รักแท้หรือแค่ชอบ? จิตวิทยาที่ว่าด้วยความต่างระหว่าง ‘รัก’ กับ ‘ชอบ’ โดย ‘ซิก รูบิน’

รักแท้หรือแค่ชอบ? จิตวิทยาที่ว่าด้วยความต่างระหว่าง ‘รัก’ กับ ‘ชอบ’ โดย ‘ซิก รูบิน’

ชวนอ่านใจตัวเองว่าความรู้สึกที่มีให้ใครบางคน สรุปแล้วเป็น ‘รักแท้’ หรือ ‘แค่ชอบ’

  • ‘ซิก รูบิน’ ศึกษาความแตกต่างระหว่างความรู้สึกรักและความชื่นชอบทั่วไป เพราะเขามองว่า บางครั้งคนเราอาจจะรู้สึกชื่นชมและชื่นชอบใครสักคนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นคือความรักเสมอไป 
  • นอกจากมาตรวัดดังกล่าว การศึกษาของรูบินยังมีอีกผลลัพธ์ที่น่าสนใจและถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ นั่นคือเรื่อง ‘การสบตา’ ของคู่รัก 
  • ข้อดีของทฤษฎีที่เกิดขึ้นทั้งหมด คงจะเป็นการช่วยจัดระบบความคิด จัดระเบียบความรู้สึกของเรา 

หากแรงดึงดูดไร้ชื่อเรียกปรากฏขึ้นภายในใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่านั่นคือความรัก?

เมื่อ ‘ความรู้สึก’ ไม่อาจชั่งตวงวัดหรือมองเห็นได้แจ่มชัดด้วยสายตา ทำให้หลายคราวมนุษย์อาจสับสนและว้าวุ่นใจ จึงเฝ้าหาคำอธิบาย แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ บ้างก็เป็นบทกวี บทเพลง ทฤษฎี หรือเรื่องราวต่าง ๆ 

แม้แต่ทางฝั่งจิตวิทยาเองก็มีคนที่เคยพยายามค้นหาคำตอบและวิธีวัดผลเพื่อขีดเส้นความรู้สึกให้แน่ชัดขึ้น ว่าแบบไหนคือ ‘ความรัก’ และแบบไหนคือ ‘ความชอบ’ กันแน่? 

หนึ่งในนักจิตวิทยาคนแรก ๆ ที่เริ่มศึกษาและหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาวัดความรู้สึกเหล่านี้ คือ ‘ซิก รูบิน’ (Zick Rubin) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ซึ่งได้ศึกษาความแตกต่างระหว่างความรู้สึกรักและความชื่นชอบทั่วไป เพราะเขามองว่า บางครั้งคนเราอาจจะรู้สึกชื่นชมและชื่นชอบใครสักคนได้ แต่ไม่ได้หมายความว่านั่นคือความรักเสมอไป 

เพราะรักนั้นลึกซึ้งเกินกว่า ‘การอยากจะใช้เวลาร่วมกัน’

ก่อนจะมีการทดลองขึ้นมา รูบินได้เสนอแนวคิดที่ว่า ‘องค์ประกอบของความรัก’ (Rubin’s Elements of Love) ควรจะมี 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่

  1. ความผูกพัน (Attachment) คือความปรารถนาที่จะได้รับความใส่ใจ รวมทั้งสัมผัสใกล้ชิดกับคนคนนั้น  
  2. ความใส่ใจ (Caring) คือการให้คุณค่า ให้ความสำคัญกับความสุขและความต้องการของอีกฝ่ายพอ ๆ กับตัวเราเอง
  3. ความใกล้ชิด (Intimacy) คือความต้องการแบ่งปันความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และความต้องการส่วนตัวกับอีกฝ่าย

ขณะที่ ‘องค์ประกอบของความชอบ’ จะเป็นเรื่องของความรู้สึกสนิทสนม (closeness), ชื่นชม (admiration), ความรู้สึกอบอุ่น (warmth) และนับถือ (respect) มากกว่า 

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า หากเราชอบใครสักคน เราอาจรู้สึกสบายใจและอยากจะใช้เวลาร่วมกับคนเหล่านั้น ขณะที่ความรู้สึกรักนั้นลึกซึ้งลงไปถึง การให้คุณค่าต่อความสุขและความต้องการของอีกฝ่ายมากพอ ๆ กับที่เราให้ความสำคัญกับตัวเอง 

ทว่ารูบินไม่ได้ตั้งทฤษฎีเอาไว้ลอย ๆ เพียงอย่างเดียว หากเขาได้หยิบมาต่อยอดเป็นมาตรวัดความรู้สึกที่เรียกว่า ‘Rubin’s Love and Liking Scale’ ในปี 1970 โดยเริ่มจากการให้คู่รักนักศึกษาระดับปริญญาตรีราว ๆ 200 คนตอบแบบสอบถามและให้คะแนนความรู้สึกของตัวเอง เมื่อนึกถึง ‘คนรัก’ เทียบกับ ‘เพื่อนรัก’ 

ผลลัพธ์ที่ได้นั้นสนับสนุนทฤษฎีที่เขาตั้งไว้ข้างต้น เพราะส่วนใหญ่เมื่อให้นึกถึงเพื่อนรัก คะแนนของมาตรวัดวัดความชอบ (liking scale) จะสูงกว่า ขณะที่การนึกถึงคนรักจะมีคะแนนของมาตรวัดความรัก (loving scale) ที่สูงกว่า ซึ่งแบบทดสอบดังกล่าวได้ถูกปรับปรุงและพัฒนาจนออกมาเป็นมาตรวัด 13 ข้อ เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างความชอบกับความรักในเวลาต่อมา

รักแท้หรือแค่ชอบ? จิตวิทยาที่ว่าด้วยความต่างระหว่าง ‘รัก’ กับ ‘ชอบ’ โดย ‘ซิก รูบิน’

นอกจากมาตรวัดดังกล่าว การศึกษาของรูบินยังมีอีกผลลัพธ์ที่น่าสนใจและถูกพูดถึงอยู่บ่อย ๆ นั่นคือเรื่อง ‘การสบตา’ ของคู่รัก 

โดยผลการศึกษาพบว่าคู่รักที่มีความสัมพันธ์อันยาวนานและยังคงลึกซึ้งเหนียวแน่น มีแนวโน้มที่จะสบตากัน 75% ของเวลาที่พูดคุยกัน เทียบกับค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปคือ 30 - 60% ดังนั้นนอกจากความรักจะเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดข้างในแล้ว ยังสามารถส่งผ่านความรู้สึกออกมาทางภาษากาย โดยเฉพาะสายตา (ที่หลอกกันไม่ได้) อีกด้วย 

ทฤษฎีความรักที่หาคำตอบได้อย่างไม่รู้จบ

ผลงานของรูบินนับว่าเป็นช่วงแรก ๆ ของการศึกษาความรักโดยใช้หลักฐานและมาตรวัดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีการต่อยอดและพัฒนาออกมาเป็นอีกหลากหลายแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบให้กับความรู้สึกอันแสนซับซ้อนเหล่านี้ในเวลาต่อมา 

อย่าง ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก’ (Sternberg’s Triangular Theory of Love) อันโด่งดังของนักจิตวิทยานามว่า ‘โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก’ (Robert Sternberg) ที่เล่าถึงรูปแบบความรักที่แตกต่างกันว่า ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. ความคุ้นเคยใกล้ชิด (Intimacy) ที่เปรียบเสมือนแก่นแกนความสัมพันธ์ทุกรูปแบบในระยะยาว
  2. ความรู้สึกเสน่หา (passion) ที่มักจะพบในความสัมพันธ์เชิงคู่รัก 
  3. ความผูกมัด (commitment) คือพันธะผูกพันทางใจหรือทางสังคม  

โดยสเติร์นเบิร์ก นิยามความรักแบบโรแมนติก (romantic love) ไว้ว่าประกอบด้วยความคุ้นเคยใกล้ชิด (Intimacy) และความรู้สึกหลงใหล (passion) โดยไม่จำเป็นต้องมีพันธะผูกมัดใด ๆ ส่วนความชอบจะมีเพียงความรู้สึกใกล้ชิดสนิทสนม (Intimacy) เพียงเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีความหลงใหลหรือพันธะผูกพันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

แม้ว่าปัจจุบันจะมีคำอธิบายและทฤษฏีเกี่ยวกับความรักหลากหลายรูปแบบ แต่แน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดอยู่เช่นเดียวกัน อย่างการศึกษาของรูบินที่คนทำแบบสอบถามจำกัดอยู่ในกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนถึงคนส่วนใหญ่ในชีวิตจริงที่มีหลากวัย หลายช่วงอายุ หรือแม้แต่เรื่องการสบตาที่อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องได้ อีกทั้ง ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ของมนุษย์นั้นยังคงเป็นเหมือนกล่องปริศนาอันน่าค้นหาไม่รู้จบ และต่อให้ชั่งตวงวัดอย่างไรก็ทำได้เพียงคาดเดาเท่านั้น 

ทว่าสิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เราได้เห็นจากทฤษฎีเหล่านี้ คือมนุษย์เราต่างไขว่คว้าหาความแน่นอนและการมองเห็นจับต้องได้ผ่านวิธีการต่าง ๆ บ้างก็หาคำตอบจากตัวเลข บ้างก็สังเกตจากสายตา ท่าทาง และสิ่งที่แสดงออกมา ซึ่งข้อดีของทฤษฎีที่เกิดขึ้นทั้งหมด คงจะเป็นการช่วยจัดระบบความคิด จัดระเบียบความรู้สึกของเรา 

อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้ได้กลับมาสะท้อนสิ่งที่กำลังรู้สึกได้แจ่มชัดมากขึ้นว่า นั่นคือความชื่นชอบ หรือความรู้สึกตกหลุมรักกันแน่

เพราะการรับรู้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร อาจช่วยให้เราก้าวต่อไปได้อย่างชัดเจนและมั่นคงมากยิ่งขึ้น

 

เรื่อง : ธัญญารัตน์ โคตรวันทา 

ภาพ : Pixels

อ้างอิง :
Verywellmind.com 
Sintelly.com 
Psychologistworld 
Optixopticians.com 
Psycnet.apa.org 
Psy.chula.ac.th