รูธ แฮนด์เลอร์: ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาสุดวาบหวามเป็น 'Barbie' ที่คอยเติมฝันให้เด็กผู้หญิง

รูธ แฮนด์เลอร์: ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาสุดวาบหวามเป็น 'Barbie' ที่คอยเติมฝันให้เด็กผู้หญิง

ก่อนจะเป็น Barbie ที่ฮิตไปทั่วโลก ตุ๊กตานี้เป็นไอเดียจาก รูธ แฮนด์เลอร์ ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาที่สื่อความหมายทางเพศ มาปรับให้กลายเป็น Barbie ที่คอยเติมฝันให้เด็ก ๆ

ระหว่างที่ ‘รูธ แฮนด์เลอร์’ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทของเล่น Mattel กำลังมองดูลูกชายหยิบของเล่นมาสวมบทบาทเป็นทั้งคุณหมอ นักดับเพลิง นักบินอวกาศ ขณะที่ลูกสาวกำลังเปลี่ยนชุดสวยให้ตุ๊กตากระดาษและอุ้มตุ๊กตาเด็กทารก เธอจึงนึกขึ้นมาได้ว่า “คงจะดีถ้ามีของเล่นหลากหลายให้เด็กผู้หญิงได้จินตนาการว่า เธอสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น” แม้รูธไม่ได้พูดประโยคนี้ออกมาตรง ๆ แต่เธอไม่เคยลบความคิดนี้ออกไปเลยสักครั้ง กระทั่งวันที่รูธพบตุ๊กตาพลาสติกสุดเซ็กซี่ที่ชาวเยอรมันใช้สื่อความหมายทางเพศ เธอซื้อตุ๊กตาเหล่านี้กลับมายังสหรัฐอเมริกา แล้วบอกกับนักออกแบบว่า เธออยากให้ลองทำตุ๊กตาที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของ Mattel รวมทั้งของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ... ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’   'รูธ แฮนด์เลอร์' คุณแม่ผู้แจ้งเกิดบาร์บี้  รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) และเอลเลียต แฮนด์เลอร์ (Elliot Handler) คือคู่รักชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งบริษัทของเล่น ‘Mattel’ ในปี 1948 รูธคือหญิงสาวที่มั่นใจและเฉียบขาด เธอถนัดสายธุรกิจและการตลาด ขณะที่เอลเลียตคือชายหนุ่มนักสร้างสรรค์ แต่ทั้งคู่ก็เป็นความแตกต่างอันแสนลงตัวของบริษัท Mattel รูธ แฮนด์เลอร์: ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาสุดวาบหวามเป็น 'Barbie' ที่คอยเติมฝันให้เด็กผู้หญิง

ภาพรูธและเอลเลียด แฮนด์เลอร์   ที่มาภาพ สารคดี The Toys That Made Us ตอน Barbie (Netflix)

โดยของเล่นที่ขายดีแบบเทน้ำเทท่าตลอดเวลาที่ผ่านมา คือปืนแก๊ปสำหรับเด็กผู้ชาย รวมทั้งของเล่นที่ ‘เคน’ ลูกชายของเธอสามารถใช้จินตนาการเป็นอาชีพต่าง ๆ ได้หลากหลาย ขณะที่ลูกสาวอย่าง ‘บาร์บารา’ มีทางเลือกเพียงตุ๊กตากระดาษกับตุ๊กตาเด็กทารกสำหรับสวมบทบาทความเป็น ‘แม่’ เช่นเดียวกับภาพของสตรีส่วนใหญ่ในยุคสมัยนั้นที่วกวนในวัฏจักร ‘การแต่งงาน - เลี้ยงลูก - ทำงานบ้าน’ ความรู้สึกขณะมองลูก ๆ หยิบจับของเล่นยังคงติดค้างอยู่ในใจของรูธ จนกระทั่งครอบครัวแฮนด์เลอร์เดินทางไปพักผ่อนที่สวิตเซอร์แลนด์ รูธสะดุดตากับ ‘บิลด์ ลิลลี่’ (Bild Lilli) ตุ๊กตาที่มีต้นแบบจากการ์ตูนช่องสำหรับผู้ใหญ่ เพราะรูปร่างผอมเพรียว สัดส่วนเว้าโค้งที่ดูยั่วยวนใจเหล่านั้น ถูกออกแบบไว้เพื่อกระตุ้นอารมณ์ของชายเยอรมันหลังช่วงสงคราม และหากมีชายใดยื่นตุ๊กตานี้ให้ หญิงสาวก็จะรู้ทันทีว่าชายผู้นี้ต้องการอะไร  แต่รูธกลับไม่ได้มองแบบนั้น… เธอคว้าตุ๊กตาบิลด์ ลิลลี่ไปจ่ายตังค์ แล้วนำกลับสหรัฐฯ เพื่อเป็นต้นแบบให้ ‘แจ็ค ไรอัน’ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Mattel ช่วยออกแบบตุ๊กตาตัวใหม่ โดยรูธบอกกับแจ็คว่าเธออยากให้มีตุ๊กตาที่เปรียบเสมือนต้นแบบ ‘วัยผู้ใหญ่’ ของเด็กผู้หญิง เมื่อแจ็คทำสำเร็จ รูธตั้งชื่อให้ตุ๊กตาตัวนี้ว่า ‘บาร์บี้’ ตามชื่อลูกสาวของเธอ ก่อนจะมีตุ๊กตา ‘เคน’ ที่ตั้งชื่อตามลูกชายในอีกสองปีถัดมา หากบาร์บี้ตัวแรกนี้แทบจะไม่แตกต่างจากตุ๊กตาบิลด์ ลิลลี่ของเยอรมัน ยิ่งมีหน้าอกที่ชัดเจน ยิ่งทำให้สามีของเธอและพนักงานในบริษัทส่ายหน้าให้กับไอเดียนี้กันแทบทุกคน เพราะพวกเขานึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่าเด็ก ๆ จะเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อย่างไร  รูธ แฮนด์เลอร์: ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาสุดวาบหวามเป็น 'Barbie' ที่คอยเติมฝันให้เด็กผู้หญิง

ที่มาภาพ http://www.barbiemedia.com/

“ไอเดียทั้งหมดคือการให้เด็กผู้หญิงได้ฝันถึงการเติบโตขึ้น แล้วผู้ใหญ่ทุกคนที่เด็กพวกนั้นเห็นก็มีหน้าอก” รูธกล่าวถึงเหตุผลที่ออกแบบบาร์บี้ให้มีสัดส่วนราวกับสาวสะพรั่ง ซึ่งในที่สุดรูธก็สามารถโน้มน้าวให้คนใน Mattel ยอมผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ได้สำเร็จ และออกวางจำหน่ายครั้งแรกในงาน Toy Fair ที่นิวยอร์ก เมื่อปี 1959 ซึ่งว่ากันว่า Toy Fair เป็นงานแจ้งเกิดสำหรับของเล่นหลากชนิด  แต่ตุ๊กตาบาร์บี้...คงเป็นข้อยกเว้น   พลิกเกมการตลาด เนื่องจาก Mattel ในสมัยนั้นเป็นบริษัทที่มีพนักงานชายจำนวนมาก เมื่อพวกเขาต้องยืนขายตุ๊กตาบาร์บี้ย่อมสร้างความรู้สึกที่ตรงข้ามกับ ‘คุ้นชินและสบายใจ’ อย่างสิ้นเชิง แถมเหล่าคุณแม่ของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ชอบใจบาร์บี้นัก รูธจึงปรึกษาดร.เออร์เนสต์ ดิคเตอร์ นักวิเคราะห์จิตวิทยาชาวเวียนนาที่ได้รับฉายาว่า ‘เจ้าแห่งการปั่นหัว’  ซึ่งหลังจากการทำวิจัยและโฟกัสกรุ๊ป พวกเขาก็ได้คำตอบว่าสิ่งที่เหล่าคุณแม่กลัวมากกว่าลูกสาวรีบสวย รีบโตเกินวัย คือลูกสาวจะไม่สามารถหาสามีได้ในอนาคต เพราะยุค 1950 การมีสามีนั้นหมายถึงความมั่นคงในชีวิต  ฉะนั้นพวกเขาต้องทำให้เหล่าแม่ ๆ มองข้ามเรื่องหน้าอก แล้วคิดว่าคงไม่เสียหายอะไรถ้าจะซื้อตุ๊กตาที่ทำให้ลูกได้ฝึกแต่งตัวและดูแลตัวเองบ้าง ภาพโฆษณาแรกของบาร์บี้จึงเป็นตุ๊กตาที่สวมชุดเจ้าสาวชวนฝันฉายชัดอยู่ในจอทีวี เพื่อให้เหล่าคุณแม่เปิดใจซื้อตุ๊กตาตัวนี้มาให้ลูกสาวเล่น ซึ่งตุ๊กตาบาร์บี้ชุดนี้ก็ขายดีจนแทบจะผลิตไม่ทันเลยทีเดียว เมื่อรูธปลดล็อกใจคนซื้ออย่างเหล่าแม่ ๆ ได้สำเร็จ ด่านต่อไปคือการทำให้เด็กผู้หญิงได้จินตนาการถึงอาชีพและความใฝ่ฝันที่มีมากกว่าการสวมผ้ากันเปื้อนทำงานบ้าน รูธจึงใช้ความตั้งใจของเธอ ผสานกับเทคนิคการตลาดแบบเดียวกับทฤษฎีการขาย ‘ใบมีดโกน’ เมื่อคุณซื้อ ‘มีดโกน’ แน่นอนว่าคุณต้องซื้อ ‘ใบมีด’ เพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งใบมีดเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อย ๆ เช่นเดียวกับบาร์บี้ แม้คุณจะซื้อได้ในราคา 3 ดอลลาร์ แต่เสื้อผ้าของบาร์บี้ราคาจะอยู่ที่ 1-5 ดอลลาร์ (ราคาดังกล่าวเป็นราคาในช่วงแรก ๆ ที่เปิดตัวบาร์บี้) และคุณต้องคอยเปลี่ยนชุดให้ตุ๊กตาบาร์บี้เพื่อเปลี่ยนอาชีพของพวกเธออีกด้วย นอกจากการเปลี่ยนชุดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทแล้ว รูธมองว่าชุดของบาร์บี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและความเป็นไปได้สำหรับผู้หญิง “ตุ๊กตาบาร์บี้แสดงให้เห็นเสมอว่า ผู้หญิงมีทางเลือกแม้ยามที่เธอยังเยาว์วัย ตุ๊กตาบาร์บี้ไม่จำเป็นต้องยอมเป็นแค่แฟนสาวของเคน หรือนักช้อปตัวยงเท่านั้น เธอมีเสื้อผ้าที่บ่งบอกอาชีพอย่างพยาบาล แอร์โฮสเตส นักร้องในไนท์คลับ” เพื่อย้ำถึงแนวคิดนี้ บริษัท Mattel จึงได้เปิดตัวแคมเปญโฆษณา We Girls Can Do Anything ในปี 1985 เพื่อสนับสนุนให้สาว ๆ เชื่อมั่นในความฝันและตัวเธอเอง พร้อมกับเพลงที่ร้องว่า “พวกเราสาว ๆ ทำได้ทุกอย่าง ใช่ไหม ตุ๊กตาบาร์บี้” และ “ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ ตราบเท่าที่ฉันพยายาม” และต่อมาในปี 2016 บาร์บี้ก็เริ่มมีรูปร่าง สีผิว สีผมที่หลากหลายมากขึ้น เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่บ่งบอกอาชีพนับร้อยของพวกเธอ รูธ แฮนด์เลอร์: ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาสุดวาบหวามเป็น 'Barbie' ที่คอยเติมฝันให้เด็กผู้หญิง

ที่มาภาพ http://www.barbiemedia.com/

เสียงวิจารณ์และความย้อนแย้ง  หากบาร์บี้เป็นดาราเซเลบฯ ในสมัยนี้ ชื่อของเธอคงติดเทรนด์ทวิตเตอร์พร้อมแฮชแท็กประเด็นร้อนอยู่อยู่บ่อย ๆ อย่างสัดส่วนรูปร่างที่ถูกออกแบบมาให้รับกับการสวมเสื้อผ้าหลายชิ้น และใส่เครื่องประดับต่าง ๆ บาร์บี้จึงมีเอวคอดและคอยาวกว่าสัดส่วนจริงของมนุษย์ นั่นทำให้กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงสัดส่วนร่างกายที่ไม่สมจริงของเธอ ถึงกับมีนักวิจัยในฟินแลนด์เคยกล่าวไว้ว่า  “ถ้าตุ๊กตาบาร์บี้เป็นผู้หญิงจริง ๆ เธอคงมีไขมันในร่างกายน้อยเกินกว่าจะมีประจำเดือนได้” แต่สำหรับผู้ผลิตอย่าง Mattel กลับมองว่า นี่คือตุ๊กตาสำหรับแต่งตัว และพวกเขาไม่ได้ตั้งใจทำมาให้มีสัดส่วนเดียวกันกับมนุษย์ ถึงอย่างนั้นบาร์บี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้านวัตถุนิยม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การสะสมรถ บ้าน และเสื้อผ้า แถมยุค 90s ที่ Mattel ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้มีเสียง ดันมีประโยคที่ว่า “เรียนเลขยากจัง !” ออกมาด้วย  แม้จะมีประโยคให้กำลังใจอื่น ๆ อีกมากมายแต่ผู้คนยังคงจดจำประโยคนี้ได้ดี และออกมาแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการเหมารวม (stereotype) เด็กผู้หญิงว่าไม่สันทัดเรื่องการคำนวณ ซึ่งนับเป็นความย้อนแย้งกับวิสัยทัศน์ของรูธที่ต้องการให้เด็ก ๆ เชื่อมั่นว่าพวกเธอ ‘เป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น’   ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้ง นอกจากบาร์บี้ที่ต้องเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว คุณแม่ของบาร์บี้อย่างรูธ แฮนด์เลอร์เองก็มีข่าวที่เป็นประเด็นร้อนไม้แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์กับแจ็ค ไรอัน จนต้องตัดขาดความสัมพันธ์และไม่อาจประสานรอยร้าว  รวมทั้งข่าวการถูกดำเนินคดีในปี 1975 หลังจากยอดขายบาร์บี้ลดฮวบลงผิดปกติ และเริ่มมีการตรวจสอบบัญชีกลางของ Mattel ซึ่งพบว่ารูธ แฮนด์เลอร์แต่งบัญชีขึ้นมาเพื่อปั่นหุ้น เธอจึงถูกคณะลูกขุนตัดสินในข้อหาฉ้อโกงและแจ้งบัญชีเท็จ คุณแม่ของบาร์บี้จึงไม่อาจยืนอยู่บนตำแหน่งเดิมอีกต่อไป  เธอถูกบีบให้ลาออกพร้อมกับเอลเลียต แฮนด์เลอร์ แต่ก็ยังนับว่าโชคดีที่ปี 1997 จิล บาราดขึ้นมาเป็นซีอีโอคนใหม่ของ Mattel และได้พารูธกลับมายังบริษัทอย่างมีเกียรติอีกครั้งในฐานะคุณแม่ของบาร์บี้ จนกระทั่งปี 2002 รูธเริ่มป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และจากโลกใบนี้ไปในวัย 80 ปี ทิ้งไว้เพียงตำนานของตุ๊กตาสาวหุ่นสวยที่ถูกเปลี่ยนความหมายจากนัยทางเพศ ให้เป็นตุ๊กตาที่เด็ก ๆ ได้จินตนาการถึง ‘ผู้ใหญ่’ ที่อยากจะเป็น อาชีพที่ใฝ่ฝัน ไม่ว่าจะเป็นนักบัลเล่ต์ นักร้อง นักธุรกิจ นักบินอวกาศ ไปจนถึงประธานาธิบดี เช่นเดียวกับสิ่งที่จูดี้ แชคเคิลฟอร์ด (Judy Shackelford ) อดีตรองประธานอาวุโสฝ่ายของเล่นเด็กผู้หญิงแห่ง Mattel กล่าวว่า “ฉันว่าเด็กสาวตัวน้อยที่เล่นกับบาร์บี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเธอได้มีโอกาสสมมติว่ากำลังทำสิ่งที่มอบกำลังใจให้กับตัวเธอเอง เราเปิดประตูให้เด็ก ๆ ได้จินตนาการ...เด็กสาวตัวน้อยในวันนี้ พวกเธอจะเป็นอะไรก็ได้ ถ้าพวกเธอเชื่อมั่นในตัวเองและพยายามอย่างสุดความสามารถ”    ที่มา สารคดี The Toys That Made Us ตอน Barbie (Netflix) http://www.barbiemedia.com/timeline.html https://www.thoughtco.com/history-of-barbie-dolls-1991344 https://www.britannica.com/topic/Barbie   ที่มาภาพ http://www.barbiemedia.com/