04 ส.ค. 2567 | 17:30 น.
‘เอริค มูซซัมบานี่’ (Eric Moussambani) คือตัวแทนนักกีฬาว่ายน้ำฟรีสไตล์ 100 เมตรชาย ประเทศอิเควทอเรียลกินี ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ร่ำรวยจากการค้าน้ำมันปริมาณมหาศาลในแต่ละปี แต่โชคร้ายที่ความมั่งคั่งนั้นไม่เคยถูกส่งมายังประชาชน เพราะดินแดนแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดในโลก
อาจเป็นเพราะเหตุนั้น จึงทำให้นักกีฬาในประเทศไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก เม็ดเงินส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับความฟุ้งเฟ้อของเหล่าผู้มีอำนาจ แต่ยังมีชายคนหนึ่งที่ไม่เคยยอมแพ้ เขาอยากจะเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ อยากลองท้าทายตัวเอง อยากทำให้ชาวโลกเห็นว่าบ้านเกิดของเขาก็สามารถมีนักกีฬาว่ายน้ำได้ แม้จะชอบเล่นบาสเก็ตบอล จนเคยทำแขนหัก แถมยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าการว่ายน้ำต้องทำยังไง เพราะในประเทศไม่มีสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐาน จะมีก็แต่เพียงสระเล็ก ๆ ในโรงแรมก็เท่านั้น
“ผมเคยทำแขนหักตอนเล่นบาสเก็ตบอล ผมโคตรจะกลัวเลย แต่ก็ฝืนตัวเองกลับมาเล่นใหม่อีกครั้ง แล้วจู่ ๆ ความสนใจของผมก็เบนมาที่การว่ายน้ำ
“ผมน่าจะอายุ 19 – 20 มั้ง จำไม่ค่อยได้ ผมหัดว่ายน้ำโดยขอร้องให้น้า ๆ ชาวประมงช่วยสอนหน่อย เพราะผมรู้ว่าคงไม่มีใครเหมาะที่จะสอนบทเรียนนี้ได้เท่าพวกเขาอีกแล้ว”
เนื่องจากไม่มีโค้ชสอนว่ายน้ำอยู่ในประเทศนี้ เขาจึงไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร นอกจากชาวประมงที่ประกอบอาชีพอยู่กับน้ำมาเป็นเวลานาน คนส่วนใหญ๋ในบ้านเกิดของเขาว่ายน้ำไม่เป็น ไม่มีใครรู้จักวิธีเอาชีวิตรอดหากต้องตกอยู่ในสายน้ำเชี่ยวกราก และเพราะความไม่รู้นี้เองที่ทำให้เขาอยากลองท้าทายตัวเอง ทำไมประเทศที่ไม่มีสระว่ายน้ำเพื่อส่งเข้าแข่งขันจะว่ายน้ำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่บ้านของเขาก็มีแม่น้ำตามธรรมชาติตัดผ่าน
“ระหว่างที่ผมฝึกซ้อมอย่างหนัก อยู่มาวันหนึ่ง คณะกรรมการโอลิมปิกสากล คุณเฟอร์นันโด มินโก (Fernando Minko) เขาบอกผม เราจะไปโอลิมปิกกัน”
คำว่าโอลิมปิกไม่เคยอยู่ในหัวของมูซซัมบานี่มาก่อน เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการแข่งขันนี้มีความสำคัญอย่างไร ประเทศที่จัดการแข่งขันอย่างออสเตรเลีย อยู่ไกลบ้านเขาเท่าไหร่ แล้วการนั่งเครื่องบินมันจะน่ากลัวแค่ไหน เขาไม่รู้อะไรเลยสักอย่าง รู้เพียงแต่ว่าเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่เดือนที่เขาจะต้องลงสนามแข่งขัน และเขาจะทำออกมาให้ดีที่สุด
“เหมือนจะเหลือเวลาแค่สองหรือสามเดือนก่อนการแข่งขันจะเริ่ม ผมไม่มีแม้กระทั่งโค้ชสอนว่ายน้ำ ได้แต่ถามพนักงานโรงแรมให้เขามาช่วยเป็นครูสอนผมหน่อยได้มั้ย เขาบอกว่าได้เลย ไม่มีปัญหา แต่ทางโรงแรมจะอนุญาตให้ผมฝึกว่ายน้ำได้แค่เวลา ตีห้าถึงหกโมงเช้า ก่อนจะเปิดบริการนักท่องเที่ยวตามปกติ”
เหมือนความฝันที่จะเป็นนักกีฬาว่ายน้ำตัวฉกาจเริ่มขยับเข้าใกล้ขึ้นทุกที แม้จะมีเวลาเพียงแค่วันละหนึ่งชั่งโมง กับการฝึกว่ายน้ำในสระโรงแรมความยาวเพียง 13 เมตร แต่เขาไม่ยอมแพ้ ยังคงฝึกฝน บริหารปอดอยู่ทุกคืนวัน โดยที่ไม่รู้โลกความจริงด้วยซ้ำว่า สระที่เขาฝึกอยู่นั้นไม่ได้ครึ่งหนึ่งของสระที่ใช้สำหรับการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเลยแม้แต่น้อย
มูซซัมบานี่อายุเพียง 22 ปี ต้องเก็บกระเป๋าออกเดินทางไปสู่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2000 เขาคือเด็กหนุ่มที่กลายมาเป็นตัวแทนนักกีฬาระดับประเทศโดยไม่เคยรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของมัน ส่วนเหตุผลที่เขาได้เป็นตัวแทนของประเทศ เหตุผลส่วนหนึ่งคือคณะกรรมการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ เวลานั้น เห็นถึงความพยายามของเขา และทางโอลิมปิกเองก็มีโควต้าพิเศษให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา พวกเขาเล็งเห็นว่าหากยังรอให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ส่งตัวแทนมา คงจะใช้เวลานานเกินไป จึงให้สมาคมดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องส่งตัวแทนนักกีฬามาร่วมแข่งขันโอลิมปิกที่ซิดนีย์ โดยไม่ต้องผ่านรอบการคัดเลือก
และนั่นจึงทำให้ฉลามหนุ่มจากอิเควทอเรียลกินีย่างกรายเข้ามายังสนามแข่งขันระดับโลก
ภาพแรกที่เขาเห็นเมื่อเดินทางมาถึงซิดนีย์ คือ ความยิ่งใหญ่ของหมู่บ้านนักกีฬาที่กินพื้นที่ไกลสุดลูกหูลูกตา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำเขาอึ้งแล้วอึ้งอีกคงหนีไม่พ้น สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ บริเวณด้านข้างมีที่นั่งสำหรับชมการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 17,500 ที่นั่ง และนั่นทำเอาเด็กหนุ่มถึงกับขนลุกซู่...
“ตอนที่ผมเห็นสระว่ายน้ำเป็นครั้งแรก รู้มั้ยว่านั้นน่ะเป็นครั้งแรกเลยที่ผมเห็นสระยาว 50 เมตร
“ผมโคตรจะกลัวเลย สระมันใหญ่เกินกว่าที่ผมจินตนาการไว้มาก ผมไม่มั่นใจในสิ่งที่ได้ฝึกฝนมาเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ฝึกมามันดีพอแล้วยัง ผมได้แต่นั่งดูนักกีฬาจากทีมชาติสหรัฐฯ ฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ เพราะผมไม่รู้เทคนิคอะไรสักอย่าง ผมดูเขาอย่างละเอียดยิบว่าพวกเขาฝึกกันยังไง และพยายามเรียนรู้จากพวกเขา ผมไม่มีประสบการณ์ในการว่ายน้ำ ไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง สิ่งที่ผมทำได้คือต้องถามจากพวกเขา”
และแล้ววันแข่งขันก็มาถึง โดยมีนักกีฬาทีมชาติจากอีก 2 ประเทศเข้าร่วม คือ ไนจีเรีย และทาจิกิสถาน แต่โชคร้ายที่พวกเขาตื่นเต้นเกินไป ทำให้ออกตัวเร็วกว่าสัญญาณปล่อยตัวจะดัง พวกเขาจึงหมดสิทธิ์การแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย
กลายเป็นว่ามูซซัมบานี่ต้องว่ายน้ำคนเดียวท่ามกลางสายตาคนดูนับหมื่นราย แน่นอนว่าโอลิมปิกครั้งแรก ณ ต่างแดน และยังต้องว่ายน้ำคนเดียวอีก สร้างความกดดันให้ชายคนนี้มหาศาล
มูซซัมบานี่ยืนสงบนิ่ง พยายามกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อลดความตื่นเต้น เมื่อเสียงสัญญาณดังขึ้น เขาจึงกระโจนตัวแหวกืนน้ำพร้อมกับว่ายอย่างสุดกำลัง ดูเหมือนว่า 50 เมตรจะผ่านไปด้วยดี แต่เรี่ยวแรงของเขาเริ่มหมดลงทุกขณะ เพราะกำลังทั้งหมดเขาใส่ไปตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกที่ออกตัว จากว่ายน้ำด้วยความเร็ว ค่อย ๆ ช้าลงเรื่อย ๆ จนคนดูบนอัฒจรรย์เริ่มตะโกนเชียร์ให้กำลังใจ
เสียงจากคนนับหมื่นทำให้เขาฮึกเหิมไม่น้อย ขอบสระที่ดูห่างไกลค่อย ๆ ขยับเข้ามาใกล้เรื่อย ๆ แต่แขนและขาของเขากำลังดื้รั้น มันไม่ยอมทำตามใจไปเสียทั้งหมด 2 เมตร เหลืออีกเพียง 2 เมตรเท่านั้นเขาจะถึงสระแล้ว จู่ ๆ มูซซัมบานี่ก็หยุดว่าย พักขึ้นมาหายใจอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะเห็นว่าผู้ชมทุกคนกำลังลุ้นกับการแตะขอบสระของเขามากเพียงใด
อีกนิด อีกแค่นิดเดียว แขนและขาเริ่มกลับมามีพลัง และเขาก็ทำสำเร็จ
มูซซัมบานี่ จากอิเควทอเรียลกินี สามารถแตะขอบสระได้ในเวลา 1 นาที 52.72 วินาที ซึ่งเป็นเวลาที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการแข่งขันมา
“เวลาสองนาทีที่อยู่ในสระเปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล” ความรู้สึกแรกที่เขาได้รับหลังจากขึ้นมาจากสระ พร้อมกับสื่อแทบทุกสำนักที่วิ่งกรูกันเข้ามาขอสัมภาษณ์ฉลามหนุ่มรายนี้
“ผมประหม่ามาก โดยเฉพาะตอนที่พวกเขาประกาศชื่อประเทศ รอบตัวของผมมีคนนั่งอยู่เต็มไปหมด และตอนนี้ผมต้องลงไปว่ายน้ำให้พวกเขาดู ผมกลัวแทบตาย กลัวพวกเขาจะเยาะเย้ยผม กลัวไปหมดทุกอย่าง แต่มีบางอย่างในตัวบอกกับผมว่า ผมทำได้”
มูซซัมบานี่รู้ดีว่าการลงแข่งขันครั้งนี้ของเขาไม่ใช่ทุกคนจะชมเชย ระหว่างที่ว่ายน้ำเขาได้ยินเสียงโห่ร้องเหมือนจะไล่เขาออกจากสระ
“แน่นอนว่ามีการเยาะเย้ยผมอยู่บ้าง แต่หลังจากจบการแข่งขัน และผมให้สัมภาษณ์สื่อหลาย ๆ เจ้า จากเสียงถางถาก กลับเป็นชื่นชม เมื่อพวกเขารู้ว่าผมไม่ได้รับการฝึกฝนจากผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่ผมทำให้เห็นคือจิตวิญญาณอันแข็งกล้าที่จะเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิก”
แม้ไม่ได้รับเหรียญรางวัลใดไปครอง แต่การว่ายน้ำของเขากลับคว้าใจคนทั้งโลก ผู้คนต่างยกย่องความเพียรพยายาม และหัวใจที่ไม่ย่อท้อ เขาได้รับคำชมจากเพื่อนนักกีฬา หนึ่งในนั้นคือ ‘ไม่เคิล คลิม’ (Michael Klim) ชายผู้เป็นไอดอลในการว่ายน้ำของเขา และ ‘เอียน โธร์ป’ (Ian Thorpe) นักกีฬาว่ายน้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งคู่เดินเข้ามาจับมือทักทาย มอบอ้อมกอด พร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของมูซซัมบานี่
“นี่แหละคือสิ่งที่โอลิมปิกต้องการ”
หลังจากจบการแข่งขันโอลิมปิก มูซซัมบานี่มีโอกาสได้รับการรับเลือกให้เป็นตัวแทนอีกครั้งในปี 2004 แต่ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศของเขา ทำให้ชายคนนี้พลาดโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบัน มูซซัมบานี่ผันตัวเป็นโค้ชสอนว่ายน้ำในวันหยุด ควบคู่ไปกับการทำงานประจำในบริษัทน้ำมัน “ผมเป็นโค้ชสอนว่ายน้ำให้กับทีมชาติอิเควทอเรียลกินี นี่คือชีวิตที่ผมได้รับหลังจากกลับจากโอลิมปิก มันเปลี่ยนไปจนแทบจะไม่เหลือเค้าเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนคือความมุ่งมั่นของผม ผมอยากจะเห็นนักกีฬาว่ายน้ำจากบ้านของเราไปอยู่ในโอลิมปิกอีก ผมจะเป็นโค้ชที่ดีให้พวกเขา จะสอนทุกเทคนิคที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันครั้งนั้นกับทุกคน เพื่อให้พวกเขาประสบความสำเร็จ”
ขอคารวะแด่หัวใจที่เข้มแข็งดั่งหินผาของมูซซัมบานี่ จากเด็กหนุ่มที่ไม่เคยว่ายน้ำในสระมาก่อน กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศ และความมุมานะของเขาก็ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรที่มนุษย์จะทำไม่ได้ หากเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองมากพอ
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง
Eric the Eel: A Unique Tale of Hope and Struggle … And Lifeguards on Alert.
Allen Abel: How 'Eric the Eel' had one bad swim and became an enduring Olympic legend.