09 พ.ค. 2568 | 03:00 น.
“ขอให้สันติสุขจงมีแก่ท่านทั้งหลาย”
ภายหลังจากควันสีขาวลอยขโมงขึ้นมาจากโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ในการประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่รอบที่สาม และเสียงประกาศจากพระคาร์ดินัลว่า “Habemus Papam.” ณ ระเบียงกลางของด้านหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter’s Basilica) ในกรุงวาติกัน ก็ปรากฎกายผู้นำศรัทธาพระองค์ใหม่แห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกโดยใช้พระนามว่า ‘สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14’ (Pope Leo XIV)
แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ก่อนหน้จะไล่เรียงมาด้วยพระคาร์ดินัลจากประเทศที่หลากหลาย — โปแลนด์ เยอรมนี และอาร์เจนติน่า — แต่แทบไม่มีใครคิดเลยว่าพระสันตะปาปาองค์ถัดไปจะมาจากประเทศ ‘สหรัฐอเมริกา’
อาจเป็นเพราะการที่สหรัฐอเมริกาเอง ก็ส่งออกทั้งอิทธิพลทั้งความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรมจนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกอยู่แล้ว การที่จะมีผู้นำทางศาสนามาจากประเทศมหาอำนาจเช่นนี้อีก ย่อมเป็นเรื่องสำคัญที่ศาสนจักรต้องคำนึงถึงอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะในมิติด้านการกระจายอำนาจและอิทธิพล
ทว่าการประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาในครั้งนี้ก็ได้พิสูจน์ว่ามันก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 หรืออดีตพระคาร์ดินัล ‘โรเบิร์ต ฟรานซิส พรีโวสต์’ (Robert Francis Prevost) นับว่าเป็นพระสันตะปาปาอเมริกันพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ แต่เป็นพระองค์ที่สองหากนับรวมในทวีปอเมริกา นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนครรัฐวาติกัน รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาเองที่กำลังอยู่ในยุคเดียวกับที่ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) กำลังสร้างความปั่นป่วนไปทั่วทั้งผืนโลก
แต่แม้ว่าจะมีรกรากและบ้านเกิดในรัฐชิคาโกและถูกจดจำในฐานะโป๊ปอเมริกันพระองค์แรก แต่ชีวิตของเขาที่ได้ไปเผยแพร่ศาสนาในประเทศเปรูตั้งแต่ยังเป็นมิชชันนารีไปจนถึงอาร์ชบิชอป และได้สัญชาติมาเมื่อ 10 ปีก่อนเพราะหลงใหลและผูกพันกับเปรูเป็นอย่างมาก จนกระทั่งพระสันตะปาปาฟรังซิสได้แต่งตั้งพระองค์ให้เป็นพระคาร์ดินัลและดำรงตำแหน่งหัวหน้าสมณกระทรวงเพื่อบิชอป (Dicastery for Bishops) ในวาติกัน ก่อนจะถูกเลือกให้รับไม้ต่อแห่งศรัทธาในฐานะพระสันตะปาปาลีโอที่ 14
ในวันที่ 14 กันยายน 1955 ราวทศวรรษหลังควันปืนของสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง ‘โรเบิร์ต พรีโวสต์’ (Robert Prevost) เกิดบ้านในที่ตั้งรกรากอยู่ที่ชิคาโก ในสหรัฐอเมริกาโดยพ่อที่มีเชื้อสายฝรั่งเศส-อิตาเลียนและยังเป็นทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนแม่ก็มีเชื้อสายสเปน
ศาสนาเข้ามาและอยู่ในชีวิตเขาตั้งแต่ยังเด็ก พรีโวสต์เข้าศึกษาที่สามเณราลัยขนาดเล็กของคณะนักบวชออกัสติน (The Minor Seminary of the Augustinian Fathers) ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา (Villanova University) รัฐเพนซิลเวเนียในปี 1977 และได้ตัดสินใจอุทิศตนเป็นบาทหลวงในเวลาต่อมา
เมื่ออยู่ในรั้วของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พรีโวสต์ก็ได้เข้าร่วม คณะนักบวชนักบุญออกัสติน (Order of St. Augustine) และได้ไปศึกษาต่อด้านเทววิทยาที่ Catholic Theological Union ในชิคาโก
ในปีถัดมา เขาได้รับศีลบวชเป็นบาทหลวงที่กรุงโรมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1982 ณ วิทยาลัยออกัสตินแห่งนักบุญโมนิกา หลังจากนั้นไม่นาน พรีโวสต์ได้รับปริญญาใบอนุญาตด้านกฎหมายศาสนจักร และเริ่มต้นเตรียมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกว่าด้วยบทบาทของอธิการในคณะออกัสติน
ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เขาได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในอีกซีกโลก—ที่เปรู ประเทศซึ่งเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะกลายเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งในชีวิตนักบวชของเขาเอง
เปรูอาจเป็นเพียงชื่อบนแผนที่สำหรับนักบวชหนุ่มจากชิคาโกในตอนนั้น แต่เมื่อพรีโวสต์เดินทางไปทำภารกิจที่เมืองตรูฮีโย (Trujillo) ทางตอนเหนือของเปรู ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 เขากลับพบว่าแผ่นดินที่แห้งแล้งและผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายนี้ มีอะไรบางอย่างที่สะกิดลึกลงไปในจิตวิญญาณของเขา ภารกิจที่ควรจะชั่วคราว กลับกลายเป็นบทหนึ่งที่หยั่งรากในชีวิต ทั้งในความหมายของความเชื่อ ความเป็นมนุษย์ และการมีอยู่เพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง
ในช่วงเวลานั้น พรีโวสต์รับบทบาทสำคัญหลายอย่างควบคู่กัน ทั้งการเป็นอธิการของชุมชน ผู้อำนวยการฝ่ายอบรม และอาจารย์สอนกฎหมายศาสนจักร เทววิทยาศีลธรรม และศาสนบรรพชน เขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นตุลาการใหญ่ของอัครสังฆมณฑลตรูฮีโย พร้อมกับทำหน้าที่อภิบาลวัดสองแห่งในเขตชุมชนยากไร้ บทบาทเหล่านี้ไม่เพียงทำให้เขาเข้าใจชีวิตของผู้คน หากยังหล่อหลอมให้เขาเป็นนักบวชที่เดินอย่างแนบแน่นไปกับประชาชนอย่างกว่าที่เคย
เมื่อกลับสู่ชิคาโกในปี 1999 เขาได้รับเลือกให้เป็นอธิการเจ้าคณะของคณะออกัสติน (Provincial Prior of the Augustinian Province) ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิการใหญ่ระดับโลกของคณะในอีกไม่กี่ปีต่อมา การทำหน้าที่ในระดับนานาชาติทำให้เขาเป็นที่รู้จักในหมู่บรรดานักบวชจากหลากหลายประเทศ และเมื่อหมดวาระ เขาก็กลับมาทำงานอภิบาลในบ้านเกิดได้ไม่นาน ก่อนที่พระสันตะปาปาฟรังซิสจะทรงเรียกตัวเขาให้กลับสู่เปรูอีกครั้ง พร้อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสังฆมณฑลชิคลายโอ (Apostolic Administrator of Chiclayo) และยกเขาขึ้นเป็นมุขนายกแห่งซูฟาร์ (Titular Bishop of Sufar)
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พรีโวสต์ก็ปักหลักรับใช้ชาวเปรูอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฐานะผู้บริหารสังฆมณฑล และภายหลังได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้เป็นบิชอปแห่งชิคลายโอ (Bishop of Chiclayo) ความผูกพันลึกซึ้งกับประเทศนี้นำไปสู่การที่เขได้รับสัญชาติเปรูอย่างเป็นทางการในปี 2015 จนกระทั่งในปี 2023 พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสมณกระทรวงเพื่อบิชอป ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งที่มีหน้าที่เสนอชื่อบิชอปทั่วโลก และในปีเดียวกันนั้นเอง เขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัล ก่อนที่ในปีนี้เขาจะก้าวขึ้นสู่ระเบียงหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรในนาม ‘สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14’ ต่อจาก ‘สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13’ จากช่วงปี 1878-1903
แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่ผู้คนมากมายย่อมจับตามองจากพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่นี้ย่อมหนีไม่พ้นในประเด็นของ ‘จุดยืน’ ของพระองค์ที่มีต่อปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน เพราะนอกจากจะยืนอยู่ในจุดที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจแล้ว ในสถานการณ์ที่การเมืองสหรัฐอเมริกากำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก รวมไปถึงปัญหาสังคมในหลาย ๆ ประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน ก้าวต่อไปของสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 ยิ่งสำคัญกว่าช่วงเวลาไหน ๆ
แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจมองว่าพระองค์มีจุดยืนที่ใกล้เคียงกับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสผู้ล่วงลับ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีจุดยืนในบางประเด็นที่แตกต่างออกไป ในส่วนที่เหมือนกันนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 แสดงความห่วงใยต่อผู้อพยพ และยึดหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นหัวใจสำคัญ ไปจนถึงการที่เขามุ่งมั่นสานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโป๊ปฟรานซิส
ทว่าในประเด็นของความหลากหลายทางเพศในสังคมนั้น จากพระสันตะปาปาฟรังซิสที่สนับสนุนการรวมกลุ่มและสิทธิในแง่ต่าง ๆ LGBTQ+ แต่สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 ดูจะมาในทางสายกลาง กล่าวคือพระองค์เคยเสนอว่าควรให้แต่ละสภาบิชอปทั่วโลก (Episcopal Conferences) ตัดสินใจเรื่องการอวยพรคู่รักเพศเดียวกันตามบริบทวัฒนธรรม
ในส่วนของความเท่าเทียมทางเพศในศาสนา พระองค์แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนให้สตรีได้รับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวง โดยให้เหตุผลว่า วิธีดังกล่าวอาจไม่ใช่คำตอบ และอาจสร้างปัญหาใหม่แทน อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 14 ก็ยังยืนยันถึงบทบาทสำคัญของสตรีในศาสนจักร และกล่าวชื่นชมการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในระดับผู้นำมากขึ้นในยุคของโป๊ปฟรานซิส ซึ่งเป็นแนวทางที่เขาพร้อมจะสานต่อ
ท่ามกลางโลกที่ผันผวนและไม่แน่นอน ไม่ว่าจะในด้านของการเมืองและความขัดแย้ง หรือปัญหาสังคมที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน หนทางข้างหน้าของสมเด็จพระสันตะปาปาอาจไม่ได้มีเพียงแค่รักษาเสถียรภาพของศรัทธาหรือประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายพันปี แต่ยังรวมไปถึงการขยับตามโลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกวินาทีที่เคลื่อนผ่านไป
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง
Associated Press. (n.d.). Cardinal Robert Prevost. AP News. Retrieved May 9, 2025
The Telegraph. (2025, May 8). Robert Prevost elected new Pope. The Telegraph. Retrieved May 9, 2025
CBS News. (n.d.). Cardinal Robert Prevost of Chicago becomes first American pope. CBS Chicago. Retrieved May 9, 2025
The New York Times. (2025, May 2). Pope candidate Cardinal Robert Francis Prevost emerges as front-runner. The New York Times. Retrieved May 9, 2025
Foreign Policy. (2025, May 7). Conclave elects first American pope. Foreign Policy. Retrieved May 9, 2025
Time. (n.d.). Pope Leo XIV and his stance on LGBTQ rights, women, and migrants. Time. Retrieved May 9, 2025