สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’
จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ ไม่ได้โลกสวยพอที่จะบอกว่าตลอด 10 ปีที่พูดถึงประเด็นดุเด็ดเผ็ดร้อนเชิงสังคมและการเมือง ผ่านรายการ ‘เจาะข่าวตื้น’ เขาจะใช้ชีวิตชิลล์ ๆ ไฟรายการดับพรึบแล้วทุกอย่างจบลง เคลียร์คัตตัดทุกอย่างออกจากสมอง เพราะหลายครั้งที่ความเป็นไปของบ้านเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2557 ที่เกิดรัฐประหารครั้งที่ 13 ขึ้นในเมืองไทย (โอ้โห!) ทำให้เขาตกอยู่ในความเครียด อัดอั้น มีมุมมองมากมายที่พร้อมจะพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือแปรเป็นคำถามฮุกแขกรับเชิญที่แวะเวียนเข้ามาในเจาะข่าวตื้น อย่าเพิ่งคิดว่าพิธีกรฝีปากคมคนนี้จะลากใครมาฆ่ากลางรายการ เพราะแม้จะคิดแตก เห็นต่าง มีจุดยืนทางการเมืองคนละขั้วกับเขา แต่จอห์น วิญญู ก็บอกว่าเขาพร้อมพูดคุยเสมอ "ถ้าก้าวเข้ามาพร้อมความรู้สึกว่าฉันถูก ผมว่ามันจะ aggressive ทันที แต่ถ้าก้าวเข้ามาด้วยความคิดที่ว่าผมไม่รู้ แล้วอยากรู้จริง ๆ ว่าคุณจะตอบตรงประเด็นหรือเปล่า อย่างน้อยผมก็ได้ฟังคุณตอบต่อหน้าผมแล้วล่ะ ผมจะเชื่อหรือไม่เชื่อคุณ วัดกันวินาทีนั้นก็ได้" จอห์น วิญญู อยากสัมภาษณ์ใครมากที่สุด เขาคิดกับสังคมทุกวันนี้อย่างไร และอยากเห็นการเมืองไทยเป็นแบบไหน มาดูกัน  

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

  The People: จำข่าวแรกที่อ่านในเจาะข่าวตื้นได้หรือเปล่า วิญญู: บอกตามตรงคือจำไม่ได้ แต่เหมือนจะเป็นเรื่องใกล้ตัว เท่าที่จำได้จะเป็นข่าวถนนหนทางเป็นยังไง ฟุตบาธเป็นยังไง การศึกษาเป็นยังไง เงินภาษีถูกเอาไปใช้เรื่องอะไร แล้วถึงมาจับทางถูกตอนโอเน็ต เอเน็ต เสื้อเหลือง เสื้อแดง อะไรพวกนี้ ตอนนี้ตอนที่เท่าไหร่แล้ว 200 กว่าแล้วใช่ไหม ยังไม่นับเทปที่ไม่ได้ออนแอร์นะ ไม่ใช่เพราะโดนกดดัน แต่บางทีข่าวมันเก่า กระแสไม่ได้แล้ว ถ้าดันทุรังปล่อยออกไปก็กลายเป็นเอาต์หรือข้อมูลไม่ตรงอีก ก็หายไปเยอะ เราเรียนรู้อะไรกับมันไปเยอะจริง ๆ (หัวเราะ)   The People: ข่าวแรกคือความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ตอนนี้เราก็ยังเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แสดงว่ามันไม่หายไปจากสังคมเลย? วิญญู: ผมเชื่อว่าก่อนหน้านั้นเป็น 10 ปี ก็คงมีคนพูดแบบเดียวกัน ผมว่ามันอาจดีขึ้น แต่ก็ฟันธงทั้งหมดไม่ได้ บางปัญหาก็เบสิกและง่ายมากนะ อย่างการอยู่ร่วมกันในสังคมก็อยู่ด้วยกติกาที่ทุกคนส่งตัวแทนเข้าไปช่วยออกกฎกติกา ถ้าเสียงส่วนใหญ่ยอมรับว่าอย่างนั้นก็ยกมือผ่านตกลงกันไป พวกเราต้องเคารพกฎกติกานั้นนะ ใครไม่เคารพก็โดนลงโทษ หรือรับผิดชอบอะไรไป ขณะเดียวกันก็มีเรื่องอื่นที่โคตรของโคตรยาก ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความใส่ใจ และต้องมีความอดทนมาก ๆ คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงหรือร่วมกันทำให้สังคมดีขึ้น อาจจะผ่านการศึกษา ทำยังไงให้การศึกษามีคุณภาพที่ดีขึ้น เท่าเทียมมากขึ้น มากกว่าการที่คุณจะได้เข้าโรงเรียนดี ๆ ซึ่งอาจมีแค่จังหวัดละแห่ง หรือในกรุงเทพฯ ที่มีเยอะหน่อย คนก็ต้องแย่งแข่งขันเข้ามากรุงเทพฯ ต้องทิ้งพ่อทิ้งแม่ ต้องกู้หนี้ยืมนู่นนั่นนี่มาเพื่อให้ได้มาเรียนสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง เพราะฉะนั้นคือทำยังไงให้งบประมาณไปลงตรงนั้น พัฒนาข้าราชการครูหรือคุณภาพของครูให้ดียิ่งขึ้น แล้วก็แผนการศึกษาที่จะทำยังไงให้ดีขึ้น นั่นก็ส่วนหนึ่ง ยังมีเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ในต่างประเทศเขาจะมีคลับต่าง ๆ ให้เด็กมาใช้เวลาปลดปล่อยพลังงานที่มีเยอะเหลือเกิน นี่ยังไม่พูดถึงการรับมือกับยาเสพติด เรื่องอาชญากรรม เรื่องอะไรต่าง ๆ ผมอาจเป็นคนคิดเยอะเกินไป แต่ว่าให้ทำไง ก็สังคมมันเป็นอย่างนี้ คนมันจะอยู่ด้วยกันก็ต้องมีทั้งกฎกติกา แล้วเราก็ต้องสร้างอะไรให้สังคมที่เราอยู่ให้มันดีขึ้นด้วย   The People: ทีมงานเจาะข่าวตื้นเยอะไหม วิญญู: 2-3 คน มีทีมเขียน จอห์นเองก็ช่วยหาข้อมูลด้วยระดับหนึ่ง พี่สาวจอห์น (โรซี่-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์) ก็ยังช่วยเขียนอยู่ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เรามองกัน คุยกันอยู่แล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนคือนัดกินข้าวกันทุกวีคเอนด์ ก็จะคุยกับคุณพ่อ (รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์) คุณแม่ ว่าช่วงนี้กระแสอะไรมา คุณพ่อก็ใส่ไอเดียมา เราก็ใส่มุมมองเราไป พี่สาวก็ใส่มาด้วย แล้วเคาะกันตรงนั้นว่าเราพูดเรื่องนี้กันดีกว่า วันจันทร์เริ่ม research หาข้อมูล เขียนสคริปต์ วันพุธถ่าย ตัดต่อ หาคลิปหาภาพประกอบ ก็เสร็จก่อนวันศุกร์ได้พอดี   The People: SpokeDark.TV เจ้าของเจาะข่าวตื้น เจออะไรมาบ้างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วิญญู: ช่วงแรกไม่ทำเงินเลย จนสมาร์ทโฟนเริ่มมา เริ่มจาก BlackBerry มา iPhone จากนั้นก็ Samsung ซึ่งสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์ทำรุ่นต่าง ๆ ที่จับต้องได้ คนก็เข้าถึงง่ายขึ้น แล้วอยู่กับอินเทอร์เน็ตได้แทบจะทั้งวัน ตรงนั้นเป็นส่วนที่ทำให้เรากลับมาลืมตาอ้าปากได้ จากตอนแรกที่จะเลิกทำแล้วเพราะไม่ไหว ไม่รู้จะทำยังไง จะไปเอาฐานคนดูมาจากไหน คนดูแตะหลักหมื่นก็โอ้โห...สุดยอดแล้ว แต่พอมีสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คนดูเรามากขึ้น ก็แข็งแรงขึ้นมา โชคดีตรงที่เรามีพาร์ทเนอร์ที่ดีด้วย อย่างคุณโมเม (นภัสสร บุรณศิริ) ทำ ‘โมเมพาเพลิน’ มาด้วยกัน มีคุณทราย เจริญปุระ มาถึงช่วงที่เป็น ‘Paloy & The Boys’ จนเขาแยกไปทำ ‘The Driver’ ส่วนทุกวันนี้เรามีพันธมิตรและมีคนร่วมงานที่ทำด้วยกันมาปีกว่า 2 ปีแล้วคือ ป้าตือ (สมบัษร ถิระสาโรช) ก็ต่อยอดไปได้อีกเยอะ ป้าตือเขาน่ารักตรงที่เป็นตัวแทนของคนยุคก่อนที่อ้าแขนรับเทคโนโลยีมาก เขามีความดื้อ แต่ก็รับฟัง เลยทำให้การทำงานอยู่รอดไปได้ และสามารถสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาได้เยอะ   The People: ตอนนี้เจาะข่าวตื้นเป็นรายการที่ทำเงินแล้วหรือยัง วิญญู: เป็นรายการที่ตอบโจทย์ทางจิตใจของ 3 ผู้บริหาร คือ ผม, พ่อหมอ (ณัฐพงศ์ เทียนดี) และพี่สาวผมคือคุณโรซี่ ซึ่งก็ไม่ได้ทำเงินเลย ถ้าไปทำแบบ ‘ตือสนิท’ ของป้าตือ ไปทำ ‘เชื่อชัย’ ก็คงรวยกว่า ซึ่งสองรายการนี้คิวแน่นทุกวัน ลูกค้าเข้าตลอด สัปดาห์หนึ่ง 3-4 ตัว แต่เจาะข่าวตื้นคือเดือนละ 2 ครั้งก็เต็มที่ของเราแล้วจริง ๆ พี่สาวกับพี่เขย (ณัฐพงศ์) รู้แหละว่าผมอัดอั้นหรืออึดอัดหลายอย่างกับสังคมและการเมืองไทย ผมเลยแยกมาทำ ‘หาเรื่อง’ เกี่ยวกับกับสังคมและการเมืองเน้น ๆ เลย ใช้การพูดตรง ๆ โต้ง ๆ ไม่ได้เคลือบด้วย comedy หรือการประชดประชันเสียดสีเหมือนเจาะข่าวตื้นที่มีศิลปะกว่า หาเรื่องจะเป็นสไตล์ผมที่อยากถามอะไรตรง ๆ คุยกันซึ่ง ๆ หน้า เล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย อาจเป็นไอเดียคล้ายกันแต่ออกมาทำเอง ลงทุนเอง แต่ยังอยู่ในเครือ SpokeDark เหมือนตอนทำเจาะข่าวตื้นตอนต้น  

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

  The People: มีรัฐบาลไหนมาขอเป็นสปอนเซอร์ไหม วิญญู: มีฮะ มีทุกยุคทุกสมัยเลย ติดต่อเข้ามาเยอะ จะเป็นยุคคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ยุคคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) รัฐบาลนี้ก็มี เขาอยากมาซื้อ ไอ้เราก็แบบมาซื้อดิ ซื้อได้ แต่พอเราบอกว่า อ้าว จะเล่าเรื่องนี้ไม่ใช่เหรอ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังอย่างนี้ตามสไตล์เรา ท้ายสุดเขาก็ไม่เอา เพราะเราไม่ได้ sugar-coated ให้เขา วิธีการเล่าเรื่องบนออนไลน์เราหลอกคนดูไม่ได้ แล้วบางทีการพูดตรง ๆ เหล่านั้นเขาก็ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ ท้ายสุดก็จากไป (หัวเราะ) หน่วยงานรัฐ กระทรวงนั้น กระทรวงนี้ องค์กรอิสระ ก็ติดต่อมาซื้อโฆษณา เราก็ไม่ได้ปิดกั้นนะ ซื้อได้ ตังค์น่ะเอาอยู่แล้ว แต่แค่ต้องไปด้วยกันกับเนื้อหารายการด้วย ถ้าจะให้เราเชิดชูลืมหูลืมตา โดยไม่พูดถึง fact เลยก็ไม่ได้ ซึ่งท้ายสุดเขาก็ไม่เอา   The People: ชัดเจนขนาดนี้เคยโดนใครข่มขู่บ้างหรือเปล่า วิญญู: ไม่มีหรอกครับ ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาก็มีศิลปะในการเข้าหาแหละ มีชวนไปกินข้าว กินกาแฟ อยากคุยแลกเปลี่ยนความคิด บางทีก็มาในเชิงว่ามาทำงานด้วยกันไหม มาเป็นโฆษกไหม หรือ offer ดึงเราไปอยู่ในเครือเขา ถ้าเราไปทำก็คงได้เยอะแหละ แต่ก็ไม่เอา   The People: แล้วยุคที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งล่ะ? วิญญู: มีศิลปะเหมือนกัน คือไม่มาเอง แต่ส่งเรื่องให้คนอื่นดำเนินการ อย่างส่งจดหมายไปให้ ICT แล้วให้เชิญเราเข้าไปคุยว่าจะทำอะไรต่อ เนื้อหาอะไร ประมาณไหน เต็มที่ก็แค่นั้น ไม่มีคุกคามรุนแรง มีคนพูดลักษณะว่า เฮ้ย จอห์น วิญญู แม่งชอบพูดว่ารัฐบาลนี้แม่งปิดปากประชาชน รัฐบาลนี้แม่งคุกคามประชาชน คุกคามสื่อ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงแล้วทำไมคุณยังพูดได้ทั้งวันทั้งคืนวะ ไอ้เราก็มีความรู้สึกว่า เออ เขาแปลกนะ คนที่พูดพวกนี้แปลว่าถ้าเขาไม่ทำการบ้านเลย ก็คงเป็นคนที่มีอคติจนหน้ามืดตามัว เขาน่าจะรู้ว่าคนอย่างเรามีคน follow เป็นแสน มีคนติดตามเป็นล้านในทุกสื่อที่เรามี อย่างทวิตเตอร์คนตามก็หลายแสนแล้ว ไม่รวมอินสตาแกรม, เฟซบุกแฟนเพจ, ยูทูบ อีก  คือไม่เหมือนคนทั่ว ๆ ไปไง คนอื่นที่เขาไม่มีคน follow เยอะขนาดนั้นก็ถูกคุกคาม หรือนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยก็โดนอุ้ม สื่อบางคนก็โดนจับไปอยู่ในค่าย เพราะฉะนั้นการที่คุณมาบอกผมว่าผมไม่โดน แปลว่าทุกอย่างมีอิสระเสรี มันไม่ใช่ ในยุคคุณทักษิณ (ชินวัตร) เราได้ยินเสมอเรื่องการคุกคามสื่อหรือกดดันสื่อ แต่ผมไม่เคยเห็นอะไรที่รุนแรงขนาดนี้ ยังไม่นับนักเคลื่อนไหวบางคนที่หายตัวไป หรือบางคนที่ตาย แล้วความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเราอยู่ตรงไหน ไม่ได้บอกว่าทหารเป็นคนทำ แต่ทหารเข้ามาเพื่อให้ทุกอย่างสงบสุขไม่ใช่เหรอ   The People: 10 ปีแล้ว เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคม วิญญู: ผมว่าทุกวันนี้เป็นความพีคหลายเรื่องนะ เราไม่เคยเห็นรัฐบาลทหารอยู่ได้นานขนาดนี้ เศรษฐกิจและทุกสิ่งอย่าง ระบบสังคมหรืออะไรต่าง ๆ เละเทะมาก ๆ มองในแง่ดีคือคนเห็น แล้วเรียนรู้ว่าไม่โอเค เราได้เห็นผู้นำที่ไม่รับผิดชอบเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีมาตรา 44 ที่ใช้เพื่อประโยชน์อะไรไม่รู้ แล้วเป็นมาตรา 44 ที่ถูกตั้งคำถาม ขณะเดียวกันก็มีหลายเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำ อย่าง ส.ว. 250 เสียง, การวางยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าเขาไม่อยู่นานขนาดนี้เราอาจไม่เห็นก็ได้ มันเหมือนที่เขาบอกว่า เฮ้ย ประเทศไทยแม่งจะเปลี่ยนได้ต้องเกิดการสูญเสียเปล่าวะ ผมรู้สึกว่าครั้งนี้ก็สูญเสียนะ ไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อ แต่สูญเสียแบบ...กระทบทุกหย่อมหญ้าแน่ ๆ ผมรู้สึกว่ามันสูญเสียโอกาส สูญเสียคุณภาพชีวิตดี ๆ ไปเยอะ มันไม่ใช่เรื่องที่ดีหรอก แต่เป็นโอกาสที่สังคมต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ผมว่าแม้แต่คนที่เคยสนับสนุน หรือทุกวันนี้ยังสนับสนุนรัฐบาลทหาร สนับสนุนการยึดอำนาจ เขาอาจจะแบบ...ไม่ได้นะ ฉันเสียฟอร์มไม่ได้ หรืออาจมีพวกที่ยังไงฉันก็ชอบสนับสนุนอย่างนี้ ลึก ๆ เขาก็รู้ว่ามันไม่โอเค แล้วจริง ๆ ชีวิตเขาก็กระทบ แต่ไม่ได้ไง กูเสียฟอร์มไม่ได้ แล้วเขาก็จะบอกว่า เออ มันไม่ดี แต่มันดีกว่าตอนนั้นแล้วกัน พอถามว่าดีกว่าตอนนั้นยังไง เขาก็บอกว่าอย่างน้อยก็ไม่มีไอ้คนนี้ มันไปเป็นดาวเทียมอยู่นอกประเทศแล้ว พอบอกกลับไปว่าแต่ทุกวันนี้แย่กว่าเดิมอีกนะ เขาก็จะบอกว่า นั่นแหละ เพราะมันยังมีเครือข่ายอยู่ไง เราก็...อะไรวะ (หัวเราะ) เราก็เข้าใจเขานั่นแหละ ท้ายสุดผมว่าจะเป็นคนระดับชั้นไหน คนจากสังคมแบบไหน จะสนใจหรือไม่สนใจการเมือง ก็เรียนรู้หมดแหละครับ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีเลยแหละ   The People: ยุทธศาสตร์ 20 ปีของเจาะข่าวตื้น? วิญญู: ผมอยากให้ไปอยู่บน mainstream media แต่การจะไปอยู่ได้ วันนั้นต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอได้มากกว่านี้ อาจเป็นเจาะข่าวตื้นที่สุภาพขึ้น (หัวเราะ) ณ เวลานั้นผมคงอายุมากขึ้น จะสบถก็อาจสบถยากหน่อย ผมรู้สึกว่าถ้าได้ไปอยู่บน mainstream media หรือเจาะข่าวตื้นกลายเป็น mainstream media ขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสถานี เราเป็นพื้นที่ที่สามารถเสนอข่าวได้อิสระมากขึ้น สม่ำเสมอยิ่งขึ้น ผมว่าก็น่าจะดี คงไม่หยุดทำ ถ้าจะให้มองไป 20 ปี ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่มันเป็นเป้าหมายของเราตั้งนานแล้วว่าอยากเข้าถึงกลุ่มคนให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ขอบคุณรัฐบาลนี้นะ เพราะทำให้คนย้อนดูอะไรเยอะ แล้วฐานแฟนคนดูใหม่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะในช่วงที่หลายคนหรือหลายสื่อไม่ได้พูด เราพูด แล้วมีคนจำนวนมากที่อยากรู้ เพราะฉะนั้นเราอาจมองทีละ 5 ปี ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นอะไรที่ตลกมาก  

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

  The People: รับมืออย่างไรเวลาคุยกับคนที่เห็นไม่ตรงกัน วิญญู: มีคนมองว่าเราฆ่า ซึ่งเราไม่ได้มีความคิดแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองไหนหรือแขกคนไหนก็ตาม เราเชิญมาเพราะอยากรู้จริง ๆ ว่าคุณคิดเห็นยังไงกับเหตุการณ์นี้ เล่าให้ฟังหน่อยว่ามุมคุณคืออะไร บางคนก็ย้อนถามกลับ เราก็โอเค ถามย้อนมาเราก็มีข้อมูลให้ว่าทำไมเราเชื่ออย่างนั้น กลายเป็นว่าบางคนมองว่า เฮ้ย ฆ่าเขารึเปล่าวะ แต่บางคนก็บอกว่าเข้าใจ ดูไม่ดุดัน มีนะที่เวลาอยู่บ้านแล้วเราได้ยินบางคนพูดแบบนั้นแบบนี้ หรือประโยคที่เขาพูดจนเราคิดว่ายูแม่งใช้อะไรคิดวะ ทำไมยูคิดอย่างนั้นวะ แต่ถึงจุดหนึ่ง ถ้าผมรู้ว่าต้องสัมภาษณ์แขกคนนี้ ก็ต้องทำการบ้านไว้พอสมควร ดูว่าในอดีตเขาพูดอะไร แล้วเอาหลักการตรงนั้นตรงนี้มาเขียน ติ๊ก ๆ ไว้ว่าสิ่งที่เราคิดอยู่บนหลักการแบบนี้ พอนั่งรถมาก็จะค่อย ๆ เบาตัวเองลง อย่างพี่เกลือ (กิตติ เชี่ยววงศ์กุล) เราก็สัมภาษณ์ คุณมีสิทธิ์ที่จะเชื่ออะไรของคุณก็ได้ ไม่เป็นไร เพียงแต่เราไม่เข้าใจ เพราะเราก็ยึดกับหลักการของเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จอห์น...มึงจงยึดสถานะเหมือนคนไม่รู้ แล้วไปถามเขาดีกว่าว่ามันคืออะไรวะพี่ ผมแม่งไม่รู้จริง ๆ พี่ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่าในมุมพี่แม่งคืออะไรวะ หรือนักการเมืองบางพรรคที่สนับสนุนคนนั้นคนนี้ ซึ่งผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าทำไมไปสนับสนุน ขณะที่เรารู้สึกว่ามันขัดกับหลักการหรือตรรกะ แล้วบางทีเขาสวนกลับมา เราก็บอกว่าผมคิดอย่างนี้เพราะอย่างนี้ครับ ปึ้ง ๆ ๆ คนก็อาจมองว่า อูย...ลากเขามาตบกลางสี่แยก แต่เราก็จะมีพวกรอยยิ้มที่แบบ อะ...จริงเหรอ คิดอย่างนี้จริง ๆ เหรอ จะไม่ใช่ขึงขังขนาด ไม่! ทำไมถึงคิดอย่างนี้ ถ้าก้าวเข้ามาพร้อมความรู้สึกว่าฉันถูก ผมว่ามันจะ aggressive ทันที แต่ถ้าก้าวเข้ามาด้วยความคิดที่ว่าผมไม่รู้ แล้วอยากรู้จริง ๆ ว่าคุณจะตอบตรงประเด็นหรือเปล่า อย่างน้อยผมก็ได้ฟังคุณตอบต่อหน้าผมแล้วล่ะ ผมจะเชื่อหรือไม่เชื่อคุณ วัดกันวินาทีนั้นก็ได้   The People: แต่บางคนก็ตั้งแง่กับคุณไว้ก่อน? วิญญู: นั่นแหละ เลยเป็นเหตุที่ว่าผมโชคดีมากที่พี่เกลือมา เพราะผมเชิญเยอะมากจริง ๆ คนที่ขึ้นเวที กปปส. ผมอยากคุยกับเขาว่ายังไง ไม่ได้มีความคิดจะลากใครมาฆ่า เฮ้ย เรื่องมันผ่านมาหลายปีแล้ว แล้วเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราควรมาคุยกัน ขณะเดียวกันก็พยายามเชิญโฆษกรัฐบาล เชิญโฆษก คสช. เชิญนายกฯ แต่ก็ไม่มา ไอ้เราก็แค่ต้องการให้คุณมาตอบคำถามที่ผมรวบรวมมาใน 4-5 ปีหน่อยเท่านั้น ผมฆ่าคุณกลางสี่แยกไม่ได้หรอก เพราะคุณก็มีคำตอบที่คุณสามารถตอบได้นี่ ผมไม่ได้เอาคุณมา humiliate สร้างความอับอายให้คุณอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นคำตอบที่มีเหตุมีผล มันโอเคอยู่แล้ว แต่จะให้ทำยังไงถ้าบางคำตอบของคุณ เรารู้อยู่แล้วว่าฟังไม่ขึ้น แต่ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าคุณเชื่ออย่างนั้นจริงหรือเปล่า   The People: มีฝ่ายกฎหมายด้วย ตั้งใจตั้งขึ้นมาเลยหรือเปล่า วิญญู: ไม่ได้ถึงขนาดตั้งขึ้นมาครับ แต่เรามีที่ปรึกษาที่สามารถคุยแล้วปรึกษาได้เสมอ อย่างเรื่องนี้พูดได้หรือเปล่า มีบางครั้งที่จอห์นก็พลาด แต่เป็นในรายการหาเรื่อง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรียนรู้ว่าต้องระวังการนำเสนอตรงไหนบ้าง               The People: จอห์น วิญญู อยากคุยกับใครอีก วิญญู: นายกฯ ไง ลุงตู่ไง ผมเชิญหลายรอบแล้ว ผมส่งจดหมายเชิญตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. ส่งข้อความในมือถือไปเชิญ จนมาเป็นนายกฯ ยึดมา ปีที่แล้วส่งจดหมายไปเชิญอีกก็ไม่มา แท็กไปในทวิตเตอร์ 4-5 รอบก็ไม่มา แท็กในอินสตาแกรมก็ไม่มา เชิญผ่านโฆษก ผ่านทางนั้นทางนี้ ก็ไม่มาเลย ปกติผมสัมภาษณ์ใคร ผมไม่ให้คำถาม แต่ถ้าผมได้สัมภาษณ์ก็พร้อมร่างคำถามออกมา แค่ 5 ข้อก็ได้ ให้คำถามไปก่อนก็ได้ แล้วคุยประเด็นพวกนั้นพอ ท่านไม่โอเคคำถามไหนตัดออกได้ คือพร้อมหมดเลย ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวก็ได้ ท่านอยู่ไหนผมไปสัมภาษณ์เลย ผมพร้อมทุกข้อแม้และทุกอย่างจริง ๆ เอาเป็นกติกาท่านเองก็ได้ (หัวเราะ) หรือมีแผงคนอยู่ด้านหลังช่วยตอบคำถามท่านก็ได้ 250 คนไหม  

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

  The People: คุณให้ความสำคัญกับตรรกะและเหตุผลมาก แล้วรู้สึกไหมว่าหลายปีที่ผ่านมา เหมือนเราใช้ชีวิตอยู่ใน ‘สังคมอุดมความรู้สึก’? วิญญู: เรื่องง่ายก็มองให้ง่ายได้ แล้วมันก็ทำได้ อย่างเลือกตั้ง พวกคุณไม่โอเคกับเจ๊ปูเรื่องนิรโทษกรรมสุดซอย งั้นก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ทำไมจะต้องบอกว่า อ๋อ ไม่ได้ ต้องให้คนเหล่านี้ออกไป ซึ่งแบบ...เขาจะออกไปไหนวะ คือไม่ได้เข้าข้าง แต่ต้องรับฟังเสียงส่วนรวมรึเปล่าวะ ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มหนึ่งทำแบบกูรับไม่ได้ กูไม่ไว้ใจ กูไม่สบายใจ นี่กูก็ไม่สบายใจเหมือนกันที่กูไม่ได้ใช้สิทธิ์ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ มันมี แต่ต้องเป็นไปตามหลักการ แล้วต้อง based on ตรรกะที่เป็นสากลด้วย ไม่ใช่ based on emotion เวลาเจอปัญหาอะไรก็จะบอกว่าชาวต่างชาติไม่เข้าใจคนไทยหรอก หรือคนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจความรู้สึกเราหรอก มันไม่ได้วัดกันที่ความรู้สึกหรือเปล่าวะ เวลาขึ้นศาลเขาวัดกันที่ความรู้สึกตรงไหน เขาวัดกันที่กติกาโว้ย ไม่ได้วัดกันที่แบบรู้สึกแย่ รู้สึกไม่โอเค คือมีหลายเรื่องที่ผมไม่โอเค แต่กฎก็คือกฎ แต่พวกคุณดันไม่เคารพกติกา ผมก็ตราหน้าคุณได้เหมือนกันว่าคุณเป็นคนไม่เคารพกติกา ก็แค่นั้นเอง   The People: มองว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นความหวังใหม่หรือเปล่า วิญญู: ผมว่ามองกันด้วยเบสิกง่าย ๆ ดีกว่า อะไรที่สกปรกมาตั้งแต่แรก จะนำมาซึ่งความโปร่งใส หรือความสะอาด หรือความแฟร์ มันย่อมยากอยู่แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าคนที่ร่างกติกาเหล่านี้ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน แค่เริ่มมาจากการเป็นคนร่างกฎหมายจากกลุ่มที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มคนที่ยึดอำนาจมามันก็ไม่แฟร์อยู่แล้ว กติกาอะไรต่าง ๆ ที่เขาวางเป็นขั้นตอน ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลย ส.ว. 250 เสียง ก็ไม่ใช่ตัวแทนประชาชนอีก ทุกอย่างเละเทะไปหมด ผมมองว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่น่าอนาถใจในระดับหนึ่งด้วย น่าอับอายประชาคมโลก แล้วก็น่าสงสารชาวไทยที่ต้องมาอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่กูก็ต้องเล่นตามกติกาสกปรก ๆ แบบนี้ จากความคิดหรือกลุ่มคนที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติมาก แต่ว่าใช้กฎกติกาที่น่ารังเกียจที่สุด แล้วยังอ้างความเป็นตัวแทนประชาชน หรือเป็นคนที่ปกปักรักษาประเทศชาตินี้ไว้ เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ๆ ที่คนไทยก็ทำอะไรไม่ได้ด้วย ถ้าทำก็โดนใช้กระบวนการทางกฎหมายข่มขู่ หรืออย่างคุณเสรีพิศุทธ์ (เตมียเวส) หรือคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) ที่โดนทหารตาม แม้จะบอกว่ามาดูแลความปลอดภัยหรืออะไรก็ตาม มีความจำเป็นตรงไหนที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้เขา แล้วถามจริง 5 ปีแล้ว สังคมดีขึ้นไหม สงบไหม ให้อำนาจคนกลุ่มเดียวมาบริหารจัดการ มันไม่ดีกว่าเหรอถ้าคุณให้ตัวแทนในพื้นที่ของคุณอย่างนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามารับฟังปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไข   The People: เลือกตั้งครั้งนี้ต้องเลือกเพื่อเอาชนะ? วิญญู: เอาชนะได้ไหม ผมว่าได้อยู่แล้วแหละ เพียงแต่อยู่ที่คนตื่นตัวแล้วคนรู้ตัวกันมากไหม อันนั้นประเด็นหนึ่ง ส่วนประเด็นสองคือแม้จะตื่นตัว แต่บางคนก็จะ เออ กูจำยอมแล้ว ทำอะไรก็ทำเหอะ ซึ่งผมเข้าใจเพราะหลายคนก็คิดว่าจะให้ทำยังไง เงินในกระเป๋าก็น้อยลงทุกที ลูกก็ต้องเลี้ยง เงินก็ต้องส่งให้ที่บ้าน คือแบบเศรษฐกิจดี๊ดี เข้ามา 5 ปีนี่ก็แย่ลงไปเยอะ ความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้น คนรายได้น้อยก็น้อยลงไปอีก แต่ก็มีกลุ่มประชาชนที่ตื่นตัวเรื่องนี้ แล้วพยายาม fight เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเขาจะได้รับผลกระทบพอสมควรในเชิงเศรษฐกิจ แล้วก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แบบ โอ๊ย แค่จะเอาตัวเองให้รอดก็ลำบากมากแล้ว ฉันขอไม่ยุ่งอะไรกับมันมากแล้วกัน คืออาจไปเลือกตั้ง แต่ถ้าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการต่อสู้หรือเรียกร้องอะไรก็อาจยากหน่อย เพราะต้องทำมาหากิน ซึ่งก็เข้าใจตรงจุดนั้นนะครับ   The People: social media, information และ disruption กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองยุคปัจจุบัน? วิญญู: ยุคสมัยเราอาจดีกว่าแต่ก่อนหน่อยตรงที่มีโซเชียลมีเดีย เรามีเสียง คนที่อยู่ต่างจังหวัดหรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาแสดงตนได้ เขาก็มีพื้นที่ที่จะส่งเสียงของเขาให้ดังขึ้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ก่อนเราอาจวัดเสียงกันที่การเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สะท้อนความต้องการของประชาชน แต่ตอนนี้ด้วยยุคสมัยที่เป็นดิจิทัล ทุกคนสามารถแสดงมุมมองหรือความต้องการออกมาได้รวดเร็ว แม้ว่าอาจเป็นแค่ข้อความหรือเป็นการทำโพลล์ ผมว่าทั่วโลกเห็นถึงผลกระทบของสิ่งเหล่านี้มาสักพักหนึ่งแล้ว เหมือนตอนผมทำอินเทอร์เน็ต ทีวี ในต่างประเทศเขาทำมาตั้งนานแล้ว แต่เราเพิ่งมาเริ่มจับ จับมา 3-4 ปีกว่าจะเริ่มเป็นที่รู้จัก จากนั้นพอจุดกระแสติดปุ๊บคนก็ทำเต็มไปหมด ดังนั้นคนยุคเดิม ๆ กระทบกระเทือนแน่นอน แม้กระทั่งสื่อยุคปัจจุบันที่เป็นดิจิทัล ทีวี ที่มีรากฐานจากช่องแอนาล็อกก็ต้องปรับตัว แต่ก็ยังได้รับผลกระทบ เราเห็นแล้วจากหลาย ๆ ประเทศที่มีจุดเริ่มจากโซเชียลมีเดีย นำสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมว่าลึก ๆ ผู้มีอำนาจในบ้านเราเขาก็รู้ ถึงต้องจัดตั้งกองกำลังไซเบอร์ แล้วต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดู เหมือนที่ผมคุยกับพี่เล็ก-วาสนา (นาน่วม) ที่บอกว่าต้องมีฝ่ายเสนาธิการมาวางยุทธศาสตร์รับมือคนออนไลน์ ซึ่งเราก็ โอ้โห...ต้องวางแผนการรบกับประชาชนตัวเองแม้กระทั่งในออนไลน์เนอะ สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าขนาดหน่วยงานความมั่นคงที่มีงบประมาณเยอะแยะมากมาย แล้วก็ขึงขังที่สุด ก็ยังมีความกังวลและกลัวที่จะควบคุมประชาชนไม่ได้ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะคุณมาในวิธีการที่ผิด คนที่เริ่มอะไรมาผิด ๆ ย่อมมีความหวาดระแวงตลอดเวลาอยู่แล้ว   The People: คิดว่าเขาจะควบคุมได้ไหม วิญญู: มองจากสถิติคนใช้งาน อย่างคนรุ่นใหม่นี่แหละที่เติบโตในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเป็นคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ใช้อินเทอร์เน็ตจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เพราะฉะนั้นมีแต่จะเพิ่ม ขณะเดียวกันคนที่กุมอำนาจแบบเดิม ๆ อยู่ ก็เป็นคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ แล้วก็พยายามควบคุมมันในเวลาที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ถ้าอยากควบคุมคงต้องใช้โมเดลของจีนตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มทำ แล้วจะมาคุมคนไทยตอนนี้เขาก็ไม่ยอมแล้ว เน็ตช้านิดช้าหน่อย โอ้โห... เฟซบุกหายไปแค่ชั่วโมงเดียว คนแม่งก็อ๊าก... เพราะกระทบหมด ไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็น แต่กระทบธุรกิจด้วย  

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

  The People: เราเห็นวาทกรรม “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” อีกแล้ว? วิญญู: เป็นวิธีหนึ่งในการหาเสียงก็เท่านั้นเอง ผมว่าประชาชนรู้ว่านี่คือวาทกรรม เป็นมุกเดิม ๆ ที่ใช้มาแล้ว ถ้าจะใช้ซ้ำอีกคงไม่เวิร์ก แต่ถ้าจะเวิร์กก็คงกับคนที่อาจไม่รับรู้ไม่รับฟังอะไรทั้งสิ้น ผมว่าคนที่มีสติสัมปชัญญะและมีสามัญสำนึกในการคิดวิเคราะห์อะไรเบื้องต้น ไม่ต้องเรียนสูงหรืออะไรหรอก คนทั่ว ๆ ไปก็น่าจะรู้ว่าตอนนั้นเขาพูดอย่างไร แล้วทุกวันนี้เขาเป็นอย่างไร เขาเคยสัญญาอะไรไว้ ทุกวันนี้เขาทำไหม เขาเคยสาบาน แล้วทุกวันนี้เขาตระบัดสัตย์หรือเปล่า ถ้าคุณยังใช้มุกเดิมคือมองว่าประชาชนเป็นเบี้ย มองประชาชนว่าโง่ หลอกได้ ก็คิดต่อไปก็ได้ แต่ทุกวันนี้ประชาชนฉลาดขึ้นแล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อนที่โดนปิดกั้น แล้วก็ไม่ใช่ความผิดเขาด้วยที่เขาไม่รู้ จนมาถึงยุค disruption ที่ disrupt ในทุก ๆ ด้าน ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จากสมาร์ทโฟน มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ฟรี แค่นี้ก็แบบ โอ้โห กระทบกระเทือนสนั่นหวั่นไหวสังคมโลกขนาดไหนแล้ว               The People: เสพข่าวเครียดถึงขนาดหาจิตแพทย์? วิญญู: จริง หามาได้เกือบ 2 ปีแล้ว   The People: การเสพข่าวทรงอิทธิพลกับตัวเราขนาดไหน วิญญู: เล่าไปเล่ามาก็จะแบบ...ไม่เห็นแสงสว่าง แล้วบางทีเรารู้สึกว่ายิ่งหนัก เพราะสิ่งที่พยายามพูด พยายามเล่า คือเราพยายามบอกว่า เฮ้ย มันเกี่ยวข้องกับพวกคุณนะ ช่วยกันพูดหน่อย คือกูพูดอยู่คนเดียวแล้วกูก็เป็นเป้า ลูกกูก็มี เมียก็ทำงาน สิ่งที่พยายามทำอยู่ก็ไม่ได้ตังค์ แต่กูอยากให้มันดีขึ้น เรายิ่งเฟลมากตรงคนใกล้ตัวหลายคนที่เป็นคนมีชื่อเสียง มีอิทธิพลทางความคิด จะดูเซฟตัวเองมาก หลาย ๆ คนในทุกสื่อแหละ ทั้งทวิตเตอร์, เฟซบุก, อินสตาแกรม เราจะรู้สึกว่าช่วย make a difference หน่อยได้หรือเปล่าวะ คือเสียงคุณแม่งมัน... แล้วยิ่งเราเห็นคนที่เขาไม่มีเสียง หรือไม่ได้มีคนติดตามเยอะขนาดนั้นโดนจับ โดนคุกคาม โดนกระทำโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการเล่นงาน เราก็ยิ่งเฟล เครียด เมื่อก่อน fight กันเหลือเกินกับสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ด้วยซ้ำ โอ้โห กูต้องสู้ เพราะกูรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แล้วก็ขึ้นเวทีอะไรกันได้ หรือโชว์เก๋าในโซเชียลมีเดีย แล้วความ unfair ความสกปรกที่อยู่ตรงหน้าล่ะ เห็นกันอยู่ทุกวันก็ไม่พูด เราเลยยิ่งเครียด แล้วผมเป็นคนโยงเก่ง ติดนิสัยพ่อไง เรื่องนี้เกี่ยวกับอันนี้ เชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ด้านการเมืองจะเป็นอย่างนี้ ทุกอย่างโยงกันหมด เพราะสังคมคือเครือข่ายที่ยิ่งใหญ่เครือข่ายหนึ่ง แล้วเราก็จะเครียดมากว่าทำไมเราแก้ไม่ได้ หรือเครียดมากว่าทำไมเราถึงไม่สามารถมีอิทธิพลในการทำให้คนตื่นตัวได้มากกว่านี้ นี่ทำมา 10 ปีแล้ว แล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน คนยังเฮอยู่เลยว่ามีการยึดอำนาจ ตอนนั้นที่หายไป 2 เดือนคือผมช็อคแดกอยู่ว่าไอ้เหี้ย คนแม่งโอเค คนบางคนที่เป็นเฟซของประชาธิปไตยแม่งโอเคกับการยึดอำนาจ   The People: กังวลไหมที่ลูกตัวเองต้องเติบโตในสังคมแบบนี้ วิญญู: กังวลครับ นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงยังทำสิ่งนี้อยู่ เพราะลูกเราโชคดีกว่าหลายคนในประเทศนี้ ลูกเรามีพ่อซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในระดับหนึ่ง ก็จะได้รับความเกรงใจโดยที่เราไม่ได้ขอ เราไม่ได้เรียกร้องนะ แต่มันมาจากสิ่งที่เราได้เสียสละไปด้วยแหละ ขณะเดียวกัน แม่เขาก็ทำงานหาเงินได้ เผลอ ๆ จะมากกว่าพ่อด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเขาก็มีอนาคตที่ดีคือได้รับการศึกษาที่ดี แต่ก็มีคนในสังคมเยอะมากที่เขาไม่มีสิทธิ์เลือก ลูกเขาเรียนได้แค่นี้ ต้องเรียนโรงเรียนในอำเภอนี้เพราะใกล้สุดแล้ว จะให้เดินทางไปไกลก็ลำบาก ไม่ปลอดภัยอีก แล้วเรื่องสาธารณสุข เราทำประกันสุขภาพให้ลูกตั้งแต่เด็ก แต่ก็มีเด็กจำนวนเยอะมากที่ต้องไปอนามัยในตำบลหรืออำเภอ เรารู้สึกว่า เออ ต้องทำอะไรให้คนอื่นบ้างรึเปล่าวะ คือเป็นสิ่งที่ผมพูดเสมอว่า เฮ้ย พี่ ๆ ทั้งหลาย หรือคนรุ่นเดียวกันที่ทำงานวงการเหมือนกัน เราได้ประโยชน์จากประชาชนเยอะนะเว้ย คือใช่ สูญเสียความเป็นส่วนตัวของตัวเองไปเยอะมาก เพราะมาเป็นคนในวงการบันเทิง เป็นคนของประชาชน ผมไม่ได้บอกว่าต้องเสียสละหน้าที่การงานเพื่อคนอื่นทั้งหมด จนไม่มีอนาคตทางการงาน แต่เราจะไม่พูดถึงปัญหาทั้งหมดก็ไม่ได้ เราต้องมานั่งคุยกันต่อนะเว้ยว่าคำถามของพวกเราหรือเสียงของพวกเราแม่งส่งผลอะไรให้สังคมเปลี่ยนแปลงบ้าง คือพวกคุณก็ทำได้เหมือนกัน แล้วพวกคุณควรจะทำนะ พวกคุณมีเสียงดังกว่าคนอื่น แล้วคุณก็ได้เสียงเหล่านี้มาจากการเป็นคนของประชาชน ก็ช่วยทำอะไรให้ประชาชนหน่อยสิ ไม่ใช่แค่ อ๋อ กูเสียสละชื่อเสียงไปแล้วไง เสียสละความเป็นส่วนตัวกูแล้วไง คือมันต้องส่งไปส่งมา ต้องมอบให้กันบ้าง คือเราเริ่มที่ตัวเองก่อน แล้วก็พยายามไปจิ้ม ๆ บอกคนอื่นอยู่เรื่อย จนบางทีเขารำคาญผมบ้างแล้ว ผมว่านะ  

สัมภาษณ์ จอห์น วิญญู กับความเผ็ดร้อนทางการเมืองตลอด 10 ปีของ ‘เจาะข่าวตื้น’

            The People: โดนสาดมาทุกสี แต่อุดมการณ์ก็ยังยึดหลักประชาธิปไตย? วิญญู: ก็มันง่ายสุดแล้ว หมายความว่าง่ายสุดในเชิงการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ มันแฟร์ มีหลักการทางตัวเลขอะไรทุกอย่าง แต่เผด็จการก็จะมีอีกว่าทำไมต้องคนนี้ ทำไมเขาถึงมาบงการชีวิตเราได้ อ๋อ เพราะเขาสอบได้ที่ 1 แล้วที่ 1 ด้านไหนล่ะ แต่งตัวเรียบร้อยเหรอ วิดพื้นได้เยอะอย่างนี้เหรอ แล้วเกี่ยวอะไรกับการบริหารประเทศ แล้วมันวัดยังไงว่าคุณเป็นคนดี แล้วการวัดว่าคุณเป็นคนดี มันวัดกันที่ความรู้สึกเหรอ หรือจริง ๆ ต้องวัดกันที่ผลงานวะ แล้วจะวัดกันได้ต้องมีคนมาตรวจสอบมั้ย ประเมินงานของคุณผ่านการเลือกตั้งรึเปล่าวะ แต่กลายเป็นว่ามึงเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วก็เคลมว่าตัวเองเก่ง เคลมว่าตัวเองรักชาติ ซึ่งก็ไม่รู้จะนับตรงไหน ถามว่าชาติคืออะไรไม่รู้จะตอบได้หรือเปล่า แต่เขาก็เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตเราขนาดนี้ ผมเลยรู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว ประชาธิปไตยแม่งแฟร์สุดรึเปล่าวะ มันวัดได้ง่ายสุดแล้ว มันไม่ได้เป็นระบบที่ดีที่สุดหรอก มีอะไร perfect บ้าง ถามจริง? มันไม่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเอาอะไรที่วัดได้ ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ บางคนถามผมว่า เฮ้ย คุณนับถือศาสนาอะไรรึเปล่าวะ คือพ่อผมเป็นพุทธ แม่ผมเป็นคริสต์ แล้วคนใกล้ตัวผมก็มีที่เป็นมุสลิม ผมมีโอกาสใกล้ชิดกับทุกศาสนา ซึ่งบางคนก็น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาใช้ แต่บางทีก็ไม่ใช้หลักกาลามสูตรเลย ฟังดูตลกดีเหมือนกัน แล้วก็จะมีคนประเภทนี้แหละที่บอกว่าคนดีต้องเป็นอย่างนี้ แต่ถามว่าวัดกันยังไงก็ตอบไม่ได้หรือใช้ความรู้สึกวัดอีกแล้ว ถ้าสังคมแม่งอยู่กันด้วยการใช้ความรู้สึก ผมว่าก็เละ แล้วมันก็เละอย่างทุกวันนี้ล่ะครับ   The People: เยียวยาตัวเองจากความเครียดอย่างไร วิญญู: รู้ว่าเครียดก็พบแพทย์ครับ (หัวเราะ) การเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจมองว่า เฮ้ย มึงแม่งอ่อนแอว่ะ หรือมึงแม่งแบบนู่นนี่ แต่ผมว่าไม่ใช่หรอก มันเกี่ยวกับเคมีในสมอง บางทีก็ต้องการคำแนะนำจากคุณหมอว่าเราจะดีลกับเรื่องพวกนี้ยังไง เปลี่ยนหมอแล้วหลายท่านนะ เพราะบางคนก็คลิก บางคนก็ไม่คลิก จนมาเจอคนที่คลิก เขาก็จะรู้ว่าปัญหาของเราคืออะไร เราก็ดีขึ้น ขณะเดียวกัน บางทีผมก็ไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่หรอกที่เอะอะอะไรก็มองโลกในแง่บวก คือผมพยายามไปให้ถึงโลกที่มันสมเหตุสมผล ผมคิดว่าผมเริ่มปรับตัวเองให้อยู่ในโลกนั้นมากยิ่งขึ้น หรืออาจไม่ได้ปรับไปอยู่โลกนั้นมากขึ้นหรอก เป็นการปรับตัวเองให้มองเห็นโลกที่มันมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นมากกว่า   The People: นิตยสาร TIME เคยยกให้คุณเป็น ผู้นำคนรุ่นใหม่ด้วย? วิญญู: อ๋อ ใช่ครับ แต่ตอนนี้ TIME คงแบบว่าไอ้คนนี้มันอยู่ไหนแล้ววะเนี่ย (หัวเราะ)   The People: มองเห็นความหวังของการเมืองในมือคนรุ่นใหม่ไหม วิญญู: เห็นครับ ผมชอบความตรงไปตรงมาของเขา ผมว่าสังคมไทยขาดสิ่งนี้มาตั้งนานแล้ว ความตรงไปตรงมา เพราะบางทีมีความเกรงใจเหลือเกิน มีเรื่องความอาวุโส แต่มองในประวัติศาสตร์ก็มีเยอะที่ความอาวุโสไม่ได้แสดงให้เห็นว่าคุณรู้ดีที่สุดใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นผมว่าคนรุ่นใหม่เขารู้ แล้วมีความกล้ามากยิ่งขึ้นที่จะส่งเสียง แล้วก็ไม่เป็นไรถ้าผู้ใหญ่บอกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ถูก เขาก็กล้าที่จะถกเถียงว่า อ้าว ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ใช่เถียงแบบใช้อารมณ์นะ แต่เถียงแบบเอาข้อมูลมาสู้กันสิ เราจะเห็นเยอะ ผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่มีตรรกะ ไม่มีเหตุผล แล้วใช้อารมณ์อย่างเดียว เขาก็กลายเป็นตัวตลกของสังคม แม้ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ เป็นหัวหน้าพรรค แม้ว่าจะมีตำแหน่งเคยเป็น ส.ว. หรืออะไรก็ตาม แล้วจะมีคนลักษณะอย่างนี้ที่กำลังบริหารจัดการประเทศนี้อยู่ แล้วเขาก็จะกลายเป็นตัวตลก กึ่ง ๆ น่าสงสาร เพราะเขาไม่รับการเปลี่ยนแปลง และเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมว่าคนรุ่นใหม่ก็มองเห็นด้วยครับ คนพวกนี้น่าสงสารเนอะ แต่อีกด้านก็ตลกที่จะมาวางอนาคตกูเนี่ย แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโลกปัจจุบันและอนาคตเลย แล้วกูยังต้องขออนุญาตนู่นนั่นนี่อีกเวลากูจะทำอะไร ตายๆๆๆ แค่นี้เขาก็มีความอยากจะต่อต้านแล้วครับ แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของเขาที่อยากจะต่อต้าน ก็มันอนาคตของเขา จริงไหม