All Of Us Are Dead: มัธยมซอมบี้ เพราะบูลลี่ “พวกเราเลยต้องตายกันหมด”

All Of Us Are Dead: มัธยมซอมบี้ เพราะบูลลี่ “พวกเราเลยต้องตายกันหมด”
มัธยมซอมบี้ เพราะบูลลี่ “พวกเราเลยต้องตายกันหมด” และประวัติซอมบี้จากเทพเจ้า สู่ภาพยนตร์ เว็บตูน (Webtoon) - แพลตฟอร์มของนิยายภาพสัญชาติเกาหลีใต้หรือ ‘มังฮวา’ (Manhwa) ถือว่าเป็นคลังวัตถุดิบขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ มีการดัดแปลงเว็บตูนหลายเรื่องให้กลายเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ทางโทรทัศน์ ละครเวที เกมคอมพิวเตอร์ และหนึ่งในเว็บตูนเรื่องล่าสุดที่ถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ก็โด่งดังถึงขนาดได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ใน 25 ประเทศในเวลาเพียง 1 วันหลังออกฉาย และนับเป็นซีรีส์เรื่องที่ 4 ที่ได้รับความนิยมในระดับนี้  แต่ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องราวของเว็บตูนเบื้องต้นกันสักหน่อยก่อนจะไปเปิดประตูโรงเรียนที่เต็มไปด้วย ‘ซอมบี้’ กัน เว็บตูนคือแพลตฟอร์มของนิยายภาพที่ถูกออกแบบไว้ให้เหมาะสำหรับการอ่านบนคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนามาจากเดิมก็คือการสแกนการ์ตูนเล่มแล้วแปลงให้เป็นไฟล์ดิจิทัล จากนั้นจึงเริ่มมีการสร้างคอนเทนต์มังฮวาสำหรับเผยแพร่ในเว็บเพจโดยตรงซึ่งมีลักษณะเหมือนการเปิดหน้าหนังสือตามปกติ  จนถึงปี 2004 ก็มีการพัฒนารูปแบบให้อ่านบนสมาร์ทโฟนด้วยวิธีการอ่านแบบเลื่อนจากบนลงล่างซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน  เว็บตูนเริ่มเป็นที่รู้จักนอกเกาหลีใต้ในปี 2014 และเติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องด้วยการอนุญาตให้มีการแปลเว็บตูนให้เป็นภาษาท้องถิ่น รวมถึงการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถอัพโหลดเว็บตูนเพื่อเผยแพร่ผลงานของตน สำหรับในประเทศไทย เว็บตูนเริ่มเข้ามาเปิดตลาดแก่นักอ่านการ์ตูนในปลายปี 2014 ซึ่งถือเป็นประเทศกลุ่มแรกนอกเกาหลีใต้ที่ได้ทำความรู้จักกับเว็บตูน สำหรับเว็บตูนที่เรากำลังจะพูดถึงกันนับเป็นมังฮวาเรื่องแรก ๆ ที่ถูกเผยแพร่ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดย จู ดอง-กึน ในชื่อเรื่องที่น่าฉงนว่า ‘ตอนนี้...โรงเรียนของเรา’ (Now At Our School) เว็บตูนเรื่องนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2009 และจบลงในปี 2011 รวมทั้งสิ้น 131 ตอน และภายหลังมีการจัดพิมพ์เป็นลักษณะรูปเล่มจำนวน 5 เล่ม แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องงานภาพที่ทำให้เกิดความสับสนในตัวละคร ฉากหลังที่ดูจืดชืดและไม่ตื่นตาตื่นใจ เนื้อเรื่องในช่วงแรกที่ค่อนข้างเนิบนาบ แต่เว็บตูนเรื่องนี้กลับมีความโดดเด่นในเรื่องการผูกปมเรื่องราว และน่าตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถือเป็นหนึ่งในเว็บตูนระดับตำนานเรื่องหนึ่ง จนในที่สุดหลังจาก ‘ตอนนี้...โรงเรียนของเรา’ จบลงเกือบสิบปี ในปี 2020 มีการประกาศการดัดแปลงเว็บตูนเรื่องนี้เพื่อเผยแพร่เป็นซีรีส์โดยผู้กำกับ ‘อี แจ-คยู’ โดยใช้เค้าโครงเรื่องจากเว็บตูน แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘All Of Us Are Dead’ และเผยแพร่ในชื่อภาษาไทยว่า ‘มัธยมซอมบี้’ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการเอาชีวิตรอดของเหล่านักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งจากเพื่อน พี่ และ น้อง ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน เนื่องด้วยเพราะว่า เพื่อน พี่ และน้อง ที่ว่านั้นได้กลายเป็น ‘ซอมบี้’ ซอมบี้ จากเทพเจ้าสู่ของขลังเดินได้ ซอมบี้ (zombie) มีรากศัพท์มาจากภาษาคองโกคือ nzambi (เทพเจ้า) และ zumbi (ของขลัง) และยังมีคำที่ออกเสียงใกล้เคียงกันอีกหลายคำที่โดยมากมีความหมายเกี่ยวกับวิญญาณ ในแอฟริกาตะวันตก ซอมบี้คือชื่อของเทพเจ้าที่มีรูปลักษณ์เป็นงู บุคคลที่ใช้คำนี้ในภาษาอังกฤษเป็นคนแรกคือ ‘โธมัส ลินด์ลีย์’ (Thomas Lindley) โดยปรากฏใน ‘เรื่องเล่าการเดินทางสู่บราซิล’ (Narrative of a Voyage to Brazil) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1805 แต่คำว่าซอมบี้นี้เป็นที่รู้จักกันจริง ๆ จากการที่ ‘โรเบิร์ท เซาท์เดย์’ (Robert Southey) ตีพิมพ์ชุดความเรียงที่ชื่อว่า ‘ประวัติศาสตร์บราซิล’ (History of Brazil) ซึ่งตีพิมพ์ต่อเนื่องในปี 1810-1819 โดยทั้งลินด์ลีย์และเซาท์เดย์ระบุว่า ‘ซอมบี้’ คือตำแหน่งของผู้นำเผ่าพื้นเมือง โดยมีความหมายว่าเป็นผู้ที่มีความยุติธรรม ความกล้าหาญจนได้รับเลือกให้เป็นผู้นำตลอดชีพทั้งทางการเมืองและทางจิตวิญญาณ คำว่าซอมบี้เป็นคำที่ความหมายที่ดี และถูกใช้ตั้งชื่อใช้กับชาวแอฟริกันจำนวนมาก หนึ่งคนที่สำคัญและได้รับการยกย่องในประวัติศาสตร์คนหนึ่งคือ ‘ฌอง ซอมบี’ (Jean Zombi) ลูกครึ่งทาสผิวดำกับชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงจากการฆ่าหมู่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสด้วยกริชอย่างเหี้ยมโหด เรื่องราวของซอมบี้ผู้นี้เป็นทั้งสัญลักษณ์ของการปฏิวัติและเสรีภาพ และยังสร้างความรู้สึกน่ากลัวและดุร้ายให้แก่หมู่ชาวฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สหรัฐอเมริกายึดครองประเทศเฮติในช่วงปี 1915 - 1934 ประเทศเฮติที่เดิมเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประชากรส่วนใหญ่ของเฮติจึงเป็นบรรดาทาสชาวอาฟริกันที่ชาวฝรั่งเศสนำมาใช้แรงงานในไร่อ้อย ซึ่งทาสเหล่านี้ก็นำเอาวัฒนธรรมและความเชื่อเข้ามาสู่เฮติ โดยเฉพาะลัทธิวูดู ซึ่งเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณในหมู่ชาวแอฟริกันตะวันตก  ในลัทธิวูดูนั้นซอมบี้คือของขลังชนิดหนึ่งอันเกิดจากการที่โบเกอร์ (bokor - หมอผี) ใช้เวทย์มนต์ชุบชีวิตศพให้กลับฟื้นคืนมาเพื่อเป็นทาสที่ไร้ชีวิตจิตใจ และดำรงอยู่เพื่อรับใช้โบเกอร์เพียงเท่านั้น การกลายเป็นซอมบี้ถือเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวสำหรับชาวเฮติ แม้เดิมจะเป็นคำที่มีความหมายที่ดี แต่ด้วยการฉกฉวยความเชื่อในลัทธิวูดูของเหล่านายทาส ทำให้นายทาสสามารถขู่ให้เหล่าทาสของพวกเขายอมทนทำงานหนักต่อไปโดยไม่ฆ่าตัวตาย เพราะหากพวกทาสฆ่าตัวตายเมื่อใด นายทาสก็จะให้โบเกอร์ชุบชีวิตทาสขึ้นใหม่และกลายเป็นซอมบี้ ทาสผู้ซื่อสัตย์ที่มีสรรพคุณในการนำพามาซึ่งอำนาจและความร่ำรวยแก่นายทาส แต่วิญญาณของซอมบี้ก็จะทุกข์ทรมานไปจนกว่าร่างกายจะเน่าเปื่อยไปจนสิ้น นอกจากนี้ การที่โบเกอร์ยังสามารถวางยาทำให้เหยื่อที่ยังเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่อยู่ในสภาพเกือบตายจนญาติพี่น้องเข้าใจว่าเหยื่อตายไปแล้ว เมื่อญาติพี่น้องทำพิธีศพเสร็จสิ้น โบเกอร์ก็จะแอบมาขุดศพ และใช้เวทย์มนต์ควบคุมเหยื่อให้กลายเป็นทาสของเขา ความหวาดกลัวซอมบี้นี้ทำให้กฎหมายของเฮติระบุให้การทำให้เป็นซอมบี้ (zombification) นั้นเป็นอาชญากรรมร้ายแรง  เรื่องราวของซอมบี้ฉบับวูดู และกฎหมายต่อต้านการทำซอมบี้ของชาวเฮตินี้สร้างความประทับใจให้แก่ ‘วิลเลียม ซีบรูก’ (William Seabrook) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงจากการทำข่าวและสารคดีเกี่ยวกับเรื่องเร้นลับเกิดความประทับใจจนเขาบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในหนังสือ ‘The Magic Island’ ที่เขาตีพิมพ์ในปี 1929 ที่ทำให้ซีบรูกได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรกที่ให้นิยามคำว่าซอมบี้ว่าคือ ‘ศพเดินได้’ (the living dead) ซึ่งนิยามดังกล่าวนี้เองเป็นจุดกำเนิดของซอมบี้ในโลกภาพยนต์ เข้าสู่วงการบันเทิงจากศพเดินได้สู่ซอมบี้4x100 ปี 1932 หนังสือ The Magic Island ได้ถูกดัดแปลงเป็นบทละครเวทีเรื่อง White Zombie และดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา เรื่องราวในภาพยนต์เกิดขึ้นในประเทศเฮติโดยบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของไร่อ้อยที่เป็นโบเกอร์ผู้ใช้ศาสตร์มืดควบคุมจิตใจหญิงสาวผิวขาวที่เขาปรารถนา แม้ภาพยนต์เรื่องดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในยุคที่ภาพยนต์สยองขวัญกำลังเริ่มเป็นที่นิยม ทว่ากลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ตัวละครซอมบี้ที่เกิดจากเวทย์มนต์วูดูก็กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกหยิบยกมาใช้ในภาพยนต์อยู่เรื่อย ๆ ปี 1968 ‘จอร์จ โรเมโร’ (Gorge A. Romero) ผู้กำกับชาวอเมริกันได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘Night of the Living Dead’ (ซากดิบไม่ต้องคุมกำเนิด) เล่าถึงเรื่องราวในชนบทห่างไกลทางตะวันตกของรัฐเพนซิลวาเนียที่จู่ ๆ ซากศพในสุสานก็กลับมาเคลื่อนไหวและไล่กัดกินสิ่งมีชีวิต โรเมโรเรียกมันว่าพวก ‘กูล’ (Gould) หรือก็คือปอบนั่นเอง ทว่ากูลของโรเมโรนี้เองได้กลายเป็นต้นฉบับและได้สร้างกฎที่ไม่เป็นทางการบางอย่างให้กับ ‘ซอมบี้’ ในภาพยนตร์ หรือที่เรียกกันว่า ‘เหล่าซอมบี้ของโรเมโร’ (Romero’s Zombies) จนโรเมโรได้รับการยกย่องว่าคือบิดาของซอมบี้ในโลกภาพยนตร์ กฎดังกล่าวมีอาทิ ซอมบี้คือซากศพที่ลุกขึ้นมาเดินได้และไล่กัดกินมนุษย์ ซอมบี้ไม่ได้เกิดจากเวทย์มนต์เท่านั้น แต่อาจเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ คำสาปของปีศาจ การได้รับรังสี หรือการติดเชื้อไวรัสบางอย่าง  การถูกซอมบี้กัดหรือข่วนเพียงครั้งเดียวจะทำให้สิ่งมีชีวิตตายลงอย่างรวดเร็วและฟื้นคืนเป็นซอมบี้ในเวลาไม่นาน โดยระยะเวลาในการเปลี่ยนเป็นซอมบี้ขึ้นอยู่กับว่าจุดที่ถูกกัดนั้นใกล้เคียงอวัยวะสำคัญ และถูกกัดด้วยจำนวนครั้งที่มากน้อยเพียงใด  ซอมบี้จะไม่มีความทรงจำในสมัยเป็นมนุษย์หรือการเรียนรู้อะไรใหม่ เพราะสมองนั้นเน่าสลายจนเหลือเพียงส่วนที่ควบคุมความหิว ซอมบี้จึงเป็นอมนุษย์ที่ไม่ฉลาด ซอมบี้เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าเพราะอวัยวะต่าง ๆ นั้นจะค่อย ๆ เน่าสลาย เหยื่อสามารถหนีจากซอมบี้ได้ง่าย ทว่าความน่ากลัวของซอมบี้เป็นเพราะพวกมันเคลื่อนไหวช้าจึงไม่มีความเหน็ดเหนื่อยจนสามารถเข้าประชิดตัวเหยื่ออย่างเงียบเชียบ และหากเหยื่อเจอเข้ากับซอมบี้ที่มาพร้อมกันจำนวนมากแล้วโอกาสรอดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ การกำจัดซอมบี้นั้นทำได้ด้วยการทำลายสมอง ดังนั้นแม้ซากของซอมบี้จะไม่เคลื่อนไหวเพราะไร้แขนขา แต่หากสมองพวกมันยังไม่เน่าสลายไปหมด พวกมันก็ยังอันตรายอยู่เสมอ ปี 1980 ภาพยนตร์สัญชาติอิตาลีแต่ถ่ายทำที่กรุงมาดริด ประเทศสเปนเรื่อง ‘City of the Living Dead’ หรือ ‘Nightmare City’ บอกเล่าเรื่องราวของเหล่าซอมบี้ที่ยังคงถูกเรียกว่าเหล่ากูลที่เกิดจากอุบัติเหตุการรั่วไหลของรังสีจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ เหล่าซอมบี้นั้นยังถูกนำเสนอด้วยกฎต่าง ๆ ของซอมบี้ของโรเมโร เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือภาพยนตร์เรื่องนี้สร้าง ‘ซอมบี้เคลื่อนที่เร็ว’ ขึ้นมา และความเร็วของการวิ่งกัดกินมนุษย์ระดับนักวิ่ง 4x100 ทำให้การกระจายของเชื้อซอมบี้เกิดอย่างรวดเร็วจนทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็นเมืองแห่งฝันร้ายไปอย่างรวดเร็ว แต่แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ แต่ความนิยมของซอมบี้ก็ค่อย ๆ ลดระดับลงแม้จะไม่ถึงกับว่าหายไปเสียเลย แต่ซอมบี้ดูจะถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา ผีชีวะ การกำเนิดใหม่ของซอมบี้ ปี 1993 ‘ชินจิ มิคามิ’ (Shinji Mikami) นักออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ของบริษัท ‘แคปคอม’ (Capcom) พัฒนาเกมสำหรับเครื่องเพลย์สเตชั่น โดยเขาออกแบบให้เป็นเกมแนวผจญภัยสยองขวัญ (Horror Adventure) ในปี 1996 เกม ‘ไบโอฮาร์ซาร์ด’ (Biohazard) ก็ได้เปิดตัวและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เกมบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆที่ชื่อว่าแรคคูน ซิตี้ที่จู่  ๆก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดจากสิ่งมีชีวิตปริศนา ณ แมนชั่นในป่าใกล้เขตเมือง จนทำให้หน่วยพิเศษของสำนักงานตำรวจเมืองแรคคูนต้องเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ทว่าสมาชิกของหน่วยกลับพบว่าผู้คนและสัตว์ในแมนชั่นกลายเป็นซอมบี้เข้าจู่โจมพวกเขา การผจญภัยเอาชีวิตรอดของสมาชิกหน่วยจึงเริ่มขึ้น จนในที่สุดก็พบว่าต้นเหตุของเหล่าซอมบี้มีกำเนิดมาจากไวรัสที่บริษัทยาแห่งหนึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างอาวุธชีวภาพ ไบโอฮาร์ซาร์ดโด่งดั่งเป็นพลุแตกจากมุมกล้อง วิธีการเล่น งานภาพ และเนื้อเรื่อง จนมีภาคต่อของเกมออกมาอีกมากมาย ความสำเร็จนี้ทำให้มิคามิได้เลื่อนตำแหน่งเป็น โปรดิวเซอร์ของแคปคอมทันที ในเวอร์ชันที่เกมนี้ถูกเผยแพร่ในต่างประเทศได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เรสซิเดนท์ อีวิล’ (Resident Evil) เกมมีภาคต่อจนถึงปัจจุบันจำนวน 25 ภาค ถูกดัดแปลงเป็นนวนิยายที่เป็นทางการ 10 เล่ม นิยายภาพทั้งแบบมังงะและคอมมิคส์ 18 เล่ม ทั้งยังมีนวนิยายที่เล่าถึงเนื้อเรื่องแยกย่อยไปอีกมากมาย ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดในปี 2002 และมีภาคต่อรวม 6 ภาคที่ทำรายได้อย่างมหาศาล จนในปัจจุบันกำลังมีการรีบูทจักรวาลภาพยนตร์เรสซิเดนท์ อีวิลใหม่อีกครั้งในปี 2022 นี้เอง เรสซิเดนท์อีวิลกลายเป็นเฟรนไชส์ระดับโลก และแม้ตัวละครซอมบี้ที่เป็นตัวร้ายของเฟรนไชส์จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นอาวุธชีวภาพและสัตว์กลายพันธุ์ในภายหลัง ทว่าปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ซอมบี้ของมิคามินั้นคือการให้ชีวิตใหม่กับเหล่าซอมบี้ที่กำลังจะตายลงจากโลกบันเทิง ถึงขนาดที่บิดาของซอมบี้ในภาพยนต์อย่างโรเมโรยังกล่าวว่า มิคามิคือผู้คืนชีวิตให้ซอมบี้ และเป็นต้นแบบของซอมบี้แห่งศตวรรษที่ 21 นั่นคือ ซอมบี้เป็นอมนุษย์อันเกิดจากการกลายพันธุ์จากการติดเชื้อไวรัสจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญ มหันตภัยซอมบี้ไม่ใช่เรื่องของความสยองขวัญ หรือผจญภัย แต่มิคามิทำให้มันกลายเป็นเรื่อง ‘แอคชั่น’ ระเบิดภูเขา เผากระท่อม สุดมัน ระห่ำ ซอมบี้ในฐานะภาพสะท้อนทางสังคม ‘นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ’ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ซอมบี้ศึกษาในมิติสังคมวัฒนธรรม’ โดยนฤพนธ์เล่าว่า ซอมบี้นั้นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการไม่สยบยอมของทาสชาวเฮติต่ออำนาจของเจ้าอาณานิคมผิวขาวที่มองความเชื่ออื่นที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์เป็นความป่าเถื่อน โหดเหี้ยม และค่อย ๆ ส่งผ่านเข้าสู่สหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ภาพของซอมบี้ในภาพยนตร์สะท้อนการเชิดชูคนผิวขาวตรงข้ามกับตัวละคร ‘อสูรกาย’ ในยุคสมัยใหม่ที่ขัดแย้งกับความรู้วิทยาศาสตร์ และด้วยการที่ซอมบี้คือความเชื่อยิ่งทำให้คนผิวขาวระแวงสงสัยและหวาดกลัวว่าจะนำมาซึ่งการต่อต้านอำนาจนำทางสังคมของเหล่าคนขาว ซอมบี้ที่ถูกแสดงออกร่างที่ไร้วิญญาณไม่ต่างจากทาสชาวผิวดำที่มีชีวิตแต่ไร้อิสรภาพ และด้วยร่างกายของศพที่สกปรกน่าสยดสยองคือภาพสะท้อนของคนผิวดำที่ถูกมองว่าแปลกแยกและเป็นชายขอบทางสังคม ถูกลดความเป็นมนุษย์เหลือเพียงวัตถุที่น่ารังเกียจและไร้ศักดิ์ศรี เบื้องหลังของซอมบี้จึงคือระบอบที่เอารัดเอาเปรียบของทุนนิยมโลกที่กดขี่แรงงานผิวดำให้มีความทุกข์ ขมขื่น และแปลกแยก หายนะซอมบี้ยังถูกมองว่าสามารถทำให้มนุษย์นั้นเข้าใจสัญชาติฐานดิบของความเป็นมนุษย์ได้ง่าย รวมถึงทำให้เข้าใจถึงความสำคัญของสถาบันทางการเมืองและสังคมยิ่งขึ้น อาทิ บทความที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของ ‘ชนัญญา ประสาทไทย’ ที่วิเคราะห์ว่า ซอมบี้ถูกนํามาใช้เปรียบเปรยถึงคนที่ยอมรับระเบียบโดยไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง เป็นกลุ่มคนที่บ้าคลั่งการบริโภคสินค้าเหมือนซอมบี้ที่รุมกัดกินเหยื่อ เป็นภาพตัวแทนของความเป็นอื่น และเมื่อสังคมมองว่า ‘พวกเขา’ กลายเป็นอื่นไปแล้ว พวกเขาก็ควรถูกกำจัดไปเสียจากสังคม  หรือหากพยายามค้นหาการตีความซอมบี้ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ภาพของซอมบี้ในซีรีส์ที่โด่งดังอาทิ ‘The Walking Dead’ (เดอะ วอร์คกิ้ง เดด) ‘Kingdom’ (ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด) หรือภาพยนตร์อาทิ ‘Train to Busan’ (ด่วนนรก ซอมบี้คลั่ง) ‘#Alive’ (คนเป็นฝ่านรกซอมบี้) หรือ ‘World War Z’ (มหาวิบัติสงคราม Z) นอกจากจะสะท้อนว่า หากเกิดภัยพิบัติในระดับประเทศ หรือระหว่างประเทศขึ้นมา นอกจากมนุษย์จะต้องกระเสือกกระสน หาทุกทางเพื่อเอาชีวิตรอดแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา การมีชีวิตรอดนั้นยังเกี่ยวพันกับชนชั้นทางสังคมที่มนุษย์ในชนชั้นที่สูงกว่ายอมมีโอกาสที่จะอยู่รอดมากกว่า จากการที่เขาเหล่านั้นมีทุนมากพอที่จะแสวงหาอำนาจ ความยอมรับนับถือ รวมถึงอาวุธ  แม้ในทางหนึ่ง ชนชั้นนำจะสามารถเป็นตัวเอกในการแก้ปัญหาภัยพิบัติต่าง ๆ ทว่าในขณะเดียวกันพวกเขาก็สามารถเบียดขับ หรือการเอารัดเอาเปรียบผู้รอดชีวิตอื่น ๆ ที่มีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าได้อย่างง่ายดาย ส่วนประชาชนคนธรรมดานั้น นอกจากจะต้องรอความช่วยเหลือ และถูกเอาเปรียบจากพวกชนชั้นนำแล้ว หลาย ๆ ครั้งการเอาชีวิตรอดของคนธรรมดาคนหนึ่งมันก็หมายถึงการฉกฉวย แย่งชิง ทรยศ หักหลังคนธรรมดาคนอื่นที่กำลังเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม เมื่อการบูลลี่คือต้นเหตุทำให้โรงเรียนไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัยจน_พวกเราตายกัน(เกือบ)หมดแล้ว ในมังฮวาเรื่อง ‘ตอนนี้...โรงเรียนของเรา’ กว่าที่ผู้เขียนจะเฉลยว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการระบาดของไวรัสก็กินเวลาไปถึงราวตอนที่ 50 หรือก็คือเกือบครึ่งเรื่อง แต่ในฉบับซีรีส์ ‘มัธยมซอมบี้’ ต้นเหตุของการระบาดถูกเฉลยเมื่อตอนที่สามผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง และหากผนวกกับเรื่องราวที่นำเสนอตั้งแต่ฉากแรกของตอนที่ 1 ผู้อ่านก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า แม้ต้นเหตุของการเกิดซอมบี้คือไวรัส ซึ่งเป็นต้นกำเนิดที่ไม่มีอะไรใหม่ให้ผู้ชมได้ตื่นเต้น ทว่าหากพิจารณาให้ดีแล้วต้นเหตุของไวรัสนั้นคือ ‘การบูลลี่’ ในรั้วโรงเรียนที่ซีรีส์ทำออกมาให้ผู้ชมเห็นอย่างชัดเจน ‘ตอนนี้โรงเรียนของเรามีซอมบี้ที่ทำเอาพวกเราตายกันเกือบจะหมด แต่ถ้าไม่มีไวรัสก็ไม่มีซอมบี้ และถ้าไม่มีการบูลลี่ก็ไม่มีไวรัส’ การบูลลี่ (bullying) คือการใช้ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางกายและจิตใจจนทำให้เหยื่อรู้สึกด้อยคุณค่า การบูลลี่มีทั้งในรูปแบบการทำร้ายร่างกายทางกายภาพ รูปแบบทางสังคมหรือด้านอารมณ์ เช่น การกดดัน การยั่วยุ การแบ่งแยกให้ออกจากกลุ่ม รูปแบบทางวาจา เช่น การพูดจาเหยียดหยาม การดูหมิ่น การด่าทอ การดูถูก การนินทา และรูปแบบไซเบอร์บูลลี่ ที่ใช้สื่อต่าง ๆ ในการบูลลี่เหยื่อ ที่สำคัญการบูลลี่ถูกทำให้กลายเป็นความเคยชิน เพราะมักถูกมองว่าเป็นเรื่องของหยอกล้อของเด็ก ‘มัธยมซอมบี้’ เป็นซีรียส์ที่เคารพขนบซอมบี้ของศควรรษที่ 21 ตั้งแต่ต้น ทั้งเหตุการณ์ระบาดเกิดจากไวรัส แพร่เชื้อโดยการกัด การตาย และเปลี่ยนสภาพเกิดขึ้นกับบริเวณที่กัด สามารถกลายพันธุ์ได้ ซอมบี้วิ่งเร็วราวพายุ ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่ตายถ้าไม่ทำลายสมอง ส่วนเหยื่อนั้นก็ต้องแสวงหาทุกวิถีทางในการเอาตัวรอดตามสิ่งที่ไม่ได้ถูกสอนกันในวิชาลูกเสือ-เนตรนารี มีการทรยศหักหลังเพื่อเอาชีวิตรอด ส่วนบรรยากาศของโลกนั้นการระบาดก็เป็นไประดับเมือง แต่ในซีรีส์นี้ก็ยังโชคดีที่ไม่ใช่เมืองหลวง หรือเมืองใหญ่จึงทำให้รัฐบาลและกองทัพต้องสามารถเข้ามาปิดล้อม และแก้ปัญหาด้วยผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลกระทบถึงตายต่อคนจำนวนน้อยจนนำมาสู่จุดจบด้วยการ ‘ระเบิดภูเขา เผากระท่อม’ นอกจากความตื่นเต้นตามขนบซอมบี้ มัธยมซอมบี้มีการสะท้อนปัญหาสังคมเกาหลีใต้อยู่ไม่น้อย อาทิ การตั้งครรภ์ในวันเรียน การไม่ประสบความสำเร็จด้านกีฬาของนักเรียนที่มีดีแต่เพียงเล่นกีฬาจนมีทีท่าว่าจะไร้อนาคต การใช้อำนาจบาตรใหญ่ของนักการเมือง การบริหารจัดการสภาวะภัยพิบัติที่ยังขาดประสิทธิภาพ การเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ของผู้ประสบภัยพิบัติ หรือแม้แต่การพาตัวเองไปในสถานที่เสี่ยงตายของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เพื่อเรียกยอดติดตามในโซเชียลมีเดีย  แต่สิ่งเหล่านี้ก็เรียกได้ว่ามีการกล่าวถึงอย่างเล็กน้อยถ้าเทียบกับธีมหลักในการสะท้อนเรื่องราวให้เห็นการบูลลี่อย่างชัดเจนในรูปแบบต่าง ๆ มากมายในโรงเรียน ตั้งแต่การข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การดูถูกเหยียดหยามฐานะทางสังคม การเหยียดหยามความสามารถ การแบนออกจากกลุ่ม การทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระทั่งจงใจเพื่อให้เหยื่อเสียชีวิต เหยื่อก็มีทั้งตอบสนองต่อการบูลลี่ทั้งการเพิกเฉย การสยบยอม และมีถึงขนาดที่ยอมรับให้ตนเองเป็น ‘ไอ้ขี้แพ้’ ต่อไปเพราะกลัวว่าจะโดนบูลลี่หนักขึ้นไปอีก ส่วนครูแทนที่ได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้กลับเลือกที่จะเพิกเฉย ปิดบัง และกล่าวหาเหยื่อว่าถูกบูลลี่ก็เพราะอ่อนแอทำให้น่าบูลลี่เอง เพื่อที่ว่าปัญหาการบูลลี่นั้นจะได้จบ ๆ ไป ไม่กลายเป็นเรื่องที่กระทบชื่อเสียงของโรงเรียน ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ แม้แต่ตัวละครหลักตัวหนึ่งที่มีภูมิหลังจากครอบครัวที่ร่ำรวยจนได้รับการสนับสนุนให้เป็น ‘หัวหน้าห้อง’ ทว่าสิ่งนั้นทำให้เพื่อน ๆ ไม่ยอมรับและแบนเธอจากกลุ่ม จนทำให้เธอเลือกที่จะเพิกเฉยกับเพื่อนที่เพิกเฉยเธอไปเสีย นี่คือตัวอย่างของเหยื่อที่ยังโชคดีที่สถานะของครัวดีกว่าคนอื่น และเรียนเก่งมากเพียงพอจนเธอสามารถที่จะยกตัวตนของเธอให้สูงส่งการบูลลี่ของเพื่อนร่วมห้องดูเหมือนไม่สามารถทำร้ายเธอได้ แม้ลึก ๆ ในจิตใจของเธอจะเต็มไปด้วยความเศร้าก็ตาม แต่เหยื่อทุกคนไม่ได้โชคดีเหมือน ‘หัวหน้าห้อง’ เพราะเมื่อเหยื่อถูกเพื่อนเพิกเฉย ครูเพิกเฉย โรงเรียนเพิกเฉย แม้ผู้ปกครองจะเอาเรื่อง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เรื่องราวกลับกลายเป็นว่าเป็นการกดดันให้ผู้ปกครองเองที่ตวาดใส่ลูกของตนที่ตกเป็นเหยื่อว่าอ่อนแอและไม่รู้จักต่อสู้กลับ จะด้วยความโกรธแค้น หรือความเสียใจก็ตาม เมื่อผู้ปกครองคนนั้นก็มีความรู้วิทยาศาสตร์ระดับเอกอุ เขาจึงเลือกที่จะปรุงยาเพื่อทำให้ลูกของตนแข็งแกร่งราวกับ ‘หนูจนตรอกที่หาญกล้าสู้กลับกับแมว’ ทว่าผลของยาที่เขาฉีดให้ลูกกลับไม่ใช่การสร้างหนูที่ห้าวหาญ แต่มันทำให้ลูกของเขาตาย และฟื้นขึ้นใหม่เป็นซอมบี้ และต่อจากนั้นการแก้แค้นก็กลับกลายเป็นการสร้างความหายนะ การถูกบูลลี่นอกจากจะทำให้ชีวิตของเหยื่อพังทลายแล้ว แม้แต่การพยายามสู้กลับของผู้ถูกบูลลี่ที่ไม่มีโชคก็สร้างหายนะแก่สังคมในภาพรวมไปเสียได้ การบูลลี่ถูกระบุว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งในสังคมระดับโรงเรียนนั้นมีการบูลลี่จนส่งผลถึงการที่เหยี่อตัดสินใจจบชีวิต สิ่งสำคัญที่สนับสนุนพฤติกรรมบูลลี่คือพื้นฐานแนวคิดชาตินิยมที่หล่อหลอมให้ชาวเกาหลีชอบเอาชนะ เกลียดความพ่ายแพ้และรังเกียจความแตกต่าง คนที่มาจากชนชั้นที่สูงกว่าหรือมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าจะเป็นคนที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียง พวกเขาจึงเชื่อว่ามีอภิสิทธิ์ ไม่มีวันผิด เย่อหยิ่ง บ้าอำนาจ และเป็นความชอบธรรมแล้วที่พวกเขาจะสามารถกดขี่ ก่นด่า ทำร้าย บังคับ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การบูลลี่ในโรงเรียนทางหนึ่งจึงเป็นการที่เด็กเลียนแบบพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมเกาหลีใต้ ในทางกลับกัน เหยื่อของการบูลลี่จึงมักเป็นคนที่ดูอ่อนแอหรือโลกส่วนตัวสูง แปลกแยกจากกลุ่ม และแม้มีใครสังเกตเห็นว่าเพื่อนของตนกำลังถูกบูลลี่ แต่ก็มักไม่กล้าเข้าช่วยเหลือ เพราะสุดท้ายจะถูกเหมารวมและโดนบูลลี่ไปด้วย เหยื่อจึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นผู้ถูกกระทำ แต่กลับกันนั้น การถูกกระทำของเหยื่อเป็นเพราะเหยื่อทำตัวให้น่าถูกกระทำ เหยื่ออ่อนแอเกินไป เหยื่อจึงสมควรแล้วที่จะโดนบูลลี่  แม้วงการการศึกษาของเกาหลีใต้พยายามที่จะลดการบูลลี่และการกล่าวโทษเหยื่อ (victim blaming) มาโดยตลอด ทว่าจากการสำรวจในปี 2018 ปัญหาการบูลลี่ทางกายภาพนั้นลดลงทว่าการบูลลี่ด้วยวาจาและการแบนออกจากกลุ่มเพื่อบูลลี่ทางจิตใจและสังคมกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแม้ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา การบูลลี่ในโรงเรียนในเกาหลีใต้จะลดลงมาก แต่นั่นไม่ใช่เพราะการแก้ปัญหาประสบผลสำเร็จ แต่ลดลงเพราะโรงเรียนต้องปิดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน มัธยมซอมบี้อาจไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ๆ ให้กับสาวกของภาพยนตร์สยองขวัญตระกูลซอมบี้ กลับกัน มัธยมซอมบี้คือการสืบทอดขนบของซอมบี้ในศตวรรษที่ 21 การดูซีรีส์เรื่องนี้จึงอาจไม่เหมาะกับผู้ชมที่ต้องการแสวงหาความแปลกใหม่อยู่เสมอ แต่หากต้องการใช้เวลาว่างไปกับซีรีส์ในธีมซอมบี้ที่งานโปรดักชันส์ งานภาพ งานตัดต่อ และบทดี ๆ ที่แฝงมุมมองสะท้อนสังคมที่ชินชากับการบูลลี่และการกล่าวโทษเหยื่อ ซีรีส์ที่ตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมสูงต่ำดำขาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสถานที่ที่ผู้ปกครองไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกหลาน คุณก็ไม่ควรพลาด ‘มัธยมซอมบี้’ ด้วยประการทั้งปวง เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม อ้างอิง ชนัญญา ประสาทไทย. (2559). ซอมบี้ไทย สังคมไทยและการเมืองไทย. วารสารสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 28,2 (ก.ค.-ธ.ค. 2559) 105-131. Retrieved. http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/67406 นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2564). ซอมบี้ศึกษาในมิติสังคม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. Retrieved. https://www.sac.or.th/databases/sac_research/article-detail.php?articleID=251 พี่ไพร. (2564, 4 มีนาคม). เปิดรั้วโรงเรียนเกาหลี: ทำไมถึงมีประเด็นการกลั่นแกล้ง(왕따)เกิดขึ้นบ่อยครั้ง?. Retrieved. https://www.dek-d.com/studyabroad/57342/ 9Movies. (2019, 2 ตุลาคม). ซอมบี้มาจากไหน? Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=DfASyAC0m14&t=367s 김남이.(2019. "ปัญหาการกลั่นแกล้ง"ในประเทศเกาหลีใต้. Retrieved. https://www.creatrip.com/th/blog/3119 Arnon Wachirapairot และ Phatchanon Ekarattanavet. (2563, 3 มีนาคม). BULLY : การละเมิดสิทธิเพียงแค่เพราะ “ความเคยชิน”. Retrieved. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/733/ Diver, M. (n.d.). Gaming's Greatest, Romero-Worthy Zombies. Retrieved. https://www.vice.com/en/article/93ypzz/chris-pratt-is-mario-okey-dokey-then Resident Evil Wiki. Retrieved. https://residentevil.fandom.com/wiki/Resident_Evil_Wiki Struss, M. (2014, 11 May). The Curious History Of Haiti's Anti-Zombie Laws. Retrieved. https://gizmodo.com/the-curious-history-of-haitis-anti-zombie-laws-1654986154 Whiteley, G. (2017). Robert Southey, Thomas Lindley and the Zombie. The Wordworth Circle48(3), p. 164. Retrieved. https://www.journals.uchicago.edu/doi/10.1086/TWC48030164 Yurok, H. and Hyeonwoo, P. (2021, 12 Oct). School Bullying in South Korea. Retrieved. https://gwangjunewsgic.com/opinion/self-help/school-bullying-in-south-korea/ Zombiepedia. Retrieved. https://zombie.fandom.com/wiki/Zombie_Wiki