สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ

สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ
ชีวิตของ “แม่ชี” สำหรับคนเมืองที่อยู่ห่างวัดคงจะมีโอกาสได้เห็นแต่แม่ชีที่มายืนขอปัจจัยตามพื้นที่สาธารณะที่คนพลุกพล่าน จนเกิดภาพจำที่ไม่ดีเท่าไรนัก หากนั่นเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น ยังมีแม่ชีอีกจำนวนมากที่ตั้งใจศึกษาพระธรรมอย่างจริงจังเพื่อไปให้ถึงบรรลุธรรมขั้นสูง และยังเป็นที่เคารพนับถือจากศาสนิกชนไม่น้อย  เพราะการเป็นแม่ชีมิได้บวชเป็น “ภิกษุณี” หาเป็นข้อจำกัดที่จะทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเป็นอรหันต์ได้ไม่ และการศึกษาของ รองศาสตราจารย์ ดร. มาร์ติน ซีเกอร์ (Martin Seeger) ผู้ก่อตั้งวิชาไทยศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ (University of Leeds) ประเทศอังกฤษ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า แม่ชีที่ปฏิบัติดีและมีความรู้ลึกในทางธรรมนั้น บางท่านแม้แต่พระภิกษุก็ยังนับถือ และบางท่านก็ได้รับการเชิดชูจากลูกศิษย์ลูกหาว่าบรรลุอรหัตตผล มาร์ติน อาจารย์ชาวเยอรมันผู้ศึกษาเรื่องราวของผู้หญิงไทยในศาสนาพุทธมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี สนใจเรื่องราวของศาสนาพุทธมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น แม้เริ่มแรกทีเดียวเขาจะให้ความสนใจกับศาสนาพุทธในแบบทิเบต แต่เมื่อได้มาเห็นวิถีปฏิบัติของพุทธเถรวาทที่เชียงใหม่ก็ทำให้เขาเกิดความศรัทธาถึงขั้นตัดสินใจบวชเรียนนานเกือบสามปี  เดือนมิถุนายน ปี 2562 มาร์ตินกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง เพื่อสานต่อโครงการเผยแพร่ความรู้ว่าด้วยเรื่องผู้หญิงไทยในพระพุทธศาสนา โดยได้มีส่วนร่วมในการจัดละครธรรมะเรื่อง “เดอะธัมมัสสวน์ : ดำรงธรรม ดำรงเทศน์” ซึ่งเป็นการนำงานประพันธ์ของ “คุณหญิงดำรงธรรมสาร ใหญ่ วิเศษศิริ” สตรีคนสำคัญในหัวข้อศึกษาของ มาร์ติน (และนริศ จรัสจรรยาวงศ์) มาดัดแปลง ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องผู้หญิงไทยในศาสนาพุทธมากที่สุดคนหนึ่งในโอกาสนี้   The People: ความเป็นมาของคุณมาร์ติน ก่อนจะมาเป็นผู้สนใจเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย? มาร์ติน: ผมเกิดในเมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ชื่อว่าชวาร์ซวัลด์ (Schwarzwald) แปลเป็นไทยได้ว่าป่าดำ เมื่อปี ค.ศ. 1973 เติบโตในบริบทแวดล้อมของศาสนาคริสต์ พ่อแม่ผมเป็นคริสต์ เข้าโบสถ์เหมือนคนทั่วไปทุกวันเสาร์อาทิตย์ ก็เลยมีศรัทธาในคริสตศาสนา แต่พออายุประมาณสิบห้าสิบหกวันหนึ่งก็ดูทีวีตามปกติ วันนั้นก็มีรายงานน่าจะเป็นสารคดีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธแบบทิเบต แล้วก็เห็นภาพของ องค์ดาไล ลามะ ท่านยิ้ม ก็เหมือนนาทีที่พลิกชีวิต  ตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาอะไรมากนัก แต่พอเห็นการยิ้มของท่านทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งอธิบายไม่ถูก ทำให้เราสงสัยว่าพระพุทธศาสนาเป็นอย่างไรแน่ เราก็เลยเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา แน่นอนแรก ๆ เราก็มีโอกาสได้ศึกษาแต่จากหนังสือที่เอามาอ่าน ที่องค์ดาไล ลามะเขียนเอง หรือที่นักวิชาการเขียน ยิ่งศึกษาก็ยิ่งชอบ ยิ่งมีความประทับใจในพระพุทธศาสนา แต่แรก ๆ ไปศึกษาทางด้านทิเบต ทางด้านจีนมากกว่า ก็เลยเกิดความสนใจเกี่ยวกับลัทธิเต๋าขึ้นมาด้วย พออายุ 18-19 จะต้องตัดสินใจเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว อยากศึกษาทางด้านนี้ ก็เลยศึกษาด้านจีนศึกษา อยากอ่านพระสูตรเป็นภาษาจีน เป้าหมายคืออยากไปประเทศจีน เพื่อศึกษาในวัดจีน  สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ The People: เริ่มสนใจพุทธแบบทิเบต แล้วอะไรทำให้หันมาสนใจพุทธเถรวาทแบบไทย? มาร์ติน: พอดีช่วงนั้นไม่รู้จักใครในประเทศจีน ครูคนหนึ่งที่สอนมัธยมปลายบอกว่า เขาไปเมืองไทย ผมก็เลยถามท่านว่า ขออนุญาตไปด้วยได้มั้ย เพราะผมก็อยากศึกษาเรื่องเอเชียมากขึ้น แต่ยังไม่รู้จักใคร ก็เลยอาศัยครูคนนี้ ไปที่เชียงใหม่เดินเข้าวัดแห่งแรกจำได้แม่น ก็เกิดปิติ คล้าย ๆ ความรู้สึกที่เรามีตอนที่เห็นองค์ดาไล ลามะ ชอบสถาปัตยกรรม ชอบสิ่งแวดล้อม ชอบบรรยากาศวัดไทย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทย แต่ก็อยากสัมผัสด้วยตนเอง และอยากรู้มากขึ้น จำไม่ได้แน่ชัด แต่จำได้ว่า ได้หนังสือมา หนังสือบาง ๆ ชื่อว่า ‘คุกของชีวิต’ เขียนโดย พุทธทาสภิกขุ เป็นหนังสือสองภาษา ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ แน่นอนตอนที่ผมได้มา ผมก็พยายามอ่านภาษาอังกฤษ ตอนนั้นภาษาอังกฤษของผมก็ไม่ค่อยเท่าไร เพราะเป็นชาวเยอรมันใช่มั้ยครับ ไม่เคยไปประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ก็เลยอ่านยากอยู่แล้ว แต่พออ่านเข้าก็เข้าใจมากขึ้น แล้วก็เอาพจนานุกรมอังกฤษ-เยอรมันมาดู มาศึกษา แล้วก็ชอบแนวความคิดทันที เห็นความง่าย แต่เห็นความลึกด้วยในเวลาเดียวกัน ก็คือภาษามันง่าย แล้วสื่อสารความหมายลึกได้ดี อย่างน้อยมีผลต่อจิตใจของผมทันทีครับ ทำให้ผมยิ่งมีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น พออ่านภาษาอังกฤษได้มากขึ้น คล่องมากขึ้น ก็เห็นว่า ‘คุกของชีวิต’ เล่มนี้ก็แปลมาแล้วจากภาษาไทย เลยสงสัยว่าในภาษาไทยเป็นยังไงแน่ ก็เลยศึกษาภาษาไทยไปด้วยนะครับ ตอนนั้นเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว โชคดีมากปีนั้นมีครูคนหนึ่งสอนภาษาไทย 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ได้เป็นวิชาของตนเอง เป็นวิชาเลือกของนักศึกษา ผมก็เลือกทันทีเพราะอยากรู้ว่าภาษาไทยเป็นยังไง พอเริ่มอ่านศึกษาภาษาไทยก็ชอบทันที ชอบเสียง แล้วก็ชอบระบบวรรณยุกต์ ชอบ ก. ไก่ แล้วก็ประทับใจในความเป็นระบบของการออกเสียง ของการเขียนภาษาไทย แต่ตอนนั้นยังศึกษาภาษาจีนอยู่ ยังไม่ได้เปลี่ยนเป้าหมายของชีวิตที่จะไปเมืองจีน แต่พอมาเมืองไทยรอบที่ 2 รอบที่ 3 ก็เข้าใจพระพุทธศาสนาเถรวาทมากขึ้น วันหนึ่งจำได้แม่น เดินเข้าวัดแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ คุยกับพระรูปหนึ่ง ตอนนั้นท่านบวชมาประมาณ 10 กว่าพรรษา ก็คุยสนทนากัน ท่านภาษาอังกฤษเก่ง  ผมตอนนั้นภาษาอังกฤษก็พอไหว ผมก็เลยนึกว่าต้องโอ้อวดความรู้กับพระไทย เราอ่านมามากแล้ว เข้าใจพระสูตรนู้น พระสูตรนี้ มาบรรยายให้ท่านเห็น แล้วหวังว่าท่านจะชมเราว่า "เก่งนะฝรั่งคนนี้" แต่ท่านก็นั่งยิ้มไม่ชมสักที พอผมพูดหมดแล้วท่านก็เงียบไป สักพักท่านก็บอกว่า "โยม ยังไม่รู้อะไรเลย ต้องปฏิบัติธรรม จึงจะมีความรู้ที่แท้จริง" ผมก็อึ้ง ท่านพูดแบบนี้ได้ไง (หัวเราะ) ผมก็ขยันศึกษามาหลายปีนึกว่ารู้ ทีแรกที่ท่านพูด ต้องยอมรับว่าไม่พอใจ กลับโรงแรมก็มาคิดได้ว่า ท่านพูดถูกนะ คืนนั้นก็ตัดสินใจว่าอยากบวชเป็นพระ แต่เนื่องจากยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ก็เลยต้องรีบกลับไปคุยกับพ่อแม่ แล้วก็ขออนุญาตว่า อยากบวช ลูกอยากบวชอยากเรียน อยากเข้าใจธรรมะอย่างลึก อย่างแท้ ก็เลยกลับไปที่เยอรมนี สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ The People: ทางบ้านไม่ว่าอะไร? มาร์ติน: แม่บอกว่าถ้าลูกสนใจก็ไม่ว่าอะไรนะ ผมบอกว่า "แม่ ลูกต้องใส่จีวรนะ" แม่ตอบว่า "ไม่เป็นไรลูก ทำไปเถอะ" ผมก็บอกแม่ว่าประมาณ 6 เดือนก็จะกลับมาเรียนต่อ "แม่ ผมจะต้องโกนหัว ผมไม่มีแล้วนะ" แม่ว่า "ไม่เป็นไร ไม่มีปัญหา ทำไปเถอะ" พอบอกว่า ต้องโกนคิ้วด้วย แม่ก็ตกใจ ก็เลยต้องอธิบายว่าทางประเพณีไทย เขาโกนหมด อันนี้ใช้เวลาหน่อย กว่าแม่จะยอมทำใจได้ แต่สุดท้ายเมื่อเห็นว่าลูกสนใจจริง ๆ ก็อนุญาต แล้วก็กลับมาเมืองไทยเพื่อบวชเป็นพระภิกษุโดยที่มีวัตถุประสงค์ว่าจะบวชประมาณ 6 เดือน พอบวชเข้าก็ชอบมาก 6 เดือนกลายเป็นปี ปีหนึ่งกลายเป็น 2 ปี 2 ปีกลายเป็นเกือบ 3 ปี แล้วก็ตัดสินใจลาสิกขาเพื่อที่จะจบปริญญาโทก่อน แล้วก็เนื่องจากเราชอบทางสายเถรวาทมาก ก็ตัดสินใจว่าจะมุ่งไปทางนั้น พอลาสิกขาก็กลับเยอรมนี และไปที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ซึ่งอยู่ทางเหนือของเยอรมนี เขาก็มีวิชาไทยศึกษา แล้วก็วิชาภารตวิทยา สอนเรื่องภาษาอินเดียโบราณ แล้วก็มีศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยทั้ง 2 วิชา ทั้งภารตวิทยาและวิชาไทยศึกษา ก็เลยไปที่นั่นทำปริญญาโท หัวข้อเกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาทไทย โดยศึกษา ตอนนั้น สมณศักดิ์คือ พระธรรมปิฎก ป. อ. ปยุตฺโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ก็อยากศึกษาแนวความคิดของท่าน  เพราะว่าระหว่างที่บวชนั้นผมก็อ่านหนังสือของพุทธทาสมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับหนังสือที่เขียนโดย ท่านพระธรรมปิฎก ป. อ. ปยุตฺโต มีพระรูปหนึ่งเอามาถวายให้ เป็นหนังสือหนา ชื่อ ‘พุทธธรรม’ ครับ 1,000 กว่าหน้า ตอนแรกผมเห็นแล้วคิดว่าคงอ่านไม่ไหว ภาษาไทยก็ยาก แต่ผมได้อ่านหน้าแรกก็ชอบภาษาทันที อ่านแบบเสียงดัง ๆ ในกุฏิให้ตัวเองฟัง ชอบความไพเราะและความลึกซึ้งของภาษา ทำให้อ่านเล่มนี้ที่หนา 1,000 กว่าหน้า ใช้เวลา 8 เดือน อ่านทุกวัน ทีแรกก็ต้องเปิดพจนานุกรม กว่าจะอ่านหน้านึงจบไม่รู้ต้องเปิดตั้งกี่ครั้ง แต่พออ่านเข้าใจง่ายขึ้น ยิ่งอ่านยิ่งสนใจแนวความคิด แนวการอธิบายคำสั่งสอนพระพุทธองค์ ของพระธรรมปิฎก ป. อ. ปยุตฺโต พออ่านเล่มนี้เสร็จแล้ว ผมก็บอกพระผู้ใหญ่ท่านนี้ที่มอบหนังสือให้ผมว่า ผมชอบเล่มนี้มากอยากเจอผู้ประพันธ์จริง ๆ ท่านก็บอกว่า “ได้” ท่านก็พาไปเจอ ไปกราบนมัสการ พระธรรมปิฎก ป. อ. ปยุตฺโต ที่วัดญาณเวศกวัน ที่นครปฐม จริง ๆ พอกราบท่าน และมีโอกาสสนทนาธรรมกับท่าน ก็ยิ่งมีความประทับใจในตัวท่านมากขึ้น หลังจากนั้นมาก็ถือว่าตัวเองเป็นลูกศิษย์ของท่าน ก็ศึกษาเกี่ยวกับท่านทั้งจากหนังสือของท่าน และการอยู่ใกล้ชิดกับท่าน ทำให้เกิดความรู้สึกศรัทธาแรงกล้ามากขึ้นตามลำดับ พอสึกแล้วก็อยากทำวิจัยเกี่ยวกับท่าน พอทำปริญญาโท ก็เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับท่าน แต่ทีแรกตั้งใจว่าจะบวชใหม่ เร่งทำโทให้เสร็จ เพื่อให้พ่อแม่แล้วก็ญาติทั้งหลายสบายใจว่าลูกจะไม่ตกระกำลำบาก วันหนึ่งวันใดสึกแล้วจะไม่มีงานไม่มีอาชีพ ก็คิดว่าทำโทแล้วค่อยบวชใหม่ แต่พอทำโทเสร็จแล้ว มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กก็ให้ทุนเพื่อทำปริญญาเอกทันที ก็เลยทำเอกไปด้วย ซึ่งก็ทำวิจัยเกี่ยวกับท่านพระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตฺโต เช่นเดียวกัน ก็ค้นคว้าแนวความคิดของท่าน วิธีการอธิบาย ตีความพระไตรปิฎกของท่าน การประยุกต์ใช้หลักของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันอย่างนี้ เป็นต้น   The People: จากที่ตั้งใจทิ้งชีวิตทางโลก อะไรทำให้หันมาเป็นนักวิชาการด้านพุทธศาสนา มาร์ติน: พอปีที่ 3 ของปริญญาเอก ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิต การบวชคงยังทำไม่ได้ ยังไม่พร้อม แล้วก็มีเหตุปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้นด้วย ก็เลยไม่ได้บวชทันที กำลังจะจบปริญญาเอก ยื่นวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว กำลังรอการสอบปากเปล่า อาจารย์ที่ปรึกษา ศาสตราจารย์วิชาไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กก็บอกผมว่า มีตำแหน่งวิชาไทยศึกษาเปิดรับสมัครที่มหาวิทยาลัยลีดส์ "สมัครเถอะ" ผมไม่ได้ตั้งใจจะไปอยู่ที่อังกฤษนะตอนนั้น แต่เราก็เกรงใจอาจารย์ ไม่สมัครก็ไม่ได้ ผมก็เลยบอกว่า "ผมก็อยากสมัครนะอาจารย์ แต่ถ้าเขาเชิญผมไปสัมภาษณ์ ผมไม่มีสูทจะใส่ครับ" พอดีแฟนอยู่ที่เมืองไทยส่งสูทมาให้ ผมก็เลยหมดข้ออ้าง ก็เลยสมัครไปโดยไม่ได้คิดอะไรมาก สมัครแล้วเขาก็เชิญผมไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ สัมภาษณ์แล้วเขาก็อยากรับผมเป็นอาจารย์ แต่ตอนนั้นก็ยังคิดว่า ทำไปเพราะเรายังไม่มีงานอื่นที่อยากทำ ก็อาจจะทำไปหนึ่งปี สองปี ดูก่อน แต่ว่าวิชาไทยศึกษายังไม่มีที่มหาวิทยาลัยลีดส์ ตอนนั้นปี 2004 ทางหัวหน้าภาคบอกผมว่า อาจารย์มาร์ตินจะต้องก่อตั้งเริ่มจากศูนย์เลย ตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยลีดส์ยังไม่มีหนังสือเป็นภาษาไทยเลย ยังไม่มีหลักสูตรภาษาไทย ยังไม่มีหลักสูตรวิชาไทยศึกษา ก็เลยมอบหน้าที่ให้ผมว่าจะต้องสร้างขึ้นมาจากศูนย์ แล้วดูว่านักศึกษาคนอังกฤษชอบมั้ย? ชอบศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ภาษาไทย พุทธศาสนาไทย มั้ย? ก็เหมือนเป็นโครงการทดลองดูมากกว่า  ผมก็เลยทำไปโดยมีเพื่อนร่วมงานจากจีนศึกษา ญี่ปุ่นศึกษามาช่วย ก็เลียนแบบหลักสูตรของเขา แล้วก็ประยุกต์ใช้ความรู้ที่ผมมีอยู่ได้มาตอนที่ผมบวชเป็นพระ แล้วก็ที่เรียนมาที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก เพื่อพัฒนาหลักสูตรไทยศึกษา ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ คนอังกฤษที่ชอบศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เกี่ยวกับวัฒนธรรมพุทธ มีไม่น้อย ทางมหาวิทยาลัยลีดส์ก็เลยตัดสินใจจ้างผมอย่างถาวรไปเลย  ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยลีดส์มีหลักสูตรไทยศึกษาระดับปริญญาตรีเกือบ 16 ปีมาแล้ว ซึ่งนักศึกษาเรียนทั้งภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ศาสนาพุทธในเมืองไทย และประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น ในระดับลึก เป็นเวลา 4 ปีครับ ในปีที่ 2 นักศึกษาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเวลา 1 ปี ตอนนี้มีนักศึกษาที่จบปริญญาตรีวิชาไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยลีดส์หลาย ๆ รุ่นแล้ว เมื่อจบแล้ว นักศึกษาหลายคนประสบความสำเร็จสูงทางด้านวิชาชีพ โดยใช้ความรู้ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ที่ได้มา อย่างเช่น เป็นครู ออกทีวีไทย (สอนภาษาอังกฤษให้แก่คนไทย) เป็นผู้ช่วยผู้ผลิตในการถ่ายทำภาพยนต์เรื่องเมืองไทย ได้ทำงานสำหรับมูลนิธิเด็ก สถานทูต การท่องเที่ยว มวยไทย เป็นต้น และหลายคนได้รับทุนการศึกษา เพื่อที่จะศึกษาต่อเรื่องเมืองไทยในระดับปริญญาโทและเอก ผมก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาระดับโทและเอกสำหรับนักศึกษาหลายคนมาแล้ว ทั้งฝรั่งและคนไทยครับ ผมไม่ได้สอนวิชาไทยศึกษาคนเดียวนะครับ มหาวิทยาลัยลีดส์โชคดีที่มีอาจารย์ประจำคนไทย ชื่ออาจารย์หนิง มาช่วยร่วมสร้างและสอนจนประสบความสำเร็จ   The People: หัวข้อที่คุณมาร์ตินเขียนถึงบ่อย ๆ มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงในพระพุทธศาสนา ความสนใจเรื่องนี้มาจากไหน มาร์ติน: จริง ๆ แล้ว ไม่ได้ตั้งใจศึกษาเรื่องเพศภาวะ คือผมสนใจศึกษาเรื่องชีวประวัติ เรื่องการตีความพระไตรปิฎก ของพระธรรมปิฎก ตามที่เล่ามาเมื่อตะกี้ ตอนนี้ท่านคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเลื่อนขั้นแล้ว สมณศักดิ์ไม่ใช่พระธรรมปิฎกแล้ว ก็ยังอยากศึกษาเกี่ยวกับท่านมากขึ้น แล้วตอนที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็มีบทหนึ่งว่าด้วยปัญหาการบวชภิกษุณีที่กำลังถกเถียงกัน วิพากษ์วิจารณ์อะไรต่าง ๆ นานาในยุคสมัยนั้น ก็เลยเขียนบทความวิชาการชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ลงวารสาร ตอนนั้นก็เรียนภาษาบาลีไปด้วยที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก แล้วก็มีภิกษุณีที่บวชในสายทิเบตมาเรียนบาลีด้วย แล้วท่านก็อ่านบทความของผม แล้วก็ชอบ ในปี ค.ศ. 2007 ท่านเป็นผู้จัด conference ระดับโลกที่องค์ดาไล ลามะ เสด็จมาเองด้วย หัวข้อหลักของ conference นี้ เป็นเรื่องของการบวชภิกษุณีทั้งนั้น ก็มีนักวิชาการ 65 ท่านจากทั่วโลกมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับปัญหาการบวชภิกษุณี ภิกษุณีที่ว่าพออ่านบทความของผมที่เกิดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็เชิญผมไปด้วย แล้วก็ให้ผมไปบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องนี้ในเมืองไทย ช่วงนั้นผมก็เลยมีโอกาสได้อ่านมากขึ้นเพื่อเตรียมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแม่ชีไทย แล้วที่อ่านมาบทความภาษาอังกฤษช่วงนั้น ผมก็คิดว่ามันทั้งใช่ แล้วก็ไม่ใช่ แม่ชีที่เราเห็นตอนสมัยที่เราบวชเป็นพระ ก็ไม่ตรงกับที่เขาบรรยายกันในงานวิชาการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตอนนั้น ผมก็เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านี้ หรือซับซ้อนกว่านี้ เลยเกิดความสนใจขึ้นมาว่าน่าจะศึกษาอย่างเป็นระบบเรื่องแม่ชีในสังคมไทย ผมจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับแม่ชี ซึ่งเป็นการต่อยอดจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ The People: ปัญหาการบวชภิกษุณี ถ้าว่ากันตามพระไตรปิฎกมีข้อห้ามเด็ดขาดขนาดนั้นเลยหรือ มาร์ติน: เรื่องนี้ ตามที่เขาตีความกันมาตามหลักเถรวาทก็ต้องบวชสงฆ์สองฝ่าย คือ ต้องบวชโดยมีฝ่ายภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ แต่ปัญหาติดอยู่ที่ว่า ภิกษุณีสงฆ์ไม่มีแล้ว จะทำอย่างไร มันขาดสายไปแล้ว หมายความว่าปัจจัยไม่พร้อมที่จะบวช อันนี้ไม่ได้พูดถึงศักยภาพของผู้หญิงในการบรรลุธรรม ตรงนี้ผู้หญิงผู้ชายมีศักยภาพเท่ากัน มันชัดตามหลักพระไตรปิฎก ไม่มีข้อสงสัยใด ๆ แต่จะมีปัญหาเรื่องพระวินัยมากกว่าว่าจะทำอย่างไรในเมื่อต้องการอุปสมบทที่ครบสงฆ์สองฝ่าย ทั้งหญิงทั้งชาย  พระสงฆ์เถรวาทฝ่ายหญิงไม่มีแล้ว ขาดสายไปแล้ว เมื่อราวพันปีที่แล้วเรื่องรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ เราไม่ทราบ เท่าที่ทราบคือในสายเถรวาทได้สูญหายไป จริง ๆ แล้วมันซับซ้อนกว่านี้หลายเท่า แต่นี่เป็นเพียงสรุปการตีความของสายเถรวาทดั้งเดิม  ในเมื่อตอนนี้มีความต้องการมากขึ้นในการบวชภิกษุณี ก็จะเกิดปัญหานี้ในสังคมไทยขึ้นมา จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่สังคมไทย ในหลายสังคมที่เป็นเถรวาทเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในสายทิเบตก็มีปัญหาคล้าย ๆ กัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผมเคยสัมภาษณ์ ท่านสมเด็จฯ ป. อ. ปยุตฺโต เรื่องนี้ ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ผมก็สัมภาษณ์ท่านต่อ แล้วก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา (คือ หนังสือ ตอบ ดร. มาร์ติน พุทธวินัยถึงภิกษุณี) เพราะฉะนั้นคนที่สนใจเรื่องนี้ จะหาคำตอบต่าง ๆ ได้ในเล่มนี้ครับ แล้วก็มีอีกเล่มที่ต่อเนื่องจากเล่มนี้  ก็คือ ตอบ ดร. มาร์ติน: ดลถิ่นอริยชน สตรีหลุดพ้นขึ้นเหนือมหาพรหม เล่มที่สองนี้ก็จะมีแง่มุมหลายอย่างที่น่าสนใจมาก แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องการบวชภิกษุณีในสายเถรวาทบวชได้หรือไม่อย่างไร ก็เป็นประเด็นที่ค่อนข้างยาก ตอนนั้น ผมก็อยากจะสัมภาษณ์ท่านสมเด็จฯ เพราะเห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้มากในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ชั้นอรรถกถาต่าง ๆ เป็นต้น ก็เลยมาสัมภาษณ์ท่านและรวบรวมขึ้นมา แล้วท่านสมเด็จฯ เมตตามาก ยังเขียนเพิ่มเติม เพื่อให้มีความกระจ่าง ชัดเจนมากขึ้น   The People: ถ้าการบวชภิกษุณีทำไม่ได้ แต่นักบวชหญิงอย่างแม่ชีในสายตาของคนนอกดูค่อนข้างด้อยกว่านักบวชชาย? มาร์ติน: ทีแรกผมนึกอย่างนั้นเหมือนกัน เท่าที่อ่านมานะครับ ในบทความทางวิชาการต่าง ๆ เท่าที่มีอยู่อ่านมาตอนนั้น แต่สมัยที่ผมเป็นพระ ผมก็เห็นแม่ชีหลายรูป ที่มีการประพฤติปฏิบัติและการพูดที่น่าเคารพยิ่ง แม้กระทั่งในวัดก็เห็นพระหลายรูปที่ให้ความเคารพ ศรัทธาในแม่ชี และผมได้ฟังมาว่ามีแม่ชีจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายอีสานที่เป็นที่เคารพ มีคนเลื่อมใสมาก ไม่เห็นเหมือนอย่างที่พูดกันในงานวิชาการที่อ่านมา ผมไม่ได้ปฏิเสธว่า แม่ชีที่มีชีวิตลำบากก็มี และยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของแม่ชีไม่น้อย แต่ตอนนั้นผมอยากรู้อยากศึกษาว่า แม่ชีที่ได้รับการนับถือ มีลูกศิษย์จำนวนไม่น้อยที่มีศรัทธา มีความเลื่อมใสในแม่ชี มีจริง ๆ มั้ย ก็เลยเกิดความสนใจหัวข้อตรงนี้ขึ้นมา เลยขอทุนทำการศึกษา และตอนนี้ก็ทำมาน่าจะ 10 กว่าปีแล้ว ทีแรกผมกับเพื่อนสนิท คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ไปตามสายอีสาน โดยเฉพาะตามสายของหลวงปู่มั่น สายพระวัดป่า แล้วก็เห็นว่ามีแม่ชีไม่น้อยจริง ๆ ที่มีคนนับถือ บางทียังมีคนเชื่อว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งเชื่อกันว่า แม่ชีบรรลุเป็นพระอรหันต์ บรรลุอรหัตตผลเหมือนพระ พระบางรูปก็มีศรัทธาแม่ชีด้วย มีการสร้างพระสถูปให้แม่ชีด้วย เพื่อบรรจุพระธาตุของแม่ชี ในทางสายอีสานเชื่อกันว่าผู้ที่บรรลุสูงสุดแล้วก็คือเป็นพระอรหันต์ เมื่อเผาศพท่านเสร็จแล้ว กระดูกของท่านก็อาจจะกลายเป็นพระธาตุ อันนี้ก็รู้กันอยู่เป็น "ความเชื่อ" ครับ ก็เห็นพระสถูปของพระโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวัดป่าที่จะบรรจุพระธาตุที่เป็นแก้วใส ๆ แล้วผมก็เจอของแม่ชีด้วยที่เขาสร้างให้ ที่น่าจะดังที่สุดตอนนี้ก็คือ แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ ท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นโดยตรง หลวงปู่มั่นเองเป็นผู้สอนธรรมะให้แก่ท่านแม่ชีรูปนี้ แล้วหลัง ๆ ท่านก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงตามหาบัวด้วย แล้วก็เชื่อกันว่า ท่านแม่ชีแก้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ หลังจากนั้นผมก็ศึกษามากขึ้น ทีแรกก็คิดว่า แม่ชีแก้วอาจเป็นกรณียกเว้นรึเปล่า แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ยังมีแม่ชีอีกหลาย ๆ รูป (ที่ได้รับการเคารพศรัทธาอย่างสูง) แม้แต่ในบริบทเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ก็มีนักปฏิบัติหญิงที่มีคนเชื่อว่า ท่านได้อภิญญา หมายถึงผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมะขั้นสูง คนไทยก็รู้จักมากขึ้นตอนนี้ ก็คือ แม่บุญเรือน โตงบุญเติม แต่ท่านมีชื่อเสียงในตลาดพระเครื่องมากกว่า เพราะท่านสร้างพระเครื่องชื่อว่า พระพุทโธน้อย ท่านสร้างเป็นแสนองค์ ตอนนั้นก็แจกฟรี แต่ตอนนี้พระพุทโธน้อยถ้าเป็นรุ่นจัมโบ้ก็หลายแสนบาท แสดงว่าเป็นที่นิยมแล้วก็เป็นที่ยอมรับ แต่ที่มีคนรู้น้อยคือ ท่านไม่ได้เก่งแต่เรื่องสร้างพระเครื่องเท่านั้น หากท่านยังเก่งเรื่องของธรรมะด้วย ท่านมีการแสดงธรรม โชคดีที่มีการบันทึกไว้ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท่านมีความรู้ลึกจริง ๆ ในพระไตรปิฎกและพระคัมภีร์รุ่นหลัง ๆ  แน่นอนว่าเรื่องจะบรรลุจริง หรือไม่บรรลุ อันนี้เราไม่ทราบ อันนี้เป็นเรื่องที่ทางภาษาพระเรียกว่า ปัจจัตตัง ก็คือเป็นเรื่องแต่ละบุคคล เราก็ตัดสินไม่ได้ใช่มั้ยครับ แต่ที่ผมทำก็คือศึกษาปรากฎการณ์ที่น่าสนใจเหล่านี้ในเชิงมานุษยวิทยาว่าความเชื่อของคนไทยเป็นอย่างไร อย่างเช่นเรื่องพระธาตุที่เป็นแก้วใส อันนี้เป็นความเชื่อที่ไม่มีในพระไตรปิฎก อย่างน้อยในชั้นต้น ๆ ไม่มีครับ อันนี้เกิดขึ้นมาทีหลัง แต่ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการ เราก็อยากเข้าใจความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับผู้หญิง เกี่ยวกับการปฏิบัติของผู้หญิงในพระพุทธศาสนา ก็เลยศึกษาตามนี้ แต่หลัง ๆ ก็ศึกษาเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคล ของสตรีมากขึ้น สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ The People: ความเชื่อของคนบางส่วนที่คิดว่าแม่ชีมีสถานภาพต่ำ ก็แสดงว่าไม่ใช่? มาร์ติน: ผมไม่ได้บอกว่าไม่ใช่นะครับ มันยังมีปัญหาอยู่แน่นอน มันขึ้นอยู่กับว่าศึกษาที่ไหน อย่างเช่นที่ราชบุรีตอนนี้ก็มีสำนักชีมากขึ้นที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระ เป็นของตัว (แม่ชี) เอง เมื่อเดินเข้าไปดูเหมือนเป็นวัดแต่ไม่ได้มีพระ มีแต่แม่ชี แล้วก็มีแม่ชีที่เดินบิณฑบาต เป็นต้น แล้วแม่ชีก็ทำพิธีกรรมอะไรต่าง ๆ คล้าย ๆ พระ แต่แน่นอนว่าในบางที่ หรือหลายที่ก็ยังมีปัญหาเหมือนกันนะครับ ผมไม่ได้ปฏิเสธตรงนั้น ที่ผมพูดก็คือ มันซับซ้อนกว่าที่เรามักจะคิด แม่ชีมีหลากหลาย ประเทศไทยก็ใหญ่นะครับ การประพฤติปฏิบัติความเชื่ออะไรก็มีหลากหลายแล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่บริบท แต่ที่อยากให้เห็นก็คือ มีแม่ชีที่ดีเด่นแล้วก็มีไม่น้อย แล้วก็จะมีที่เห็นที่ศึกษามาก็มีการปฏิบัติในแง่มุมต่าง ๆ ที่ค่อนข้างตรงกับที่เราเจอในพระไตรปิฎก คือเรื่องความเชื่อในศักยภาพของผู้หญิงผู้ชายที่เท่าเทียมกันในเรื่องการบรรลุธรรม ซึ่งก็จะมีเรื่องอื่น ๆ แทรกเข้ามาให้ซับซ้อน เรื่องของวัฒนธรรม ค่านิยมท้องถิ่นอย่างนี้เป็นต้น พูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องสมมติ ถ้าใช้ภาษาพระ แต่ถ้าพูดถึงปรมัตถ์ ผู้หญิงบรรลุธรรมได้เหมือนผู้ชาย มี แล้วก็มีไม่น้อย อันนี้ที่อยากให้เห็น และแสดงให้เห็นในงานวิชาการของผมครับ   The People: ความเห็นของตัวคนเป็นแม่ชีเองที่ได้พูดคุยมา พวกเขารู้สึกอย่างไรกับการเรียกร้องให้มีการบวชภิกษุณี มาร์ติน: อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแม่ชีแต่ละท่าน แต่แม่ชีที่สัมภาษณ์มานั้น ตอนนี้ก็เป็น 10 กว่าปีแล้ว รวมแล้วน่าจะหลายร้อยคน แม่ชีโดยเฉพาะสายวัดป่าก็ไม่ได้สนใจเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่สนใจอยากที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมให้เร็วที่สุด อย่างเช่น ที่ผมศึกษาอัตชีวประวัติแม่ชีท่านหนึ่งทางสายเหนือมา ท่านก็มีโลกทัศน์เชื่อว่ามีชาติที่แล้ว เรื่องชาติก่อน ๆ เรื่องสังสารวัฏมีจริง แล้วก็เชื่อว่าตามคาถาในพระคัมภีร์ธรรมบทว่า “กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ”  คือ แปลว่า “การได้อัตภาพมนุษย์เป็นเรื่องยากลำบาก” (ขุททกนิกาย ธรรมบท พุทธวรรค) หมายความว่า แม่ชี หลายท่านที่ผมศึกษามามีความเชื่อว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากและเป็นลาภยิ่งใหญ่ เพราะมันหายากในวงจรสังสารวัฏ ก็โชคดีแล้ว ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ในยุคที่มีพระพุทธศาสนาอยู่ยิ่งยาก ฉะนั้นก็ต้องฉวยโอกาสและมุ่งไปให้ถึงนิพพานให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ในชาตินี้ เพราะฉะนั้นมุ่งไปที่นิพพานอย่างเดียวโดยที่มีแรงจูงใจที่เกิดจากโลกทัศน์อย่างนี้ ก็เชื่อเรื่องกรรม เรื่องเวียนว่ายตายเกิด อะไรต่าง ๆ อย่างนี้เป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติ ในชีวประวัติแม่ชีต่าง ๆ ที่ผมศึกษามา แม่ชีไม่ได้มุ่งไปที่ความเสมอภาคทางสังคมนะครับ  แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ก็เป็นหัวข้อที่ซับซ้อน แล้วก็หัวข้อใหญ่แน่นอน อาจจะไม่มีเวลาพอที่จะพูดรายละเอียดในตอนนี้ อันนี้แค่เพื่อที่จะให้เห็นเท่าที่ผมศึกษาจากชีวประวัติ อัตชีวประวัติของแม่ชี และที่ผมสัมภาษณ์แม่ชีมาว่า เป็นมุมมองเป็นแรงบันดาลใจของการปฏิบัติของผู้หญิง ไม่ได้มุ่งไปที่ความเสมอภาคทางสังคม แต่มุ่งไปที่การไปเข้าถึงนิพพาน และการได้ให้มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมะเพื่อที่จะเข้าถึงเป้าหมายนี้ให้เร็วที่สุด แล้วก็เท่าที่ศึกษามา ก็มีแม่ชีไม่น้อยที่มีพระผู้ใหญ่ พระมหาเถระสนับสนุนในการปฏิบัติเช่นนั้น แล้วสร้างสภาพแวดล้อมให้แก่ท่านเพื่อได้มีโอกาสในการปฏิบัติธรรมตามแนวนี้ แล้วถ้าอ่านประวัติหรืออัตชีวประวัติของแม่ชีบางท่านก็เหมือนของพระที่ออกเดินธุดงค์อะไรอย่างนี้ เข้าไปในป่า ปฏิบัติธรรม เจอผี เจองู เจอสัตว์ร้าย อะไรต่าง ๆ เจอเสือ เจอช้าง แล้วก็ต้องเผชิญความกลัวของตัวเอง แล้วก็ต้องสู้กับกิเลสของตัวเอง การชำระการขัดเกลาจิตใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านเหล่านั้น    The People: ก็คือไม่ได้เห็นว่าการเป็นชี ไม่ได้เป็นภิกษุณี จะเป็นปัญหาในการเข้าถึงพระธรรม? มาร์ติน: เท่าที่ศึกษามาอันนี้ (หนังสือเล่มใหม่ ชื่อ Gender and the Path to Awakening: Hidden Histories of Nuns in Modern Thai Buddhism) เป็นผลงาน 10 กว่าปีที่รวบรวมชีวประวัติ แล้วก็วิเคราะห์ชีวประวัติของแม่ชี หรืออุบาสิกาที่ไม่ได้บวชเป็นแม่ชีก็หลายสิบท่าน ในชีวประวัติ และอัตชีวประวัติของแม่ชี ที่ผมศึกษามา ไม่มีการเรียกร้องให้มีการบวชเป็นภิกษุณีครับ แต่แน่นอนแม่ชีที่อยากบวชเป็นภิกษุณีก็มีแน่นอนนะครับ ผมไม่ได้ปฏิเสธ อย่างเช่น ทางเหนือของประเทศไทยก็มีชุมชนหนึ่งครับ ทางใต้ของเชียงใหม่ เมื่อก่อนเป็นชุมชนของแม่ชีที่เป็นที่เคารพของประชาชนท้องถิ่น เพราะเห็นว่าชุมชนแม่ชีนี้ปฏิบัติดี แต่ตอนนี้ชุมชนแม่ชีนี้ก็กลายเป็นชุมชนภิกษุณีแล้วนะครับ แสดงว่ามันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากนะครับ มันขึ้นอยู่กับบริบท ขึ้นอยู่กับบุคคล ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ก็มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นสรุปเหมารวมไม่ได้ ผมว่ามันซับซ้อนนะครับ แต่ที่อยากพูด ที่อยากแสดงให้เห็นในงานวิจัยของผมก็คือ มีผู้หญิงในรูปแบบแม่ชีหรืออุบาสิกาที่ผมเองถือว่าน่าเคารพมาก เพราะว่าท่านทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรม น่าเลื่อมใสจริง ๆ ครับ สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ The People: การเป็นแม่ชี กับเป็นภิกษุณี หรือพระภิกษุ ถ้าเทียบข้อดีข้อเสียกันเป็นอย่างไรบ้าง มาร์ติน: แน่นอนข้อเสียก็คือจะไม่เป็นที่ยอมรับทันที ถ้าเป็นแม่ชีก็จะไม่มีบารมีในตัวเองทันที คุณก็ต้องสร้างขึ้นมาเอง ถ้าคุณเป็นพระก่อนหน้านั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร พระก็จะได้รับความเคารพทันที ปกติไม่มีใครมาถามว่าท่านเป็นใครมาจากไหน เป็นพระใส่จีวร ผ่านการอุปสมบทเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ได้รับการสนับสนุนจากบุคคล จากสังคม จากรัฐ หลายอย่างทันที แต่ว่าแม่ชีไม่ได้ตรงนั้นใช่มั้ยครับ การเดินทาง การใช้บริการโรงพยาบาล แม่ชีไม่ได้รับ (การอุดหนุนทันที) โดยอัตโนมัติ แต่พระได้รับ อันนี้เป็นประเด็นใหญ่อย่างหนึ่งในเชิงสังคม แล้วก็จะมีประเด็นทางพระธรรมวินัยด้วย แน่นอน ภิกษุณีจะมีศีล ข้อปฏิบัติ 311 ข้อ ก็เป็นปาติโมกข์ของภิกษุณีซึ่งก็เป็นกรอบที่ชัดเจนที่พระพุทธองค์สร้างขึ้นมาให้แก่ผู้หญิง เพื่อปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลเพื่อเข้าถึงนิพพาน อันนี้แน่นอนแม่ชีไม่มี แม่ชีต้องสร้างขึ้นมาเอง ก็แม่ชีเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้เอง น่าจะไม่กี่ร้อยปี เท่าที่รู้ในประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยามีหลักฐานว่ามีแม่ชีแล้ว ส่วนภิกษุณีเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล ถ้าเชื่อตามพระไตรปิฎกอันนี้ก็ต่างกัน ภิกษุณีสร้างขึ้นโดยพระพุทธองค์เองโดยตรง แม่ชีเกิดขึ้นมาในสังคมไทยน่าจะสมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้น ก็จะต่างกันเยอะ ก็เป็นหัวข้อที่ซับซ้อนที่จะต้องคุยกันอีกยาว และจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อ แต่ข้อดีก็อาจจะมีบ้างครับ แม่ชีไม่มีรูปแบบของตัวเอง ท่านก็ต้องสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งก็มีอิสระตรงนั้น อาจจะสร้างขึ้นมาโดยเข้ากับยุคสมัยนี้ เพราะภิกษุณีเปลี่ยนปาติโมกข์ไม่ได้ แต่แม่ชีก็มีอิสระตรงนี้ มีเสรีในการปรับ ในการสร้างวินัยของตัวเองขึ้นมา ซึ่งแม่ชีก็ทำจริง ๆ อย่างเช่นว่า สถาบันแม่ชีไทยก็สร้างคู่มือของตัวเองขึ้นมาก็มีสิกขาบทต่าง ๆ คนไทยบอกว่าแม่ชีถือศีล 8 หรือศีล 10 แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ มีมากกว่านั้น แม่ชีก็มีข้อปฏิบัติอีกเยอะที่มีนอกเหนือจากศีล 8 ศีล 10 นะครับ อย่างเช่นแค่ดูการใส่จีวรของแม่ชีก็มีวิธีปฏิบัติของตัวเอง การเดิน การพูด ซึ่งในปาติโมกข์ก็เป็นเสขิยวัตร 75 ข้อ ซึ่งแม่ชีก็ปฏิบัติตาม ก็กลายเป็นว่า 80 กว่าข้อแล้ว นอกนั้นก็จะมีข้อต่าง ๆ การบวชการขอบวชก็ทำเป็นภาษาบาลีด้วยตามคู่มือสถาบันแม่ชีไทย เพราะฉะนั้นข้อปฏิบัติของแม่ชีมีมากกว่า 8 ข้อ 10 ข้อนะครับ  นอกจากนี้นะครับ ที่ผมกับคุณนริศ (จรัสจรรยาวงศ์) สนใจมาก ๆ หลายปีที่เกิดขึ้นจากบริบทของการศึกษาถึงการปฏิบัติธรรมของสตรีไทยก็คือ บังเอิญเราค้นพบหลักฐานว่า มีหนังสือธรรมะชุดหนึ่งที่เดิมเชื่อกันว่าเป็นของหลวงปู่มั่น ทั้ง ๆ ที่ตามชีวประวัติต่าง ๆ ของท่าน ไม่มีการอ้างเล่มนี้ แต่หลังจากที่ท่านหลวงปู่มั่นมรณภาพแล้วหลายปี เกิดมีความเชื่อขึ้นมาว่าท่านประพันธ์เล่มนี้ขึ้นมา หรืออาจมีคนเชื่อว่าหนังสือธรรมะชุดนี้เกิดจากการสนทนาธรรมระหว่างหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่จูม เป็นสนทนาธรรมระดับลึกนะครับ เล่มนี้พิมพ์หลายครั้งหลายหนมาแล้ว และบางทีเรียกว่า ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา นะครับ แต่ปรากฏว่าคุณนริศกับผมมารวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ได้ที่ชี้อย่างชัดเจนว่า ไม่ใช่ ผู้ประพันธ์ที่แท้จริงเป็นสตรีท่านหนึ่ง ผู้หญิงเขียน ผู้หญิงท่านนั้นชื่อว่า คุณหญิงดำรงธรรมสาร ใหญ่ วิเศษศิริ ท่านประพันธ์ขึ้นมาช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วง พ.ศ.2475 เราสองคนทำวิจัยเรื่องคุณหญิงดำรงธรรมสาร ใหญ่ วิเศษศิริ และผู้ประพันธ์ผู้หญิงท่านอื่น ๆ ในยุคเดียวกันกับคุณหญิงใหญ่มาหลายปีแล้ว ในโครงการของเรานี้ เรามีออกหนังสือต่าง ๆ เพื่อรวบรวมงานวิชาการของเรา แล้วก็ผลงานของนักปฏิบัติธรรมผู้หญิง คุณหญิงดำรงธรรมสาร ใหญ่ วิเศษศิริ เป็นตัวอย่างของสตรีที่พูดถึงเมื่อสักครู่ที่มีความรู้ลึกมาก จนกระทั่งหลัง ๆ เชื่อกันว่าไม่ใช่งานของผู้หญิงแต่เป็นพระที่ทำ ทั้ง ๆ ที่หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย ในชีวประวัติของท่านก็ไม่ได้พูดถึงเลย แสดงว่าหลัง ๆ มีคนไทยเชื่อว่าหลวงปู่มั่นเขียน แต่แท้จริง ผู้หญิงเขียน เราก็ประทับใจมากในการสอน และการปฏิบัติของคุณหญิงดำรงธรรมสาร แล้วก็มุ่งไปศึกษามากขึ้นเกี่ยวกับประวัติและผลงานของท่าน ตอนนี้ก็มีสารคดีออกมา มีหนังสือออกมา ตอนนี้ก็ทำละครกันอยู่เพื่อเผยแพร่ผลงานของคุณหญิงดำรงธรรมสาร ใหญ่ วิเศษศิริ  สัมภาษณ์ มาร์ติน ซีเกอร์ อ.ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษาบทบาทของหญิงไทยในศาสนาพุทธ   ภาพถ่ายโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)