read
interview
01 ก.ย. 2563 | 17:35 น.
นคร ชมพูชาติ ทนาย แอนดี ฮอลล์ นักวิจัยเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ถูกโรงงานฟ้องหมิ่นประมาท
Play
Loading...
คดีหมิ่นประมาทในประเทศไทย สามารถเอาผิดได้ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ในทางอาญานั้นมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่หลายประเทศที่ถือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักสำคัญจะไม่เอาผิดในทางอาญากับคดีหมิ่นประมาท
นอกจากนี้ กลไกการดำเนินคดีหมิ่นประมาทของไทยยังเป็นปัญหา เนื่องจากเมื่อมีการฟ้องคดีแล้ว ภาระการพิสูจน์ยังตกมาอยู่กับจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นหลัก ต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่ผู้ฟ้องหรือโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็น “โดยสิ้นสงสัย” ว่าโจทก์ผิดจริง แต่ในคดีหมิ่นประมาทหากจำเลยรับว่าตนพูดจริง ก็ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า ทำไมตนจึงมีสิทธิพูดได้ มันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างไร?
การฟ้องคดีหมิ่นประมาทในประเทศไทยจึงสามารถทำได้โดยง่าย เพราะผู้ฟ้องมักไม่ต้องรับภาระในการพิสูจน์ในชั้นศาล
แอนดี ฮอลล์
นักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากคดีหมิ่นประมาทในประเทศไทย เนื่องจากเขาทำหน้าที่ค้นคว้าข้อมูลให้กับองค์กรฟินน์วอตช์ (Finnwatch) องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในฟินแลนด์ ซึ่งพบเบาะแสการละเมิดแรงงานในโรงงานสับปะรดกระป๋องแห่งหนึ่ง
ทางองค์กรฟินน์วอตช์พยายามแจ้งให้บริษัทที่เกี่ยวข้องรับทราบ แต่คู่กรณีไม่ยอมรับและไม่ยอมให้ตรวจสอบ ฟินน์วอตช์จึงเผยแพร่ผลวิจัยของตนต่อสาธารณะ คู่กรณีจึงฟ้อง แอนดี ฮอลล์ นักวิจัย แต่กลับไม่ฟ้อง “ฟินน์วอตช์” ผู้ทำการวิจัยและเผยแพร่งานวิจัยแต่อย่างใด
หลังการต่อสู้อย่างยาวนาน ศาลฎีกาก็ได้ยกฟ้อง แอนดี ฮอลล์ ในคดีหมิ่นประมาททางอาญาไป แต่คู่กรณีก็ยังฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายเขาอีก 300 ล้านบาท แม้ว่าจะแพ้ในคดีอาญาไปแล้ว ทำให้มีผู้สงสัยว่า เหตุใดศาลจึงยังคงรับฟ้องในเรื่องนี้ไว้อีก?
The People จึงได้สอบถาม นคร ชมพูชาติ หัวหน้าทีมทนายความของแอนดี ฮอลล์ (และอนุกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) เพื่อช่วยให้ความรู้พื้นฐานตั้งแต่ความแตกต่างระหว่างการดำเนินคดีหมิ่นประมาทในทางแพ่งและอาญา การใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาโดยทุจริต ก่อนเข้ามาถึงกรณีของแอนดี ฮอลล์ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน ที่แม้จะพ้นจากคดีอาญามาได้ แต่ยังคงต้องสู้ในคดีแพ่งต่อไป
The People: การดำเนินคดีหมิ่นประมาทในทางแพ่งกับอาญาต่างกันอย่างไร
นคร:
ประเภทของคดี กรณีที่เป็นคดีอาญาจุดประสงค์ของการดำเนินคดีเพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา ซึ่งศาลก็กำหนดเรื่องการปรับ การให้จำคุก แต่คดีแพ่งเป็นเรื่องเรียกค่าเสียหาย แล้วก็ขอให้กระทำการใด ๆ เพื่อเยียวยาความเสียหาย เช่น ประกาศลงหนังสือพิมพ์ อะไรประเภทนี้ มันก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
ทีนี้ในหลายประเทศตอนนี้มันก็มี 2 ระบบ คือระบบที่เห็นว่า เรื่องหมิ่นประมาทควรจะเป็นแค่เรื่องที่ดำเนินการในเฉพาะทางแพ่งเท่านั้น ไม่ควรดำเนินคดีอาญา เพราะมันไม่ใช่อาชญากรรม แล้วการหมิ่นประมาทเป็นพื้นฐานมาจากการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ดังนั้น มันเป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ควรเอาคดีอาญามาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างนั้น
อย่างไรก็แล้วแต่ การแสดงความคิดเห็นก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญเราก็ให้สิทธิในเรื่องนี้ แต่ก็ระบุไว้ว่าต้องเป็นไปตามกฎหมาย นั่นคือคุณต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น แล้วก็กรณีที่คุณจะบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้จงใจทำให้เสียหายนะ คุณก็ต้องสืบแสดงให้ศาลเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์กับสาธารณชน คุณถึงจะมาอ้างได้ว่า อันนี้ไม่เป็นความผิด เรื่องนี้ก็เลยมีจุดให้ต้องพิจารณาว่า ทำอย่างนั้นได้จริง ๆ
อย่างไรก็แล้วแต่ ในประเทศไทยเรามันมีการหมิ่นประมาทอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วการดำเนินคดีแพ่งอย่างเดียวเขาก็จะรู้สึกว่า มันจะไม่สามารถไปยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอีกหรือที่ทำไปแล้วเขาเสียหายมาก ฉะนั้น ถ้าจะให้หยุดการกระทำเช่นนั้นจริง ๆ ก็ต้องดำเนินคดีอาญาด้วย เพราะกฎหมายไทยมีเรื่องคดีอาญาอยู่ด้วย ก็เลยยังมีการดำเนินคดีทั้งสองอย่างอยู่ คือทั้งอาญา ทั้งแพ่ง
ในประเทศเราก็เคยมีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายว่าการหมิ่นประมาทว่าควรจะมีแค่ทางแพ่งเท่านั้น แต่ว่าก็เป็นไปได้ยากอยู่ แล้วของเรามันมีลักษณะพิเศษเพราะมันไปใกล้เคียงกับมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน แล้วมีกรณีที่ไปกระทบกับสถาบัน ฉะนั้นพอจะขอแก้ไขกฎหมายอาญาเรื่องหมิ่นประมาท คนก็ผูกโยงไปว่า งั้นอีกหน่อยคุณก็เสียดสีสถาบันได้สิ อะไรอย่างนี้ พอไปคิดกันอย่างนั้น ส.ส. ส.ว. อะไรก็แล้วแต่ ฝ่ายความคิดที่ยึดมั่นในสถาบันก็จะไม่เห็นด้วย พอไม่เห็นด้วย การแก้ไขกฎหมายนี้เลยเกิดขึ้นได้ยาก
ปัจจุบันหนักขึ้นไปกว่านั้นคือมันมี พรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งการหมิ่นประมาทโดยนำสู่อินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ อะไรพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก็เลยมีกฎหมายต่างหาก แต่ก่อนกฎหมายกำหนดไว้ง่ายเกินไปว่า หมิ่นประมาทแล้วก็ต้องผิด พรบ.คอมฯ ด้วย หลัง ๆ กฎหมายก็ยอมแก้มาอีกหน่อยหนึ่งว่า ถ้าเป็นเรื่องหมิ่นประมาทก็ดำเนินคดีแค่หมิ่นประมาท แต่ถ้าเข้า พรบ.คอมพิวเตอร์ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จอะไรก็จะผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ จะเป็นความผิดค่อนข้างหนัก ปัญหาไม่ใช่แค่ผิดกฎหมายอาญาหมิ่นประมาทแล้ว กลายเป็นเรื่องผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษทางอาญา แล้วทุกวันนี้ก็มักจะเข้าข่ายเรื่องพวกนี้ทั้งสิ้น ดังที่เราจะเห็นได้ว่าฟ้องคดีกันมากมาย
The People: ด้วยกลไกตามระบบปัจจุบันมีการใช้กฎหมายนี้ในการปิดปาก?
นคร:
ก็แน่นอน ผลจากความนิยมในการดำเนินคดีอาญา มันเลยไปเข้าทางคนที่ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนักการเมือง รัฐบาล เอกชน บริษัททำธุรกิจที่ไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อะไรเขามากนัก เขาก็อาศัยโทษทางอาญามาเป็นเครื่องมือ ใครวิจารณ์เขาแล้วเข้าข่ายที่เขาจะฟ้องได้เขาก็ฟ้อง เลยเกิดเป็นกรณีที่เป็นการปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์ มันก็มีความพยายามที่จะใช้กัน
ขณะเดียวกัน ก็มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบอกว่า การฟ้องที่มีเจตนาทุจริตไม่ใช่เรื่องที่มีการดำเนินการอย่างที่เขามาฟ้อง ไม่เข้าข่ายอะไรเลย ศาลก็มีสิทธิที่จะไม่รับฟ้องได้ แต่ว่ามันก็ยังไม่ค่อยชัดเจน แล้วก็เป็นเรื่องที่น้อยมากที่ศาลจะหยิบยกเรื่องนี้มาเพราะว่า ปัญหาจะดูว่าเขาสุจริตหรือไม่บางทีเห็นได้ไม่ง่าย ศาลก็เลยรับไปก่อน ถ้ามีมูล แล้วก็ให้ดำเนินคดีไปสู้กันไป ซึ่งอันนี้ก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ เพราะในต่างประเทศที่เขามาสังเกตการณ์คดีในประเทศไทยก็เห็นว่า กรณีอย่างนี้ศาลไม่ควรจะรับไว้ รับไว้แล้วเนี่ย โอ้โห! ก็ลำบากสิ จำเลยต้องมาต่อสู้คดี บางครั้งถ้าถูกควบคุมตัวด้วย ก็ต้องประกันตัว ไม่มีเงินประกันตัวก็ลำบาก
ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ศาลอยู่เหมือนกัน แม้ว่าภายหลังจะยกฟ้อง คือไม่เข้าข่าย แต่เขาก็มองว่า ศาลก็น่าจะเห็นแล้ว เจตนาไม่สุจริต มีอย่างนั้น อย่างนี้ เรื่องนี้ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ว่ากฎหมายนี้ใช้ได้ยากเหมือนกัน
แนวโน้มจึงไปในทางที่ว่า การฟ้องคดีปิดปากยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก มันถือเป็นวิธีการของพวกบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ที่ต้องการปิดปากไม่ให้พูดถึงเรื่องผลเสีย เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่อยากจะให้วิพากษ์วิจารณ์กัน ใครพูดก็ฟ้องคดีอาญาไป
แต่หลัง ๆ บางทีก็มีหน่วยงานของรัฐเอง โดยเฉพาะอย่างปัญหาเรื่องภาคใต้ บางองค์กรเขาก็เสนอว่า มีการละเมิดกฎหมาย มีการทำนู่นทำนี่ซึ่งควรจะต้องตรวจสอบ มีผู้เสียหาย ก็ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐเอง อาจจะเป็นทหารหรือหน่วยที่รับผิดชอบอยู่ ฟ้องคดีคนที่นำเรื่องนี้มาเสนอ ก็โยนภาระการพิสูจน์ว่า "พิสูจน์สิ จริงมั้ย?" ซ้อมจริงมั้ย? อะไรจริงมั้ย? บางทีมันก็เป็นเรื่องยาก แต่เขาก็ฟ้องไปก่อน เพื่อให้หยุดเอาเรื่องนี้มาพูดถ้าไม่มีหลักฐาน หรือใบเสร็จที่เห็นได้แน่นอน ฉะนั้นอย่าเอามาพูด
มันก็เลยทำให้เป็นปัญหา เวลาที่วิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงข้อมูลบางอย่างที่เป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิประชาชน ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่คนเคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังเผชิญอยู่
ขณะเดียวกัน ปัญหาปัจจุบันแม้แต่ในเรื่องทางการเมืองก็ยังแยกแยะลำบากว่า แค่ไหนที่จะถือได้ว่า วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล มีความสมควร
คือ หมิ่นประมาทเนี่ย คนจะไปเข้าใจว่า (ผิด) เฉพาะการพูดไม่จริงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วคุณไปพูดความจริงก็โดนหมิ่นประมาทได้ ความจริงบางอย่างเป็นเรื่องที่พูดแล้วทำให้คนอื่นเสียหาย กฎหมายเขียนไว้ด้วยซ้ำ ถ้าคุณจะต่อสู้กฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทว่า "อันนี้เป็นความจริง!" ศาลไม่ให้สืบ ต้องพูดให้เห็นว่า พูดไปแล้วก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรกับสาธารณชน ไม่อย่างนั้นแล้วก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่คุณเอาเรื่องเขามาพูด
คุณไปเห็นผู้ชายที่มีชื่อเสียงเดินกับผู้หญิงอื่น แล้วคุณเอาไปพูด ซึ่งมันก็จริง เขาเดินจริง ๆ แต่ความสัมพันธ์ของเขาจะเป็นอะไรอย่างไร ก็ไม่ชัดเจน แต่คุณพูดไปแล้ว คนฟังเขาก็จะ "เอ้ย! เดินกับกิ๊กแหงเลย" เมียเห็นรูปเข้าก็ "เฮ้ย! มาสอบสวนหน่อยสิ" มันก็เกิดปัญหา อันนี้เป็นลักษณะที่การพูดความจริงก็ยังเป็นหมิ่นประมาทอยู่
แต่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า คุณทำสิ่งไม่ถูกต้องอย่างนู้นอย่างนี้ ซึ่งความไม่ถูกต้องจะเกิดความเสียหายกับประเทศชาติสังคม ฉะนั้นคุณไม่ควรจะให้มีสิ่งอย่างนั้นเกิดขึ้น อันนี้พูดเรื่องจริง แล้วก็เป็นกรณีที่เกิดประโยชน์ ศาลยอมให้พิสูจน์ว่า มันเป็นเรื่องจริง อันนี้เข้าข้อยกเว้นของกฎหมาย แม้ว่าเป็นเรื่องหมิ่นประมาทเพราะทำให้เขาเสียหาย
อันนี้ก็เป็นเรื่องการใช้กฎหมายที่ต้องรอดูแต่ละเรื่อง แต่ละลักษณะที่ศาลจะตีความหรือให้ความเห็นไป
The People: แล้วคดีของแอนดี ฮอลล์ มีที่มาที่ไปอย่างไร
นคร:
แอนดี ฮอลล์ เป็นนักวิจัยที่ทำเรื่องแรงงานข้ามชาติ แล้วส่วนใหญ่จะทำเรื่องแรงงานพม่า เขมรอะไรก็แล้วแต่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เกี่ยวกับเรื่องประมงหรือการทำปลาแช่แข็ง แต่เผอิญเรื่องนี้เป็นบริษัทสับปะรดกระป๋องที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ด้วยในบริษัท เขามีส่งขายไปทั่วโลกผ่านตัวแทนอะไรต่าง ๆ แล้วก็มีไปขายที่ประเทศฟินแลนด์ ในประเทศฟินแลนด์เขามีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ (ฟินน์วอตช์ - Finnwatch) แล้วไม่เพียงแต่พิจารณาเรื่องอันตรายของสินค้า แต่ยังดูเรื่องที่มาของสินค้าด้วยว่า มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่? ซึ่งองค์กรอย่างนี้จริง ๆ ก็มีอยู่หลายประเทศที่คอยเฝ้าดูว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานอะไรหรือเปล่า?
เขาก็มีความสงสัยว่าบริษัทที่ขายสับปะรดกระป๋องรายนี้มีพฤติกรรมอย่างนั้นรึเปล่า? ก็เลยติดต่อมาที่ประเทศไทยว่าช่วยเก็บข้อมูลให้หน่อยว่า มันมีเรื่องอย่างนี้จริงมั้ย? เรื่องการใช้แรงงานเด็ก การใช้งานเกินเวลา การจ่ายไม่ครบ เรื่องการเก็บพาสปอร์ตเอาไว้ไม่ให้ออกไปไหน
แอนดี ฮอลล์ ก็ไปติดต่อกับคนที่จะสามารถพูดคุยกับคนงานได้ แต่เนื่องจากการที่คนงานจะเปิดเผยตัวว่าข้อมูลอะไรเป็นอย่างไร ก็ไม่สะดวกทั้งนั้น ก็เลยเป็นการสัมภาษณ์แบบปิด สัมภาษณ์กันได้สัก 12 คน ให้ข้อมูลแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นก็มีเรื่องที่ทำให้เห็นว่า มีปัญหากับบริษัทนั้น
แอนดีเขาก็สรุปข้อมูลนั้นไปส่งให้องค์กรฟินน์วอตช์ ซึ่งเป็นคนขอให้เขาเก็บข้อมูล สุดท้ายเขา (ฟินน์วอตช์) ก็ไปวิเคราะห์เอาเอง แล้วก็ยังส่ง (คนเก็บข้อมูล) อีกชุดหนึ่งเก็บข้อมูลซ้ำว่า มีจริงหรือไม่อะไร เพราะว่าอาจจะไม่แน่ใจว่า แอนดี ฮอลล์ ทำครบถ้วนมั้ย ซึ่งก็ตรงกัน ก็ยังมีอยู่ สุดท้ายเขาก็เอาไปวิเคราะห์อะไรต่าง ๆ
โดยหน้าที่เมื่อเขา (ฟินน์วอตช์) วิเคราะห์เสร็จแล้ว เขาจะแจ้งบริษัทที่เกี่ยวข้องว่า "คุณ มีข้อมูลอย่างนั้น อย่างนี้ คุณช่วยอธิบายสิ เป็นอย่างไร ถ้าเป็นจริงจะแก้ไขได้มั้ย?" บางบริษัทที่เห็นว่า มันอาจจะมีจริง "ไหนเอามาดูซิ เป็นอย่างไร" ไปตรวจสอบดู "เออ! อันนี้ใช่" บางทีผู้บริหารไม่รู้หรอก ระดับเจ้าหน้าที่เขาไปดำเนินการกัน อะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่ให้ความร่วมมือกันไป องค์กรฟินน์วอตช์ก็ถือว่า บริษัทนี้มีการแก้ไขแล้ว มีจริงมากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่มีการแก้ไข แล้วก็ไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้อีก
เหลือแต่บริษัทที่เป็นคู่กรณีกับแอนดี ฮอลล์ บริษัทเดียว ที่ไม่ยอมให้หน่วยงานกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับขององค์กรฟินน์วอตช์เข้ามาตรวจสอบ หรือที่ลูกค้าเอาผลผลิตไปขายให้มาตรวจดูสิเป็นอย่างไร ปรากฏว่า ไม่ยอมให้ตรวจสอบ บอกว่า "ไม่ใช่หน่วยงานรัฐจะมาตรวจสอบได้อย่างไร ไม่น่าเชื่อถือ" ก็เลยเป็นปัญหา
ทางองค์กรฟินน์วอตช์ก็เลยแจ้งไปทางหน่วยงานราชการให้เข้ามาตรวจสอบด้วย จนสุดท้ายเขาก็ไปเสนอผลงานวิจัยของเขาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แล้วเมื่อพูดถึงบริษัทนี้ คู่กรณีเนี่ย เขาก็พูดไปตามข้อมูลที่เขาวิเคราะห์มาได้ แต่เนื่องจากการนำเสนอมีแอนดี ฮอลล์ เป็นคนที่มีส่วนอยู่ในนั้นด้วย ในฐานะของผู้ที่ไปเก็บข้อมูลมา เขาก็พุ่งเป้าว่า การนำเสนอครั้งนั้น แอนดีต้องรับผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่การจัดงานวันนั้นคนนำเสนอจริง ๆ คือ องค์กรฟินน์วอตช์ และบุคลากรของเขา งานวิจัยเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของเขาที่เขาวิเคราะห์ออกมา แต่มันมีชื่อของแอนดีอยู่ในทีมวิจัย ซึ่งหน้าที่ของเขาคือเก็บข้อมูล แต่เขาก็ให้เกียรติว่าเป็นผู้ร่วมทีมวิจัย แอนดีก็เลยโดนเพราะอยู่ในประเทศไทย องค์กรฟินน์วอตช์ซึ่งนำเสนอเรื่องนี้กลับไม่ถูกดำเนินคดี ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเรียกว่า ต้องการปิดปากรึเปล่า? ก็แล้วแต่จะมอง เลยมีการฟ้องคดีแอนดี ฮอลล์ไป ศาลก็รับฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิด ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ศาลฎีกายกฟ้อง
เรื่องที่น่าสนใจก็มี คืองานวิจัยนี้ ฝ่ายของบริษัทพยายามนำสืบให้เห็นว่า "ถ้าคุณจะวิจัยสรุปให้มันเป็นจริง คุณต้องไปสัมภาษณ์ทุกคนสิ ถึงค่อยมาสรุป" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักวิจัยเขาทำไม่ได้หรอก เขามีการขอเข้าไปวิจัยด้วยตอนหลัง มีนักข่าวอัลจาซีราอ่านข่าวแล้วก็เข้าไปติดต่อบริษัท ขอเข้าไปคุยกับคนงานหน่อยก็ไม่ได้เข้า
คือนักวิจัยย่อมไม่ได้วิจัยหมดทุกคน เขาสุ่มดูว่ามันมีอยู่จริงมั้ย แล้วบอกได้ว่า "น่าจะมีจริง หรือไม่จริง" ซึ่งเป็นเรื่องคนที่เกี่ยวข้องเอาข้อมูลไปใช้ ก็ไปตรวจสอบต่อไป พิสูจน์ต่อไปว่ามีหรือไม่มี ถ้าดูแล้วโดยทั่ว ๆ ไปมันไม่มี หรือมีเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จบไม่มีปัญหาอะไร
แต่พอไม่ได้มีการไปตรวจสอบก็เลยเป็นข้อสงสัยอยู่ เมื่อเป็นข้อสงสัยอยู่ ลูกค้าต่างประเทศเขาก็ไม่อาจยอมรับได้ว่า เอ้ย! มันจริงหรือไม่จริง? เพราะว่า ถ้าเขารับไปขายแล้วผู้บริโภคยังมีข้อมูลนี้อยู่ว่าบริษัทนี้มีปัญหา เขาก็ไม่ซื้อ ฉะนั้นพวกลูกค้าที่รับไปเขาก็ไม่กล้าเสี่ยง
ประธานบริษัทก็บอกว่า องค์กรฟินน์วอตช์ก็ไม่รู้จัก ลูกค้าที่อ้างถึงก็ไม่เห็นรู้จักเลย ไม่เคยส่งไปประเทศฟินแลนด์ เขาก็ไม่เข้าใจว่ามันมีคนที่ซื้อสินค้าเข้าไปแล้วไปกระจายทั่วโลก ฉะนั้นแล้วก็ต้องติดตามคอยดูว่าเป็นสินค้าของเขาจริงมั้ย ถ้าจริงแล้วมีปัญหาอะไร แต่ช่วงนั้นก็เป็นปัญหาเศรษฐกิจด้วยเหมือนกันทำให้เขาค่อนข้างมีปัญหาเรื่องธุรกิจ แล้วก็โยนไปว่า "เป็นเพราะแอนดี ทำให้เกิดอย่างนี้" ก็เลยฟ้องแพ่ง 300 ล้าน แล้วก็ฟ้องคดีอาญา
ไอ้การที่เอาข้อมูลอย่างนี้มาพูดมาเผยแพร่มาบอกผู้บริโภค ถือเป็นสาธารณประโยชน์รึเปล่า? ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะมอง ศาลชั้นต้นบอกว่า สืบไม่เห็น ไม่ได้เอาคนงานพม่าที่ได้ให้สัมภาษณ์มาแสดงให้เห็นว่าเป็นคนพูดจริง คนงานเหล่านั้นแน่นอนเขาก็ไม่อยากเปิดตัว ก็อย่างว่า บริษัทนี้ก็เกี่ยวโยงกับคนใหญ่คนโตด้วย ฉะนั้นคนที่มาแสดงตัวมาอะไรก็แล้วแต่ ก็จะมีปัญหา ถ้าหากมาให้ความจริง ฉะนั้นจะเอาคนที่ถูกสัมภาษณ์ 12 คนนั้นมาสอบ มันลำบาก ทำไม่ได้ แอนดีก็ทำไม่ได้ มีแต่ข้อมูลการบันทึก
แต่มีคนงานอยู่ที่นั่นออกมาแล้ว ออกมาเบิกความยืนยันว่าเกิดขึ้นจริง ซึ่งศาลชั้นต้นก็ไม่เชื่อถือ คิดว่าเรื่องอย่างนี้ แอนดีจะกลั่นแกล้ง ทั้งที่แอนดีไม่ได้รู้จักกับบริษัทนี้มาก่อน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปกลั่นแกล้งทำไม แต่ศาลก็มองว่า "คุณมีเจตนา" ล่ะ ก็เต็มที่ ปรับเต็มที่ ลงโทษเต็มที่ แต่โชคดีที่รอลงอาญาตอนนั้นก็เลยไม่โดนขังคุกจริง ๆ
ตอนหลังศาลอุทธรณ์เริ่มดูในรายละเอียด แล้วก็เห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างนั้น มันเป็นเรื่องที่เขาทำเพื่อส่วนรวมก็เลยถือเป็นเหตุยกฟ้อง แล้วศาลฎีกาก็เห็นอย่างนั้นด้วย ก็เป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็น พูดถึงเรื่องข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งมันก็มีอยู่จริง มันก็ทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายยอมรับ แต่ก็เป็นเรื่องยากลำบากของการที่ต้องมาพิสูจน์ตัวเองให้หลุดพ้น ก็ต้องว่ากันไป ต่อสู้กันไปในประเทศไทยเป็นอย่างนั้น
The People: ศาลฎีกาตัดสินคดีอาญาไปแล้วว่าไม่ผิด แต่ยังถูกฟ้องในคดีแพ่งต่อ?
นคร:
ความผิดทางอาญาค่อนข้างเข้มงวดในเรื่ององค์ประกอบความผิดเจตนาอะไรต่าง ๆ แต่ในคดีแพ่งมันไม่ได้มากมายขนาดนั้น เหมือนอย่างขับรถโดยประมาท แม้คุณไม่ได้เจตนากระทำความผิดจนถึงขนาดที่ไม่ผิดกฎหมายอาญา แต่ก็มีผลที่ก่อให้เกิดความเสียหายในทางแพ่งที่คุณก็ควรมีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย อันนี้เป็นหลักที่ฝ่ายทนายผู้เสียหายเขาเห็นว่า มันก็มีช่องทางอยู่ให้จำเลยรับผิดชอบ แม้ว่าจะไม่ถูกลงโทษในคดีอาญา เรื่องนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกัน
แอนดีก็ไม่เข้าใจ แอนดีก็ยังงง ๆ อยู่ตอนนี้ว่า "ผมถูกยกฟ้องแล้ว ทำไมเขายังดำเนินคดีผมต่อ" สื่อที่ไม่เข้าใจก็อาจตั้งคำถามว่า "เอ๊ะ! ศาลประเทศไทยมันยังไง คดีอาญายกฟ้องไปแล้ว คดีแพ่งยังให้ดำเนินคดีต่อ" ก็มันเป็นคดีแล้วเขาก็ต้องการสืบพยานต่อไปที่ยืนยันให้เห็นว่าทางแพ่งยังต้องรับผิดอยู่ ก็เป็นสิทธิของเขา เมื่อเขาไม่ถอนฟ้อง ศาลก็ต้องพิจารณาคดีไป ถ้าเห็นว่าอาจจะต้องรับผิดด้วย ก็ต้องพิพากษาไปตามนั้น
อย่างกรณีของแอนดี มันมีอีกคดีซึ่งเขาไปให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอัลจาซีรา คดีอาญาก็ยกฟ้องไป แต่ไม่ได้ถึงกับชี้ในเนื้อความว่าเป็นเรื่องกระทำความผิด แต่ชี้เรื่องเทคนิคของผู้ฟ้องคดีซึ่งไม่มีอำนาจที่จะมาฟ้อง ทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ ศาลเลยยกฟ้องไป แต่พอคดีแพ่ง ตอนนี้ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์เขาให้แอนดีต้องรับผิดในทางแพ่ง เขาก็เลยเห็นว่า "เห็นมั้ยศาลพิพากษาให้รับผิดทางแพ่ง งั้นกรณีอย่างนี้ ก็คงต้องรับผิดด้วย" เขาอาจเห็นอย่างนี้ก็ได้ เขาก็เลยพยายามดำเนินคดีต่อ
ก็เป็นข้อกฎหมายที่ซับซ้อนต้องทำความเข้าใจกัน ทั้งฝ่ายที่จะฟ้องคดี และฝ่ายที่ต่อสู้คดี ถ้าฝ่ายจำเลยไปคิดว่า คดีอาญายกแล้ว คดีแพ่งไม่ต้องรับผิดแน่นอนเลย "ไม่ใช่" ต้องดูว่า มันขนาดไหนที่ศาลยกฟ้อง จะดูได้มั้ยว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบเลย
อันนี้ต้องยืนยันให้ชัดว่า การพูดความจริงใช่ว่าจะพูดได้ แล้วพูดไปแล้วใช่ว่าจะไม่เป็นการหมิ่นประมาท การหมิ่นประมาทใช่ว่าจะเป็นเรื่องโกหกเสมอไป อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอาไปพูด อันนี้ก็เป็นหลักเกณฑ์ที่สำคัญ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3811
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
7119
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
1097
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Interview
แอนดี ฮอลล์
นคร ชมพูชาติ