นักวิชาการที่ศึกษาชีวิตผู้ก่อเหตุกราดยิงเชิงลึก เพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนเกิดเหตุ

นักวิชาการที่ศึกษาชีวิตผู้ก่อเหตุกราดยิงเชิงลึก เพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนเกิดเหตุ

จิลเลียน พีเตอร์สัน และเจมส์ เดนสลีย์ นักวิจัยที่ศึกษาผู้ก่อเหตุกราดยิงเชิงลึก เข้าใจชีวิตผู้ลงมือ เพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนเกิดเหตุ

  • จิลเลียน พีเตอร์สัน และเจมส์ เดนสลีย์ ทำวิจัยศึกษาผู้ก่อเหตุกราดยิงซึ่งนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
  • ทั้งคู่เสนอให้ทำความเข้าใจชีวิตผู้ก่อเหตุเชิงลึก ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่แนวทางการป้องกันและอาจจับสัญญาณบ่งชี้บางอย่างก่อนจะเกิดเหตุขึ้น

ในยุคที่เกิดเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ แบบผิดปกติ มีนักวิชาการที่ศึกษาผู้ก่อเหตุกราดยิงแบบเชิงลึกเพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนเกิดเหตุ พวกเขาคือ จิลเลียน พีเตอร์สัน และเจมส์ เดนสลีย์

ทั้งคู่ทำวิจัยจนนำมาสู่แนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงข้อเสนอแนะเรื่องการทำความเข้าใจชีวิตของผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่เชื่อว่ามีส่วนป้องกันเหตุได้

จิลเลียน พีเตอร์สัน (Jillian Peterson) และเจมส์ เดนสลีย์ (James Densley) คือสองชื่อที่มักปรากฏตามหน้าสื่อในสหรัฐอเมริกาเมื่อเกิดการถกเถียงเกี่ยวกับเหตุกราดยิงในที่สาธารณะ พวกเขาเป็นนักวิจัยที่ได้รับการยอมรับระดับชาติและในเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Violence Project ที่รวมฐานข้อมูลการก่อเหตุกราดยิงและศึกษาแนวทางการป้องกันอาชญากรรม

พวกเขามีความเห็นว่า การป้ายความผิดทั้งหมดให้แก่ปัจเจกบุคคลเป็นสมมติฐานที่ไปผิดทาง ทำให้สังคมพลาดโอกาสในการป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งถัดไปที่อาจเกิดขึ้น

พีเตอร์สัน และเดนส์ลีย์ ศึกษารวบรวมประวัติชีวิตของ 180 อาชญากรซึ่งกราดยิงในที่สาธารณะนับแต่ปี 1966 อย่างลึกซึ้ง โดยสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดของอาชญากร เช่น คู่สมรส พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนในวัยเด็ก เพื่อนร่วมงานและครู สองนักวิจัยยังมีโอกาสได้สัมภาษณ์อาชญากรกราดยิงที่รอดชีวิตและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจำนวน 5 คน ระหว่างการวิจัยยังพบบุคคลมากมายที่มีแรงจูงใจต้องการก่อเหตุกราดยิงแต่เกิดเปลี่ยนใจในท้ายที่สุด

สองนักวิจัยไม่เลือกใช้คำว่า สัตว์ประหลาด ปีศาจ หรือคนโรคจิตมาเรียกอาชญากรผู้ก่อเหตุ ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการติดตามประเด็นการเมืองเรื่องสุขภาพจิตและเรียกร้องแนวทางการจัดการที่เป็นรูปธรรม เพราะการกราดยิงไม่ใช่แค่เพียงการฆาตกรรม แต่เป็นปัญหาการฆ่าตัวตาย ดังนั้น นโยบายด้านสุขภาพจิตจึงควรเป็นหนึ่งในก้าวที่สำคัญของการป้องกันการกราดยิงก่อนที่อาชญากรจะหยิบปืนขึ้นลั่นไก

หนังสือ The Violence Project: How to Stop a Mass Shooting Epidemic ที่ต่อยอดมาจากงานวิจัยของพวกเขาได้เปิดเผยจุดร่วมในเส้นทางชีวิตของอาชญากรติดอันดับหนังสือขายดีในสหรัฐอเมริกา ข้อค้นพบจากการวิจัยของพวกเขาถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง นำมาสู่การวางฐานข้อมูลเพื่อคาดการณ์การก่ออาชญากรรมล่วงหน้าและปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานของตำรวจเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรม หรือ ‘The R-Model’ ที่มุ่งเน้นการระงับเหตุด้วยสันติอีกด้วย

 

สองศาสตราจารย์ผู้เปิดมุมมองใหม่ในการแก้ไขปัญหากราดยิง

เจมส์ เดนส์ลีย์ เป็นนักสังคมวิทยาและศาสตราจารย์ด้านความยุติธรรมทางอาญาที่มหาวิทยาลัย Metropolitan State เดนส์ลีย์ จบปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในวัยเพียง 37 ปี เขาอุทิศตนทำงานเพื่อยุติอาชญากรรมที่รุนแรงทั้งในด้านวิชาการ การกุศล การศึกษา รวมถึงการเป็นนักเขียนและนักพูดใน TED Talk รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มอบรางวัล Point Of Light ให้แก่เขาในปี 2017 เพื่อเชิดชูการอุทิศตัวทำงานเพื่อสังคมมาอย่างยาวนาน

จิลเลียน พีเตอร์สัน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยาและความยุติธรรมทางอาญาที่มหาวิทยาลัย Hamline เธอจบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย นอกจากงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาและอาชญากรรมแล้ว พีเตอร์สันยังทำงานเป็นนักสืบสวนพิเศษให้กรมตำรวจนครนิวยอร์ก เป็นนักเขียนและนักวิชาการที่ให้ความคิดเห็นกับสื่อเมื่อเกิดการกราดยิง และเป็นนักพูด TED Tallk ที่มีชื่อเสียง

 

The Violence Project

เดนส์ลีย์และพีเตอร์สัน ร่วมกันก่อตั้ง The Violence Project หรือศูนย์การศึกษาวิจัยเพื่อสังคมด้านอาชญากรรมและความรุนแรงขึ้นในปี 2017 มีเป้าหมายสร้างฐานข้อมูลอาชญากรรมเพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนานโยบายแนวทางการป้องกันและจัดการความรุนแรง

โครงการนี้ได้รับทุนในการศึกษาวิจัยการกราดยิงโดยสถาบันเพื่อความยุติธรรมแห่งชาติ การวิจัยขององค์กรยังครอบคลุมถึงลัทธิการก่ออาชญากรรมโดยกลุ่มหัวรุนแรง อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต บาดแผลทางใจและสุขภาพจิต รวมไปถึงการก่ออาชญากรรมในผู้เยาว์อีกด้วย

The Violence Project บุกเบิกการป้องกันภาวะวิกฤติทางสุขภาพจิต และคิดค้น The R-Model หรือแนวทางการปฏิบัติงานของตำรวจในการตอบสนองต่ออาชญากรรมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะวิกฤติทางสุขภาพจิต เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การกราดยิง จากที่เดิมทีเน้นการใช้ความรุนแรงมาตอบสนองเพื่อหยุดสถานการณ์อย่างเด็ดขาด ไปสู่การลดการปฏิบัติการลง (De-escalation) เน้นลดความเสียหาย ลดการเสียชีวิต ทำให้ผู้ก่อเหตุสงบลง โดยใช้การพูดคุยและเทคนิคทางจิตวิทยา

 

แนวทางการป้องกันการกราดยิงในที่สาธารณะที่กำลังนำไปผิดทาง

ประชาชนทุกคนในสังคมเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมสะเทือนขวัญอย่างการกราดยิงในที่สาธารณะ นอกจากเป็นนักวิชาการและประชาชนแล้ว พีเตอร์สันและเดนส์ลีย์ยังเป็นพ่อและแม่ที่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนทั้งที่มีเหตุการณ์กราดยิงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา พวกเขาทำงานวิจัยนี้ไม่ใช่แค่ในฐานะนักวิชาการ แต่ในฐานะสมาชิกของสังคมด้วย

โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาบางแห่งเริ่มสอนแนวทางการป้องกันตัวให้แก่เด็กนักเรียนว่าจะต้องวิ่งและซ่อนตัวอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิง โรงเรียนบางแห่งในสหรัฐฯ ติดเครื่องตรวจจับโลหะและมีเจ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยติดอาวุธ แต่ผู้คนก็เริ่มตระหนักได้ว่าแนวทางเหล่านี้ไม่ได้ผล

ผลงานวิจัยของ The Violence Project พบว่า 91% ของการกราดยิงในสถานที่ทำงาน, 89% ของการกราดยิงในมหาวิทยาลัย และ 85% ของการกราดยิงในโรงเรียนเกิดขึ้นโดย ‘คนใน’ หรือคนที่ไม่ใช่คนแปลกหน้าของสถานที่นั้น พวกเขาจะรู้จักสถานที่และสามารถเข้าออกได้อย่างสะดวกสบายอยู่แล้ว พวกเขาไม่ใช่คนแปลกหน้าโรคจิตที่บังเอิญผ่านมาเป็นครั้งแรก

การมองว่าการกราดยิงกระทำโดยปีศาจโหดร้ายที่ต่างจากบุคคลอื่นในสังคมโดยสิ้นเชิงจึงเป็นความล้มเหลวของการค้นหาคำตอบให้แก่คำถามที่ว่า “ทำไมอาชญากรจึงก่อเหตุกราดยิงในที่สาธารณะ” และไม่นำไปสู่การพัฒนาแนวทางการป้องกันที่ใช้ได้จริงแต่อย่างใด

 

การแปะป้ายอาชญากรว่าสัตว์ประหลาดคลั่งไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา

เดนส์ลีย์ กล่าวในการสัมภาษณ์ต่อสาธารณะว่า การอธิบายเหตุการณ์กราดยิงในฐานะการกระทำของปีศาจ เป็นอาชญากรรมบนฐานความเกลียดชังหรือการก่อการร้ายอาจทำให้สังคมรู้สึกดีขึ้นเนื่องจากฟังเหมือนกับว่าเราได้พบแรงจูงใจและแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่แท้จริงแล้ว เราไม่ได้ค้นพบอะไรเลย เราแค่อธิบายเพื่อและปัดปัญหาพ้นไปจากตัวเราเท่านั้น

การแปะป้ายเหล่านี้เป็นการนิยามที่มีปัญหาและเบี่ยงเบนเราไปจากการมองให้เห็นว่า ‘ผู้กราดยิงคือเรา’ (Mass shooters are us) เพื่อปฏิเสธการเชื่อมโยงเราเข้ากับการกระทำอันเลวร้ายของปัจเจกบุคคล เพียงไม่กี่วันก่อนที่ปัจเจกบุคคลเหล่านั้นทำการกราดยิง เขาคือลูกชายของใครบางคน เป็นหลานของใครบางคน เป็นเพื่อนข้างบ้าน เป็นเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมชั้นเรียน สังคมต้องตระหนักถึงพวกเขาในฐานะบุคคลที่กำลังมีปัญหาด้วยก่อนหน้าที่เขาจะก่อเหตุ หากเราต้องการจะป้องกันไม่ให้เขากลายเป็นปีศาจ

พีเตอร์สันยกตัวอย่างกรณี The Buffalo Shooter ซึ่งผู้กราดยิงเคยบอกกับครูของเขาว่าจะก่อเหตุฆาตกรรมเพื่อจบชีวิตตนเองหลังจบการศึกษา แต่คนทั่วไปมักไม่คุ้นชินกับการถือเอาความคิดเหล่านี้เป็นเรื่องจริงจัง เพราะภาพจำของเขาต่ออาชญากรกราดยิงคือ ‘ปีศาจ’ ‘อาชญากรโรคจิต’ แต่เด็กในชั้นเรียนคนนี้ไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงกับคำนิยามเหล่านั้นเลย

งานวิจัยพบหลักฐานที่ชัดเจนว่า 70% ของเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐฯ อาการทางจิตเวชไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด มีเพียง 10.5% ของอาชญากรเท่านั้นที่มีภาวะทางจิตรุนแรง

 

การกราดยิงคือการฆ่าตัวตาย

“อาชญากรกราดยิงจะศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรคนอื่น หาจุดเชื่อมโยงและบอกตนเองว่า ยังมีคนอื่นที่รู้สึกเหมือนฉัน” เดนส์ลีย์กล่าว

จากการวิจัย เดนส์ลีย์และพีเตอร์สันพบว่า ทุกกรณีการกราดยิงมักมีแนวทางปูพื้นฐานมาคล้ายคลึงกัน อาชญากรมักมีบาดแผลทางใจในวัยเด็กเป็นจุดตั้งต้น อาจเป็นความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศ การกลั่นแกล้ง การฆ่าตัวตายของพ่อแม่ ความเจ็บปวดเหล่านั้นทับถมซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลายเป็นความสิ้นหวัง ความปรารถนาที่จะกระทำบางอย่าง ความโดดเดี่ยว ความเกลียดชังตนเอง การถูกปฏิเสธจากคนรอบข้าง และกลายเป็นจุดวิกฤติในชีวิตที่ส่งผลให้พวกเขาเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งอาจมีการพยายามฆ่าตัวตายเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว

จากงานวิจัยของทั้งคู่พบว่า ‘จุดวิกฤติ’ ในชีวิตของผู้ก่ออาชญากรรมกว่า 80% นั้นสามารถระบุได้ชัดเจน ในจำนวน 80% นี้ 40.6% พบจุดวิกฤติในชีวิตมาเป็นเวลาหลักปี 29.7% อยู่ในวิกฤติเป็นเวลาหลักเดือน การก่อร่างแรงจูงใจในการเหนี่ยวไกจึงใช้เวลาและไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

การก่อเหตุกราดยิงคือการฆ่าตัวตายหลังต้องเผชิญภาวะจุดวิกฤติในชีวิต ผู้ก่อเหตุรู้ดีว่าชีวิตของเขาจะจบลงในวินาทีที่เขาลั่นไก อาชญากรได้ออกแบบการกราดยิงให้เป็นดั่งการกระทำทิ้งทวนครั้งสุดท้าย และหลังจากนั้น เขาจะต้องตาย

สิ่งที่แตกต่างจากการฆ่าตัวตายโดยทั่วไปคือ ความเกลียดชังตนเองได้หันมุมมองไปยังกลุ่มคนและสังคม อาชญากรจะเริ่มตั้งคำถามต่อตัวเองว่า “นี่เป็นความผิดของใคร” กลุ่มผู้หญิง หรือกลุ่มศาสนา หรือกลุ่มเพื่อนของเขา นอกจากนี้ยังมีความต้องการแสวงหาชื่อเสียงและสร้างเหตุการณ์อื้อฉาวอีกด้วย

พีเตอร์สันกล่าวว่า สังคมมักไม่ทันตระหนักว่าการกราดยิงคือการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เพียงการฆาตกรรม แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะมองการฆาตกรรมสั่นสะเทือนจิตใจนี้ให้ลึกลงไปเห็นการฆ่าตัวตายที่ซ่อนอยู่ และลึกลงอีกว่าก่อนที่คน ๆ หนึ่งจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย สังคมที่เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งมีบทบาทแค่ไหนในการตัดสินใจครั้งนี้

แต่มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกกรณีความเป็นไปได้นี้ขึ้นมาวิเคราะห์บนฐานของหลักการการป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีอยู่แล้วและสามารถนำมาประยุกต์ปรับใช้ได้จริงในปัจจุบัน

 

ป้องกันก่อนที่จะสายเกินไป

การป้องกันการกราดยิงคือการตระหนักให้เห็นถึงข้อน่ากังวล หรือ Red Flag ของบุคคลที่มีความเสี่ยงก่อนเกิดเหตุ ในกรณีผู้ก่อเหตุกราดยิงที่เป็นเยาวชนมักมีการส่งสัญญาณบางอย่างที่แสดงถึงสภาวะทางจิตใจที่ใกล้แตกหัก เช่น การร้องไห้หรือการโพล่งออกมาว่า “ฉันไม่สนใจอีกแล้วว่าจะอยู่หรือจะตาย” การแสดงออกเหล่านี้คือการขอความช่วยเหลือและเรียกร้องให้ใครบางคนหยุดเขา ส่วนหนึ่งในใจของเขาอาจไม่ได้ต้องการก่อเหตุเหล่านี้

การวิจัยของ The Violence Project พบข้อบ่งชี้สัญญาณพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของอาชญากรก่อนการลงมือก่อเหตุอาชญากรที่ชัดเจน นั่นคือการสร้างความปั่นป่วนหรือก่อปัญหา พฤติกรรมก้าวร้าว การแยกตัว การหลุดจากความเป็นจริง ภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน และมีภาวะหวาดระแวง เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย อาชญากรเกือบครึ่งที่ก่อเหตุมักพบอย่างน้อย 1-4 พฤติกรรมบ่งชี้เหล่านี้

ในแนวทางตามกฎหมายแล้ว ไม่มีใครมีหน้าที่พาบุคคลที่แสดงออกถึงพฤติกรรมเสี่ยงและมีประวัติเสี่ยงเข้าพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจัง เจ้าพนักงานไม่มีแนวทางหรืออำนาจปฏิบัติการในกรณีที่ยังไม่เกิดเหตุขึ้นเพราะเขายังไม่ได้กระทำการใดที่สามารถมองได้ว่าเป็นภัยคุกคามตามมุมมองของกฎหมาย เราจึงสูญเสียโอกาสความเป็นไปได้ในการหยุดอาชญากรรมในอนาคต

ความท้าทายในการพัฒนาเสริมสร้างระบบสนับสนุนทางสุขภาพจิตจึงเป็นอีกหนึ่งในแนวทางการป้องกันอาชญากรรมการกราดยิงในที่สาธารณะ พีเตอร์สันกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกานั้น โรงเรียนควรมีทรัพยากรในการช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตและส่งต่อพวกเขาไปยังผู้เชี่ยวชาญ  ปัญหาในตอนนี้คือบริการทางสุขภาพจิตยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ไม่มีบริการทางสุขภาพจิตในชุมชนหรือโรงเรียน

แม้บางคนอาจคิดว่า งานวิจัยและข้อค้นพบของจิลเลียนและเจมส์ฟังดูแล้วให้ความเห็นอกเห็นใจแก่อาชญากร แต่เขาทั้งสองคนยืนยันว่า เขาไม่ได้พยายามจะหาข้อแก้ตัวให้การกระทำของผู้ก่อเหตุกราดยิง เขาทำวิจัยเส้นทางที่นำมาสู่การก่อเหตุของอาชญากรเพื่อสร้างฐานข้อมูลนำมาใช้หาแนวทางการแก้ปัญหา ถ้าเราไม่ต้องการทำความเข้าใจเส้นทางชีวิตของอาชญากรก่อนการก่อเหตุ เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้เลย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาเพียงแนวทางเดียวที่จะแก้ปัญหาใหญ่ให้สำเร็จได้ ไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาใดสมบูรณ์พร้อม สังคมต้องลงมือแก้ปัญหาจากหลายทางร่วมกันและเข้าใจว่า หนทางสู่การแก้ปัญหานั้นไม่ได้ง่ายดาย

แนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ในตอนนี้ ในฐานะปัจเจกบุคคลในสังคม สามารถเริ่มได้ด้วยการทำสิ่งที่ง่ายดายที่สุดอย่างการสอบถามความรู้สึกของลูกหลานและคนรอบข้าง

ปัจจุบัน เดนส์ลีย์และพีเตอร์สันยังคงทำงานหนักเพื่อวิจัยและมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายป้องกันการกราดยิงในที่สาธารณะ อบรมเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อใช้ The R-Model ในการระงับเหตุความรุนแรงรวมถึงติดตามวัดผลและพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

แนวทางการศึกษาวิจัยและการทำงานของทั้งสองนักวิจัยอาจเป็นข้อมูลที่มีค่าสำหรับประเทศไทยซึ่งปัญหาการกราดยิงควรได้รับความสนใจจากรัฐบาลในทันที เพื่อวางแผนป้องกันระงับเหตุที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

เรื่อง: จอมเทียน จันสมรัก

ภาพ: จิลเลียน พีเตอร์สัน และเจมส์ เดนส์ลีย์ ไฟล์ภาพจากเว็บไซต์ The Violence Project และภาพจากกล้องวงจรปิดขณะจับกุมผู้ก่อเหตุรายหนึ่งในสหรัฐฯ ใช้เป็นภาพประกอบเนื้อหาเท่านั้น ไฟล์ภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

politico.com

theviolenceproject.org

powerdms.com

Linkedin/jamesdensley/

Wikipedia.org/James_Densley

hamline.edu

jillianpeterson.com