อัล กอร์ ผู้เตือนเรื่องปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนานกว่า 40 ปี ถึงวันที่โลก(เริ่ม)รู้ตัว

อัล กอร์ ผู้เตือนเรื่องปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศนานกว่า 40 ปี ถึงวันที่โลก(เริ่ม)รู้ตัว

เส้นทางชีวิตของ อัล กอร์ (Al Gore) ผู้เตือนโลกถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และอุณหภูมิที่จะร้อนมากขึ้นมานานกว่า 40 ปี จนถึงวันนี้ ที่ทั่วโลก(เริ่ม)รู้ตัว และสัมผัสผลกระทบได้จริง

ในวันที่หลายคนสับสนกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เข้าหน้าร้อนแต่อากาศหนาว พอหนาวไม่กี่วันดันกลับมาร้อนระอุใกล้ระดับที่บางคนบอกว่า ร้อนจนร้องขอชีวิต สถานการณ์เหล่านี้น่าจะทำให้หลายคนหันกลับมาตั้งคำถามและหาคำตอบเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกันมากขึ้น

สำหรับผู้คนในแถบตะวันตก ประเด็นเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศถูกถกเถียงและขับเคลื่อนให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญมานานกว่าสิบปีแล้ว ถึงจะมีผู้พยายามผลักดันประเด็นเสมอมา ต้องยอมรับว่า กลับมีกลุ่มคนอีกฟากที่ยังปฏิเสธข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์อยู่

An Inconvenient Truth

ย้อนกลับไปเมื่อต้นทศวรรษ 2000s กระแสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ ท่ามกลางบทสนทนาในกระแสนี้ ศูนย์กลางของกระแสปรากฏชื่อภาพยนตร์สารคดี An Inconvenient Truth (2006) ซึ่งมี อัล กอร์ (Al Gore) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 เป็นผู้นำเสนอสไลด์ ชี้แจงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อโลกหากมนุษย์ยังคงผลิตก๊าซเรือนกระจก สร้างมลภาวะซึ่งจะย้อนกลับมาทำให้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์หลายสายพันธุ์ที่อาศัยร่วมโลกกับมนุษย์

ผลงานและเนื้อหาในครั้งนั้นทำให้ An Inconvenient Truth ถูกพูดถึงอย่างมาก ชิ้นงานประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัล ทำรายได้ทั่วโลกกว่า 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary Features) และรางวัลสายเพลงประกอบผลงานจากเวทีออสการ์ปี 2007 สารคดีดังกล่าวยังส่งให้อัล กอร์ ได้รับรางวัลโนเบล

เนื้อหาในภาพยนตร์สารคดีตั้งแต่ปี 2006 ถูกพูดถึงมานานหลายสิบปี นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันทางสิ่งแวดล้อมยังมองว่า ข้อมูลพื้นฐานส่วนใหญ่ในสารคดีสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แม้จะมีบางรายติงว่า รายละเอียดบางจุดอาจคลาดเคลื่อนหรือสื่อสารไม่ตรงความหมายไปบ้าง

ความสำเร็จในครั้งนั้นส่งแรงกระเพื่อมหลายด้าน กระทั่งสร้างภาคต่อออกมาในปี 2017 ใช้ชื่อว่า An Inconvenient Sequel: Truth to Power เนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงพัฒนาการทางสิ่งแวดล้อมหลังจากสารคดีอันลือลั่นเผยแพร่เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้

นับจากวันที่โลกได้ยินชื่อสารคดีของเขามาจนถึงวันนี้ เวลาผ่านมาร่วม 16 ปี ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหัวข้อสนทนาของคนในทุกบทบาท จากผู้นำทางการเมืองระดับสูง บุคคลในราชวงศ์สำคัญ ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ซึ่งออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคยมีมาก่อน

จุดเริ่มต้นความสนใจ

ก่อนที่คนทั่วโลกจะตระหนักรู้หรือสัมผัสกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วยตัวเอง อัล กอร์ สนใจเรื่องนี้เป็นครั้งแรกจากโรเจอร์ เรเวลล์ (Roger Revelle) นักวิทยาศาสตร์ที่ชาวอเมริกันยกให้เป็น บิดาแห่งวิทยาศาสตร์สายการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เมื่อเขาลองลงคอร์สของโรเจอร์ เรเวลล์ ทำให้อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ สนใจเรื่องโลกร้อน

พื้นเพของชายรายนี้เดิมทีแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรง เขาเป็นนักเรียนเอกภาษาอังกฤษมาก่อน ที่จริงแล้ว อัล กอร์ รู้สึกเบื่อกับสิ่งที่เรียนและกลับค้นพบความหลงใหลส่วนตัวในทางการเมือง ในปี 1976 เขาลาออกจากการเรียนด้านกฎหมายและมาลงสมัครรับเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) ประสบความสำเร็จจนมีที่นั่งในสภาเมื่อปี 1976 แถมได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีก 3 ครั้งในปี 1978, 1980 และ 1982

ปี 1981 อัล กอร์ เริ่มจัดการประชุมสมาชิกสภา (Congressional hearing) ในหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ บรรยากาศในยุค 80s เริ่มมีนักวิทยาศาสตร์และสื่อที่นำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะเรือนกระจก สภาพอุณหภูมิของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกันแล้ว

หลังเข้าสู่แวดวงการเมือง ปี 1983 อัล กอร์ เป็นประธานคณะกรรมการย่อยว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เวลานั้นมีการประชุมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะเรือนกระจกกันหลายครั้งแล้ว

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อัล กอร์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า เขาไม่มั่นใจว่าอารยธรรมของมนุษยชาติเคยเผชิญกับปัญหาลักษณะนี้หรือไม่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้สัญญาณเหล่านี้ ในเวลานั้นยังมีข้อถกเถียงว่า เราจะสัมผัสถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้เมื่อใด นั่นทำให้ประเด็นนี้ขับเคลื่อนมาถึงนักการเมือง ในแง่ว่านักการเมืองจะขับเคลื่อนนโยบายเพื่อเตรียมพร้อม รับมือ หรือจัดการกับแนวโน้มเหล่านี้อย่างไรบ้าง

สายงานทางการเมืองและการเคลื่อนไหว

ความท้าทายอีกอย่างในทางการเมืองคือ จะแก้ปัญหาที่(ยัง)มองไม่เห็นได้อย่างไร ในเวลานั้น ประเด็นนี้ดูเหมือนอยู่ห่างไกลจากประสบการณ์ในชีวิตของคนทั่วไป และยังเป็นปัญหาที่เกินเลยกำแพงเรื่องรัฐ-ชาติอีกเช่นกัน มันเป็นหัวข้อที่ใหญ่กว่าระดับประเทศใดประเทศหนึ่ง

อัล กอร์ ให้สัมภาษณ์ในปี 1983 ไว้ว่า การรับมือปัญหาที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว และหยุดยั้งผลกระทบนั้นได้ ต้องลงมือตั้งแต่เนิ่น ๆ

เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ จากสมัยที่อัล กอร์ หวังลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ มาจนถึงช่วงที่รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคบิล คลินตัน ช่วงปี 1993 เขาเริ่มผลักดันมาตรการภาษีทางพลังงานเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการปล่อยมลภาวะซึ่งส่งผลทำให้อุณหภูมิในโลกสูงขึ้น

น่าเสียดายที่มาตรการทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างในเวลานั้นไม่ได้ไปถึงสุดทาง เขาเริ่มหันไปในเส้นทางฮอลลีวูดบ้าง กระทั่งในปี 2004 หลังจากรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ The Day After Tomorrow ภาพยนตร์หายนะทางธรรมชาติอีกเรื่องหนึ่ง โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ มีโอกาสเห็นสไลด์นำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมของกอร์ พวกเขาสนใจในสิ่งที่เห็น เมื่อได้มาพบกับเดวิส กุกเกนไฮม์ (Davis Guggenheim) ผู้กำกับภาพยนตร์ก็พูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแปรรูปสไลด์มาเป็นภาพยนตร์ แม้ว่าเดวิส จะดูคลางแคลงใจเกี่ยวกับการผลิต เขากลับตกลงทำงานภายหลังได้ดูสไลด์นำเสนอเนื้อหา

ภาพยนตร์สารคดี An Inconvenient Truth เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2006 เนื้อหาในเรื่องฉายภาพอัล กอร์ นำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ผ่านสไลด์เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แตะไปถึงประเด็นเรื่องการเมือง-เศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับสภาพอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมอธิบายผลกระทบที่จะตามมาหากมนุษย์ยังไม่ลดกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

มลภาวะหลากหลายชนิดที่ส่งผลทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นส่งผลสืบเนื่องต่อมาถึงสิ่งแวดล้อม ไอความร้อนส่งผลต่ออุณหภูมิในมหาสมุทรอย่างต่อเนื่องซึ่งสิ่งที่ตามมาคือเกิดภัยธรรมชาติอันมีจุดกำเนิดมาจากมหาสมุทร อาทิ พายุเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น ไซโคลน ที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้น ไปจนถึงรบกวนวงจรของน้ำตามธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามไปเป็นลูกโซ่นำมาสู่ภัยธรรมชาติบนผืนแผ่นดิน เช่น ฝนตกหนักทำลายสถิติจนเกิดน้ำท่วม อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ความชื้นในผิวดินระเหยเร็วกว่าเดิม ภัยแล้งที่ตามมาจึงนานกว่าเดิมและส่งผลกระทบมากกว่าเดิม อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังทำให้น้ำแข็งในแอนตาร์ติกาละลายจนระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อผู้คนเริ่มสัมผัสปัญหาเหล่านี้ได้ในเวลาต่อมา คนจำนวนไม่น้อยอาจหันกลับมานึกถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงคนอย่างอัล กอร์ เคยนำเสนอข้อมูลเมื่อหลายสิบปีก่อนไว้

เมื่อเวลาผ่านไป

ปี 2021 ผู้นำทั่วโลกมาร่วมการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติซึ่งจัดขึ้นที่สหราชอาณาจักร การประชุมครั้งนั้นอาจเป็นสัญญาณที่ดีในมุมของกลุ่มที่อยากเห็นสิ่งแวดล้อมในโลกดีขึ้นกว่าเดิม

แต่สำหรับบางกลุ่มกลับวิจารณ์ว่า แม้ผู้นำประเทศมหาอำนาจจะมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้นทุกวัน การประชุมครั้งนั้นจะไม่ส่งผลใด หากผู้นำที่เข้าร่วมไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง ลดการปล่อยมลภาวะตามที่ได้พูดหรือให้คำมั่นสัญญาไว้

เสียงวิจารณ์ดังกล่าวคล้ายกับสิ่งที่อัล กอร์ พูดถึงพัฒนาการของการตระหนักรู้เรื่องปัญหาสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และเชื่อว่า ปี 2022 ควรเป็นปีที่ผู้นำเลิกพูด แล้วหันมาลงมือทำอย่างจริงจัง

ในช่วงโรคระบาดส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนทั่วโลก ผลการสำรวจพบว่า อัตราการปล่อยคาร์บอนลดลงราว 5 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูลเมื่อปี 2020)

แต่เมื่อกิจกรรมเริ่มกลับมาใกล้เคียงสภาวะปกติ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลายประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2021

ระหว่างโรคระบาดส่งผลกระทบไปทั่วโลก อัล กอร์ อาศัยในฟาร์มแถบแนชวิลล์ ทีมงานของอัล กอร์ ดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ในฟาร์ม เช่น เลี้ยงสัตว์ที่สามารถนำมูลมาทำปุ๋ยในการเกษตร ฟาร์มของอัล กอร์ ปลูกพืชหลายชนิด และนำส่งตลาดในท้องถิ่น ฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นเสมือนแล็บของอัล กอร์ ด้วย เขาเก็บตัวอย่างดินเพื่อมาทำการทดลองทำฟาร์มแบบที่เรียกว่า Regenerative Farming

ที่ผ่านมา อัล กอร์ สนับสนุนและลงทุนทางเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง เขาลงทุนในแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Climate Trace เป็นระบบที่ใช้ดาวเทียม และปัญญาประดิษฐ์ติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก อ่านถึงตรงนี้อาจมีคนคิดว่า สิ่งที่เขาทำคือเสมือนเป็น ตำรวจสิ่งแวดล้อม หรือเปล่า?

เขาปฏิเสธว่า ไม่ได้มานั่งติดตามเพื่อนบ้าน เขาแค่เผยแพร่ข้อมูลซึ่งคิดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาผลงานของประเทศต่าง ๆ ในแง่การลดมลภาวะ

จนถึงวันนี้ แม้ว่าจะมีตัวเลขสถิติ คำให้สัมภาษณ์จากนักวิทยาศาสตร์ บุคคลที่มีชื่อเสียงพูดถึงปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่ปฏิเสธข้อมูลนี้ และวิจารณ์คนอย่างอัล กอร์ ตัวเขาเองยังหวังว่าสิ่งที่เขาพูดมาคือเรื่องผิดมากกว่าจะให้มันเกิดขึ้นอย่างที่เห็น เหนือสิ่งอื่นใด อัล กอร์ คิดว่าสิ่งที่เขานำเสนอเป็นแค่การเผยแพร่ในสิ่งที่ชุมชนวิทยาศาสตร์ได้พยายามนำเสนอมาตลอด

“ผมพยายามพูดมานานแล้ว...” อดีตรองประธานาธิบดีพูดในตอนต้นของภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแห่งยุค 2000s

จนถึงวันนี้ อัล กอร์ ไม่คิดว่าเขาประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง วิกฤตสิ่งแวดล้อมยังคงรุนแรง คำถามที่สำคัญคือ เราจะแก้ไขมันได้ทันเวลาหรือไม่

แม้อัล กอร์ จะมองระดับของวิกฤตยังคงอยู่ในขั้นรุนแรง เขายังคงมีความหวังเมื่อได้เห็นคนรุ่นใหม่ทั่วโลกออกมาเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่อย่างเกรตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กหญิงวัยทีนที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าเบื่อกับคนมีอำนาจที่เอาแต่พูด และคนทั่วไปอยากจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น

อัล กอร์ ถึงกับอยากให้คนรุ่นใหม่หมุนปุ่มปรับระดับส่งเสียงขึ้นไปที่เลข 11 ด้วยซ้ำ อดีตรองประธานาธิบดีมองว่า ยิ่งคนรุ่นใหม่ยืนยันจุดยืนจะเคลื่อนไหวต่อ ยิ่งส่งเสียงดังและเผยแพร่ในวงกว้างมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ก่อขึ้น มนุษย์สามารถแก้ปัญหาได้เช่นกัน อัล กอร์ เชื่อแบบนั้น