read
interview
03 มี.ค. 2563 | 14:59 น.
สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ?
Play
Loading...
ไข่ไก่ในเมืองไทยส่วนใหญ่มาจากระบบเลี้ยงในกรงแคบแบบที่เรียกกันว่า “กรงตับ” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำกันมานาน และมิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่กลุ่มสิทธิสัตว์มองว่า วิธีการเช่นนั้นเป็นปัญหา และพยายามรณรงค์ให้มีการเลิกใช้ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงด้วยวิธีการนี้
Sinergia Animal เป็นองค์กรหนึ่งที่ทำการรณรงค์เรื่องนี้ในประเทศไทย วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทย จึงได้มาอธิบายถึงปัญหาของการเลี้ยงเช่นนี้ รวมถึงสาเหตุว่าทำไมทางองค์กรเลือกที่จะยื่นข้อเรียกร้องไปยัง “ผู้แปรรูป” ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ แทนที่จะไปเรียกร้องโดยตรงกับผู้ผลิต หรือรัฐบาล?
The People: คุณ
ทำหน้าที่อะไรใน Sinergia Animal และ Sinergia Animal เป็นองค์กรที่มีภารกิจอะไร ?
วิชญะภัทร์:
ปอเป็นผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทยขององค์กรพิทักษ์สัตว์ Sinergia Animal โดย Sinergia Animal เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ซึ่งเริ่มทำงานในประเทศละตินอเมริกาสี่ประเทศก่อน ได้แก่ บราซิล ชิลี โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างโลกที่ไม่มีชีวิตสัตว์ใด ๆ ต้องเจ็บปวดในกระบวนการผลิตอาหาร โดยใช้วิธีการหลาย ๆ อย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้
The People: Sinergia Animal เริ่มการเคลื่อนไหวในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่
วิชญะภัทร์:
พวกเราเริ่มดำเนินการในประเทศไทยแล้วก็ในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว (2019) ที่ Sinergia Animal เลือกมาดำเนินการในประเทศไทยและอินโดนีเซียเพราะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ยังไม่มีองค์กรใดที่ทำด้านการพิทักษ์สัตว์เหมือน Sinergia Animal แล้วก็เห็นว่ามีสัตว์จำนวนมากที่ถูกละเลยและใช้ชีวิตอย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมานเพื่อผลิตอาหาร
The People: การรณรงค์ของ Sinergia Animal ในตอนนี้มุ่งเป้าไปที่การงดเว้นการใช้ไข่จากแม่ไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างทารุณ อยากทราบว่าปัญหานี้ในเมืองไทยเป็นอย่างไร
วิชญะภัทร์:
อย่างที่บอกว่าภารกิจหลักของเราคือ เราอยากเห็นโลกที่ไม่มีสัตว์ชนิดใดที่ต้องมาเจ็บปวดกับกระบวนการผลิตอาหารอีกต่อไป เราใช้วิธีการหลาย ๆ อย่าง ซึ่งการรณรงค์เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ต่าง ๆ เลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เราใช้
ปัญหาของฟาร์มระบบกรงก็คือ ขณะนี้ในประเทศไทยมีแม่ไก่จำนวนกว่า 56 ล้านชีวิต และส่วนใหญ่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในระบบที่เรียกว่า ระบบกรงตับ หรือว่า battery cage ระบบนี้มีปัญหามากเพราะแม่ไก่แต่ละชีวิตเขาจะมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตอยู่เล็กกว่ากระดาษ A4 แล้วเขาก็ไม่สามารถกางปีกหรือเดินไปเดินมาได้อย่างเต็มที่ และเนื่องจากเขาขยับร่างกายไม่ค่อยได้ก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวกับสุขภาพของเขา เช่น โรคกระดูกพรุน นอกจากนี้เขายังทำพฤติกรรมตามธรรมชาติที่สำคัญสำหรับสายพันธุ์ของเขาไม่ได้อีก เช่น การคุ้ยเขี่ยพื้นดิน การวางไข่ในรังที่เป็นส่วนตัว หรือว่าการเกาะคอน เขาทำพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ตามธรรมชาติไม่ได้เลย นำมาซึ่งความเครียดแล้วก็ความหงุดหงิด และเขาก็ต้องอยู่กับความรู้สึกนี้ไปตลอด จนวันที่เขาถูกฆ่าตาย
The People: วิธีการเลี้ยงแบบนี้ นอกจากจะกระทบต่อตัวสัตว์แล้ว มันกระทบต่อตัวผู้บริโภคด้วยหรือเปล่า
วิชญะภัทร์:
กระทบต่อผู้บริโภคแน่นอนค่ะ การเลี้ยงแม่ไก่แบบกรงตับมีงานวิจัยจากองค์การด้านความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรปที่ระบุแล้วว่า การเลี้ยงแม่ไก่ไว้ในกรงตับแบบนี้มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาสูงกว่าฟาร์มแบบปลอดกรงถึง 25 เท่า แมคโดนัลด์ก็ทราบเรื่องนี้ดี แมคโดนัลด์จึงได้ประกาศว่า จะยุติการสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา รวมถึงประเทศในละตินอเมริกาด้วย
แต่ก็น่าเสียใจและน่าผิดหวังมาก ๆ ที่แมคโดนัลด์ปฏิเสธที่จะใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารแบบเดียวกันในประเทศไทย ซึ่ง Sinergia Animal ไม่เข้าใจว่า ผู้บริโภคชาวไทยทำไมถึงไม่ได้รับมาตรฐานที่ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ
The People: ทำไมการรณรงค์ถึงมุ่งเป้าไปที่เครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ มากกว่าผู้ผลิต ทำไมไม่รณรงค์ให้ผู้ผลิตเลิกถ้าเห็นว่าการเลี้ยงเช่นนั้นไม่ดี
วิชญะภัทร์:
จริง ๆ ผู้ผลิตเขาทราบปัญหานี้ดี ผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ หลายรายก็เริ่มผลิตไข่ไก่แบบ cage free หรือแบบปลอดกรงแล้ว เพียงแต่ว่าอยู่ในขั้นตอนเปลี่ยนแปลงระบบ แล้วมันไม่แฟร์ที่เราจะขอให้ผู้ผลิตเปลี่ยนระบบโดยที่ไม่มีตลาดรองรับ
Sinergia Animal เห็นว่า ถ้าจะให้ผู้ผลิตเปลี่ยนระบบเราจะต้องเปลี่ยนแปลงตลาดด้วย ดังนั้นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ๆ ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารระดับนานาชาติอย่างเช่น แมคโดนัลด์ ใช้ไข่ไก่เป็นจำนวนมากเป็นผู้สร้างดีมานด์ในตลาดจำนวนสูงมาก อีกอย่างแมคโดนัลด์เป็นบริษัทนานาชาติที่ใหญ่มาก เขามีบุคลากร มีความรู้ แล้วก็มีเงินทุนที่จะเปลี่ยนระบบไปสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ปลอดกรงได้เหมือนเช่นที่ทำแล้วในสหรัฐอเมริกา แล้วก็ในละตินอเมริกา
ดังนั้น มันก็สมเหตุสมผลที่เราจะเรียกร้องแมคโดนัลด์ให้ใช้มาตรฐานอย่างเดียวกันในประเทศไทยด้วย
The People: การผลิตไข่ไก่ที่มีมนุษยธรรมควรจะเป็นอย่างไร
วิชญะภัทร์:
องค์กรของเราเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักคือ อยากสร้างโลกที่ไม่มีสัตว์ชีวิตใดต้องเจ็บปวดในการผลิตอาหารอีก มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเอาเนื้อ นม หรือไข่ หรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามจากร่างกายสัตว์โดยที่ไม่ทำให้เขาเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน หรือถึงแก่ความตาย ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า
การผลิตไข่อย่างมีมนุษยธรรมไม่มีจริง
วิธีเดียวที่เราจะช่วยสัตว์ได้คือเราทุกคนต้องช่วยกันหันไปบริโภคอย่างอื่นแทนที่ไม่ได้มาจากร่างกายของสัตว์ หรือว่าไม่ต้องกักขังหน่วงเหนี่ยวเขาไว้ในกรงหรือในพื้นที่ใดก็ตาม
The People: เป้าหมายของ Sinergia Animal คือจะไปจนถึงการเลิกบริโภคเนื้อสัตว์เลยหรือเปล่า
วิชญะภัทร์:
เป้าหมายของ Sinergia Animal คือการรณรงค์ให้คนหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก แล้วก็ดีต่อชีวิตสัตว์มากขึ้น
The People : แปลว่าต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์?
วิชญะภัทร์:
ใช่ เพราะว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นของที่ไม่ใช่ของพวกเราอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เป็นของที่เป็นของสัตว์ เป็นของเขา ดังนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะเอาของที่ไม่ใช่ของเรามา แล้วอีกอย่าง การบริโภคอาหารที่มาจากพืชเป็นหลักหรืออาหารแบบ plant-based ก็ได้รับสารอาหารครบถ้วนเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ร่างกายมนุษย์จะต้องไปเอาโปรตีนหรือสารอาหารต่าง ๆ มาจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์
The People: อาหารแบบ plant-based มีอะไรบ้างที่สามารถกินได้
วิชญะภัทร์:
ไม่อยากให้เรียกว่า สามารถกินได้ เพราะจริง ๆ แล้ว เป็นทางเลือกของเรา เราจะเลือกหยิบอะไรมากินก็ได้อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นทางเลือกของเรา ชาว plant-based หรือชาว vegan ที่จะไม่กินมากกว่า ดังนั้นไม่อยากให้เรียกว่า กินอะไรได้ หรือ กินอะไรไม่ได้
สิ่งที่เราปฏิเสธไม่รับประทานก็คือ ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่มาจากร่างกายของสัตว์ เนื้อสัตว์ นม ไข่ไก่ หรือว่า น้ำผึ้ง อันนี้เราก็ไม่รับประทาน
The People: มองว่ากฎหมายในปัจจุบันคุ้มครองสัตว์มากเพียงพอแล้วหรือยัง
วิชญะภัทร์:
ถ้ามองเรื่องกฎหมาย ก็มีเอกสารที่ตีพิมพ์เรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเลี้ยงสัตว์ แต่เท่าที่เห็นยังไม่มีการ enforced หรือบังคับใช้อย่างได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีที่ยังพัฒนาได้อีกเยอะ
The People: การรณรงค์ขององค์กรจะมีเป้าไปถึงฝ่ายกำหนดนโยบายโดยรวมของประเทศด้วยไหม หรือจะมุ่งที่เอกชนเพียงอย่างเดียว
วิชญะภัทร์:
จากประสบการณ์การทำงานของเราในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และประสบการณ์ของผู้บริหารขององค์กรเราจากการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ พบว่า การทำงานร่วมกับภาครัฐบาลได้ผลจริง แต่เกิดผลช้ามาก เพราะกว่าจะผ่านร่างกฎหมายได้แต่ละร่างก็ต้องพิจารณากันหลายรอบ แต่ความทุกข์ทรมานของสัตว์นับล้าน ๆ ชีวิตเป็นจริงอยู่ และเกิดขึ้นตอนนี้จริง ๆ พวกเขาต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และวิธีที่เราจะบรรเทาความทุกข์ทรมานของเขาได้อย่างเร็วที่สุดก็คือขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ต่าง ๆ อย่างเช่น แมคโดนัลด์ ให้ปรับนโยบายสั่งซื้อไข่ไก่ที่ดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขามากขึ้น มันจะทำให้เกิดผลเร็วขึ้นกว่าการขอให้รัฐบาลออกกฎหมาย
แล้วจากประสบการณ์การทำงานของผู้บริหารขององค์กรเรา พบว่า การที่เราไปเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเลยโดยไม่ทำงานร่วมกับผู้แปรรูปอาหารรายใหญ่ ๆ มันส่งผลเสียต่อเกษตรกรและผู้ผลิตมากกว่า เพราะแทนที่เขาจะได้มีเวลาเตรียมตัว แทนที่จะได้ทราบล่วงหน้าว่าเราต้องเปลี่ยนระบบแล้ว ไปสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ดีต่อชีวิตแม่ไก่มากกว่านี้ เขาไม่มีเวลาเตรียมตัว รัฐบาลประกาศปุ๊บต้องเปลี่ยนระบบให้ได้ภายในระยะสั้นมาก ๆ ดังนั้นกระทบทั้งบริษัทและเกษตรกรเองด้วย เพราะเวลาเตรียมตัวไม่พอ
The People: การรณรงค์ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแค่ไหน
วิชญะภัทร์:
ประสบความสำเร็จอย่างมากค่ะ ก่อนอื่นอยากบอกว่า เราไม่ได้รณรงค์เลยนะ เราใช้การเจรจาและการทำงานร่วมกับบริษัทเป็นหลัก ดังนั้นการรณรงค์ไม่ใช่ทางแรกที่เราใช้ จากการทำงานในประเทศไทยเราประสบความสำเร็จมาก หลังจากทำงานร่วมกับเรา เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย ก็ได้ประกาศนโยบายว่าจะเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรงแล้ว และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2025 สำหรับแบรนด์ของเขาเอง แล้วก็ 2030 สำหรับแบรนด์อื่น ๆ ดังนั้นในปี 2030 ไป เทสโก้ โลตัส ก็จะไม่เห็นไข่ไก่ที่มาจากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรงตับอีกเลย
ส่วนอีกชัยชนะหนึ่งขององค์กร Sinergia Animal ในประเทศไทยก็คือ การเรียกร้องขอให้ Subway ปรับใช้นโยบายสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ไร้กรงเท่านั้นในประเทศไทย คือ Subway มีนโยบายลักษณะนี้แล้วในประเทศสหรัฐฯ และในละตินอเมริกา แต่ยังไม่มีนโยบายในไทย เราก็ส่งข้อเรียกร้องไป ตั้ง petition (ข้อเรียกร้อง) บน Change.org จนในที่สุดแล้ว Subway ก็ประกาศนโยบายว่าจะเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรง
The People: จากที่บอกว่า เป้าหมายขององค์กรคือการให้สัตว์ทุกชีวิตพ้นการทรมานจากกระบวนการผลิตอาหาร ถ้าหากรณรงค์ให้คนเลิกใช้ไข่จากไก่ที่ถูกขังกรงตับสำเร็จ ก้าวต่อไปจะเป็นการรณรงค์ให้เลิกกินไข่เลยหรือไม่
วิชญะภัทร์
: การรณรงค์งดกินไข่ไก่ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เราก็ทำอยู่ แต่ไม่ได้ทำกับบริษัท เราเชื่อว่าผู้บริโภคแต่ละคนเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญมากในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราก็มีแคมเปญที่จะช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคแล้วหันมากินอาหาร plant-based แทน เรียกว่า โครงการท้าลอง 22 วัน
ในโครงการนี้เรามีทิปส์ (เคล็ดลับ) มีสูตรอาหาร plant-based มากมาย ใช้วัตถุดิบที่ไม่ต้องมาจากสัตว์เลยแต่ได้สารอาหารครบถ้วนแล้วก็อร่อยเหมือนกัน แล้วก็มีคำแนะนำจากนักกำหนดอาหารที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง นอกจากนี้ ยังมีคนที่เป็น vegan มานาน ๆ แล้ว มาคอยเป็นรุ่นพี่ช่วยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย
The People: ชุมชนคนกิน plant-based ในเมืองไทยตอนนี้ใหญ่โตแค่ไหน
วิชญะภัทร์:
วัดจำนวนยาก แต่ที่บอกได้อย่างกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก Vegan of Thailand ตอนนี้มี 2 หมื่นกว่าคนแล้ว ในจำนวนนี้ก็จะรวมถึงคนที่เป็น plant-based เป็น vegan หรือคนที่สนใจจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงมีความหมายต่อสัตว์โลกและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้าใครสนใจอยากจะลด เราก็อยากให้กำลังใจ
The People: แล้ว plant-based ต่างจาก vegan อย่างไร
วิชญะภัทร์:
แต่ละคนก็มีคำนิยามแตกต่างกันไป ปอให้คำนิยามแบบที่ปอเชื่อแล้วกัน plant-based จะพูดถึงการบริโภคอาหารเท่านั้น ซึ่งก็เป็นภารกิจหลักของ Sinergia Animal เปลี่ยนแปลงการบริโภคเพราะเราเชื่อว่า การบริโภคเป็นส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของสัตว์ เปลี่ยนแปลงโลกนี้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงสุขภาพของคนได้ ส่วนความเป็น vegan จะครอบคลุมอะไรมากกว่านั้น จะรวมถึงวิถีชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งของที่ใช้ กิจกรรมที่ทำ หรือไลฟ์สไตล์อื่น ๆ
สำหรับปอ การเป็น vegan นอกจากจะไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาจากความทุกข์ทรมานและการกักขัง เราจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ทำมาจากสัตว์ เช่น เครื่องหนัง หรือว่าไปร่วมกิจกรรมที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อสัตว์เช่น สวนสัตว์ คือทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ
The People: คุณเปลี่ยนตัวเองมาเป็น vegan ตั้งแต่เมื่อไหร่ และความยากง่ายในการปรับตัวเป็นอย่างไร
วิชญะภัทร์:
ปอเริ่มเปลี่ยนมาเป็น vegan อย่างเต็มตัวประมาณปี 2016 ปออยากเป็นมังสวิรัติมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะปอรู้สึกว่ามันย้อนแย้ง ปอดูหนังเรื่อง Babe (ภาพยนตร์ที่มีตัวเอกเป็นหมู) ปอก็กินหมูสะเต๊ะไปด้วย พี่สาวปอก็ล้อว่าทำไมกินหมูสะเต๊ะไปด้วยทั้งที่ชอบ Babe ซึ่งตอนนั้นปอก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทันทีนะ แต่ก็เริ่มคิดว่าทำไมความคิดของเรากับการกระทำของเราถึงไม่สอดคล้องกัน
ปอเลิกกินเนื้อสัตว์บกตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังหาข้ออ้างให้ตัวเองเรื่อยมาเกี่ยวกับการกินอาหารทะเล ซึ่งจริง ๆ แล้วสัตว์ในทะเลเขาก็มีความเจ็บปวด มีความรู้สึกนึกคิดมากพอ ๆ กับสัตว์บนบก ดังนั้นเขาก็สมควรที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจเท่า ๆ กัน สุดท้ายปอก็เปลี่ยนเป็น vegan อย่างเต็มตัวเมื่อปี 2016 ตอนที่ได้รับข้อมูลอย่างทะลุปรุโปร่งเลย เรื่องอุตสาหกรรมนม และอุตสาหกรรมไข่ไก่ ทำให้รู้ว่าไข่ไก่มาจากความทุกข์ทรมานของแม่ไก่อย่างไรบ้าง ปอก็เลยเปลี่ยนเป็น vegan อย่างเต็มตัว
ถามว่าลำบากมั้ย ปอว่าก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ของปอ คือ เราออกจากความเคยชินจากที่ทำอยู่เป็นเวลานาน เราต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น มันก็ยากอยู่แล้วที่จะต้องเปลี่ยนความเคยชินของเรา เหมือนอยากจะตื่นให้เช้าขึ้น จากที่เคยตื่นเที่ยง จะมาตื่น 8 โมงเช้า เราจะได้มีเวลาทำอะไรหลาย ๆ อย่างทั้งวัน การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างนั้นก็ยาก การเปลี่ยนการบริโภคอาหารที่ไม่ได้มาจากสัตว์เลย ช่วงแรกก็ยากเหมือนกัน แต่พอเราคิดถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ ความลำบากของเรามันเป็นอะไรที่เทียบกับชีวิตของเขาไม่ได้เลย
The People: ผลกระทบหลังเปลี่ยนเป็น vegan?
วิชญะภัทร์:
เรียกว่าผลดีแล้วกัน บางคนบอกว่ารู้สึกเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดและในทางที่ดีขึ้นสำหรับร่างกายของเขา แต่สำหรับปอ ปอไม่เห็นอะไรชัดมาก เพราะปอก็ไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์บกมาเป็นเวลานานแล้ว กินแต่อาหารทะเล เท่าที่ปอเห็นก็คือ น้ำหนักคงที่มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ไม่ได้ขึ้นไม่ได้ลงมากทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แล้วก็นั่งทำงานออฟฟิศหน้าคอมพิวเตอร์ตลอด นี่ก็เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปอสังเกตได้ แต่สำหรับคนอื่น เขาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดมากกว่านั้น แต่สำหรับปอไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เพราะว่าเหตุผลหลักที่ปอเปลี่ยนมากินอาหารแบบ vegan ก็คือเพื่อสัตว์
The People: คนที่มีวิถีชีวิตแบบนี้จำเป็นต้องกินอาหารเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนหรือไม่
วิชญะภัทร์:
จริง ๆ แล้วไม่ว่าใครก็ควรกินอาหารเสริมที่เรียกว่า B12 เพราะว่าคนที่บริโภคเนื้อสัตว์มากก็ยังขาด B12 ได้เลย แต่สำหรับคนที่รับประทานอาหารแบบ vegan หรือ plant-based วิตามินอย่างเดียวที่ควรจะกิน หรือที่นักกำหนดอาหารแนะนำให้กินก็คือ วิตามินแบบ B12
จริง ๆ วิตามินแบบ B12 มันเป็นวิตามินที่ได้จากแบคทีเรียและน้ำเสีย เนื่องจากว่าปัจจุบันเรามีวิทยาการในการกรองน้ำทำให้เราไม่สามารถได้ B12 จากแหล่งน้ำธรรมชาติได้อีกต่อไป ก็เลยต้องกินวิตามิน B12 เสริม แต่การกิน vegan ไม่ได้แปลว่าจะขาดสารอาหาร มีแค่วิตามิน B12 เท่านั้นเองที่แนะนำให้กินเสริม
The People: นักกิจกรรม vegan บางคนมองว่า คนที่กินเนื้อสัตว์เป็นพฤติกรรมที่โหดร้าย หรือชั่วร้าย โดยส่วนตัวรู้สึกอย่างไร
วิชญะภัทร์:
สำหรับปอ การบริโภคเนื้อ ปอมองแต่ตัวพฤติกรรม ปอไม่พูดถึงคน เพราะปอเชื่อว่าคนที่มีจิตใจดีบางครั้งเขาทำเรื่องที่โหดร้ายต่อสัตว์โดยไม่รู้ตัว เพราะว่าสภาพสังคมทำให้เขาลืมไปว่า จริง ๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์มาจากตัวสัตว์หรือร่างกายสัตว์ เพราะสังคมทำให้การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นเรื่องที่ปกติไป
มุมมองของปอ เนื่องจากเนื้อสัตว์มาจากร่างกายของสัตว์ มาจากความทุกข์ทรมานของเขา จึงเป็นเรื่องที่ปอไม่อยากให้ใครมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ปอไม่ได้คิดว่าคนที่ทำแบบนี้เป็นคนชั่วร้าย เขาแค่ยังไม่รู้ข้อมูลเท่านั้นเอง แล้วปอเชื่อว่าทุกคนมีความเมตตาอยู่ในใจ มีความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ ถ้าหากได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงเขาจะต้องอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองแน่นอน
The People: เวลาเพื่อนชวนไปกินชาบู หมูกระทะ เราบอกเพื่อนยังไง หรือเคยชวนเพื่อนมาลองกิน vegan ไหม
วิชญะภัทร์:
เคยนะคะ เพราะเพื่อน ๆ ปอก็จะรู้อยู่แล้ว เวลาเพื่อน ๆ นัดปอไปกินข้าวด้วย เขาจะให้ปอเลือกร้าน ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่ดีที่ น่ารัก เขาก็จะทราบไลฟ์สไตล์ของปอ ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงซึ่งปอก็ว่าไม่เป็นไร ปอเห็นว่าทุกคนเป็นคนใจดี เป็นคนมีความเห็นอกเห็นใจและเมตตาสัตว์ ถ้าเกิดว่าเขาได้รู้ข้อมูล สักวันหนึ่งปอเชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ
The People: ก้าวต่อไปของ Sinergia Animal คืออะไร
วิชญะภัทร์:
แผนต่อไปของเราถ้าเรามีคนเพิ่ม เราอยากช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น ในประเทศละตินอเมริกาตอนนี้ มีแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับการลดความทุกข์ทรมานของหมูแม่พันธุ์ที่อยู่คอกแคบมาก ๆ ส่วนในประเทศไทยถ้าเกิดว่าเรามีกำลังคนพอ เราก็อยากบรรเทาความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของแม่หมูที่อยู่ในกรงด้วย
นอกจากนี้ ก็จะทำให้โครงการท้าลอง 22 วัน ซึ่งเป็นโครงการที่เชิญชวนคนมาบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลกและดีต่อสัตว์มากขึ้น อยากให้ใหญ่ขึ้น รับคนได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เราก็มีแผนว่าเราอยากทำงานร่วมกันรัฐบาล เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในหน่วยงาน อาจจะเป็นการเพิ่มเมนูแบบ plant-based เข้าไปด้วยในร้านอาหารต่าง ๆ ในหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศไทย
สุดท้าย อยากฝากให้ผู้บริโภคคนไทยลงชื่อในแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้แมคโดนัลด์ปรับใช้นโยบายการสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ไม่ขังแม่ไก่ไว้ในกรง เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ แล้วก็เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของคนไทยด้วยค่ะ มาช่วยกันเรียกร้องให้แมคโดนัลด์ใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารที่ทัดเทียมกับมาตรฐานที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในละตินอเมริกา ถ้าเกิดว่าสนใจจะร่วมลงชื่อรณรงค์ด้วยกันให้เข้าไปที่ Change.org/McThai ค่ะ
หมายเหตุ:
ทั้งนี้ ความเห็นข้างต้นเป็นของผู้รณรงค์ที่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ และมองว่า การเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็มิอาจถือว่ามี “มนุษยธรรม” ได้เลย การปรับวิธีการเลี้ยงของเกษตรกรไปสู่กระบวนการที่ดีต่อสัตว์มากกว่าอย่างการเลี้ยงนอกกรง ภายหลังก็อาจถูกมองได้ว่า เป็นวิธีการที่ยังไม่มี “มนุษยธรรม” ต่อสัตว์มากพอก็เป็นได้
เพราะในสหรัฐฯ (
Washington Post
) มีรายงานว่า ไก่ที่ถูกเลี้ยงนอกกรง แต่ยังอยู่ในระบบฟาร์มปิดที่มีพื้นที่จำกัด กำลังประสบปัญหาได้รับบาดเจ็บทางกายมากกว่าไก่ที่ถูกเลี้ยงในกรงตับที่ขยับไปไหนไม่ได้เสียอีก ด้วยอาจจะเกิดการจิกตีกันเอง และด้วยความที่ไก่เป็นสัตว์ปีกที่บินไม่เก่ง จึงมักจะบินไปชนสิ่งกีดขวางจนทำให้กระดูกอกหัก (keel bone) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ยาก และส่งผลกระทบต่อผลผลิตไข่ไก่ของเกษตรกร การเลี้ยงลักษณะนี้จึงอาจถูกต่อต้านได้อีกเช่นกัน
และแม้ว่าในหลายประเทศจะสั่งห้ามการเลี้ยงไก่ในลักษณะนี้ไปแล้ว แต่การเลี้ยงไก่ในกรงตับมิได้ขัดต่อกฎหมายไทย การใช้ผลิตภัณฑ์จากไก่ที่ถูกเลี้ยงในลักษณะนี้จึงเป็นสิทธิที่ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถทำได้
ขณะเดียวกัน The People ได้ติดต่อไปยัง แมคโดนัลด์ ประเทศไทย เพื่อขอความเห็นต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว
แมคโดนัลด์ โต้แย้งกลับมาว่า การรณรงค์ของ Sinergia Animal
“ยกเอางานวิจัยที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงอย่างชัดเจนที่ระบุว่าการเลี้ยงไก่ในฟาร์มกรงตับมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Salmonella สูงกว่าการเลี้ยงไก่ในฟาร์มไร้กรง และอาจมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ซึ่งอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ”
[แต่จากการตรวจสอบพบงานชิ้นหนึ่งของ
European Food Safety Authority
(องค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งสหภาพยุโรป) ที่มีบทคัดย่อตอนหนึ่งกล่าวว่า
"ในการตรวจสอบถึงปัจจัยเสี่ยงของการปนเปื้อนซัลโมเนลลาในไก่ไข่แสดงให้เห็นว่า หลักฐานโดยรวมชี้ให้เห็นถึงการปนเปื้อนที่ต่ำกว่าในการเลี้ยงแบบนอกกรง เมื่อเทียบกับระบบกรง"
]
แมคโดนัลด์ กล่าวว่า พวกเขาเลือกใช้วัตถุดิบจากผู้ผลิตที่
“ผ่านการตรวจรับรองตามมาตรฐานของแมคโดนัลด์ที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดในอาหาร”
ในกรณีนี้คือ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ
ซึ่งมีกระบวนการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศ (Evaporative Cooling System) สามารถปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือน ทำให้สัตว์อยู่สบาย ไม่เครียด เติบโตได้ดีตามศักยภาพของพันธุ์สัตว์ มีมาตรการระบบควบคุมและป้องกันพาหะนำโรคเข้าสู่ฟาร์ม และไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นสารต้องห้ามในการเลี้ยง
ในประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์นั้น แมคโดนัลด์ชี้แจงว่า การเลี้ยงของซีพีเอฟอยู่ภายใต้หลักสวัสดิภาพสัตว์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health : OIE) และ มาตรฐานหลักปฏิบัติและกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่คำนึงถึงความเป็นอิสระของสัตว์เลี้ยง 5 ประการ คือ สัตว์ต้องปราศจากการหิวกระหาย ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม ปราศจากความเจ็บปวดหรือโรคภัย ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน และมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์
[caption id="attachment_20114" align="alignnone" width="1314"]
ภาพประกอบคำชี้แจงของแมคโดนัลด์[/caption]
พร้อมโต้แย้งว่า ภาพที่ใช้ในการรณรงค์ของ Sinergia Animal มิได้มาจากภาพจริงในพื้นที่เลี้ยงของซีพีเอฟที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ทั้งนี้ตามกำหนดของ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวคือ
ความหนาแน่นในการเลี้ยงไก่รุ่น ต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 285 ตร.ซม. ต่อไก่รุ่น 1 ตัว และ ไก่ระยะไข่ ในพื้นที่อย่างน้อย 450 ตร. ซม. ต่อไก่ระยะไข่ 1 ตัว
“ตามข้อกำหนดดังกล่าว แม่ไก่จะมีพื้นที่ยืนและพื้นที่ว่างให้หมุนตัวปรับเปลี่ยนท่าทางได้สะดวก”
แมคโดนัลด์กล่าว
(ขณะที่กระดาษ A4 มีขนาดอยู่ที่ 21 x 29.7 ซม. หรือ 623.7 ตร.ซม.)
ส่วนข้อเรียกร้องให้แมคโดนัลด์หันไปใช่ไข่ไก่จากฟาร์มที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยกรงตับนั้น พวกเขาเห็นด้วยในหลักการแม้จะยังไม่คิดที่จะทำในตอนนี้ แต่จะเฝ้าดูสถานการณ์ต่อไป
“เรามีความเห็นว่า Cage-free eggs เป็นแนวคิดที่ดีต่อหลักสวัสดิภาพของสัตว์ แต่อย่างไรก็ดีการเลี้ยงแม่ไก่ในฟาร์มแบบไร้กรงยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งกำลังการผลิตไข่ไก่แบบ Cage-free eggs ยังมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของเราในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรายังคงสนใจและติดตามความคืบหน้าของการเลี้ยงแม่ไก่แบบไร้กรงในลำดับต่อไป”
แมคโดนัลด์กล่าว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รับสมัครผู้เข้าแข่งขัน เก็บขยะชิงแชมป์โลก ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
30 เม.ย. 2568
แสนสิริ เผยโฉม ‘นาราสิริ บางนา กม.10’ ไพรเวทเพียง 56 ครอบครัว
30 เม.ย. 2568
“นิปปอนเพนต์” ประเดิมงานสถาปนิก’68 จัดเต็มพาวิลเลียน “The Future City”
30 เม.ย. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Interview
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์
สิทธิสัตว์
Sinergia Animal