วรางคนา พยอมยงค์: ปลัดดอกไม้เหล็กแห่งดอยเต่า ความทุ่มเทให้พื้นที่ 25 ชั่วโมง

วรางคนา พยอมยงค์: ปลัดดอกไม้เหล็กแห่งดอยเต่า ความทุ่มเทให้พื้นที่ 25 ชั่วโมง

ปลัดดอกไม้เหล็กแห่งดอยเต่า ความทุ่มเทให้พื้นที่ 25 ชั่วโมง

"การเป็นปลัดฝ่ายความมั่นคงถือว่าเป็นงานบู๊นะคะ จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เขาทำงาน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ถามว่าถ้าเป็นปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงนี้เอา 25 ชั่วโมงไปได้เลย" ในภาพลักษณ์ของปลัดอำเภอที่ลงพื้นที่บริการประชาชน เราจะเห็นภาพของการลุยงานหนัก สมบุกสมบัน โดยเฉพาะปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงที่ต้องขึ้นเขาลงห้วยปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้เข้าใจกันไปว่าปลัดอำเภอส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศชาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว งานปลัดอำเภอ คืองานที่ไม่ว่าเพศไหนก็ตาม หากรักในงานที่ทำแล้วเมื่อไหร่ งานที่ออกมาจะดีอย่างแน่นอน วรางคนา พยอมยงค์ ปลัดสาวแห่งอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นปลัดอำเภออีกคนที่มีผลงานโดดเด่นมาก ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาไฟป่า อันเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงหน้าแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่อำเภอดอยเต่าจัดการกับปัญหาไฟป่านี้จนลดลงจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของทีมงานฝ่ายปกครอง ปลัดวรางคณาซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานดังกล่าวได้ช่วยงานนี้อย่างแข็งขัน วรางคนา พยอมยงค์: ปลัดดอกไม้เหล็กแห่งดอยเต่า ความทุ่มเทให้พื้นที่ 25 ชั่วโมง ภาพของปลัดสาวขับขี่รถมอเตอร์ไซค์เพื่อไปทำงานและตรวจท้องที่ เป็นภาพคุ้นชินตาของคนในท้องถิ่น และเธอออกตัวว่ามันสะดวกดีที่จะใช้พาหนะคู่ใจนี้ในการเดินทางไปทำงานในที่ต่าง ๆ นี่คือบุคลิกลุย ๆ ห้าว ๆ ที่เรามองเห็นจากตัวเธอ และจุดเริ่มต้นที่อยากทำอาชีพรับราชการเพราะว่าทั้งครอบครัวเธอเป็นข้าราชการ วรางคนา จึงอยากตามรอย ทำงานเพื่อสังคมแบบครอบครัวบ้าง "พื้นฐานครอบครัวเป็นข้าราชการหมดเลย แต่ทั้งหมดเป็นข้าราชการครู เราก็ซึมซับในเรื่องการทำงานของครอบครัวข้าราชการมานานค่ะ เวลาไปไหน พ่อไปลงพื้นที่ หรือว่าการได้ช่วยชุมชนเพราะว่าได้ทำสถานีวิทยุชุมชนด้วย ก็คือได้คลุกคลีกับชุมชนมาโดยตลอด "แล้วทุกครั้งที่เวลาเราเห็นคนคนหนึ่งที่เขามาร่วมงานกับทางชุมชนหรือว่าทางหมู่บ้านหรืออย่างโรงเรียนของพ่อ เขาก็จะมาเปิดงานมาอยู่เสมอ ก็จะจำเรื่องของนายอำเภอมาเปิดงาน แล้วพอรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนายอำเภอ ก็ตั้งเป้าเลย จบม.3 ปุ๊บ ตั้งเป้าเรียนสายคณิต-อังกฤษ เพราะว่าสายนี้ของโรงเรียนยุพราช เขามีวิชาอย่างเช่นวิชากฎหมาย วิชาการปกครองอะไรแบบนี้เสริมขึ้นมาด้วย คือเรารู้แล้วว่าเป้าหมายเราจะไปทางนี้ ตั้งแต่ชั้น ม.4 พอจบมาปุ๊บเราเริ่มเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งเป้าหมายให้สอบภาค ก. ให้ได้ พอสอบภาค ก. ปีเดียวก็ผ่าน สอบปลัดอีกปีเดียวก็ผ่าน ตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะมาสายนี้ค่ะ เราอยากจะเป็นปลัดอำเภอ นี่คือสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายมาตลอดเลย" วรางคนา บรรจุเป็นปลัดตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และเพราะใจรัก ทำให้เธอไม่ลังเลใจที่จะทำงานฝ่ายความมั่นคงทันที ซึ่งเธอออกตัวมาว่า เป็นงานที่ "บู๊" มาก "การเป็นปลัดฝ่ายความมั่นคงถือว่าเป็นงานบู๊นะคะ จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน เขาทำงาน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่ถามว่าถ้าเป็นปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคงนี้เอา 25 ชั่วโมงไปได้เลย งานเหล่านี้ บางทีตอนสามทุ่มนอน ๆ อยู่ มีเด็กแว้นหรือว่ามีอะไรแบบนี้ เขาก็จะโทรมาเรียกเราไป หรือว่ามีสายป่าไม้โทรมาว่ามีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า มันไม่จำกัดเวลาแล้ว จะต้องแอคทีฟตลอดค่ะ ต้องออกพื้นที่ตลอดกลางคืน แต่เราก็ยังต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะว่ามันไม่ใช่แค่เราคนเดียว เรายังต้องพาลูกน้อง ยังต้องพาคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปด้วย มันเลยก็ต้องเซฟด้วย วรางคนา พยอมยงค์: ปลัดดอกไม้เหล็กแห่งดอยเต่า ความทุ่มเทให้พื้นที่ 25 ชั่วโมง "ถ้าถามว่าเราทำงานฝ่ายความมั่นคง เรากลัวไหม ลึก ๆ แล้วไม่มีแทบจะไม่มีผู้หญิงที่รับผิดชอบงานนี้ เพราะว่างานนี้เป็นงานเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ในเรื่องของการบรรเทาสาธารณภัย เรื่องการปราบปรามป่าไม้ เป็นเรื่องที่ตอนแรกเราก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเรามาเป็นปลัดอำเภอ มันไม่มีสิ่งไหนที่เราจะพูดว่าทำไม่ได้ แต่ถามว่าความกลัว ผู้หญิงมีไหม...ก็มี แต่ว่าก็พยายามสลัดความกลัวออกไป แล้วก็ศึกษากฎหมาย ศึกษาวิธีการรวมไป พยายามฟิตตัวเองเพราะว่าเราต้องดูแลลูกน้องซึ่งเป็นสมาชิกอาสารักษาดินแดนด้วย เป็นผู้ชายหมดเลย" เธอเคยเล่าให้ฟังว่า ก็เคย "บู๊" อยู่บ้าง โดยเฉพาะกรณีปราบปรามยาเสพติด แต่หลัก ๆ เธออยู่ฝ่ายวางแผนและคุมกำลังในการลงพื้นที่มากกว่า "ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกี่ยวกับเรื่องของยาเสพติดค่ะ เรื่องของยาเสพติดที่เราจะต้องเข้าไปจับผู้ค้า ต้องไปดำเนินคดีกับผู้ค้า เราไปดำเนินการมา ก็หลายคดีด้วยกัน อย่างแบบวิ่งเพื่อไปเข้าถึงตัวของผู้ต้องสงสัยหรือว่าผู้ต้องหาก็มี หรือว่ามีการปะทะมีปากเสียงอะไรแบบนี้ แต่ว่าไม่ถึงขั้นต้องใช้อาวุธ ก็คือเจ้าหน้าที่คนอื่นไม่ว่าจะเป็นตำรวจทหารหรือว่าลูกน้องของเราที่เป็นสมาชิก อส. เอง เขาก็จะเป็นห่วงเรา แล้วเราก็จะทำอย่างไรให้ตัวเราไม่เป็นภาระกับเขา คือเวลาที่จะไปประชิดตัวเราจะต้องเรียนรู้ว่าจะต้องเข้าถึงตัวอย่างไร ถ้าเรายิ่งเป็นผู้นำหน่วยที่จะออกไป ถ้าเรายังมีสีหน้าที่กลัวหรือว่าลังเลอะไรแบบนี้ ก็จะทำให้ลูกน้องเราหรือว่าคนที่ไปกับเรารู้สึกไปด้วย เขาก็จะไม่มีความมั่นใจ อย่างน้อยเราก็ต้องแบบ fight ต้องสู้ ต้องนำเขาเข้าไปอย่างงี้ค่ะ "เคยมีเคสหนึ่ง เข้าไปแล้วลูกสาวนั่งอยู่หน้าบ้าน เล่นมือถือหน้าบ้าน แล้วตัวของผู้เป็นพ่อใช้สารเสพติดมีฝิ่นอยู่ในครอบครองซ่อนไว้หลังบ้าน พอเราเข้าไปแสดงหมายค้น เขาก็มาเจอกับลูกสาวเขาซึ่งอายุยังน้อยอยู่นะคะ อยู่ในช่วงชั้นมัธยมฯ ก็นั่งร้องไห้ เราก็ต้องเข้าไปใช้จิตวิทยา ใช้คำพูดปลอบเขา อย่างบางทีไปเจอเคสเขาจับลูกอยู่ในบ้าน แล้วแม่ของเขานั่งร้องไห้ก็เจอบ่อย เลยต้องมีการปรับความเข้าใจกับเขาด้วย" ปลัดวรางคนามองว่า แม้ว่าปลัดฝ่ายความมั่นคงจะดูเป็นงานสายลุยมากกว่า แต่การที่ผู้หญิงเข้ามาช่วยทำงานด้านนี้ จะช่วยเติมเต็มให้งานของปลัดอำเภอมีความรอบด้านมากขึ้น วรางคนา พยอมยงค์: ปลัดดอกไม้เหล็กแห่งดอยเต่า ความทุ่มเทให้พื้นที่ 25 ชั่วโมง "การเป็นผู้หญิง ส่วนตัวเลยเห็นว่าเป็นข้อดีในการปฏิบัติงานในเรื่องการประสานงานกับหน่วยต่าง ๆ กับบุคคลอื่น ๆ เราประสานได้ดี อาจจะเป็นเพราะเวลาเราพูด เราอ่อนหวาน คนอยากให้ความร่วมมือ แล้วก็ในเรื่องความเป็นผู้นำของผู้หญิงจะละเอียดอ่อน ก็รู้สึกว่าเก็บรายละเอียดได้ดี อย่างเช่นเวลามีงานอะไร เราจะลำดับ 1 2 3 4 ในการจัดงาน ครีเอทงานอะไรแบบนี้" ทุกสิ่งที่เธอได้ทำ มันคือความภูมิใจอย่างที่สุดของวรางคนา ในฐานะ...ปลัดอำเภอ “การเป็นปลัดอำเภอน่าจะเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตการเป็นข้าราชการนะคะ ได้ดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ได้ใกล้ชิดพี่น้องประชาชน คือเราพยายามที่จะคิดหาแนวทางว่าจะนำมาใช้ในการปฏิบัติงานของเราอย่างไร ให้เราเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด ให้พี่น้องประชาชนรู้จักเรา ทำไมถึงต้องรู้จักเรา ก็คือเมื่อเขารู้ว่าเราสามารถช่วยเหลือเขาได้ เขาก็จะเข้ามาหา มาขอความช่วยเหลือกับเรา ก็เป็นสิ่งที่ถือว่าภาคภูมิใจในที่สุดแล้วสำหรับการเป็นปลัดอำเภอในการช่วยเหลือดูแลทุกข์สุขพี่น้องประชาชนค่ะ”