06 ก.ค. 2564 | 09:41 น.
Neo Klimt #1 by PCOOL
The People: ทำไมผลงานถึงได้รับเลือกให้ไปโชว์ที่ London Art Biennale ปีติ: คือผมก็ทำงาน Digital Fine Arts มา 5 ปีแล้ว แต่ว่าก็ยังไม่เคยเผยแพร่ ไม่เคยแสดงงานที่ไหนเลย ยังไม่เคยเปิดตัว แล้วเก็บสะสมงานมาเรื่อย ๆ ทีนี้ช่วงโควิด-19 มันก็มีข้อดีอยู่ตรงที่ว่าเวลาว่างเรามากขึ้น เป็นปีที่เราได้งานดี ๆ ขึ้นมาหลายชิ้น แล้วก็ประกอบกับบรรยากาศหลายอย่างที่มันขุ่นมัว ชีวิตมันก็แย่ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง เราก็เลยเสิร์ชหาว่ามันมีงานประกวด งานแสดง งาน painting ระดับโลกที่ไหนบ้าง ก็พอดีเสิร์ชไปมาก็ไปเจอ London Biennale นี่แหละ เมื่อต้นปีเขาให้ส่งไป เดดไลน์ประมาณช่วงมีนาคม-เมษายน ให้ส่งไป 3 ชิ้น ถ้าใครได้คัดเลือกเขาก็จะคัดไปแค่ชิ้นเดียว ลองส่งไปก็ปรากฏว่าได้ขึ้นมา เซอร์ไพรส์เหมือนกัน เพราะว่าเป็นการส่งประกวด Digital painting ครั้งแรกในชีวิต เราก็ถือว่าเป็นการเปิดตัวครั้งแรก แสดงงานครั้งแรกได้ที่ลอนดอนเลย ก็ดีใจ Digital painting โดยเฉพาะ Fine Arts ยุคหลายปีที่ผ่านมานี้มันเป็นช่วงเริ่มต้นนะ คือจริง ๆ ในวงการ painting หรือแกลเลอรีต่าง ๆ เมื่อประมาณสัก 4-5 ปีมานี้ จริง ๆ เขายังไม่ค่อยยอมรับ เพิ่งจะยอมรับกันจริง ๆ เมื่อประมาณสัก 2 ปีนี้ เท่าที่ผมติดตามนะ ที่ยอมเอาไปเชิดหน้าชูตาได้เทียบเท่ากับ painting เข้าไปอยู่ในการประกวด คือพูดคำนี้ได้เต็มปากเต็มคำก่อนหน้านี้ คำว่า Digital Arts มันกลายเป็นว่าอยู่ในวงการของพวกแอนิเมชัน พวกออกแบบเกม ภาพคล้าย ๆ การ์ตูน แล้วถ้าเป็นวิดีโอก็จะเป็นวิดีโอแบบเซอร์ ๆ หลุดโลกอะไรสั้น ๆ เราอาจจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง มันจะออกแนวนั้นหมดเลย คือที่เป็น Fine Arts จริง ๆ แทบไม่มี อย่างทุกวันนี้ถ้าไปเสิร์ช Google Digital Arts คุณก็จะเห็นงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นอย่างที่บอก แล้วมีงาน Fine Arts จริง ๆ อยู่น้อยมาก แล้วในบรรดาเท่าที่มี ที่ถึงขั้นที่เราดูแล้วรู้สึกว่าเป็นงานที่ดี หรือว่างานที่สวยยิ่งน้อยลงไปอีก หรือแทบไม่มี เพราะฉะนั้น มันก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก The People: คุณนำผลงานอะไรไปนำเสนอ ปีติ: งานชื่อ Neo Klimt No.1 ส่งไป 3 ภาพ เป็น Neo Klimt หมดเลย 1 2 3 เขาเลือกหมายเลข 1 The People: ทำไมเลือกทำ Neo Klimt ชอบอะไรในกุสตาฟ คลิมต์เป็นพิเศษไหม ปีติ: ที่จริงผมทำงานหลายสไตล์ แล้วตลอดเวลาที่ทำ คือเราต้องหาบุคลิกของตัวเราเองอยู่แล้ว อันนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้วแหละ แต่ว่าเราก็รู้สึกสนุกที่จะเลียนแบบมาสเตอร์หลาย ๆ คนที่เรารัก แล้วเราก็พยายามจะดูซิว่างานที่ดิจิทัลมันสามารถทำงานแบบ (Vincent) Van Gogh ได้ไหม มันสามารถทำงานแบบ (Claude) Monet ได้ไหม รวมทั้ง (Gustav) Klimt ด้วย ก็มีงานหลายแนว แล้ว Klimt ก็ทำไว้หลายชิ้น แต่ว่าชิ้นที่ได้แสดง Biennale มันก็ดีที่สุดจริง ๆ ในคอลเลกชันที่มี มันซับซ้อน มันค่อนข้างละเอียด ซึ่งไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ คือคนมักจะตั้งคำถามอยากรู้ว่าเทคนิคการทำในดิจิทัล มันยังเป็นยุคแรกเริ่มนะ บอกได้คร่าว ๆ ว่ามันก็เหมือนกับเราทำงานบน iPad ที่มี brush มาให้ แล้ว brush นี่มันก็ โห! เยอะมาก เราเคยเล่น เยอะกว่า brush จริง ๆ ที่ศิลปินใช้เพนต์กันอยู่ทุกวันนี้ด้วยซ้ำ มันก็อยู่ที่เราเลือก Klimt มันก็เป็นส่วนหนึ่ง คือว่ามันก็มี brush แบบ Klimt อยู่ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะที่เราจะเอาไอ้สิ่งที่มันมีอยู่ในคอมพิวเตอร์ที่มันซัพพอร์ตเราอยู่ เข้ามาประกอบกันแล้วเข้ามาเป็นชิ้นงานที่ซับซ้อนแล้วก็ลงตัว คือบทบาทของเรากับคอมพิวเตอร์มันเปรียบเทียบได้หลายอย่าง ตลอดเวลาที่ทำงาน ผมก็ยังนึกถึงว่าเหมือนกับเราเป็นศิลปิน ในอดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบันก็เถอะที่ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนเขาจะมีผู้ช่วยและมีทีมงานของเขา เขาก็จะให้ผู้ช่วยอาจจะขึ้นภาพก่อน แล้วตัวศิลปินใหญ่ค่อยมาทำรายละเอียดอีกทีหนึ่ง ก็จะคุมเปรียบเสมือนกับเป็นผู้กำกับ อันนี้ก็คล้ายกัน คือว่าเราโชคดีที่เกิดมาปั๊บได้มีผู้ช่วยมาเป็นทีมเลย ก็คือคอมพิวเตอร์ (หัวเราะ) แล้วเราก็มีบทบาทเป็นผู้กำกับ