ชีวิตและการเปลี่ยนแปลงของ ‘บุ้ง เนติพร’

ชีวิตและการเปลี่ยนแปลงของ  ‘บุ้ง เนติพร’

เปิดประวัติ ‘บุ้ง เนติพร’ หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ นักเคลื่อนไหวที่เติบโตขึ้นมาในบ้านของนักกฎหมาย กับเส้นทางชีวิตที่เป็นทั้งเด็กกิจกรรมและเด็กเรียนดี และพบกับจุดเปลี่ยนทางความคิด กระทั่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้าย

14 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 11.30 น. มีรายงานข่าวว่า บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว

บุ้ง’ เติบโตขึ้นในครอบครัวตุลาการ พ่อของเธอคือผู้พิพากษา ส่วนพี่สาวเป็นทนายความ

เริ่มต้นจากการเป็นประธานนักเรียน จากเด็กที่อยู่ในกฎระเบียบก็ตั้งคำถามมากขึ้นจนนำมาสู่เข้าร่วมกลุ่มนักเรียนเลว และการผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว

รวมถึงการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เมื่อเธอตัดสินใจร่วมเข้ากลุ่ม ‘ทะลุวัง’ ร่วมกับคนอื่น ๆ ที่เคลื่อนไหว  จนทำให้ภาพจำของเธอกลายเป็น ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ดังที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเธอในชื่อนี้ ไม่เพียงเท่านั้น การเคลื่อนไหวของเธอที่ปรากฏคู่เคียงกับเยาวชนอย่าง ‘หยก’ อยู่บ่อยครั้ง จนทำให้สังคมจดจำเธอในฐานะผู้ปกครองของหยกที่คอยประกบไปทุกที่

อีกทั้ง เธอยังพบจุดเปลี่ยนทางความคิดหลายครั้งที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายในชีวิต

เด็กเรียน เด็กกิจกรรม เด็กที่เติบโตในบ้านนักกฎหมาย

เราหลายคนน่าจะรู้จักเธอในนาม ‘บุ้ง ทะลุวัง’ แต่ถ้าเปิดเบื้องหลังเข้าไปดูตัวตนและชีวิตของเธอ เราจะรู้จักเธอในนาม ‘บุ้ง - เนติพร (สงวนนามสกุล)’ แม้ภาพจำของเราที่มีต่อเธอคือนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง แต่ชีวิตของเธอนั้น เติบโตขึ้นในใต้ชายคาของนักกฎหมาย — พ่อของเธอคือผู้พิพากษา ส่วนพี่สาวของเธอคือทนายความ

เรื่องราวของบุ้งเคยถูกตีแผ่ผ่านพี่สาวของเธอผ่านการสัมภาษณ์กับ BBC ว่าในช่วงที่ศึกษาในชั้นมัธยม บุ้งเป็นเด็กที่เรียนหนังสืออยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งยังเป็นเด็กที่ทำกิจกรรม ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียนในช่วงมัธยมปลาย เป็นผู้ดูแลและตักเตือนให้เพื่อน ๆ อยู่ในระเบียบของโรงเรียน และในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธอเป็นคณะกรรมการนักเรียนก็เป็นช่วงเดียวกับที่มีเหตุการณ์ม็อบ กปปส. ในช่วงปี 2557 

ทว่าแนวคิดและมุมมองของเธอ โดยเฉพาะมุมมองในเรื่องของกฎระเบียบและการเมืองก็เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียนที่คอยตักเตือนเพื่อนให้อยู่ในกฎ เธอก็เริ่มตั้งคำถามและสงสัยว่าเพราะอะไรถึงมีคนที่ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับสิ่งที่เป็นอยู่ ผนวกกับแนวคิดทางการเมืองที่จากเดิมเคยร่วมม็อบ กปปส. เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารบนโลกของอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็ทำความรู้สึกเห็นค้านและความต้องการเปลี่ยนแปลงค่อย ๆ ก่อตัวในความรู้สึกของเธอ

โดยหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของเธอก็คือการได้รับรู้ถึงเหตุการณ์การล้อมปราบเสื้อแดงในปี 2553 กัล Big Cleaning Day ที่ทำให้เธอรู้สึกดังที่เธอบรรยายเอาไว้ว่าสะเทือนใจมากที่สุด นี่จึงเป็นจุดเชื่อมที่ขยับให้เธอเดินหน้าในฐานะนักกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่ง

เส้นทางนักเคลื่อนไหว

จากหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียนที่คอยดูแลเพื่อน ๆ ในรุ่นให้อยู่ในกฎและระเบียบ การเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดก็ทำให้เธอตัดสินใจเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวของกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ที่เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนและเยาวชนที่ตั้งคำถามเพื่อการเปลี่ยนแปลงในกฎต่าง ๆ ในรั้วโรงเรียน

ในเวลาเดียวกันกับที่บุ้งได้ผันตัวเองเป็นนักกิจกรรมและต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง บ้านของเธอก็เป็นห่วงทั้งความปลอดภัยและผลที่อาจจะตามมาไม่น้อย แต่ด้วยความที่พวกเขาเคารพการตัดสินใจของบุ้ง จึงปล่อยให้บุ้งยืนหยัดในทางของตัวเขาเอง

แต่เมื่อย่างเข้าชั้นมหาวิทยาลัย บุ้งเริ่มให้ความสนใจตัวเองที่มีต่อปัญหาบ้านเมือง และทำให้เธอเคลื่อนไหวในท่าทีที่หนักหน่วงขึ้นและในประเด็นที่เข้มข้นมากขึ้น จนทำให้ตัวเธอถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะกับมาตรา 112

ซึ่งระหว่างเส้นทางการเคลื่อนไหวของเธอนั้น ก็ถูกดำเนินคดีอยู่บ่อยครั้ง จนท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายของเธอ

 

การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้าย

ในฐานะนักกิจกรรม ‘บุ้ง’ เดินหน้าเคลื่อนไหว ที่นำมาสู่การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้าย

ครั้งนี้ เธอถูกตัดสินลงโทษจำคุก 1 เดือน หลังจากศาลอาญากรุงเทพฯ สั่งถอนการประกันคดีมาตรา 112 รวมถึงคดีละเมิดอำนาจหน้าที่ของศาล ถูกส่งเข้าทัณฑสถานหญิงกลางในเย็นวันที่ 26 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ข้อต่อสู้ที่ว่า เพื่อให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและเพื่อไม่ให้มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง บุ้งตัดสินใจอดข้าวอดน้ำ ตั้งแต่เย็นวันที่ 27 มกราคม 2567 จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากร่างกายขาดอาหารมาหลายวัน ทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เธอถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จากอาการภาวะตับอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อ่อนแรงมากจนเดินไม่ไหว ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

แล้วก็ถูกส่งกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนปลายเดือนมีนาคม 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บุ้งมีความดันโลหิตต่ำ ค่าโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ไม่ขับถ่ายอุจจาระเป็นระยะเวลาหนึ่ง และน้ำหนักตัวลดลงไปกว่า 20 กิโลกรัม 

จนกระทั่งเช้าของวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 มีรายงานข่าวว่า บุ้ง หัวใจหยุดเต้น 

สำนักข่าวคมชัดลึกสอบถามไปยัง กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยว่า บุ้งหัวใจหยุดเต้น เวลาประมาณ 06.00 น. ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้โทรศัพท์ไปบอกครอบครัวว่า บุ้ง มีอาการไม่รู้สึกตัว และไม่มีสัญญาณชีพ ต้องทำการปั๊มหัวใจ

กฤษฎางค์ ยังบอกอีกว่า สัปดาห์ที่แล้ว เขาไปเยี่ยมบุ้ง พบว่าบุ้งร่างกายซูบผอมจนเห็นได้ชัด น้ำหนักลดลงไป 10 กว่ากิโลกรัม บ่นปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย ท้องเสีย ทั้งตัว ขา และเท้าบวม ซึ่งเป็นผลจากการอดอาหารเป็นเวลานาน 

ทั้งนี้ เวลา 11.30 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 มีรายงานข่าวยืนยันว่า หลังจากทีมแพทย์พยายามช่วยเหลือและส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ล่าสุดมีรายงานว่า บุ้ง ทะลุวัง เสียชีวิตแล้ว 

โดยมีการรายงานอีกว่า เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้เข็นร่างจากห้องฉุกเฉิน มาชันสูตรที่นิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินตามมาด้วย 2 นาย ส่วนผลชันสูตรยังต้องรอการแถลงอย่างเป็นทางการต่อไป 

 

ภาพ : Nation Photo

อ้างอิง :

อาการล่าสุด บุ้ง ทะลุวัง หลัง หัวใจหยุดเต้น ครอบครัวรุดเข้าเยี่ยมแล้ว | คมชัดลึก

หาม "บุ้ง ทะลุวัง" ส่ง รพ.ราชทัณฑ์ มีภาวะตับอักเสบ หลังอดอาหาร-น้ำ เข้าวันที่ 11 | Nation Story

ศาลสั่งถอนประกัน "บุ้ง ทะลุวัง" ผิดเงื่อนไขคดี 112 พร้อมจำคุกฐานละเมิดศาล | Nation Story

รู้จัก “บุ้ง ทะลุวัง” ผู้ต้องหา 112 และลูกตุลาการผู้อดอาหารประท้วงขอคืนความยุติธรรม | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ | BBC