่อไม่ให้สมบัติล้ำค่าของชาติต้องสูญสลายไปท่ามกลางความขัดแย้ง ทางสหพันธ์กรีฑาของยูเครนพยายามพาออกนอกประเทศให้เร็วที่สุด โดยใช้เส้นทางไปยังเบลเกรด เมืองหลวงของเชอร์เบีย แต่กว่าจะถึงจุดหมายก็กินเวลานานถึง 3 วัน พวกเขาต้องขับรถอ้อมลูกระเบิด เส้นทางถนนที่ถูกตัดขาด และเสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศที่ดังขึ้นทั้งวันทั้งคืน
หมุดหมายแรก ๆ ของเด็กสาวคือยุโรป เปลี่ยนสถานที่ฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่โปรตุเกส เอสโตเนีย เบลเยียม และเยอรมนี บางครั้งการเดินทางไกลทำให้เธออดคิดถึงครอบครัวไม่ไหว จึงขอโค้ชกลับบ้านไปดูความเป็นอยู่ของพวกเขาในยูเครน ถึงจะต้องกัดฟันโบกมือลาพวกเขาอีกรอบ โดยไม่รู้เลยว่าการพบกันครั้งนั้น จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่
“ชีวิตฉันกับกระเป๋าเดินทางเป็นของคู่กัน การเดินทางทำให้ฉันไม่มีบ้านให้กลับ”
“ฉันอายุแค่ 22 ปี แต่รู้สึกว่ามีหลายอย่างเหลือเกินที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีการโจมตีด้วยจรวด ฉันคิดถึงแต่ครอบครัว พ่อจะรอดมั้ย ฉันอาจจะเสียท่านไปแล้วก็ได้ ไม่มีใครรู้ น่าเศร้าที่เด็กอีกหลายคนในยูเครน ต้องสูญเสียพ่อแม่ไปในเหตุการณ์ครั้งนี้
“เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 เรามีเทคโนโลยี มีเสรีภาพ โลกของเรากำลังก้าวไปข้างหน้า เราควรมีอิสระในการออกเดินทางท่องโลก แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่น ๆ แต่เราทำไม่ได้ เพราะต้องต่อสู้เพื่อประเทศชาติของเรา”
ยาโรสลาวาคิดถึงบ้าน คิดถึงเสียงหัวเราะของคนในเมือง คิดถึงกลิ่นกาแฟที่มักลอยคลุ้งออกมาอยู่เสมอ แต่ทั้งหมดนั้นกลายเป็นเพียงความทรงจำ สงครามไม่เคยปราณีใคร และมันกำลังคร่าจิตวิญญาณของเธอลงอย่างช้า ๆ
“ฉันคิดถึงความทรงจำดี ๆ กับเพื่อน มันคือที่ที่ฉันเติบโตมา เมืองดนิโปรเป็นเมืองหลวงของกาแฟเลยก็ว่าได้ มีร้านกาแฟเยอะมากที่นั่น ฉันคิดถึงบรรยากาศเหล่านั้นจริง ๆ นะ ทุกคนมีความสุข ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม แต่พอคิดถึงความสุขทีไร ความเศร้าก็เข้ามาแทนที่ทุกที ใจของฉันหวนคิดถึงแต่ทหารที่จากไป พวกเขาคือผู้กล้าที่ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องเรา”
ส่วนที่มาของความชอบกีฬา ยาโรสลาวาเผยว่า เธอเริ่มสนใจมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ (ยาโรสลาวาเกิดปี 2001) และได้ลองฝึกซ้อมทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะวิ่งข้ามรั้ว กระโดดสูง การขว้าง แต่สุดท้ายกระโดดสูงก็เป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบมากที่สุด
“หลังการแข่งขันเยาวชนชิงแชมป์โลกที่เคนยา ฉันรู้สึกว่านี่คือชัยชนะอันงดงาม มันเป็นความหลงใหลที่อยู่ในตัวฉันมาโดยตลอด และฉันต้องการคว้าเหรียญทองในสักวันหนึ่ง”
และเมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส มาถึง ยาโรสลาวามาอยู่ในชุดนักกีฬาสีน้ำเงิน-เหลือง ทาอายแชโดว์สีเดียวกัน ซึ่งเป็นสีของธงชาติยูเครนที่เธอรักและภูมิใจ นี่คือสิ่งที่นักกีฬาอย่างเธอ ผู้เป็นตัวแทนของประเทศชาติจะทำได้ และยาโรสลาวาก็ทำสำเร็จ เธอเอาชนะคู่แข่งไปอย่างขาดลอย คว้าเหรียญทองมาครองกลับมาตุภูมิได้อย่างสมเกียรติ
ก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม 2024 ที่สนามกีฬาปารีส ไดมอนด์ ลีก เธอได้สร้างสถิติโลกครั้งใหม่ 2.10 เมตร ลบสถิติเก่าที่ไม่เคยมีใครทำลายได้มาเป็นเวลา 37 ปี
หากย้อนกลับไปดูสถิติในอดีตที่ผ่านมา ผลงานของเธอล้วนโดดเด่น
- แชมป์ Youth Olympic Games ปี 2018
- โอลิมปิก โตเกียว ปี 2020 ได้รับเหรียญทองแดง
- รางวัล World Championships 3 สมัย โดยคว้าเหรียญทองในปี 2023 หลังจากได้เหรียญเงินมาแล้ว 2 สมัย ในปี 2019 และ 2022
- ในปี 2019 ยาโรสลาวายังเป็นผู้เข้าแข่งขัน World Championships ที่มีอายุน้อยที่สุด (18 ปี 11 วัน) อีกด้วย
นี่เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งของเธอเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิบเหรียญรางวัลที่ยาโรสลาวาคว้ามาครอง
“ฉันมีแต่ต้องชนะต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อมองกลับไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครน เด็กจำนวนมากต้องสูญเสียพ่อแม่ พ่อแม่ต้องสูญเสียลูก เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นักกีฬาและโค้ชหลายคนต้องเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ ดังนั้นการชนะจึงเป็นเป้าหมายหลักในการช่วยประเทศของฉัน”
ยาโรสลาวาเชื่อว่าโอลิมปิกจะช่วยส่งเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ แม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้ อาจมีนักกีฬาจากรัสเซียและเบลารุสเข้าร่วม ถึงไม่ได้เข้าร่วมในฐานะตัวแทนของรัสเซีย แต่ต้องลงแข่งขันโดยปราศจากธงชาติ สัญลักษณ์ประจำชาติ เพลงชาติก็ไม่สามารถเปิดได้หากได้รับชัยชนะ แต่การเห็นหน้าพวกเขาก็ทำให้เธอสั่นเทาด้วยความโกรธเช่นกัน
“เมื่อฉันเห็นนักกีฬารัสเซีย... มันเหมือนกับกำลังเห็นบ้านตัวเองถูกทำลาย
“การแข่งขันโอลิมปิกจะช่วยส่งเสริมสันติภาพ แต่รัสเซียไม่เคยหยุด ระหว่างการแข่งขันที่เกิดขึ้น พวกเขายังคงโจมตีบ้านเราไม่หยุด
“และฉันตั้งตารอที่จะกลับไปบ้าน ไปหาพ่อและเพื่อน ๆ เพื่อฉลองชัยชนะครั้งนี้ด้วยกัน”
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : Reuters
อ้างอิง
High jumper Yaroslava Mahuchikh and other medal-winning Ukrainians put attention on war.
‘Fight until the end’: high jump gold medallist Mahuchikh’s call to Ukraine.