ซิสโก้ ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ในสมรภูมิไอเดียนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้น
ซิสโก้ จัดเวที “Cisco Innovation Challenge 2019” ครั้งแรกในประเทศไทย เฟ้นหาโซลูชั่นและนวัตกรรมพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นและน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยี มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากไอโอที (IoT) และ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity) ผ่านแนวคิดคนไทยที่สนใจการพัฒนาเทคโนโลยีและชื่นชอบการสร้างนวัตกรรม โชว์ศักยภาพการออกแบบโซลูชั่นที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น
งาน Cisco Innovation Challenge 2019 มีผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 70 ทีม โดยทั้ง 70 ทีมมีการเสนอไอเดียนวัตกรรมเพื่อเข้ารอบเป็น 3 ทีมสุดท้าย ชิงเงินรางวัลกว่า 200,000 บาท ได้แก่ รางวัลชนะเลิศมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มูลค่า 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 มูลค่า 30,000 บาท และรางวัล Popular Vote จากสื่อมวลชน พร้อมกันนี้ทีมชนะเลิศจะได้รับประกาศนียบัตรและโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลก ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะได้รับสิทธิ์เข้าเรียนหลักสูตรออนไลน์ “ Introduction to IoT” และ “ Introduction to Cybersecurity” จัดโดย Cisco Networking Academy โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และได้รับประกาศนียบัตรจาก บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
การแข่งขัน “Cisco Innovation Challenge 2019” เปิดให้ผู้สนใจทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวด ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ภายใต้โจทย์สำคัญเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมโดยอาศัยเทคโนโลยี พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การศึกษา สาธารณสุข พลังงาน สิ่งแวดล้อม คมนาคม เกษตรกรรม ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีผู้สนใจทั่วประเทศรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ต่างให้ความสนใจและแสดงความมุ่งมั่นต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกทีม ที่มีศักยภาพในการนำนวัตกรรมมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง
โดยทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สองในงาน Cisco Innovation Challenge 2019 ได้แก่ ทีม Parkspace ที่คิดค้น Parking Space Application ซึ่งทางทีมอยากจะให้คนไทยที่เป็นผู้ใช้บริการบนท้องถนน สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นในการวนหาที่จอดรถ เพื่อประหยัดเวลาและสามารถนำเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย จึงได้ทำโครงการ Parkspace Application ซึ่งจะช่วยเป็นเนวิเกเตอร์หรือเพื่อนร่วมทางในการหาที่จอดรถให้กับคนใช้รถบนท้องถนน และยังสามารถจองที่จอดรถออนไลน์ได้อีกด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อถึงที่หมายแล้ว จะมีที่จอดรถอย่างแน่นอน
ทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง คือทีม Captain Thai-Nich กับ การควบคุมฟาร์มนกนางแอ่น ซึ่งรังนกเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงมาก และประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิต ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรังนก อันดับ 3 ของโลก รองจาก อินโดนีเซียและมาเลเซีย ทางทีมจึงต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงนกแอ่นกินรัง โดย ใช้เทคโนโลยี IoT เซนเซอร์ และระบบ Cloud เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และปัจจัยต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น มวลน้ำในอากาศ และเสียงนก ให้เหมาะสมกับการทำฟาร์มนกแอ่นกินรัง และเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพของรังนก เป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรไทยต่อไป
ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัล Popular Vote จากสื่อมวลชน คว้าเงินรางวัลมูลค่า มูลค่า 100,000 บาท ได้แก่ทีม Ricult กับแพล็ตฟอร์มดิจิทัลช่วยชาวนาตัดสินใจจาก Data-Driven ธุรกิจเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเพิ่มผลผลิตสินค้าทางการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์ วางแผนการปลูกพืชเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน โดยส่งข้อมูลผ่าน Application Ricult หลังจากที่เกษตรกรลงทะเบียนผ่าน Application จะมีการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกผ่านดาวเทียมเพื่อตรวจสอบคุณภาพของพืชไร่ได้ เกษตรกรสามารถรู้คุณภาพของพืชผลได้ทันที และยังสามารถดูพยากรณ์อุณหภูมิอากาศ ความเข้มข้นของแสง ความเร็วลม และความชื้นในอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตร นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำในการทำการเกษตรในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด นำมาสู่รายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรไทย
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาค อินโดจีน กล่าวว่า “ซิสโก้มีความตั้งใจมาโดยตลอดที่จะสนับสนุนให้คนไทยสร้างสรรค์ความคิดในการแก้ไขปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยใช้ประโยชน์จาก IoT และ Cybersecurity ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยดิจิทัล ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในปัจจุบันเป็นสิ่งที่องค์กรและธุรกิจให้ความสนใจอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาที่สังคม รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทุกวันนี้องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ ไม่มีคำถามว่าควรจะทรานส์ฟอร์มหรือไม่ แต่ “เมื่อไหร่” ที่จะทรานส์ฟอร์ม เราหวังว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันแนวคิดเหล่านี้ และช่วยสานฝันของพวกเขาให้กลายเป็นจริง รวมทั้งกระตุ้นให้คนทั่วไปเล็งเห็นความสำคัญของดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นที่จะส่งผลกระทบวงกว้าง และพร้อมรับมือสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งองค์กรหรือธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่ปรับตัวจะไม่สามารถตามคู่แข่งได้ทัน”
“ตลอดระยะเวลาของการแข่งขัน ซิสโก้ได้เห็นมุมมอง แนวคิด ตัวอย่างของโซลูชั่นแปลกใหม่ที่พัฒนาด้วยความตั้งใจจริงของคนรุ่นใหม่ที่จะนำเอา IoT และเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมเข้ากับดาต้าและอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ที่ใช่ในชีวิตประจำวันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนมากกว่าแต่ก่อน ทุกไอเดียที่เสนอมาเป็นแนวคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างรวดเร็ว และซิสโก้จะช่วยทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงให้ได้" นายวัตสัน กล่าวเสริม
ซิสโก้มุ่งมั่นในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์เพื่อนำประโยชน์มาสู่ท้องถิ่น และแก้ไขปัญหาที่มนุษย์กำลังเผชิญด้วยเทคโนโลยี โดยในปี พ.ศ. 2557 ซิสโก้ได้ริเริ่มโครงการ “Problem Solver Challenge” นำไปสู่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ระบบรดน้ำพลังงานแสงอาทิตย์, แพลตฟอร์มวิดีโอที่ภาพคมชัดบนทุกความเร็วอินเทอร์เน็ต, แอปพลิเคชันเพื่อการวินิจฉัยโรค หรือ กล้องที่สามารถตรวจจับท่าทางการเคลื่อนไหวของคนได้ นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นไอเดียของการประยุกต์ซึ่งเทคโนโลยีและจินตนาการของมนุษย์ ผนวกกันจนกลายเป็นนวัตกรรมสุดล้ำ ที่ช่วยแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราให้ง่ายและสบายยิ่งขึ้น และนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่มาจากการประกวดไอเดียและนวัตกรรมของซิสโก้นั่นเอง