‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา

‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา
ผีมีอยู่จริงหรือไม่ ? ทำไมบางคนถึงหยุดปล่อยมุกลามกไม่ได้? ทำไมดอกไม้สีขาวมักจะบานในเวลากลางคืน? เหล่านี้คือคำถามระหว่างบทสนทนากับ ‘ดร.แทนไท ประเสริฐกุล’ ผู้คว้ารางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2564 จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคำตอบที่ได้รับ กลับไม่ใช่คำตอบชวนง่วงพ่วงมาด้วยศัพท์ที่ฟังไม่เข้าใจ ตรงกันข้าม เขาสามารถเล่าเรื่องราวได้สนุกสนานฟังเพลิน ทั้งยังแฝงอารมณ์ขันฉบับ ‘แทนไท’ ไม่ต่างไปจากผลงานทั้งในพอดแคสต์ การบรรยาย ไปจนถึงงานเขียนของเขาอย่าง โลกนี้มันช่างยีสต์, Mimic เลียนแบบทำไม, โลกจิต ชวนมาฟังเรื่องราวของแทนไท ประเสริฐกุล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ ก่อนจะมาเป็น ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ อย่างในปัจจุบัน   วิทยาศาสตร์ กับกุญแจไขความลับของธรรมชาติ ย้อนไปในช่วงวัยประถม แทนไทอาศัยอยู่กับคุณยายที่ต่างจังหวัด วัยเด็กของเขาไม่ได้โลดโผนมากนัก การผจญภัยส่วนใหญ่จึงมักจะเกิดขึ้นผ่านโลกของตัวอักษร “ยายไม่ให้ออกไปเล่นไกล เลยกลายเป็นว่าเราชอบหนังสือความรู้ต่าง ๆ ที่มันพาเราออกไปสัมผัสโลกกว้าง เช่น อยู่ในห้องแต่ได้เรียนรู้โลกใต้ทะเลลึก โลกไดโนเสาร์ โลกอวกาศ โลกที่มันเล็กจนมองไม่เห็น บรรดาจุลินทรีย์ บรรดาเซลล์อะไรทั้งหลาย เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันมีความน่าตื่นตาตื่นใจซ่อนอยู่ ที่เรามองไปตรงหน้าแล้วไม่เห็น แต่พอเรามาอ่านเรื่องพวกนี้แล้วรู้สึกว่าโลกมันมีอะไรที่น่าทึ่ง น่ามหัศจรรย์เยอะ เรียกว่าความอยากรู้แบบเด็ก ๆ มันยังค่อนข้างบริสุทธิ์ ยังไม่ถูกจำกัดด้วยว่าต้องเรียนรู้เพื่อไปประกอบอาชีพอะไร แต่เรารู้เพื่อความสนุกเฉย ๆ “ส่วนมัธยม ได้เข้าโครงการที่ชื่อว่า พสวท. พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือโครงการที่ดันให้เด็กเรียนวิทย์โดยตรงตั้งแต่ ม.ปลาย จนถึงจบปริญญาเอก กับอีกโครงการคือโอลิมปิกวิชาการ ไปเป็นตัวแทนแข่งชีววิทยานานาชาติระดับโอลิมปิกนานาชาติ ธีมของช่วง ม.ปลาย คือความสนใจช่วงเด็ก ๆ ของเราเริ่มจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา “พอเราเรียนไปก็จะค้นพบกระบวนการที่ธรรมชาติออกแบบสิ่งต่าง ๆ เรารู้สึกทึ่งมาก เหมือนกำลังค้นพบความลับอะไรบางอย่างของธรรมชาติอยู่” แทนไทเล่าถึงเหตุผลของความหลงใหลในวิทยาศาสตร์และตัดสินใจเรียนต่อจนถึงระดับปริญญาเอก พร้อมยกตัวอย่างความสนุกของวิทยาศาสตร์แบบใกล้ตัวให้เราฟังว่า “ยกตัวอย่างตอนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยคอร์เนล ที่อยู่นิวยอร์ก ตอนนั้นความสนใจหลัก ๆ มี 2 ก้อน ก้อนแรกคือเรื่องทางสมองและความรับรู้ของมนุษย์ เช่น บางคนสมองส่วนหน้าเจ๊งไป กลายเป็นว่าไม่สามารถห้ามตัวเองไม่ให้ปล่อยมุกลามก ทะลึ่งได้ ทั้งที่ชีวิตก่อนหน้านั้นเป็นคนเรียบร้อย พอส่วนนี้เจ๊งไป บุคลิกเปลี่ยนเลย บางทีกลายเป็นว่าเพื่อนชอบมากขึ้นนะครับ เพราะกลายเป็นคนตลกโปกฮาอย่างนี้ ส่วนผมไม่เป็นไร ผมเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว คือถ้าเกิดสมองส่วนนั้นของผมเจ๊งไปอีกเนี่ย อาจจะต้องถึงขั้นจับมัดอะไรอย่างนี้ครับ (หัวเราะ) ก็อันนี้ความมหัศจรรย์เรื่องสมอง  “ส่วนความสนใจด้านธรรมชาติ เราไปค้นพบว่ามันมีคำอธิบายเบื้องหลังสิ่งต่าง ๆ อยู่  สมมติเรามองเห็นดอกไม้มีสีแดง สีเหลือง สีขาวอะไรอย่างนี้ เรามารู้เพิ่มว่าสีแดงเนี่ยคือนกชอบ สีเหลืองคือผึ้งชอบ สีขาวคือค้างคาวชอบ แล้วดอกสีขาวมักจะบานกลางคืน เพราะเอาไว้ล่อค้างคาว” เรานั่งสนทนากันในสวนหน้าบ้านของแทนไท จังหวะที่ได้ฟังเรื่องนี้ ภาพใบไม้ไหวและแดดอุ่น ๆ (จนร้อน) รอบกายเริ่มดูน่าค้นหาและสนุกขึ้นมาทันที และเมื่อพูดถึงเรื่องธรรมชาติ เราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงคำอธิบายของ ‘เรื่องเหนือธรรมชาติ’ เสียหน่อย  “แทนไทกลัวผีไหม ?” คือคำถามที่เราเอ่ยออกไป “กลัวผีในหนัง แต่ในชีวิตจริงไม่กลัวผีเลย “ผมเชื่อว่าการเห็นผีมีจริง คนสามารถเห็นอะไรแปลก ๆ ได้จริง แต่ผีไม่มีจริง คือสิ่งแปลก ๆ ที่คนเห็น มีคำอธิบายอย่างอื่นที่เป็นเกี่ยวกับเรื่องทางสมองบ้าง ทางจิตวิทยาบ้าง ยกตัวอย่างเรื่องคลาสสิกมากคือปรากฏการณ์ผีอำ “เรื่องเล่าเรื่องผีประมาณครึ่งหนึ่งจะเกิดในช่วงประมาณว่า ผมเข้านอนเสร็จปุ๊บ หลังจากนั้นก็รู้สึกเย็นวาบ ๆ แล้วขยับตัวไม่ได้ หันไปที่ประตูมีเปรตยืนขวางประตูอยู่ หรือหันไปที่หัวนอนแล้วมีผู้หญิงนั่งคร่อมอยู่อะไรอย่างนี้ เรื่องพวกนี้มันคลาสสิกแล้วออกมาเป็นแนวเดียวกันหมดเลย  “ถ้าเป็นยุคหนึ่งของฝรั่งจะเป็นแบบว่า อยู่ดี ๆ กลางดึกขยับตัวไม่ได้ แล้วก็มีเอเลี่ยนโผล่มา เอาอะไรมาแยงตูดแล้ววัดอุณหภูมิใหญ่เลย ผมก็ขยับไม่ได้ คือมันแล้วแต่ความกลัวของแต่ละวัฒนธรรม แต่ว่าสิ่งที่เรากลัวจะโผล่ปรากฏเป็นรูปร่างมาในช่วงพรมแดนระหว่างใกล้ ๆ จะหลับกับยังตื่นอยู่ ช่วงนี้จินตนาการกับความจริงแยกกันไม่ออก แล้วร่างกายก็เหมือนจะเข้าสู่การหลับฝัน  “แล้วตอนหลับฝัน สมองเรามีกลไกบล็อกการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะฉะนั้นถ้าใครที่สมองทำงานผิดปกติในช่วงนี้ พูดง่าย ๆ คือ ตื่นระหว่างฝัน มันจะรู้สึกว่านี่เราอยู่ในฝันร้ายที่แบบสมจริงมากอะไรอย่างนี้ครับ แล้วแน่นอนหลายคนก็จะเชื่อไปเลยว่าเป็นผีจริง ๆ แต่จริง ๆ เขาเรียกว่าเป็นภาพหลอนประเภทหนึ่ง หรือเรียกว่าปรากฏการณ์ผีอำนั่นเอง อันนี้ก็คือหนึ่งในคำอธิบาย” เมื่อฟังเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามา ชวนให้เรารู้สึกว่าวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ ‘รอบตัว’ และใกล้ตัวกว่าที่คิด ซึ่งแทนไทย้ำกับเราว่าการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องในห้องเรียนหรือกาข้อสอบเพียงอย่างเดียว “เราเรียนเรื่องนี้เพราะว่าเขาจะออกสอบ เรียนเรื่องนี้เพราะว่ามันเอาไปใช้ประกอบอาชีพอะไรได้ เพื่อไปหาตังค์ทำนู่นทำนี่ให้รวยได้ แต่โจทย์นั้นซึ่งไม่ได้ผิดอะไรนะ มันแคบนิดเดียวเอง เมื่อเทียบกับบรรดาโลกความจริงอันยิ่งใหญ่ไพศาล ผมรู้สึกว่าการทะลุปราการของคำถามที่ว่า ‘จะเรียนไปทำไม?’ มันเป็นการบรรลุทางจิตวิญญาณขั้นหนึ่ง คืออยากจะปลูกฝังให้เด็ก ๆ หรือคนที่มาฟังบรรยายผม ได้สัมผัสอะไรทำนองนี้ด้วย คำถามว่าจะรู้ไปทำไม เก็บไว้ถามกับพวกที่บอกว่า สะพายกระเป๋าให้ถูกระเบียบต้องเอียงซ้ายนะ ห้ามเอียงขวานะ อย่างนั้นเราควรตั้งคำถามว่า จะทำไปทำไมมากกว่า “จริง ๆ ถ้าให้ตอบแบบหล่อ ๆ หน่อยก็คือ เราอาจจะบอกว่า เหมือนกับเปิดดวงตาที่สามของเรา เบิกเนตร เพื่อเปิดทัศนคติของเราให้รับรู้ถึงโลกความเป็นจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าค่านิยมของสังคมที่กำหนดมา” ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา เพราะสนุกจึงอยากสื่อสาร “จริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเรียกตัวเองว่าเป็นนักสื่อสารตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือตอนนั้นก็น่าจะอยู่ระหว่าง 15-20 ปีครับ” แทนไทเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการเลือกเส้นทาง ‘นักสื่อสารวิทยาศาสตร์’ แทนการเป็น ‘นักวิจัย’ อยู่ในห้องแล็บ  “ระหว่างทางที่เรียนมาด้วยทำงานมาด้วย ผมค้นพบความอิ่มเอมของการได้ไปตื่นเต้นกับอะไรมาสักเรื่องหนึ่ง แล้วเราได้เอาเรื่องนี้มาถ่ายทอดให้คนอื่นได้ร่วมตื่นเต้น หรือร่วมขำด้วย หรือว่าร่วมลึกซึ้งด้วยอะไรสักอย่าง แล้ว reaction ที่เราได้ยื่นผลงานชิ้นนี้ไปให้เขาอ่านหรือฟัง แล้วเขาอินไปพร้อมกับเรา ตรงนี้เป็นสิ่งที่เติมเต็มจิตใจผม ผมก็เลยทำใหญ่เลย อารมณ์คล้าย ๆ ศิลปินมากกว่านักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ หรืออาจจะเหมือนเชฟที่ทำอาหารออกมา แล้วคนกินบอกว่าอร่อย ก็เลยถูกดึงดูดไปให้ทำอะไรพวกนี้ค่อนข้างเยอะ “คอลัมน์แรก ๆ ที่เขียนก็จะมีคอลัมน์โลกจิตในนิตยสาร a day สมัยก่อน อันนี้ก็ถือว่าเข้าวงการการเขียนอะไรเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยตรงนี้ ทีนี้หลังจากนั้นก็มีอื่น ๆ ตามมา มีเขียนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ก็รวมเล่มเป็นหนังสือเหมือนกัน ชื่อ ‘Mimic เลียนแบบทำไม’ จริง ๆ ทั้ง ‘โลกจิต’ ทั้ง ‘Mimic เลียนแบบทำไม’ ทุกวันนี้ก็หาซื้อไม่ได้แล้ว เป็นรุ่นเก่ามาก  แต่หลังจากเขียนหนังสือผ่านไปยุคหนึ่ง ก็คิดว่าปากกาเริ่มหมึกหมดแล้ว ไม่รู้จะเขียนอะไรแล้ว ก็เลยหันมาลองจัดรูปแบบเป็นรายการ Podcast ซึ่งตอนนั้นเมืองไทยก็ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักคำว่า Podcast เลยประมาณเกือบ 10 ปีก่อน ก็ตั้งเป็นรายการ WiTcast ขึ้นมาครับ “คือตอนที่ทำรายการ WiTcast ใหม่ ๆ จุดเริ่มต้นก็คือว่า ก่อนหน้านั้น 5-6 ปีเลยนะ เรามี Podcast เป็นเพื่อนทั้งทางสมองและก็ทางจิตใจ รายการส่วนใหญ่จะเป็นแก๊งเพื่อนกัน อินกับเรื่องนี้แล้วมานั่งคุย อัปเดตข่าวสารวิทยาศาสตร์ เรารู้สึกว่าเราอยากสร้างบรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นในรูปแบบรายการคุยวิทยาศาสตร์สำหรับคนไทยบ้าง ก็คิดเรื่อยมาจนกระทั่งเจอกลุ่มคนที่เหมาะจะมาร่วมวงกัน ก็จะมีผมซึ่งถนัดเรื่องชีวะ ตอนนั้นมีคุณป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ที่เขียนคอลัมน์อยู่ใน a day ด้วยกันแต่เขาเชิงฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ แล้วก็คนตรงกลางก็คือแฟนผมในตอนนั้นชื่อว่า คุณอาบัน ก็เลยตั้งให้เป็นตำแหน่งสามัญชน หมายความว่าในขณะที่สองเนิร์ดคุยกัน เราต้องมีโจทย์ที่ให้สามัญชนเข้าใจได้ด้วย ไม่อย่างนั้นรายการเราถือว่าไม่ผ่าน อะไรอย่างนี้ครับ  “แล้วหลังจากนั้นก็ค่อย ๆ มีคนที่เป็นแนวเดียวกันมาค้นพบเราแล้วก็ติดตามเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ก็จะมีมาบ่อย ๆ บอกว่า พี่คะ หนูฟังพี่มาตั้งแต่ ม.2 ตอนนี้หนูเรียนจบ ทำงานแล้ว มีครอบครัวแล้ว ก็จะมีอย่างนั้นอยู่เยอะ คือติดตามและเติบโตมาพร้อม ๆ กับเรา” ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา ภาษาย่อยง่ายและมุกตลกฉบับแทนไท  จุดเด่นของผลงานฉบับแทนไท คือภาษาที่เข้าใจง่าย และสอดแทรกมุกตลกแบบ ‘เหนือความคาดหมาย’ ตัดกับเนื้อหาจริงจัง ทำให้นักอ่านหลายคนที่แม้ไม่ได้สนใจวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษก็สามารถเข้าใจและสนุกกับเรื่องราวที่เขาเล่าได้เช่นเดียวกัน “เรื่องที่เราจะเล่าแต่ละเรื่อง ตัวเราเองต้องทำการบ้านมาก่อนเยอะ สมมติว่ามีหัวข้อที่เราจะเล่าสัก 10 นาที จริง ๆ ก่อนหน้านั้น 7-8 วันเราต้องนั่งอ่านมาแล้วเป็นชั่วโมง ๆ เลย สมมติจะเล่าเรื่องงานวิจัยของคนนี้ เราต้องไปอ่านทั้งตัวงานวิจัย ต้องไปอ่านทั้งที่เป็นข่าวลงสั้น ๆ ต้องไปฟังสัมภาษณ์เขา ไปดูงานอื่น ๆ ของเขาให้เห็นภาพรวม “หนึ่งในสิ่งที่ทำให้เข้าใจง่าย คือ รูปแบบการสนทนา มีถาม-ตอบ ไม่ใช่การ lecture เราอยู่ในสไตล์ที่ไม่ได้กำลังขึ้นเวทีปาฐกถา หรือว่าไม่ได้กำลัง TED Talks แต่เราเหมือนคนนั่งคุยกันด้วยภาษาง่าย ๆ แล้วคุยกันอย่างออกรส ผมว่ามันช่วยให้ฟังได้ยาว แล้วก็ช่วยให้ค่อย ๆ เก็ตตัวที่เป็นเนื้อหาความรู้ไปทีละนิด  “เราก็เป็นคนที่คล้าย ๆ ว่า หนึ่งคือชอบความขำ สองคือชอบความ Creative มันเหมือนกับการเอาฝั่งที่ชอบความรู้จริง ๆ มาผสมกับส่วนที่ชอบจินตนาการ เวลาที่ตัวเองถ่ายทอดเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ปัจจัยพวกนี้ก็จะปน ๆ ออกมาด้วย อยากจะต้องปล่อยมุก ถ้าไม่ปล่อยมุกแล้วรู้สึกว่าอึดอัด หรือว่าเขียนธรรมดาไม่ได้ ต้องเขียนให้มัน Creative หน่อย ให้มันดูมีเรื่องราว มีชั้นเชิง มีลีลาการเล่า “อย่างความตลกแบบที่เราชอบคือความตลกแบบที่อยู่ดี ๆ มันมีสิ่งที่ไม่ Make sense แล้วก็หาที่มาที่ไปไม่ได้โผล่มา ซึ่งมันมาจากเรื่องอาราเล่เยอะมากเลยนะ อย่างเช่นทุกตอนมันจะเริ่มต้นด้วยเช้าแล้วนะ แล้วพระอาทิตย์ออกมาแปรงฟัน แล้ว background ก็จะมีตัวประหลาดอะไรไม่รู้โผล่มา เช่น มีวัวตัวหนึ่งใหญ่เท่าก็อตซิลลา หัวเป็นวัว ตัวเป็นชามบะหมี่ แล้วเดินผ่านหน้ากล้องไป แล้วก็บอกว่า ฉันชื่อวัวดอน แล้วก็เดินผ่านไป แล้วก็ไม่โผล่ออกมาอีกเลย คือเราชอบอะไรที่มันตลก random อะไรแบบนี้มากเลย เพราะฉะนั้นในงานเขียนของเรา เราจะชอบจินตนาการ เปรียบเทียบอะไรกับสิ่งนี้ที่มันหลุดโลกที่สุดเท่าที่เราจะนึกออก ซึ่งของเรามักจะไปลงเอยเรื่องขี้ เรื่องนม เรื่องตูด อะไรทั้งหลาย มันเป็นเหมือนพร็อพของเราในการปล่อยมุก แต่บางคนชอบคิดว่าเราเป็นคนหมกมุ่น ลามก อันนั้นมันไม่ใช่ เราแค่หยิบอวัยวะพวกนี้มาเป็นอุปกรณ์เล่นตลกเฉย ๆ” ‘แทนไท ประเสริฐกุล’ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้เสิร์ฟความรู้คู่ความฮา เมื่อโลกหมุนไว จนใครๆก็เล่าเรื่องได้ (?) “รู้สึกว่าทุกวันนี้เราจะมีความไม่มั่นใจเยอะขึ้น เพราะความรู้มันเข้าถึงคนได้ง่ายมากเลย แล้วเมื่อก่อนเราจะชินกับการที่พอเราเลือกเรื่องนี้มาเล่าปุ๊บ คนแบบว้าวไง ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่ามันมีสิ่งนี้อยู่ในจักรวาล แต่ตอนนี้ เมื่อวานนี้เองพี่เพิ่งไปสอนเด็ก ม. 4 มา เอาเรื่องไปเล่าว่า ในบรรดาหมึกกระดอง จะมีตัวผู้บางตัวที่แฝงตัวปลอมตัวเป็นตัวเมีย เข้าไปเนียนกับบรรดาเมียของตัวผู้ตัวใหญ่ แล้วพอตัวผู้ตัวใหญ่เผลอ มันก็ไปปล้ำเมียเขาอย่างนี้ แล้วถาม เป็นไงน้อง ๆ เคยรู้ไหมว่ามีพฤติกรรมนี้อยู่ในหมู่ปลาหมึก น้องบอกผมเคยเจอครับ ผมเคยอ่านมาแล้วครับ เด็ก ม.4 น่ะ เราก็จะรู้สึกว่ายุคนี้มันยากขึ้นนะเนี่ย ในการหาอะไรมาทำให้คนว้าว! แต่ดีนะ ในแง่ที่ว่าคนเข้าถึงความรู้กันได้เยอะขึ้น มีการตื่นตัว ขยายวงดีครับ  “แต่ในแง่ความรู้สึกส่วนตัว คือบางทีเราก็รู้สึกเราหมดความพิเศษของเราหรือยัง คือเหมือนหมอที่รักษาโรคไปวัน ๆ หนึ่งแล้วไม่มีใครป่วยเป็นอะไรแล้ว จะเขียนเรื่องนี้ก็อ้าว! เจ้านี้เขียนแล้ว จะเขียนอีกเรื่องก็ อ้าว! เจ้านั้นเขียนแล้ว บางทีก็รู้สึก เฮ้ย! ไม่เขียนแล้ว ปิดคอมพ์ไปปลูกต้นไม้ดีกว่า อยู่กับตัวเองดีกว่า ซึ่งบางทีผมเกือบซึมเศร้าเหมือนกันนะ สารภาพตามจริง เคยไปปรึกษานักจิตวิทยา แต่เขาแนะนำมาว่า ลองให้จินตนาการว่ามีผู้กำกับหนังคนหนึ่ง อยากจะทำหนังผีสักเรื่อง แล้วเขาไปค้นพบว่า อ้าว! มีคนทำหนังผีแล้ว อย่างนี้ไม่ควรทำหนังผีเรื่องนั้นไหม แต่หนังผีในแบบเวอร์ชันของคุณที่คุณเล่าเอง แล้วมันเป็นตัวคุณ แล้วมันไม่เหมือนใครล่ะ คุณไม่ต้องพยายามไปเหมือนใคร แต่ว่าพอเล่าออกมาปุ๊บมันเป็นเรื่องใหม่ถึงแม้มันเป็นหัวข้อเดิม คุณมั่นใจกับตรงนั้นสิ อะไรอย่างนี้  “ผมก็ โอ้! งั้นผมก็ต้องคิดเหมือนกันกับเรื่องงานเขียน งานสื่อสารวิทยาศาสตร์ของผมใช่ไหม ถึงแม้ความรู้พวกนี้กด Wikipedia เปรี้ยงเดียวได้แล้ว แต่ว่ามันคนละรสชาติกับเวลาฟังจากปากผมหรืออ่านผ่านตัวหนังสือของผมอยู่ เพราะฉะนั้นเรายังรู้สึกว่า เฮ้ย! เอองั้นเรายังมีพื้นที่ให้เราทำอะไรที่แปลกใหม่ได้อยู่ เราก็จะสบายใจแล้ว” หลังเล่าถึงจุดที่ ‘หมดไฟ’ และจุดที่กลับมา ‘มีไฟ’ อีกครั้ง เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่คอยเติมไฟให้แทนไทอยากจะ ‘สื่อสาร’ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในแบบของเขาต่อไป ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรือในอนาคต ซึ่งแทนไททิ้งท้ายไว้กับเราว่า “หนึ่งคือ เราค้นพบว่านี่เป็นสิ่งที่เราทำได้ดี เป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างในชีวิตที่ทำออกมาแล้วเราแฮปปี้ เติมเต็ม เราชอบ เราสนุกระหว่างที่ทำ แล้วก็เสียงตอบรับ มีคนอื่นที่คล้าย ๆ กันมา Connect กับเราทั้งในทางชอบความรู้ประเภทเดียวกันด้วย แต่ในทางมิตรภาพ คือเพื่อนผมทุกวันนี้ คนที่สนิท ๆ มาจากการจัดรายการทั้งนั้นเลย มาจากเคยเป็นผู้ฟังรายการแล้วได้เจอกัน กลายเป็นเพื่อนกัน อย่างแฟนที่คบก็เป็นแฟนหนังสือมาก่อน แล้วค่อยมาเป็นแฟนในชีวิตจริง  “ก็เรียกได้ว่าเป็นหน้าต่างของผมในการ Connect กับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ เรื่องราวของการเอาความรู้ที่มันน่าสนใจมาก ๆ มาถ่ายทอด แล้วมาอินร่วมกัน แล้วก็ได้เกิดมิตรภาพเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มันตอบทั้งเรื่องทางวิชาการและความเป็นมนุษย์ด้วยสำหรับผม”