‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ บอกเหตุผลทำไมไทยพัฒนาเมืองแบบญี่ปุ่นไม่ได้

‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ บอกเหตุผลทำไมไทยพัฒนาเมืองแบบญี่ปุ่นไม่ได้

‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ Co-Founder บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ให้มุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองในประเทศไทย และโมเดลจากญี่ปุ่น รวมถึงการเริ่มต้นทำ 'ขอนแก่นโมเดล' ที่ตอนนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการน่าสนใจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวขอนแก่นได้

  • 'ขอนแก่นโมเดล' พัฒนาโดยทีมของ  ‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ Co-Founder บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง เพื่อสร้างเมืองแห่งโอกาสและแก้ปัญหาความยากจน
  • โมเดลพัฒนาเมืองขอนแก่น เป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่อนุญาตโดยรัฐบาล แต่ลงทุนและพัฒนาด้วยทุนตัวเองร่วมกันหลายส่วน
  • สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย พูดถึงโมเดลพัฒนาเมืองของญี่ปุ่นที่ไทยอาจปรับใช้ได้คือเรื่องการเพิ่มมูลค่าที่ดิน เพื่อทำให้รถไฟมีราคาถูกลง

การพัฒนาเมืองถือว่าเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง ‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ Co-Founder บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (และอีก 2 ตำแหน่งคือ CEO บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และ รองคณบดี วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่การพัฒนาเมืองของประเทศไทยยังไม่ไปไหน ส่วนหนึ่งเพราะการคิดไม่หลุดจากกรอบเดิม ๆ และชอบทำอะไรหยาบ ๆ สวนทางกับกฎที่ตั้งกันไว้

“ประเทศไทยเป็นแบบญี่ปุ่นไม่ได้แน่นอน อย่างแรกวินัยของเขามันคนละเรื่องกับเรา ผมไปอยู่ที่นั่น 6 ปี ผมคิดว่ามันต้องคิดอะไรที่เหมาะสมสำหรับนิสัยคนไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่กระแดะ ที่พยายามเขียนกฎแบบละเอียดมาก แต่พวกเราเป็นคนที่ทำอะไรหยาบ ๆ เพราะฉะนั้นโมเดลญี่ปุ่นไม่เหมาะ” สุรเดช พูดเปิดใจกับ The People

ก่อนเริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยประเด็นที่เข้มข้นทีเดียว สุรเดช เล่าถึงปูมหลังของเขาพอประมาณว่า เขาเรียนจบมาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1992 ตอนนั้นที่บ้านเองก็มีธุรกิจรถยนต์อยู่แล้ว เป็นรถบรรทุก HINO แต่หลังจากนั้นเขาคิดว่าอยากจะทำโรงงานเป็นของตัวเอง ซึ่งที่บ้านก็มีโรงงานก็เลยเอาโรงงานที่ชื่อ ‘ช ทวี’ ออกมาดำเนินธุรกิจต่อ ประมาณ 7 ปีที่แล้ว และได้นำบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (MAI)

จุดเริ่มต้นการพัฒนาเมือง

ขณะเดียวกันเขายังพูดถึง ‘การพัฒนาเมืองในไทย’ ว่าจริง ๆ แล้วมีมานานตั้งแต่ที่เขาเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ จนตอนนี้ก็ประมาณ 30 ปีแล้ว ซึ่งสุรเดชได้พูดว่า “เราเห็นตั้งแต่ตอนกลับมาไทย ผู้ใหญ่ที่เขาทำก็มีเจตนาในเรื่องนี้เหมือนกัน ก็คือทุกคนอยากให้เมืองของตัวเองเจริญ ในมุมของผมทุกคนก็เสียสละนะ ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม จนขอนแก่นตั้งกลุ่มขึ้นมา คือ ‘กลุ่มปัญจมิตร’ ประกอบด้วย สภาทนายความ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เทศบาลนคร และองค์การบริหารส่วนจังหวัด มารวมกันเพื่อต้องการพัฒนาเมืองขอนแก่น

“แต่วันนั้นมันยังคิดไม่หลุดกรอบ แต่ทุกคนก็คือมีเจตนาที่แน่วแน่ว่าพวกเราอยากจะพัฒนาเมือง ผมก็อยู่ในกระบวนการนั้นด้วย เมื่อสมัย 20 - 30 ปีก่อน เราเริ่มเห็น Main Point ว่าจริง ๆ แล้วสำหรับประเทศไทยมันต้องคิดให้หลุดกรอบไปมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีข้อเสนอขึ้นมาโดยขอให้รัฐบาลอนุมัติให้เราทำและตั้งเงื่อนไขไปว่า เราจะหางบประมาณมาทำเอง”

สุรเดช เล่าถึงในยุคแรก ๆ ที่พยายามพัฒนาเมืองกันว่า “สมัยก่อนเวลาที่อยากจะทำอะไร เช่น ตอนนั้นเราต้องการทำขนส่งมวลชน BRT (Bus Rapid Transit) ก็ไปขอเงินจากรัฐบาลมาทำ แต่กระบวนการที่ต้องวิจัย ศึกษาต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ออกเงินกันเอง แต่ผลปรากฏก็คือ ทุกครั้งที่ไปของบประมาณจากรัฐบาล มันกลายเป็นเรื่องของอำนาจ และบางครั้งก็ไม่ใช่แค่เรามีโมเดลที่ดีอย่างเดียว แต่กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ถูกใจด้วยเราถึงจะได้ทำ พูดตรง ๆ คือเราไม่มีปัญญาที่จะทำโครงการให้ถูกใจเหล่านักการเมืองได้ทั้งหมด

‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ บอกเหตุผลทำไมไทยพัฒนาเมืองแบบญี่ปุ่นไม่ได้

เหตุผลนี้เองที่ทำให้ สุรเดช ตัดสินใจว่า เปลี่ยนจากขั้นตอนแบบนั้นมาเป็น ขอรัฐบาลอนุญาตให้ทำโครงการพัฒนาเมืองกันเอง ส่วนเรื่องงบประมาณทีมของ สุรเดช เป็นคนช่วยกันหาทุนมาพัฒนาเอง โดยไม่พึ่งงบรัฐบาล

“เราได้คุยกับนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาก็เข้าใจนะวันนั้น เหมือนเราไปช่วยเขาในการพัฒนาประเทศด้วย เขาได้อนุมัติแล้วเราก็เริ่มโครงการที่เรียกว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ มาจนถึงวันนี้”

นอกจากนี้ สุรเดช ได้อธิบายเกี่ยวกับตัว ‘ขอนแก่นโมเดล’ ด้วยว่า เป็นโครงการแรก ๆ ที่เรียกว่า “แผนพัฒนาเมืองแบบใหม่” ซึ่งหลังจากที่กระแสคำว่า Smart City เข้ามาในประเทศไทย เราก็รวมคำ ๆ นี้เอาไว้ด้วยกันเพียงแต่ในความเป็นจริง แผนพัฒนาเมืองมันใหญ่แต่พาร์ทของการเป็น Smart City ประมาณฝ่ามือของเราเอง หมายความว่า ขอนแก่นโมเดลจริง ๆ แล้วเริ่มทำอะไรไปเยอะกว่านั้นมาก

“สำหรับผม เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรก็ตามอาจจะเข้าทำให้การพัฒนาราบรื่น มีความแม่นยำมากขึ้น นั่นเราไม่เถียง แต่วิธีการแรกที่สำคัญสุดคือ ‘ความร่วมมือ’ หมายถึงความร่วมมือระหว่างคนต้องมีก่อน”

 

‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ บอกเหตุผลทำไมไทยพัฒนาเมืองแบบญี่ปุ่นไม่ได้

 

Soft Asset สร้างยาก

สุรเดช ยกให้เรื่องของความร่วมมือระหว่างคนต้องมาก่อน เพราะการพัฒนาเมืองกว่าจะสำเร็จได้ไม่ได้ใช้แค่ Hard Asset อย่างเดียว ซึ่งจะหมายถึงพวกตึกรามบ้านช่อง หรือว่าสถานที่ท่องเที่ยว เพราะการสร้าง Hard Asset มีเงินก็สร้างได้ แต่สำหรับ Soft Asset มันเป็นเรื่องของเวลา ความเข้าใจ ต้องใช้ Mindset เป็นที่ตั้งและมีอุดมการณ์ที่ถูกต้องร่วมกัน ซึ่งเมื่อ 20 - 30 ปีก่อน กระบวนการที่เป็น Soft asset ยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำไป

“สำหรับขอนแก่นเรามี Soft Asset ที่ดีคือ ทุกคนที่มีส่วนร่วมเข้ามาทำก็รู้สึกเห็นด้วย และเข้าใจง่าย เห็นจุดประสงค์ที่ตรงกัน นั่นคือ Soft Asset ที่ทุกคนรู้สึกได้”

“แต่เวลาเราไปเล่า Soft Asset ให้คนฟังมันเล่าไม่ได้ เพราะ Soft Asset มันต้องการการสัมผัส เมื่อเขาเข้ามาอยู่ในเมืองเรา ก็อาจจะบอกว่า Smart City อย่างไรไฟยังมืดอยู่เลย แต่จริง ๆ แล้วมันคนละเรื่องกัน แค่ไฟซื้อหลอดมาเปลี่ยนมันก็สว่างแล้ว แต่การสร้างไฟในใจคนให้สว่างอยู่ตลอด คุณเข้ามาแล้วคุณสัมผัสได้ นั่นคือเรื่องยากที่สุด และนั่นเป็นการแก้ปัญหาเมืองเราที่เป็นทุนเดิมของพวกเรา”

“ตอนนี้รุ่นผมก็ 50 กว่าจะ 60 ปีอยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องถ่ายทอดให้รุ่นน้อง ๆ อย่าง FTI (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) หรืออย่าง YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) พวกเขาก็จะเริ่มเข้าใจว่า เราต้องช่วยกัน นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นทุนที่สำคัญมากของขอนแก่น”

 

วางเป้าหมายพัฒนาเมืองอีก 15 ปี

ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างที่ สุรเดช บอกกับเราก็คือ แผนพัฒนาเมืองขอนแก่นถึงปี 2580 ก็คือ อีก 15 ปีข้างหน้า เพราะเขามองว่า “การพัฒนาเมืองไม่มีวันจบ ดังนั้น แผนพัฒนาเมืองขอนแก่นถึงปี 2580 ถึงสำคัญ”

“ขอนแก่นเราไม่ได้ทำแค่รถราง หรือ Smart City แต่ขอนแก่นทำทุกโครงการเพื่อเป้าหมาย 3 อย่างคือ ‘ แก้จน - ความเหลื่อมล้ำ  - สร้างความโปร่งใส’ เพราะฉะนั้นโครงการแต่ละโครงการมันมีความหมายของมัน มีความยั่งยืน เช่น รถรางขอนแก่น ถ้าเราทำแต่รถรางรถไฟฟ้าก็จะมีราคาแพง ค่าตั๋วก็จะแพง เราจึงขอรัฐบาลพัฒนาที่ดินด้วย เขาก็ให้ที่ดินมา พอพัฒนาที่ดินจนราคาที่ดินขึ้นได้กำไร รถรางถึงจะมีกำไรน้อยหรือแทบไม่ได้กำไรเลย แต่เราสามารถเอากำไรจากการพัฒนาที่ดินมา Subsidize รถรางทำให้มีราคาตั๋วถูกลงได้”

“พอเราได้ที่ดินที่เรียกว่า ‘บ้านราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง’ (Affordable House) หลังจากนั้นคนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้ามาอยู่ในเมืองได้ ไม่ต้องเดินทางไกล นั่นคือสิ่งที่ขอนแก่นพยายามทำอยู่ในตอนนี้”

“สุดท้ายแล้วมันจะแก้จนด้วยการนำโครงการที่เราทำต่อไปในอนาคต นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ และคนมีรายได้น้อยเขาก็จะมีสิทธิสะสมเงินเป็นกองทุน เราเรียกว่ากองทุน Poverty Fund ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นคนจัดการทำให้เรา”

“Poverty Fund กองนี้มีเปิดกว้างให้สิทธิคนทุกระดับมาถือหุ้นในบริษัทที่มีกำไรในราคา Par (มูลค่าเริ่มต้นของบริษัท) ก็คือ คนที่มีรายได้น้อยเหล่านี้ก็จะได้ประโยชน์จากตลาดทุนนี้ด้วย และเราก็จะทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อีกหลายโครงการซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของขอนแก่นโมเดล ที่พยายามจะแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความโปร่งใสให้ได้”

“นอกจากนี้ เราก็จะมีแผน Smart City อีก 7 ด้าน 135 โครงการ เป็นแผน Smart City ที่แต่ละด้านจะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point ต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับ pain point ของที่อื่นเช่นกัน ดังนั้น ถ้าโมเดลของเราสำเร็จมันก็สามารถแก้ไขปัญหา 70 – 80% ในประเทศของเราได้”

 

ขอนแก่น ‘เมืองแห่งโอกาส’

สิ่งที่พูดมาหลาย ๆ มุมมองจาก สุรเดช เราเห็นได้ชัดถึงผลประโยชน์ของชาวขอนแก่นที่จะได้รับ แต่ในแง่ของนักลงทุนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะการลงทุนก็ถือเป็นเม็ดเงินที่ไหลเวียนในจังหวัดนั้น ๆ ให้เติบโต รุ่งเรืองได้มากขึ้นเช่นกัน

สุรเดช บอกกับเราว่า “นักลงทุนที่เข้ามาตอนนี้ อย่างเช่น เรามีแผน Smart City 20 ปี ที่ถูกบันทึกอยู่ในยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งไม่มีจังหวัดไหนมีแบบนี้ เพราะยุทธศาสตร์จังหวัดต้องผ่านครม. ก่อน ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนจะเป็นเรื่องของรัฐบาลด้วยไม่ใช่เอกชน”

“นอกจากนี้ก็คือ Geopolitics หรือ ยุทธภูมิของจังหวัดขอนแก่นที่มีดีอยู่แล้วในตัวเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าขอนแก่นไม่ได้เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเลย แต่ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งโอกาส หมายความว่าพวกคุณมีโอกาส คนหนุ่มสาวมีโอกาส เมืองเราดีนะ เมืองเรามีระบบ Support ด้านต่าง ๆ ที่ดี”

“คือพูดง่าย ๆ เมืองเราไม่มีเจ้าพ่อ ไม่มีมาเฟีย ที่ต้องไปขอคนนู้นทำนู่นก่อนจะทำอะไร เป็นเมืองที่ใครใคร่ค้าค้า ใครใคร่ขายขาย ลำบากมาหรือต้องการอะไร เราก็ช่วยทุกอย่าง เพราะฉะนั้น มันจะเป็นเมืองแห่งโอกาส”

‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ บอกเหตุผลทำไมไทยพัฒนาเมืองแบบญี่ปุ่นไม่ได้

ทั้งนี้ สุรเดช ยืนยันว่า การพัฒนาเมืองไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่แทนสิ่งเก่า เช่น ตึก อาคาร สถานที่ เพราะอย่างไรก็ต้องรักษาความเป็น DNA เดิมของเมืองนั้น ๆ เอาไว้ เขาอธิบายว่า “เราไม่ได้ทำทุกอย่างให้มันโมเดิร์น ของเดิมก็คือของเดิม ถ้า 1 - 2 ปี เรากลับมาดู เราก็ยังเห็นถนนศรีจันทร์ บ้านมันยังเก่าเหมือนเดิม เพียงแต่เราจะทำให้ดูดีขึ้น น่าเดินขึ้นเท่านั้นเอง มีของขายเยอะขึ้น นั่นคือการฟื้นฟูเมือง”

อย่างไรก็ตาม เขาได้พูดถึงการ disrupt และอุปสรรคที่มาจากการพัมนาเมืองขอนแก่นคือ ‘ระบบราชการ’

“วิธีทำของขอนแก่น ถือเป็นวิธีการที่ disrupt บางระบบของราชการ แน่นอนเขาไม่ชอบ เพราะว่าเขาเคยเป็นคนนำมา แต่วันหนึ่งเราบอกว่าไม่เป็นไรพี่รถคันนี้ผมขอขับเอง พอเราเริ่มขับเอง เขาก็เริ่มกังวลแล้วว่า มันขับได้ และมันขับได้ดีด้วย มันขับไปในทิศทางที่ถูกต้อง อุปสรรคก็คือเขาอาจจะเบรกเราบ้าง ไม่ให้เราเดินหน้าเร็วกว่าของเขา แต่สุดท้ายเขาก็ตามมาอยู่ดี”

 

ไทยทำตามโมเดลญี่ปุ่นไม่ได้

“ผมอยู่ที่ญี่ปุ่นมา 6 ปี สิ่งที่ทำให้รู้คือ ไทยเป็นแบบญี่ปุ่นไม่ได้แน่นอน อย่างแรกวินัยของเขามันคนละเรื่องกับเรา ผมคิดว่ามันต้องหาอะไรที่เหมาะสมกับนิสัยคนไทย ไทยเป็นประเทศที่กระแดะที่พยายามเขียนกฎที่แบบละเอียดมาก แต่พวกเรากลับเป็นคนที่ทำอะไรหยาบ ๆ เพราะฉะนั้นมันไม่เหมาะ”

“ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศมี 44 ตัวอักษร แต่เวลาที่เราพูดเราก็พูดกันห้วน ๆ สั้น ๆ ไม่มี ร ล ฎ ฏ ต สิ่งที่มันเป็นความละเอียดตรงนั้น หรืออย่างฝรั่ง ที่เขามีตัวอักษร 20 กว่าตัว มันไม่ได้กินเนื้อสมองเพราะเขาใช้กันทุกตัว แต่คนไทยถูกเรื่องพวกนี้กินไปเยอะ เราไปติดอยู่กับรูปแบบความกระแดะของเราเอง”

‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ บอกเหตุผลทำไมไทยพัฒนาเมืองแบบญี่ปุ่นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม โมเดลที่ดีในประเทศญี่ปุ่นและพอจะปรับมาใช้กับบ้านเราได้ เท่าที่เห็นมาคือ รูปแบบการพัฒนาที่เขาพัฒนา ‘ที่ดินบวกกับรถไฟ’ แล้วทำให้ค่ารถไฟของเขาถูกลง มูลค่าที่ดินก็เพิ่มขึ้น นั่นคือรูปแบบ TOD ที่ญี่ปุ่นและฮ่องกงเขาทำมานานมากแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็เลยมาทำกับเพื่อน ๆ ที่ขอนแก่นพัฒนาเมือง เริ่มทำที่จังหวัดนี้ก่อนและคิดว่าในอนาคตหากสำเร็จก็น่าจะเป็นโมเดลนำร่องที่ดีได้

และเมื่อพูดถึงการพัฒนาเมืองกับกระแส BCG สุรเดชมองว่า มันก็คือเรื่องเดียวกันเพราะว่า การพัฒนาโมเดลเมือง กับแผน Smart City ของขอนแก่น จะตามด้วยหลัก SDGs (Sustainable Development Goals) เสมอ ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาเมืองที่ขอนแก่นใช้อยู่แล้ว โดยจะมีอยู่ 17 ด้านด้วยกัน เช่น การสร้างวิธีคิด สร้างเสน่ห์ให้เมือง และโอกาส, การขับเคลื่อน Smart City, สร้างขอนแก่นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

สุดท้าย สุรเดช ยังพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องเสียสละคือ ‘เวลาส่วนตัว’ โดยเขาพูดไว้ว่า “ในยุคของอินเทอร์เน็ตทุกอย่างเกิดขึ้นเร็ว เข้าถึงเร็ว สะดวกสบาย แต่ก็ไม่ใช่เราแค่คนเดียวที่เข้าถึงความสะดวกนั้น มันคือคนทั้งโลก ถ้าคุณอยากเป็นผู้ประกอบการ คุณต้องยอมเสีย work-life balance ของคุณ เพราะไม่มีหรอกช่วงทำงาน 8 – 5 โมงเย็น”

“3 ข้อที่ต้องเรียนรู้และจดจำคือ Relearn และ Unlearn ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ (2) work-life balance ที่ต้องยอมเสียสละเรื่องนี้ และ (3) ต้องคิดและลองทำเลย ถึงแม้จะล้มก็อย่าไปกลัว เพราะทุกคนล้มแล้วเริ่มใหม่ได้”