15 ก.ค. 2568 | 18:00 น.
KEY
POINTS
‘Kenny’s house’ บ้านไม้หลังเล็กซ่อนตัวอยู่ในเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีเจ้าของบ้านชื่อว่า ‘วิทยา ศรีม่วง’ หรือ ที่ชาวบ้านต่างเรียกกันว่า ‘ครูเก่ง’
ครั้งหนึ่งเมื่อเรามีโอกาสไปเยือนที่ Kenny’s house และได้สนทนากับ ‘ครูเก่ง’ หรือ ‘พี่เก่ง’ ของใครหลายคน สิ่งที่เรารู้สึกทึ่งแกมด้วยความประหลาดใจก็เพราะว่า เขาเป็นอะไรหลายอย่าง ทั้งศิลปินวาดภาพ ครูที่เคยสอนวาดรูป นักเขียนนามปากกา Kenny keng เขียนหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองพิชัย วรรณกรรมเยาวชน และอื่น ๆ มิหนำซ้ำ เขายังพานักท่องเที่ยวเที่ยวชมเมืองพิชัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวิถีชุมชนของเมืองแห่งนี้
และความประหลาดใจที่ว่าของเราอยู่ตรงที่ ทำไมคนคนหนึ่ง ถึงมีสิ่งที่ทำได้มากมายขนาดนี้ ที่สำคัญ เขายังซ่อนตัวอยู่ในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้
‘เมืองพิชัย’ เมืองที่ใครหลายคนอาจไม่รู้จัก หรือเมืองที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไป
ก้าวแรกเมื่อเราเดินเข้าไปใน Kenny’s house สิ่งที่เราสัมผัสได้ คือ มิตรภาพรอยยิ้มจริงใจจากครูเก่งที่พร้อมตอนรับแขกผู้มาเยือน
บทสนทนาระหว่างเราดำเนินไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่สะดุดตาเรามากที่สุด คือ ‘แผนที่โบราณของเมืองพิชัย’
‘ครูเก่ง’ เล่าให้ฟังถึงแผนที่ผืนใหญ่บนผ้าเเคนวาสซึ่งตั้งอยู่ภายในห้องทำงานว่า เขาเป็นผู้วาดแผนที่นี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง พร้อมยังเล่าถึงกลยุทธ์การศึกในสมัยโบราณ ในยุคสมัยที่พระเจ้าตากสินออกรบ โดยมีพระยาพิชัย (จ้อย) เป็นทหารเอก
ยิ่งเราฟังเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทึ่งในความเก่งกล้าสามารถของคนสมัยก่อน และทึ่งในความรู้จากผู้เล่าตรงหน้า ที่สามารถนำเรื่องราวที่ยากแก่การเข้าใจ มาเล่าให้ฟังได้อย่างสนุกสนานและน่าติดตาม ก่อนที่เราจะถามตรง ๆ ว่า...
“พี่มีความสามารถมากมายขนาดนี้ ทำไมถึงมาซ่อนตัวอยู่ในเมืองพิชัยเล็ก ๆ แบบนี้”
เขายิ้มเล็ก ๆ ก่อนจะค่อย ๆ บอกเล่าเรื่องราวมากมาย โดยพอสรุปใจความได้ว่า
เมื่อก่อน เขาก็เป็นคนหนึ่งที่เคยแสวงหาความสำเร็จ ชื่อเสียงเงินทอง และนั่นทำให้เขาเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ไม่ต่างจากผู้คนทั่วไป และในครั้งหนึ่งบนเส้นทางศิลปินวาดรูป เขาเคยประสบความสำเร็จสูงสุด คือ มีโอกาสได้ไปจัดแสดงผลงานศิลปะ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
เขายังเล่าอีกว่า ชีวิตในช่วงเวลานั้นประสบความสำเร็จอย่างที่ใฝ่ฝัน และมีชื่อเสียงเงินทองตามมามากมาย เรียกได้ว่า เป็นความสำเร็จสูงสุดของชีวิตการงานเลยทีเดียว แต่เขากลับค้นพบว่า ในวันที่เขาก้าวถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จในชีวิตแล้ว ไม่รู้ทำไมเขากลับไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่เขาควรจะได้เสพความสุขอย่างที่เคยไฝ่ฝัน
ในวันนั้นเขาพบว่า ความสำเร็จที่ได้มานั้นจอมปลอม เพราะมันอยู่กับเราไม่นานแล้วก็จากไป แต่มันกลับทำให้เราเสพติดชื่อเสียงจอมปลอมนั้น และโหยหาต้องการมันอย่างไม่รู้จบ ในช่วงเวลานั้น เขาเลยมีชีวิตเหมือนกับคนที่ต้องวิ่งแข่งมาราธอนอยู่ตลอดเวลา และไม่รู้ว่าการวิ่งแบบนั้นจะจบลงเมื่อไหร่ ทำให้เขาต้องใช้ความพยายามหนักมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงเงินทอง ความสำเร็จที่ไม่มีวันยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเลือกเดินออกมาจากเมืองใหญ่ กลับมาสู่บ้านของพ่อ บ้านหลังเก่าในเมืองพิชัย และเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก โดยไม่สนใจเสียงซุบซิบนินทาจากผู้คนภายนอก เพราะสำหรับเขาแล้ว ความสำเร็จที่แท้จริง คือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้อยู่กับครอบครัว และได้แบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะทำได้ เพียงแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
จนกระทั่ง 3 ปีให้หลังมานี้ จากการลองผิดลองถูกมานานหลายปี ‘ครูเก่ง’ ได้เริ่มก่อตั้ง Kenny’s house ขึ้นมาเป็นครั้งแรก Kenny คือชื่ออีกชื่อหนึ่งที่คนที่เกาหลีรู้จัก เขาเลยตั้งชื่อว่า ‘Kenny’s house’ หมายถึง บ้านของเคนนี่
‘ครูเก่ง’ หรือ ‘เคนนี่’ ในช่วงนี้ เขาหันมาทำทริปพาท่องเที่ยวเมืองพิชัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ผ่านอาหารการกิน ท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการวาดภาพเมืองพิชัยในมุมต่าง ๆ ให้ผู้คนได้มองเห็นและรู้จักเมืองพิชัยมากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ ‘ครูเก่ง’ ได้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองพิชัย มากว่า 20 ปี เราเคยสงสัยว่า เขาไม่เหนื่อยบ้างเหรอ แต่คำถามที่เราได้ฟังยิ่งทำให้เราอึ้งมากกว่าเดิม
“...มันก็มีเหนื่อยบ้าง แค่เหนื่อยก็นอนพักแล้วก็หาย แต่ถ้าเราไม่เริ่มทำในวันนั้น วันนี้ผู้คนคงรู้จักแค่เพียงพระยาพิชัยดาบหักซึ่งอยู่ในบทเรียน แต่คงไม่รู้ว่า แล้วเมืองพิชัยอยู่ส่วนไหนบนแผนที่ประเทศไทย และตราบใดที่ผมยังมีแรงทำงานอยู่ ผมก็จะยังทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองพิชัยต่อไป ในรูปแบบที่ผมถนัดผ่านทางอาหาร ท่องเที่ยว ตลอดจนภาพวาดศิลปะ...”
สำหรับเรา Kenny’s house ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือผู้ชายที่ชื่อ ‘kenny’ หรือ ‘ครูเก่ง’ ศิลปินบ้านนอกคนหนึ่งที่ใช้บ้านหลังเล็ก ๆ ในเมืองพิชัยเป็นที่กบดานทำงานที่เขารัก ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง และยังคงทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป เพื่อผืนแผ่นดินเกิด ดังข้อความที่ว่า...
‘สำนึกรักบ้านเกิด คืนประโยชน์สู่ชุมชน ตราบแผ่นดินกลบหน้า’
เรื่อง : เก็จกาญจน์ คุ้มพวง