‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ เปิดฉากเกมรุก เตรียมนำ RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ เปิดฉากเกมรุก เตรียมนำ RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ท่ามกลางกระแส Disruption ที่เกิดขึ้นมากมาย หลายองค์กรที่ทั้ง ‘ปรับ’ และ ‘เปลี่ยน’ เพื่อให้ตัวเองเป็น ‘ผู้รอด’ และเดินต่อได้อย่างแข็งแรงบนเส้นทางธุรกิจ ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ หนึ่งในตัวอย่างของนักธุรกิจที่สู้ไม่ถอย กับแผนล่าสุดที่จะดัน RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567

  • RS Music เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทยในปี 2567 และเป็นธุรกิจแรกในเครือที่ต่อยอดการลงทุนด้วยการระดมทุน
  • ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ เริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 19 ปี ด้วยเงินลงทุน 50,000 บาท

RS ถือว่าเป็นค่ายเพลงในความทรงจำของเด็ก ๆ ยุค 90s ที่เติบโตมากับมวลเพลงเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ แสดงให้เห็นว่าได้พยายามทรานส์ฟอร์มตัวเองจาก ‘ค่ายเพลง’ สู่ ‘อาณาจักรคอมเมิร์ซ’ ที่มีรายได้ 4,000 ล้านบาท และตั้งเป้าในอีก 3 ปีข้างหน้าที่จะขยับมูลค่ากิจการไปเป็นแสนล้านบาท

โดยแผนธุรกิจล่าสุดเป็นการตอกย้ำภาพนั้นอีกครั้ง หลังจากที่ประกาศว่า บอร์ดบริหารอนุมัติให้อาร์เอส กรุ๊ป นำธุรกิจเพลงเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2567 เป็นธุรกิจแรกในเครือ เพื่อต่อยอดการลงทุนในธุรกิจเพลงอย่างเต็มที่

พร้อมขยายฐานรายได้จัดเก็บลิขสิทธิ์จากช่องทางดิจิทัล ทั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิงและโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ภายในปีนี้รายได้ของบริษัทฯ แตะ 700 ล้านบาทตามเป้า และวางให้ RS Music มีส่วนสร้าง Soft Power วงการ T-pop ได้เทียบเท่าต่างชาติ

ทั้งนี้ เฮียฮ้อ ได้พูดด้วยว่า "การลงทุนกับพาร์ทเนอร์จะมีทั้งผ่าน M&A (Mergers and Acquisitions) หรือ JV (Joint Venture) ที่เราได้เริ่มต้นไปแล้วกับแกรมมี่ นอกจากนี้ เราได้เจรจาและกำลังอยู่ในระหว่างการสรุปดีลกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ น่าจะสามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้"

ทั้งนี้ สัดส่วนโมเดลรายได้ของ อาร์เอส กรุ๊ป ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 5 ช่องทางหลักก็คือ

1.Digital Monetization รายได้จากผลงานเพลงทั้งจากศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินระดับตำนานของ RS จากช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ

2.Copyright Revenue รายได้จากการจัดเก็บและต่อยอดทรัพย์สินทางภูมิปัญญา (IP) ลิขสิทธิ์เพลงอื่น ๆ ของ อาร์เอส มิวสิค

 

3.Marketing Projects & Campaigns รายได้จากโปรเจคหรือแคมเปญการตลาดต่าง เช่น การพัฒนาผลงานเพลงร่วมกับพันธมิตร

4.Showbiz & Concerts รายได้จากการจัดกิจกรรม อีเวนท์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ต

5.Talent Management รายได้จากการบริหารและดูแลศิลปิน

เราจะเห็นว่ามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ อาร์เอส กรุ๊ป ที่ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นและถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนั้น เราจะไม่พูดถึงบุคคลที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และผลักดันให้เกิด RS Music อีกครั้งในยุคใหม่อย่าง 'เฮียฮ้อ' คงไม่ได้

และนี่คือเรื่องราวของ ‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ ประธานบริหาร อาร์เอส กรุ๊ป ที่เปิดใจกับ The People ว่า

“ผมเริ่มทำ RS ตอนอายุ 19 ปี ด้วยเงิน 50,000 บาท ตอนนั้นคิดอย่างเดียวธุรกิจต้องรอด ยังไม่คิดเรื่องโต มาถึงตอนนี้ RS เปิดมา 41 ปีแล้ว อยากบอกว่า นับแต่วันแรกที่ทำธุรกิจเจอดิสรัปมาตลอด ตั้งแต่คำว่าดิสรัปยังไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ”

 

การฝ่ากระแส Disruption ช่วง 4 ทศวรรษ

เส้นทางที่ผ่านมา RS เผชิญกับการดิสรัปใหญ่ ๆ อยู่ประมาณ 4 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงปี 2545 ที่เฮียฮ้อได้เข้าไปพูดคุยกับครอบครัว เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทจากธุรกิจ ‘ครอบครัว’ สู่ ‘มหาชน’ 

‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ เปิดฉากเกมรุก เตรียมนำ RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ตอนนั้นสิ่งที่เขามองไม่ใช่เรื่องของระดมทุน แต่ต้องการ ‘เปลี่ยนวิธีทำงาน’ จากครอบครัวมาเป็น ‘มืออาชีพ’ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หากทำไม่สำเร็จ อาร์เอสจะไม่มาถึงวันนี้

“ช่วงนั้นธุรกิจ RS เริ่มแข็งแรงแล้ว พี่ชายผมดูตลาดและโรงงาน พี่สาวดูบัญชี น้องชายดูการขาย เราเริ่มรู้แล้วว่า ไม่ได้รับการพัฒนาแน่นอน เลยมานั่งคุยกันแล้วเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เป็นความท้าทายครั้งแรกและยาก เพราะเป็นการเปลี่ยนชุดความคิดของครอบครัวเลย” 

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นการสร้างพื้นฐานสำคัญของบริษัท การเดินหน้าธุรกิจหลังจากนั้น คนในครอบครัวได้เปลี่ยนบทบาท จากคนทำงานมาเป็นผู้ถือหุ้นอย่างเดียว แล้วดึงมืออาชีพเข้ามา การทำงานทุกอย่างมีการวัด KPI ชัดเจน ไม่ใช่คนนามสกุลเดียวกันจะได้เป็นผู้บริหาร

เมื่อผ่านความท้าทายแรกในการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรไปแล้ว ต่อมาก็เข้าสู่อีกยุคสำคัญของการดิสรัป นั่นคือการที่ RS ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลงจากแอนะล็อกเดินหน้าสู่โลกดิจิทัล

ตอนนั้นเฮียฮ้อเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเรื่อง Physical ไม่ว่าจะเป็นซีดี หรือเทปคาสเซ็ท ฯลฯ ‘กำลังจะตาย’ และกระแสดิจิทัลกำลังเข้ามาแทนที่ ทำให้ตัดสินใจไปพูดคุยกับพี่ชาย (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) ให้ขายโรงงานผลิตเทปและซีดีทิ้ง 

“ยุคนั้นทั้งเราและแกรมมี่ในอุตสาหกรรมต้องเรียกว่ามีเครื่องปั๊มเงิน เพราะซีดีแผ่นหนึ่งมีต้นทุน 5 บาท แต่พวกเราขาย 170 บาท แม้ช่วงนั้นเกิดปัญหาซีดีปลอม เทปปลอม เราโดนละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังแฮปปี้มาก เนื่องจากมาร์จิ้นสูง ทว่าเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน เรื่องที่น่ากลัวคือผู้บริโภคเป็นผู้ละเมิดเอง”

‘เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์’ เปิดฉากเกมรุก เตรียมนำ RS Music เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เหตุผลของการขายโรงงานดังกล่าวทิ้ง เขาย้ำว่าไม่ได้มาจากธุรกิจเพลงเล็กลง เพราะถึงตอนนี้เพลงยังเป็นธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เพียงเห็นเทรนด์เปลี่ยนจาก Physical มาเป็นดิจิทัล จึงยอมตัดใจขาย และความยากของการตัดสินใจครั้งนั้น คือ เมื่อต้องทิ้งซีดีและเทปคาสเซ็ท ไม่รู้ว่าอะไรจะมาแทนและจะมาเมื่อไร ซึ่งยอมรับเป็นความเสี่ยง 

“วันที่ผมขาย แกรมมี่ขยายโรงงานเลย ผมไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด พอผ่านมา 5 ปี ผมคิดว่าผมคิดถูก”

 

ความสำเร็จแต่ละครั้งถือเป็นตำรา

การทรานส์ฟอร์มตัวเองได้สำเร็จในแต่ละครั้ง ไม่เพียงทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ ตัวผู้นำและองค์กรยังได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ และวิธีคิดของตัวเอง

ยกตัวอย่าง การทรานส์ฟอร์ม RS จากแอนะล็อกมาสู่ยุคดิจิทัล ที่ถือเป็นประโยชน์และสร้างภูมิต้านทานของตัวเอง เพราะสอนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ว่า เมื่อเดินไปแล้วต้องเจอกับอะไรบ้าง 

และหลังจากนั้นต้องเผชิญกับการดิสรัปในสื่อวิทยุ สำหรับเขาจึงเป็นเรื่องเล็ก

“ยุคนั้นวิทยุทั่วโลกกำลังตาย ผมกำลังทำคลื่นคูลฟาร์เรนไฮต์ เป็นอันดับ 2 รองจากกรีนเวฟ โดนดิสรัปทั้งคู่ การทรานส์ฟอร์มวิทยุไม่ได้เสี่ยงมาก จริง ๆ ดีไวซ์มันตาย คนยังฟังเพลงอยู่ ผมเป็นคนแรกที่ทำแอปฯ แล้วให้คนฟังวิทยุผ่านแอปฯ คุณฟังจากไหนก็ได้ทั่วโลก สุดท้ายวิทยุตายจริง ทว่าคนยังฟังเพลงอยู่”

 

ที่มาไอเดียกล้าเปลี่ยนธุรกิจบันเทิงสู่คอมเมิร์ซ

มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของ RS นั่นคือ การทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจ ‘บันเทิง’ สู่ ‘คอมเมิร์ซ’ ที่ทำให้ RS ได้รับความสนใจและกลายเป็นกรณีศึกษาของการ ‘กล้าเปลี่ยน’ จนประสบความสำเร็จ 

เฮียฮ้อเล่าว่า ความจริงแล้วในหัวเขาไม่มีความคิดจะทำคอมเมิร์ซเลย เพียงแต่เริ่มต้นไอเดียจากต้องการใช้สื่อที่มีในมือให้เกิดประโยชน์ เพราะหลังจากเข้าประมูลทีวีดิจิทัล ที่ตอนนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองเป็น ‘อนาคต’ แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นอย่างที่คิด 

“พอได้ช่อง 8 มาเห็นเลยว่าดีมานด์ ซัพพลายมันกลับด้านกัน จากเดิมทีวีบ้านเรามีเพียง 4 ช่อง เพิ่มเป็น 24 ช่อง ขณะที่เม็ดเงินโฆษณายังเท่าเดิม ทุกคนแข่งขันกันหนัก จากฝันจะเป็นเหมือนช่อง 3 และช่อง 7 ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน” 

เมื่อเห็นภาพนั้นแล้ว เขาได้เรียกทีมช่อง 8 มาคุยว่า ถ้าไม่ทำอะไร จะเจ็บตัวหนัก โดยต้องการจะใช้สื่อที่มีให้เป็นประโยชน์ ด้วยการดูเทรนด์ไหนมาแรง เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ และสิ่งที่พบก็คือ เทรนด์ Health and Beauty จึงทดลองทำสินค้าไปขาย

ปรากฏว่าขายดี นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจคอมเมิร์ซ ที่ต่อมามีรายได้ใหญ่กว่าธุรกิจดั้งเดิมอย่างเพลง และตอนนี้กลายเป็นธุรกิจหลักของ RS

“ตอนนี้รายได้เราอยู่ราว ๆ 4,000 ล้านบาท มาจากคอมเมิร์ซ 60% อีก 40% เป็นมีเดียและบันเทิง”

 

เห็นเทรนด์เหมือนกัน จุดสำคัญทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือเปล่า 

การทรานส์ฟอร์มธุรกิจจะสำเร็จหรือไม่ จุดสำคัญสำหรับเฮียฮ้ออยู่ที่จะลงมือให้เกิดผลจริงได้หรือไม่ และการลุยเข้าสู่ธุรกิจใหม่ไม่จำเป็นต้องรู้ถึงธุรกิจนั้น 100% เพราะสามารถเรียนรู้ได้ระหว่างลงมือทำ

เขาอธิบายว่า นักธุรกิจทุกคนทราบดีเรื่องเทรนด์ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว ความไม่แน่นอน ดังนั้นเวลาที่พูดเรื่องทรานส์ฟอร์ม ความยากอยู่ที่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงให้ได้มากกว่า และเรื่องเหล่านี้ต้องใช้แรงมหาศาลในการผลักดันและอาศัยความร่วมมือสูง เพราะเป็นการเปลี่ยนชุดความคิดของคนเลยก็ว่าได้ 

“ทุกธุรกิจที่เราทำ ผมบอกว่ารู้แค่ 40 - 50% พอ ที่เหลือไปลงมือทำและเรียนรู้ ผมไม่เคยตั้งต้นว่าอยากทำอะไร ไม่ทำอะไร สิ่งที่คิดคือ อะไรน่าสนใจ แล้วมาเช็กลิสต์ไม่กี่เรื่อง 1. อยู่ในเทรนด์ใหญ่หรือไม่ 2. องค์กรเรามีจุดแข็งหรือเปล่า ซึ่งจุดแข็งของ RS  คือความเร็ว ทั้งเรียนรู้และปรับตัว ทำแล้วใช่ ด้วยความเร็วจะทำให้เราสำเร็จได้เร็ว ถ้าไม่ใช่ ก็แก้ไขได้เร็ว จนความไม่ใช่นั้นยังไม่สร้างความเสียหายให้เรา”

และเฮียฮ้อไม่เชื่อเรื่อง RS ถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไรด้วย อย่างตอนทำคอมเมิร์ซเขาไม่บอกเลยว่าทำอะไร เนื่องจากเมื่อบอกไปแล้วนักวิเคราะห์จะไม่เชื่อ แล้วบอกว่า RS ทำบันเทิงมาตลอดจะเปลี่ยนทำคอมเมิร์ซได้จริงหรือไม่

เพราะเขามองว่า เมื่อยังไม่ได้ลองทำ จะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งนั้นเราถนัดหรือไม่ถนัด ทางออกที่ดีที่สุด ต้องลองทำเลย เพื่อให้เห็น แล้วเรียนรู้ระหว่างทาง

 

บอกเป้าหมายระยะสั้น อย่าพูดสิ่งไกลตัว 

อย่างที่บอกการจะทรานส์ฟอร์มฝ่ากระแสดิสรัปให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องใช้แรงและความร่วมมือเป็นอย่างมาก โดย ‘พนักงาน’ ถือเป็นหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญ 

เคล็ดลับของเฮียฮ้อในเรื่องนี้ เวลาจะเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญ ต้องทำให้คนในองค์กรเชื่อมั่น และอย่าบอกอะไรที่ยังไกลเกินไป เช่น หากวางแผนระยะ 3 ปี เขาจะบอกภาพและทิศทางที่จะเกิดขึ้นใน 1 ปีข้างหน้าเท่านั้น เมื่อครบกำหนดแล้วจะมาสรุปให้เห็นเส้นทางที่เดินไปแล้ว เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพจริงได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ภาพที่ยังมาไม่ถึง 

ที่สำคัญต้องยอมรับว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องยอมทิ้งคนบางคนไปด้วย อย่างกรณีของ RS ช่วงทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลง คนในองค์กรหายไป 40% 

หรือช่วงทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจบันเทิงมาธุรกิจคอมเมิร์ซ ต้องรับคนใหม่เข้ามาและทรานส์ฟอร์มคนเก่าออกไป 30% ขณะที่ช่วงรีแบรนด์และย้ายออฟฟิศใหม่มีการเปลี่ยนผู้บริหารระดับบน 

 

Ownership หนึ่งใน Core Value สู่ทศวรรษที่ 5 

หลายคนอาจบอกว่า RS ประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์ม แต่สำหรับเฮียฮ้อแล้ว ยังมีหลายเรื่องที่ท้าทาย เพราะการที่ทำธุรกิจอยู่ทำให้รู้ว่าเผชิญกับอะไร และมีการดิสรัปเข้ามาตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าเรารู้สึกหรือไม่ หรือมีความสุขกับผลประกอบการจนลืมนึกถึง

ดังนั้น จึงเตรียมสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ RS อีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างการวางแผนวิสัยทัศน์ 3 ปีต่อจากนี้ ทั้งจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ การกำหนด Core Value ใหม่ให้กับองค์กรสำหรับส่งต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปยังผู้บริหารและทุกคนในองค์กร เพื่อให้ RS เป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างแข็งแรงและยั่งยืน 

เพราะตัวเขาเองที่ตอนนี้อายุ 60 ปีเตรียมจะ step back ในอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้วิชันดังกล่าวยังจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการสร้าง RS ให้มีมูลค่าแสนล้านบาทในอีก 3 ปี

โดยหนึ่งใน Core Value สำคัญสำหรับทศวรรษต่อไป ก็คือ ‘สปิริตเถ้าแก่’ หรือ Ownership การทำอย่างไรให้คนในองค์กรทำและคิดแบบเถ้าแก่ เพราะเฮียฮ้อเชื่อว่า ‘ความเป็นเถ้าแก่’ จะตอบทุกเรื่องของการทำธุรกิจ

 

*ที่มาเนื้อหา: งาน UNLOCK THE FUTURE by Brand Buffet : The 10 Phenomenon Years