ยัสเซอร์ อาราฟัต: อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คู่อริกลุ่มฮามาส นักสู้สันติวิธีเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์

ยัสเซอร์ อาราฟัต: อดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่ คู่อริกลุ่มฮามาส นักสู้สันติวิธีเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์

‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ อดีตผู้นำปาเลสไตน์ที่ยิ่งใหญ่ และผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) วีรบุรุษที่(เคย)ใช้ความรุนแรง แต่เปลี่ยนท่าทีเลือกสันติวิธีเพื่อเข้าหาอิสราเอล

  • ‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ ผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของปาเลสไตน์
  • ชายที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ หลังจากเปลี่ยนท่าทีจากใช้ความรุนแรงเป็นสันติวิธี แก้ปัญหาบาดหมางกับอิสราเอล
  • จนกลุ่มฮามาส ตั้งตนเพื่อต่อต้านหลักปฏิบัติของ ‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ หลังที่เขาเสียชีวิตมีการใช้ความรุนแรงอีกครั้งในข้อพิพาทดินแดน

ก่อนจะเท้าความไปถึงตัวตนของ ‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’ (Yasser Arafat) หรือชื่อเรียกเต็มก็คือ ‘โมฮัมหมัด อับดุล ราห์มาน อัลดุล ราอูฟ อาราฟัต อัล กุดวา’ นักการเมืองปาเลสไตน์ และผู้นำขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่คนทั้งโลกรู้จักกันอย่างดี ต้องเล่าก่อนว่าการเมืองใน ‘ปาเลสไตน์’ ก็เปิดศึกชิงอำนาจกันเองเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในฝั่งของอาราฟัต และ ‘ฮามาส’ (Hamas)

‘ฮามาส’ ก็คือกลุ่มชาวมุสลิมปาเลสไตน์ติดอาวุธ ที่ได้ก่อตั้งตนเองขึ้นในปี 1987 ซึ่งแยกตัวออกมาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในประเทศอียิปต์ และกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวก็ต่อต้านแนวทาง และการตัดสินใจของอาราฟัตมาตลอดนับตั้งแต่ที่มี ‘ข้อตกลงออสโล’ ซึ่งแสดงออกชัดเจนว่าไม่พอใจ และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดของอาราฟัต

แต่กว่าที่อาราฟัตได้เลือกใช้วิธีประนีประนอม เจรจาอย่างสันติวิธีจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1994 ร่วมกับนายกรัฐมนตรียิตส์ฮัก ราบิน ของอิสราเอล และรัฐมนตรีการต่างประเทศ ชิมอน เปเรส ของอิสราเอล เขาก็คือเด็กชายคนหนึ่งที่มีความเกลียดชังอิสราเอล และพร้อมถือปืนเพื่อยืนหยัดความเป็นธรรมให้แก่ปาเลสไตน์สู่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์อย่างเคย

 

เกี่ยวดองทางสายเลือด ปาเลสไตน์-อียิปต์

ยัสเซอร์ อาราฟัต เกิดวันที่ 24 สิงหาคม 1929 ในกรุงไคโรของอียิปต์ พ่อของเขาเป็นพ่อค้าสิ่งทอชาวปาเลสไตน์ซึ่งมีเชื้อสายอียิปต์บางส่วน ส่วนแม่ของเขามาจากครอบครัวชาวปาเลสไตน์เก่าที่เคยอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเลมของอิสราเอล

เขาเป็นหนึ่งในลูกทั้ง 7 คนของพ่อค้าผู้มั่งคั่ง ขณะเดียวกันครอบครัวของเขายังเกี่ยวโยงกับตระกูล al-Ḥusaynī ซึ่งมีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์ ซึ่งก็คือ Amīn al-Ḥusaynī อดีตแกรนด์มุฟตีแห่งเยรูซาเลม บุคคลสำคัญที่เคยต่อต้านขบวนการไซออนิสต์ในช่วงอาณัติของอังกฤษ

ตอนที่อาราฟัตอายุได้เพียง 5 ขวบ เขาถูกส่งตัวไปอาศัยอยู่กับลุงในกรุงเยรูซาเลม (ตอนนั้นเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ใต้อาณัติของอังกฤษ) เรื่องราวชีวิตของอาราฟัต ถือว่ามีการเปิดเผยเพียงน้อยนิด เขาบอกแต่เพียงว่าช่วงวัยเด็กและความทรงจำแรก ๆ ที่เขาจำได้ก็คือ การที่ทหารอังกฤษบุกเข้าไปในบ้านลุงของเขาหลังเที่ยงคืน แล้วทุบตีสมาชิกในครอบครัว ทั้งยังทำลายข้าวของเฟอร์นิเจอร์ด้วย

ชีวิตวัยรุ่นเลือดร้อน

มีข้อมูลที่บอกว่า ก่อนที่อาราฟัตจะอายุได้ 17 ปี เขาได้ลักลอบขนอาวุธไปยังปาเลสไตน์เพื่อใช้ต่อสู้กับอังกฤษและชาวยิว ซึ่งตอนนั้นตัวเขายังอยู่ที่กรุงไคโร

ในปี 1949 อาราฟัตได้เข้าศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัย King Fuʾād ในกรุงไคโร (ปัจจุบันก็คือมหาวิทยาลัยไคโร) ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่เขาได้เป็นอาสาสมัครต่อสู้ในช่วงสงครามอาหรับ - อิสราเอลครั้งแรกตามคำกล่าวอ้างของเขาเองในช่วงระหว่างปี 1948 - 1949

ซึ่งตอนนั้นเขาอายุได้ประมาณ 19 ปี อาราฟัตได้ออกจากการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพื่อมาต่อสู้กับชาวยิวในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับบ้าน 

นอกจากนี้ เขายังเคยต่อสู้กับอังกฤษที่คลองสุเอซในช่วงต้นทศวรรษ 1950 (แต่ก็มีคนโต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง) นอกจากนี้ ในปี 1954 เขาได้เข้าร่วมในการปราบปรามและความพยายามลอบสังหารผู้นำอียิปต์ กามาล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ด้วย

ทั้งนี้อาราฟัตเคยถูกจำคุกโทษฐานรู้สึกเห็นอกเห็นใจภราดรภาพมุสลิม (The Muslim Brotherhood) หรือ อัล-อิควาน อัล-มุสลิมูน จึงทำให้เขาเรียนจบช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน แต่เขาไม่สนใจเพราะเป้าหมายเดียวในตอนนั้นก็คือ ทำให้บ้านเกิดของชาวปาเลสไตน์เป็นอิสระ ถูกปลดปล่อยคืนสู่ดินแดนของตนเองให้เร็วที่สุด

เมื่อจบการศึกษา อาราฟัตทำหน้าที่ในกองทัพอียิปต์อยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ในคูเวต โดยงานแรกที่เขาทำก็คือ เจ้าหน้าที่ในแผนกโยธาธิการ และต่อมาก็ตัดสินใจเปิดบริษัทรับเหมาของตัวเองจนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ทำให้เขาใช้เวลาว่างทั้งหมดที่เหลืออยู่จากธุรกิจไปกับกิจกรรมทางการเมือง

 

ยุคแห่งการตอบโต้อิสราเอล

จนกระทั่งปี 1958 เขาได้ก่อตั้ง ‘ฟาตะห์’ (Fatah) องค์กรทางการเมืองและการทหาร โดยสร้างขึ้นร่วมกับเพื่อนของเขา ก็คือ Khalīl al-Waz, Ṣalāḥ Khalaf และ Khālid al-Ḥassan ขณะนั้นพูดได้ว่า ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่เชื่อในเรื่อง ‘การปลดปล่อยปาเลสไตน์’ (Liberation of Palestine) ว่าจะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นผลมาจากความสามัคคีของชาวอาหรับ และก้าวแรกที่ทำก็คือ การสถาปนาสาธารณรัฐอาหรับระหว่างอียิปต์และซีเรียในปี 1958

อย่างไรก็ตาม หลักคำสอนของ Fatah ซึ่งเป็นศูนย์กลางทั้งปวงของปาเลสไตน์ แม้ว่าจะยึดมั่นว่าการปลดปล่อยปาเลสไตน์ดีที่สุดก็คือเชื่อว่าต้องเป็นธุรกิจของชาวปาเลสไตน์เอง ไม่ควรฝากไว้กับระบอบการปกครองของอาหรับ หรืออย่างน้อยก็เลื่อนออกไปจนกว่าจะบรรลุถึงเอกภาพของชาวอาหรับซึ่งมีความเข้าใจที่ค่อนข้างยากทีเดียว

หลักคิดนี้ของอาราฟัตถือว่าคนบางกลุ่มมองว่าเป็นการเหยียดหยามต่ออุดมการณ์รวมชาติอาหรับ รวมถึงพรรคการเมือง Baʿath ด้วย ซึ่งตอนนั้นเป็นพรรคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในภูมิภาค

 

ทั้งนี้อาราฟัตแสดงออกชัดเจนว่าเขาสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งเขาได้ตีพิมพ์นิตยสารแสดงเป้าหมายคืออิสราเอลและการตอบโต้ด้วยอาวุธในปี 1959 จนกระทั่งปี 1964 ที่เขาตัดสินใจออกจากคูเวตเพื่อมาเป็นนักปฏิวัติแบบเต็มเวลา และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับชาวยิวครั้งแรก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 1964 ถึงเดือนมกราคม 1965

และแล้วอาราฟัตก็กลายเป็น ‘วีรบุรุษ’ ในสายตาคนปาเลสไตน์ ตั้งแต่ปี 1967 เพราะเขาเดินหน้าต่อสู้กับอิสราเอลอีกครั้ง (ครั้งแรกพ่ายแพ้ย่อยยับ) ในสงคราม 6 วัน หรือบางที่ก็เรียกว่า ‘สงครามมิถุนายน’ (June War) Fatah และ Fedayeen กองโจรที่ปฏิบัติการต่อต้านอิสราเอล กลายมาเป็นจุดสนใจและเป็นฮีโร่ในสายตาชาวปาเลสไตน์ทันที

 

วีรบุรุษสู่ประธาน PLO

ในปี 1969 อาราฟัตได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของ PLO องค์กรร่วมที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1964 โดยสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ในกรุงเยรูซาเลม ซึ่งจนถึงตอนนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของชาวอียิปต์ และภาพของอาราฟัตสู่ชาวโลกก็ชัดเจนขึ้น

จากที่ก่อนหน้านี้ PLO อยู่ภายใต้รัฐอาหรับ เมื่ออาราฟัตขึ้นบังลังก์ทำให้ขั้วอำนาจเปลี่ยนมือ PLO ไม่ได้เป็นองค์กรหุ่นเชิดของรัฐอาหรับอีกต่อไป กลายเป็นองค์กรชาตินิยมอิสระที่มีฐานอยู่ในจอร์แดน ซึ่งการบริหารของอาราฟัต ยุคแรก ๆ คือทำให้ PLO เป็นองค์กรที่มีกองกำลังทหารของตนเอง

เรื่องนี้สร้างความกังวลใจให้กับสมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน เพราะพระองค์มองว่าวิธีการของ PLO ไม่ต่างจากกองโจรที่ชอบใช้กำลัง โจมตีอิสราเอลด้วยวิธีการที่รุนแรง ทำให้พระองค์ทรงขับ PLO ออกจากจอร์แดนในที่สุด

เรียกได้ว่านับตั้งแต่ที่ PLO ถูกขับไล่ อาราฟัตก็ตกที่นั่งลำบาก ต้องตระเวนหาที่ที่เหมาะสมก่อตั้ง PLO ต่อไป รวมทั้งยังเคยถูกลอบสังหาร และเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก ชีวิตของอาราฟัตต้องบากบั่นต่อสู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อแสดงจุดยืนว่า PLO ต้องการเรียกร้องและให้ปลดปล่อยปาเลสไตน์จากอิสราเอล

กระทั่งในปี 1988 อาราฟัตได้มีการเปลี่ยนนโยบายองค์กร และกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อาราฟัตได้พูดว่า

“PLO ละทิ้งการก่อการร้าย ความรุนแรง และสนับสนุนสิทธิของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีความปลอดภัย รวมถึงปาเลสไตน์ อิสราเอล และเพื่อนบ้านอื่น ๆ รวมถึงก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ (State of Palestine)”

 

ต่อมาในปี 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำ ‘สนธิสัญญาสันติภาพออสโล’ (Oslo Accord) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นพยานและคนกลางในการเจรจา โดยกำหนดขอบเส้นดินแดนใหม่ระหว่าง 2 ประเทศนี้ ทั้งนี้ ‘ฉนวนกาซา’ และ ‘เวสต์แบงก์’ ตามข้อตกลงจะตกเป็นของปาเลสไตน์

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนในปาเลสไตน์ที่เห็นด้วยกับท่าทีใหม่ของอาราฟัต เพราะคนกลุ่มใหญ่ยังต้องการให้เขาสนับสนุนวิธีความรุนแรงต่อต้านอิสราเอลอยู่ รวมถึง ‘กลุ่มฮามาส’ ซึ่งมองว่าชาวปาเลสไตน์ควรได้พื้นที่เดิมคืนทั้งหมด และมองว่า PLO ประนีประนอมเกินไปในการลงนามข้อตกลงออสโล

ทั้งนี้ เหตุที่สงครามระหว่างชาวยิวและปาเลสไตน์ยังไม่มีท่าทีจะยุติได้ ไม่ว่าจะรบกันอีกกี่ครั้ง ผลลัพธ์ก็ต่างสูญเสียด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นเพราะว่าระบบการปกครองในปาเลสไตน์เองก็แบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ก็คือ บริเวณฉนวนกาซาอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มฮามาส กลุ่มสนับสนุนความรุนแรง ส่วนบริเวณเวสต์แบงก์ อยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่ม Fatah ซึ่งเป็นรัฐบาลของปาเลสไตน์ที่นิยมความสันติมากกว่า

ในเมื่อภายใต้การปกครองปาเลสไตน์เองยังเบ็ดเสร็จอำนาจไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นสงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังคงดำเนินต่อไปจนทุกวันนี้ ซึ่งตอนนี้ก็กลืนกินความเจ็บปวดและการสูญเสียมานานกว่า 70 ปี ได้แต่หวังที่จะเห็นความสงบสุข และความเกลียดชังนี้...ควรค่าแก่การดับสูญเสียทีหรือยัง?

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :

Britannica

Nobelprize

Aljazeera