06 ส.ค. 2567 | 16:30 น.
KEY
POINTS
“เราเคยคิดว่านักกีฬาจากโซเวียตเป็นเครื่องจักรไร้ความรู้สึก”
“แล้วเธอก็ปรากฎตัวขึ้นมา เด็กสาวผู้เปลี่ยนภาพจำทุกอย่าง ทุกคนเห็นรอยยิ้มและร่างเพรียวบางของเธอจนอดรู้สึกเอ็นดูสาวน้อยคนนี้ไปไม่ได้ แม้แต่ฉันยังอยากจะกอดเธอเลย”
‘บาร์ต คอนเนอร์’ (Bart Conner) นักยิมนาสติก ทีมชาติสหรัฐฯ ผู้คว้าเหรียญทอง 2 เหรียญให้กับชาวอเมริกันในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ลอสแองเจลิส ในปี 1984 กล่าว เพราะเธอมักจะเห็นตัวแทนทีมชาติสหภาพโซเวียตมักจะมีหน้าตาบึ้งตึงอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่กับ ‘โอลก้า กอร์บุต’ (Olga Korbut) สาวน้อยวัยย่าง 17 ปี ผู้มีส่วนสูง 150 ซม. มาพร้อมกับรอยยิ้มและดวงตาเปล่งประกาย จนสะกดทุกสายตาเอาไว้จนอยู่หมัด
“ฉันกลัวทุกครั้งที่ต้องทำท่านี้ (Dead Loop) ใช่ ใช่ และใช่! ฉันกลัวมันมาตลอด ถึงฉันจะฝึกจนเชี่ยวชาญแล้วแต่ก็ยังกลัวอยู่ดี หัวใจฉันเหมือนตกไปอยู่ที่ตาตุ่ม ลงไปยังหุบเหวแห่งความกลัว ฉันกลัวมากจริง ๆ กลัวจนปวดหัว เวียนหัว แล้วอยากจะอ้วกออกมาให้รู้แล้วรู้รอด”
ณ สนามการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ปี 1972 สาวน้อยมหัศจรรย์ ‘โอลก้า กอร์บุต’ ตัวแทนทีมชาติสหภาพโซเวียต ผู้มีถิ่นกำเนิดในประเทศบาลารุส เธออายุเพียง 17 ปี ยังไม่ครบปีเต็มเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องเดินทางออกนอกประเทศมาผจญโลกการแข่งขันสุดกว้างใหญ่
โอลก้าฝึกซ้อมอย่างหนัก เพราะรู้ดีว่าบั้นปลายชีวิตของเธอจะต้องอยู่ดีกินดี ไม่ต้องลำบากเหมือนอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากสหภาพโซเวียตมักให้ค่านักกีฬาหรือผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ รัฐบาลรักและเชิดชูในความพยายามของประชาชนกลุ่มนี้ จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นชาวโซเวียตทุ่มเทอย่างหนัก เพื่อให้ได้เหรียญรางวัลมาครอง
เธอวางแผนชีวิตวัยเกษียณมาเป็นอย่างดี แถมยังทำได้เกินความคาดหมายโดยการแสดงท่า Dead Loop ท่วงท่าสุดแปลกที่ไม่มีใครคาดคิดว่า ร่างกายมนุษย์สามารถแสดงท่าทางสุดอันตรายเช่นนี้ได้
เริ่มจากกระโดดเอามือจับบาร์ ก่อนจะส่งตัวเองขึ้นไปยืนบนบาร์สูง ตีลังกากลับหลัง หันกลับมาเกาะบาร์ต่ำ แล้วใช้กระดูกสันหลังเด้งรับคานอีกรอบ เด้งไปมาระหว่างคานสูง-ต่ำราวกับเป็นหนึ่งเดียวกัน ก่อนจะม้วนตัวทิ้งตัวมายืนอยู่บนฟูก ชูมือขึ้นประกาศชัยชนะ ท่ามกลางเสียงฮือฮาของคนทั้งสนาม
หลังจบการแข่งขัน โอลก้าได้รับฉายา ‘แม่นกกระจอกน้อยแห่งมินสก์’ คว้า 3 เหรียญทอง (ทีมหญิง, คานทรงตัว, ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์) กับ 1 เหรียญเงิน (บาร์ต่างระดับ) จากการแข่งขันโอลิมปิกไปครอง และในปี 1976 เธอได้รับรางวัลเหรียญทองอีก 1 เหรียญ เหรียญเงิน 1 เหรียญ จากการแข่งขันโอลิมปิก มอนทรีออล ก่อนที่ท่า Dead Loop ของเธอจะถูกคณะกรรมการตัดสินใจแบนอย่างถาวร เพราะอาจอันตรายต่อนักกีฬาคนอื่นในอนาคตได้
ชื่อเสียงของโอลก้าเป็นที่เลื่องลือทั่วโซเวียต เงินของเธอไม่มีความหมาย ทุกคนพร้อมให้การต้อนรับฮีโร่หญิงรายนี้อย่างอบอุ่นใจ แต่โชคร้ายที่ความฝันของเธอต้องพังทลายลง หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เธอต้องโยกย้ายมาอยู่สหรัฐฯ (โอลก้ากลายเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างสมบูรณ์ในปี 2000) จากนักกีฬาผู้สร้างประวัติศาสตร์ชาติ กลายเป็นเพียงคนธรรมดาที่ไม่มีแม้แต่เงินจ่ายค่าอาหาร ถูกตราหน้าว่าเป็นขโมย ใช้เงินปลอมซื้อของ จนขึ้นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2002 ว่าอดีตนักกีฬาโอลิมปิก ทีมชาติโซเวียต ในวัย 46 ปี มาถึงยุคตกต่ำจน ไม่มีเงินจ่ายค่ามะกอก เครื่องปรุง ชา ชีส และน้ำเชื่อมมูลค่า 19.35 ดอลลาร์ จากซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งใกล้บ้านทาวน์เฮาส์ของเธอ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเธอออกมาปฏิเสธว่าเธอไมได้ตั้งใจหนี แต่ลืมกระเป๋าตังค์ไว้บนรถเลยจะเดินกลับไปเอามาจ่ายก็เท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงชีวิตอันทุกข์ระทมของอดีตนักกีฬายิมนาสติก ทีมชาติโซเวียตอย่างเห็นได้ชัด จากฮีโร่หญิง กลายเป็นคนถูกทิ้ง สหภาพโซเวียตผิดสัญญากับเธอครั้งใหญ่ ทิ้งรอยแผลแห่งความรวดร้าวเอาไว้ในใจของเด็กสาวอย่างน่าสังเวช
โอลก้าเกษียณตัวเองในปี 1977 ขณะอายุ 22 ปี และได้แต่งงานกับ ‘เลโอนิด บอร์ตเควิช’ (Leonid Bortkevich) ศิลปินวงโฟล์กชาวเบลารุส ทั้งคู่มีลูกชายด้วยกัน 1 คน
โอลก้ายอมรับว่าชื่อเสียงที่ได้รับเหมือนกับระเบิดลูกใหญ่ เข้ามาพลิกชีวิตเธอจนไม่เหลือเค้าเดิม ความสำเร็จในวัยเยาว์ทำให้เธอรับมือไม่ถูก เมื่อถึงจุดหนึ่ง โอลก้าเริ่มดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก จนถึงขั้นเสพติด โค้ชที่เคยอยู่เคียงข้างก็ตัดขาดความสัมพันธ์กับเธอ สามีที่รักก็มาหย่าร้างกันไป บ้านที่เคยซื้อด้วยกันก็ถูกขาย โอลก้าไม่เหลืออะไรอีกแล้ว มีเพียงเหรียญรางวัลที่ไม่เคยมอบประโยชน์อะไรแก่เธอ ยกเว้นความภาคภูมิ...
“วันหนึ่งฉันกลายเป็นคนไร้ค่า แต่วันต่อมา ฉันก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน ทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามามันเกินกว่าใจฉันจะรับไหว”
โอลก้าเขียนไว้ในหนังสือ My Story (1992) บอกถึงเส้นทางชีวิตการเป็นยิมนาสติกของเธอ มาจนถึงวันที่ไม่มีใครเหลียวแล
ในปี 1991 เธอเคยเปิดย้อนดูเทปเก่า ๆ ที่แข่งขันในโอลิมปิกปี 1972 และเพิ่งเข้าใจว่าทำไม ชาวอเมริกันถึงหลงรักเธอขนาดนั้น
แต่สุดท้าย เธอก็ไม่เหลือใครอยู่ดี เมื่อความภาคภูมิกินไม่ได้ โอลก้าตัดสินใจขายเหรียญรางวัล ชุดที่เข้าประกวดทุกอย่างทิ้ง เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาต่อลมหายใจ
“เหรียญรางวัลช่วยให้ ‘กอร์บุต’ รอดจากความอดอยาก” หนังสือพิมพ์ Gazeta ของรัสเซียพาดหัวตัวโต การขายเหรียญรางวัลโอลิมปิกในครั้งนั้น ได้รับเงินกลับมาราว 183,300 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.5 ล้านบาท) โดยสิ่งของที่มีราคาแพงที่สุดคือเหรียญทอง ประเภททีม 66,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 ล้านบาท)
นอกจากเหรียญรางวัลแล้ว เธอยังนำอุปกรณ์ทุกอย่างที่ใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกมาร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็นชุดยิมนาสติก, รางวัล BBC Sports Personality of the Year Award ประจำปี 1972, เหรียญรางวัลของสหภาพโซเวียตอีกหลายสิบเหรียญ และหน้าปกนิตยสารกีฬาที่มีลายเซ็นของเธอ
ถึงชีวิตจะตกต่ำเพียงใด แต่ความพยายามไม่เคยฆ่าเธอ โอลก้ายังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เป็นโค้ชสอนยิมนาสติก ทำทุกอย่างให้เรียบง่ายที่สุด เพราะเธอรู้ดีว่า ชีวิตที่ขึ้นสุดลงสุดนั้นน่ากลัวเพียงใด
“รู้มั้ย”
“การได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกนั้นเป็นเรื่องดี แต่การแข่งขันกับตัวเองเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมกว่ามาก เพราะคุณต้องใช้ความกล้าหาญ พยายามอย่างหนัก เพื่อให้เป็นผู้ชนะ
“ฉันไม่สามารถเลือกว่าใครคือคนที่ดีหรือเก่งที่สุด ทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันล้วนยอมเยี่ยม และฉันนับถือพวกเขาอย่างสุดหัวใจ”
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง
Former Soviet Gymnast Olga Korbut Says Goodbye to Her Medals.
30 Years of Hard Falls for Olga Korbut, After the Gold and Glory.
The most INCREDIBLE elements performed by Soviet & Russian gymnasts (VIDEOS)