ทำไม New Year’s Resolutions จึงมักล้มเหลวไม่เป็นท่า?

ทำไม New Year’s Resolutions จึงมักล้มเหลวไม่เป็นท่า?

เพราะอะไร... ทำไมการตั้งเป้าหมายชีวิตประจำปี หรือ New Year's Resolution มักจบลงด้วยความล้มเหลว ทำไมในช่วงเดือนมกราคมถึงมีผู้ใช้บริการฟิตเนสหน้าใหม่มากมายที่มักหายตัวไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ชำแหละหาปัญหาและหาทางออกไปด้วยกันผ่าน 'เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม'

5… 4… 3… 2… 1… Happy New Year!

สิ้นวินาทีสุดท้ายของวันที่ 31 ธันวาคม เราก็มักได้ยินเสียงของผู้คนที่กำลังเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่ากันอย่างสุขสันต์ เสียงพลุและประทัดก็พลันปะทุขึ้นอย่างท่วมท้น และเสียงบทเพลงสวัสดีปีใหม่ที่บรรเลงขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง บรรยากาศเหล่านี้เป็นสัญญาณที่สื่อให้โลกใบนี้รู้ว่าเราทุกคนได้ก้าวข้ามผ่านปีเก่าสู่ศักราชใหม่เป็นที่เรียบร้อย และเมื่อข้ามผ่านปีใหม่ วลียอดฮิตที่เรามักจะได้ยินกันก็คงหนีไม่พ้น

New Year, New Me

ปีใหม่นี้ ฉันจะแปรเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม สิ่งไม่ดีนานาประการที่เคยเกิดขึ้นหรือมีอยู่จะถูกวางทิ้งไว้ ณ เส้นแบ่งของปีก่อนหน้า ศักราชใหม่ของชีวิตจะเริ่มต้นขึ้น ณ วันแรกของปี แต่แนวคิดเหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ในความคิดของใครหลาย ๆ คนเท่านั้น เพราะเส้นทางสู่ความสำเร็จต้องมาพร้อมกับการวางแผนและตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน จึงได้กลายเกิดเป็น การตั้งเป้าหมายชีวิตประจำปี หรือที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นหูในชื่อ New Year’s Resolution

ปีนี้ฉันจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ปีนี้ฉันจะลดน้ำหนักอย่างมีระเบียบวินัย

ปีนี้ฉันจะเลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์

ปีนี้ฉันจะอ่านหนังสือให้หลายเล่มมากขึ้น

ปีนี้ฉันจะเป็นฉัน… ในเวอร์ชันที่สมบูรณ์แบบกว่าเดิม

เป้าหมายนานาประการถูกจดลงบนหน้ากระดาษ ในโน้ตโทรศัพท์มือถือ หรือไม่ก็โพสต์บนโซเชียลมีเดีย เป้าหมายที่เราเห็นส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นเรื่องการพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การเรียน ทักษะ หรือแม้แต่ความรัก หรือบ้างก็ตั้งเป้าหมายที่ลึกไปกว่านั้นโดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในหน้าที่การงาน

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยแม้แต่น้อย เพราะหลายคนมักมองว่าวันปีใหม่เปรียบเสมือนหมุดหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง และทุกคนก็ย่อมอยากจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม

การตั้งเป้าหมายใน New Year’s Resolution ทุก ๆ ปีย่อมเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นเป็นตัวชี้วัดที่บอกกับเราว่า เรา ‘รู้’ ว่าควรตั้งหางเสือการดำเนินชีวิตไปในทิศทางไหน… มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ที่บอกกับเราว่าเรา ‘รู้’ ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีสำหรับเราในชีวิต

แต่ดูเหมือนว่าใครหลายคน (รวมถึงผู้เขียนเองด้วย) กลับผิดสัญญาที่ตั้งไว้กับตัวเองอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่คิด (Expectation) กับ สิ่งที่เป็น (Reality) – ทั้งสองปัจจัยนี้คือใจความสำคัญของเรื่อง ซึ่งเราจะมาพูดถึงในส่วนถัดไป – กลับแตกต่างกันอยู่มากโข ในเดือนมกราคมเราก้าวเดินเข้าปีใหม่แบบคนใหม่ แต่ผ่านไปไม่นาน ตัวเราคนเดิมก็หวนกลับมาจนบางทีก็ลืมไปเลยว่าเคยจดหรือโพสต์อะไรไว้บ้าง 

ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง ในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง การล้มเหลวที่จะบรรลุเป้าหมาย New Year’s Resolution ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยแม้แต่น้อย ถ้าดูจากสถิติ สิ่งที่เห็นอยู่รอบตัว หรือแม้แต่ตัวเราเอง สัดส่วนของคนที่บรรลุเป้าหมายมีน้อยกว่ามาก 

ถึงกระนั้น บทความนี้ก็ไม่ได้พยายามจะบอกว่าจะตั้งไปทำไม เพราะถึงตั้งไปก็ไม่สำเร็จอยู่ดี แต่เราคาดหวังที่จะชำแหละดูปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่า ว่าเพราะสาเหตุใดคนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตัวเองได้ตั้งเอาไว้ในปลายปีได้ แล้วต้องทำอย่างไรที่จะทำให้เป้าหมายเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะมีความสำเร็จมากขึ้น

ในบทความนี้เราจะพาไปแงะดูว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน พร้อมหาคำตอบถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ผ่านศาสตร์ที่ว่าผนวกรวมเอาหลักเหตุผลในการตัดสินใจที่มีเหตุผลมาผนวกรวมกับจิตวิทยาและสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์อย่าง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics)

หากอ้างอิงตามหลักสำคัญที่แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมยึดถือ สมองของคนเราจะแบ่งออกเป็นสองตัวตน – เหตุผลและอารมณ์ – ในด้านของเหตุผล การดำเนินชีวิตและการตัดสินใจจะดำเนินไปด้วยเหตุผลทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น เราจะออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพราะดีต่อสุขภาพในระยะยาว เราจะไม่ดื่มหรือสูบบุหรี่เพราะไม่ดีต่อสุขภาพและเสี่ยงเป็นมะเร็ง โดยไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง

สำหรับในด้านของอารมณ์ มนุษย์เราก็จะประพฤติตามสัญชาตญาณและความต้องการที่รู้สึกเป็นหลัก ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมหลายอย่างที่ทำให้แผนที่วาดไว้โดยใช้เหตุผลไม่บรรลุผลสำเร็จ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นการผัดวันประกันพรุ่ง  

(ทำความรู้จักกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมให้มากกว่าเดิมได้ที่บทสัมภาษณ์ ‘เข้าใจ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ และการมองคนให้เป็นมนุษย์กับ ธานี ชัยวัฒน์ - Peoplenomics’)

สิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารผ่านหลักการเหล่านี้คือ ทุก ๆ ต้นปีเวลาเราตั้งเป้าหมายในปีนั้น ๆ จนกลายเป็น New Year’s Resolution มนุษย์เราก็จะคำนึงถึงเส้นทางที่เราควรเดินและสิ่งที่เราควรทำ เราใช้สมองด้านเหตุผลนึกถึงการตัดสินใจที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เวลาเราลงมือทำจริง ๆ ตัวตนที่ทำหน้าที่รับผิดชอบภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ให้สำเร็จลุล่วงกลับมีสมองด้านอารมณ์มาร่วมด้วย 

นี่จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมในเดือนมกราคม ฟิตเนสหลาย ๆ ที่ถึงมีผู้ใช้บริการหน้าใหม่เข้ามากันจนคนแน่นเอี้ยด แต่พอเมื่อเวลาเคลื่อนผ่านไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนคนกลับลดหลั่นลงไปมาก เหตุเพราะตอนต้นปีเราใช้เหตุผลตั้งเป้าว่าจะออกกำลังกาย แต่พอกระทำจริง ๆ และมีปัจจัยด้านอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง บางวันเราก็ขี้เกียจ บางวันเราผัดวันประกันพรุ่ง หรือบางวันก็ต้องไปปาร์ตี้ จึงทำให้ความเข้มงวด ณ ตอนที่ตั้งไว้ตอนแรกค่อย ๆ เบาบางลงไป

เมื่อพอจะทราบที่มาของปัญหากันแล้ว เราพอจะมีวิธีแก้ไขมันอย่างไรบ้าง? 

ก่อนจะเจาะลึกทีละวิธีการแก้ปัญหา เราควรพูดกันถึงภาพรวมของแนวทางกันเสียก่อน ก่อนจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเราอย่างถ่องแท้กันเสียก่อน เข้าใจว่าเราไม่สามารถประพฤติและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้ตลอดเวลา และเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเข้าใจข้อเท็จจริงนี้อย่างชัดเจนแล้ว ก็ถึงเวลา ‘สะกิด’ ตัวเองเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม

การนัดจ์ (Nudge) หรือการสะกิดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม นับเป็นแนวทางหลัก ๆ ในเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่ใช้อุดช่องโหว่ของความเป็นมนุษย์ ริชาร์ด ธาเลอร์ (Richard Thaler) และ แคส ซันสตีน (Cass Sunstein) ได้ทำการศึกษาและนำเสนอเรื่องนี้อย่างครอบคลุมใน Nudge สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม หนังสือเล่มสำคัญของการศึกษาด้านเศรษฐศาสาตร์พฤติกรรม 

การนัดจ์คือการพยายามจัดสภาพแวดล้อมหรือตัวเลือกของเราให้สอดคล้องไปกับการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลตามที่เราตั้งไว้ให้มากที่สุด ซึ่งการกระทำเช่นนั้นก็มีหลากหลายแนวทางแล้วแต่คนออกแบบ เช่น ถ้ากินเยอะไปก็ใช้ข้าวจานเล็กแทน ถ้าอยากลดน้ำหนักสำเร็จก็ลองวางเงินพนันแข่งกับเพื่อนดู หรือถ้าอยากดื่มน้ำให้มากขึ้นก็ลองวางแก้วน้ำให้ใกล้ไม้ใกล้มือดู

ถ้าพอจะเห็นภาพแนวทางการแก้ปัญหาแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะลองนำเสนอบางวิธีที่จะเพิ่มความเป็นไปได้ให้ New Year’s Resolution ที่ตั้งกันไว้ต้นปีสำเร็จลุล่วงกันดูบ้าง โดยนิตยสาร Forbes ได้นำเสนอ 4 วิธีง่าย ๆ ไว้ดังนี้

 

1. ตั้งเป้าหมายให้เจาะจงและเขียนมันลงบนหน้ากระดาษ

แน่นอนว่าเราก็คงมีเป้าหมายหลายประการที่อยากบรรลุ มีลักษณะนิสัยหลายอย่างที่เราอยากแก้ไข แต่การจับปลาสองมือก็อาจจะทำให้เราไม่บรรลุหรือแก้ไขอะไรใด ๆ เลย ทางที่ดีคือการโฟกัสไปที่ข้อข้อหนึ่งและมุ่งกระทำสิ่งนั้นไปเลยจะเป็นผลดีมากกว่า แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่ใจเราคาดหวัง แต่ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงามก็ยังดีกว่าจับปลาสองมือ

นอกจากนั้นก็อย่าลืมเขียนมันลงบนหน้ากระดาษหรือจดไว้ในโทรศัพท์มือถือก็ได้ เพราะเมื่อเรามีหลักฐานว่าเราตั้งเป้าอะไรไว้ เราก็มีแนวโน้มที่จะทำมัน หรืออย่างน้อยที่สุด เราก็จะได้ไม่ลืมว่าเคยสัญญาอะไรกับตัวเองไว้ตอนต้นปี

 

2. เปิดเผยเป้าหมายของคุณสู่สาธารณะไปเลย!

แม้ ไรอัน ฮอลิเดย์ (Ryan Holiday) เคยระบุไวัในหนังสือสุดฮิตของเขาอย่าง Ego is the Enemy ว่าเราไม่ควรไปป่าวประกาศก่อนจะทำอะไร เพราะมันจะดึงดูดพลังงานจากการมุ่งบรรลุมันให้ประสบความสำเร็จ แต่การบอกให้โลกรู้ว่าคุณจะทำอะไรก็อาจไม่ได้มีแต่ข้อเสียเท่านั้น 

หากคุณรู้ทันความเป็นมนุษย์ของตัวคุณ การโพสต์เป้าหมายของคุณลงโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่จะทำให้เหล่าเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักของคุณได้ร่วมรับทราบด้วย นั่นอาจทำให้คุณต้องกดดันตัวเองมากขึ้นเพื่อที่จะสำเร็จ เพราะเมื่อคุณได้เอ่ยไปแล้วว่าสิ่งเหล่านี้คือ New Year’s Resolution ของคุณในปีนี้ การร่นถอยแล้วเริ่มใหม่ปีหน้า (หรือโพสต์เป้าหมายเดิมในปีถัดไป) ก็คงเสียหน้าอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นการอัปเดตเป้าหมายของคุณลงโซเชียลมีเดียก็จะเป็นการสร้างเงื่อนไขที่จะบีบให้คุณทำบรรลุเป้าหมายให้ได้

 

3. เชื้อเชิญให้มีบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้องกับเส้นทางการบรรลุเป้าหมายของคุณสักหน่อย

อะไรคือการให้บุคคลที่สามมาเกี่ยวข้อง? ให้เขามาคอยตักเตือนและสอดส่องอาหารที่เรากินขณะที่เราพยายามลดน้ำหนักเหรอ? คงไม่ใช่ เพราะถ้ามองกันตามตรง New Year’s Resolution นับเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างส่วนตัว ถ้าเราสามารถบรรลุมันได้ ผลประโยชน์ทั้งหมดทั้งมวลก็จะตกอยู่ที่ตัวเราหาใช่ใครอื่น

แต่การดึงบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้องในที่นี้คือการชักชวนเข้ามาทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อมกับเรา ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ทั้งคู่ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ลองชวนกันไปวิ่งทุกวันเสาร์ตอนเย็น เพราะถ้าวันใดคุณขี้เกียจจะไป อย่างน้อยคุณก็มีเงื่อนไขว่าคุณคงไม่อยากจะผิดนัดเพื่อนคนนั้น (เว้นแต่คุณทั้งคู่จะใจตรงกัน) 

หรือถ้าอยากจะยกระดับความฮาร์ดคอร์ไปมากกว่านั้น ก็ยกระดับความเข้มข้นให้กิจกรรมเหล่านั้นแปรเปลี่ยนจากการออกกำลังกายกระชับมิตรเป็นการแข่งขันที่มีการเดิมพันไปเลย ถ้าใครลดน้ำหนักได้ก่อนในเวลาที่กำหนดคือผู้ชนะ! 

 

4. ตั้งบทลงโทษไว้ในกรณีที่ล้มเหลว

ทุก ๆ อย่างล้วนมาพร้อมต้นทุน แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นข้อสองหรือข้อสามที่เราได้นำเสนอไป ก็คล้ายกับการใส่บทลงโทษหรือต้นทุนไว้หากเราไม่สามารถทำได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ แต่ในกรณีนี้ เราพยายามจะบอกว่า ให้ตั้งแบบชัดเจนไปเลยว่าถ้าไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ อะไรคือบทลงโทษหรือต้นทุนที่ต้องจ่าย เช่นถ้าไม่สามารถลดน้ำหนักได้ต้องเสียเงิน หรือถ้าไม่สามารถลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้จะอดไปเที่ยวในช่วงวันหยุด

 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ขึ้นอยู่กับตัวเราล้วน ๆ วิธีเหล่านี้เปรียบเสมือนการปฐมพยาบาลที่อาจจะทำให้เส้นทางสู่การบรรลุเป้าหมายราบรื่นขึ้นบ้าง แต่การจะหาวิธีที่ยั่งยืนและชัดเจนไปกว่านั้นคงต้องดำดิ่งไปถึงแก่นเหตุผลของการบรรลุสิ่ง ๆ นั้นจริง ๆ 

ทำไมเราต้องมีสุขภาพที่ดีขึ้น ทำไมเราต้องเก็บออมเงินให้มากขึ้น ทำไมเราต้องเลิกสูบบุหรี่ ทำไมเราถึงต้องใฝ่หาความรัก ทำไมเราต้องทำเกรดให้ดีกว่าเดิม ทำไมเราต้องใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารักให้มากขึ้น แต่ละคำถามล้วนมีคำตอบของแต่ละคนที่อาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันไป หากเราได้ลองพูดคุยกับตัวเองและถามลึกไปถึงแก่นของมันจริง ๆ บางทีเราอาจจะพบกับคำตอบที่จะบันดาลให้เรามุ่งทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จก็เป็นได้

แต่ New Year’s Resolution อาจจะไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นหลังค่ำคืนปีใหม่เสมอไปก็ได้ บางทีการตั้งเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองอาจจะเกิดขึ้นทุกเดือน อาจจะเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ ทุกวัน หรือแม้แต่ทุกวินาที

บางทีหลังจากอ่านบทความนี้เสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเดือนไหน วันไหน เราก็สามารถเริ่มตั้งเป้าเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ทันที ไม่ต้องรอประกายพลุ เสียงประทัด หรือเสียงเพลงสวัสดีปีใหม่บรรเลงขึ้นอีกครั้ง

 

ภาพ : The People

อ้างอิง : Keep Your New Year’s Resolutions By Using Behavioral Economics - Forbes