สัมภาษณ์ เจเรมี่ ซัคเกอร์ เจ้าของเพลงฮิต ‘comethru' อดีตนักชีววิทยา ครูสอนสโนว์บอร์ด และแฟนคลับ blink182

สัมภาษณ์ เจเรมี่ ซัคเกอร์  เจ้าของเพลงฮิต ‘comethru' อดีตนักชีววิทยา ครูสอนสโนว์บอร์ด และแฟนคลับ blink182

       ช่วงทศวรรษหลังสุดมีหลายสิ่งเกิดขึ้นมากมายในโลกดนตรี การเกิดขึ้นของสตรีมมิ่งกลายเป็นสิ่งที่ดึงคนให้ใกล้กับดนตรีมากขึ้น ความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ก็กลายเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่ผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองสู่สาธารณชนมากขึ้นเช่นกัน

ศิลปินชื่อดังอย่าง จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber), ชอว์น เมนเดส (Shawn Mendes) หรือ ชาร์ลี พูท (Charlie Puth) ก็ล้วนแต่เริ่มจากการทำเพลง cover ลง YouTube ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งแรงบันดาลใจเหล่านี้กลายเป็นต้นแบบให้เด็กหนุ่มผู้มีความฝันอย่าง เจเรมี่ ซัคเกอร์ (Jeremy Zucker) ได้เดินตาม

ชีวิตในวัยเด็กของ ซัคเกอร์ ล้อมรอบไปด้วยดนตรีตลอดเวลา เขาฝึกเล่นเปียโนครั้งแรกตอนอายุได้เพียง 5 ขวบ ก่อนที่ความสนใจทั้งหมดจะเปลี่ยนไปหลังจากเขาได้ฟังเพลงจากวงร็อก พั้งก์ ชื่อดังอย่าง “blink-182” ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาหันมาทำเพลงป๊อปที่มีความหลากหลาย จนกลายเป็นเพลงฮิตอย่าง ‘comethru'

นักร้อง นักแต่งเพลง จากนิวเจอร์ซีย์ วัย 22 ปี คนนี้ เพิ่งจะมีผลงานใหม่ล่าสุดอย่าง ‘oh, mexico’ และถูกจับตามองเป็นอย่างมากในฐานะว่าที่ดาวโรจน์รุ่งใหม่ของวงการเพลง  The People มีโอกาสนั่งคุยกับชายคนนี้ในหลากหลายประเด็นที่คุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน น้อยคนจะรู้ว่าเขาเคยเป็นอดีตนักชีววิทยา หรือครูสอนสโนว์บอร์ด มาก่อนด้วย

The People: คุณเริ่มหันมาให้ความสนใจด้านดนตรีได้อย่างไร

เจเรมี่: ผมว่าผมเริ่มจากการเป็นผู้ฟังก่อน ผมโตมากับการเล่นเปียโนและกีตาร์ แล้วผมก็เป็นแฟนคลับของวง blink-182 ผมเริ่ม cover เพลงของพวกเขา หลังจากนั้นถึงได้เริ่มแต่งเพลงของตัวเองโดยยึดเพลงของพวกเขาเป็นตัวอย่าง ช่วงเริ่มต้นผมทำเพลงโดยใช้โปรแกรม Garage Band แล้วทุกอย่างก็ค่อย ๆ เข้าที่เข้าทางเอง ผมเริ่มเติบโตจากการเป็นแฟนคลับคนหนึ่ง ที่ค่อย ๆ พัฒนาจนกลายมาเป็นศิลปินที่ทำเพลงของตัวเอง

The People: คุณมีอัลบั้มที่ถึงขนาดว่าฟังแล้วเปลี่ยนชีวิตคุณเลยไหม?

เจเรมี่: อัลบั้ม Oh Wonder ของ Oh Wonder ชื่อเดียวกับชื่อวงเลย อัลบั้มนั้นถือว่าเปลี่ยนมุมมองของผมที่มีต่อดนตรีไปเยอะ แล้วก็อัลบั้ม Blonde ของ แฟรงก์ โอเชี่ยน (Frank Ocean) อัลบั้ม Yeezus ของ คานเย เวสต์ (Kanye West) ผมฟังเพลงหลากหลายมาก

The People: เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ว่าคุณเคยสอนสโนว์บอร์ดด้วย ประสบการณ์การเป็นครูสอนสโนว์บอร์ดเป็นอย่างไรบ้าง

เจเรมี่: ผมชอบเล่นสโนว์บอร์ดมาตั้งแต่เด็ก ๆ การได้สอนเลยเป็นงานที่ผมชอบมาก ผมเริ่มสอนตั้งแต่อายุประมาณ 15 สอนได้ 2-3 ปีก็เริ่มเปลี่ยนมาสอนเด็ก ๆ เล่นสกี ทุกวันหลังเลิกเรียนผมจะขับรถประมาณ 30 นาทีจากบ้านผมไปสอน

The People: แล้วคุณได้อะไรจากการสอนบ้างไหม

เจเรมี่: เงิน (หัวเราะ) สโนว์บอร์ดคือการได้ขึ้นเขา แบกอุปกรณ์ไปผจญภัย แล้วใช้เวลากับตรงนั้นทั้งวันทั้งคืน จริง ๆ มันก็คือข้ออ้างที่จะออกไปสนุกข้างนอกนั่นแหละ

สัมภาษณ์ เจเรมี่ ซัคเกอร์  เจ้าของเพลงฮิต ‘comethru' อดีตนักชีววิทยา ครูสอนสโนว์บอร์ด และแฟนคลับ blink182

The People: หลายคนยังไม่รู้ว่าก่อนจะมีชื่อเสียง คุณเคยเป็นนักชีวิวิทยามาก่อน ส่วนตัวคุณคิดว่าชีววิทยากับดนตรีเหมือนกันไหม

เจเรมี่: ไม่นะ ผมว่ามันคือขั้วตรงข้ามกันเลยต่างหาก ชีววิทยาใช้ความเป็นเหตุเป็นผล ตรงไปตรงมา คือการหาอะไรที่เป็นรูปเป็นร่าง มีหลักการ ทดสอบได้ วิทยาศาสตร์เลยเป็นเรื่องง่ายสำหรับผม เพราะผมชอบอะไรที่ใช้ตรรกะ แล้วผมก็สนใจเรื่องโลก ร่างกายของเรา วิวัฒนาการ หรือแม้กระทั่งอวกาศ

แต่ดนตรีคือคนละเรื่องเลย ดนตรีไม่มีถูก ไม่มีผิด ทุกคนมีอิสระที่จะสร้างสรรค์งานยังไงก็ได้ การที่ผมเรียนวิทยาศาสตร์ไปพร้อม ๆ กับการแต่งเพลงเลยกลายเป็นการสร้างสมดุลให้กับสมองผม ด้านหนึ่งเป็นพวกหลักการ เหตุผล ความรู้ อีกด้านหนึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ ความรู้สึก

The People: คุณได้นำเอาหลักการที่คุณเรียนในวิชาชีววิทยามาใช้ในดนตรีของคุณบ้างไหม

เจเรมี่: ผมว่าสองอย่างนี้เป็นคนละด้านกัน แต่ผมอาจจะเอาหลักการคิดที่มีแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอนของวิทยาศาสตร์มาช่วยในการทำเพลง เพราะการทำเพลงมีรายละเอียดทางเทคนิคหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง แต่ส่วนที่สำคัญของเพลงจริง ๆ มาจากความคิดสร้างสรรค์ล้วน ๆ

The People: ทำไมดนตรีถึงเป็นทางเลือกในการแสดงออกถึงความรู้สึกของคุณได้ดีที่สุด

เจเรมี่: ตอนผมนั่งแต่งเพลง ผมไม่ได้คิดนะว่าผมจะแต่งเพลงเกี่ยวกับอะไร ผมปล่อยให้ดนตรีกับเนื้อร้องมันออกมาเอง แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าผมแต่งเกี่ยวกับประสบการณ์ของตัวเองที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงมาก ๆ บางทีผมมีหลายเรื่องในหัว จนไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของตัวเองสักเท่าไหร่ แต่เพลงที่ผมแต่งออกมาทำให้ผมได้รู้ว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมผมถึงรู้สึกแบบนั้น ทำให้ผมได้มานั่งทบทวนตัวเองและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

The People: คุณคิดว่าส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเพลงคืออะไร เนื้อร้อง ทำนอง หรือ จังหวะ

เจเรมี่: ทุกอย่างนะ สิ่งสำคัญคือการที่ทุกอย่างผสมผสานกันอย่างลงตัว เนื้อเพลงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผม เพราะถ้าเนื้อเพลงมันจำเจ ไม่สร้างสรรค์เมื่อไหร่ บรรยากาศดี ๆ ที่มีมันอาจจะเสียไปเลย ผมชอบเนื้อเพลงที่เหมือนบทสนทนาของคนสองคน และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดี แต่ไม่ใช่ว่าอย่างอื่นไม่สำคัญนะ การทำดนตรีก็สำคัญไม่แพ้กัน

สัมภาษณ์ เจเรมี่ ซัคเกอร์  เจ้าของเพลงฮิต ‘comethru' อดีตนักชีววิทยา ครูสอนสโนว์บอร์ด และแฟนคลับ blink182

The People: ปัจจุบันคนหันมาฟังเพลงจากสตรีมมิ่งมากขึ้นเรื่อย ในมุมหนึ่งมันก็กำลังทำลายเสน่ห์ของดนตรีอย่าง แผ่นเสียง หรือซีดี ที่เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยเด็กของคุณ ส่วนตัวคุณคิดว่าการมีบริการสตรีมมิ่งเป็นเรื่องดีไหม

เจเรมี่: สำหรับผม ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่วิเศษมากสำหรับศิลปิน เพราะสมัยก่อนศิลปินมีช่องทางที่จะดังหรือโชว์ผลงานของตัวเองแค่ทางเดียวคือผ่านวิทยุ แต่ตอนนี้มีช่องทางที่เปิดโอกาสให้ศิลปินเหล่านั้นมากขึ้น ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับวงการเพลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเลย

The People: สิ่งที่คุณชอบที่สุดเกี่ยวกับประเทศไทยคืออะไร

เจเรมี่: ผมชอบอาหารไทย และคนไทยก็น่ารักมาก ๆ ผมยังไม่ได้มีโอกาสออกไปไหนเท่าไหร่ เพราะช่วงนี้มีสัมภาษณ์ แต่ผมอยากออกไปทำอะไรสนุก ๆ ผมชอบอาหารไทยมาก ตอนผมอยู่ที่บ้านผมก็กินอาหารไทยบ่อย ๆ การได้มากินอาหารไทยที่นี่จึงเป็นเรื่องที่สุดยอดไปเลย รสชาติมันต่างกับที่โน่นราวกับฟ้ากับเหว

The People: อะไรคือสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับคุณตั้งแต่เป็นศิลปินมา

เจเรมี่: สำหรับผมคือทัวร์ ผมไม่เคยคิดเลยว่าเพลง ‘comethru’ จะทำให้ผมได้ไปเล่นที่ชิคาโก ได้มาเอเชียเป็นครั้งแรก ตอนนี้กรุงเทพฯ และผมก็มีอีก 7 เมืองหลังจากนี้ด้วย ผมไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่ผมเริ่มทำจากในห้องนอนของผม จะนำผมมาสู่คนฟังที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลกได้

สัมภาษณ์ เจเรมี่ ซัคเกอร์  เจ้าของเพลงฮิต ‘comethru' อดีตนักชีววิทยา ครูสอนสโนว์บอร์ด และแฟนคลับ blink182

The People: ดนตรีคืออะไรสำหรับคุณ

เจเรมี่: ดนตรีคืออารมณ์ และความรู้สึก เป็นสิ่งที่เชื่อมความรู้สึกของคนเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจากวัฒนธรรมเดียวกันหรือต่างวัฒนธรรมกัน บางทีเรามัวแต่จมอยู่กับความคิดของตัวเองจนลืมไปว่าจริง ๆ แล้วมนุษย์เรามักจะมีความรู้สึกแบบเดียวกันนั่นแหละ ดนตรีเลยกลายเป็นสิ่งที่มาเตือนความจำของเราตรงส่วนนั้น