สุชาติ จารย์รัตน์ ปลัดหมอแคน ใช้เสียงดนตรี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน

สุชาติ จารย์รัตน์ ปลัดหมอแคน ใช้เสียงดนตรี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน

ปลัดหมอแคน ใช้เสียงดนตรี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน

เภสัชกร หมอแคน และปลัดอำเภอ ดูจะเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจมาก ๆ ที่อยู่ในตัวของสุชาติ จารย์รัตน์ แต่ที่สุดหากจะต้องเลือกสักอย่าง สุชาติ จารย์รัตน์ ตอบได้อย่างไม่ลังเลว่า เขาเป็น...ปลัดอำเภอ ในขณะนี้ ปลัดสุชาติได้ทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เป็นปลัดอำเภออยู่ที่อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด “ก่อนที่จะมาเป็นปลัดอำเภอก็ใช้วุฒิเภสัชฯ ที่ผมเรียนจบที่จุฬาฯ ไปสอบของท้องถิ่น ในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ได้ที่ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ไปทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลจิกดู่ อยู่ประมาน 1 ปี ในช่วงปีที่ไปทำงานก็มีการเปิดสอบปลัดอำเภอ เนื่องจากเราจบคณะรัฐศาสตร์เป็นปริญญาอีกใบ ก็เลยลองดู เผื่อจะได้ เนื่องจากว่าเรามีพ่อของเพื่อนเป็นนายอำเภอ ที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ท่านเป็นต้นแบบ เป็นไอดอลที่เราเห็นว่าท่านเป็นคนที่น่านับถือ น่าศรัทธา เพราะท่านดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ชาวบ้าน ประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ตอนนั้นผมยังเป็นเด็กมัธยม ที่เคยสัมผัสชีวิตการเป็นนักปกครองของท่านแล้วเกิดความประทับใจ” สุชาติ จารย์รัตน์ ปลัดหมอแคน ใช้เสียงดนตรี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน จากแรงบันดาลใจตรงนั้น ทำให้สุชาติ จารย์รัตน์ เลือกที่จะเป็นปลัดอำเภอ แต่ก็ยังใช้ความรู้ในด้านเภสัชศาสตร์ในการให้คำแนะนำชาวบ้านในท้องที่ให้ใช้ยารักษาโรค “ส่วนใหญ่จะเป็นคนรอบข้าง ประชาชน ที่เขาจะเข้ามาถามว่ายาตัวนี้เป็นไง กินแล้วมีอาการอย่างนี้ มันผิดปกติหรือเปล่า เราก็ให้คำแนะนำไป” แต่ความสามารถหนึ่งที่เป็นเหมือน “สะพาน” เชื่อมระหว่างตัวปลัดสุชาติ และชาวบ้านเอง นั่นคือการเป่าแคน ซึ่งเป็นความชอบของเขาตั้งแต่ยังเด็ก “ผมเริ่มจากตอนเป็นเด็กเลย ป. 4 เป็นครั้งแรกเลยที่ดนตรีเข้ามาในชีวิต เนื่องจากอาจารย์ตอนประถมนำวงกลองยาวเข้ามาในโรงเรียน ผมก็เลยกระโดดเข้าไปจับเครื่องดนตรีแล้วเล่นเลย เครื่องดนตรีชนิดแรกที่เล่นคือฉาบ จากนั้นก็ขยับมาเป็นกลองยาว แล้วก็เป็นคีย์บอร์ด ถ้าเป็นทางภาคอีสานเขาจะใช้คีย์บอร์ดแห่ แล้วก็มาเริ่มเล่นพิณตอนเข้ามัธยมฯ “ส่วนฝึกเป่าแคนนี่มาฝึกช่วงมัธยมปลาย แต่ตอนนั้นยังเล่นไม่เป็น มาเป็นจริง ๆ จัง ๆ เครื่องดนตรีอีสานสองชิ้นที่ผมถนัด คือ พิณ กับ แคน นี่มาเล่นเป็นตอนที่ผมเข้ามาอยู่จุฬา ฯ แล้วครับ คือที่จุฬา ฯ จะมีชมรมศิลปะและวัฒนธรรมอีสานจุฬา ฯ ซึ่งผมก็สมัครและเป็นสมาชิกตั้งแต่เข้าไปเรียนในชั้นปีที่ 1 ก็จะได้ประสบการณ์ในการเล่นดนตรีจากตรงนั้น” จากนั้นมาสุชาติก็เลยได้รับตำแหน่ง “หมอแคน” ติดตัวมาจนเขาได้เป็นปลัดอำเภอ จึงได้ใช้ทักษะการเป่าแคนนี้ในการทำงานชุมชน “เวลาเราไปลงพื้นที่ ของกรมการปกครองจะมีอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ ทางอำเภอโพนทรายของเราจัดเป็นโครงการชื่อ อำเภอพบคณะรัฐมนตรีหมู่บ้านครับ คณะรัฐมนตรีหมู่บ้านก็คือคณะกรรมการหมู่บ้านนั่นแหละครับ ในแต่ละเดือนก็จะหมุนเวียนกันไปว่าเราจะลงพื้นที่ที่ไหนบ้าง คณะกรรมการหมู่บ้านก็จะมาชี้แจงถึงปัญหาในพื้นที่ เราจะได้แจ้งแนวทางการบริหารงานในพื้นที่ให้กับทางคณะกรรมการหมู่บ้านได้ทราบ และก่อนที่เราจะมีการประชุมเราก็จะสร้างความคุ้นเคยให้กับชาวบ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ด้วยการเล่นดนตรี ทำให้เรากับชาวบ้านอยู่ใกล้กันมากขึ้น” การทำงานในพื้นที่ของปลัดสุชาติ ทำให้เขาได้รู้จัก ผูกพัน และรักอำเภอโพนทราย จนแต่งมาเป็นบทเพลงอีสานประกอบการเป่าแคนของเขา สุชาติ จารย์รัตน์ ปลัดหมอแคน ใช้เสียงดนตรี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน “ผมคิดว่าถ้าทำให้อำเภอโพนทรายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้นก็อาจจะทำให้มีคนมาแวะเที่ยว มาลองสัมผัสอาหาร เนื่องจากเรามีทรัพยากรเยอะครับ เรามีแม่น้ำมูล แล้วก็มีลำน้ำเสียว ซึ่งมันมีทรัพยากรพวกสัตว์น้ำ พวกปลา แล้วก็มีเมนูอาหารที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปลาแม่น้ำมูล หรือปลาส้มโอท็อป การแต่งเพลงก็พยายามเชื่อมโยงสถานที่สำคัญ ๆ เช่น กู่คันธนาม ประเพณีที่สำคัญ ๆ เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ประเพณีแข่งเรือ แล้วก็สถานที่สำคัญ ๆ เช่นแม่น้ำมูล ลำน้ำเสียว ซึ่งมีปลามีอะไรมากมาย ก็ให้มาเที่ยวชมหรือว่ามาชิม มาสัมผัสกับบรรยากาศ ประเพณีของอำเภอโพนทราย แล้วท่านอาจจะติดใจ แล้วก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ กับชาวบ้านในพื้นที่ครับ” ในขณะที่พี่ตูน บอดีแสลมนั้นวิ่งทั่วประเทศ เพื่อระดมทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล แรงบันดาลใจนี้ ทำให้ปลัดสุชาติหยิบแคนขึ้นมา จัดกิจกรรมดนตรีเป่าแคนเปิดหมวก เพื่อระดมทุนในการซื้อเตียงผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลของอำเภอโพนทรายที่มีปัญหาชำรุด “ผมนำเสนอแนวความคิดว่าผมมีความสามารถทางด้านดนตรีอยู่ พอจะช่วยเปิดหมวกหรือขอรับบริจาคเพื่อจะช่วยทางโรงพยาบาลจัดซื้อเตียงที่มันพร้อมที่จะใช้งานสำหรับผู้ป่วย นำเสนอให้ท่านนายอำเภอและผู้หลักผู้ใหญ่ได้ทราบ ท่านเห็นดีด้วย ในครั้งแรกเลยเรามาเปิดหมวกกันที่นี่แหละครับ ที่กู่คันธนาม(โบราณสถานของอำเภอโพนทราย) ได้ระดมทุนไปในคราวนั้นประมานหมื่นกว่าบาท ช่วงนี้ได้ระดมทุนไปหลาย ๆ ทางไม่ว่าจะเป็นการเปิดหมวกที่ต่างตำบลบ้าง ที่ตลาดนัดบ้าง ได้มาครั้งหนึ่งเราก็จะทยอยส่งมอบให้โรงพยาบาลไป” สุชาติ จารย์รัตน์ ปลัดหมอแคน ใช้เสียงดนตรี “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน ปลัดสุชาติมองว่า นอกจากเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสังคมให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงได้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง นั่นคือ การอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งการทำหน้าที่ทั้งสองรูปแบบ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในฐานะปลัดอำเภอที่เขายึดถือคติ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เสมอมา “การพัฒนาต้องพัฒนาในทุกด้าน พวกสิทธิพื้นฐาน ถนนหนทาง หรือว่าแหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตและจิตใจของคนในพื้นที่ก็ต้องดี คุณภาพจิตใจเช่นเรามีพระพุทธศาสนา มีศิลปวัฒนธรรมที่ดี เราก็ต้องส่งเสริมและพัฒนาในเรื่องนี้ ดนตรีก็เป็นหนึ่งในศิลปวัฒนธรรมครับ เราก็ใช้ความสามารถตรงนี้ในการส่งเสริม อนุรักษ์ และทำให้คนจากรุ่นสู่รุ่น เข้าใจกัน คนรุ่นหลังจากเราก็จะเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง คนรุ่นก่อนเราก็จะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ยังสามารถอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมได้” ... “พอเรามาลงพื้นที่ที่อำเภอจริง ๆ ชาวบ้าน หรือว่าเพื่อนร่วมงาน หรือว่าทุกคนที่ได้พบปะเรา เขาก็ให้ความสนใจกับเรา ว่าเราจะเข้ากับชาวบ้านยังไง วางตัวยังไง ก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีของคนรอบข้าง เลยมีความภูมิใจว่าการเป็นนักปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีครับ ก็เลยมีความภูมิใจในคำว่าปลัดอำเภอครับผม”