ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

เปิดเบื้องหลังการเลือกโป๊ป (Pope) จากเก้าอี้มีรูถึงควันสีขาว-ดำ พิธีเก่าแก่ที่ต้องปรับตัวรับโลกใหม่และเข้าถึงใจคนรุ่นใหม่

KEY

POINTS

  • พิธีเลือกพระสันตะปาปา หรือคอนเคลฟ (Conclave) คือการรวมพระคาร์ดินัลจากทุกมุมโลกมาร่วมตัดสินใจอย่างลับ ๆ ในวาติกัน โดยใช้สัญลักษณ์อย่างควันสีขาว-ดำบอกผล
  • ในอดีตเต็มไปด้วยเรื่องแปลก ๆ เช่น เก้าอี้เจาะรู และนกที่ถูกนำมาตีความเป็นลาง
  • ปัจจุบันคอนเคลฟคือกระบวนการที่ถือเป็นความลับสูงสุด ต่างจากอดีตที่มักมีข้อความรั่วไหลออกมาอยู่เสมอ 

พิธีเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ (คอนเคลฟ - Conclave) เริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (7 พ.ค. 2025) พิธีศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจ เพราะนี่อาจเป็นหนึ่งในกระบวนการลงคะแนนที่ ‘ลับ’ ที่สุดในโลก และเป็นการรวมตัวของพระคาร์ดินัลคาทอลิก 135 รูป จากทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยคณะพระคาร์ดินัลผู้เลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะต้องมีชันษาไม่เกิน 80 พรรษา ทั้งหมดจะถูกกักตัวในโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) สถานที่พำนักทางการของพระสันตะปาปาในนครวาติกัน พร้อมทั้งสาบานตนบนพระวรสาร (gospels) ว่าจะต้องเก็บทุกอย่างเป็นความลับตลอดชีวิต 

ไม่ใช่แค่คณะพระคาร์ดินัลเท่านั้นที่ต้องรักษาความลับ แม้แต่พ่อครัว พนักงานขับรถ ไปจนถึงแพทย์ที่คอยทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของพระคาร์ดินัล ก็ต้องร่วมสาบานว่าจะไม่แพร่งพรายสิ่งที่พบเห็นหรือได้ยิน ในห้องแห่งความลับนี้ออกไปแม้แต่ถ้อยคำเดียว ลับขนาดที่ว่าภายในโบสถ์น้อยซิสทีนจะถูกตรวจหาการดักฟัง ติดตั้งเครื่องรบกวนสัญญาณ และเคลือบหน้าต่างป้องกันการแสงเลเซอร์ส่องเข้ามา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดจะถูกห้ามนำเข้าไปในโบสถ์ และมีการสแกนหาอุปกรณ์แอบแฝงอย่างละเอียด เรียกได้ว่าไม่มีทางจะล่วงรู้ผลของการเลือกตั้งได้ก่อนเลย

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

หากผู้ใดละเมิดการรักษาความลับจะถูกขับออกจากตำแหน่งและอาจถูกลงโทษร้ายแรงทางศาสนา โดยการถูกตัดขาดจากศาสนจักร (Excommunication)

นี่คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยแห่งความปั่นป่วน เปิดหน้าสมุดบันทึกที่ห่างหายจากการจดจารมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 12 ปี หลังจากการสิ้นพระชมน์ของ ‘โป๊ปฟรานซิส’ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2025 ทำให้ตำแหน่งประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิกว่างเว้นลง (Sede Vacante)

แต่หากย้อนกลับไปยังอดีต กระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ไม่ได้ซับซ้อนหรือเต็มไปด้วยความลับเช่นนี้ บางช่วงมีเหตุการณ์ชวนแคลงใจ แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี 

และนี่คือเรื่องราวพิธีเลือกโป๊ปที่ว่ากันว่า ‘แปลก’ จากการสืบค้นของ 2 นักประวัติศาสตร์ ‘วาเนสซา คอร์โคแรน’ (Vanessa Corcoran) จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และ ‘ไมลส์ แพตเทนเดน’ (Miles Pattenden) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์

ก่อนจะมาเป็นพิธีแห่งความลับ

ปี ค.ศ. 236: สมเด็จพระสันตะปาปาฟาเบียน (Fabian) การเลือกโป๊ปที่เรียบง่ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ฟาเบียนเป็นเพียงนักบวชที่มาร่วมประชุม แต่จู่ ๆ นกพิราบซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระจิต* (Holy Spirit) บินมาเกาะบนศีรษะของเขา บรรดาพระคาร์ดินัลตีความว่านี่คือสัญญาณจากพระเจ้า และลงมติเลือกเขาเป็นโป๊ปอย่างเป็นเอกฉันท์

*พระสันตะปาปาคือผู้สืบทอดตำแหน่งจากนักบุญเปโตร อัครสาวกคนแรก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระเยซูเจ้าให้เป็นศิลาที่จะสร้างศาสนจักร (มัทธิว 16:18) จึงเชื่อว่าพระจิตเจ้าทรงนำทางการเลือกตั้งพระสันตะปาปา

ปี ค.ศ. 1241: สมเด็จพระสันตะปาปาเซเลสไตน์ที่ 4 (Celestine IV) คณะพระคาร์ดินัลถูกขังอยู่ในพระราชวังเซพทิโซเดียม (Septizodium) ณ กรุงโรม ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุและสุขอนามัยย่ำแย่ จนพระคาร์ดินัลหลายองค์เสียชีวิตกลางที่ประชุม ชาวโรมถึงขั้นขู่ว่าจะขุดร่างสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 (Gregory IX) ขึ้นมากดดัน เมื่อไม่มีทางเลือก จึงลงมติให้พระที่อายุมากและสุขภาพย่ำแย่คือเซเลสไตน์ที่ 4 มารับตำแหน่ง แต่สุดท้ายก็สิ้นพระชนม์ใน 17 วันให้หลัง

ปี ค.ศ. 1268–1271: สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 10 (Gregory X) การเลือกสมเด็จประสันตะปาปาที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (เกือบ 3 ปี) ณ เมืองวีแตร์โบ (Viterbo) เพราะความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลกระทบรุนแรงเสียจนจนชาวบ้านต้องล็อกประตู ตัดข้าว ตัดน้ำ และรื้อหลังคาเพื่อกดดันพระคาร์ดินัล สุดท้ายเลือก ‘ทีโอบัลโด วิสคอนติ’ (Teobaldo Visconti) ผู้ไม่ใช่พระคาร์ดินัล และเขายังเป็นผู้วางระบบคอนเคลฟที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ปี ค.ศ. 1378: สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์เบินที่ 6 (Urban VI) และ สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 (Clement VII) เมื่อโป๊ปเกรกอรีที่ 11 (Gregory XI) สิ้นพระชนม์ ชาวโรมล้อมสถานที่เลือกตั้งพระสันตะปาปา และขู่ว่าถ้าไม่เลือกประมุขที่เป็นชาวโรม พวกเขาจะปลิดชีพโป๊ปองค์ใหม่ คณะพระคาร์ดินัลจึงเลือก ‘บาร์โตโลเมโอ ปรินญาโน’ (Bartolomeo Prignano) จากเนเปิลส์เป็นเออร์เบินที่ 6 แต่เขาปกครองอย่างแข็งกร้าวจนทำให้บางส่วนตั้งคอนเคลฟใหม่ ผลปรากฏว่าคลีเมนต์ที่ 7 ได้รับเลือก ก่อนพระองค์จะกลับไปตั้งศาลาวาติกันที่อาวีญง (Avignon) กลายเป็นต้นเหตุแห่งความแตกแยก (schism) ยาวนานถึง 40 ปี

ปี ค.ศ. 1492: สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 (Alexander VI) คอนเคลฟแรกในโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) ‘โรดรีโก บอร์เจีย’ (Rodrigo Borgia) ใช้อำนาจเงินและการเมืองซื้อเสียงจนขึ้นครองตำแหน่ง จนถูกนำไปสร้างนิยายและซีรีส์มากมาย

ปี ค.ศ. 1503: สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียโน เดลลา โรเวเร (Giuliano della Rovere) หรือ จูเลียสที่ 2 (Julius II) หลังการสิ้นพระชนม์ของปีอุสที่ 3 (Pius III) ที่ครองตำแหน่งเพียง 26 วัน คอนเคลฟใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงเลือก ‘จูเลียโน เดลลา โรเวเร’ ผู้เป็นที่รู้จักในนาม ‘โป๊ปนักรบ’ (warrior pope) และเป็นผู้ก่อตั้งกองทหารสวิสการ์ด (Swiss Guard)

ปี ค.ศ. 1605: สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 5 (Paul V) คอนเคลฟนี้มีเหตุการณ์พระคาร์ดินัลทะเลาะวิวาทถึงขั้นตบตีและฉีกชุดนักบวช (rochet) กลางห้องประชุม การเมืองในคอนเคลฟเดือดพล่านจนแทบควบคุมไม่อยู่

ปี ค.ศ. 1655: สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 (Alexander VII) หนึ่งในพระคาร์ดินัลหนุ่มเกิดรู้สึกเบื่อการประชุมยืดเยื้อ เลยให้คนแต่งเป็นพระจิตศักดิ์สิทธิ์ (Holy Ghost) แอบไปหลอกในช่วงตกดึก จนพระคาร์ดินัลอาวุโสตกใจจนเสียชีวิต

ปี ค.ศ. 1846: สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุสที่ 9 (Pius IX) พระสันตะปาปาที่ครองตำแหน่งนานที่สุดหลังนักบุญเปโตร (St Peter) คือปีอุสที่ 9 ครองตำแหน่ง 31 ปี เป็นยุคที่เต็มไปด้วยการปฏิรูปและความขัดแย้ง

ปี ค.ศ. 1978: สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 1 (John Paul I) และ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (John Paul II) ปีที่มีคอนเคลฟ 2 ครั้ง หลังจอห์น ปอลที่ 1 สิ้นพระชนม์ใน 33 วัน คอนเคลฟครั้งที่สองเลือก ‘คาโรล โวจติวา’ (Karol Wojtyla) ชาวโปแลนด์เป็นจอห์น ปอลที่ 2 โป๊ปนอกอิตาลีคนแรกในรอบ 455 ปี และเป็นหนึ่งในโป๊ปที่ทรงอิทธิพลและเป็นที่รักที่สุดพระองค์หนึ่ง

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

เก้าอี้หินและควันสีขาว-ดำ

หนึ่งในพิธีที่แปลกคือ ‘การทดสอบเก้าอี้’ (Sedia Stercoraria) ที่มีบันทึกตั้งแต่ ศตวรรษที่ 9–10 หลังการเลือกตั้ง พระสันตะปาปาจะถูกพาไปนั่งบนเก้าอี้หินที่มีรูตรงกลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพศจากด้านล่าง ป้องกันไม่ให้ซ้ำรอย ‘พระสันตะปาปาหญิง’ (Pope Joan) ตามตำนาน อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ต่างลงความเห็นว่าไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อถือได้ว่าเคยมีพระสันตะปาปาหญิงมาก่อน และเก้าอี้นี้อาจเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความถ่อมตนเท่านั้น

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

อีกหนึ่งพิธีกรรมที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันคือการใช้ควันสีดำและสีขาวจากปล่องไฟของโบสถ์น้อยซิสทีน เพื่อแจ้งผลการเลือกตั้งแก่สาธารณชน ควันสีดำหมายถึงการเลือกตั้งยังไม่สำเร็จ ส่วนควันสีขาวหมายถึงผลการเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่สิ้นสุดลงแล้ว จากนั้นจะประกาศต่อสาธารณชนว่า Habemus Papam! (อ่านว่า ฮาเบมุส ปาปัม) หมายถึงเรามีสมเด็จพระสันตะปาปาแล้ว!

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

การปรับตัวของศาสนาในยุคปัจจุบัน

ในยุคที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับตนเองและความเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ศาสนาต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาและฟื้นฟูความศรัทธา จากข้อมูลของ Pew Research Center ที่เผยแพร่ในปี 2023 พบว่าในสหรัฐอเมริกา สัดส่วนผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ลดลงจาก 78% ในปี 2007 เหลือ 63% ในปี 2023 ขณะที่ผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มจาก 16% เป็น 29% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ศาสนาต่าง ๆ จึงต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เช่น การใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแพร่คำสอน การเปิดรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และเน้นย้ำถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบัน

ทุกวันนี้ ศาสนจักรคาทอลิก รวมถึงศาสนาอื่น ๆ พยายามตอบโจทย์นี้ด้วยการเปิดพื้นที่มากขึ้น เช่น การยอมรับความหลากหลายทางเพศ การพูดถึงความยากจน ความยุติธรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อม (Encyclical ‘Laudato Si’ ปี 2015) และการส่งเสริมความเมตตาต่อผู้อพยพ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นตัวอย่างของผู้นำศาสนาที่เน้นความอ่อนน้อมถ่อมตนและการเชื่อมโยงกับผู้คนทุกระดับ โดยไม่ถูกขังอยู่แค่ในกำแพงวาติกัน

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าผลการเลือกพระสันตะปาปาจะเป็นเช่นไร ศาสนาในยุคสมัยใหม่ก็ไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องหาทางพูดภาษาของคนรุ่นใหม่ เข้าใจความเจ็บปวด ความโดดเดี่ยว และความหวังที่ซ่อนอยู่ในใจผู้คน

ควันสีขาว-ดำ และเก้าอี้มีรู: เบื้องหลังการเลือกโป๊ปในอดีต ‘ความลับ’ ที่หลายคนอาจไม่รู้

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Getty Images

 

อ้างอิง

Conclaves through time - the long and short 

Fist fights, ghostly pranks and schism: a brief history of conclaves past 

Jostling for the papacy: A look back on the conclave’s history