รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

เรื่องราวการเดินทางของ 'รองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม' สู่การนำขบวนประชาชนในนามเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องลมหายใจของคนไทยทุกคน

ครั้งสุดท้ายที่คุณได้สูดหายใจรับอากาศสะอาดในละแวกบ้านของตัวเองคือเมื่อไร?

สำหรับรองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย และรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... คนที่หนึ่ง ผู้เป็นแกนนำยกร่าง พรบ.อากาศสะอาดที่กำลังพิจารณาอยู่ในรัฐสภา เธอได้สัมผัสอากาศสะอาดครั้งสุดท้ายแถวบ้านเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว

“สมัยเด็กๆ อยู่นครปฐม หน้าหนาวมีอากาศหนาว ก็ตื่นเต้นว่าจะอาบน้ำยังไง จะใส่เสื้อกันหนาวสีอะไรดี ขยะพลาสติกมีน้อยมากเพราะเรายังไม่เจอแหล่งก๊าซธรรมชาติ พลาสติกเป็นของหายากราคาแพง ไปจ่ายตลาดยังใช้ตะกร้า ฤดูร้อนก็ไม่ร้อนแบบนี้ โรงงานก็มีไม่เยอะ รถก็ไม่เยอะ รู้จักแค่ฝุ่นดิน อาจจะมีเรื่องเผาบ้าง แต่ชาวบ้านไม่ได้เผากันเอิกเกริก ที่ดินบ้านอาจารย์ก็ให้เช่าทำไร่อ้อย ยืนยันได้ว่าเขาตัดสด ไม่มีไอเดียในการเผา”

เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจรุกคืบเข้ามาอย่างก้าวกระโดด เปลี่ยนแปลงย่านเกษตรกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรม ตึกสูงตระหง่านผุดขึ้นกลางเมืองราวดอกเห็ด แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยป้อนวัตถุดิบสู่โรงงานจนพลาสติกกลายเป็นวัสดุหลักในทุกกิจกรรม ปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้นจนกรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 ในเมืองที่รถติดที่สุดในโลก และคนรุ่นปัจจุบันต้องออกเดินทางไกลเพียงเพื่อไปสูดอากาศสะอาดที่หาไม่ได้แล้วในละแวกบ้านตัวเอง

การหายไปของอากาศสะอาดทำให้เกิดการรวมตัวของ ‘เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย’ เพื่อทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่จะได้สูดหายใจรับอากาศสะอาดอันถูกพรากไป จนนำไปสู่การยกร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางของเธอ สู่การนำขบวนประชาชนในนามเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย ผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องลมหายใจของคนไทยทุกคน…รองศาสตราจารย์ ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

นักวิชาการท่องยุทธภพ

หลังจบปริญญาตรีและโทจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อ.คนึงนิจ ก็มาเป็นทนายอยู่พักหนึ่ง แล้วได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และพอจบก็ได้โอกาสทำวิจัยกับศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในส่วน East Asian Legal Studies Program ซึ่งศูนย์วิจัยนี้นับเป็นคลังสมองระดับประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้เธอได้บ่มเพาะภาคทฤษฎีและด้านปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น Woman Rights, LGBT Rights ซึ่งต่อมาก็เป็นรากฐานสำคัญในการทำวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนประเภทต่าง ๆ รวมทั้งสิทธิในสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำมาสู่การยกร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด

กลับจากสหรัฐอเมริกา อ.คนึงนิจ มาทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับมูลนิธิเอเชีย ซึ่งตรงกับยุคที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม กัมพูชา กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเปิดประเทศ โดยมีมูลนิธิเอเชียเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการประสานงานระหว่างรัฐบาลของประเทศทั้งสาม กับที่ปรึกษาจากองค์กรระหว่างประเทศจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิในขณะนั้น จึงมีบทบาทสำคัญ อ.คนึงนิจ ในฐานะผู้ประสานงานของมูลนิธิเอเชีย ก็ได้อยู่ในทีมปฏิรูประบบกฎหมายของประเทศเหล่านี้ด้วย

“ครั้งหนึ่งในที่ประชุม เราเป็นตัวแทนของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของลาว ต้องไปโต้กับอาจารย์ของตัวเองจากฮาร์วาร์ดที่เป็นตัวแทนหน่วยงานที่ดูแลกิจการเหมืองแร่ เราโต้กันเรื่องจะปกป้องทรัพยากรของชาติมากกว่าผลประโยชน์ทางการลงทุนจากต่างชาติ นึกออกไหมว่าพอประเทศไหนปิดมานานแล้วเพิ่งเปิด คนก็มารุม”

ณ ขณะนั้น อ.คนึงนิจ คือนักกฎหมายสายพัฒนา ที่หาประสบการณ์จากการลงพื้นที่จริง แม้ว่าอายุเพียงต้น 30 ปี แต่เธอก็ได้ทำงานสำคัญระดับประเทศ ร่วมทีมกับบุคคลระดับผู้นำประเทศและนักวิชาการระดับโลกหลายท่าน แต่สิ่งที่อาจารย์ยังต้องคอยพึ่งพาคนอื่นอยู่คือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถึงแม้จะใกล้ตัวแต่ก็ยังขาดความรู้พื้นฐานและประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ดังนั้น เมื่อ International Pacific College ในประเทศนิวซีแลนด์ติดต่อให้ไปสอนกฎหมาย เธอจึงขอไปพร้อมหมวกอีกใบในฐานะนักเรียนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในระดับปริญญาตรี

“เป็นทั้งนักเรียนและอาจารย์ในขณะเดียวกันไม่ง่าย วันเสาร์ต้องเตรียมสอน วันอาทิตย์ต้องทำการบ้าน จัดตารางอย่าให้ชนกัน แล้วเป็นเด็กศิลป์ฝรั่งเศส ทั้งชีวิตไม่เคยเรียนวิทยาศาสตร์แบบเต็มที่ ครั้งแรกที่เรียนเชิงลึกก็ดันเป็นภาษาอังกฤษหมด คนสอนก็เกร็งมากเพราะคำว่าจบฮาร์วาร์ดมา แต่เราก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยจริง ๆ ก็ชอบถามอะไรที่ดูไม่ฉลาด”

แต่ผลจากการเรียนในวันนั้น ทำให้ อ.คนึงนิจ เข้าใจกฎหมายสิ่งแวดล้อมแบบย้อนไปถึงที่มาด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมหรือเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และกลับมาทำงานเป็นนักวิจัยด้านการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมให้กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยตามคำชวนของ ดร.ธีระ พันธุมวนิช ซึ่งสมัยนั้นประเทศไทยเพิ่งเกิด พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม ฉบับแรก พ.ศ. 2535 ได้ไม่นาน และคนไทยก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากนัก งานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจึงมีเยอะมากในการประสานงานกับรัฐบาลและองค์กรระดับนานาชาติเพื่อยกระดับนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศ

เส้นทางสายวิชาการของ อ.คนึงนิจ คือการผสานประสบการณ์นอกห้องเรียนและในห้องเรียน เธอจึงเรียนสลับกับทำงาน หลังออกจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อาจารย์ก็ไปเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ระยะหนึ่งก่อนได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนสิ่งแวดล้อม โดยมีนักกฎหมายสิ่งแวดล้อมระดับตำนานของสหภาพยุโรปในขณะนั้นเป็นประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย

ตลอดการทำงานและการเรียนในต่างแดน อ.คนึงนิจ ได้มองย้อนกลับมายังประเทศไทยและเห็นปัญหาจากมุมมองของคนนอกประเทศ ประกอบกับพื้นฐานนิสัยที่ไม่ชอบเห็นการเอาเปรียบในสังคม ทำให้เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์ต่อที่จุฬาฯ เธอมุ่งทำงานวิจัยเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนภายใต้ช่องโหว่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จนวันหนึ่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว อาจารย์ก็ได้รับการติดต่อจากคนกลุ่มหนึ่ง

“มีคนที่ไม่รู้จักมาก่อนติดต่อมา เขาชวนให้มาร่วมเสวนากลุ่มเล็ก ๆ 4 - 5 คน เรื่องปัญหาอากาศ แล้วทุกคนก็รู้สึกว่าจะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เราก็ค่อย ๆเปลี่ยนจากกลุ่มที่ไม่เป็นทางการขึ้นมาตั้งเป็น เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย”

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

ในวันนั้นที่ปัญหา PM 2.5 ยังไม่อยู่ในกระแสหลักของสังคม เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทยจากการรวมตัวของกลุ่มนักวิชาการอิสระหลากสาขาได้เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอากาศสะอาด เริ่มจากการทำ Concept Paper 3 สี 3 เล่ม โดยเล่มขาวว่าด้วยนิยามของปัญหาทางสภาพอากาศ เล่มฟ้าว่าด้วยสาเหตุ และเล่มเขียวว่าด้วยทางแก้ไข จนต่อยอดเป้าหมายมาไกลถึงการยกร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด ฉบับประชาชน ที่รองรับด้วยบทวิจัยของทีมนักวิชาการในเครือข่ายฯ และพันธมิตร โดยมี อ.คนึงนิจ เป็นแกนนำหลัก

“7 ปีที่ผ่านมา เรามีเวทีเสวนา เวิร์กชอป จัดงานร่วมกับผู้อื่นตลอด แต่งานเด่นคือเรื่องร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด กับการทำให้คนรู้ว่าสิทธิเป็นอย่างไร กิจกรรมมันจะพ้องไปกับพัฒนาการด้านการรับรู้ของสังคมที่เราค่อย ๆ ไปทีละขั้น”

เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย นับว่าเป็นคลังสมองที่ผู้เชี่ยวชาญต่างสาขามารวมกันโดยใช้ความรู้ความสามารถเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนในชาติ เป็นกลุ่มอิสระที่เคลื่อนไหวด้วยงบส่วนตัว โดยมีงบจัดสรรจากองค์กรอื่น เช่น สสส. เพื่อจัดกิจกรรมเฉพาะในกรอบงานบางอย่างเท่านั้น

“เราก็ขอรับการสนับสนุนจากองค์กรทั่วโลกแล้วก็คนในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่มาในรูปของความช่วยเหลือที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น มีองค์กรด้านไอทีมาแนะนำเรื่องการทำเว็บไซต์อย่างไรไม่ให้ถูกแฮก หรือมีศิลปินต่างชาติมาช่วยออกแบบหน้าปกรูปเล่มของร่าง พ.ร.บ. กับหน้าปกบันทึกเจตนารมณ์ ซึ่งการไม่มีงบประมาณ ข้อดีคือมีความอิสระ ไม่ต้องทำตามคำสั่งใคร แต่ข้อเสียคือพอเรามีแนวทางดี ๆ ที่จะให้ความรู้สังคม เราก็ไม่มีงบไปทำ

“ขณะนี้เรายังไม่ได้จัดตั้งองค์กร เป็นแค่กลุ่มบุคคลที่มารวมตัวกัน ทุกคนอาสาหมด ไม่มีใครได้เงินเลย มีแต่ควักเนื้อ มีเปิดรับบริจาคอยู่ในเว็บไซต์ แต่ก็ยังไม่ค่อยมีใครบริจาคเพราะคนอาจกลัวว่าเราไม่ได้มีความเป็นองค์กรหรือเปล่าไม่แน่ใจ หากต้องจดทะเบียนเป็นสมาคมหรือมูลนิธิ ก็ต้องมีทุนจดทะเบียนและจ้างพนักงานประจำ มันก็ต้องมีความพร้อม ตอนนี้ได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้นก่อน แต่คำว่าแค่นั้นของเราคือยกร่างกฎหมาย นี่ขนาดไม่พร้อม แล้วถ้าพร้อมจะทำได้ขนาดไหน”

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

สิทธิในการมีลมหายใจ…สิทธิที่คนมองข้าม

“ฝุ่นลงที ทุกคนก็ได้แต่จัดการปลายทาง ไปหาหมอควักกระเป๋าเงินเอง ไปทำบุญ 9 วัด ไปบริจาคให้ผู้ป่วยมะเร็งปอด หรือแม้แต่ไปดับไฟป่า ซึ่งก็ไม่ใช่ไม่ดี แต่ถ้าเราป้องกันตั้งแต่ต้นทางมาจัดการกับระบบเพื่อไม่ให้เกิดปลายทางมันจะดีกว่านี้ แต่คนกลับไม่ค่อยให้ความสำคัญ”

อ.คนึงนิจ และเครือข่ายอากาศสะอาดจึงต้องการผลักดันให้เกิดกฎหมายอากาศสะอาดที่มีผลบังคับใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาปลายทาง สรุปหัวข้อสำคัญจากร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชนได้ 3 เรื่อง 

  1. สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการได้รับอากาศสะอาด และรัฐมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ใครมาละเมิดสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย
  2. ระบบการจัดการตามกฎหมายเดิมยังไม่ครอบคลุมและใช้งานได้จริง ทางเครือข่ายฯ จึงเสนอให้มีคณะกรรมการร่วมที่มีองค์ประกอบเป็นภาคประชาชนเข้าไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างหน่วยงานกำกับดูแลรับผิดชอบที่ชัดเจน
  3. มีกองทุนอากาศสะอาด ที่มาพร้อมเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมที่สร้างมลภาวะทางอากาศไปสู่พฤติกรรมที่ดีต่ออากาศสะอาด อาทิ ช่วยปรับวิถีการผลิตเพื่อลดการปล่อยมลพิษ ให้รางวัลจูงใจผู้ที่ทำดี ซึ่งหากปราศจากกองทุนนี้ จะไม่สามารถดำเนินการอะไรเพื่อทวงคืนอากาศสะอาดได้เลย

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

“พออาจารย์ได้มีโอกาสคุยไปเรื่อย ๆ หลายคนที่รู้ก็ชอบ ตรงกับที่เขาต้องการ เขาก็มาสนับสนุนเราในแต่ละแบบเท่าที่เขาถนัด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่ไม่รู้ เพราะมันเยอะมาก เราจะทำอย่างไรให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือ บางคนรู้แต่ไม่ทำ หรือไม่สนใจก็มี”

ก่อนที่ร่างกฎหมายฉบับประชาชนจะได้เข้าไปในที่ประชุมรัฐสภา อ.คนึงนิจ และเครือข่ายอากาศสะอาดฯ ต้องรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้สนับสนุนให้ได้อย่างน้อย 10,000 รายชื่อ ตามกฎหมายกำหนดเสียก่อน แต่ที่น่าแปลกใจคือในยุคที่ประชาชนตื่นตัวกับประชาธิปไตย สิทธิขั้นพื้นฐานในการหายใจอากาศสะอาดกลับถูกมองข้าม และทีมงานก็ต้องใช้เวลากว่าจะทำให้คนเข้าใจถึงสิทธิในส่วนนี้ 

เนื้อหาจากร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชน ในส่วนกองทุนอากาศสะอาดที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของการปล่อยมลพิษ เป็นส่วนที่ประชาชนเข้าใจผิดมากที่สุด ซึ่ง อ.คนึงนิจ ยืนยันว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายของทีมงานเธอ ต้องมองกันที่สัดส่วนการปล่อยมลพิษ ไม่อาจเหมารวมว่าทุกคนทำผิดเท่ากัน

“มีคนพยายามสร้างวาทกรรมว่าทุกคนก็ก่อมลพิษ ซึ่งไม่ยุติธรรม บิดเบือน คนตัวเล็กตัวน้อยก็ก่อมลพิษนั้นใช่ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับโรงงานใหญ่ ๆ กับยานพาหนะซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ใช้รถ มันต้องมองสัดส่วนการปล่อยมลพิษจากโรงงาน และกรณียานพาหนะ มันต้องถอยหลังไปมองว่าใครสร้างรถขึ้นมา ใครผลิตน้ำมัน ใครทำให้รถติด ดังนั้น จะเอาสัดส่วนความรับผิดชอบให้เท่ากันหมด หรือเหมือนกันหมดไม่ได้

“ทุกคนต้องรับผิดชอบอยู่แล้วในแง่ของการจ่ายภาษี เพียงแต่ว่าไม่ควรเอาเงินทั้งหมดจากภาษีประชาชนรายเล็กรายน้อยรวมกันมาชดเชยให้กับคนที่ปล่อยมลพิษรายใหญ่ สำหรับคนที่ยังกังวลในเรื่องนี้ เราก็เตรียมคำอธิบายไว้หมดแล้วทุกข้อ ขอเพียงให้โอกาสเราได้อธิบาย”

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

ร่วมจับตาเนื้อหากฎหมายใหม่

ขั้นตอนการออกกฎหมายใหม่ อธิบายอย่างง่ายคือเริ่มจากเสนอกฎหมายเข้าสภา สภาเสนอให้นายกฯ รับรอง (เพราะเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน) เมื่อนายกฯ รับรองแล้ว ก็นำกลับมาบรรจุเป็นวาระในที่ประชุมรัฐสภา รัฐสภาก็พิจารณาในวาระแรกเพื่อรับหลักการไปแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา โดยคณะกรรมาธิการฯ นี้ มาจากตัวแทนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดแต่ละร่างรวม 7 ร่าง มาร่วมกันหารือเนื้อหาเพื่อเสนอร่างกฎหมายใหม่ว่าด้วยอากาศสะอาด แล้วส่งต่อให้ที่ประชุม สส. และสว. โหวตออกมาเป็นกฎหมายต่อไป

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป ตั้งแต่ยื่นร่างกฎหมายเข้าสภา อ.คนึงนิจ และเครือข่ายอากาศสะอาดฯ ในฐานะตัวแทนร่างกฎหมายฉบับประชาชนก็คอยจับตาและร่วมกดดันนายกรัฐมนตรีตั้งแต่สมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ให้ปัดตก ช่วงเลือกตั้งก็คอยจับตานโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ยกเรื่องอากาศสะอาดมาหาเสียง จนมาถึงสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ทีมของ อ.คนึงนิจ พร้อมด้วยกลุ่มผู้สนับสนุน ก็ยังคงกลับไปกดดันข้างทำเนียบฯ ไม่ให้นายกฯ ปัดตกร่างกฎหมายนี้ จนร่างกฎหมายฉบับประชาชนได้เข้ามาอยู่ในที่ประชุมรัฐสภาในที่สุด โดยร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับประชาชนได้เข้าสภาพร้อมกับฉบับคณะรัฐมนตรี และฉบับของพรรคการเมืองอีก 5 พรรค รวมทั้งหมด 7 ร่าง ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับประชาชนเป็นเพียงฉบับเดียวที่กล้านำเสนอประเด็นกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

“ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นคณะกรรมาธิการดูรายละเอียดของทั้ง 7 ร่าง เมื่อรวม 7 ร่างเหลือแค่ร่างเดียวเนี่ย เนื้อหาที่ประชาชนเสนอจะยังอยู่ไหม จะยังไม่ถูกปัดตกไปจนได้ชื่อว่า มีแค่ตัวชื่อ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับหนึ่ง แต่แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย เพราะอาจมีใครบางคนเสียผลประโยชน์”

สิ่งที่ อ.คนึงนิจ วิงวอนภาคประชาชนโดยเฉพาะสื่อมวลชน คือการร่วมจับตาดูการพิจารณากฎหมายใหม่ รักษาสิทธิที่พึงมีในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งทางเครือข่ายสะอาดฯ จะคอยนำเสนอความคืบหน้าเป็นช่วง ๆ อย่ารอให้ถึงวันที่ผลการพิจารณาออกมาแล้วค่อยให้ความสำคัญ…เพราะมันอาจสายเกินไป

“เครือข่ายอากาศสะอาดเป็นเพียงตัวนำร่อง แต่ประชาชนข้างหลังเราต้องเข้มแข็ง อย่างน้อยเท่าเราหรือมากกว่าเรา นี่คือหัวใจของความสำเร็จในงานครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อให้ทุกคนต้องไม่ตายเร็ว”

รศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม : สิทธิในอากาศสะอาดต้องไม่ให้ใครพรากไป

ประชาชนผู้สนใจและต้องการปกป้องสิทธิในลมหายใจของตัวเอง สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายอากาศสะอาดได้ทาง https://thailandcan.org/ 

 

ขอขอบคุณ

สนามกอล์ฟปัญญาอินทรา ผู้เอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์และถ่ายรูป

คุณวิชัย ปุญญะยันต์ วงพิงค์แพนเตอร์ ผู้ประสานงานสถานที่