สัมภาษณ์ คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพระดับโลกผู้รอดจากชีวิตไร้บ้านและหิมะถล่ม

สัมภาษณ์ คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพระดับโลกผู้รอดจากชีวิตไร้บ้านและหิมะถล่ม
คอรี ริชาร์ดส์ คือ ช่างภาพระดับโลกของ National Geographic ชีวิตในวัยเด็กของเขาต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก ต้องออกจากโรงเรียนในสมัยขึ้นมัธยมปลาย เคยติดยา และถูกส่งไปอยู่สถานบำบัด ซึ่งเขาหนีออกมาถึง 3 ครั้ง  จนกระทั่งทางบ้านยื่นคำขาดว่า ถ้าเขาไม่ยอมรับการบำบัด ที่บ้านก็จะไม่ต้อนรับเขาอีก ซึ่งเขาเลือกที่จะไม่ยอมกลับเข้ารับการบำบัด และใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้านแทน  แม้จะออกนอกลู่นอกทาง แต่ริชาร์ดส์ก็ไม่ลืมเป้าหมายที่มีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่จะต้องสร้างอะไรดี ๆ ไว้ให้กับโลกนี้ เขาออกเดินทางและเป็นนักผจญภัยไปตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะการสำรวจภูเขาสูง ซึ่งครั้งหนึ่งเกือบทำให้เขาเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขา “เป็นผู้ใหญ่” และก้าวสู่การเป็นช่างภาพและนักสำรวจมืออาชีพ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็นำมาซึ่งอาการโรคเครียดภายหลังภยันตราย (PTSD) อาการติดเหล้าเรื้อรังที่กลับมาอีกครั้ง รวมถึงการเผชิญกับปมปัญหาชีวิตในวัยเด็ก ที่เขาต้องใช้เวลาต่อสู้กับมันอย่างยาวนาน  แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มองว่า ปัญหาในอดีตทั้งหลายไม่ยากลำบากเท่ากับปัญหาที่เผชิญในปัจจุบันขณะ เหมือนเช่นปัจจุบันที่สหรัฐฯ ต้องเจอกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบไม่สิ้น ซึ่งเขามองว่า มันเป็นปัญหาที่ยากที่สุดที่เขาเคยเผชิญ  รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ของ The People ชิ้นนี้   The People: นอกจากจะเป็นนักถ่ายภาพระดับโลกแล้ว คุณยังเป็นนักไต่เขาชั้นนำด้วย คุณมองว่าทั้งสองกิจกรรมนี้มันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร? ริชาร์ดส์: ไม่เคยมีใครถามผมมาก่อนเลยว่า ทั้งสองอย่างมันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร? ผมคงพูดได้ว่า กิจกรรมทั้งสองอย่างจำเป็นต้องใช้สมาธิและสัญชาติญาณเป็นอย่างสูง มันจึงจำเป็นต้องอาศัยปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า และการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อไปถึงเป้าหมายอะไรก็ตามของคุณ  ดังนั้นถ้าคุณไต่เขา คุณก็จำเป็นต้องวางแผนคิดการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าเท่าที่คุณจะสามารถคิดได้ แล้วก็ทำให้ได้ตามที่คุณวางแผนไว้ การถ่ายภาพก็เหมือนกัน การถ่ายภาพที่ประสบความสำเร็จก็มักจะมาจากการค้นคว้า...อาจไม่ถึงกับมีความคาดหวังอะไรล่วงหน้า แต่ก็ต้องรู้ว่าเราจะถ่ายรูปใคร วัฒนธรรมไหน ความแตกต่างปลีกย่อยเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องวางแผนว่า จะวางองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องที่เกิดขึ้นในบริบทของเรื่องเล่าที่เราต้องการจะบอกออกมาอย่างไร ทั้งสองอย่างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องคิดประมวลล่วงหน้าถึงการณ์ที่จะเกิดขึ้น แล้วจริง ๆ ในชีวิตของเราไม่ว่าจะเป็นการทำอะไร เราก็ไม่มีทางรู้ล่วงหน้าได้หรอกว่า เบื้องหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราจึงสามารถคาดการณ์อะไรออกไปได้หลากหลาย แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นมีอะไรที่ซับซ้อนกว่ามาก มีเรื่องให้ต้องแปลกใจมากมาย แล้วมันก็จำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา ซึ่งช่วยให้คุณสามารถปรับตัว การจำลองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในขณะที่คุณกำลังไต่เขาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพอากาศ หรือสิ่งที่คาดไม่ถึงในเส้นทางที่คุณกำลังไป เช่นเดียวกับสิ่งที่จะปรากฏต่อหน้ากล้องในขณะที่คุณกำลังบันทึกชีวิตความเป็นไประหว่างการถ่ายภาพของคุณ สำหรับผมนี่คือส่วนที่ทั้งสองกิจกรรมมีความเหมือนกันอย่างมาก แล้วจริง ๆ ก็มีส่วนที่เหมือนกันอื่น ๆ อีก อย่างเรื่องความคิดสร้างสรรค์ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยคิดว่า การไต่เขามันต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยเหรอ? แต่ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนมากในการแก้ไขปัญหา การหาทางไต่ไปให้ถึงจุดสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเส้นทางที่ยังไม่มีใครเคยไปมาก่อน พระเจ้า! มันมีความเหมือนอีกมากที่ผมไม่เคยจับจุดเชื่อมโยงมาก่อน [caption id="attachment_26964" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพระดับโลกผู้รอดจากชีวิตไร้บ้านและหิมะถล่ม ภาพโดย คอรี ริชาร์ดส์[/caption] The People: คุณเป็นเด็กเรียนไม่จบ แต่กลับมาถึงจุดนี้ได้ คุณทำอย่างไรถึงสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ผ่านระบบตามจารีต ริชาร์ดส์: เส้นทางที่ทำให้ผมสามารถประสบความสำเร็จได้นอกระบบคือการไม่ยอมละทิ้งความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดมุ่งหมาย แล้วก็การมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นมันก็ต้องพูดถึงเรื่องการสร้างความกระจ่างว่า อะไรแน่ที่คุณต้องการไขว่คว้า แล้วก็ต้องบากบั่นเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น แน่นอนว่าผมไม่สนับสนุนความบากบั่นที่จะทำให้คนอื่นต้องเดือดร้อน หรือทำให้คนอื่นต้องสูญเสีย  ผมต้องบอกว่า มันมีอะไรที่เราจำเป็นต้องยอมเสียไปเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายแต่ละอย่างในระดับที่สูงสุด แล้วการเสียสละบางอย่างนั้นบางทีก็เป็นสิ่งที่เจ็บปวดมาก คุณอาจต้องยอมเสียสละส่วนหนึ่งของชีวิตส่วนตัวไป ยอมสูญเสียความสัมพันธ์ แล้วที่ผ่านมา ผมก็พร้อมที่จะต้องสละ ยอมปล่อยอะไรบางอย่างซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจไป ผมพร้อมที่จะเสียสละเวลาเพื่อไปถึงเป้าหมาย ซึ่งสำหรับคนอื่นเขาอาจจะใช้เวลานั้นไปทำอย่างอื่นในชีวิต มันไม่มีคำตอบหรือเส้นทางเดียวสำหรับคำถามนี้ มันไม่มีคำตอบไหนที่จะตอบได้จริง ๆ ว่า ผมสามารถทำได้อย่างนี้ นอกจากที่บอกไปซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ตรงที่สุดสำหรับผม   The People: แล้วตอนที่คุณออกจากโรงเรียน ตอนนั้นคุณคิดอะไรอยู่ ตอนนั้นคุณรู้หรือยังว่า เป้าหมายของคุณคืออะไร? ริชาร์ดส์: ใช่ ผมไม่ได้ออกจากโรงเรียนด้วยความตั้งใจว่า "ผมจะเป็นช่างถ่ายภาพ" หรือ "ผมจะเป็นนักสำรวจ" จริง ๆ แล้ว ผมออกจากโรงเรียนแล้วก็ชูนิ้วกลางใส่โลกรอบตัวแล้วบอกตัวเองว่า ผมรู้อะไรมากกว่าใครทั้งนั้น แต่จริง ๆ แล้ว ผมเปล่าเลย ผมโชคดีมาก ๆ กับความบังเอิญต่าง ๆ ที่ส่งผลดีกับสิ่งที่ผมคลั่งไคล้ ผมยังมีคนที่ให้คำแนะนำที่เก่งมาก ๆ ผมยังอยู่ท่ามกลางความเอื้อเฟื้อและผู้คนที่พร้อมจะลงทุนให้กับอนาคตและความเป็นอยู่ที่ดีของผม แม้แต่ในเวลาที่ผมตกต่ำที่สุด คุณชี้ได้ถูกต้องว่า ตอนนั้นผมไม่ได้มีเป้าหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผมสามารถมองหาเป้าหมายจากการปรึกษาผู้คนที่อยู่รอบตัวที่พยายามช่วยให้ผมเดินไปถูกเส้นทางเพื่อสู่เป้าหมายของผม ซึ่งจริง ๆ มันมีโอกาสที่ผมจะหันไปทางอื่นได้ง่าย ๆ ผู้ชายในสหรัฐฯ ที่ออกจากโรงเรียนมัธยมก่อนอายุ 15 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร มันไม่ใช่เรื่องว่า เขาจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า พวกเขาไม่มีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ มันจึงอาจเป็นสิ่งที่ต่างออกไปแบบคนละขั้ว อาจเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม ผมถือว่าโชคดีมาก [caption id="attachment_26965" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพระดับโลกผู้รอดจากชีวิตไร้บ้านและหิมะถล่ม ภาพโดย คอรี ริชาร์ดส์[/caption] The People: ตอนเป็นวัยรุ่นคุณหนีออกจากสถานบำบัดถึง 3 ครั้ง? ริชาร์ดส์: ใช่ ผมหนีออกจากสถานบำบัดตอนผมอายุ 14-15 ปี 3 ครั้ง ในครั้งสุดท้าย พ่อแม่ผมมาถึงจุดที่ว่า ผมต้องยอมทำตามคำสั่งของพวกเขาและยอมอยู่ในสถานบำบัดและทำตามกฎของสถานบำบัดหรือ ผมจะออกจากสถานบำบัดก็ได้ แต่พวกเขาจะไม่ช่วย และไม่ยอมรับผมกลับบ้านอีก ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มของการอยู่อย่างไร้บ้านของผมซึ่งส่วนใหญ่ผมก็ไม่ได้นอนข้างถนนเสียทีเดียวแต่ไปอยู่กับเพื่อน มีบ้างที่ต้องนอนข้างถนน มันเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสน ผมเองก็มองสถานการณ์บนพื้นฐานความเป็นจริงที่สุดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผม แล้วผมก็มั่นใจว่ามันไม่ใช่การอยู่ในสถานบำบัด   The People: คุณคิดว่าพ่อแม่ของคุณจะรู้สึกลำบากใจแค่ไหนสำหรับการตัดสินใจแบบนั้น ริชาร์ดส์: ผมเชื่อว่า...หลังจากที่ผมโตขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อยู่แม้ผมอายุจะ 40 ปี แล้ว แต่ก็ยังไม่คิดว่าผมเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเข้าใจก็คือ พ่อแม่ก็คือคนสองคนที่มาอยู่ด้วยกันสร้างครอบครัวกัน ส่วนตัวผมเชื่อว่า สิ่งที่พ่อกับแม่ตัดสินใจก็คือ เราไม่อาจทำลายตัวเองเพียงเพื่อทำให้ลูกมีชีวิตที่ดี ณ จุดหนึ่งคุณภาพชีวิตของพวกเขาควรต้องมาก่อน ผมรู้ว่าหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย แต่ผมเห็นด้วยกับการตัดสินใจนั้นอย่างเต็มที่ เพราะครอบครัวหนึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันนี้ผมไม่ได้หมายถึงในเชิงเงินทองนะ ถ้าหากทั้งพ่อทั้งแม่ต่างก็กำลังทำร้ายตัวเอง มันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนคำพูดเวลาขึ้นเครื่องบินที่ว่า กรุณาสวมหน้ากากให้ตัวเองก่อนที่จะช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งมันก็คือความจริงสากลในจุดหนึ่ง ถ้าหากเครื่องบินกำลังตก ออกซิเจนกำลังจะหมด ถ้าคุณพยายามจะช่วยคนอื่นก่อน แต่คุณกลับหมดสติไป คุณก็ช่วยใครไม่ได้เลย ตามความคิดผม นั่นคือสิ่งที่พ่อกับแม่ทำ มันเป็นสิ่งที่น่าเศร้ามาก ผมได้แต่จินตนาการถึงความเครียด ความหวาดกลัว ความโกรธ ความเจ็บปวด ที่พวกเขาต้องเผชิญ เมื่อพวกเขาจำเป็นต้องเลือกระหว่างชีวิตของตัวเองกับชีวิตของลูกคนเล็ก ผมไม่อาจจินตนาการถึงตัวเองที่ต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นได้เลย ผมไม่อาจจินตนาการได้เลยว่าการตัดสินใจเช่นนั้นจะรู้สึกเช่นใด และมันจะต้องเจ็บปวดแค่ไหนเมื่อต้องฝันร้ายตื่นกลางดึกและนั่งกังวลว่าพวกเขาตัดสินใจถูกหรือเปล่า?  แต่ในท้ายที่สุด การตัดสินใจนั้นบีบให้ผมต้องหาทางที่จะรอดหรือจะไม่รอด? ซึ่งผมเลือกที่จะไปต่อ ขณะเดียวกันก็ต้องทราบว่า พ่อกับแม่ก็ยังรอเสมอในวันที่ผมจะกลับไปโดยผมต้องยอมทำตามกฎอะไรบางอย่างเพื่อที่จะช่วยให้ผมสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคม [caption id="attachment_26963" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพระดับโลกผู้รอดจากชีวิตไร้บ้านและหิมะถล่ม ภาพโดย คอรี ริชาร์ดส์[/caption] The People: อะไรที่ช่วยให้คุณสามารถเอาตัวรอดได้ในภาวะไร้บ้าน และอะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณกลับไปหาครอบครัว ริชาร์ดส์: ผมก็ไม่อยากจะพูดอะไรที่มันเซนซิทีฟเกินไป แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นอยู่และเป็นไปอย่างมั่นคงแม้แต่ในช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุด แม้แต่ในเวลาที่พ่อแม่ตัดสินใจว่า ผมไม่สามารถอยู่ในบ้านของพวกเขาได้อีกต่อไป มันก็ยังมีความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจระหว่างกันอยู่ ที่ผมตัดสินใจว่าผมจะอยู่บ้านต่อไม่ได้และตัดสินใจเลือกทางเดินเอง เมื่อผมไม่อาจทำตามกฎของพวกเขาได้ ไม่ใช่เพราะการขาดความรัก ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ ความห่วงใย แต่จริง ๆ แล้ว ผมว่ามันมีทุกอย่างที่กล่าวมา มันเป็นทางเลือกที่ยากของพ่อแม่เพื่อลูกของตัวเอง สิ่งที่ทำให้ผมก้าวต่อไปข้างหน้า พูดให้เจาะจงลงไปก็คือ ความคิดที่ว่า ผมจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างให้กับโลก มันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกมาตั้งแต่ยังเด็ก ผมอยากจะจากโลกนี้ไปในสภาพที่มันดีขึ้นกว่าเดิม ผมอยากจะฝากอะไรดี ๆ ให้กับโลกรอบข้างผมอยากจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากัน แล้วผมก็จำความรู้สึกนั้นได้เป็นอย่างดีสมัยเป็นวัยรุ่นที่ไป ๆ มา ๆ ผมออกนอกลู่นอกทาง ออกจากโรงเรียน ติดยา ผมไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่ตั้งไว้ ผมมีพฤติกรรมที่ทำลายตัวเองมากกว่าที่จะทำอะไรให้มันดีขึ้น แต่ผมรู้อยู่เสมอว่า ผมมีเป้าหมายบางอย่างที่ผมต้องไปให้ถึง และจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองไปไม่ถึงจุดนั้น ส่วนจุดเปลี่ยนนั้น...อย่างที่ผมบอกว่า พอผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำตามเป้าหมายและยิ่งถอยห่างจากมันเป้าหมาย ที่ผมก็ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนนัก ณ ตอนนั้น ความรู้สึกว่างเปล่าและความเจ็บปวดมันก็ยิ่งมากขึ้นตาม การออกนอกเส้นทางจากเป้าหมาย อุดมคติ และสิ่งที่ผมอยากจะเป็นในชีวิตมันก็ยิ่งเจ็บปวด แล้วมันก็ผลักให้ผมกลับมา หรือจุดที่ทำให้ผมยอมประนีประนอมซึ่งทำให้ผมมาอยู่ในสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้   The People: หลายปีก่อน คุณสามารถเอาชีวิตรอดกลับมาจากเหตุหิมะถล่มที่รุนแรงมากได้ เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตคุณอย่างไรบ้าง? ริชาร์ดส์: ชีวิตหลังหิมะถล่มบน Gasherbrum II ซึ่งก็จะครอบ 10 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ (2021) มันทำให้ผมได้เข้ามาอยู่ในเส้นทางอาชีพที่เรียกว่าอยู่คนละชั้นบรรยากาศแบบที่ผมเองก็ไม่คาดคิด เรียกได้ว่า มันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำมาซึ่งโชคลาภให้ผมได้ทำงานร่วมมือกับแบรนด์และงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์อย่างโรลส์-รอยซ์ ผมคิดว่าวันนั้นที่เกิดหิมะถล่มเป็นเหมือนจุดกระโดดที่พาผมไปยังฉากที่ 2 ของชีวิต คือการเป็นช่างภาพและนักสำรวจ มันยังเป็นจุดเริ่มต้นของอาการโรคเครียดภายหลังภยันตราย (PTSD) และการต้องกลับไปแก้ไขปมชีวิตและความเจ็บปวดในวัยเด็กซึ่งย้อนกลับมาเล่นงานหลังเหตุการณ์หิมะถล่มอีกครั้ง ผมมองว่า เหตุการณ์หิมะถล่มคราวนั้นทำให้ผมได้เริ่มต้นชีวิตของการเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะดีหรือเลวมันยังเป็นการเริ่มต้นของการต่อสู้กับปัญหาพิษสุราเรื้อรังอีกครั้ง เป็นจุดเริ่มของจุบจบของการแต่งงาน เป็นจุดเริ่มของปัญหาภาวะซึมเศร้าอันยาวนาน แล้วก็ด้านมืดอะไรหลายอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ผมได้เดินทางไปรอบโลกเพื่อเล่าเรื่องราว เป็นจุดเริ่มของการศึกษาขั้นสูงขึ้นไปอีกในด้านการเล่าเรื่องอย่างลึกซึ้งเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมที่กว้างกว่า เป็นจุดเริ่มของการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อตัวและโอกาสอื่น ๆ ที่ตามมา [caption id="attachment_26966" align="alignnone" width="1200"] สัมภาษณ์ คอรี ริชาร์ดส์ ช่างภาพระดับโลกผู้รอดจากชีวิตไร้บ้านและหิมะถล่ม ภาพโดย คอรี ริชาร์ดส์[/caption] The People: คุณกล่าวถึงวิกฤติในชีวิตหลายครั้ง ครั้งไหนที่คุณมองว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะอะไร? ริชาร์ดส์: จริง ๆ แล้ว ผมไม่เคยย้อนกลับไปมองแล้วคิดจากจุดที่หันกลับไปว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่ผมเคยทำ ผมไม่เคยทำเลย จริง ๆ แล้ว ผมเชื่อว่า สิ่งที่ยากที่สุดที่ผมเคยเจอ ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทุกคนนั่นก็คือ สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ มันสร้างผลกระทบมากกว่า สร้างความผิดหวังมากกว่า สร้างความสับสนมากกว่าเรื่องอะไรต่าง ๆ ที่ผมเคยผ่านมาในชีวิต เรื่องของโรคติดต่อที่ระบาดทั่วโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัว เพราะเราต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ห้ามพบเจอคนอื่น ผลกระทบที่เกิดกับหน้าที่การงาน สำหรับผมช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เครียดยิ่งกว่า ยากกว่าภูเขาลูกไหนที่ผมเคยปีน ยากกว่าภาวะซึมเศร้า หรืออาการติดสุราที่ผมเคยผ่านมา นี่คือช่วงเวลาที่ยากที่สุดในชีวิตของผม ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ เพราะมันทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับเป้าหมาย คุณค่า สายสัมพันธ์ แล้วมันก็มีอะไรที่หนักแน่นอยู่ในนั้นนั่นคือประสบการณ์ร่วมกันที่เป็นสากล นี่คือหนึ่งในครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เราสามารถมองหน้ากันแล้วพูดถึงประสบการณ์สากลที่มีร่วมกันซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างก็มีส่วนสัมพันธ์ แล้วมันก็มีพลังมาก แต่มันคือสิ่งที่ยากที่สุดในชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ของผม   The People: คุณไปถึงยอดเอเวอเรสต์โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยมาแล้ว คุณมีเป้าหมายอะไรต่อไป จะไปถึงอวกาศมั้ย? ริชาร์ดส์: ถ้าไปอวกาศได้ก็ดีสิ มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้นะใครจะรู้ ส่วนฤดูใบไม้ผลิหน้าผมจะลองเส้นทางใหม่ในการปีนเอเวอเรสต์ซึ่งไม่เคยมีใครใช้มาก่อน โดยมีแค่ผมกับคนร่วมทางโดยไม่ใช้ออกซิเจน ไม่มีเฌอปาคอยช่วย ซึ่งเราตื่นเต้นมาก เราเคยลองเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีกลาย ปี 2019 ปีนี้เราไม่ได้ไปเพราะการระบาด ฤดูกาลหน้าเราจะลองอีกครั้ง นั่นคือเป้าหมายระยะสั้น ก็อีก 8 เดือนข้างหน้า ผมฝึกซ้อมทุกวันด้วยเป้าหมายนี้ แล้วผมก็ตื่นเต้นมาก ๆ นอกจากนั้นก็ยังมีงานอื่นมากมายที่ผมอยากทำ ผมมีไอเดียเชิงศิลปะที่อยากสร้างสรรค์ ผมอยากจะทำอะไรบางอย่างบนพื้นฐานงานผ่าน ๆ ที่ผมเคยทำ แล้วเปลี่ยนมันเป็นอะไรบางอย่างที่ใหม่ เป็นเส้นทางใหม่นำไปสู่ ฉากที่ 3 ของชีวิต ซึ่งผมก็มีไอเดียอยู่บ้างแล้ว ผมคิดเรื่องของภาพยนตร์ในเชิงการกำกับ นอกเหนือจากนี้ผมก็อยากจะก้าวขึ้นมารับบทบาทผู้นำ แล้วก็อาจจะทำเรื่องเชิงนโยบายเมื่อผมแก่กว่านี้   The People: อยากจะทราบถึงโครงการ Final Challenge ที่คุณร่วมมือกับโรลส์-รอยซ์ คุณมีบทบาทอะไรบ้าง ริชาร์ดส์: ความร่วมมือกับโรลส์-รอยซ์อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นความร่วมมือกับแบรนด์ที่ผมชอบที่สุดที่เคยทำมา ผมถูกชวนให้ทำความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย แต่ผมแทบไม่ได้ทำเลย เพราะมันจำเป็นต้องไปด้วยกันได้ ผมจำเป็นต้องเลือกให้ดีว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์กับใคร มันจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์ที่จริงจัง และมีความเชื่อมโยงจริง ๆ สิ่งที่ผมรักในโรลส์-รอยซ์ก็คือ การใส่ใจกับรายละเอียดและการก้าวข้ามขีดจำกัดในสิ่งที่พวกเขาทำ ซึ่งก็คือการอยู่ในกลุ่มบนของการสร้างรถยนต์ แล้วผมก็ต้องการอยู่ในกลุ่มบนเสมอไม่ว่าในเรื่องไหนที่ผมทำ ผมต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดนั้น ผมคิดถึงเรื่องนี้ในการถ่ายภาพ การสำรวจ และการเลือกความร่วมมือ ไอเดียเบื้องหลังของ Final Challenge ก็คือการพารถยนต์ที่มีความทนทานและหรูหราที่สุดในโลกไปให้สุดขอบโลกด้วยเป้าหมายเพื่อดูว่าขีดสุดของมันอยู่ตรงไหน จริงๆ คำบรรยายลักษณะงานก็คือ พยายามทำให้รถมันพัง เพื่อดูว่าตรงไหนจะพัง และพังเพราะอะไร เราจึงพามันไปยังที่ราบสูงสก็อตแลนด์ พาไปยังทะลทรายอันว่างเปล่าในยูเออี เราพามันไปทั่วอเมริกาตะวันตก แล้วผมก็พยายามสุด ๆ ที่จะทำให้รถพัง พยายามจะใช้มันอย่างสุดเหวี่ยงเพื่อการถ่ายภาพและเล่าเรื่องราวของรถคันนี้ ผมพยายามอย่างเต็มที่ให้มันพัง แต่ผมก็ทำไม่สำเร็จเลย เราเริ่มต้นด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อที่จะใช้คัลลิแนน (Rolls Royce Cullinan) เป็นเครื่องมือในการสำรวจด้วยความหรูหราระดับสูงสุด ซึ่งเป็นนับเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต่างออกไปสำหรับผม ซึ่งผมก็ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกความพยายามของผมยังไงผมก็ทำให้รถพังไม่ได้ เรียกได้ว่านี่คือมาตรฐานทองคำสำหรับโรลส์-รอยซ์ ผมคงต้องพยายามให้มากกว่านี้ในคราวหน้า