วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

‘ไปรท์’ วศิน ไพศาขมาศ เด็กศิลปกรรม ชายที่พกความฝันและโอกาสไปต่างประเทศ แต่เลือกที่จะกลับมาเปิดสตูดิโอของตัวเองที่ ‘บ้านโป่ง’ เมืองที่เขาเติบโต จนมีความสุขกับการตื่นมาทำงาน และคืนชีวิตเมืองด้วยเรื่องราว สีสัน และผู้คน

KEY

POINTS

  • ‘ไปรท์’ วศิน ไพศาขมาศ เป็นเด็กบ้านโป่ง เคยไปดูดราก้อนบอลที่โรงหนัง และเจอผู้คนที่ประกอบสร้างเมืองตั้งแต่เด็ก
  • หลังจากไปอยู่ต่างประเทศ 2 ปี ‘ไปรท์’ เลือกกลับบ้านมาด้วยภาวะหมดไฟ
  • เพราะไม่อยากให้เมืองถูกทิ้งร้าง และมองเห็นศักยภาพของเมือง เขาจึงเริ่มหน้าที่ Street Curator มองหากำแพงบ้านโป่งที่เหมาะกับศิลปินคืนชีวิตให้เมืองอีกครั้ง

ในความทรงจำของใครหลายคน ‘บ้านโป่ง’ อาจเป็นเพียงเมืองท่องเที่ยวที่เป็นประตูสำคัญเพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันตก

เพราะเชื่อว่าเมืองจะดีขึ้นกว่านี้ได้ เพราะเชื่อว่าเมืองจะไม่เหมือนเดิม และเพราะเชื่อว่าศิลปะจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมืองได้  

ทั้งหมดนี้ทำให้ ‘ไปรท์’ วศิน ไพศาขมาศ ชายบ้านโป่งผู้หมดไฟจากการไขว่คว้าความสำเร็จในเมืองหลวงและต่างแดนกลับบ้านมาพัฒนาเมืองในฐานะ ‘Street Curator’ และเจ้าของ  At Exchange Studio

สรรหาพื้นที่ ถ่ายทอดเรื่องราว และมองหาศิลปะที่เหมาะกับกำแพงเมืองรอบบ้านโป่ง 

ฟื้นชีวิตเมืองบ้านโป่งที่เคยเงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตด้วยผู้คน สีสัน และศิลปะ เพื่อให้เมืองเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน

The People คุยกับไปรท์ ‘Street Curator’ และเจ้าของ At Exchange Studio ก่อนที่เขาจะพาเราเดินรอบเมือง สู้แดด สู้ลม ไปพร้อมกับเดินชมวิถีชีวิตของคนบ้านโป่ง 

ตลอดการสัมภาษณ์และการเดินชมเมืองชั่วโมงกว่า ๆ ทำให้เราเห็นว่า ศิลปะคือสิ่งที่ทำให้เมืองบ้านโป่งที่งามอยู่แล้วงามกว่าเดิม เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องสีสัน แต่ทุกกำแพงต่างมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

บ้านเกิด วัยเด็ก และลานเล่น 

บ้านโป่งในวัยเด็กของไปรท์ คือ การได้พบเจอผู้คน ผู้ประกอบสร้างเมืองนี้ขึ้นมา

“บ้านโป่งในความทรงจำของผมคือการวิ่งเล่นรอบตลาด เจอตาหมอ (เป็นหมอทหาร) เจอเจ๊กเก๊ (เป็นช่างภาพสายประกวด)  ลุงม๊อ (ลุงของผมที่เป็นทั้งเซียนพระและคนที่ชอบศิลปะ) และอีกหลาย ๆ คน ที่ประกอบเรื่องราวของเมืองขึ้นมา”

เขาเติบโตมาในครอบครัวที่สนใจและหลงใหลในศิลปะ เริ่มจากคุณลุงวาดรูปมดบนเสื้อเหมือนจริงจนแม่เข้ามาปัดให้

และนั่นคือครั้งแรกที่เขารู้สึกสนุกกับศิลปะ

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ หลังจากนั้น เขาก็ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ สอบเข้าสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ณ ตอนนั้นชีวิตของเขาก็สนุกตามประสา ไม่ต้องคิดถึงชีวิตอนาคตมากนัก

“ชีวิตตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นแบบเด็กทั่วไป ใส่ใจในการเรียนแต่ก็สนุกกับเรื่องไร้สาระ ส่วนชีวิตในกรุงเทพฯ วุ่นวาย ส่วนใหญ่จะอยู่แถว ๆ ตลาดไทย ซื้อสัตว์มาเลี้ยงที่ห้อง เตรียมวัตถุดิบทำสุกี้ ทำอาหาร แล้วก็ทำงานส่ง”

แต่ดูเหมือนผลการเรียนจะไม่เป็นอย่างที่หวัง ไปรท์จึงขอแม่ไปลองใช้ชีวิตด้วยตัวเองที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 

ระหว่างนั้น เขาก็เจอคนทำงานสายสตรีทอาร์ต แต่ยังไม่ได้สนใจเรื่องงานด้านนี้มากนัก ด้วยความฝันและความมั่นคงที่ยังต้องไขว่คว้า

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

ผ่านไป 2 ปี เขามีลูกและต้องกลับไปดูแลแม่ที่เมืองไทย พร้อมกับภาวะหมดไฟ แต่การกลับบ้านมาอยู่ในพื้นที่ที่คุ้นเคย ทำให้คนที่ไม่อยากทำอะไร อยากมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับบ้านเกิด

“ตอนแรกกลับมา หมดไฟ เพราะอยู่เมืองนอก มันไม่ได้สบายอย่างนั้น ไปถึงก็เหนื่อย เดินทางเหนื่อย ทำงานเหนื่อย กลับมาไทยก็ชาร์ตแบตด้วยการกินดื่ม ขี้เกียจ พอสักพักหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่า จะอยู่แบบนี้ไปจนแก่เลยหรือไง 

“ตอนนั้นเอางานไปติดตั้งที่ร้านกาแฟแถวนี้ แล้วอาจารย์จิระเดช มีมาลัย มาเห็น เขาชวนไปที่บ้าน ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขามีจุดมุ่งหมายอะไร พอคุยไปคุยมา พี่คนนี้ก็เจ๋งนะเนี่ย งั้นผมก็อยากเล่นเกมเดียวกับพี่แล้วแหละ”

เหตุผลสำคัญ คือ เขาไม่อยากให้บ้านโป่งเป็นเมืองผ่าน แต่อยากให้บ้านโป่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ใคร ๆ ก็อยากจะมา

“ช่วงที่กลับมา ผมออกไปเจอคนหลายคน เขาก็พูดแบบ เมืองเรานี่มันแย่แล้วเนอะ ไม่มีคนผ่านมาเลย คนผ่านมาแถวนี้ก็จะไปเมืองกาญจน์ ไปสวนผึ้ง ไปเพชรบุรี วันหนึ่งเมืองเราก็คงแห้งตาย ผมก็เริ่มสะเทือนแล้ว แล้วเราก็จะนอนโง่ ๆ ในเมืองที่กำลังจะตายเหรอวะเนี่ย คงไม่ใช่อย่างนั้น”

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรับบท Street Curator คนกลางที่เชื่อมศิลปิน ศิลปะ และชุมชนเข้าหากัน แต่งแต้มเมืองให้มีสีสัน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของเมืองเอาไว้

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

ฟื้นเมืองด้วยเรื่องราว ความทรงจำ และศิลปะ

แม้คำว่า ‘ศิลปะ’ จะดูเป็นเรื่องสวยงาม  แต่การเลือกใช้ศิลปะเพื่อฟื้นชุมชนที่เงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

“มันง่ายที่ผมเริ่มที่บ้านโป่ง เพราะผมโตที่นี่ ลองถามคุณป้าคนนั้น คนนี้ คุณป้าขายข้าวบ้าง แบบ โห กำแพงสวยนะครับ เป็นไปได้ไหมที่ผมจะ paint เขาบอกว่าได้สิ แต่พอวันทำงานจริง เหมือนเขาไม่ได้คุยกับญาติที่บ้าน พอเข้าบ้าน เขาบอกว่า ถ่ายรูปหน่อยนะ กลัวเป็นมิจฉาชีพ ผมก็ต้องเอาบัตรประชาชนให้ดูว่า ผมลูกบ้านนี้เอง จะวาดรูปประมาณนี้”

ต่อไปคือ การมองหาศิลปิน เริ่มแรกได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์จิระเดช มีมาลัย ผู้ทำโครงการศิลปะ ‘บ้านนอก’ ที่หนองโพ จังหวัดราชบุรี

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

ก่อนจะเริ่มขั้นตอนต่อไป คือ การเชื่อมศิลปินเข้ากับเมือง

เรื่องผลงานปล่อยเป็นฝีมือของศิลปิน ส่วนพื้นที่และเรื่องราวเป็นหน้าที่ของไปรท์ เพราะเขาคือคนที่รู้เรื่องเมืองนี้ดีกว่าใคร 

โครงการ 70110 จึงเริ่มต้นขึ้น โดยเลข 70110 คือ รหัสไปรษณีย์ของบ้านโป่ง เขาเลือกจะเติมสีสันให้กับเมืองทั้งหมด 12 จุดด้วยฝีมือของศิลปินมากกว่าร้อยชีวิต ผสมโรงกับเรื่องราวและความทรงจำที่คนในพื้นที่มีร่วมกัน

“ตอนเด็ก ๆ มีโรงหนังหลายโรง ผมก็มาดูดราก้อนบอลที่นี่ อยากเดินทางในเส้นทางเดิม ๆ พอเวลามันนานเข้า ผมกลับมาจากกรุงเทพฯ กลับมาจากต่างประเทศ กลายเป็นผมอยู่บ้าน อินเทอร์เน็ตแรง ผมก็ไม่ออกไปไหน แต่ก็อยากจะออกไปนั่งในพื้นที่ที่เราเคยอยู่เมื่อก่อน เคยดีดลูกแก้ว ปั่นจักรยาน พอเรามาทำงาน ผมก็คิดถึงบรรยากาศ ความทรงจำ นำเรื่องเล่ามาประกอบกันให้ครบทุกมิติ

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

“อย่างโรงหนัง เมื่อก่อนเคยเป็นที่อยู่ของทหารญี่ปุ่นครับ บ้านโป่งเมืองคนงาม คนงามก็เป็นดอกไม้ เป็น Bamboo (ชื่อศิลปินสตรีทจากไต้หวัน) มาช่วยวาดลวดลาย ทุกคนก็คุยเรื่องโจทย์กันคร่าว ๆ แต่พวกเขาก็มีความเป็นมืออาชีพเอากิมมิคพวกนี้ใส่เข้าไปในงาน”

ถึงตอนแรกจะมีเสียงค้านอยู่บ้าง แต่พอโครงการฯ จบลง เมืองก็กลับมามีชีวิตขึ้นจริง ๆ 

เด็กศิลปากร นครปฐมที่เรียนอยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ ก็มาถ่ายรูปรับปริญญาที่บ้านโป่ง เจ้าของบ้าน เจ้าของพื้นที่ก็เสนอให้ทำลวดลายที่ใหญ่ขึ้นจากครั้งแรก

“ครอบครัวผมเองก็เปิดร้านอยู่แถวนี้ ทุกคนบอก เศรษฐกิจแย่ บ้านเมืองมันน่าจะมีอะไร พอทำสักพักหนึ่งเด็กเรียนจบมาศิลปากร นครปฐม ก็มาถ่ายรูปรับปริญญากัน ถ่ายตรงนู้น ตรงนี้ เริ่มเกิด traffic เริ่มคิดว่า ถ้าเราทำต่อไป เมืองมันก็น่าจะดีขึ้น ญาติที่ไม่อยากให้ทำก็ถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ใหญ่กว่านี้ เขาคงเห็นว่าพวกนี้มันดี มันตั้งใจ”

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

กำแพงที่ซ่อนอยู่

หน้าที่ของไปรท์ คือ การแสวงหาพื้นที่ในเมืองต่าง ๆ เพื่อซ่อนสีสันและเรื่องราวเอาไว้ 

เพราะเขามองว่า ทางหนึ่งศิลปะคือความจรรโลงที่จะช่วยเปลี่ยนแนวคิดของคนได้ ไม่ใช่แค่ผู้เสพ แต่รวมถึงผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานด้วย 

อย่างไปรท์เอง ผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างศิลปินกับชุมชน ต้องลงพื้นที่คุยกับชาวบ้าน แลกเปลี่ยนมุมมองกัน จากคนที่เคยใจร้อนก็ใจเย็น รับฟัง และเปิดใจมากขึ้น

“สมัยก่อนใจร้อน แต่ตอนนี้ใจเย็นลง เราต้องเข้าใจชาวบ้าน ไม่เอาตัวเราเป็นแกนกลางว่าทุกคนต้องเข้าใจเรา มันก็ค่อย ๆ blend ไป ความโมโหมันค่อย ๆ ละลาย”

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ เหมือนกับการคัดเลือกพื้นที่ลงงานศิลปะ พื้นที่หลักไม่ใช่พื้นที่กลางเมืองในหัวเมืองใหญ่ แต่เป็นพื้นที่เล็ก ๆ หรือกำแพงที่อยู่ในเมืองรองก็ได้ 

“ตอนแรกถามตัวเองว่า ต้องทำเมืองใหญ่ ๆ ไหม เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช ภูเก็ต แต่พอคิดดูก็รู้สึกว่า พื้นที่นั้นก็มีกลุ่มคนที่ออกมาทำงานกันอยู่แล้ว ผมคงไม่ต้องแชร์พื้นที่กับเขา ผมเริ่มเองดีกว่า สนุกกว่า และได้เรียนรู้ด้วย”

ยกตัวอย่างโครงการ ‘Hidden Wall’ การลงมือสร้างสรรค์งานในพื้นที่ที่ใครอาจจะหลงลืมไปในหลากหลายพื้นที่ที่จัดมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 2 ครั้ง และอำเภอโพธาราม 1 ครั้ง

ไปรท์มองว่า การที่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนได้ดี และตัวศิลปินเองก็เติบโตไปพร้อมกับผู้คนในเมือง

“การที่เราเข้าไปทำงานจริง เขาก็เห็นว่าทำงานกันแบบนี้นะ แล้วศิลปินก็ได้อะไรจากเมืองด้วย อย่างมีรุ่นน้องคนหนึ่ง เมื่อก่อนอารมณ์ร้าย วันหนึ่งมาเจอป้าที่อยู่ใกล้ ๆ กำแพง ตำน้ำพริกให้กิน จากเด็กที่ใคร ๆ ก็บอกว่าก้าวร้าว วันหนึ่งพูดว่า ป้าครับ อร่อยมาก รู้สึกดีที่ต่างคนต่างได้ ยิ่งเรามาเห็นภาพนั้นก็รู้สึกว่าดีเนอะ”  

 

ก้าวออกจาก Safe Zone ลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงเมือง

“ทุกคนก็ถามว่าทำไมต้องทำ เพราะส่วนใหญ่แล้วทำก็เจ๊ง เจ๊งมาตลอด แต่ก็ยังทำ เพราะถ้าอยู่บ้านอย่างเดียว draft งาน ทำ graphic มันก็เป็นคนเดิมที่ตื่นมา อาบน้ำ ทำงาน แล้วก็ไม่ได้พิสูจน์อะไรกับใคร”

อาจเป็นเพราะนิยามตัวเองว่า ไม่ได้เป็นเด็กที่ใช้ชีวิตตามขนบมากนัก บวกกับเลี่ยงปัญหาชีวิตมาตลอด สตูดิโอ At Exchange นี้จึงเป็นอีกหนึ่งอย่างที่เขาจะพิสูจน์ให้แม่เห็นว่า เขาดูแลตัวเองได้ และอยากเป็นพ่อที่ดีให้กับลูก

“ตอนแรกเราเรียนไม่จบ ไปเมืองนอกดีกว่า น่าจะมีโอกาสอะไร แม่บอกว่าดีเนอะ คิดได้ ออกไปหาโอกาส พอไปก็จะร้องกลับอีก หนีอย่างเดียว จนอายุเริ่มมาก ผมมีลูกไว้ด้วย หนีไม่ได้ ไม่อยากให้ลูกผิดหวัง

“ตอนเด็ก ๆ แม่จะเห็นว่าเราเกเร ไม่ต้องพึ่งมันหรอกนะ วันหนึ่งก็เห็นว่าเราเป็นคนใช้ได้นี่นา”

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ ท่ามกลางการผลักดันให้เมืองกลายเป็นเมืองและย่านสร้างสรรค์ แต่อย่างที่ไปรท์บอก การทำงานเรื่องเมืองไม่ได้เป็นเรื่องง่าย  เขามองว่าสังคมต้องพร้อม มีหน่วยงานดูแลผู้คนในเมืองให้มีชีวิตความเป็นอยู่

ศิลปะเป็นเพียงสิ่งที่จะช่วยเพิ่มสีสันและความสดชื่นของเมืองเท่านั้น

“จริง ๆ สังคมมันต้องพร้อมก่อนแหละ กินอยู่ดี มีหน่วยงานรับผิดชอบชีวิตคนพวกนั้น ถ้าคนพวกนั้น happy เขาเปิดรับอะไรพวกนี้อยู่แล้ว ศิลปะก็แค่เอามาเติมเพิ่มเป็นผงชูรส ทำให้มันสดชื่นขึ้นและอร่อยขึ้น 

“ผมเคยไปจังหวัดหรืออำเภอที่เขาไม่เปิดรับหรือมีสเปกในใจอยู่แล้วว่า อยากให้วาดรูปอย่างนั้น อย่างนี้ คือจริง ๆ แล้วไม่ควรเกิดจากนายทุนที่ direct ลงไป มันควรจะเกิดขึ้นจากพวกเราที่ไปฝังตัว เรียนรู้ว่า อ๋อ ป้าชอบแบบนั้น ลุงชอบแบบนี้ แต่ผมจะทำให้ใกล้เคียงกับลุงและป้ามากที่สุดแล้วกัน ไม่ใช่เอารูปที่หนักหน่วงไปอยู่ในบ้านที่ไม่พร้อมรับ”

  วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

เมือง บ้าน และชีวิตที่มีชีวา

ทุกวันนี้ชีวิตของ Street Curator คนนี้ลงตัว มีชีวิต และชีวา 

เขาไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและได้ออกมาทำงานที่เขาอยากทำ 

“ผมว่าที่นี่สะดวก เพราะเมืองมันเล็ก ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง อย่างอยู่ Melbourne เดินทางเข้าเมืองก็ สมมติว่าชั่วโมงกว่า ๆ  มันก็กินเวลาชีวิตผมไปเยอะแล้ว อยู่ที่นี่ก็แค่คิด แล้วก็ออกไปดูหน้างาน ไปคุยกับคนที่เราเห็น potential พร้อมที่จะลุยเลย”

ขณะเดียวกัน เขาก็มองว่า จะอยู่บ้าน ไปอยู่กรุงเทพฯ หรือไปอยู่เมืองไหน สิ่งสำคัญ คือ การที่ทุกคนเข้าใจปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน 

“ผมว่าตอนนี้มันแย่ทั้งประเทศ ผมไม่คิดว่ามันจะดีกว่ากันในบริบทไหน แค่ทุกคนรู้ว่าพอทำอะไรได้ ก็ช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย มันน่าจะเวิร์กกว่า”

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ เพราะทำงานกับเมือง อยู่กับผู้คน นิยามเมืองที่ดีสำหรับไปรท์เลยไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คนที่เข้าอกเข้าใจกันและกัน

“เมืองที่ดีคือเมืองที่มีคนเห็นแก่ตัวน้อยหน่อย แล้วก็พอจะแบ่งเวลามาช่วยเหลือกัน พูดถึงกันในแง่ดี ก็ถือเป็นเมืองที่น่าอยู่แล้ว

“ข้อดีของเมืองเล็ก ๆ ทุกคนช่วยกัน คนนี้รู้จักกับบ้านนู้นก็แบบ คอยมองกันอยู่ห่าง ๆ ช่วยกันดูแล ถึงจะไม่ค่อยคุยกันเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็แบบ เฮ้ย วันนั้นเราเห็นมีคนมาป้วนเปี้ยนหน้าบ้าน นู่นนี่นั่น เหมือนยามชุมชนที่ทุกคนช่วยกันดูแล”

แต่ก่อนที่เมืองจะเป็นเมืองที่ผู้คนมอบความรักให้กันได้เหมือนสมัยก่อน พวกเขาจำเป็นต้องมี ‘โอกาส’ อย่างเท่าเทียมกันก่อน

“ถ้าทุกคนถูกดูแลอย่างดี มีโอกาส โอกาสเรื่องการทำการค้า โอกาสทางด้านความคิด พอทุกอย่างมันเปิด ทุกคนก็ happy”

วศิน ไพศาขมาศ : At Exchange Studio สตูดิโอที่แต่งแต้มเมืองบ้านโป่งด้วยสีสันและศิลปะ

สำหรับสตูดิโอ At Exchange ที่ตอนแรกบอกว่า ทำแล้วเจ๊งทำไมยังทำอยู่ ไปรท์ไม่เคยท้อ เพราะความสุขของเขาในวันนี้ คือ การค้นหาพื้นที่ลับของเมือง และสนุกกับการออกมาสัมผัสแดดอุ่น ๆ ก่อนเริ่มทำงาน

“ช่วงนี้ก็ขาดทุนอยู่ครับ ล่าสุดออกไปดูพื้นที่บอกกับน้องที่ไปด้วยว่าแค่โดนแดดก็สดชื่นกว่าอยู่ในบ้านแล้ว มันไม่มีเหตุผลที่ต้องนอนบิดขี้เกียจ ลุกขึ้นมา draft งานให้ลูกค้าแล้วค่อยลงไปนอนบิดขี้เกียจดีกว่า”

และนี่คือเรื่องราวของหนุ่มบ้านโป่งที่แต่งแต้มเมืองด้วยสีสัน ศิลปะ ที่หวังว่า สตูดิโอของเขาจะมอบเรื่องราวใหม่ ๆ  ประสบการณ์ที่ดีให้กับศิลปินและชุมชนที่พวกเขาทิ้งร่องรอยความสวยงามไว้บนกำแพงทุก ๆ เมือง

ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม