Stutz: แกะเปลือกจิตใจ เข้าใจความเปราะบางของมนุษย์กับนักจิตบำบัดของ Jonah Hill

Stutz: แกะเปลือกจิตใจ เข้าใจความเปราะบางของมนุษย์กับนักจิตบำบัดของ Jonah Hill

‘Stutz’ สารคดีสีขาว-ดำตีแผ่บทสนทนาระหว่าง ‘โจนาห์ ฮิลล์’ และนักจิตบำบัดประจำตัว ‘ฟิล สตุตซ์’ ที่เจาะลึกเพื่อแกะเปลือกจิตใจของมนุษย์ พร้อมเข้าใจตัวเองผ่านเครื่องมือทางจิตวิทยาที่จะเปลี่ยน ‘ความทุกข์’ เป็น ‘ความเข้าใจ’ พร้อมสอดแทรกมิตรภาพอันสวยงามระหว่างคนสองคน

  • บทวิจารณ์ Stutz สารคดีขาวดำที่ดำเนินและกำกับโดย โจนาห์ ฮิลล์ ที่สัมภาษณ์ ฟิล สตุตซ์ นักจิตบำบัดของตัวเองที่แฝงไปด้วยข้อคิดและความบันเทิง
  • ความเป็นมนุษย์ในสารคดี เพราะไม่ได้มีดีแค่คอนเซปต์ด้านจิตวิทยา
  • เจาะลึกเครื่องมือทางจิตวิทยาที่ถูกแนะนำในเรื่อง

แม้จะแกร่งกล้าสามารถเพียงไหน แม้จะแข็งกร้านต่อโลกมากเพียงใด แต่ข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธอย่างหนึ่งก็คือ ‘มนุษย์นั้นเปราะบาง’ เฉกเช่นเดียวกับจิตใจของคนเราที่แม้ว่าจะอยู่คู่กับมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน แต่มันก็ยังพิศวงและเป็นปริศนาต่อใครหลาย ๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้ เหตุเพราะเราไม่สามารถเข้าใจมันอย่างถ่องแท้เสียที สุข เศร้า เหงา ทุกข์ ล้วนเป็นปรากฎการณ์ที่ยากจะควบคุม แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นปัจจัยที่นิยามว่าความเป็นมนุษย์ในตัวของเราทุกคน

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ที่มาในโทนสีขาว-ดำนามว่า ‘Stutz’ ที่กำกับและดำเนินโดย ‘โจนาห์ ฮิลล์’ (Jonah Hill) เปรียบได้เป็นตำราอีกหนึ่งเล่มที่สามารถพาเราไปรู้จัก จัดการ และเข้าใจความพิศวงของจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง ผ่านบทสนทนาหลักระหว่างคนสองคน–ฮิลล์ และ นักจิตบำบัดประจำตัววัย 74 ปี นามว่า ‘ฟิล สตุตซ์’ (Phil Stutz)

 

สารคดียาวราวหนึ่งชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้จั่วหัวมาว่าจุดกำเนิดของมันมาจากการที่ฮิลล์อยากจะแบ่งปันเทคนิคและแง่คิดในการปรับทุกข์บำรุงจิตของตัวเองที่เขาได้รับจากสตุตช์แก่คนอื่น ๆ ที่อาจจะเผชิญปัญหาเดียวกัน โดยเขาจะพาเราไปรู้จักกับเครื่องมือและแนวคิดหลากชิ้นที่จะช่วยเปลี่ยนความทุกข์เป็น–ไม่ใช่ความสุข–แต่เป็นความเข้าใจ

แม้จะไม่ได้มีความหวือหวาที่เด่นขึ้นมากระชากผู้ชมให้อยากดู แต่บทสนทนาเล็ก ๆ เรื่อย ๆ ของทั้งคู่กับแทรกแนวคิดและความสวยงามไว้อย่างเต็มอิ่ม ในเชิงหนึ่ง แน่นอนว่าการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้เราได้ข้อคิดและเครื่องมือการจัดการกับอารมณ์ตัวเองหลากหลายชิ้นที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ๆ และใช้ได้ทันที (ซึ่งเราจะพูดถึงเครื่องมือเหล่านั้นในส่วนถัดไป) แต่มิติความสวยงามของ Stutz ไม่ได้หยุดลงแค่ตรงนั้น

คุณสมบัติสำคัญที่จำแนกภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ออกจากคลาสเรียนแนวมาสเตอร์คลาสหรือหนังสือพัฒนาตัวเองที่ชี้บอกว่าเราควรทำอะไร-ไม่ทำอะไร คือการที่มันมีเส้นเรื่องอันเปรียบเสมือนพล็อตย่อย (Sub-Plot) ของเรื่องราวที่ดำเนินควบคู่ไปกับเส้นเรื่องหลัก ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างฮิลล์และสตุตช์

 

ด้วยความที่ Stutz ไม่ละทิ้งมิติ ‘ความเป็นคน’ จากเรื่อง จึงทำให้ประเด็นหลักที่ภาพยนตร์พยายามจะนำเสนอนั้นส่งผลต่อผู้ชมได้มากขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น เพราะไม่เพียงแต่เรื่องนี้พูดถึงความเป็นคน (อารมณ์) แต่ยังใส่ความเป็นคน (ความสัมพันธ์) เข้าไปอีกด้วย การได้ชมสารคดีเรื่องนี้จึงไม่ได้รู้สึกเหมือนการเข้าไปในคลาสเรียน แต่รู้สึกเหมือนได้เข้าไปร่วมวงเพื่อนสนิทพูดคุยปัญหาชีวิตและปมในจิตใจ เพราะเคมีทั้งคู่นั้นเข้ากันได้ดีเสียเหลือเกิน เสียดกันไปสีกันมาตลอดเรื่อง เรียกได้ว่าหลังเสร็จเนื้อหาจริง ๆ จัง ๆ (หรือระหว่างเนื้อหาจริง ๆ จังนั้นเลยด้วยซ้ำ) จะมีจังหวะเรียกเสียงฮาตามมาเสมอ ๆ และแน่นอนว่าการได้คุยกับเพื่อนที่รู้ใจย่อมดีกว่าการเข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ที่พร่ำสอนอยู่แล้ว

การได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องที่บอกเล่าความเป็นมนุษย์ที่ง่าย ๆ แต่สวยงาม ดังเช่นภาพยนตร์เรื่อง Paddleton (2019) ที่เล่าเรื่องราวของเพื่อนบ้านสองคนที่ต้องโร้ดทริปไปหาร้านขายยาการุณยฆาตตัวเอง เมื่ออีกคนตรวจพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แม้จะดำเนินเรื่องด้วยคนสองคน แต่บทสนทนาที่ดำเนินไปอย่างธรรมดาและเรียบง่ายกลับสอดแทรกปรัชญาความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ได้อย่างลึกซึ้ง เฉกเช่นเดียวกับ Stutz

หากกล่าวถึงความเปราะบาง ก็อดไม่ได้อีกที่จะกล่าวถึงงานของ ‘รอย แอนเดอรส์สัน’ (Roy Andersson) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวสวีเดนที่มีสไตล์การสร้างงานที่เด่นชัดเพราะทุก ๆ เฟรมของเขานั้นสวยงามดั่งภาพวาดขยับได้ ภาพยนตร์ของแอนเดอร์สสันหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) หรือ About Endlessness (2019) ก็ล้วนพาผู้ชมไปสำรวจความเปราะบางและน่าเบื่อหน่ายของชีวิตมนุษย์ แม้จะดูเป็นคุณลักษณะเชิงลบที่ทำให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์ แต่หารู้ไม่ว่าความไม่สมบูรณ์นั้นเองที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ และนั่นก็จึงเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้มนุษย์ยังคงน่าค้นหาอยู่เสมอ

นอกจากนั้น ฮิลล์ก็ฉลาดที่จะเล่าบทสนทนาของทั้งคู่โดยปราศจากความน่าเบื่อ แทนที่จะเหมือนสารคดีการพูดคุยสัมภาษณ์ธรรมดาๆ เขากลับทำให้ Stutz เหมือนภาพยนตร์ Coming-of-Age ที่ทั้งฮิลล์และสตุตช์ค่อย ๆ เติบโตและแกะเปลือกของตัวเองตลอดการดำเนินเรื่อง (แถมสารคดีแบบนี้ ฮิลล์ยังสร้างจุดหักมุมและจังหวะซิทคอมฮา ๆ ที่ทำให้ผู้ชมขำก๊ากออกมาได้อีกด้วย)

แม้จะเป็นสารคดีสั้น ๆ แถมยังดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาของคนสองคน แต่เนื้อหาของ Stutz กลับทรงคุณค่า แนวคิดเหล่านั้นไม่ได้พยายามบอกให้เราพยายามปฏิเสธอารมณ์และความเป็นมนุษย์–เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้–แต่ชักจูงให้เราโอบรับแง่งามของมันเสียมากกว่า

ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักแนวคิดต่าง ๆ จาก ฟิล สตุตซ์ ที่ โจนาห์ ฮิลล์มุ่งอยากนำเสนอและตีแผ่แก่คนอื่น ๆ แต่ผู้เขียนอยากแนะนำว่า ถ้าอยากได้เต็มอรรถรสของคุณค่าที่สารคดีเรื่องนี้มุ่งมอบให้ การได้เปิดเข้าไปชมด้วยตัวเองจะได้รับประสบการณ์ที่เต็มอิ่มกว่าอย่างแน่นอน เพราะเครื่องมือการจัดการกับภาวะจิตใจไม่ใช่คุณค่าเดียวของ Stutz

/ เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Stutz (2022) /

หลักสำคัญของความเป็นจริง | The Reality

ก่อนจะเดินหน้าไปถึงเครื่องมือหรือการลงมือทำในเทคนิคต่าง ๆ สตุตซ์ได้นำเสนอเราถึงหลักสำคัญอันเป็นข้อเท็จจริงของจิตใจมนุษย์และโลกใบนี้ โดยมีอยู่สามประการด้วยกัน อันประกอบไปด้วย พลังชีวิต พาร์ทเอ็กซ์ และความจริงทั้งสามประการ

พลังชีวิตเป็นส่วนเดียวในตัวคุณที่สามารถช่วยนำทางคุณได้ยามที่คุณหลงทาง

สำหรับ ‘พลังชีวิต’ (Life Force) ในโลกมนุษย์ เราจะเห็นคนหลากหลายประเภท บ้างก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังในการออกไปทำงานใช้ชีวิต บ้างก็ทุกข์ระทมสิ้นหวังกับชีวิตตัวเอง สตุตซ์ได้เจอใครมากมายหลายคนที่บ้างก็เปี่ยมไปด้วยแพชชั่น บ้างก็หมดไฟ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนโยงกลับไปที่พลังชีวิต สตุตซ์แบ่งต้นตอของพลังชีวิตออกเป็นสามแหล่ง ลำดับเป็นพีระมิดสามชั้น ร่างกาย ความสัมพันธ์ และตัวเอง ซึ่งถ้าคุณอยากมีพลังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ถ้าลองเดินออกไปข้างนอกไปออกกำลังกาย ไปพบปะกับผู้คน หรือลองคุยกับตัวเองดู ซึ่งการจะคุยกับตัวเองได้นั้น (ซึ่งเป็นพีระมิดชั้นยอดสุด) ก็สามารถทำได้ผ่านการเขียนสะท้อนจิตใต้สำนึกตัวเองออกมา

ถ้านี่เป็นหนัง พระเอกก็ต้องการพาร์ทเอ็กซ์ เพราะถ้าพระเอกมีตัวร้ายมาให้เอาชนะก็จะไม่มีเรื่องราว ไม่มีการเติบโต ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความห้าวหาญ ไม่มีความกล้าแกร่ง… มนุษย์ต้องการด้านมืดจากพาร์ทเอ็กซ์ เพื่อที่จะเติบโต

พาร์ทเอ็กซ์’ (Part X) ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของเรา มันเปรียบเสมือนวายร้ายที่ขับเคลื่อนให้ตัวเอกของเรื่องพัฒนาตัวเองจนมาปราบมันได้ พาร์ทเอ็กซ์เสียงอีกด้านในตัวเราที่พร่ำบอกเราว่า ‘ทำไม่ได้’ ‘ไม่เก่งพอ’ หรือ ‘หยุดเสียเถอะ’ มันเป็นเสียงที่คอยตัดสินและดูแคลนตัวเราในความมุ่งมั่นที่จะสำเร็จอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือการต่อกรกับมันและทะลุไปสู่ผลสำเร็จที่พาร์ทเอ็กซ์มองว่าเป็นไปไม่ได้ ให้ได้ แต่แม้ว่าเราจะสำเร็จหรือปราบพาร์ทเอ็กซ์ไปราบคาบเพียงใด มันจะกลับมาเสมอ แต่พาร์ทเอ็กซ์นี้เองที่ทำให้เราเติบโต พาร์ทเอ็กซ์นี้เองที่ทำให้เรากล้าทะลายขีดจำกัดตัวเองและพิสูจน์ว่าเราทำได้ เปรียบเสมือนพระเอกที่ต้องไปผจญอุปสรรคเพื่อจะต่อกรกับความชั่วร้าย

ควาจริงสามประการ’ หรือ ‘Aspects of Reality’ คือข้อเท็จจริงที่ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถหลุดพ้นไปจากมันได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านั้นก็ประกอบไปด้วย ความเจ็บปวด (Pain), ความไม่แน่นอน (Uncertainty), และการจัดการที่ต่อเนื่อง (Constant Work) ความจริงเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับเราไปตลอดกาลถ้าเรายังเป็นมนุษย์ ในชีวิตทุก ๆ ไม่ว่าจะสำเร็จอยู่จุดสูงสุดถึงเพียงไหนก็ตาม ตัวร้ายในเรื่องอย่างพาร์ทเอ็กซ์ก็จะกลับมาหาเราเสมอ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือต้องรู้วิธีจัดการกับมัน แต่เมื่อจัดการไปแล้ว มันก็จะยังกลับมาอีก ไม่มีวันหายไปอย่างบริบูรณ์ นี่จึงเป็นความจริงสามประการที่ ‘มนุษย์’ ต้องโอบรับมันให้ได้