รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ คุณหมออาสา รักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ด้วยปณิธานแห่งการช่วยเหลือตลอดเส้นทางการเป็นหมอ

‘การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ’ เป็นคำกล่าวที่ทุกคนเห็นตรงกันหมดอย่างไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกันกับคุณหมอณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ยึดวิชาชีพแพทย์ มากว่า 40 ปี จนประจักษ์แล้วว่าไม่มีความร่ำรวยใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการมีสุขภาพที่ดี 

 

คนที่ร่างกายแข็งแรง ไม่ได้เจ็บไม่ได้ป่วย ไม่เป็นโรคอะไรนั้นโชคดีแน่นอน ส่วนคนที่ป่วยหากจะมองเป็นความโชคร้ายก็ได้ แต่ตลอดเส้นทางการเป็นหมอมาหลายสิบปีทำให้คุณหมอณัฐพงศ์ได้พบว่า ความโชคร้ายที่ยิ่งกว่าความเจ็บไข้ได้ป่วย คือการที่ป่วยแล้วไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ต่างหาก 

 

และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ได้สวมหมวกของ ‘แพทย์อาสา’ มาตลอดชีวิตการเป็นหมอ ตั้งแต่วันที่เป็นนักศึกษาแพทย์มาจนถึงวันนี้ในฐานะรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

The People จะพาผู้อ่านไปพูดคุยกับคุณหมอณัฐพงศ์ คุณหมอผู้มีหัวใจอาสา ที่ตั้งใจรักษาผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลอย่างสุดความสามารถ เพราะทั้งชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้แทบไม่เคยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาเลย

 

เพราะการรักษาคือโอกาสที่ทุกคนควรได้รับและเข้าถึง

“มีคนบนดอยอายุ 70 ปี ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอหมอมาก่อนเลย”

 

คุณหมอณัฐพงศ์ยกตัวอย่างให้เราได้เห็นภาพความเป็นจริงว่า การเข้าไม่ถึงการรักษาของคนที่อาศัยอยู่ในชนบทไกล ๆ นั้นเป็นอย่างไร 


สำหรับคนที่อยู่ในเมือง เมื่อเจ็บป่วยต้องไปหาหมอ ปัญหาที่เจอระหว่างทางไปโรงพยาบาลอาจจะเป็นรถติด เสียเวลาติดไฟแดงหลายนาที แต่สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อุปสรรคของพวกเขาคือภูเขา

“เมืองเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง คนไข้จะมาหาหมอแต่ละทีไม่เคยเป็นเรื่องง่าย บางพื้นที่ชาวบ้านต้องเดินเท้าอย่างเดียว บางพื้นที่ต้องใช้รถโฟร์วีลเท่านั้นถึงจะเข้าออกได้ ยิ่งหน้าฝนยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนเจ็บคนป่วยกว่าจะลงมาหาหมอได้แต่ละที ใช้ทั้งเวลา ใช้ทั้งเงิน เดินทางทีก็เสียเป็นหลายร้อยหลายพัน รายได้เขาไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะฉะนั้น กว่าเขาจะเข้าถึงการรักษาแผนปัจจุบันมันยากมาก” 


คุณหมอณัฐพงศ์มองว่า นอกจากความทุกข์จากตัวโรคที่เป็นอยู่แล้ว อุปสรรคพวกนี้ยังทำคนป่วยในพื้นที่ห่างไกลต้องมาเจอความทุกข์ทางร่างกายแบบที่ไม่จำเป็นต้องเจอเลย เพียงแค่เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงการรักษาเหมือนคนป่วยที่อยู่ในเมือง 


“คนป่วยตามพื้นที่ภูเขาสูงที่เข้าถึงยาก ๆ หลายคนเลือกที่จะทน รอให้หายเอง มีคนบนดอยอายุ 70 ปี ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอหมอมาก่อนเลย ถ้าโรคไหนไม่หาย เขาจะเริ่มหาทางเลือก ใช้พืชสมุนไพรบ้าง พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้าง หาพระ หาหมอผี ซื้อยาชุด ถ้าเกิดอาการไม่ดีขึ้นจริง ๆ เขาถึงจะยอมมาหาหมอ ซึ่งหลายโรคพอปล่อยไว้นาน เขาก็เจอโรคแทรกซ้อนอีก”

รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

ความแน่วแน่ในเส้นทางที่ตั้งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง

ปณิธานที่จะทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วยของคุณหมอณัฐพงศ์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนปลาย และยังคงหนักแน่นมาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งคุณหมอได้เล่าย้อนความให้เราฟังว่า 


“สมัยผมเรียนอยู่ ม.ปลาย ได้มีโอกาสไปดูงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เป็นโรงพยาบาลที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เคยทรงปฏิบัติงานเป็นแพทย์ในห้องทรงงานจะมีพระราชดำรัสของพระองค์ ที่สอนไว้ว่าความสำเร็จของการศึกษาที่แท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเรามีความรู้มากแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่ว่าเราสามารถเอาความรู้ของเราไปประยุกต์ใช้ช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร และให้เห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง ก็ตั้งใจไว้เลยว่าเราจะใช้วิชาความรู้ ใช้วิชาชีพของเราช่วยเหลือคนอื่นให้ได้โดยเฉพาะคนที่เขาอยู่ห่างไกล เข้าไม่ถึงการรักษา ตัวเราเรามีโอกาส เราได้รับความรู้ความช่วยเหลือ จากครูบาอาจารย์ บางครั้งได้รับทุนการศึกษาให้ได้ร่ำเรียน พอมีโอกาสเราต้องตอบแทนสังคม ช่วยเหลือคนป่วยด้อยโอกาส ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทำเต็มกำลังความสามารถของเราเพื่อช่วยให้เขาได้เข้ารับการรักษาที่ดีให้ได้”


การเดินทางไปรักษาผู้ป่วยที่ขาดโอกาสตามพื้นที่ชนบทต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดน มีภูเขากระจายอยู่ทั่ว ก็ยิ่งทำให้งานออกหน่วยรักษายิ่งยากขึ้น แต่คุณหมอบอกว่าเรื่องการเดินทางนั้นถือเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งเท่านั้น 


“เวลาออกหน่วยบางครั้งต้องเดินทางไปไกลมาก ใช้รถทั่วไปก็ไม่ได้ ต้องเป็นรถโฟร์วีลเท่านั้น เข้าไปถึงแล้วบางหมู่บ้านเขาลำบากขนาดไม่มีห้องน้ำ คนที่ไปออกหน่วยก็ต้องไปเข้าตามทุ่งอยู่เหมือนกัน จะอาบน้ำก็ไปตามลำธาร ไม่มีน้ำประปาให้ใช้เลย ออกหน่วยแต่ละครั้งก็อาจจะต้องตรวจ 400 - 500 คน คนไข้จะมารอ ตอนเช้าดอยนี้ลงมาตรวจ พอตอนบ่ายก็เป็นอีกดอย สลับกันไปแบบนี้”


การออกหน่วยทุกครั้งถึงจะเหนื่อยและลำบาก แต่สำหรับคุณหมอณัฐพงศ์ที่มีจิตวิญญาณของแพทย์อาสา คุณหมอยังคงยืนหยัดที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความรู้ในวิชาชีพของตนอย่างสุดความสามารถตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่คุณหมอยังเป็นนักศึกษาแพทย์ จนวันนี้คุณหมอพร้อมด้วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ได้เดินหน้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เต็มที่มากขึ้นภายใต้มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก 


“มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก เป็นมูลนิธิภายใต้คณะแพทย์ เวลาไปออกหน่วย มูลนิธิจะสนับสนุนด้านทุน เราก็ส่งบุคลากรคณะแพทย์ออกไปทำงาน ช่วยตรวจรักษาผู้ป่วยตามชนบท ก็ทำมา 20 กว่าปีแล้วครับ ทุกวันนี้ก็จะมีโครงการต่าง ๆ ประสานมาที่มูลนิธิ เราก็จะส่งแพทย์ออกไปช่วยเหลืออยู่เสมอ”


รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

เพราะให้อย่างทุ่มเทสู่การถูกมองเห็นและผลักดัน
 

สิ่งที่คุณหมอณัฐพงศ์ทำ ไม่ใช่เป็นเพียงการรักษาคนไข้ให้หายทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม ช่วยให้เกิดการจับมือกันกับหลาย ๆ ส่วนเพื่อส่งต่อแรงกระเพื่อมให้ใหญ่ขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ 


“เมื่อก่อนเราทำกันเอง ก็มีอุปสรรคบ้าง พอมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยก็เริ่มง่ายขึ้น อย่างเรามีทีมแพทย์ มีบุคลากรพร้อม แต่ขาดรถ เอกชนก็สนับสนุนรถโฟร์วีล มาพาเข้าไปหาคนป่วยถึงที่ได้ ทำให้เราได้ช่วยเหลือคนป่วยได้เยอะขึ้นมากในหลายพื้นที่ ปีที่ผ่าน ๆ มา สิงห์อาสาก็เข้ามาช่วยเยอะมาก ได้ตระเวนออกหน่วยด้วยกันหลายพื้นที่ ไปด้วยกันหลายที่ ทั้งในเชียงใหม่ เชียงราย ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทีมแพทย์และบุคลากรของพวกเราทำงานลำบากขึ้นมาก สิงห์อาสาเองเข้ามาช่วยสนับสนุนชุดตรวจ ATK ทำให้ผู้ป่วยสามารถมาเข้ารับบริการได้อย่างปลอดภัย ตอนนี้สิงห์อาสาทำโครงการป้องกันไฟป่า เรื่องฝุ่น PM2.5 ฝั่งพวกเราก็สนับสนุนด้านความรู้ ให้อาจารย์คณะแพทย์ของเราออกไปบรรยาย ให้ความรู้วิชาการเรื่อง PM2.5 ช่วยเหลือกันสุดความสามารถเพื่อตอบแทนสังคม”


ถึงวันนี้ สิงห์อาสาก็ได้เข้ามาร่วมออกหน่วยกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มากว่า 3 ปีแล้ว ความทุ่มเทในงานอาสาของคุณหมอณัฐพงศ์ที่ต้องการทำให้คนป่วยในพื้นที่ชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ดีได้มากขึ้น ได้ออกดอกออกผล มีองค์กรเอกชนอย่างสิงห์อาสาเข้ามาร่วมผลักดัน ซึ่งการสนับสนุนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดโอกาสในการรักษานี้ ถือเป็นภารกิจหลักที่ทางมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดีได้ทำต่อเนื่องมากว่า 35 ปี ที่ได้เริ่มมาจากเชียงใหม่ เชียงราย และได้เดินหน้าสนับสนุนการออกหน่วยแพทย์เรื่อยมา จนมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมมากกว่า 8 แห่ง โดยครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น

 

รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด

 

คุณหมอณัฐพงศ์เล่าต่อว่า สถานการณ์ผู้ป่วยด้อยโอกาสตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมากแล้ว ถ้าเทียบกับหลายสิบปีก่อน สมัยที่คุณหมอเรียนจบแพทย์ใหม่ ๆ คนไทยยังต้องแบกภาระในการรักษาโรคหนักมาก สาหัสขนาดที่ว่าใครเป็นมะเร็ง อาจจะต้องถึงขั้นขายบ้านหรือขายที่เลยทีเดียว ซึ่งทุกวันนี้บ้านเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาค่ารักษาไปได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลตามชนบท


ถึงแม้นาทีนี้ความเหลื่อมล้ำจะยังคงอยู่ แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคุณหมอณัฐพงศ์ที่ตั้งใจใช้ความรู้ของตนได้ช่วยเหลือให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ คุณหมอจึงยังคงทุ่มเทให้กับการออกหน่วยรักษาผู้ป่วยที่ขาดโอกาสอย่างเต็มกำลังความสามารถเหมือนที่เคยทำมาตลอด


“ปลายทางที่ดีที่สุดคือการที่เราไม่ต้องออกหน่วยแล้ว เพราะนั่นหมายความว่าคนป่วยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เขาสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างดี เราไม่ต้องออกไปหาเขาแล้ว แต่ในเมื่อวันนี้มันมีความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องเป็นโอกาสของเราที่ต้องเข้าไปช่วย เข้าไปพัฒนา ใช้ความรู้เราให้เต็มที่ในฐานะหมอคนหนึ่ง”


ในฐานะแพทย์คนหนึ่ง เราเชื่อว่าคุณหมอณัฐพงศ์คือแพทย์ที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้เป็นอย่างดีตามที่คุณหมอตั้งใจไว้


“วิชาชีพนี้ทำให้ผมมีความภาคภูมิใจ และปีติยินดีเสมอที่ได้ช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์”

 

รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด รศ. นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์ ปณิธานแห่งการช่วยเหลือไม่สิ้นสุด