ความสัมพันธ์แบบ ‘Polyamory’ เมื่อความรักไม่ได้เป็นเรื่องของคนแค่สองคน

ความสัมพันธ์แบบ ‘Polyamory’ เมื่อความรักไม่ได้เป็นเรื่องของคนแค่สองคน

‘Polyamory’ ความสัมพันธ์แบบพหุรัก เป็นรูปแบบความรักที่มีคนมากกว่าสองคนในความสัมพันธ์ อาจจะเป็น สาม สี่ หรือมากกว่านั้น โดยที่ทุกฝ่ายยินยอม

  • พหุรัก (Polyamory) เป็นความสัมพันธ์ที่บุคคลในความสัมพันธ์มีคนรักมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป โดยต้องมาจากการตกลงปลงใจของทุกคนในความสัมพันธ์
  • ความสัมพันธ์เช่นนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศ แต่จริง ๆ แล้วเป็นความสัมพันธ์ที่อาจมีเรื่องเพศหรือไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้
  • เป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่อาจจะเหมาะกับบางคน แต่ก็อาจจะไม่ใช่สำหรับบางคน ดังนั้นจึงควรมีการพูดคุยอย่างละเอียด และทุกฝ่ายต้องมีอำนาจเท่ากัน และต้องมั่นใจว่าเราชอบจริง ๆ ไม่ใช่ถูก Gaslighting

“ฉันรู้สึกว่าความสัมพันธ์แบบพหุรัก (Polyamory) มีรากฐานสำคัญที่การสร้างรูปแบบความสัมพันธ์ที่เหมาะกับคุณอย่างอิสระ ไม่ใช่การก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียว (Monogamy) เพียงเพราะทุกคนรอบตัวคุณบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแค่อย่างเดียว”

‘วิลโลว์ สมิธ’ (Willow Smith) นักร้อง นักแต่งเพลง และนักแสดงสาวชาวอเมริกัน ออกมาเปิดเผยว่าตนเองมีความสัมพันธ์แบบ ‘พหุรัก’ (Polyamory) ในรายการ ‘Red Table Talk’ ที่เธอเป็นพิธีกรร่วมกับแม่ ‘เจดา พิงเก็ตต์ สมิธ’ (Jada Pinkett Smith) และ ‘เอเดรียนน์ แบนฟีลด์ - นอร์ริส’ (Adrienne Banfield-Norris) ผู้เป็นยาย เมื่อปี 2021 

สาเหตุเป็นเพราะวิลโลว์รู้สึกว่า บางครั้งการรักเดียวใจเดียวคือการ “ยึดติดอยู่กับแนวคิดของการเป็นเจ้าของ” และนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ Toxic เธอจึงเริ่มสนใจและเปิดใจมีความสัมพันธ์แบบมีคนรักมากกว่าหนึ่งคน

หากจะพูดถึงความรัก เราคงจะคุ้นชินกับความสัมพันธ์แบบ ‘รักเดียวใจเดียว’ (Monogamy) นั่นคือการมอบความรัก ผูกพัน และมีเซ็กซ์กับคู่รักแค่เพียงคนเดียว ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก เป็นค่านิยม วิถีปฏิบัติที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นแนวทางความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามครรลองศีลธรรมอันดีงาม และกลายเป็นบรรทัดฐานของความสัมพันธ์

แต่มันเป็นไปได้ไหม หากจะรักใครหลายคนพร้อมกัน?

“ผมก็รักเธอ เธอก็รักฉันเหมือนกัน แล้วฉันก็รักคนอื่นด้วย และเธอก็รักคนอื่นได้ มีหลายความสัมพันธ์ที่ต้องจบกันเพราะเราโดนตีกรอบเอาไว้ว่าเราต้องอยู่กับคนคนนี้เท่านั้น” ‘เบน ชลาทิศ’ เล่าถึงความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคนในรายการ Club Friday Show 

เมื่อไหร่ที่พูดถึงความสัมพันธ์ที่มีมากกว่าสองคน เรามักจะนึกถึงการนอกใจ คบซ้อน เป็นความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและผิดศีลธรรม อาจเป็นเพราะเราเติบโตมากับค่านิยมและวัฒนธรรมที่ปลูกฝังว่าความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวเป็นสิ่งที่ดีงาม

แต่ก่อนอื่นเราต้องแยกเรื่องการนอกใจ (Cheating) ที่หมายถึงการโกหกหลอกลวงแอบไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่นลับหลังคนรัก ออกจากความสัมพันธ์ที่มีมากกว่าสองคนเสียก่อน เราถึงจะสามารถทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนี้ได้

สัมพันธ์แบบ ‘รักเดียวใจเดียว’ (Monogamy) ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีนั้นมีขั้วตรงข้ามคือความสัมพันธ์แบบ ‘รักหลายคน’ (Consensual Non - Monogamy) เรียกสั้น ๆ ว่า ‘CNM’ 

ในสับเซตของ CNM จะมีความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ เช่นความสัมพันธ์แบบ ‘มีสามีหรือภรรยาหลายคน’ (Polygamy) ซึ่งเป็นค่านิยมแบบแผนของสังคมหรือศาสนาที่อนุญาตให้มีสามีหรือภรรยาได้หลายคน โดยแบ่งเป็นสองประเภท แบบแรกคือสามีมีภรรยาหลายคน (Polygyny) ส่วนแบบที่สองคือภรรยามีสามีหลายคน (Polyandry) 

นอกจากนี้ยังมี ‘ความสัมพันธ์แบบเปิด’ (Open relationship) คือความสัมพันธ์ที่มอบความรักให้คู่รักของตน แต่อนุญาตให้คนรักไปมีความสัมพันธ์ทางกายกับคนอื่นได้โดยปราศจากความรัก หรือกล่าวง่าย ๆ ว่ายินยอมให้มีเซ็กซ์กับคนอื่นแต่ไม่ให้ไปรักคนอื่นนั่นเอง

ส่วนความสัมพันธ์ที่ช่วงนี้คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมากคือความสัมพันธ์แบบ ‘พหุรัก’ (Polyamory) ที่เป็นความสัมพันธ์แบบมีคนรักได้หลายคน โดยต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของทุกคนในความสัมพันธ์ ในความสัมพันธ์นี้อาจมีเรื่องเซ็กซ์มาเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ได้ หากมีก็ต้องรักและมีเซ็กซ์แค่กับคนในความสัมพันธ์เท่านั้น

‘พหุรัก’ เมื่อความรักไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนสองคน 

ดร.อลิซาเบธ เชฟ (Elisabeth Sheff) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์แบบ Polyamory อธิบายไว้ในหนังสือ ‘When Someone You Love is Polyamorous’ ของเธอว่า ‘poly’ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกแปลว่า ‘มากมาย’ ส่วน ‘amor’ มาจากภาษาละตินแปลว่า ‘ความรัก’ 

ดร.อลิซาเบธเผยว่าหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เลือกที่จะหันหลังให้ความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวและมีคนรักหลายคนเพิ่มมากขึ้น เพราะมีมุมมองเกี่ยวกับ ‘ความรักที่แท้จริง’ เปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องแต่งงานมีพ่อ แม่ ลูก ตามขนบธรรมเนียมเดิมอีก พวกเขายังมองว่าการใช้ชีวิตในยุคใหม่ไม่มั่นคง จึงไม่จำเป็นต้องแต่งงานมีคนรักและคาดหวังว่าจะใช้ชีวิตบั้นปลายไปกับคนรักเพียงคนเดียว

ทุกวันนี้คนในสังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบพหุรักมากขึ้นเรื่อย ๆ คนดังหลายคนก็ออกมาเปิดเผยว่าตนเองมีความสัมพันธ์แบบพหุรัก รวมทั้งให้ความรู้เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจความสัมพันธ์แบบคนรักหลายคน เช่น เบลล่า ธอร์น (Bella Thorne), เอซรา มิลเลอร์ (Ezra Miller), เชลีน วูดลีย์ (Shailene Woodley) รวมถึงวิลโลว์ สมิธ (Willow Smith)

‘ลีแอนน์ เหยา’ (Leanne Yau) เจ้าของอินสตาแกรมและบล็อก ‘polyphiliablog’ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ Polyamory กล่าวในรายการ BBC Radio 1 Newsbeat ว่า “ผู้คนมีความต้องการในเรื่องเซ็กซ์ที่แตกต่างกัน ท้ายที่สุดแล้ว เราไม่สามารถเป็นทุกอย่างสำหรับคนรักของเราได้”

ในสายตาคนนอกอาจจะมองว่าการมีคนรักหลายคนเป็นความเห็นแก่ตัว ทว่าตามหลักการแล้ว Polyamory มีแนวคิดเกี่ยวกับการ ‘แบ่งปัน’ คือการแบ่งปันและมอบความรักให้กับคนรักที่มากกว่าหนึ่งคน 

“หลายคนคิดว่าการมีคนรักหลายคนคือความเห็นแก่ตัว แต่จริง ๆ แล้ว มันเป็นสิ่งที่ไม่เห็นแก่ตัวที่สุดที่คนคนหนึ่งจะทำได้ ฉันรักคู่ของฉัน และฉันก็อยากให้คนอื่นรักพวกเขาด้วย” ลีแอนน์กล่าว

เธอยังเล่าว่าพ่อแม่ชาวจีนของเธอผิดหวังเป็นอย่างมากเมื่อรู้ว่าเธออยู่ในความสัมพันธ์แบบ Polyamory หลังจากที่ทราบว่าแฟนหนุ่มของเธอมีแฟนสาวอีกคน พ่อแม่ก็คัดค้านอยากให้เธอออกมาจากความสัมพันธ์ เธอจึงแชร์วิดีโอของวิลโลว์ สมิธ ที่กล่าวถึงเรื่อง Polyamory ให้แม่ของเธอได้ดู

“ฉันคิดว่าตอนนั้นความคิดเห็นของแม่มาจากความไม่รู้ และเธอแค่ไม่อยากให้ฉันเจ็บปวด”

ลีแอนน์กล่าวถึงความสัมพันธ์แบบรักเดียวใจเดียวว่า “ฉันคิดว่าคนจำนวนมากเลือกมีคนรักคนเดียวเพราะมันเป็นที่ยอมรับของสังคม มันมาจากความปรารถนาที่อยากให้คนรักของคุณจะไม่รักใครนอกจากคุณ”

จนถึงตอนนี้ พหุรักยังไม่ใช่วัฒนธรรมกระแสหลัก และมักจะถูกเข้าใจผิดว่าหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเพศเป็นหลัก หลายคนที่มีความสัมพันธ์แบบพหุรักจึงต้องปิดบังเรื่องราวของตนเองจากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เพื่อนสนิท เพราะเกรงว่าจะถูกเลือกปฏิบัติ ถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ และถูกดูถูกความสัมพันธ์

“เมื่อฉันเปิดตัวว่าเป็นไบเซ็กชวล และมีความสัมพันธ์แบบพหุรัก แล้วก็เป็นนอน - ไบนารี่ ญาติพี่น้องกว่า 30 คนก็เลิกติดต่อกับฉัน” ‘ไดอาน่า อดัมส์’ (Diana Adams) ทนายความและนักเคลื่อนไหวสนับสนุนกฎหมายเพื่อ LGBTQ+ และสถาบันครอบครัว LGBTQ+ และความสัมพันธ์แบบพหุรัก เล่าถึงประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติไว้ในรายการ TED Talk ในปี 2023

สิ่งที่ทั้งวิลโลว์ สมิธ, ลีแอนน์ รวมทั้งไดอาน่าพูดตรงกันก็คือ Polyamory ไม่ได้ถูกหรือผิด แต่เป็นทางเลือกในการมีความสัมพันธ์ที่ควรถูกมองด้วยความตระหนักรู้และความเห็นอกเห็นใจ 

การมีรักเดียวใจเดียวยังคงเป็นวิถีความสัมพันธ์ที่ดีงาม แต่อาจไม่ใช่แนวทางเดียวที่เหมาะสมสำหรับทุกคนในการกำหนดความสัมพันธ์ พหุรักก็ไม่ได้เหมาะสมกับทุกคนเช่นกัน อย่างไรก็ตามการพูดคุยเรื่องการมีคนรักหลายคนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุณต้องมีอำนาจในความสัมพันธ์เท่ากัน และต้องมั่นใจว่าเราพอใจยินยอมกับการมีคนรักหลายคนจริง ๆ ไม่ใช่ถูก Gaslighting 

เบน ชลาทิศ กล่าวว่า “ถ้ามีคนเชื่อว่าความรักมันต้องเป็นหนึ่งกับหนึ่ง ผมก็แค่เป็นอีกหนึ่งคนที่รู้สึกว่าความรักมันมีให้ได้มากกว่าหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันจะไม่จำกัด 2 คนหรือ 3 คน ความรักก็คือความรัก”

ยังมีความสัมพันธ์อีกหลากหลายรูปแบบบนโลกใบนี้ที่รอให้เราเรียนรู้ ตราบใดที่ความสัมพันธ์อันซับซ้อนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ทำร้ายใคร เราไม่ควรไปตัดสิน หรือตำหนิความสัมพันธ์ของคนอื่น และการเปิดใจเรียนรู้จะทำให้ผู้คนที่หลากหลายบนโลกกว้างสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้

 

เรื่อง : อารียา อวนอ่อน (The People Junior)

ภาพ : Pexels

อ้างอิง :

พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์. (2563). ภาพแทนความสัมพันธ์แบบ ‘พหุรัก’ (polyamory) ในสื่อออนไลน์ของไทย. วารสารมนุษยศาสตร์สาร, 21(3), 63-84. จาก Representations of Polyamorous Relationships in Thai Online Media

Polyamorous relationships may be the future of love

What Is Polyamory, And How Do Polyamorous Relationships Work? Experts Explain

Why Many Young People See Polyamory as a Reasonable Strategy

Polyamory is a quietly revolutionary political movement

Willow Smith opens up about being polyamorous

POLYAMORY 101 with Leanne Yau! Come Curious

Love, Liberty, and the Pursuit of Polyamory: A Look Under the Covers of Nonmonogamy and Its Burgeoning Civil Rights Battle

Why US Laws Must Expand Beyond the Nuclear Family | Diana Adams | TED

Club Friday Show เบน ชลาทิศ [3/4] - วันที่ 9 ก.ย. 2566 | CHANGE2561