3 พี่น้องตระกูลคัง: ปฏิเสธเงินพันล้าน พัฒนาแอปหาคู่ Coffee Meets Bagel

3 พี่น้องตระกูลคัง: ปฏิเสธเงินพันล้าน พัฒนาแอปหาคู่ Coffee Meets Bagel

ปฏิเสธเงินพันล้าน พัฒนาแอปหาคู่ Coffee Meets Bagel

“สามีและฉันเพิ่งจะครบรอบ 2 ปีของการเป็นคู่รักในวันที่ 26 มีนาคม และ 5 เดือนของการแต่งงาน! เราพบกันในแอปหาคู่ที่ชื่อว่า Coffee Meets Bagel”  โรเชล แมดเดน บล็อกเกอร์สาวชาวอเมริกัน เล่าถึงจุดเริ่มต้นความรักของเธอในครั้งนี้ หลังจากที่ผิดหวังจากแอปพลิเคชันหาคู่อื่นในบล็อกของเธอ เธอกล่าวว่าเธอชอบ Coffee Meets Bagel มากกว่าแอปพลิเคชันหาคู่ตัวอื่น เพราะอัลกอริทึมที่จัดการการจับคู่อัจฉริยะตามความชอบของแต่ละบุคคล เพราะการหาแฟนสักคน ก็เหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร แต่ถ้าได้ตัวช่วยที่จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเจอใครสักคนที่เข้ากับคุณได้ ก็คงจะดีไม่น้อย Coffee Meets Bagel เกิดขึ้นในปี 2012 เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มองหาความสัมพันธ์แบบจริงจัง   โดยการริเริ่มของ ดาอุน คัง (Dawoon Kang) และพี่น้องของเธออีก 2 คน คือ ซู คัง (Soo Kang) และอารัม คัง (Arum Kang) หลังจากการคุยกันเรื่องปัญหาการออกเดทในระหว่างพักเที่ยงตามประสาพี่น้อง   3 พี่น้อง ตระกูลคัง “การเป็นผู้อพยพมีผลกระทบอย่างมากต่อตัวตนของฉัน” ดาอุน คัง หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งและ CCO ของ Coffee Meets Bagel เล่าใน CNBC Make It เมื่อดาอุนอายุได้ 12 ปี ทั้ง 3 พี่น้องได้อพยพจากประเทศเกาหลีมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเรียนหนังสือ ในขณะที่พ่อแม่ของพวกเธอยังคงทำธุรกิจรีไซเคิลโลหะและเปิดร้านเล็ก ๆ อยู่ในเกาหลี  การเผชิญหน้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย และการมีกันอยู่แค่ 3 คน ทำให้พวกเธอสนิทกันมากขึ้น สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง และกลายมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันในเวลาต่อมา   พักเที่ยงเป็นเหตุ เที่ยงวันหนึ่ง ในปี 2012 การพูดคุยเรื่องการเดทก็เริ่มต้นขึ้น แล้วดาอุนก็พบว่า เธอและพี่น้องของเธอพบปัญหาบางอย่างที่เหมือน ๆ กันในระหว่างการใช้แอปหาคู่  คือการที่ไม่พบคนที่ตรงตามความต้องการของตัวเอง หรือเมื่อเจอก็ไม่ประสบความสำเร็จในการพูดคุย และเมื่อมองหาแอปใหม่ ๆ ก็ไม่มีแอปใดที่แก้ไขปัญหาให้พวกเธอได้เลย และจากการหาคำตอบ พวกเธอพบว่าโดยปกติแล้วผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันหาคู่ ผู้ชายมักจะแอคทีฟมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า  เมื่ออัตราการใช้ไม่เสมอกัน จึงเป็นเรื่องยากที่จะพบคนที่ถูกใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย และตกลงคบกันในระยะยาวหลังจากนั้น    ในเมื่อไม่มี ก็ทำเองซะเลย หลังจากการคุยกันในเที่ยงวันนั้น ทั้ง 3 คนตัดสินใจเดินหน้าลาออกจากบริษัทเดิม และย้ายไปยังซานฟรานซิสโก เพื่อเริ่มต้นธุรกิจเว็บไซต์หาคู่  พวกเธอตัดสินใจที่จะสร้างแบรนด์และบริการที่ผู้หญิงตอบโจทย์ผู้หญิงได้มากขึ้น เพื่อการบริการที่สมดุลและเหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน โดยใช้ชื่อ Coffee Meets Bagel ที่มาจากการที่ Coffee คู่กับ Bagel ได้อย่างลงตัว  หลังจากเปิดตัวในรูปแบบเว็บไซต์ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้ จนภายในหนึ่งปี พวกเธอก็สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาได้ ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่ปัญหาต่อมา คือเงินลงทุน เมื่อบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว เงินทุนที่มีอยู่เดิมจึงไม่พอกับการใช้งาน ทั้ง 3 คนจึงมองหาการได้มาซึ่งเงินทุนที่จะสามารถนำพาให้ธุรกิจของพวกเธอเติบโตต่อไปได้ และรายการ Shark Tank คือคำตอบของพวกเธอในตอนนั้น   ปฏิเสธเงินจากมาร์ค คิวบาน ในเดือนมกราคม ปี 2015 ทั้ง 3 พี่น้องได้ปรากฏตัวขึ้นในรายการ Shark Tank รายการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเริ่มต้นหรือกิจการ ​​จะมานำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อโน้มน้าวนักลงทุนให้มาลงทุน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนต่าง ๆ เช่น หุ้นบางส่วนของธุรกิจ โดยพวกเธอหวังว่าจะได้ Shark (นักลงทุน) ที่จะลงทุน 5 แสนดอลลาร์เพื่อแลกกับหุ้นของ Coffee Meets Bagel 5 เปอร์เซ็นต์ 'เปลี่ยนวิธีที่ผู้คนพบเจอ และตกหลุมรักได้อย่างลึกซึ้ง' เป็นนิยามที่ทาง Coffee Meets Bagel ต้องการนำเสนอ ถึงแม้ว่าตัวธุรกิจจะน่าสนใจเพียงใด แต่ในตอนแรก Shark ก็ไม่ได้ตอบรับข้อเสนอของพวกเธอ  เหมือนเล่นตลก เมื่อพวกเธอหันหลังพร้อมที่จะเดินออกจากรายการ จู่ ๆ มาร์ค คิวบาน (Mark Cuban) เศรษฐีพันล้าน เจ้าของทีมบาส NBA Dallas Maverick ก็ยื่นข้อเสนอสุดน่าตกใจกลับมา “​​30 ล้านดอลลาร์ (1 พันล้านบาท) สำหรับทั้งบริษัท” มาร์คเรียกพวกเธอไว้ ข้อเสนอสุดเย้ายวน ถูกหยิบยื่นมาอย่างกะทันหัน แต่ในท้ายที่สุดดาอุนและพี่น้องก็ตัดสินใจไม่รับข้อเสนอของมาร์ค เพราะพวกเธอเชื่อว่า Coffee Meets Bagel จะสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่านั้นในอนาคต หลังจากรายการออนแอร์ มีหลายคนที่หาว่าพวกเธอบ้าที่ไม่ยอมรับข้อเสนอสุดพิเศษนั้น แต่พวกเธอก็ไม่สนใจ และเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชันต่อไป ในเดือนต่อมา Coffee Meets Bagel ประกาศการระดมทุนรอบ Series A เป็นจำนวนเงิน 7.8 ล้านดอลลาร์ (260 ล้านบาท) นำโดย DCM Ventures และประกาศการระดมทุนรอบ Series B 12 ล้านดอลลาร์ (400 ล้านบาท) นำโดย Atami Capital ปี 2018  รวมไปถึงรายได้จากแอปที่ถูกปล่อยใน App Store และ Play Store ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากความพยายามของพวกเธอ   เป็นมากกว่าแค่แอปหาคู่ การปัดซ้ายขวา โดยมองแค่ภาพลักษณ์แบบผิวเผิน ไม่ใช่สิ่งที่ Coffee Meets Bagel ต้องการ เพราะดาอุนต้องการให้ Coffee Meets Bagel มีประสิทธิภาพและอัตราการจับคู่ที่ประสบความสำเร็จมากกว่า จึงได้มีการพัฒนาและใช้อัลกอริทึมเพื่อสร้างการจับคู่ที่ลึกซึ้งและชาญฉลาดระหว่างผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม เพียงกรอกข้อมูลความชอบส่วนตัว จากนั้นทางแอปมีการจำกัดการเข้าถึงผู้คนในแต่ละวัน รวมไปถึงพูดคุยกับคนที่สนใจได้เพียง 7 วันภายในแอป เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ความคิดได้มากกว่า และเลือกคนที่พวกเขาต้องการจริง ๆ ในการสานต่อความสัมพันธ์ที่จริงจังมากยิ่งขึ้นในชีวิตจริง ปัจจุบันแอป Coffee Meets Bagel มีการติดตั้งเกือบ 7 ล้านครั้ง ตามข้อมูลจาก Sensor Tower มีสมาชิกที่ชำระเงินแล้วกว่า 3 ล้านคน และรายรับรวมมากกว่า 25 ล้านดอลลาร์ 840 ล้านบาท) ถึงแม้ว่าจะไม่เยอะเท่ากับแอปพลิเคชันหาคู่เจ้าอื่น และยังไม่เท่ากับที่มาร์คเสนอให้ในรายการ Shark Tank แต่ในแง่ของวัตถุประสงค์ของการสร้างความสัมพันธ์ให้กับคู่รักทั่วโลก Coffee Meets Bagel ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ไม่แน่ว่า ในอนาคต คุณอาจจะเป็นอีกคนที่พบรักบนแอปพลิเคชันนี้ก็ได้   ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=xp9SO1dewS0   อ้างอิง:  https://www.cnbc.com/2021/05/04/coffee-meets-bagel-co-founder-dawoon-kang-on-achieving-success.html https://www.forbes.com/sites/geekgirlrising/2017/02/13/how-this-sister-run-business-is-changing-the-dating-game/?sh=4123de9f4086 https://millennialentrepreneurs.com/kang-sisters-coffee-meets-bagel/ https://techcrunch.com/2018/12/11/coffee-meets-bagel-goes-anti-tinder-with-a-redesign-focused-on-profiles-conversations/  https://gaps.com/coffee-meets-bagel/