"อย่าคิดมาก" ประโยคไวรัล กับมุมมองนักจิตวิทยาการปรึกษาจากแอปฯ OOCA

"อย่าคิดมาก" ประโยคไวรัล กับมุมมองนักจิตวิทยาการปรึกษาจากแอปฯ OOCA

“อย่าคิดมาก” น่าจะเป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยในการสนทนา กระทั่งเกิดกระแสรณรงค์ให้เลิกพูดคำนี้ จากที่เชื่อว่าไม่ช่วยอะไร แล้วในมุมมองของนักจิตวิทยาบำบัด มองอย่างไรต่อคำนี้

จากเหตุการณ์ที่พิธีกรชื่อดัง ‘วู้ดดี้ - วุฒิธร มิลินทจินดา’ ที่ออกมารณรงค์ให้คนเลิกพูดคำว่า “อย่าคิดมาก” โดยให้เหตุผลว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเลย และโชว์ถึงความไม่เข้าใจ เกิดเป็นกระแสดราม่าหลังจากที่ชาวโซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นในหลากหลายมุมมอง

ในวันนี้ ผศ. ดร.นุ้ย - วรางคณา โสมะนันท์ นักจิตวิทยาการปรึกษาจากแอปพลิเคชัน OOCA และจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยกับ The People เกี่ยวกับขั้นตอนการให้คำปรึกษาอย่างถูกต้องต่อคนที่กำลังเผชิญปัญหาทางอารมณ์ หรือมีภาวะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

สิ่งสำคัญ 2 อันดับแรกคือ ‘การรับฟังและความเข้าใจ’ ผศ. ดร.นุ้ย ได้พูดว่า “ด้วยภาวะทางสังคมหลายอย่าง สมมติว่ามีคนคนหนึ่งต้องการคำปรึกษา หรืออยากปรึกษาเพื่อน และโดยปกติของคนทั่วไป (ไม่เกี่ยวกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์) คือพวกเขาต้องการช่วยให้พ้นจากความทุกข์

“ดังนั้น พวกเขามักจะคิดว่าการช่วยเหลือที่ดีคือการช่วยคิดหาทางออกให้กับคนนั้น ซึ่งมันจะนำมาสู่การแนะนำ แต่จริง ๆ แล้วการที่คนคนหนึ่งใช้ประสบการณ์เดิมของตัวเองเพื่อใช้ในการให้คำแนะนำคนอื่น อาจจะไม่สามารถช่วยทุกคนที่กำลังมีปัญหาได้ (แต่ก็สามารถช่วยคนบางกลุ่มได้เหมือนกัน) ขึ้นอยู่กับบริบทของปัญหา ความคิด และประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย

“การที่คนคนหนึ่งที่กำลังมีปัญหา (อาจ) ต้องการมากกว่า ก็คือ การรับฟัง ต้องการคนที่มารับฟัง คนที่พวกเขาสามารถเล่าหรือระบายได้มากกว่า ที่สำคัญต้องรับฟังด้วยความเข้าใจ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่กำลังมีปัญหาและอยากคุยด้วย บางทีเขาอาจไม่ได้ต้องการคำพูดอะไรมากมาย แต่ว่าเขาแค่ต้องการคนที่รับฟังเขา”

ทั้งนี้ ผศ. ดร.นุ้ย ยังอธิบายด้วยว่า ประโยคที่จะสามารถช่วยผู้คนที่กำลังมีปัญหาทางอารมณ์ ณ ตอนนั้นได้ อาจจะต้องดูบริบทอีกที ซึ่งในภาษาที่นักจิตวิทยาการปรึกษาเรียกก็คือ ‘ทักษะการสนับสนุน’

อย่างเช่น หากคนหนึ่งบอกกับเราว่า เขาสู้มาเยอะ พยายามมาเยอะ เราสามารถพูดซ้ำคำพูดของเขาได้ หรือใช้คำพูดที่สะท้อนว่าเราเชื่อมั่นในตัวเขา หรือคำพูดที่เขาจะรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา เช่น สิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่มันเหนื่อยใช่ไหม มันหนักใช่ไหม คุณกำลังรู้สึกโดดเดี่ยวใช่ไหม เป็นต้น

“มันอาจจะไม่ได้มีประโยคที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับตอนนั้นเราคุยเรื่องอะไรกัน แต่คำพูดเหล่านั้นควรจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ เราเข้าใจเขา และเราก็รู้สึกนะว่าเขากำลังเผชิญกับอะไรอยู่”

นอกจากนี้ ผศ. ดร.นุ้ย ยังพูดถึงกระบวนการการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาว่า “เราจะไม่คิดหาคำตอบให้เขา แต่เราจะใช้ทักษะกระบวนการในการช่วยให้เขาค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะว่าเรามีปรัชญาในการทำงาน เรามองว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่า มีความสามารถ และก็มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง

“เพียงแต่ว่า ณ ตอนที่พวกเขาเผชิญปัญหาและอารมณ์ขุ่นมัว คล้าย ๆ กับว่าตอนนั้นเขาอยู่ในห้องที่มันมืดมาก หาทางออกไม่เจอ แต่ว่าในห้องนั้นมันมีประตูอยู่ นักจิตวิทยาการปรึกษาก็จะทำหน้าที่เหมือนเป็นแสงเทียนให้กับพวกเขา ช่วยให้มองเห็นว่าประตูมันอยู่ตรงไหน เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะเดินไปเปิดประตูก็คือตัวเขาเอง”

ประโยค “อย่าคิดมาก”

หากพูดในมุมของบริบททั่วไปสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการนักจิตวิทยาการปรึกษาหรืออื่น ๆ มุมคนทั่วไปอาจไม่ได้เข้าใจในหลักการหรือกระบวนการเหล่านี้

ดังนั้น คำพูดที่มักจะเจอ เช่น “อย่าคิดมาก”, “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป”, “อย่าคิดเยอะ” แต่คนที่ป่วยจริง ๆ หรือมีภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง พวกเขาไม่สามารถทำได้เอง ไม่สามารถควบคุมความคิดได้ เพราะมันเป็นเรื่องของเคมีในสมอง

ถามว่าประโยคเหล่านั้นจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นหรือไม่ ผศ. ดร.นุ้ย มองว่า “อาจจะดีขึ้นบางครั้งและกับบางคน แต่ก็อาจจะไม่ 100% ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นเป็นใคร แต่ในมุมของผู้ที่พูดประโยคเหล่านี้คิดได้ 2 อย่างคือ (1) พวกเขาอยากจะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้น กับ (2) ไม่รู้จริง ๆ ว่าคำพูดไหนที่ควรพูดและไม่ควรพูด (เพราะไม่เข้าใจหลักการ) แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนที่กำลังมีปัญหาคือ การรับฟังด้วยหัวใจ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Empathy Understanding) และรับฟังโดยที่ไม่ตัดสินหรือตีความ”

 

อ้างอิง: https://www.ooca.co/