ไช่จิง หญิงสาวผู้แฉปัญหาหมอกควันในจีน ด้วยการทำหนังสารคดี จนถูกรัฐบาลแบน

ไช่จิง หญิงสาวผู้แฉปัญหาหมอกควันในจีน ด้วยการทำหนังสารคดี จนถูกรัฐบาลแบน

ไช่จิง หญิงสาวผู้แฉปัญหาหมอกควันในจีน ด้วยการทำหนังสารคดี จนถูกรัฐบาลแบน

เพียงเพราะเธออยากให้ลูกสาวของเธอเติบโตในสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ เธอจึงควักเงินตัวเองถึง 5 ล้านบาทเพื่อทำสารคดี Under the Dome – Investigating China’s Smog (2015) เพื่อตีแผ่เรื่องราวมลภาวะของประเทศจีน     ในทุกการ “พัฒนา” ย่อมมีต้นทุนเสมอ เช่นเดียวกันกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของประเทศจีน ที่ใช้เวลาเพียง 20 กว่าปี จากการเริ่มทำการผลิตแบบทุนนิยมภายใต้ธงของการปกครองแบบสังคมนิยม โดยเริ่มต้นจากโรงงานมากมายที่ตั้งขึ้นมาในเมืองกวางโจวในยุค 80-90 จนในที่สุดทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่ตอบรับการขยายการผลิต ขนาดเศรษฐกิจของจีนโตวันโตคืนจนในวันนี้ ประเทศจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน สามารถสร้างผลผลิตจนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เหรียญด้านหนึ่งของ “การพัฒนา” นำมาซึ่งต้นทุนมากมายที่ต้องแบกรับ หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหามลภาวะ ทั้งทางน้ำและทางอากาศ แต่ในประเทศที่รัฐเฝ้ามองกิจกรรมของประชาชนในนามของ “ความมั่นคง” อย่างประเทศจีน ปัญหาดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกนำเสนอในเชิงลึกนัก จนมีหนังสารคดีที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากมายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว อย่างเรื่อง Under The Dome ถูกปล่อยออกมาในโลกออนไลน์จนกลายเป็นกระแสที่ผู้คนในประเทศจีนหยิบประเด็นนี้มาพูดถึง Under the Dome – Investigating China’s Smog (2015) เป็นผลงานของใครกัน? สิ่งที่น่าสนใจคือ นี่คือผลงานของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ลงทุนควักเงินทำหนังเรื่องนี้เองเพื่ออนาคตของลูกสาวเธอและคนรุ่นหลังอีกมากมาย Under the Dome – Investigating China’s Smog (2015) หรือ Under The Dome เป็นผลงานภาพยนตร์ที่ ไช่จิง (Chai Jing) อดีตผู้สื่อข่าวช่อง CCTV ได้ลงทุนสร้างขึ้นมาด้วยเงินส่วนตัวถึง 1 ล้านหยวน หรือประมาณ 5 ล้านบาท เพื่อนำเสนอเหรียญอีกด้านของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไม่หยุดยั้งของประเทศจีน ไช่จิงหยิบยืมชื่อภาพยนตร์มาจากซีรีส์อเมริกันเรื่อง Under The Dome ที่พูดถึงเมืองหนึ่งที่วันดีคืนดีมีโดมคลุมรอบเมืองทำให้ติดต่อกับโลกภายนอกไม่ได้ ซึ่งเธอเปรียบเสมือนชีวิตของคนจีน ที่มลภาวะทางอากาศที่ปกคลุมในเมืองใหญ่ทั่วแดนมังกร เป็นเหมือนโดมขนาดใหญ่ที่ทำให้เธอไปไหนไม่ได้ ทำให้ไช่จิงต้องเลี้ยงลูกอยู่แต่ในบ้านที่ปักกิ่ง ไม่สามารถเดินทางออกไปไหนมาไหนได้เพราะคุณภาพอากาศไม่ค่อยดีนัก เธอกลัวลูกของเธอจะร่างกายไม่แข็งแรงหากจะต้องออกไปข้างนอก จุดเริ่มต้นของการทำสารคดีเรื่องนี้เกี่ยวกับลูกสาวของเธอโดยตรง เริ่มต้นมาจากตอนที่ไช่จิง กำลังจะคลอดลูก เธอพบว่าลูกสาวของเธอมีเนื้องอกในท้องตั้งแต่ที่เธอยังไม่เกิด ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในขณะที่อยู่ในครรภ์ แต่ในที่สุด ด้วยการช่วยเหลือจากทีมแพทย์ ลูกสาวของเธอจึงปลอดภัย ไช่จิงเชื่อว่าที่ลูกเธอเป็นเช่นนี้นั่นมาจากมลพิษที่ประเทศจีน เธอลาออกจากงานมาดูแลลูก และค้นหาความจริงว่า ภายใต้ปริศนาของ “หมอกควัน” ที่ปกคลุมในเมืองใหญ่ของจีน เธอค้นพบอะไรภายใต้ฝุ่นควันที่ปกคลุมเหล่านี้ และจากการศึกษาของไช่จิง ทำให้เห็นว่า อุตสาหกรรมจากโรงงาน และการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมีผลอย่างมากที่ทำให้คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ของจีนเลวร้ายลงเรื่อย ๆ อย่างใน 1 ปี ที่เมืองปักกิ่งจะมีอยู่ถึง 175 วัน ที่คุณภาพอากาศของปักกิ่งจะเต็มไปด้วยฝุ่นควัน ซึ่งเมืองใหญ่เมืองอื่นในจีนก็ประสบปัญหานี้ไม่ต่างกัน หรืออย่างพื้นที่แม่น้ำในมณฑลชานซี 88 เปอร์เซ็นต์ปนเปื้อนสารพิษ และ ในพื้นที่แม่น้ำ 62 เปอร์เซ็นต์ น้ำไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป Under The Dome นอกจากจะตีแผ่เรื่องมลภาวะทางอากาศและน้ำที่จีนกำลังประสบแล้ว หนังสารคดีชิ้นนี้ก็ได้พยายามเชื่อมโยงปัญหานี้ที่เราเห็นปลายเหตุ ไปสู่ตัวละครอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้บ้านเกิดของเธอย่ำแย่ อย่างเช่น ระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเจ้าของโรงงาน อีกทั้งเธอยังเปรียบเทียบปัญหาเดียวกันนี้กับประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เห็นว่า ปัญหาของจีนอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้? หลังจากที่ Under The Dome ถูกปล่อยออกมาไม่กี่วัน ยอดคนชมคลิปออนไลน์ของสารคดีชิ้นนี้ใน Tencent มีสูงถึง 200 ล้านวิว ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศจีนถูกพูดถึงในวงกว้าง ส่งผลให้ในตอนนี้ทางการจีนซึ่งห่วงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างที่สุด ออกมาแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้สารคดี Under The Dome ไม่สามารถชมได้ในประเทศจีน แต่สำหรับผู้คนที่อยู่นอกประเทศจีน สามารถชมสารคดีชิ้นนี้ได้ในยูทูบ โดยเสิร์ชชื่อ Chai Jing's review: Under the Dome – Investigating China’s Smog แม้ว่าหนังสารคดีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที เรื่องนี้จะเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย ที่อาจจะทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าการเล่าเรื่องมันเริ่มจะหนืดและเอื่อยจนบางจังหวะจะดูน่าเบื่อไปบ้าง แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ น่าคิดตามและตั้งคำถามเรื่องคุณภาพชีวิตของเราและคนในสังคมที่ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ในเมืองแบบปักกิ่ง แต่การอยู่ในหัวเมืองใหญ่ อย่างเช่น คนที่อยู่กรุงเทพฯ มันมีมลภาวะทางเสียง ทางอากาศ ทางน้ำ และอีกมากมายที่เราต้องสัมผัสในทุกวัน และตกลง เราจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบนี้อย่างไรกันดี? ฉากสำคัญฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากที่ไช่จิง ถามเด็กน้อยวัย 6 ขวบชาวปักกิ่งคนหนึ่งว่า เคยมองเห็นดวงดาว หรือเมฆสีขาวบนฟ้าไหม? เด็กตอบอย่างแสนซื่อว่า ไม่เคยเห็นเลย (นั่นเพราะเมืองนี้ถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน) คำตอบนี้ อาจจะไม่น่ากลัวสำหรับคนรุ่นเรา แต่สำหรับเด็กรุ่นหลังที่กำลังจะเติบโตในอนาคต เราได้เตรียมอะไรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของพวกเขาบ้าง? คำตอบในตอนนี้ คงจะเป็น เสียงเงียบ ของผู้ใหญ่ เพราะไม่รู้ว่า จะจัดการกับปัญหานี้เช่นไรดี