ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น

ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น
หลายคนอาจจะมีอคติที่ไม่ดีกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มองว่ารถกู้ภัยต่างขับเร็วน่าหวาดเสียว เปิดไซเรนเสียงดังในยามวิกาล แข่งกันไปถึงยังจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ยื้อแย่งเอาตัวคนเจ็บนำส่งโรงพยาบาลที่สังกัด เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่เรื่องที่เขาบอกต่อ ๆ กันมานี้ จะมีสักกี่คนที่เคยลองหาความจริงว่าสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เป็นจริงนั้นแตกต่างกันอย่างไร ลองอ่านเรื่องราวของ ญาโณทัย สมัญญา ชุดปฏิบัติการกู้ภัยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ประจำจุด สน.ยานนาวา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยหนุ่ม ที่กว่าจะมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยในวันนี้ได้ เขาต้องเสียสละอะไรหลายอย่างมากมาย เพื่อแลกกับสิ่งเดียว นั่นคือการมีโอกาสได้ช่วยเหลือต่อชีวิตลมหายใจให้กับคนแปลกหน้าที่เขาไม่เคยรู้จัก รู้จักชีวิตของอาสาสมัครกู้ภัย จิตอาสายามรัตติกาล ผู้เป็นเหมือนอัศวินขับรถขาวมาช่วยยามที่มีคนเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ ผู้ที่คอยเสี่ยงชีวิตตัวเองเพื่อเชื่อมทุกความผูกพันของทุกคนในสังคมเข้าไว้ด้วยกัน อาสาสมัครกู้ภัย The People: ทำไมถึงได้มาเป็นจิตอาสาอาสาสมัครกู้ภัย ญาโณทัย: ผมชื่อ ญาโณทัย สมัญญา ชื่อเล่น เต๋า อายุ 27 ปี ทำงานธุรกิจส่วนตัว มาทำงานจิตอาสาที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ 10 ปีแล้ว ตอนแรกผมมาขอหัวหน้าที่นี่เข้ามาทำ ด้วยความที่อยากช่วยเหลือคนอื่นตั้งแต่เด็ก เพราะมีพ่อเป็นจิตอาสามาก่อนเป็นไอดอล เลยอยากทำตามบ้าง อยากช่วยคนอื่น อยากมีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น การช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ
ถ้าพระองค์ท่านยังทำได้ ทำไมเราที่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อาสาพาคนบาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลเพื่อช่วยต่อชีวิตไม่ได้บ้าง
ตอนนั้นยังเรียนอยู่ พ่อก็เลยสอนอยู่เสมอว่า เราเป็นจิตอาสาได้ เราก็ต้องเรียนได้ เราช่วยคนอื่นได้ แต่ตัวเราเองต้องไม่ลืมหน้าที่เรียนให้ได้ด้วย ผมเลยพยุงตัวเองให้จบ ตอนนี้จบแล้วได้มาทำธุรกิจส่วนตัว ก็แบ่งเวลาช่วงกลางวันทำงาน เอางานเราเป็นหลักก่อน แล้วค่อยออกมาทำจิตอาสาตอนกลางคืน พอมีรายได้บางส่วนก็เจียดเอามาซื้อยาบ้าง ซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือคนบ้าง พวกอุปกรณ์ทุกอย่างเราต้องออกเอง บางอย่างมีราคาก็ต้องสะสมทีละเล็กละน้อยจนกว่าจะครบชุด ตอนแรกที่ยังไม่มีรถกู้ภัยเป็นของตัวเอง ต้องติดรถกู้ภัยของพี่ ๆ ไป ก็เลยมีความฝันว่าอยากมีรถกู้ภัยเป็นของตัวเองบ้าง ผมเลยตั้งปณิธานไว้ว่า พอโตขึ้นมีงานทำเก็บเงินเองได้สักหน่อย เดี๋ยวจะซื้อรถสักคันเพื่อเอาไว้ช่วยเหลือคน เก็บมาเรื่อย ๆ ก็มาซื้อรถ ซื้ออุปกรณ์ ติดไซเรน อุปกรณ์หลาย ๆ อย่าง ตอนนี้ก็มีรถคันนี้แหละที่เอาไว้ช่วยคน ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น The People: อาสาสมัครกู้ภัย ต่างจากเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทั่วไปอย่างไร ญาโณทัย: ถ้าเป็นพนักงานของมูลนิธิจะมีเงินเดือนประจำของมูลนิธิ ส่วนอาสาสมัครจะไม่มีเงินเดือน เราใช้เงินส่วนตัวออกมาช่วยเหลือคน ผมเป็นอาสาสมัครที่ไม่เคยคิดจะทำเป็นอาชีพหลัก เพราะว่าอาชีพมีอยู่แล้ว แต่อยากเอาเงินเดือนส่วนหนึ่งมาเจียดให้กับการช่วยเหลือคนอื่น ทั้งการซื้อยา ซื้ออุปกรณ์ช่วยชีวิต เติมถังออกซิเจน เติมน้ำมันรถกู้ภัย ผมว่าคืนหนึ่งเติมห้าร้อยพันหนึ่ง ตกต่อเดือนมันไม่เท่าไหร่ ในเมื่อเราอยากออกมาช่วยจิตอาสาเอง เมื่อเราอุทิศตนเพื่ออยากมาช่วยแล้ว เราจะต้องเรียกร้องอะไรจากประชาชน หรือจะเรียกร้องอะไรจากคนอื่นอีก มาทำตรงนี้เพื่อจะเอาเงินของคนอื่นมันไม่ใช่ครับ จิตอาสาคือการไม่หวังผลตอบแทนอะไรทั้งสิ้น ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น The People: ทำไมมาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยที่ต้องเสียสละหลายอย่าง ญาโณทัย: ที่ผมมาเป็นอาสาสมัคร เพราะว่าผมเห็นการทำงานของพ่อแล้วได้ซึมซับกับงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ถ้าพระองค์ท่านยังทำได้ ทำไมเราที่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่อาสาพาคนบาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลเพื่อช่วยต่อชีวิตไม่ได้บ้าง บางคนก็ไม่เข้าใจว่า อาสาสมัครกู้ภัยมาทำไม มาเพื่ออะไร มาแล้วได้อะไร ก็มีคนพูดว่าจะมาทำให้เขาเสียเวลาทำไม แต่ถ้าเราไม่มาแล้วคนที่เขารอความช่วยเหลือที่มีอยู่เยอะล่ะ คนที่นอนหลับอย่างเดียวไม่ออกมาช่วย ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ใครจะว่าอะไรก็ปล่อยเขา ในเมื่อเราตั้งมั่นที่จะทำสิ่งนี้บนเส้นทางสาธารณกุศล เพื่อสังคม เพื่อประชาชนให้ดีที่สุด อาสาสมัครกู้ภัย The People: คิดว่าตัวเองเป็นฮีโร ญาโณทัย: ไม่เคยคิด ไม่เคยคิดว่าตัวเองดีกว่าใครหรืออะไร คิดว่าเราเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่มาทำให้สังคม และผืนแผ่นดินไทย ตอนนี้เวลาไปไหน ผมก็ยังมีกระเป๋ายาใบเล็ก ๆ ติดตัวไว้ตลอดเวลา พอเจอรถล้มต่อหน้าก็รีบเข้าไปช่วยทันที ไม่ใส่เครื่องแบบจิตอาสาก็เข้าไปช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ พอเจ้าหน้าที่มาก็ให้เขารับช่วงต่อ บางทีนั่งกินข้าวอยู่ข้างทางได้ยินเสียงหวอวิ่งผ่านรีบหันไปมองทันทีว่าเขามีเคสที่ไหน มีใครเป็นอันตรายต้องการความช่วยเหลืออยู่หรือเปล่า บางวันเสียงรถหวอวิ่งผ่านบ้านยังตกใจเลย ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น The People: ในแต่ละคืนอาสาสมัครกู้ภัยทำอะไรกันบ้าง ญาโณทัย: ส่วนใหญ่เวลารอก็นั่งคุยกับเพื่อน ๆ ที่เพิ่งเลิกงานประจำแล้วมารวมตัวกัน นั่งฟังวิทยุกัน นั่งคุยกันไป บางทีก็นั่งกินขนม ดื่มกาแฟแก้ง่วงบ้าง ดูข่าวว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เอาเสื่อมาปูกันก็มี พวกผมช่วยกันฟังวิทยุ พอศูนย์ฯ เขาแจ้งมาเราก็รีบออกไปช่วยทันที ถ้าไม่มีเคสเข้ามา พอดึก ๆ หน่อยถ้าใครไหวก็นั่งตาสว่างฟังวิทยุไป คนที่ไม่ไหวก็นอนรอในรถกันไปก่อน บางทีก็นอนบนเสื่อไปเลยก็มี พอมีเคสก็รีบปลุก แล้วออกไปพร้อมกัน เคล็ดลับของงานกู้ชีพกู้ภัย เรื่องความปลอดภัยต้องมาอันดับหนึ่ง การเข้าที่เกิดเหตุ ต้องดูก่อนว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยหรือยัง ถ้าปลอดภัยแล้วถึงจะเข้าไปได้ ถ้าอันตรายต้องเคลียร์พื้นที่ก่อนถึงจะเข้าไปได้ เราต้องเซฟตัวเรา ถ้าเกิดเจ้าหน้าที่อย่างเราเข้าไปแล้วเกิดบาดเจ็บขึ้นมา ใครจะมาช่วยเหลือเราถ้าหากเจ้าหน้าที่บาดเจ็บไปแล้ว กว่าจะรอให้คนอื่นมาช่วยก็กลายเป็นเหตุซ้ำซ้อนกันไปอีก การทำงานกู้ภัยอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องความสามัคคีการทำงานเป็นทีม พี่ ๆ น้อง ๆ ในจุดที่มาทำงานด้วยกันต้องประสานงาน แยกกระจายการไปทำงานแต่ละส่วน เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น The People: ความยากลำบากและอันตรายของงานกู้ภัยในเวลากลางคืน ญาโณทัย: ความยากและอันตรายเหรอครับ กลางคืนมันเป็นยามราตรี มันค่อนข้างที่จะมืด แล้วการทำงานต้องทำงานกันเป็นทีม ไปกันทีละหลายคน ประชาชนชอบถามว่าทำไมป่อเต็กตึ๊งต้องออกกันไปครั้งละหลายคัน อย่างหนึ่งการเซฟตี้เป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดของผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บ อาสาสมัครส่วนหนึ่งกำลังทำหน้าที่โบกรถ ส่วนหนึ่งกำลังมีหน้าที่ปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บที่จุดเกิดเหตุ มีส่วนคอยดูทางเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซ้อนขึ้น ตรงนี้คือจุดยากในการทำงานในเวลากลางคืน ตัวผมเองยังไม่ค่อยเจอเหตุซ้ำซ้อน แต่สมัยก่อนเวลาไม่มีคนโบกรถ ไม่มีไฟสัญญาณก็เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ถ้าเราจัดระบบการทำงานให้เป็นสัดส่วนตามที่เราอบรมจากทางมูลนิธิฯ มาว่าการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บการเซฟตี้ การจัดชุดจราจรคอยโบกรถ คอยกั้นรถ คอยดูแลผู้บาดเจ็บ เพื่อลำเลียงขึ้นรถไปส่งถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย อาสาสมัครกู้ภัย The People: ทำงานที่เสี่ยงแบบนี้ที่บ้านเป็นห่วงไหม ญาโณทัย: สมัยก่อนพ่อแม่กลัวผมจะโดนรถชนเป็นอันตรายหรือเปล่า หรือเรียนไหวไหม แต่ผมก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าผมสามารถทำได้ ผลักดันตัวเองจนเรียนจบได้ ที่บ้านห่วงใยเรา เราก็เอาความห่วงใยนั้นมาเชื่อมทุกความผูกพัน ส่งต่อไปยังคนอื่นที่รอความช่วยเหลือจากเรา การที่ไม่เคยเจออุบัติเหตุเลยอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยสอนให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น การใช้ความเร็วเราต้องนึกถึงคนที่อยู่ในรถด้วย เราไม่ได้มีแค่คนเดียว ในรถเรายังมีทั้งผู้บาดเจ็บ ทั้งลูกทีมเราอีกสามสี่คนที่ต้องทำงานร่วมกัน เราเป็นคนขับเราต้องดูแลชีวิตคนทั้งคันรถให้ไปถึงโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย ไปที่เกิดเหตุและกลับมาอย่างปลอดภัย อาสาสมัครกู้ภัย The People: เคสที่ประทับใจ? ญาโณทัย: เคสที่ผมประทับใจคือเคสคนชราคนหนึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ซอยแถวบ้าน ครั้งนั้นผมไปทำ CPR (ปฏิบัติการเพื่อช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจกะทันหัน) ผมไปนวดหัวใจแล้วเขาฟื้นขึ้นมา ได้กลับมาเห็นหน้าลูกหลานอีกครั้ง เราไปยื้อให้เขามีชีวิตอยู่ให้ลูกหลานยังได้พูดคุย ได้ดูแลต่อ ผมก็ได้รับคำขอบคุณจากเขาว่าขอบคุณนะที่ช่วยให้อาม่าเขารอดแล้ว ผมก็ดีใจที่เขามีชีวิตรอด คือคำว่าขอบคุณ ขอบใจ บางคนเราเห็นญาติเขากำลังร้องไห้รอความช่วยเหลือจากเรา เขาก็อยากให้ญาติเขาฟื้น เราช่วยทำ CPR ให้เขาฟื้นขึ้นมา พอเขาดีใจ เราก็ดีใจ เราได้ทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งได้กลับคืนมา เราก็มีความสุขแล้วนะว่าเราทำให้เขาฟื้นอีกครั้ง นั่นเป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก อาสาสมัครกู้ภัย The People: เคยท้อแท้เหน็ดเหนื่อยไหม ญาโณทัย: เคยท้อเคยน้อยใจในการปฏิบัติหน้าที่อยู่บ้าง อย่างตอนเวลาเจอรถติดเราก็ท้อแล้ว เรามีผู้บาดเจ็บผู้ป่วยอยู่ในรถ เมื่อก่อนตอนที่โซเชียลยังไม่แพร่หลาย ไม่มีคลิปวิดีโอให้ช่วยหลีกทางให้กับรถพยาบาล ซึ่งตอนนี้มีมาเผยแพร่แล้วว่า ทุกคนต้องให้ทางให้กับรถพยาบาล ตอนนี้ผมเลยเริ่มไม่ท้อแล้ว เพราะส่วนใหญ่เริ่มเห็นความสำคัญของชีวิตคนที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันทีว่ามีความหมายที่สุด แต่เมื่อก่อนผมไปเส้นสุขุมวิท เส้นสาทร ต่อให้เปิดไซเรนก็ไม่ได้ไปไหน ใจเราอยากรีบนำผู้ป่วยผู้บาดเจ็บไปส่งให้เร็วที่สุด เพราะเขาป่วยทรมานจากอาการบาดเจ็บ แต่เดี๋ยวนี้สื่อได้ออกมารณรงค์ให้กับรถพยาบาลมากขึ้น ประชาชนคนที่ประสบอุบัติเหตุ อาจจะมาจากร้อยพ่อพันแม่ แต่เขาก็มีชีวิตมีเลือดเนื้อเหมือนกับเรา เป็นคนไทยที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเรา เขาอาจไม่ใช่ญาติเรา แต่เราก็ดูแลเขาเหมือนญาติ นำส่งเขาอย่างปลอดภัยไปถึงโรงพยาบาล
มันเป็นคำขอบคุณ มันมีคุณค่าทางใจ คุณค่าทางใจที่มันมีความสุขและมันอิ่มมากกว่าการที่เราได้เงินได้สตางค์
The People: อยากฝากอะไรให้คนทั่วไปเข้าใจการทำงานของอาสาสมัครกู้ภัย ญาโณทัย: อยากให้ประชาชนดูแลความปลอดภัยของตัวเอง เวลาขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้สวมหมวกนิรภัย ขับรถยนต์ก็คาดเข็มขัดให้เรียบร้อย เพราะที่ผ่านมาหลายกรณีที่เสียชีวิตเกิดจากการไม่คาดเข็มขัด หรือไม่สวมหมวกนิรภัย แล้วให้เคารพกฎจราจรปฏิบัติตามให้ถูกต้อง ใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ กลางคืนเคสที่เกิดขึ้นจะเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์เกือบทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเกิดจากการดื่มสุรา นอกนั้นก็เป็นการรับคนป่วยจากบ้าน บางที่เป็นซอยเล็ก ๆ ต้องเดินเข้าไป เพื่อลำเลียงออกมา เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงินต้องอาศัยรถของมูลนิธิไปช่วย บางคนอยู่ชั้นสาม บางท่านก็มีน้ำหนักเยอะต้องใช้ทีมงานยกลงมา อีกอย่างคือถ้าเราเจอรถกู้ชีพกู้ภัย อยากขอว่าช่วยให้ทางกับรถเหล่านี้ เพราะทุกนาทีคือชีวิต ทุกลมหายใจของคนเจ็บคนป่วย ถ้าเราไปเจอประชนชนอย่างท่านที่ไม่ให้ทาง เขาอาจไม่รู้หรอกว่าข้างหน้ามีคนที่รอการช่วยเหลืออยู่ รอที่จะต่อลมหายใจอยู่ เราจะดูรถที่ได้รับอนุญาตได้จากสติกเกอร์ว่า Bangkok EMS แต่ละคันจะมีเลขประจำปีที่ผ่านการตรวจจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แล้วก็ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (เอราวัณ) เป็นการรับรองว่ารถคันนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยผู้บาดเจ็บได้อย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้ทางมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีแอป “ป่อเต็กตึ๊ง 1418” ที่ช่วยบอกตำแหน่งที่อยู่ของผู้แจ้งเข้าไปในแอป เพราะการโทรศัพท์แจ้งเคสบางทีจะระบุตำแหน่งตรอกซอกซอยที่แน่ชัดไม่ถูก เราก็ไม่รู้ไปถึงช้า ถ้าใช้แอปเวลาแจ้งเหตุก็เลือกได้เลยว่าเป็นเหตุชนิดไหน เกิดอะไรขึ้น พอส่งไปศูนย์รับแจ้งเหตุก็จะส่งไปยังศูนย์วิทยุ แล้วกระจายบอกอาสาสมัครที่อยู่ประจำในพื้นที่นั่นอีกที รวดเร็วและมีประโยชน์มาก ญาโณทัย สมัญญา อาสากู้ภัยที่เสียสละหลายอย่างเพื่อแลกกับการได้ช่วยชีวิตคนอื่น The People: ความสุขของการเป็นอาสาสมัครกู้ภัย ญาโณทัย: มันเป็นคำขอบคุณ มันมีคุณค่าทางใจ คุณค่าทางใจที่มันมีความสุขและมันอิ่มมากกว่าการที่เราได้เงินได้สตางค์ เงินทองเป็นของนอกกาย แต่น้ำใจของคนในสังคมความดีเป็นเรื่องที่หายาก แล้วผมนึกอยู่ในจิตใจผมตลอดเวลาเรื่องพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า จงนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ถ้าผมยังมีลมหายใจ และกำลังผมยังไหว ผมก็จะทำต่อครับ ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกำลังร่างกายเราไม่ไหว