ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน

ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน
จากประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี  ‘ดร. เอมอร โคพีร่า’ ให้คำปรึกษา ผลักดันวงการแพทย์ทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ให้หันมาเปิดใจและยอมรับยาที่สกัดออกมาจากพืช (Plant-based Medicine) อย่างกัญชง-กัญชา โดยเฉพาะสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ในการรักษาผู้ป่วย ความพยายามของเธอได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ซึ่งเธอไม่ได้ช่วยแค่ชีวิต แต่ยังช่วยยกระดับจิตวิญญาณของคนที่ป่วยไข้ ให้จากโลกนี้ไปอย่างสงบโดยไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป ปัจจุบัน ดร.เอมอร โคพีร่า คือประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีนีโอมิกซ์ โกลบอล จำกัด (Geneomics Global) อีกทั้งยังเป็นผู้นำโครงการนวัตกรรมสุขภาพและสุขภาวะต่าง ๆ ระดับโลกที่โลดแล่นอยู่ในวงการเกือบ 3 ทศวรรษ ทำงานร่วมกับหน่วยงานมากมาย เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ที่มุ่งเน้นการใช้ยาจากพฤกษศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ทั้งหมดทั้งมวล ดร.เอมอรในฐานะหมอไทยผู้ใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาเกินค่อนชีวิต ทำได้เพียงพัฒนาประเทศอื่นไกลให้ห่างชั้นจาก ‘บ้านเกิด’ อย่างประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอจึงเปลี่ยนหมุดหมายการทำงานใหม่ เบนเข็มทิศชีวิตให้กลับมายังดินแดนที่เธอจากมา ในวันนี้เธอได้ทำให้คนทั่วโลกเห็นแล้วว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะกลายเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Medical Hub) โดยมี ‘กัญชง’ เป็นตัวเอกของเรื่อง ผ่านการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลกที่ประเทศไทย   คุณหมอในทุ่งสังหาร ดร. เอมอร โคพีร่า เกิดที่ถนนสายแรกของประเทศไทย เธอเป็นลูกสาวคนโตจากพี่น้องสองคนในครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่หมดไปกับการอ่านหนังสือและนั่งสมาธิ เธอชอบที่จะอยู่ในมุมสงบของตัวเอง และเรียนรู้เรื่องราวโลกภายนอกผ่านหน้ากระดาษและสื่อโทรทัศน์ หลังจากเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาเป็นรุ่นแรก เธอก็ได้เรียนรู้ว่าการเรียนหมอคือสิ่งที่เธอรักและภาคภูมิใจ “ช่วงที่เรียนจบเราสมัครเข้าไปทำงานอาสาสมัครที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นก็ถูกคัดเลือกให้ไปทำงานในคณะแพทย์นานาชาติขององค์กรสหประชาชาติ ในช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ทุ่งสังหาร (Killing field) ที่กัมพูชา เราได้เห็นความโหดร้ายของสงคราม เห็นความเจ็บป่วย ความอดอยากหิวโหย และความทุกข์ทรมาน ภาพตรงนั้นยังคงติดอยู่ในความทรงจำ ทำให้เราตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าจะต้องทำงานช่วยเหลือผู้คน หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธอตัดสินใจโยกย้านถิ่นฐานไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ในคณะแพทย์ศาสตร์เช่นเดียวกัน เพื่อเติมเต็มสิ่งที่เธอยังคงเฝ้าตามหามาตลอด นั่นคือวิธีการรักษาเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน โดยระหว่างเรียนดร.เอมอรได้รับการดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้นำด้านการดูแลสุขภาพองค์รวมและการแพทย์บูรณาการอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2017 ดร.เอมอรเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทยจริงจังเป็นครั้งแรก หลังจากห่างบ้านเกิดไปนาน และได้พบว่าสุขภาพของคนไทยย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด “ตอนนั้นที่เรากลับมายังไม่มีแรงบันดาลใจว่าอยากจะทำอะไรที่เมืองไทย แต่หลังจากเปิดดูข้อมูลตัวเลขอะไรต่าง ๆ ก็พบว่าคนไทยป่วยกันเยอะขึ้น อย่างเช่น TOFI Generation (thin-outside-fat-inside) เหมือนกับคนไทยร่างเล็ก ๆ ที่ข้างนอกตัวเล็กแต่ข้างในเต็มไปด้วยโรค ร่างกายไม่แข็งแรง” ส่วนกลุ่มโรคยอดฮิตอย่างเบาหวาน ความดัน หัวใจ และมะเร็ง ก็ยังคงเป็นโรคที่คนไทยและคนทั่วโลกกำลังรับมือกันอยู่ แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเธอบอกว่าโรคทุกโรคที่เกิดขึ้น กว่า 80% รักษาได้ เพียงแค่ต้องรู้สาเหตุของโรค และต้องไม่ใช่อาการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุหรือความผิดปกติของยีน ซึ่งหนึ่งในแนวทางการรักษาที่เห็นผลมากที่สุดคือศาสตร์ที่เรียกว่า เวชศาสตร์การเปลี่ยนแปลง (Transformation Medicine) เป็นการบูรณาการศาสตร์ทางเลือก ตั้งแต่เวชศาสตร์จีโนม การใช้กัญชาทางการแพทย์ อีพีเจเนติกส์ พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน และเวชศาสตร์ที่ใช้พืช หรือจะพูดสรุปรวมง่าย ๆ คือการรักษาโรคโดยใช้ธรรมชาติบำบัด ตั้งแต่จิตใจ ร่างกาย และลงลึกไปจนถึงจิตวิญญาณ ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลก แต่กว่าที่ดร.เอมอร จะเข้าใจศาสตร์ทางเลือก เธอต้องขลุกตัวอยู่แต่ในห้องวิจัย เพื่อทำการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งปลูก สกัด สูด ดม จนสำลัก ทุ่มเทให้กับการวิจัยชนิดที่ว่าทำงานจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเธอได้เล่าว่าช่วงแรกที่นำสารกลุ่มแคนนาบินอยด์เข้ามารักษาคนไข้ ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่มีอาการใกล้ถึง ‘เดดไลน์’ แล้วเต็มที “เราเริ่มใช้สารกลุ่มแคนนาบินอยด์มาประคองอาการคนไข้ที่แอตแลนต้า, จอร์เจีย ประเทศสหรัฐฯ ส่วนใหญ่คนไข้ที่ถูกส่งเข้ามามักจะถูกวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน มากสุดก็ 1-2 เดือน หรือบางกรณีเขาอาจจะต้องกินยาตลอดชีวิต แต่หลังจากมารักษากับเราเขาก็มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น “ส่วนคนไข้คนไหนที่เซลล์ถูกทำลายแล้ว เราไม่สามารถช่วยเขาได้จริง ๆ เราก็จะช่วยให้เขาจากโลกนี้ไปอย่างสงบโดยไม่ต้องทรมาน ไม่เจ็บปวด เพราะเราไม่สามารถไปยับยั้งหรือหยุดการจากไปของเขาได้ “คอนเซ็ปต์ในการรักษาของเราคือการใช้วิธีการรักษาตัวเองเพื่อป้องกันโรค (Self-care) โดยเข้าไปหาสาเหตุของโรค ว่าเป็นโรคได้อย่างไร เรารักษาสาเหตุ เราไม่ได้รักษาอาการ เพราะโรคกว่า 80% ป้องกันได้” เธอกล่าวพลางเขียนบนกระดาษ อธิบายสาเหตุของโรคตั้งแต่ เบาหวาน ความดัน หัวใจ โรคอ้วน โรคนอนไม่หลับ ไปจนถึงโรคยอดฮิตของมนุษย์วัยทำงานอย่างการปวดเมื่อย ขณะที่เรากำลังจด ๆ จ้อง ๆ กับข้อมูลตรงหน้าที่เธอเผยรายละเอียดออกมา ผ่านลายมือคุณหมอที่อ่านง่ายกว่าที่คิด ด้วยท่าทางสบาย ๆ และรอยยิ้มใจดีของเธอ ทำให้เรารู้สึกสนุกกับข้อมูลตรงหน้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมงแล้ว “สิ่งหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาประเทศไทยคือ จิตใต้สำนึกลึก ๆ ของเราบอกว่าเราต้องกลับบ้าน ต้องเอาความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาประเทศไทย ช่วยคนไทย ช่วยประเทศเรา เพื่อลดความเจ็บป่วยของประชาชนในแง่ของระบบสาธารณสุข เพื่อให้พวกเขามีร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วย เพียงแค่ต้องเข้าใจสาเหตุของโรค” ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน โดยเป้าหมายหลักของการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลก หรือ Global Hemp Innovation Collaboration คือการประกาศก้องให้โลกรู้ว่าเมืองไทยเรามีศักยภาพ มีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ แต่ก่อนอื่นเลย สิ่งที่สำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ขับเคลื่อนไปได้คือ ‘ความร่วมมือ’ จากทุกภาคส่วน “ความร่วมมือคือสิ่งสำคัญมาก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการทำยังไงให้เกษตรกรของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน เพราะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ผลิตยา อาหาร หรือว่าผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อย ล้วนต้องพึ่งพาเกษตรกร” เธอเล่าพร้อมกับหยิบกระดาษแผ่นใหม่ขึ้นมาวาดเส้นโค้ง 1 เส้น และวาดเพิ่มอีกสามสี่เส้นเรียงต่อกันเป็นวัฎจักรขนาดย่อม พร้อมกับเขียนกำกับไว้ด้านบนของแต่ละเส้นว่าเป็นตัวแทนของอะไร มีตั้งแต่ ผู้ออกกฎหมาย ผู้ประกอบการ ไปจนถึงเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภค ส่วนเหตุผลจริง ๆ ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงระดับโลกขึ้นมาที่ประเทศไทยนั้น ดร.เอมอร เล่าว่าเมื่อประมาณปี 2016 มีเพื่อนที่มมหิดล เขียนจดหมายมาหาเธอด้วยลายมือล้วน ๆ ส่งตรงมาจากประเทศไทย ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่หลังจากมีฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ส่งมาก็ทำให้เธอรู้ว่าคนสำคัญที่สุดในชีวิตของอดีตรูมเมทคนนี้ ถูกโรคร้ายพรากชีวิตไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ “เรามารู้ว่าสามีของเพื่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งเพื่อนเขาก็รู้มาว่าเรามีความเชี่ยวชาญด้านความผิดปกติของยีน เพราะเราศึกษามาตลอด 20 – 30 ปี เราก็เลยกลับมาคิดแล้วว่าหรือจริง ๆ เราควรกลับประเทศ กลับบ้านเกิดของเรา เพื่อเอาความสามารถตรงนี้มาช่วยประเทศ ช่วยคนไทย นี่ก็เลยเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่กลับมาเมืองไทย” ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน ศูนย์วิจัยนวัตกรรมกัญชงที่เธอจัดตั้ง ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านกัญชง - กัญชา มารวมทีมกันอย่างคับคั่ง มีตั้งแต่ ศาสตราจารย์ ดร. เจย์ เอส. โนลเลอร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมกัญชงโลก ซึ่งเป็นผู้ค้นพบสารจากกัญชง-กัญชา ใช้สร้างสูตรมาส่งเสริมการรักษาโควิด-19, ดร.เจอรัลด์ รอส ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการสกัด และการทำให้สารจากกัญชงกัญชาบริสุทธิ์ และ บิลลี่ มอร์ริสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการปลูกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี “เราเป็นแพทย์ก็จริง แต่เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองได้ การทำงานคนเดียวยังไงก็ไม่เวิร์ก เราต้องมีทีมที่ช่วยซัพพอร์ตกันและกัน” จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอได้ผนึกกำลังคนเก่งเสมือนการรวมทีม ‘อเวนเจอร์ส’ เพื่อให้ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ มีศักยภาพทัดเทียมระดับโลก “เราต้องการทำอะไรบางอย่างที่มันยิ่งใหญ่ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่มันสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรม หลังจากเราจัดตั้งศูนย์วิจัย 3 แห่งที่ประเทศสหรัฐฯ มาก่อนแล้ว ซึ่งที่ประเทศไทยเป็นสาขาที่ 4 ของจีนีโอมิกซ์ โกลบอล   Dr.Fearless แม้ชีวิตการเป็นหมอจะมีงานยุ่งตลอดเวลา แต่บทสนทนาในอีก 1 ชั่วโมงให้หลัง ดร.เอมอร บอกกับเราว่า จริง ๆ การเป็นหมอมันมีอะไรสนุกกว่าที่คิดเยอะมาก เธอได้ลองทำอะไรหลายอย่างที่คิดว่าในชีวิตจะไม่ได้ทำ “โดยธรรมชาติของเรา เราเป็นคนช่างสงสัย ขี้สงสัยตลอดเวลา และเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ต้องลองเอง จับเอง ถึงจะเอาไปพูดบรรยายหรือให้คำปรึกษาคนอื่นได้ ถ้าเราแค่อ่านหนังสือ เราก็พูดไม่ได้” “แต่อีกแง่หนึ่งเราคิดว่ามันมาจากจิตวิญญาณมากกว่า มาจากการที่เราฝึกจิตตั้งแต่เด็ก ๆ จนพอเราไปทำงานที่สหรัฐฯ เพื่อนร่วมงานก็จะเรียกเราว่า ‘Dr.Fearless’ เพราะเราไม่กลัวอะไร เราอยากรู้ เราสงสัยทุกอย่าง อยากลองทำไปหมด” (หัวเราะ) ดร. เอมอร โคพีร่า: หมอผู้ผลักดันการใช้ ‘กัญชง’ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ที่ชีวิตจริงบู๊แหลกยิ่งกว่าหนังแอ็คชัน ความไม่เกรงกลัวทุกอย่างในชีวิต คงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรหลักที่ทำให้เธอใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ตั้งแต่การผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยฯ กัญชงในประเทศไทยได้จนสำเร็จ ไปจนถึงกิจกรรมยามว่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเธอคือสุดยอดนักดำน้ำ ผู้มีประสบการณ์ท่องทะเลลึกมานานกว่า 15 ปี ผ่านมาแล้วหลายที่ตั้งแต่ดำน้ำในสถานที่ที่ใครต่อใครต่างหวาดหวั่นอย่าง Blue Hole ที่เบลิซ อเมริกากลาง ดำน้ำเพื่อไปเยี่ยมคุณปู่จอร์จผู้เดียวดาย (Lonesome George) ซึ่งเป็นเต่ายักษ์สายพันธุ์เกาะปินตาตัวสุดท้ายที่ตายลงเมื่อปี 2012 และไปดูสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวาฬ ที่กำลังให้กำเนิดอีกหนึ่งชีวิตขึ้นมา ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นเธอยังเดินเท้าจากประเทศโปรตุเกสเข้าสู่สเปน เป็นเวลา 1 เดือน โดยใช้เส้นทางที่เรียกว่า Camino de Santiago หรือ Way of St. James เป็นเส้นทางแสวงบุญ เพื่อไปยังอาสนวิหาร Santiago de Compostela ในแคว้นกาลิเซียทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน  “เราเคยนั่งสมาธิในห้องมืดนานติดต่อกัน 21 วัน มืดแบบไม่มีอะไรเลย เพื่อที่จะเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและจิตวิญญาณ จริง ๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าการที่มนุษย์เกิดมา ทุกคนล้วนมีมิชชัน มีภารกิจที่ต้องทำเพื่อรับใช้สังคม” “การกลับมาสู่รากเหง้าของตัวเองจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ และศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้คือมิชชันสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”