ทำไมหนังอินเดียต้องร้อง-เต้น? จากเรื่องขำขัน สู่จุดเปลี่ยน เพลงในหนัง RRR ได้ออสการ์

ทำไมหนังอินเดียต้องร้อง-เต้น? จากเรื่องขำขัน สู่จุดเปลี่ยน เพลงในหนัง RRR ได้ออสการ์

ภาพยนตร์อินเดียถูกจดจำจากฉากร้องและเต้น คอหนังที่ไม่คุ้นเคยมักมองเป็นเรื่องขำขัน กระทั่งความสำเร็จของเรื่อง ‘RRR’ ที่ส่งเพลง ‘Naatu Naatu’ ได้รางวัลเวทีลูกโลกทองคำ และได้ออสการ์ด้วย

  • เพลง ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบภาพยนตร์ RRR ได้รางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยมเวทีลูกโลกทองคำ 2023
  • รางวัลในเวทีระดับโลกมีส่วนทำให้ภาพจำต่อภาพยนตร์อินเดียที่มักมีฉากร้องและเต้นเปลี่ยนแปลงไป 
  • ฉากร้องและเต้นในภาพยนตร์อินเดียมีเบื้องหลังความเป็นมาเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจ 

ถึงแม้ RRR ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับชาวอินเดีย S.S. Rajamouli จะพลาดรางวัลสาขาภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ แต่สิ่งที่สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยนั่นคือการที่เพลงประกอบ ‘Naatu Naatu’ ได้รับรางวัลเพลงต้นฉบับยอดเยี่ยมเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globes) ประจำปี 2023 ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นแซงหน้าศิลปินดังอย่าง Taylor Swift, Lady Gaga และ Rihanna ที่เข้าชิงในสาขาเดียวกันไปได้ นับเป็นก้าวแห่งประวัติศาสตร์ของหนังอินเดียที่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อและชนะรางวัลบนเวทีลูกโลกทองคำ 

RRR มีที่มาจาก 3 คำในภาษาเตลูกู Roudram, Ranam, Rudhiram แปลว่า ความดุร้าย ความตาย และเลือด เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายอินเดียสองคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองของตนอย่างไม่เกรงกลัวเจ้าอาณานิคม ซึ่งเพลง ‘Naatu Naatu’ สามารถเก็บประเด็นสำคัญของเรื่องได้อย่างอยู่หมัด

ความเฉียบขาดของเพลงแสดงให้เห็นการต่อสู้ของตัวเอกทั้งสองอย่างบ้าคลั่ง แต่การต่อสู้นั้นไม่ใช่การใช้อาวุธหากเป็นเพียงการเต้น เต้นจนคนอื่นแพ้ราบคาบ เป็นการเอาชนะด้วยขาเพียงข้างเดียวแบบไม่เสียเลือดเนื้อ สู้บนความสนุกสนาน แถมยังปิดท้ายเพลงด้วยมิตรภาพของเพื่อนที่มีให้ต่อกัน 

Naatu Naatu เป็นเพลงจังหวะสนุกชวนให้ลุกขึ้นเต้น สมดังความหมายเพลงที่ว่า ‘Let’s Dance’ แค่ชื่อเพลงก็แสดงความเป็นอินเดียออกมาแล้ว! เนื้อหาในช่วงหนึ่งของเพลงกล่าวว่า ออกมาเต้นกันเถอะ...เต้นให้เหงื่อแตก...เต้นให้เหมือนว่ากำลังกินโจวาร์โรตีกับพริก (อยากรู้ว่าอาการเป็นยังไง คงต้องไปหามาลองชิมกัน) กระโดดจนกว่าฝุ่นจะฟุ้งขึ้นมาในอากาศ 

นอกจากการแต่งเพลงจังหวะครึกครื้นสนุกสนาน ยังต้องขอปรบมือให้กับการออกแบบท่าเต้น องค์ประกอบศิลป์ การตัดต่อ รวมถึงการฝึกซ้อมของนักแสดงนับร้อยชีวิตในฉากเดียว ที่ทำให้อาการการเต้นสุดมันไม่ได้จบแค่ในโรงภาพยนตร์ การร่วมแรงร่วมใจในการทำงานของทีมผู้สร้างหลายฝ่ายรับรู้ได้จากคำกล่าวขอบคุณของผู้ประพันธ์เพลง M.M. Keeravani ที่มีต่อเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ 

ท่าเต้นที่เหมือนจะง่ายแต่ซับซ้อนโด่งดังเป็นพลุแตก มียอดชมใน YouTube กว่า 115 ล้านวิวในเวลาเพียง 9 เดือน ข้อจำกัดทางภาษาเตลูกูไม่ได้เป็นตัวปิดกั้นสุนทรียะของผู้ชม ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างฝึกเต้นตามกันจนขาแข็ง ไม่เว้นแม้แต่ที่บ้าน ที่โรงเรียน ผับบาร์ ไปจนถึง TikTok 

การถูกยกย่องบนเวทีระดับโลกครั้งนี้อาจช่วยเปลี่ยนมุมมองของผู้ชมที่มีต่อการร้องการเต้นในภาพยนตร์ว่าไม่ใช่การยัดเยียดเพื่อตอบสนองรสนิยมของคนดูเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นหนึ่งในไวยกรณ์การเล่าเรื่องแบบฉบับอินเดีย ทำหน้าที่สร้างอารมณ์ร่วมและขมวดใจความสำคัญเพื่อดำเนินเรื่องต่อไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเพิ่มบทพูด ไม่ต้องเพิ่มการถ่ายทำให้ยืดเยื้อ ลบอคติเกี่ยวกับภาพจำซึ่งคนทั่วไปมักนึกถึงเพลงประกอบที่แสดงแต่ฉากเกี้ยวพาราสีของคู่พระนาง การวิ่งตามกันข้ามหุบเขา หรือแอบซ่อนผลุบโผล่อยู่หลังต้นไม้ โดยที่เนื้อเรื่องยังหยุดอยู่ที่เดิม

ผู้ชมที่ไม่ใช่แฟนหนังอินเดียอาจสงสัยว่า ก็แล้วทำไมจะต้องมีเพลงมีเต้นด้วย เล่าเรื่องเฉย ๆ ไม่ได้หรือ?

จึงอยากชวนให้กลับมามองบริบททางสังคมว่า ก่อนการเข้ามาของภาพยนตร์ คนอินเดียนับพันล้านคนไม่ได้มีรูปแบบความบันเทิงให้เลือกมากนัก การแสดงสดแบบสังคีตนาฏกรรมหรือการร้องการแสดงลีลาของแต่ละท้องถิ่นเป็นสื่อบันเทิงยอดนิยมที่คนทั่วไปโดยเฉพาะชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานสามารถเข้าถึงได้ 

การได้ร้องเพลง การได้เต้น ทำให้เกิดความผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าในชีวิตจริง สุนทรียะเหล่านี้ค่อย ๆ ก่อตัวเป็นรากฐานของวัฒนธรรมแห่งความบันเทิง ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่สนองจินตนาการของผู้ชม เร้าอารมณ์ร่วม สร้างตัวแทนที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม เสมือนเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต ไม่ได้มุ่งถ่ายทอดสุนทรียะแห่ง ‘ความสมจริง’ ตามแบบฉบับฮอลลีวูด จะเห็นได้ว่าหนังจากฝั่งตะวันตกจึงยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จในรายได้จากตลาดอินเดียส่วนหนึ่งก็เพราะการเล่าเรื่องไม่ถูกจริตกับผู้ชม

โรงหนังกลายเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านได้หลีกหนีจากการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการกดทับจากวรรณะทางสังคมแม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ การเข้าโรงหนังบ่อย ๆ เป็นพฤติกรรมปกติของผู้ชมที่นี่ แต่ละคนสามารถเลือกโรงหนังที่ตั้งอยู่หลายหมื่นแห่งทั่วประเทศได้ตามคุณภาพหรือจำนวนเงินในกระเป๋า เมื่อออกมาจากโรงหนังก็ยังนำเพลงมาร้องมาเต้นเพื่อสานต่อความสุขสู่ชีวิตจริง 

โดยทั่วไป เพลงประกอบภาพยนตร์จึงมักจะดังกว่าการออกเพลงอัลบั้มเดี่ยวของศิลปิน หากหนังเรื่องไหนดัง เพลงประกอบก็มักจะดังไปด้วย เฉพาะค่าลิขสิทธิ์เพลงประกอบมีมูลค่าสูงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้หนังสุทธิเลยทีเดียว ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนและเข้าถึงตลาดได้ทั่วโลก การเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงจึงเกี่ยวพันกับการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมีนัยสำคัญ 

หนังหนึ่งเรื่องมักมีเพลงประกอบหลายเพลง นอกจากความคาดหวังทางรายได้แล้ว แต่ละเพลงยังมีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดสุนทรียะที่แตกต่างกัน หากยึดหลักตามคัมภีร์นาฏยศาสตร์อันเปรียบเสมือนไบเบิลแห่งศิลปะการแสดง เพลงได้ทำหน้าที่ในการสร้าง ‘นวรส’ หรือ 9 รสทางอารมณ์ ได้แก่ รักพึงพอใจ เศร้าสงสาร รื่นเริงขบขัน กล้าหาญ กลัว โกรธ เกลียดชัง ประหลาดใจ และสงบใจ กลายเป็นหนึ่งในเครื่องชูรสที่ถูกผสมผสานไว้ในเวลา 150 – 180 นาทีของการเล่าเรื่อง การที่ผู้ชมได้รับรสทางอารมณ์หลากชนิดจึงเป็นที่มาของการเปรียบเปรยหนังอินเดียว่าเป็น มาซาล่ามูฟวี่ (Masala Movie) 

สิ่งที่น่าสนใจของภาพยนตร์อินเดียช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่าการใส่เพลงลงไปในแต่ละตอนของการเล่าเรื่องนั้นแยบคายและร่วมสมัยมากขึ้น ความไพเราะของเสียงร้อง ท่วงทำนอง การออกแบบท่าเต้น รวมถึงความสามารถของนักแสดง ช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงรสทางอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้โดยใช้เวลาอันสั้น 

ยกตัวอย่างเช่น เพลง ‘Bhagwan Hai Kahan Re Tu’ ในหนังเรื่อง PK (2014) ที่ต้องการสื่อสารเกี่ยวกับการเดินทางตามหาพระเจ้า ในประเทศที่มีพระเจ้ามากที่สุดในโลก สุนทรียะทางภาพและเสียงทำให้ผู้ชมเกิดความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งแก่ความพยายามของตัวละครโดยกินเวลาไม่ถึง 5 นาที 

อย่างหนังเรื่อง คังคุไบ ซึ่งโด่งดังในเมืองไทยเมื่อปี 2022 เพลง ‘Dholida’ ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อให้ผู้ชมร่วมกระโจนสู่ค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลอง การปลดปล่อยอารมณ์อันดุดันของคังคุไบด้วยจังหวะกลองและท่าเต้นที่ทรงพลัง ต่างกับเพลง ‘Meri Jaan’ ที่บอกเล่าความสัมพันธ์แห่งรักระหว่างชายหญิง อันส่งผลให้ผู้ชมเกิดความเห็นอกเห็นใจแก่ตัวละครคังคุไบในตอนท้ายเรื่อง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญจากการได้รับรางวัลของ RRR หนังจากเตลังกานา รัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ช่วยเปิดโลกให้ผู้คนเห็นว่าภาพยนตร์อินเดียนั้นไม่ได้จำกัดแค่บอลลีวูดซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมุมไบและใช้ฮินดีเป็นภาษาในการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังมีหนังท้องถิ่นจากรัฐอื่น ๆ ที่มีคุณภาพระดับสากลไม่แพ้กัน หนังเรื่อง Baahubali: The Conclusion (2017) จากผู้กำกับคนเดียวกันนี้ก็เป็นหนังอินเดียอีกหนึ่งเรื่องที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลมาแล้ว 

หลังจากนี้อาจเป็นการเปิดตลาดภาพยนตร์ให้ผู้ชมอยากทำความรู้จักกับหนังเบงกอลี หนังทมิฬ หนังมาลายาลัม หนังกันนาดา ฯลฯ มากขึ้นก็เป็นได้

ในแง่บริบททางสังคม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้โรงภาพยนตร์ที่เคยเป็นแหล่งรวมผู้คนต้องเผชิญกับความซบเซาอย่างต่อเนื่อง การเปิดตัวของหนัง RRR จึงมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย 

แน่นอนว่าการชมภาพยนตร์จอยักษ์ย่อมได้อรรถรสกว่าการนั่งดูอยู่ที่บ้าน แต่ยิ่งไปกว่านั้น การได้แต่งตัวออกจากบ้าน ได้พูดคุย ได้กินซาโมซ่า จิบมาซาล่าที ระหว่างหนังพักครึ่งกับคนรู้จัก ทำให้การชมภาพยนตร์ในโรงกลับมาเป็นกิจกรรมทางสังคมของคนอินเดียอีกครั้ง 

การมาดูหนังกับครอบครัว กับคนรัก กับเพื่อนวัยเด็ก หรือกับเพื่อนที่ทำงาน ทำให้ประสบการณ์ร่วมระหว่างชมภาพยนตร์แตกต่างกัน ฉะนั้น อย่าได้แปลกใจหากพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีคนตีตั๋วมาดูซ้ำหลาย ๆ รอบ 

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียมาหลายปี พบว่าการมีส่วนร่วมไปกับหนัง อย่างการผิวปาก ปรบมือ หรือลุกขึ้นเต้นตามจังหวะเพลงระหว่างชม ถือเป็นธรรมชาติของผู้คนที่นี่ การเข้าโรงหนังอินเดียนับเป็นการชมภาพยนตร์ที่มีสีสันมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตก็ว่าได้ 

จุดเริ่มต้นความสำเร็จบนเวทีลูกโลกทองคำในครั้งนี้ทำให้น่าจับตามองว่า ภาพยนตร์อินเดียจะยังสามารถสร้างความฮือฮาอีกครั้งในฤดูกาลออสการ์ที่กำลังจะมาถึงได้หรือไม่ หลังมีผลงานที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 3 สาขา ได้แก่ ‘Naatu Naatu’ จากภาพยนตร์เรื่อง RRR เข้าชิงรางวัลสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม ‘All That Breathes’ กำกับโดย Shaunak Sen เข้าชิงสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และเรื่อง ‘The Elephant Whisperers’ ผลงานของผู้กำกับหญิง Kartiki Gonsalves และ Guneet Monga ที่เล่าเกี่ยวกับชนพื้นเมืองในรัฐทมิฬนาฑู เข้าชิงสาขาสารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม 

คงต้องมาคอยลุ้นกันว่าเราจะได้ยินชื่อภาพยนตร์เรื่องใดอีกครั้งในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคมนี้

Update: เพลง Natuu Natuu ได้รางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เวทีออสการ์ 2023 ในวันที่ 13 มีนาคม (ตามเวลาในไทย) 

 

เรื่อง: ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพ: ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ RRR ภาพจาก Netflix Philippines/YouTube

หมายเหตุ: เนื้อหานี้เผยแพร่เมื่อ 26 มกราคม 2023 อัปเดตเนื้อหาและวันที่เผยแพร่ในเว็บไซต์เมื่อ 13 มีนาคม 2023