จังหวะชีวิต ‘ซิมโฟนี’ ที่บรรเลงอยู่ภายในตัวเรา

จังหวะชีวิต ‘ซิมโฟนี’ ที่บรรเลงอยู่ภายในตัวเรา

บทความนี้พาคุณฟัง ‘ซิมโฟนีแห่งชีวิต’ ผ่านสายตาทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และภูมิปัญญาโบราณ พร้อมสำรวจพลังบำบัดของเสียงที่เปลี่ยนจังหวะชีวิตเราได้อย่างแท้จริง

KEY

POINTS

  • ร่างกายของเราคือวงออร์เคสตรา เมื่อเสียงเหล่านี้สอดประสานกัน เราจะรู้สึกมีสุขภาพดี แต่เมื่อเพี้ยน เสียงแห่งชีวิตก็แปรเปลี่ยน
  • วิทยาศาสตร์แห่ง ‘จังหวะ’ มีอยู่จริง ตั้งแต่วงจรเซอร์คาเดียน (Circadian rhythm) ไปจนถึงแนวคิดโครโนเธอราพี (Chronotherapy) การแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้าใจว่าเวลาในการใช้ยา นอนหลับ หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงโรคภัย ล้วนเชื่อมโยงกับนาฬิกาชีวิตที่มีอยู่ในตัวเรา
  • เสียงคือเครื่องมือเยียวยาอันทรงพลัง จากเสียงหัวใจแม่ในครรภ์ ไปจนถึงดนตรีกล่อมนอน เสียงคือแรงสั่นสะเทือนที่สามารถปรับจูนร่างกายและจิตใจได้อย่างแท้จริง 

คุณเคยนิ่งและเงี่ยหูฟัง ‘บทเพลง’ ที่ร่างกายของคุณบรรเลงอยู่ทุกขณะจิตหรือไม่? 

ลึกลงไปภายใต้ความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน ร่างกายของเราคือวงออร์เคสตราขนาดใหญ่ที่กำลังบรรเลงซิมโฟนีแห่งชีวิต แนวคิดนี้ไม่ใช่เพียงจินตนาการของกวีในอดีต อย่าง ‘โนวาลิส’ (Novalis 1772-1801) ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ทุกโรคคือปัญหาทางดนตรี” (Every disease is a musical problem) แต่ยังสะท้อนความจริงว่า สุขภาพของเรานั้นผูกพันกับจังหวะภายในอย่างแยกไม่ออก

หัวใจของซิมโฟนี คือจังหวะการเต้นของหัวใจ จังหวะเต้นอย่างสม่ำเสมอราว 72 ครั้งต่อนาที เทียบเท่ากับจังหวะในบทเพลง ‘Bolero’ อันโด่งดังของ ‘ราเวล’ และหัวใจเราเต้นมากถึง 38 ล้านครั้งในหนึ่งปี ปัจจัยที่สอดประสานร่วมไปกับจังหวะนี้ คือท่วงทำนองของการหายใจ ที่เกิดขึ้นกว่า 20,000 ครั้งต่อวัน โดยที่เราแทบไม่รู้สึกตัว

นอกเหนือจากจังหวะการเต้นของหัวใจและการสูดลมหายใจแล้ว ยังมีวงจรที่ยิ่งใหญ่กว่า คอยควบคุมการทำงานของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง นั่นคือ ‘จังหวะเซอร์คาเดียน’ (Circadian rhythm) ซึ่งเปรียบเสมือนวาทยกร ผู้ควบคุมการขึ้นลงของอัตราชีพจร ความดันโลหิต และอุณหภูมิของร่างกายให้สอดคล้องกับวันและคืน 

แม้ในยามที่เราหลับใหล บทเพลงยังไม่หยุดบรรเลง แต่เปลี่ยนท่วงทำนองไปสู่วงจรการนอนหลับที่เกิดซ้ำทุก ๆ 90 นาที และในระดับที่ลึกยิ่งกว่านั้น ระบบต่อมไร้ท่อและภูมิคุ้มกันต่างก็บรรเลงบทเพลงของตนเอง ผ่านการปรับระดับฮอร์โมน คอเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือดอย่างแม่นยำ

จังหวะที่ซับซ้อนเหล่านี้ คือรากฐานของสุขภาพที่ดี เมื่อใดก็ตามที่ ‘บทเพลง’ ภายในร่างกายของเราบรรเลงอย่างพร้อมเพรียงและสอดประสาน เราจะรู้สึกถึงความแข็งแรงและมีชีวิตชีวา 

แต่จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเครื่องดนตรีชิ้นใดชิ้นหนึ่งในวงออร์เคสตรานี้เริ่มบรรเลงผิดเพี้ยนไป?  

ใน ‘Healing Songs’ ของ ‘เท็ด จิออยา’ (Ted Gioia) เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับดนตรีไว้อย่างน่าตื่นตา หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหญ่ในชีวิตของเขาที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ดนตรีมีบทบาทและหน้าที่ต่อมนุษย์อย่างลึกซึ้งและจับต้องได้ 

เมื่อวงออร์เคสตราบรรเลงผิดเพี้ยน

เมื่อร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนวงออร์เคสตราเริ่มบรรเลงเพลงผิดเพี้ยนไป ผลลัพธ์ที่ตามมานั้นรุนแรงกว่าที่หลายคนคาดคิด ธรรมชาติของร่างกายเรานั้นดื้อต่อการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับดอกไม้ที่ยังคงหุบและบานตามเวลาเดิม แม้จะถูกย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่มีแสงแดด ร่างกายของเราพยายามยึดมั่นในจังหวะเดิมอย่างเหนียวแน่น เมื่อบังคับให้ร่างกายทำงานสวนทางกับนาฬิกาชีวภาพ จึงไม่ต่างอะไรกับการพยายามเล่นเปียโนที่จูนเสียงเพี้ยนให้เข้ากับเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ๆ ไม่ว่าเราจะทุบแป้นคีย์แรงแค่ไหน เสียงที่ได้ก็ยังคงไม่สอดประสาน

ผลกระทบของการฝืนจังหวะธรรมชาติ เห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มคนที่ทำงานกะกลางคืน ซึ่งไม่ใช่รูปแบบการใช้ชีวิตที่ปกติของมนุษย์ ร่างกายจะต่อต้าน ผลลัพธ์คือความผิดพลาด การตัดสินใจที่ผิด และอุบัติเหตุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ดังที่ทราบกันโศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์หลายครั้ง ล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ 23:00 น. ถึง 04:00 น. 

ไม่ว่าจะเป็น ไททานิก (23:40 น.), เชอร์โนบิล (01:23 น.), เอ็กซอน วัลเดซ (00:04 น.), ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (04:00 น.) ไปจนถึงโภปาล ในอินเดีย (00:40 น.) แม้แต่บนท้องถนน อุบัติเหตุทางรถยนต์เกิดบ่อยครั้งเป็นพิเศษในช่วงเช้ามืด

นอกเหนือจากอุบัติเหตุ มีการยืนยันถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานผิดเวลา ผู้หญิงที่ทำงานกะดึกมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามอายุและจำนวนชั่วโมงที่ทำงานกะกลางคืน ขณะที่ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจก็เพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงกับโรคอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น แผลในกระเพาะอาหาร, โรคอ้วน และปัญหาในระบบย่อยอาหาร

แม้แต่ความเจ็บป่วยทั่วไปก็ยังดำเนินไปตามจังหวะของมัน อาการของโรคข้อเสื่อมจะแย่ที่สุดในช่วงเย็น ในขณะที่โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะสร้างความเจ็บปวดสูงสุดในตอนเช้า ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะอ่อนแอที่สุดในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งเป็นเวลาที่ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนในร่างกายต่ำที่สุด แม้กระทั่งอาการหัวใจวายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเช้าตรู่

ด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นนี้เอง การแพทย์สมัยใหม่จึงได้พัฒนาแนวคิดที่เรียกว่า ‘โครโนเธอราพี’ (Chronotherapy) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่พยายามปรับการรักษาให้สอดคล้องกับวงจรของร่างกาย เรากำลังเรียนรู้ว่ามีช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของวันสำหรับการกินยา การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การรับประทานอาหาร

เมื่อวงออร์เคสตราภายในร่างกายของเราเสียสมดุล การพยายามฝืนบังคับต่อไปอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน คำถามคือ แล้วเราจะจูนเสียงที่ผิดเพี้ยนนี้ให้กลับมาสอดประสานกันได้อย่างไร? บางทีคำตอบอาจไม่ได้อยู่ในยาเม็ด แต่อยู่ใน ‘จังหวะ’ ที่สามารถนำพาเรากลับสู่ความสมดุล เป็นแนวคิดที่นำเราไปสู่พลังแห่งการบำบัดของดนตรีโดยตรง

ดนตรี เครื่องมือจูนเสียงแห่งธรรมชาติ

เมื่อจังหวะภายในร่างกายของเราเสียสมดุล การกลับคืนสู่ความประสานกลมกลืน คนโบราณจะใช้ ‘จังหวะจากภายนอก’ นำทาง ได้แก่ พลังของเสียงและดนตรี หลักการพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า จังหวะภายในร่างกายของเราสามารถปรับเปลี่ยนและปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ด้วยจังหวะจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว

รากฐานที่ลึกซึ้งที่สุดของการบำบัดด้วยเสียง เริ่มต้นที่ลมหายใจ คำว่า ‘สุขภาพ’ (health) ในภาษาอังกฤษโบราณมีรากศัพท์มาจากคำว่า hal ซึ่งหมายถึง ‘การหายใจเข้า’ (inhaling) และ ‘ความสมบูรณ์’ (wholeness) ในทำนองเดียวกัน คำว่า ‘ปราณ’ (prana) ในภาษาสันสกฤต ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ลมหายใจ แต่ยังหมายถึง ‘พลังชีวิต’ หรือ ‘พลังงานชีวิต’

โยคะและศาสตร์ตะวันออกโบราณต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการหายใจลึก ๆ เพราะเชื่อว่าการหายใจที่ไม่สม่ำเสมออาจเป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยได้ เรื่องราวของ ‘ลีโอ คอฟเลอร์’ (Leo Kofler) นักร้องโอเปร่าและวาทยกรในศตวรรษที่ 19 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เขาป่วยเป็นวัณโรคและเชื่อว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน แต่ด้วยการศึกษาเรื่องกลไกการหายใจ เขาได้พัฒนาระบบการหายใจที่ถูกต้อง ซึ่งได้ช่วยรักษาชีวิตและทำให้เขามีอายุยืนยาวต่อไปอีกเกือบครึ่งศตวรรษ

ประสบการณ์ทางจังหวะและเสียงครั้งแรกสุดของมนุษย์ เริ่มต้นขึ้นก่อนที่เราจะได้ลืมตาดูโลกเสียอีก ในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์สามารถเรียนรู้และจดจำเสียงจากโลกภายนอกได้แล้ว เสียงหัวใจของแม่ คือ ‘จุดยึดทางเสียง’ (auditory anchor) ที่สำคัญที่สุด เป็นจังหวะแห่งชีวิตแรกที่ทารกได้สัมผัสและมีผลทำให้สงบลงได้อย่างน่าประหลาด ดังนั้น ‘เพลงบำบัดเพลงแรก’ ของเรา คือเพลงกล่อมเด็กของแม่นั่นเอง มีงานวิจัยที่พบว่า การร้องเพลงของแม่เพียง 10 นาที สามารถเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ในน้ำลายของทารกได้อย่างมีนัยสำคัญ

ด้วยความเข้าใจนี้ ผู้สร้างสรรค์ยุคใหม่จึงพยายามจำลองประสบการณ์ในครรภ์ขึ้นมา ‘เทอร์รี วูดฟอร์ด’ (Terry Woodford) โปรดิวเซอร์เพลงชื่อดัง ได้สร้างสรรค์เพลงกล่อมเด็ก โดยใช้เสียงหัวใจเต้นของแม่เป็นจังหวะประกอบ และพบว่าทารกที่ร้องไห้กว่า 94% จะสงบลงและหลับไปแทบทันทีเมื่อได้ฟัง ในขณะที่ ‘อัลเฟรด โตมาติส’ (Alfred Tomatis) แพทย์ชาวฝรั่งเศส เชื่อว่าชีวิตคนเราเกิดจาก ‘เสียง’ ไม่ใช่ ‘ภาพ’ เขาพบว่า ในสภาพแวดล้อมที่เป็นของเหลวในครรภ์นั้น ‘เสียงความถี่สูง’ จะเดินทางได้ดีกว่าและมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการการได้ยินของทารก ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ได้รับการยืนยันทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ผ่านเครื่อง MRI ที่แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในสมองของทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อมีการเปิดเพลงให้ฟัง

นอกจากเสียงแล้ว ‘การเคลื่อนไหว’ ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวะสำคัญ ทารกจะถูกเสริมสร้างจังหวะพื้นฐานผ่านการโยกตัวในเก้าอี้ การเด้งเบาๆ บนเข่า หรือการเขย่าของเล่น สิ่งที่ทรงพลังที่สุด คือ ‘การเดิน’ โดย ‘บรูซ แชตวิน’ (Bruce Chatwin) นักเขียนชื่อดังตั้งข้อสังเกตว่า การที่ทารกจะหยุดร้องไห้เมื่อถูกอุ้มเดินนั้น อาจเป็นสัญชาตญาณที่สะท้อนรากเหง้าของมนุษย์ในยุคเร่ร่อน มีการทดลองโดยแพทย์ในลอนดอนที่สร้างเครื่องจักรเลียนแบบจังหวะการเดินของแม่ และพบว่า “เมื่อความเร็วในการโยกอยู่เหนือ 50 ครั้งต่อนาที ทารกจะสงบลงเสมอ” 

ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับจังหวะรอบข้างนี้ยังคงอยู่กับเราตลอดเวลา เห็นได้จากการที่เราสามารถเดินหลบหลีกผู้คนในเมืองที่พลุกพล่าน หรือขับรถด้วยความเร็วสูงบนทางด่วนได้อย่างเชี่ยวชาญ

ตั้งแต่ลมหายใจแรก เสียงหัวใจเต้นในครรภ์ ไปจนถึงจังหวะการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้ชี้ไปยังข้อสรุปเดียวกันว่าร่างกายของเราถูกออกแบบมาเพื่อ ‘ฟัง’ และ ‘ตอบสนอง’ ต่อจังหวะ ความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งระหว่างโลกภายในและจังหวะจากโลกภายนอกนี้เอง ที่เป็นรากฐานนำไปสู่การสำรวจพลังแห่งเสียงในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าทึ่งมากมาย

บนรอยต่อระหว่างวิทยาศาสตร์และเวทมนตร์

ความเชื่อที่ว่าเสียงและการสั่นสะเทือนมีพลังในการสร้างสรรค์นั้น หยั่งรากลึกอยู่ในตำราเวทมนตร์และตำนานการสร้างโลกมาแต่โบราณ แต่การจะนำความเชื่อนี้มาพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมในเชิงวิทยาศาสตร์นั้น ต้องรอจนถึงยุคหลังกับนักบุกเบิกซึ่งยืนอยู่บนเส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างความเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักมายากล และศิลปิน

ในศตวรรษที่ 18 ‘เอิร์นส์ ชลาดนี’ (Ernst Chladni) ทนายความผู้ผันตัวมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับสาธารณชน และจักรพรรดินโปเลียน ด้วยการแสดงให้เห็นว่า คลื่นเสียงสามารถจัดระเบียบให้กับสสารได้ เขาโรยเม็ดทรายเล็ก ๆ ลงบนแผ่นโลหะ แล้วใช้คันชักไวโอลินลากไปตามขอบเพื่อสร้างการสั่นสะเทือน สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่าอัศจรรย์ เม็ดทรายที่เคยกระจายไร้ทิศทาง กลับเคลื่อนตัวจัดเรียงเป็นรูปทรงสมมาตรสวยงาม เช่น ลายคล้ายดาวทะเล เกล็ดหิมะ หรือหกเหลี่ยม ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Chladni Figures’ นี้ ทำให้นโปเลียนถึงกับตั้งรางวัล 3,000 ฟรังก์ เพื่อให้มีผู้ไขความลับของเสียงให้กระจ่างชัด

ในขณะเดียวกัน ‘ฟาเบรอ ดอลิเวต์’ (Fabre d’Olivet) นักปรัชญาผู้หมกมุ่นอยู่กับพลังเร้นลับของเสียง ก็อ้างว่าสามารถช่วยให้เด็กชายผู้หูหนวกและเป็นใบ้มาตั้งแต่กำเนิดกลับมาสื่อสารได้อีกครั้ง ด้วยวิธีที่เกี่ยวข้องกับแรงสั่นสะเทือนของ ‘เสียงดั้งเดิม’ แต่เมื่อเขานำวิธีการของตนไปเผยแพร่ต่อทางการ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนที่ เอิร์นส์ ชลาดนี เคยได้รับจากนโปเลียน ตรงกันข้าม เขาถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนในข้อหาให้การรักษาโดยไม่มีใบอนุญาต และในเวลาต่อมา ถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้วิธีการดังกล่าวอีก

ในปี 1926 ‘ชาลส์ เคลล็อกก์’ (Charles Kellogg) นักธรรมชาติวิทยาผู้มีฉายาว่า ‘Birdman’ ได้แสดงให้กลุ่มนักดับเพลิงในนิวยอร์กเห็นว่า เขาสามารถทำให้เปลวไฟจากตะเกียงแก๊สสูงราวสองฟุตดับลงได้ ด้วยการใช้เพียงคันชักและส้อมเสียงอะลูมิเนียม ในปีเดียวกัน เขาเล่าว่าเคยทดลองส่ง ‘เสียงนก’ ผ่านคลื่นวิทยุจากสถานีในโอ๊กแลนด์ ไปยังห้องทดลองที่เบิร์กลีย์ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวสิบไมล์ และเมื่อเสียงนั้นถูกถ่ายทอดถึงปลายทาง เปลวไฟที่ปลายอีกฝั่งก็ดับลงทันที เป็นปรากฏการณ์ที่แม้ฟังดูเหลือเชื่อ แต่ยังคงถูกพูดถึงในฐานะหนึ่งในภาพจำอันน่าฉงนของพลังเสียงจากธรรมชาติ

บุคคลเหล่านี้เป็น ‘อัจฉริยะผู้มาก่อนกาล’ หรือเป็นเพียง ‘นักแสดงเจ้าหลักการ’ กันแน่ ? ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เรื่องราวของพวกเขาก็เป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์พยายามทำความเข้าใจและควบคุมพลังแห่งเสียงมาอย่างยาวนาน

แล้วเราจะเริ่มปรับจูนร่างกายได้อย่างไร

การคืนสมดุลให้จังหวะชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องซับซ้อนเสมอไป เราสามารถเริ่มต้น ‘ฟัง’ และ ‘ปรับจูน’ วงออร์เคสตราในร่างกายได้ง่าย ๆ ที่บ้าน ด้วยเคล็ดลับเหล่านี้

- ฟังเสียงลมหายใจ (Listen to Your Breath) หาเวลาเงียบ ๆ 3 - 5 นาทีในแต่ละวัน นั่งในท่าที่สบายและหลับตาลง จากนั้นพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่จังหวะการหายใจ สูดหายใจเข้าลึก ๆ และผ่อนออกช้า ๆ การจดจ่ออยู่กับจังหวะที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเร็วของจังหวะหัวใจ และทำให้ระบบประสาทที่ตึงเครียดสงบลงได้

- เลือกบทเพลงกล่อมนอน (Choose a Lullaby) ในช่วง 15 - 30 นาทีก่อนนอน ลองปิดหน้าจอทุกชนิด แล้วเปิดเพลงบรรเลงที่มีจังหวะช้าและสม่ำเสมอ เช่น เปียโน, กีตาร์คลาสสิก หรือดนตรีแอมเบียนต์ (Ambient Music) เสียงที่ไม่มีเนื้อร้องมารบกวนจะช่วยนำคลื่นสมองของคุณเข้าสู่สภาวะพักผ่อน (Alpha Wave) ได้ง่ายขึ้น เป็นการเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมสำหรับการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

- สร้างแรงสั่นสะเทือนด้วยตัวเอง (Create Your Own Vibration) เมื่อรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล ลองฮัมเพลงทำนองง่าย ๆ ด้วยเสียงต่ำ ๆ ในลำคอ (Humming) คุณจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเบา ๆ บริเวณหน้าอกและลำคอ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดด้วยเสียง (Sound Therapy) ที่ช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และเปลี่ยนจุดสนใจจากความกังวลมาสู่ร่างกายของคุณเอง

ร่างกายคือเครื่องดนตรีชิ้นแรกสุด

ตลอดการเดินทางตั้งแต่จังหวะที่ซ่อนเร้นอยู่ในเซลล์ของเรา ไปจนถึงการทดลองอันน่าทึ่งของเหล่าผู้บุกเบิก เราได้เห็นความจริงที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังว่า โดยพื้นฐานแล้ว ร่างกายมนุษย์คือเครื่องดนตรีชิ้นแรกสุดและซับซ้อนที่สุด ก่อนที่จะมีกลอง ขลุ่ย หรือเครื่องสายเครื่องเป่าใด ๆ ร่างกายของเราได้ทำหน้าที่เป็นวงออร์เคสตราที่มีชีวิต บรรเลงบทเพลงผ่านจังหวะและความถี่มากมาย การปรบมือ การเต้นรำ การขยับตัว และการเปล่งเสียงร้อง คือองค์ประกอบดั้งเดิมของดนตรีที่หยั่งรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

แนวคิดของสุขภาพเชื่อมโยงกับ ‘ดนตรี’ ของร่างกาย ไม่ใช่แค่เรื่องเปรียบเปรย เมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล ‘เฮโรฟิลัสแห่งแคลเซดอน’ (Herophilus of Chalcedon) ผู้ซึ่งหมกมุ่นกับความเชื่อที่ว่าร่างกายของมนุษย์มีดนตรีซ่อนอยู่ ได้พัฒนาวิธีการวัดชีพจรของผู้ป่วยขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์ยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้

มาถึงยุคปัจจุบัน แพทย์ยังคง ‘ฟัง’ บทเพลงของร่างกายอย่างไม่ลดละ พวกเขาเปรียบเสมือนนักดนตรีผู้พยายามแกะโน้ตเพลงที่ยากที่สุด ใช้เครื่อง ‘EEG ‘(electroencephalogram) เพื่อถอดรหัสคลื่นสมอง ใช้ ‘EKG’ (electrocardiogram) เพื่อติดตามการทำงานของหัวใจ และใช้ ‘Sonogram’ เพื่อตรวจดูอวัยวะภายใน ทั้งหมดนี้ เพื่อค้นหาเบาะแสจากความเปลี่ยนแปลงของจังหวะและความเข้มข้นในดนตรีของร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้น วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้เริ่มใช้ ‘จังหวะ’ เป็นเครื่องมือในการรักษาโดยตรง ในกระบวนการที่เรียกว่า ‘Phacoemulsification’ จักษุแพทย์ใช้คลื่นอัลตราโซนิกเพื่อสลายต้อกระจกและคืนการมองเห็น หรือเทคนิคที่คล้ายกันอย่าง

‘ultrasonic lithotripsy’ ถูกใช้เพื่อสลายนิ่วในไต เครื่องมือเหล่านี้ คือ ‘เครื่องดนตรี’ ของวิทยาศาสตร์ ที่กำลังบรรเลงบทเพลงบำบัดแห่งยุคใหม่

อย่างไรก็ตาม การเยียวยาที่ลึกซึ้งที่สุดอาจจะไม่ได้มาจากเครื่องมือที่ซับซ้อนเหล่านี้ แต่มาจากการเรียนรู้ที่จะกลับมา ‘ฟัง’ ซิมโฟนีแห่งชีวิตที่บรรเลงอยู่ภายในตัวเราอีกครั้ง เหมือนดังภูมิปัญญาโบราณของ โนวาลิส ที่ประกาศว่า “ทุกโรคคือปัญหาทางดนตรี”

หมายเหตุท้ายบทความ:

‘เท็ด จิออยา’ เกิดเมื่อปี 1957 เป็นทั้งนักประวัติศาสตร์ดนตรี, นักวิจารณ์, และนักดนตรี (นักเปียโนแจ๊ส) จบการศึกษาจาก Stanford University และ University of Oxford เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรแจ๊สศึกษา (Jazz Studies Program) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เท็ด พยายามที่จะเชื่อมโยงดนตรีเข้ากับชีวิตประจำวันและสังคมมนุษย์ เขาไม่มองดนตรีเป็นเพียงสุนทรียะที่แยกขาดจากโลก แต่เป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวในคำนำของหนังสือ Healing Songs ว่าเขาต้องการสำรวจ ‘บ้านแห่งดนตรี’ (House of Music) โดยมองว่า ดนตรีมี ‘ห้อง’ ต่าง ๆ สำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น ดนตรีเพื่อการทำงาน (Work Songs), ดนตรีเพื่อความรัก (Love Songs) และดนตรีเพื่อการเยียวยา (Healing Songs) อันเป็นที่มาของหนังสือระดับมาสเตอร์พีซทั้งสามเล่มของเขา

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ที่มา:

- Gioia, Ted. Healing Songs. Duke University Press, 2006.