สุนิสา ลี: นักยิมนาสติกชาวม้ง-อเมริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 

สุนิสา ลี: นักยิมนาสติกชาวม้ง-อเมริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 
“คุณคิดว่า คุณมีโอกาสที่จะไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไหม” ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 Hmong TV ถาม ‘สุนิสา ลี’ (Sunisa Lee) ในวัยย่างเข้า 16 ปี  “อืม...ฉันคิดว่า ฉันไม่แน่ใจจริง ๆ” เธอตอบอย่างลังเล “สิ่งสำคัญคือเธอมีศักยภาพมากพอ ๆ กับทุกคนในทีม” จอห์น ลี  (John Lee) พ่อของสุนิสากล่าวขึ้นมาด้วยรอยยิ้ม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก  สองปีต่อมา สุนิสาในวัย 18 ปีกลายเป็นตัวแทนนักกีฬายิมนาสติกที่อายุน้อยที่สุดในทีมชาติสหรัฐฯ และคว้าเหรียญทองกลับมาในกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าเส้นทางของผู้เข้าแข่งขันไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ล้วนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่สิ่งที่ทำให้การคว้าชัยของหญิงสาวคนนี้น่าประทับใจ คือชีวิตเบื้องหลังและการย้ำเตือนถึงความเท่าเทียมทางด้านเชื้อชาติ   พ่อแม่ผู้เป็นดั่งลมใต้ปีก  สุนิสา ลี เกิดในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2003 ทั้งพ่อและแม่ของเธอเป็นชาวม้ง-อเมริกัน โดย จอห์น ลี คือพ่อบุญธรรมที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่วัย 2 ขวบ แม้ไม่ใช่พ่อผู้ให้กำเนิด แต่ทั้งคู่มีความสนใจคล้ายกันและสนิทสนมกันมาก จนสุนิสาเลือกใช้นามสกุล ‘ลี’ ตามพ่อบุญธรรมคนนี้ กิจกรรมสุดโปรดของสองพ่อลูก (และเป็นกิจกรรมที่ชวนให้คุณแม่กุมขมับ) คือการกระโดดตีลังกาโลดโผนรอบบ้าน จนในที่สุดแม่ของสุนิสา คือ ยีฟ ทอจ (Yeev Thoj) ตัดสินใจส่งเธอไปเรียนยิมนาสติกอย่างจริงจัง โดยที่ไม่ได้คาดคิดเลยว่าเธอจะเติบโตมาเป็นนักกีฬายิมนาสติกทีมชาติสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศเพื่อไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 และแน่นอนว่าที่ผ่านมาครอบครัวของเธอ โดยเฉพาะคุณพ่อจะตามไปเชียร์และให้กำลังใจเธอทุกสนาม  ขณะที่ความหวังกำลังก่อตัว เรื่องราวไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นในชีวิตของสุนิสา ไม่ว่าจะเป็นปี 2019 ที่จอห์น ลี ประสบอุบัติเหตุตกบันได จนกลายเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงอกลงมา และไม่สามารถอยู่ฝึกซ้อมหรือให้กำลังใจเธออย่างใกล้ชิดได้อย่างเก่า “เธอพูดเสมอว่า เธอรู้ดีว่ามันยากสำหรับผมที่จะอยู่ในสถานการณ์ที่ผมต้องเผชิญ” จอห์นกล่าว “และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับเธอ” หลังจากนั้น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การแข่งขันโอลิมปิกต้องเลื่อนออกไป โรงยิมที่เธอใช้ฝึกฝนมานานหลายปีต้องปิดชั่วคราว เธอเริ่มกังวลเรื่องการซ้อม รวมทั้งอาการบาดเจ็บที่ขาและเท้า ซึ่งปกติแล้ว ลุงและป้าของสุนิสาจะคอยชงชาสมุนไพรและนวดให้เธอหายดี แต่ทั้งคู่ต้องเสียชีวิตลงในปี 2020 เพราะโควิด-19 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สุนิสาอยากจะล้มเลิกการเป็นนักยิมนาสติก แต่เมื่อพ่อแม่ถามถึงเหตุผลของการล้มเลิก เธอกลับไม่พบคำตอบที่ดีพอ สุนิสาจึงก้าวต่อไปเพราะเธอคิดว่า เธอเป็นหนี้ตัวเองและการฝึกฝนที่ผ่านมานานหลายปี แต่เป้าหมายของการไปโอลิมปิกครั้งนี้ กลับเป็นเพียงการคว้า ‘เหรียญเงิน’ กลับมา “ในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ ฉันไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถแข่งขันเพื่อชิงเหรียญทองได้ ฉันมาเพื่อชิงเหรียญเงิน นี่มันบ้าไปแล้ว” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันกับผู้สื่อข่าว หลังจบการแข่งขันด้วยคะแนน 57.433 นำหน้าผู้ชนะเลิศเหรียญเงิน คือ รีเบก้า อันเดรด จากบราซิลที่มีคะแนน 57.298  สุนิสา ลี: นักยิมนาสติกชาวม้ง-อเมริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020  ดวงดาวที่ส่องแสงแห่งความเท่าเทียม แม้เสียงเชียร์จากแดนไกลจะไปไม่ถึงโตเกียว เพราะครอบครัวของเธอไม่สามารถเดินทางไปด้วยได้จากข้อจำกัดเรื่องโควิด-19 แต่ความรู้สึกตื้นตันใจได้ส่งข้ามทวีปไปยังครอบครัวของสุนิสาในสหรัฐอเมริกา “ก่อนพิธีมอบเหรียญ ฉันเฟซไทม์และพูดคุยกับพวกเขา” เธอกล่าว “พ่อแม่ของฉันเป็นคนที่น่าทึ่งที่สุดในชีวิต และฉันรักพวกเขามาก”  ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพราะสุนิสาเป็นนักยิมนาสติกชาวม้ง-อเมริกันคนแรกที่ลงแข่งขันในโอลิมปิกและคว้าเหรียญทองในฐานะทีมชาติสหรัฐอเมริกา “ทุกคนรู้จักสุนิสา” กัว หยาง (Koua Yang) ผู้อำนวยการด้านกีฬาของโรงเรียนมัธยมฯ โคโมในเซนต์พอลกล่าว “เราจะเฉลิมฉลองในฐานะชุมชน ในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะหนึ่งในกลุ่มของเราเป็นดาวที่ส่องแสงในระดับสูงสุด (ในการแข่งขันยิมนาสติกโอลิมปิกปีนี้) “เป็นเรื่องพิเศษที่จะได้เห็นการทุ่มเทเพื่อให้ลูกได้เล่นกีฬา โดยเฉพาะกับหญิงสาว ฉันเคยเป็นโค้ชให้นักกีฬาหญิงม้งมาหลายปีแล้ว และฉันต้องพยายามขอพ่อแม่ให้ยอมปล่อยลูกให้เล่นกีฬา การที่นักกีฬาอย่างสุนิสาและครอบครัวของเธอสามารถหลุดพ้นจากสิ่งนั้นได้เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะต้องใช้แรงสนับสนุนอย่างมาก” หยางเล่าถึงยิมนาสติกที่ต้องอาศัยต้นทุนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทอื่น (แม้ว่าจอห์น ลีจะสร้างคานทรงตัวชั่วคราวให้ลูกสาวเมื่อตอนที่เธอยังเด็ก) ยิ่งช่วงแข่งขันที่ต้องใช้จ่ายค่าเดินทาง เครื่องแบบ และค่าสมาชิกสโมสร ซึ่งมักมีมูลค่าหลายพันเหรียญต่อปี สำหรับผู้ลี้ภัยรุ่นแรกและลูก ๆ ของพวกเขานับว่ากีฬาประเภทนี้มักจะอยู่ไกลเกินเอื้อม  น้ำตาของกองเชียร์จากแดนไกลจึงไม่ได้มาจากความยินดีเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากความเข้าใจถึงการฝ่าฟันและทุ่มเทของพ่อแม่ผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกซ้อมด้วยเช่นกัน สุนิสา ลี: นักยิมนาสติกชาวม้ง-อเมริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020  Gaomong Xiong นักเรียนมัธยมฯ ต้นและอยู่ในทีมยิมนาสติกของโรงเรียนกล่าวว่า “เธอเป็นม้งเหมือนฉัน เธอมาจากเซนต์พอลเหมือนฉัน ดังนั้น ฉันคิดว่าสิ่งนี้ทำให้เราและคนรุ่นต่อ ๆ ไปมีความหวัง” หากย้อนกลับไปในช่วงท้ายของสงครามเวียดนาม ชาวม้งได้รับคัดเลือกเข้าสู่สงครามลับ ซึ่งเป็นสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอในประเทศลาว ชาวม้งต่อสู้และสูญเสียประชากร 30,000-40,000 คน หลายคนหนีเข้าป่าและไปค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย จนในที่สุด ช่วงประมาณปี 1970-1980 ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจมาตั้งรกรากและสร้างชุมชนในมินนิโซตาเช่นเดียวกับพ่อแม่ของสุนิสา “เธอทำให้พวกเราทุกคนภูมิใจ ไม่เพียงทำให้ชาวม้งภูมิใจเท่านั้น แต่ฉันคิดว่าสหรัฐอเมริกาควรภาคภูมิใจในความสำเร็จของเธอด้วยเช่นกัน” ลี เปา ซง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาม้งแห่งมหาวิทยาลัยคอนคอร์เดียในเซนต์พอลกล่าว “เมื่อ 40-45 ปีที่แล้ว ผู้คนจำนวนมากที่มาตั้งถิ่นฐานไม่เชื่อว่าม้งจะสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ในอเมริกา โดยพวกเขามาจากป่าในลาวสู่สหรัฐฯ และถ้าคุณเห็นชาวม้งในรุ่นของสุนิสา พวกเขาเกินความคาดหมายของเรามาก” นอกจากความภาคภูมิใจแล้ว หยางยังกล่าวกับ CNN ด้วยว่า ท่ามกลางการเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียซึ่งถูกทำร้ายด้วยวาจาและร่างกาย โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 การคว้าเหรียญทองในฐานะ ‘ตัวแทน’ นักกีฬาของสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจให้พวกเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นการย้ำเตือนต่อผู้คนว่า ‘พวกเขาก็เป็นชาวอเมริกัน’ เช่นเดียวกัน   ที่มา: https://www.reuters.com/lifestyle/sports/olympics-gymnastics-hopes-family-community-rest-sunisa-lee-2021-07-26/ https://heavy.com/sports/olympics/sunisa-lee-family/ https://www.espn.com/olympics/story/_/id/31849287/us-gymnastics-star-sunisa-lee-long-winding-journey-olympics-2021 https://people.com/sports/tokyo-olympics-sunisa-lee-didnt-think-she-could-win-gold-gymnastics-all-around/ https://time.com/6085002/sunisa-lee-hmong-american-tokyo-olympics/ https://edition.cnn.com/2021/07/29/sport/suni-lee-gymnast-hmong-community/index.html   ที่มาภาพ: Getty Image / Jamie Squire  Getty Image / Laurence Griffiths