read
interview
16 พ.ค. 2562 | 12:09 น.
สัมภาษณ์ ฉันทนา ทิพย์ประชาติ “การทำหนังเป็นพื้นที่ระบาย และเป็นพื้นที่หายใจของเรา”
Play
Loading...
ภาพยนตร์สำหรับบางคนอาจเป็นเพียงสื่อให้ความบันเทิง แต่สำหรับผู้กำกับ
ตั๊ก
–
ฉันทนา ทิพย์ประชาติ
เธอบอกกับเราในบทสัมภาษณ์ว่า ภาพยนตร์คือพื้นที่ระบาย และเป็นพื้นที่หายใจ
เธอเริ่มทำภาพยนตร์ขนาดสั้นตั้งแต่เรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณาและสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยบูรพา ไม่ว่าจะเป็น Fair Fair, Status, Directionless, Please talk to me หรือ Good Night ไม่ได้แปลว่าราตรีสวัสดิ์ เคยส่งหนังเข้าประกวดเทศกาลภาพยนตร์สั้น Thai Short Film & Video Festival โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และมูลนิธิหนังไทย จนนักวิจารณ์ตั้งฉายาเธอว่า “ตั๊ก ไฟในทรวง”
“ตอนเริ่มทำหนังสั้นแรก ๆ เรื่องที่อยากเล่ามาจาก
inner
และ
passion
ของเราล้วน ๆ ซึ่ง
passion
เหล่านั้นมีจุดเริ่มต้นคือความโกรธ เราอยากเล่าเรื่องที่เราโกรธ โมโห แต่เราไม่รู้จะไปพูดกับใครก็เลยเอามาทำเป็นหนังทั้งหมด”
ล่าสุดเธอกำลังจะมีภาพยนตร์ขนาดยาวฉายโรงเรื่องแรกของชีวิต หน่าฮ่าน (พ.ศ. 2562) และอีกเรื่องที่ทำเสร็จก่อนแต่ยังไม่ฉายโรงอย่าง รัก-ไม่ปรากฏ (The Otherness) วันนี้ The People จึงชวนเธอมาคุยยาว ๆ ถึงเรื่องราวชีวิตและการทำหนังของเธอ
The People:
ทำไมคุณถึงทำหนังด้วยความโกรธ
ฉันทนา
:
เราเป็นคนที่โมโหกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องจุกจิก คือถ้ามันไม่กระทบชีวิตจะไม่เป็นไร แต่ถ้ามันกระทบมาก ๆ เราจะรู้สึกจี๊ด อยากเล่าเรื่องพวกนี้ หรือแม้กระทั่งโกรธเพื่อนที่ไม่แฟร์กับเรา เราก็ไม่รู้จะด่ายังไงดี ด่าไปมันก็ไม่รู้สึก เราก็เลือกทำหนังดีกว่า
เหมือนการทำหนังเป็นพื้นที่ระบาย คนที่ชอบงานเราคงสัมผัสได้ถึงความโกรธจริง ๆ เขาก็เลยให้ฉายา “ตั๊ก ไฟในทรวง” หลังจากนั้นเราก็ทำหนังสั้นเพื่อส่งเทศกาลเรื่อย ๆ เพราะการทำหนังเป็นพื้นที่ระบาย นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่หายใจของเราด้วย ทำแล้ว therapy
The People:
ช่วงแรกคุณทำหนังสั้นตลอด ความรู้สึกที่อยากยึดการทำหนังเป็นอาชีพจริงจังเริ่มตั้งแต่ตอนไหน
ฉันทนา
:
เกิดขึ้นตอนได้ลองสัมผัสกองถ่ายที่เป็นกองมืออาชีพจริง ไปทำแล้วเจอคนประเภทเดียวกัน มันเป็นพื้นที่ที่เขาเปิดรับเรา แล้วรู้สึกว่าตรงนั้นมันคือพื้นที่ของเรา อยู่แล้วเราสบายใจ จริง ๆ ก็เหมือนคนทั่วไปนะ ทำอะไรแล้วสบายใจก็อยากทำไปเรื่อย ๆ พอเราทำหนังแล้วมีความสุข สบายใจ ได้เจอพี่น้องที่ทำงานด้วยกัน สนิทกัน คุยอะไรก็ได้กัน มันก็เลยทำมาเรื่อย ๆ มันไม่ใช่เรื่องของหาเลี้ยงครอบครัวหรือหาเลี้ยงชีวิต แต่มันเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้อะ เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เป็นเรื่องของความรัก การทำหนังเหมือน fulfill เรา ทำแล้วรู้สึกดี ก็เลยทำมาเรื่อย ๆ และก็คงคิดว่าไม่ได้เลิกทำ
The People:
พอกระโดดเข้ามาวงการหนังจริง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ฉันทนา
:
เราเริ่มต้นทำงานตำแหน่งผู้กำกับ 2 จากคำชักชวนของพี่
คุ่น
(
ปราบดา หยุ่น
: ผู้กำกับ Motel Mist) ล้วน ๆ ตอนนั้นเราทำรายการกับพี่คุ่น พอเขาเห็นว่าเราทำหนังสั้น คุยกันแล้วคลิก ก็เลยชวนมาทำงานด้วยกัน
เราเข้าไปเป็นผู้ช่วย 2 โดยไม่มีความรู้ความสามารถทางอาชีพผู้ช่วยผู้กำกับเลย เพราะว่าศาสตร์ผู้ช่วยผู้กำกับไม่เหมือนการเป็นผู้กำกับ การเป็นผู้ช่วยผู้กำกับต้อง manage เป็น ต้องรู้ใจผู้กำกับ เป็นเหมือนมือขวาของเขา ต้องออก call sheet ซึ่ง call sheet คืออะไร ไม่รู้จัก! คุณต้องออก breakdown ต้องคุยกับนักแสดง ต้องอยู่หน้าเซต ต้องวิ่งมาหน้ามอนิเตอร์ ต้องดีลเอ็กซ์ตรา ดังนั้นการออกกอง Motel Mist เหมือนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยมีโปรดิวเซอร์พี่
ทองดี (โสฬส สุขุม)
เป็นครูคนแรกของห้องเรียนภาพยนตร์อาชีพของเรา
The People:
มีภาพยนตร์เรื่องไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณไหม
ฉันทนา
:
เยอะ เยอะมาก แต่ถ้าถามว่าหนังเรื่องที่จะไม่มีวันลืม และจะเป็น reference ตลอดชีวิต คือหนังของ
เอ็ดเวิร์ด หยาง
ผู้กำกับไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็น A Brighter Summer Day (1991), Yi Yi: A One and A Two (2000) หรือหนังสั้นเรื่องอื่น ๆ หนังของเขามีทั้งประวัติศาสตร์ชาติ ขณะเดียวกันก็มีวิถีชีวิตของคนไต้หวัน การต่อสู้ วัยรุ่น มันกระทบเราพอสมควร
The People:
ถ้าเทียบสัดส่วนคนในวงการภาพยนตร์ ทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นผู้กำกับหญิงเท่าไหร่ หรือว่า
nature
ของภาพยนตร์ดูเป็นผู้ชายมากกว่า
ฉันทนา
:
เห็นด้วยในแง่ที่ว่า เมื่อเทียบปริมาณกันแล้วผู้หญิงคงน้อยกว่า แต่ว่าไม่เห็นด้วยว่าภาพยนตร์จะเป็น nature ของผู้ชาย เราว่าภาพยนตร์ไม่มีเพศหรอก ภาพยนตร์เป็นใครก็ได้ มันเป็นความสนใจของใครมากกว่า หนังคงเป็นความสนใจของผู้ชายส่วนใหญ่มั้ง แล้วคงเป็นความสนใจส่วนน้อยของผู้หญิง เราจึงเห็นผู้หญิงเป็น beauty blogger มากกว่าผู้ชาย ผู้ชายส่วนใหญ่คงสนใจภาพยนตร์ ทำให้ปริมาณผู้กำกับชายมากกว่า เมื่อเทียบกับการทำหนังยาวสองเรื่องที่ผ่านมา เรารู้สึกว่า “เพศ”และ “อายุ” ไม่มีผลต่อการทำงานในวงการเลย
The People:
เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องถึงปัญหาต่าง ๆ มากมายในวงการหนัง พอเข้ามาทำงานในวงการนี้จริง คุณพบปัญหาอะไรบ้าง
ฉันทนา
:
ถ้าในภาพใหญ่ระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ คนอื่นจะตอบได้ดีกว่า เพราะเรายังอายุน้อย ประสบการณ์ทำงานก็น้อย คงตอบไม่ได้ดีเท่าคนอื่น แต่เท่าที่เราทำงานจะเจอปัญหาเรื่องทุนการสร้างที่คนทำหนังอยากได้ กับสิ่งที่คนทำหนังต้องการ มันเป็นสิ่งที่หายากมากในประเทศนี้ ทั้งจากนายทุนหรือการสนับสนุนของรัฐบาล คือมันต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก กลายเป็นสิ่งที่คนทำหนังต้องแบกรับภาระตรงนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว หรือจริง ๆ ควรจะมี supporter หรือเปล่า เพราะภาพยนตร์ดี ๆ ทำให้ประเทศเป็นประเทศที่หนึ่งได้ เคยมีตัวอย่างมาแล้วในประเทศกำลังพัฒนาแล้วเขากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วเพราะหนัง เราน่าจะเรียนรู้ตรงนั้นได้
ต่อมาคือเรื่องตัวคนทำงานเอง หนังจะดีหรือไม่ดี จะมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ มันมาจากคนทำงานล้วน ๆ เลย ถ้าคุณรักในสิ่งที่คุณทำ คุณก็ควรจะเห็นคุณค่าของมัน ไม่ใช่จะเอาทุกอย่างจากหนังทุกเม็ด
The People:
หมายถึงไม่ควรมองหนังเป็นสินค้าหรือเปล่า?
ฉันทนา
:
จะมองหนังเป็นสินค้าก็ได้ หรือจะมองเป็นแค่หนังก็ได้ แต่เราต้องจริงจังและจริงใจต่องานที่ตัวเองทำมาก ๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ มิฉะนั้นจะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร ชิ้นงานนั้นจะไม่ทำให้ตัวคนทำงานพัฒนา
เราอยากให้คนทำงานเข้าใจงานตัวเอง รักงานตัวเอง แล้วชิ้นงานนั้นจะพัฒนาตัวเองไปด้วย
The People:
ความท้าทายของผู้กำกับยุคนี้คืออะไร
ฉันทนา
:
เท่าที่เจอตอนนี้คือเรื่องการ promote หนัง หนังฟอร์มเล็กกับหนังฟอร์มใหญ่จะมีเม็ดเงินเอามาทำการ promote น้อยมาก ก็เลยส่งผลไปถึงรอบฉายที่น้อย เพราะโรงหนังอาจเห็นว่าหนังของเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น
The People:
คุณทำหนังยาวเรื่องแรก
รัก-ไม่ปรากฏ (
The Otherness)
เสร็จแล้ว แต่ทำไมยังไม่ฉายโรงสักที เกิดปัญหาอะไร
ฉันทนา
:
ความที่มันเป็นหนัง independent, individuals หรือ indy นั่นแหละ กระบวนการสร้างคือทำไปเรื่อย ๆ เงินหมดก็หยุดไว้ก่อน หาเงินเพิ่มได้ก็ทำต่อ กระบวนการก็เลยร่นมา 4 ปีที่ไม่ได้ฉาย แต่พอหนังเรื่องสอง หน่าฮ่าน มีเจ้าของหนัง (นายทุน) มันก็เลยต้องทำตาม schedule ให้ได้ แล้ว หน่าฮ่าน เป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ ถ้าเราพูดเรื่องนี้ก่อน คนอื่นจะทราบว่าเราและทีมงานไม่ได้ทำแค่หนัง indy อย่างเดียว หนัง mass เราก็ทำได้นะ เราก็เลยเลือกฉาย หน่าฮ่าน ก่อน
The People:
หนังเรื่องแรก
รัก-ไม่ปรากฏ (
The Otherness)
มีไอเดียมาจากไหน
ฉันทนา
:
ช่วงที่เลิกทำงานประจำแล้วเข้าไปรู้จัก non-governmental organization หรือ NGO และได้รู้จักองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ทำให้เราเข้าไปรู้จักค่ายผู้ลี้ภัย เจอเด็กชายขอบ เจอคนไม่มีสัญชาติแต่เขาเกิดในไทย พ่อแม่เขาไม่ใช่คนไทยแล้วเราจะเรียกเขาว่าอะไร เราไปรู้จักเขตแดนของประเทศคืออะไร ชาติคืออะไร ทำให้ช่วงนั้นอินกับประเด็นนี้มาก
พอเราว่าง เรารู้สึกตกค้างกับเรื่องพวกนี้ ก็เลยเขียนออกมาเป็น treatment เขียนไปเขียนมาก็เลยรู้สึกว่า เราอยากทำหนังที่เกี่ยวข้องกับคนนอก เป็นคนในที่ออกมา พอกลับเข้าไปกลายเป็นคนนอก
ตอนนั้นเรากลับบ้านที่กาฬสินธุ์ ซึ่งช่วงนั้นเต็มไปด้วยข่าวลือเรื่องผีปอบอาละวาด เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเดียวกับประเด็นคนนอกและความเป็นอื่น เช่น มึงเป็นใคร มึงเป็นผีหรือเปล่า อะไรแบบนี้
The People:
เหมือนกับว่า อยากให้ใครเป็นคนนอกก็จะถูกป้ายให้เป็นผีปอบ?
ฉันทนา
:
ใช่ มึงเป็นปอบ เหมือนไม่รู้ว่าจะโทษอะไร พอเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ ทางการแพทย์ก็ไม่รองรับว่าเป็นโรค เพราะหมู่บ้านนั้นยังไม่พัฒนาหรืออะไรก็ตามแต่ พอรองรับไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ ผีก็ต้องเป็นผู้ร้าย และผีที่ร้ายแรงสุดก็คงเป็นผีปอบ
The People:
เราจะได้เห็นภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อไหร่
ฉันทนา: ยังอยู่ในช่วงเจรจาอยู่ค่ะ
The People:
แล้วภาพยนตร์เรื่องที่สอง หน่าฮ่าน ล่ะ มีไอเดียจากอะไร
ฉันทนา
:
พี่
อ้วน (นคร โพธิ์ไพโรจน์)
ชักชวนมา บอกว่ามีนายทุนจากฝั่งอีสานอยากทำหนังที่พูดถึง original อีสาน มันมีแง่มุมไหนไหมที่แตกต่างไปจากเรื่องที่เคย ๆ ทำมา แล้วเราก็เลยตอบทันที หน่าฮ่านหมอลำ อยากทำชีวิตเด็กแบบฮอร์โมนแต่เป็นเวอร์ชันเด็กอีสาน เราก็อธิบายว่าหน่าฮ่านคืออะไร เปิดคลิปให้ดู เขาก็สนใจจึงพัฒนาต่อมาเป็นหนัง
inner เรื่องนี้มาจากชีวิตเราเอง เรามีเพื่อนที่โตมาด้วยกันซึ่งทางบ้านก็ฐานะดีนะ มีอันจะกินกว่าเราอีก แต่ความรักและความสนใจของมันไม่เหมือนกับเรา มันไม่อยากมีชีวิตจบปริญญาตรี ทำงานในออฟฟิศ ส่งเงินมาให้แม่ ทำบ้านหลังใหญ่โต แต่ความสุขของมันคือการกินเหล้าในงานบุญแล้วเต้นตามรถแห่ พบรัก make love แล้วก็มีลูก คลอดลูก ให้แม่เลี้ยงลูก กลับมาเลี้ยงลูกบ้าง กลับมาเจอลูกบ้าง ถ้าไม่พอใจสามีคนนี้ก็เลิก กินเหล้าใหม่ ไปงานบุญใหม่ ไปพบรักใหม่ คือเราว่ามัน amazing อะ นี่คือสิ่งที่มันจัดการได้ มันมีความสุข ชีวิตของมันก็คล้าย ๆ คนจบปริญญาตรีแหละ แต่แค่ไม่ได้จบปริญญาตรีเฉย ๆ เราก็เลยอยากเล่าเรื่องของมันเป็นส่วนหนึ่งของหนังนี้ด้วย จริง ๆ เราว่าเพื่อนเราคือวัยรุ่นส่วนใหญ่ในขณะนี้ด้วยซ้ำ
The People:
ความสนุกของ หน่าฮ่าน คืออะไร
ฉันทนา
:
เราอยากเล่าเรื่องนี้เพราะรู้สึกว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ใครก็มองว่าไร้สาระ กะโหลกกะลา เต้นไร้สาระไปวัน ๆ ไม่มีประโยชน์ แต่เรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นพื้นที่ที่เด็กตรงนั้นให้ความสำคัญ เหมือนคุณถูก follow มา ทำให้คุณมีตัวตน ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีประโยชน์กลับมีตัวตนขึ้นมา
คนที่ไปเต้นหน้าฮ่าน เขาอาจจะแค่อยากสนุกอย่างเดียวก็ได้ แต่ไอ้ข้างหลังความสนุกหรือก่อนความสนุกนั้น มันคงมีเรื่องเล่าหรือเรื่องราวที่ทำให้เขาไปอยู่ตรงนั้น
The People:
จุดร่วมอย่างหนึ่งของภาพยนตร์ทั้งสองคือความรักวัยรุ่น ทำไมคุณถึงสนใจทำหนังประเด็นนี้
ฉันทนา
:
เพราะเป็นช่วงวัยที่เรากำลังสนใจ แล้วความรักเป็นเรื่องหวือหวา ทำให้เป็นสภาพแวดล้อมในหนังมันอิ่มง่าย
หนังรักมีรายละเอียดของมันนะ อย่าเพิ่งด่วนสรุปและตัดสินมันเลย ตั๊กรู้สึกว่าหนังจะเป็นอะไรก็ได้แหละ จะเป็นหนังรัก ผี ตลก หรือดรามา แต่ทุกอย่างมันมีรายละเอียดที่น่าสนใจ หนังมันทำงานด้วยตัวมันเอง เดี๋ยวมันจะเป็นตัวพิสูจน์ว่าทำงานกับคนในรูปแบบต่าง ๆ เอง ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวก็ด้วยตัวหนังเองเหมือนกัน
The People:
สุดท้ายแล้วหนังเยียวยาตัวเองคุณอย่างไร
ฉันทนา
:
เราเป็นคนทำงานด้วย passion แล้ว passion ต้นฉบับคือความโกรธ โมโห เกรี้ยวกราดล้วน ๆ เลย ไม่มีความดีงาม ไม่มีสุนทรียภาพอะไรทั้งนั้น แต่พอใช้ชีวิตไปสักพักหนึ่งเหมือนอายุเริ่มเยอะขึ้น เราไม่ได้พูดว่าตัวเองโตขึ้นนะ เหมือนตัวเลขอายุเยอะขึ้น เริ่มรู้สึกว่า “ไม่ได้ละ” ตัวเองเกรี้ยวกราดเกินไป เราจะด่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกไม่ได้
ตอนแรกคิดว่าจะเลี้ยงปลา แต่ปลาอยู่ในโถจับต้องไม่ได้ จะเลี้ยงหมาก็กลัวเหม็นกลิ่น ไม่นานพี่ตากล้องคนหนึ่งเขาไปเที่ยวเยาวราชกับแฟนแล้วเห็นแมวจรจัดโดนแม่ทิ้ง 2 ตัวกลางถนน พี่เขาก็เก็บมาตั้งแต่ตัวเท่ากำปั้นเลย ยังไม่ลืมตาเลย อาจจะเพิ่งคลอด เขาก็เก็บมาประกาศในเฟซบุกว่า “ใครอยากจิตใจดี เป็นคนสวยมารับแมวไปเลี้ยงเร็ว” เราก็เลย inbox ไปเลยว่าเราจะเลี้ยงแมว 2 ตัวนี้ อยากเป็นคนสวยและจิตใจดี (หัวเราะ) วันถัดมาก็เลยให้รุ่นน้องขับรถพามารับแมวสองตัวนี้กลับมาที่หอ นี่ก็ผ่านมาน่าจะ 3 เกือบ 4 ปีแล้วนะ รู้สึกว่าตัวเอง calm down ลง มีเสียงสอง เสียงสาม เพิ่มขึ้นในชีวิต ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยมีเลย (หัวเราะ) เริ่มรู้จักดัดจริตมากขึ้น ดัดง่ายขึ้น ใครบอกว่าโตแล้วดัดยากใช้กับเราไม่ได้ เพราะว่าเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ
The People:
ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะแมว?
ฉันทนา
:
ก็ด้วย และอย่างอื่นด้วย มันเริ่มเปลี่ยนจากการเลี้ยงแมวให้เป็นคนอ่อนโยน พอทำงานก็เริ่มเป็นคนที่ compromise มากขึ้น กลายเป็นคนที่มี choice ให้กับตัวเองและคนอื่นมากขึ้น นั่นแหละค่ะ การเลี้ยงแมวก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี (ยิ้ม)
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3756
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
7092
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
1039
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
หน่าฮ่าน
ChantanaTiprachart
Nah Han